การปฏิบัติการข่าวสารในสถานการณ์ความขัดแย้ง
( Information Operation (
IO) in Conflict Situations )
โดย พันเอก ฤทธี อินทราวุธ
รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร
ความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน
และในอนาคตอันใกล้นี้ ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ
ขึ้นมา ทำให้สรรพสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ เกิดการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เพื่อให้สอดรับกับสภาวะแวดล้อมของโลก
บางสิ่งที่ล้าสมัยก็จะค่อยๆ มลายสูญหายไป และเกิดการพัฒนาบางสิ่งบางอย่างใหม่ๆ
ขึ้นมาทดแทนความต้องการเพิ่มมากขึ้น บางสิ่งมีการประยุกต์ ปรับเปลี่ยนรูปแบบ
แนวคิด และกระบวนการ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ วิถีชีวิต และการดำรงชีวิตของคนที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ที่สำคัญผลกระทบด้านจิตใจ ความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ ความเชื่อ
ความโกรธ ความเกลียด ความหลงอันเนื่องมากจากความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ
ดังกล่าวได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในด้านสงครามจิตวิทยา ( Psychological Warfare ) และการแย่งชิงมวลชน ( Mass Snatching ) ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง
( Conflict
Situations )
อย่างแพร่หลาย
นักอนาคตศาสตร์ได้คาดการณ์
และลงบทความไว้ในนิตยสาร The
Futurist
เกี่ยวกับรูปแบบการดำรงชีวิตของมนุษย์โลกในยุคปัจจุบันและอนาคตที่อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรง
ชีวิต รวมถึงสรรพสิ่งที่จะสูญหายไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อันเนื่องจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นใหม่ๆ
ในอนาคตอันใกล้นี้อยู่หลายประเด็น อาทิเช่น ความเหลื่อมล้ำด้านวัฒนธรรม ภาษา
และการศึกษา , ระบบการศึกษา , รูปแบบของสหภาพ , การสร้างงานรูปแบบใหม่ๆ ,
รูปแบบของห้างร้านต่างๆ , การบริการทางการแพทย์ , สิ่งพิมพ์ต่างๆ ,
ประสบการณ์แบบดั่งเดิมของมนุษย์ , อุปกรณ์เทคโนโลยี และความไม่ปลอดภัยต่างๆ เป็นต้น
ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวถึงประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา การปฏิบัติการข่าวสารในสถานการณ์ความขัดแย้ง
โดยเฉพาะด้านความเหลื่อมล้ำด้านวัฒนธรรม ภาษา และการศึกษา โดยคาดการณ์ว่า
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในปี 2020 จะสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศได้จากทั่วโลกอย่างทั่วถึงผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์มือถือแบบสมาร์ทโฟน
( Smart Phones
) จะทำให้คนรุ่นใหม่ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างแพร่หลาย กว้างขวาง ไร้พรมแดน
ไร้ขีดจำกัด ระบบการศึกษาอาจจะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาครูผู้สอน สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองได้อย่างหลากหลายช่องทาง
การใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสารจะมีความโน้มเอียง และความนิยมมาใช้ภาษาของประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นหลัก
เช่น ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน การหลั่งไหล แพร่กระจาย และการซึมซับรับเอาวัฒนธรรมของประเทศที่คล้ายคลึงกัน
หรือที่มีความทันสมัยและโดดเด่นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความเหลื่อมล้ำต่างๆ ลดลงและหายไป
รวมไปถึงภาษาต่างๆ จำนวนนับพันภาษาจะหายสาบสูญไปภายในปี ค.ศ. 2030 และภาษาที่ในการติดต่อสื่อสารไม่ว่าจะเป็นภาษาใด จะมีความเป็นสากล
สามารถติดต่อสื่อสาร และสื่อความเข้าใจในการสื่อสารผ่านระบบแปลภาษาแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างอัตโนมัติ
รวมถึงมีการบัญญัติศัพท์ สำนวนแปลกๆ ใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในสังคมเพิ่มมากขึ้น
ในยุคปัจจุบันนี้ ข้อมูลของเราทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น
ประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน ทัศนะคติ ความเชื่อ รสนิยม
รวมถึงพฤติกรรมต่างๆ ของเรา จะถูกบันทึก และถูกเผยแพร่ในระบบสารสนเทศ บุคคลอื่นๆ
สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งความจงใจของตนเอง
หรือความไม่สมัครใจ จะทำให้เราขาดความเป็นส่วนตัว และเป็นการละเมิดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล
อุปกรณ์มือถือแบบ Tablet
และ Smart Phones ที่สามารถเชื่อมต่อเทคโนโลยีการสื่อสารอื่นๆ ที่ทันสมัย
ทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งจะทำให้เราขาดการวิเคราะห์
ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง และดุลยพินิจในการพิจารณาข้อมูลข่าวสารอย่างรอบคอบ อย่างสมเหตุสมผลตามข้อเท็จจริง
ส่งผลให้เกิดทัศนะคติ
และความเชื่อไปในทางใดทางหนึ่งอย่างรวดเร็ว ยิ่งมีการตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า และการซึมซับด้วยข้อมูลข่าวสารที่ถูกรวบรวมมาจากระบบสารสนเทศ
ผ่านการนำเสนอด้วยเทคนิค รูปแบบ และสื่อต่างๆ ที่ทันสมัย สร้างความตื่นตา
เร้าอารมณ์ ดึงดูดความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นระบบสื่อสารมวลชน ระบบสารสนเทศ
และการสื่อสารแบบเผชิญหน้าโดยตรง ก็จะส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ ความรู้สึกนึกคิด
ความเชื่อ ความศรัทธา ความโกรธเกลียด ชิงชัง เครียดแค้น สิ้นหวัง หมดศรัทธา จนถูกครอบงำปลูกฝังลงไปถึงจิตใต้สำนึกเสมือนถูกฝังด้วยไมโครชิป
ซึ่งเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน
ความเหลื่อมล้ำด้านวัฒนธรรม
ภาษา และการศึกษา ในมุมมองของ การปฏิบัติการข่าวสารในสถานการณ์ความขัดแย้ง
จะเห็นได้ชัดจากปรากฏการณ์ความขัดแย้ง และการเคลื่อนไหวทางการเมืองในหลายๆ
ประเทศ ซึ่งมักจะมีการเลียนแบบวัฒนธรรม และพฤติกรรมต่างๆ
ผ่านทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศในการต่อสู้เรียกร้องไปในลักษณะ รูปแบบ และทิศทางใกล้เคียงกัน
ซึ่งจะมีความแตกต่างจากพฤติกรรมในอดีตอย่างเห็นได้ชัด มีการประดิษฐ์คิดค้นสำนวน ศัพท์แสง
และการนำภาษาสมัยใหม่มาใช้เป็นจุดขาย อาทิเช่น Set Zero ,
Restart , Shutdown ฯลฯ เป็นต้น รวมถึงการสร้างวาทะกรรมต่างๆ เพื่อการประชาสัมพันธ์ และการโฆษณาชวนเชื่อ ให้กลุ่มมวลชนหันมาให้การสนับสนุนการต่อสู้เรียกร้อง
และการสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายตนเอง มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ความรู้ต่างๆ
จริงบ้าง เท็จบ้าง จริงบางส่วน เท็จบางส่วน ในเชิงการให้ความรู้ ให้การศึกษา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ผ่านสื่อต่างๆ ที่มีอยู่ ผ่านวีดีทัศน์ หรือผ่านการนำเสนอบนเวทีปราศรัย
โดยอ้างอิงข้อมูล หลักการต่าง ๆ ที่รวบรวมมาจากระบบสารสนเทศ เพื่อทำให้เกิดความรู้
ความเข้าใจ ความน่าเชื่อถือในข้อมูลข่าวสารที่นำมาเสนอ โดยมีความมุ่งหมาย
เพื่อทำให้กลุ่มมวลชนแนวร่วมฝ่ายตน เกิดความความเชื่อมั่นในความถูกต้องและความชอบธรรมในการกระทำของฝ่ายตน
เกิดความภาคภูมิใจ ความฮึกเหิมและความคาดหวังในผลสำเร็จของการต่อสู้เรียกร้อง
และปักหลักอยู่ร่วมกิจกรรมอย่างเหนียวแน่น เพื่อไม่ให้จำนวนกลุ่มมวลชนแนวร่วมซึ่งเป็นพลังการขับเคลื่อนหลักลดน้อยถดถอยลงไปตามกาลเวลา
ก่อนที่การต่อสู้เรียกร้องจะบรรลุเป้าหมายหรือผลสำเร็จ
ส่วนกลุ่มที่มีความคิดเห็นต่าง
หรือกลุ่มตรงกันข้าม ซึ่งมีท่าทีเป็นปรปักษ์กับกลุ่มต่อสู้เรียกร้องนั้น
เป็นการยากที่แกนนำกลุ่มต่อสู้เรียกร้องจะโน้มน้าวและชักจูงให้หันกลับมาสนับสนุนฝ่ายตน
จึงใช้ความพยายามในการใช้ข้อมูลข่าวสารเพื่อลดความน่าเชื่อถือจากการกระทำที่ล้มเหลว
ความผิดพลาดต่างๆ ที่ผ่านมา
และการชี้ให้เห็นความไม่ชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม ด้วยข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพื่อลดทอนกระแสการต่อต้านคัดค้านการกระทำของฝ่ายตน
รวมถึงการกล่าวโจมตีการกระทำอันเป็นการไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้เรียกร้อง การขัดขวางการต่อสู้เรียกร้องในทำนองว่าตกเป็นเหยื่อ
ตกเป็นเครื่องมือ เป็นสมุน หรือเป็นทาสรับใช้ของฝ่ายตรงข้าม เพื่อสร้างความไม่แน่ใจ
ลังเลใจ ขาดความเชื่อมั่น หรือเกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี จนไม่อยากเข้าร่วม หรือสนับสนุนการต่อต้านและขัดขวางการกระทำของกลุ่มต่อสู้เรียกร้อง
หรือปรับเปลี่ยนท่าทีที่เห็นต่าง และเป็นปรปักษ์ กลับมาเป็นฝ่ายวางเฉย และมีความเป็นกลางเพิ่มมากขึ้น
ส่วนกลุ่มมวลชนฝ่ายเป็นกลาง หรือกลุ่มมวลชนที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
ซึ่งเป็นมวลชนกลุ่มก้อนขนาดใหญ่
และเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จและความล้มเหลวในการต่อสู้เรียกร้อง
นับเป็นเป้าหมายสำคัญยิ่งของแกนนำกลุ่มต่อสู้เรียกร้อง
ในการที่จะดำเนินการแย่งชิงมวลชนกลุ่มนี้ให้เกิดความโน้มเอียง คล้อยตามกระแส มีความเชื่อถือ
เชื่อมั่น ศรัทธาในความถูกต้อง และความชอบธรรมในการต่อสู้เรียกร้อง จึงต้องผสมผสานการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและบรรยากาศของการต่อสู้เรียกร้องแบบคลาสสิก
( Classic ) หรือ แบบโรแมนติค
( Romantic ) แทนแนวทางการต่อสู้เรียกร้องที่ใช้ความรุนแรง เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของการต่อสู้เรียกร้องแบบอารยะธรรม ( Civilization ) สร้างกระแสจุดเด่นด้วยบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ
เพื่อสร้างความสนใจให้กับสื่อต่างๆ ในการนำเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวไปทั่วโลก การสร้างบรรยากาศความสนุกสนาน
ความเพลิดเพลิน และความประทับใจต่างๆ เพื่อดึงดูดมวลชนกลุ่มใหม่ๆ
โดยเฉพาะกลุ่มวัยที่มีความอยากรู้ อยากเห็น และชอบการแสดงออกต่างๆ ด้วยสีสัน
การแต่งกาย การใช้สัญลักษณ์ และการแสดงผสมผสานกับการปราศรัย ประชาสัมพันธ์
การกล่าวโจมตี การปฏิบัติการจิตวิทยา และการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ บนเวทีปราศรัย
โดยเผยแพร่ภาพกิจกรรมและข้อมูลข่าวสารต่างๆ ไปทางสื่อออนไลน์ เพื่อให้เกิดอิทธิพลทางด้านจิตใจต่อกลุ่มมวลชนฝ่ายเป็นกลาง
ให้หันมาเข้าร่วมสนับสนุนการต่อสู้เรียกร้องของฝ่ายตนให้เพิ่มมากขึ้น
โดยทั่วไปการแย่งชิงมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้ง ที่ใช้การปฏิบัติการข่าวสาร( Information Operations ;
IO ) และการปฏิบัติการจิตวิทยา ( Psychology ) มักประกอบด้วยมวลชนกลุ่มหลักๆ ได้แก่ กลุ่มแนวร่วมสนับสนุน
กลุ่มเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และกลุ่มต่อต้าน โดยที่กลุ่มแนวร่วมสนับสนุน และกลุ่มต่อต้าน
จะมีความพยายามในการแย่งชิงมวลชนกลุ่มเป็นกลางที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดมาเป็นฝ่ายตน เมื่อใดก็ตามกลุ่มใดๆ
มีมวลชนสนับสนุนมากกว่าฝ่ายตรงข้าม ความชอบธรรม และความได้เปรียบย่อมตกไปอยู่กับฝ่ายนั้นๆ
ดังนั้นเมื่อเกิดความขัดแย้ง ต่างฝ่ายต่างต้องรีบแย่งชิงมวลชนมาสนับสนุนให้เร็วและมากที่สุด
และยุทธวิธีการแย่งชิงมวลชนที่ใช้ทุนต่ำ และได้ผลมากที่สุด คือ การปฏิบัติการข่าวสาร
และการปฏิบัติการจิตวิทยา
นักจิตวิทยาได้ให้ทัศนะด้านภาวะจิตใจว่า
คนส่วนใหญ่มักจะมีความโน้มเอียงในด้านความรู้สึกมากกว่าความมีเหตุผลอย่างมีนัยสำคัญ
สามารถถูกชักจูงให้เกิดความหลงเชื่อ โดยการปฏิบัติตามกลยุทธ์ทางจิตวิทยาที่วางไว้อย่างแยบยล
๓ ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการละลายความเชื่อ หรือความจงรักภักดีต่อฝ่ายตรงข้าม เป็นการปฏิบัติการจิตวิทยา เพื่อทำให้สิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามยึดถือในจิตใจเกิดการแปดเปื้อน
มัวหมองลง ทำให้เกิดความโลเลไม่แน่ใจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ข้อมูลข่าวสาร หลักการ
ความเชื่อ หรือบุคคลที่เป็นที่เชื่อถือ ที่จะสามารถทำให้เกิดความโลเลไม่แน่ใจได้ด้วยวิธีต่าง
ๆ แม้แต่การโกหก ดั่งคำพูดที่ว่า “โกหกบ่อยครั้งเข้า
สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นความจริงได้” ซึ่งจะนำสู่การสิ้นหวัง ขาดความเชื่อมั่น
และหมดศรัทธา ขั้นตอนต่อไป เป็นการดึงกลุ่มเป้าหมายเข้ามาเป็นกลุ่มสนับสนุน
โดยการผสมผสานกันระหว่างความหวาดกลัวและความสุข เทคนิคนี้มักนำเสนอด้วยการสร้างภาพความเลวร้าย
หรือผลเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น การสร้างจินตนาการความหวาดกลัว เพื่อให้จิตใจผู้ไม่ฝักฝ่ายเกิดความรู้สึกเครียดก่อน
จากนั้นก็ใช้ความโรแมนติกมาปลอบประโลมด้วยข้อเสนอทางเลือกที่สามารถทำให้ความเครียดที่มีอยู่เปลี่ยนเป็นความสุขและความหวัง
ขั้นตอนสุดท้าย เป็นการเสริมสร้างความเชื่อให้สุดโต่ง โดยการนำตัวอย่างการกระทำของแนวร่วมสุดโต่งมาให้แนวร่วมคนอื่นๆ
ได้รับรู้ด้วยการบรรยายการกระทำสุดโต่งใด ๆ ก็ตามว่าจะนำมาซึ่งความปลาบปลื้มให้แก่ผู้กระทำการนั้นๆ
รวมถึงการนำเสนอข้อมูลด้านเดียวในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยแนวร่วมที่พร้อมจะรับฟัง
และการกีดกันข้อมูลข่าวสารชุดอื่นที่จะทำให้เกิดผลเสียต่อการทำปฏิบัติการจิตวิทยา โดยจะมีการสร้างความเชื่อให้สุดโต่งอย่างรวดเร็ว
เพื่อป้องกันภาวะการฉุกคิดใคร่ครวญไตร่ตรองข้อมูลข่าวสาร
ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง
ซึ่งกลุ่มมวลชนจะถูกแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มหลักๆ และการปฏิบัติการข่าวสาร
ส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญพุ่งไปที่ กลุ่มเป็นกลางและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
กลุ่มที่มีความคิดเห็นต่างหรือกลุ่มตรงกันข้าม และกลุ่มแนวร่วมสนับสนุน ตามลำดับ
เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ดังที่กล่าวไปแล้ว ซึ่งการปฏิบัติการข่าวสารดังกล่าว
ยังคงเน้นไปกับการแย่งชิงมวลชนให้มาสนับสนุนฝ่ายตนเอง เพื่อสร้างความชอบธรรม
และความได้เปรียบทางการต่อสู้เรียกร้อง หรือคัดค้านขัดขวาง
โดยผลกระทบของการปฏิบัติการข่าวสารนั้น
อาจจะส่งผลกระทบในด้านการขยายตัวของความขัดแย้งให้เพิ่มมากขึ้น
โดยเฉพาะกลุ่มเป็นกลางและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งเป็นมวลชนกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด
จะถูกชักจูงเหนี่ยวนำเข้าไปสู่สถานการณ์การต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่ง รวมไปถึงอิทธิพลของข้อมูลข่าวสารและเหตุการณ์ต่างๆ
ที่ถูกเผยแพร่อยู่ในสื่อสังคมและเครือข่ายสังคมออนไลน์ ( Social Media / Social
Network ) อาทิเช่น Facebook , Line etc. ก็จะนำไปสู่ปัญหาความแตกแยกของคนในกลุ่ม
ในสังคม และของประเทศในที่สุด ทั้งๆ ที่วัตถุประสงค์ของการต่อสู้เรียกร้องต่างๆ
ส่วนใหญ่นั้นมักจะต้องการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปไปในทางที่ดีขึ้น
แต่แนวทางการดำเนินการต่อสู้เรียกร้องในสถานการณ์ความขัดแย้ง
และการปฏิบัติการข่าวสาร อาจจะส่งผลกระทบไปสู่ปัญหาความแตกแยกของคนในสังคม
รวมไปถึงมูลเหตุความรุนแรงต่างๆ ได้
จากกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน
ซึ่งถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติการข่าวสารในสถานการณ์ความขัดแย้ง
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องคำนึงถึงปัญหาและผลกระทบในด้านความแตกแยกของคนในสังคม โดยปกติแล้วในด้านวงการทหาร
หรืองานด้านความมั่นคงของชาติ กลุ่มเป้าหมายของการปฏิบัติการข่าวสาร จะมุ่งไปที่กำลังฝ่ายตรงข้าม
และฝ่ายที่เป็นกลาง ซึ่งไม่ใช่คนในชาติ
รวมถึงกำลังฝ่ายเราและประชาชนในชาติตามลำดับ
เพื่อลดทอนกำลังอำนาจทางทหารของฝ่ายตรงข้าม ด้วยการทำให้เกิดความแตกแยก เกิดความสับสน
วุ่นวายโกลาหน ขาดความเชื่อมั่น ขาดความมั่นใจ และขาดขวัญกำลังใจในการต่อสู้ การเสริมสร้างพัทธมิตรและขยายแนวร่วมกับฝ่ายที่เป็นกลาง
ด้วยการแสดงออกถึงความชอบธรรม เพื่อให้เกิดการยอมรับ
และเกิดความสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นต่อฝ่ายเรา และการเสริมสร้างความเชื่อมั่น ศรัทธา
ความรัก สมัครสมาน สามัคคี รวมถึงขวัญกำลังใจที่ดีต่อกำลังฝ่ายเราและประชาชนในชาติ
เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ
ดังนั้น
การปฏิบัติการข่าวสารในสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมภายในประเทศ จึงจะต้องดำเนินการต่อเป้าหมายกลุ่มมวลชนทั้ง
๓ กลุ่ม โดยมีจุดมุ่งหมายหลัก เพื่อให้ขจัดมูลเหตุของปัญหาความขัดแย้งให้ลดน้อยถอยลงจนนำไปสู่ความสงบสุข
การลดความหวาดละแวงซึ่งกันและกัน เพื่อนำไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน
การเสริมสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อนำไปสู่ความเป็นปึกแผ่น ความรัก สมัครสมาน
สามัคคีของคนในสังคม และการผนึกกำลังมวลชนทั้ง ๓
กลุ่มในการขับเคลื่อนไปสู่หนทางปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีของสังคม
โดยยึดถือแนวทาง “ การรักษาจุดร่วม สงวนจุดต่าง” เพื่อเปิดช่องทางการหันหน้าเข้าหากัน การสื่อสารความเข้าใจระหว่างกัน
การยอมรับฟังความคิดเห็นและสิ่งที่เห็นต่าง เพื่อนำไปสู่การใช้เหตุผลมากกว่าความรู้สึกระหว่างคู่ขัดแย้ง
และฝ่ายเป็นกลางจะต้องสร้างดุลยภาพ Win-Win ของทั้งสองฝ่าย โดยการปฏิบัติการข่าวสารผ่านทางกิจกรรมและสื่อต่างๆ
รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายอย่างครอบคลุม
ครบถ้วน ทั่วถึง รวดเร็ว ทันเวลา ให้เกิดการรับรู้ รับทราบ และเข้าใจถึงเจตนารมณ์
ในการดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกันไปสู่เป้าหมาย การสลายความขัดแย้ง และนำสันติภาพ ความสงบเรียบร้อยกลับคืนสู่สังคม
-------------------------------------------------------
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
นิตยสาร The Futurist
September-October 2013 (Vol. 47, No. 5)
สงครามชิงมวลชนบนความโรแมนติค โดย ดร.พิสิฐ เหตระกูล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น