วันอังคารที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2560

การปฏิบัติการข่าวสาร เพื่อเสริม การป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ

การปฏิบัติการข่าวสาร เพื่อเสริม การป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ
 ( Information Operations for Counter Insurgency )
โดย พลตรี ฤทธี  อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก

การก่อความไม่สงบหรือการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องที่เรื้อรังกันมานานนับสิบปี ถึงแม้ว่าทางรัฐบาลที่ผ่านๆ มาจนถึงปัจจุบันจะให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ และมีแนวนโยบายในการ
แก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมถึงการทุ่มเทเม็ดเงินงบประมาณ ทรัพยากร แผนงาน โครงการต่างๆ รวมถึงการพิจารณาคัดสรรบุคลากรทั้งนักบริหาร นักพัฒนา นักปกครอง และนักการทหารลงไปแก้ไขคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าว แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายสันติสุขปลายด้ามขวานได้เพียงแค่ประคองสถานการณ์ในพื้นที่ไม่ให้มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จนนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนเท่านั้น
มูลเหตุ เงื่อนไข และปัจจัยในการก่อความไม่สงบหรือการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการสรุป วิเคราะห์ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งหน่วยงานความมั่นคง ภาครัฐบาล ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ดูเหมือนจะเข้าใจปัญหากันดี  แต่ก็ยังมีการก่อเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รวมถึงประชาชนในพื้นที่ บ่งชี้ถึงมาตรการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบที่ไร้ผล
การป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ  ( Counter Insurgency ; CI ) เป็นมาตรการสากลที่เคยได้ผลในการปฏิบัติการมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนในอดีต ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นควบคู่กันไปทั้งมาตรการหลักและมาตรการเสริม รวมถึงใช้การปฏิบัติการข่าวสาร ( Information Operations ; IO ) เข้ามาเสริมในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศปัจจุบัน จะช่วยเป็นหลักประกันในความสำเร็จ การที่จะมุ่งเน้นความสำคัญไปด้านมาตรการใดมาตรการหนึ่ง จะทำให้ขาดความสมดุลในด้านการปฏิบัติการ และนำไปสู่ความล้มเหลวในที่สุด
มาตรการหลัก 3 ประการ ของการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ ประกอบด้วยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและการช่วยเหลือประชาชน , การพิทักษ์ประชาชนและทรัพยากร และการปราบกองกำลังติดอาวุธ
การปรับปรุงสภาพแวดล้อมและการช่วยเหลือประชาชน เป็นการดำเนินการปรับปรุงและขับเคลื่อนสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ทั้งด้านการเมือง  เศรษฐกิจ  และสังคมจิตวิทยา  รวมถึงการดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาความเดือนร้อน เพื่อเป็นการลดและขจัดเงื่อนไขปัญหาที่จะเป็นสาเหตุให้ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบนำไปแสวงประโยชน์ และปลุกระดม ยุยง ปลุกปั่นแนวร่วมและประชาชนได้
การพิทักษ์ประชาชนและทรัพยากร   เป็นการดำเนินการเพื่อป้องกัน คุ้มครอง พิทักษ์รักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการตัดขาดการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ก่อความไม่สงบกับประชาชนและแนวร่วม ไม่ให้ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบสามารถรับการสนับสนุนจากประชาชน แนวร่วม และทรัพยากรในพื้นที่ได้
การปราบกองกำลังติดอาวุธ เป็นการปฏิบัติการทางทหาร เพื่อทำลายล้างกองกำลังติดอาวุธ   ฐานที่มั่นและแหล่งซ่องสุมกำลัง  การตัดรอนกำลังและการสนับสนุน การขัดขวางและจำกัดเสรีการปฏิบัติของกองกำลังติดอาวุธ และผู้ก่อความไม่สงบ
สำหรับมาตรการเสริม 2 ประการ ของการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ประกอบด้วย การปฏิบัติการข่าวกรอง และการปฏิบัติการจิตวิทยา
การปฏิบัติการข่าวกรอง มุ่งเน้นไปที่งานการข่าวกรอง เพื่อการทำลายหรือการทำให้โครงสร้างลับ และแผนการปฏิบัติการก่อเหตุความรุนแรงของผู้ก่อความไม่สงบหมดประสิทธิภาพลง รวมถึงใช้เป็นข้อมูลในการเตรียมการกำหนดบทบาท หน้าที่ และภารกิจของทหารในด้านการพิทักษ์ประชาชนและทรัพยากร และการปราบกองกำลังติดอาวุธ
การปฏิบัติการจิตวิทยา เป็นการดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ความคิดเห็น การโน้มน้าว การจูงใจต่างๆ  รวมทั้งมาตรการอื่นๆ  ตามแผนที่ได้วางไว้ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้มีอิทธิพลเหนือจิตใจประชาชนในพื้นที่ , แนวร่วม และผู้ก่อความไม่สงบ ให้หันกลับมาในแนวทางการต่อสู้แบบสันติวิธี และเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ นำไปสู่การเสริมสร้างเครือข่ายมวลชนและพัฒนาไปสู่การข่าวภาคประชาชน
นอกเหนือจากการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ  ( Counter Insurgency ; CI ) ทั้ง 3 มาตรการหลักและ 2 มาตรการเสริม ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สิ่งที่สำคัญในยุคปัจจุบัน คือ การใช้การปฏิบัติการข่าวสาร ( Information Operations ; IO ) เข้ามาเสริมการดำเนินการในทุกมาตรการ ทั้งการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผลการดำเนินการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและการช่วยเหลือประชาชน , การชี้แจงทำความเข้าใจและขอความร่วมมือกับประชาชนในการพิทักษ์ประชาชนและทรัพยากร , การชี้แจงเหตุผล ความจำเป็น ข้อเท็จจริง การด้อยค่า และการตอบโต้ที่เป็นผลจากการปราบปรามกองกำลังติดอาวุธ , การประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนด้านการข่าว และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้อง การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ การสร้างการรับรู้ของประชาชน การประณามการกระทำที่รุนแรงของผู้ก่อความไม่สงบ และการขอความร่วมมือด้านการปฏิบัติการจิตวิทยา เป็นต้น จะช่วยเป็นหลักประกันในความสำเร็จในการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ
--------------------------------------------------------------
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

คู่มือราชการสนาม ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น