คลื่นลูกที่สาม VS สยามาภิวัตน์
( The 3rd Wave VS Siamization)
โดย พันเอก ฤทธี อินทราวุธ
รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร
นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ๒๕๕๕
เมื่อ
10 กว่าปีที่แล้ว กระแสโลกาภิวัตน์ ( Globalization) นับว่ามาแรงมาก คนจากทุกมุมโลก
ทั้ง
ชาวตะวันตก ชาวตะวันออก จากทวีปอเมริกา ยุโรป จรดเอเชียอาคเนย์ ต่างพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการวิวัฒนาด้านการติดต่อสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง และเทคโนโลยีสารสนเทศ อันแสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงระหว่างปัจเจกบุคคล ชุมชน หน่วยธุรกิจ และรัฐบาลทั่วทั้งโลก
ประเทศไทยเราก็ไม่ได้น้อยหน้ามีการบัญญัติศัพท์แสงใหม่ๆ
เกิดขึ้นตามมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดรับกับยุคกับสมัย ไม่งั้นจะกลายเป็นคนตกยุค
ตกสมัย ไดโนเสาร์ เต่าล้านปีไป แม้กระทั้งศัพท์แสงด้านความขัดแย้งทางการเมือง การปกครอง
ยังอุตส่าห์หาคำมาบัญญัติ เช่น ประชาภิวัตน์ ตุลาการภิวัตน์ เป็นต้น
ชาวตะวันตก ชาวตะวันออก จากทวีปอเมริกา ยุโรป จรดเอเชียอาคเนย์ ต่างพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการวิวัฒนาด้านการติดต่อสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง และเทคโนโลยีสารสนเทศ อันแสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงระหว่างปัจเจกบุคคล ชุมชน หน่วยธุรกิจ และรัฐบาลทั่วทั้งโลก
เมื่อกล่าวถึง
กระแสโลกาภิวัตน์ ก็มักจะอ้างอิงบทความในหนังสือยอดฮิตอยู่เล่มหนึ่ง ชื่อ “ คลื่นโลกที่สาม
” หรือ The Third Wave เขียนโดย นายอัลวิน
ทอฟฟ์เลอร์
( Alvin Toffler
) เมื่อปี 1991 และสุกัญญา ตีระวนิช
นำมาแปลพิมพ์ในพ.ศ. 2532 เนื้อหาหนังสือเล่มนี้กล่าวถึง วิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์โลก
โดยผู้เขียนได้แบ่งการวิวัฒนาการออกเป็น 3 ห้วงเวลา หรือ 3 ระลอกคลื่น กล่าวคือ
คลื่นลูกที่หนึ่ง ( The First Wave )
เป็นการวิวัฒนาการของมนุษย์โลกยุคหิน ( Stone Age ) ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในถ้ำตามป่าตามเขา
อาศัยการเก็บพืชผลไม้ และการล่าสัตว์ป่ามาประทังชีพ เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตมาสู่ยุคเกษตรกรรม
( Agriculture Age ) โดยการตั้งหลักปักฐานอยู่เป็นที่เป็นทาง
ปลูกพืช ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ป่าที่จับหามาได้ มาเพาะขยายพันธุ์ เพื่อเพิ่มปริมาณให้เพียงพอต่อการใช้งานและนำมาเป็นอาหาร
ส่วนคลื่นลูกที่สอง ( The Second Wave ) เป็นวิวัฒนาการของมนุษย์ครั้งสำคัญอีกยุคหนึ่ง
ที่เรียกกันว่ายุคอุตสาหกรรม ( Industrial Age) โดยการนำเครื่องมือ
เครื่องจักรกล เครื่องทุ่นแรงต่างๆ มาช่วยในการทำงานแทนแรงคน แรงสัตว์ จนนักประวัติศาสตร์เรียกว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม
( Industrial Revolution ) และระลอกคลื่นลูกล่าสุด ( แต่คงมิใช่คลื่นลูกสุดท้ายตามคำทำนายเรื่อง วันสิ้นโลก
หรือ วันโลกาวินาศ 2012 ของชาวเผ่ามายา – มายัน
ที่สร้างออกมาเป็นอภิมหากาพย์ ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ระทึกขวัญเขย่าโลก
และสุดท้ายก็โขกเอาเงินในกระเป๋าผู้ชมภาพยนตร์ทั่วโลกนับพันล้าน สบายใจกันไป ) ที่กำลังถาโถมโหมพัดกระหน่ำโลกอยู่ในยุคปัจจุบันนี้
ก็คือ คลื่นลูกที่สาม ซึ่งเป็นที่มาของชื่อหนังสือ The Third Wave ซึ่งกล่าวถึง วิวัฒนาการมาถึงอารยธรรมมนุษย์แห่งสังคมข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ จนหลายท่านกล่าวได้ว่าเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร ( Information Age) หรือ ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ( Information Technology Age )
โดยทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ
และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเข้าสู่สังคมข้อมูลข่าวสาร
การวิวัฒนาการทางสังคมไทย
ได้มีนักวิชาการ และนักประวัติศาสตร์หลายท่าน ได้เขียนบทความออกมาเผยแพร่ในหลาย ๆ
แนว ทั้งแนวประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศาสตร์ต่าง ๆ
ตามภูมิปัญญาและจิตนาการของผู้เขียน สำหรับวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของคนไทย ในมุมมองที่เทียบเคียงกับหนังสือ
คลื่นลูกที่สาม นั้น หากบูรณาการทั้งแนวประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง การปกครอง
และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นำมาผูกเรื่องผูกราวแบบขำๆ กันเป็นยุคๆ
ก็จะแบ่งได้ออกเป็น 3 ยุค เช่นเดียวกับ The Third Wave
เพียงแต่ห้วงระยะเวลาแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมของ
สังคมไทย กับ สังคมโลก
ประเทศไทยยุคแรกๆ
เรียกกัน ประเทศสยาม (
Siam ) ด้านประวัติศาสตร์ได้ยึดถือเอายุคสมัยพ่อขุนผาเมือง
และพ่อขุนบางกลางหาว ซึ่งได้โค่นล้มอิทธิพลของขอม และรวบรวมอาณาจักรต่าง ๆ
ของคนไทยมารวมเป็นปึกแผ่นเรียกว่า อาณาจักรสุโขทัย และสถาปนาเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย
ซึ่งขณะนั้นสังคมไทย หรือสยามประเทศยังไม่มีภาษาไทยใช้ บ้างก็ใช้ภาษาขอม ภาษามอญ
ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ต่อมาในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงประดิษฐ์ลายสือไทย (
อักษรไทย ) บนศิลาจารึกเป็นครั้งแรกและใช้เป็นภาษาประจำชาติ
อ้างอิงตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชาติไทย จึงถือได้ว่ายุคนั้นเป็นยุคของการวิวัฒนาทางสังคมของไทยเป็นครั้งแรก
จึงเรียกว่า “ยุค มึง - กู” เพราะยุคสมัยนั้น คนไทยใช้สรรพนาม มึง - กู ตามศิลาจารึก
ในการสนทนาและการติดต่อสื่อสารกันในสังคมไทย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ต่อมาในยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่
๒ ภายใต้การนำของ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ผู้เปลี่ยนชื่อ
ประเทศสยาม เป็น ประเทศไทย และประเทศไทยกำลังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศมหาอำนาจชาติตะวันตก
ที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลเมืองขึ้นลงมาด้านเอเชียบูรพา ในยุคล่าอาณานิคม จอมพล ป.
เล็งเห็นว่า ขนบธรรมเนียน ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของสังคมไทยในขณะนั้น
ล่อแหลมต่อการตกเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจชาติตะวันตกจึงได้ประกาศนโยบายการสร้างชาติ
และกุศโลบายเพื่อเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมการแต่งกายของคนไทย จากนุ่งผ้าม่วง
เสื้อราชปะแตน มาเป็นการสวมกางเกง
สวมกระโปรง สวมหมวก และเปลี่ยนการใช้สรรพนามใหม่เป็น ฉัน-ท่าน
เพื่อให้ดูศิวิไลขึ้น ยุคนั้นจึงถือเป็น “ยุค ฉัน - ท่าน ” การวิวัฒนาการทางสังคมไทยในยุคสมัยนั้น ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการตกไปเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจชาติตะวันตก
ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศ
ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนไทยในสังคมเป็นส่วนใหญ่ ทุกเพศ ทุกวัย ตามกระแสโลกาภิวัตน์
โดยเฉพาะ คลื่นลูกที่สาม ในยุคสังคมข้อมูลข่าวสาร
หรือ ยุคไอที ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวัยเรียน วัยทำงาน หรือ วัยพักผ่อน
( วัยเกษียณอายุ ก็ต้องดูแลลูก-หลาน )
ทุกคนจะต้องสามารถติดต่อสื่อสารข้อมูลกันได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นวันทำงาน วันหยุด
ทั้งในกรุง นอกกรุง ต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ สังคมไทยส่วนใหญ่ต่างหนีไม่พ้นที่จะต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
( ICT ) ตลอดจนการใช้งานแอฟฟลิเคชั่น
( Application ) หรือเรียกย่อๆ ว่า
แอฟต่างๆ ยุคสมัยนี้ก็เลยกลายเป็น “ ยุค ไอ้ - อี ” (
i
- e ) ไปโดยปริยายและไม่ได้สื่อความหมายเกี่ยวกับสรรพนามเช่นยุดก่อนๆ
เพราะวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย ต่างก็ใช้อุปกรณ์และแอฟ ไอ้ - อี ( i -
e ) กันตลอดเวลา
ไอ
( i ) หรือ ไอ้ ( การออกเสียง Essence แบบไทย แนวกวนๆ ) ได้มีผู้อธิบายความหมายและที่มาที่ไปอย่างหลากหลาย
จนไม่แน่ใจว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไรกันแน่ แต่ที่แน่ๆ คนทั่วโลกต่างรู้จักกันดี
รวมทั้งคนไทย บ้างก็ว่า บริษัท Apple เจ้าของผลิตภัณฑ์ iPhone , iPad และ iPod เป็นเจ้าแรกที่นำมาใช้
โดยมีสื่อความหมายแทนคำว่าอินเตอร์เน็ต ( internet ) ต่อมาก็มีคนพยายามอธิบายว่า
น่าจะหมายถึงข้อมูลข่าวสาร ( information ) ตามยุคตามสมัย
ไปจนหมายถึง ความฉลาดเฉลียว ( intelligence )
แต่ก็มีคนบางกลุ่มตีความแบบสุดขั้วว่า หมายถึง ความปัญญาอ่อน ( idiot ) ที่จะต้องกระเสือกกระสนหาเรื่องเสียกระตังค์ เพื่อสนองความอยากทันสมัย
แต่ใช้งานไม่คุ้มเงิน ก็ต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านและการตีความเอาเอง
อุปกรณ์ตระกูลไอ้
( I )
เป็นอุปกรณ์เครื่องมือไฮเทคระบบดิจิตอล ที่คนในสังคมไทยสมัยใหม่นิยมใช้กันมาก
ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ iPhone
/ iMobile , อุปกรณ์บันเทิงหรือเครื่องเสียงดิจิตอลสำหรับฟังเพลง
iPod และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพา iPad เป็นต้น
แอฟตระกูลไอ้
( i )
เป็นโปรแกรมประยุกต์ (
Application Software ) ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยใช้อุปกรณ์ตระกูลไอ้
( i )
นิยมใช้ควบคู่กันไป รวมทั้งผู้ที่ใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ตทั่วๆ ไป
แอฟตระกูลไอ้ ( i )
ที่คนไทยในโลกสังคมออนไลน์ ( Cyber Space ) หรือเครือข่ายสังคม ( Social Network ) มักจะนิยมใช้กันเป็นส่วนใหญ่
ได้แก่ iGoogle เป็นแอฟฟลิเคชั่นระบบสืบค้นส่วนตัวที่พัฒนามาจาก Google เวอร์ชั่นดังเดิมที่ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วทุกมุมโลก
โดยได้พัฒนาปรับปรุงให้ผู้ใช้มีอิสระเสรี สามารถเลือกกำหนดหน้าตา รูปแบบการแสดงผลหน้าเพ็จ
( Theme ) ในสไตล์ของตนเอง รวมทั้งสามารถติดตั้งโปรแกรมขนาดเล็กต่างๆ ( Gadget / Widget ) เพื่อให้ผู้ใช้งาน iGoogle
มีความสะดวกในการใช้งานแอฟฟลิเคชั่นต่าง ๆ แบบบริการ ณ จุดเดียว ( One Stop
Services ) , iBanking เป็นแอฟฟลิเคชั่นระบบการบริการของธนาคารต่าง
ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกสบายของลูกค้าธนาคารในการทำธุรกรรมทางการเงิน
ไม่ว่าจะเป็นการเช็คยอด ฝาก ถอน โอนเงิน ชำระหนี้ แลกเปลี่ยนสกุลเงินตรา ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
ไม่ต้องเสียเวลาไปธนาคาร หรือกรอกเอกสารต่าง ๆ ให้ยุ่งยาก เดี๋ยวแบ๊งค์จัดเต็มให้
ณ บัดNow ส่วน iTunes เป็นทั้งโปรแกรมเครื่องมือ และโปรแกรมประยุกต์ที่ไว้ใช้ดูหนัง
ฟังเพลง แบบเดียวกับโปรแกรม Windows Media Player ที่ติดมากับ Microsoft Windows
นั่นแหละ โดยเราจะพบโปรแกรม iTunes ได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์
iPhone , iPad และ iPod ซึ่งโปรแกรม iTunes
เป็นโปรแกรมที่ผลิตโดยบริษัท Apple และโปรแกรมนี้สามารถใช้ได้ทั้งคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฎิบัติการ
( OS ) MS-Windows หรือ Mac ที่สำคัญโปรแกรม
iTunes นั่นมีหน้าที่อีกอย่างคือ เอาไว้เชื่อมต่อ ( Sync
) อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือ Gadget ที่ผลิตโดยบริษัท
Apple ไม่ว่าจะเป็น iPhone, iPad หรือ iPod
อี
( e ) ความหมายค่อนข้างจะชัดเจนว่า หมายถึง
อิเล็กทรอนิกส์ (
electronics ) พอนำมาใช้กับอะไรก็เอา e
มาแปะไว้ข้างหน้าคำนั้น ๆ ง่ายดี ไม่ต้องสับสนเหมือน i
ตระกูล
อี ( e ) นั้นมีมากมายหลากหลายทั้งในรูปแบบขององค์กร ระบบงาน
และแอฟฟลิเคชั่นต่าง ๆ ที่คนไทยในสังคมไอที มักจะเกี่ยวข้องและนิยมนำมาใช้ในการทำงาน
และในชีวิตประจำวัน อาทิเช่น
e-Government
หมายถึง รัฐบาลสมัยใหม่ที่ใช้วิธีการบริหารจัดการภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
ซึ่งประเทศไทยเรากำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ และมีความทันสมัย
e-Office หมายถึง ทุกอย่างในสำนักงานสมัยใหม่ที่ต้องการจะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
จะใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ช่วยการทำงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
หรือ ระบบดิจิตอล (
Digital ) ยกเว้นคน ไม่เช่นนั้นคนจะตกงานไปหมด และจะกลายเป็นสำนักงานหุ่นยนต์
( Robot Office ) เลยไปถึงยุคคนเหล็กล้างโลก ( Terminator )
e-mail หมายถึง ระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้สำหรับรับ-ส่งข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน
ทั้งแบบทางการ ไม่เป็นทางการ ตลอดจนแบบส่วนบุคคล แทนระบบไปรษณีย์แบบเก่า ซึ่งต้องเสียเวลานาน
เพราะใช้คนเดินทางไปนำส่ง และส่งได้เฉพาะข้อความข่าวสาร มืด-ค่ำ ฝนตก-น้ำท่วม
วันหยุด-วันเทศกาลหมดสิทธิ์รับ-ส่งข่าวสาร พอมี e-mail มาแทนปัญหาต่าง ๆ หายไปหมด
สามารถรับ-ส่งข้อมูลข่าวสารได้ทั้งอักขระ ข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว
ทันอกทันใจ ไร้พรมแดน เก็บไว้ได้นาน อยากดูใหม่ย่อมทำได้ ถ้าไม่ลบเมล์ลงถังขยะ ( Bin ) เสียก่อน
e-document หมายถึง ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมักจะใช้กันภายในสำนักงานที่มีความทันสมัย
เพื่อพัฒนาองค์กรไปสู่สำนักงานไร้กระดาษ ( Paperless Office ) หรือ สำนักงานลดกระดาษ ( Less Paper Office ) ข้อดีของ e-document นอกจากจะใช้งานสะดวก รวดเร็ว ประหยัดพื้นที่เก็บเอกสาร และลดกระดาษแล้ว
ยังจะสามารถช่วยการสืบค้นหาเอกสาร ข้อมูล ข้อความ เนื้อหา คีย์เวิร์ด
ได้อย่างรวดเร็ว
e-book หมายถึง หนังสืออิเล็กทรอนิกส์
หรือในรูปแบบข้อมูลดิจิตอล ที่คนทั่วไปสามารถเปิดอ่าน-ดูได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์
หรืออุปกรณ์ตระกูลไอ้ (
i ) ทั้งหลาย และยังสามารถเปิดอ่าน-ดูได้ผ่านระบบเครือข่าย
Internet , เครือข่าย WiFi หรือ
เครือข่าย 3G ได้ทุกที่ทุกเวลาที่อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อสัญญาณได้ หรือมีไฟล์ข้อมูลเก็บไว้ในตัวอุปกรณ์ ข้อดีของ e-book นอกจากจะใช้งานสะดวก
ประหยัดพื้นที่เก็บหนังสือและลดกระดาษแล้ว ยังจะสามารถช่วยการสืบค้นหาข้อมูล
ข้อความ เนื้อหา คีย์เวิร์ด ได้อย่างรวดเร็ว และบางเล่มยังสามารถรวมเอาข้อมูลทั้ง
อักขระ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ทั้ง VDO และ Animation ประกอบสื่อผสม ( Multi-Media ) แสง สี เสียง ตลอดจนสามารถตอบโต้ผู้อ่านได้
อย่างที่เรียกกันว่าการสื่อสารแบบ 2 ทาง ( 2 Ways Communication ) ทำให้ผู้อ่านเกิดความสนใจมากยิ่งขึ้นกว่าการอ่านหนังสือแบบเก่า
e-library
หมายถึง ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นแหล่งรวมของ e-book ต่าง ๆ
เพื่อให้การบริการแก่สมาชิกห้องสมุดระบบออนไลน์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
ในการสืบค้นข้อมูลหนังสือ การดู การอ่าน การคัดลอก
การสำเนาข้อมูลหนังสือแบบดิจิตอล หรือการจอง การยืม
และการส่งคืนหนังสือผ่านระบบบรรณรักษ์ห้องสมุดโดยไม่ต้องเดินทางมาด้วยตนเอง ข้อดีของ e-library นอกจากจะสะดวก
รวดเร็ว และประหยัดพื้นที่เก็บหนังสือแล้ว
ยังจะสามารถช่วยการสืบค้นหาข้อมูลหนังสือ ข้อความ เนื้อหา คีย์เวิร์ด ชื่อหนังสือ
ชื่อผู้แต่ง ชื่อสำนักพิมพ์ ปีพิมพ์ และรหัส ISBN ได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้บางห้องสมุดยังสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายการบริหารห้องสมุดระหว่างกันและกัน
ทำให้สมาชิกทราบว่าจะสามารถหายืมหนังสือที่ต้องการได้จากห้องสมุดแห่งใด
e-learning หมายถึง
ระบบการเรียนการสอนแบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาประยุกต์เข้ากับระบบจัดการศึกษา
หรือกระบวนการเรียนการสอนสมัยใหม่ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าศึกษาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนา
และปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนการสอนให้ทันสมัย และกว้างไกลมากยิ่งขึ้น ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่
ทุกเวลา ศึกษาได้อย่างความต่อเนื่องไม่ขาดตอน เรียนทบทวนซ้ำได้ไม่จำกัด ขจัดปัญหาและข้อจำกัดด้านเวลา
สถานที่ เป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้เพิ่มมากขึ้น รูปแบบการนำเสนอ ( Presentation ) และเนื้อหา ( Contents
) สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้มีความทันสมัย
และน่าสนใจมากขึ้นได้ตลอดเวลา เป็นรูปแบบหนึ่งของระบบการศึกษาแบบทางไกล ( Long Distance Education )
เพื่อเสริมกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ( Long Life Learn ; 3L )
e-Service หมายถึง
การบริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการให้การบริการต่างๆ บนโลกออนไลน์หรือผ่านระบบ Internet , WiFi หรือ 3G
เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ ไม่ต้องเดินทางมารับการบริการ ณ
จุดบริการ และเป็นการบริการแบบไม่มีวันหยุด 7/24 หมายถึง ตลอด 7 วันๆละ 24 ชั่วโมง
เช่น การจองดูหนัง จองโรงแรม จองสายการบิน การสั่งซื้อสินค้า การชำระภาษี การชำระค่าบริการ
รวมถึงการบริการภาครัฐ และภาคธุรกิจเอกชนต่างๆ เป็นต้น
ปัจจุบันคนไทยในยุคสังคมสมัยใหม่
หรือที่เรียกว่า ยุคไอ้ - อี ( i - e ) ได้มีการบริโภคสรรพสิ่งของตระกูล ไอ้ - อี ( i -
e )
อีกหลายหลากมากมาย
หากจะนำมาอธิบายเกรงว่าจะเกิดอาการปวดเศียรเวียนเกล้าไปเสียก่อน จึงขอหันหัวเรื่องกลับไปถึงที่มาที่ไปของคำว่า
สยามาภิวัตน์ ( Siamization
)
โดยการเทียบเคียงหรือแกะแบบมาจากคำว่า โลกาภิวัตน์ ( Globalization ) ซึ่งสื่อความหมายถึง อิทธิพลของกระแสโลกในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ส่วน สยามาภิวัตน์ คงมิได้มีความแตกต่างไปจาก คลื่นลูกที่สาม ทั้งด้านปัจจัย
กระบวนการ และรูปแบบที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทยยุคไอ้ - อี ( i -
e )
ซึ่งได้รับอิทธิพลจากกระแสโลกในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นับตั้งแต่เด็กชั้นระดับอนุบาลต้องเล่น Computer เป็น , เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่
1 ต้องใช้
Tablet , เด็กประถมศึกษาตอนต้นขึ้นไปเล่น
Facebook , เด็กมหาวิทยาลัยพก iPhone , iPad เอาไว้สนทนาติดต่อสื่อสารกัน , ผู้ใหญ่วัยทำงานก็ต้องมี
e-mail ส่วนวัยพักผ่อน/วัยเกษียณอายุ/วัยชรา บางรายไม่มีปัญญาจะใช้อีตัวเล็ก
( e ) สำหรับติดต่อสื่อสารกับลูก-หลานเท่าไหร่นัก
แต่ก็หนีไม่พ้นอีตัวใหญ่
เช่น EMS ( Emergency Medical Services ) ในเวลาเจ็บป่วยฉุกเฉินกะทันหัน ซึ่งลูก-หลานมักจะรีบใช้ไอ้ - อี ( i -
e )
ติดต่อเรียกมาใช้บริการอย่างทันท่วงที ก่อนที่ท่านจะ อี เอ็น ดี ( End )
สรุปว่า
กระแสสังคมโลกโดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 3 คลื่น คือ คลื่นลูกที่หนึ่ง
เป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมโลกสู่ยุคเกษตรกรรม , คลื่นลูกที่สอง เป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมโลกสู่ยุคอุตสาหกรรม
และคลื่นลูกที่สามเป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมโลกสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
สำหรับกระแสสังคมไทย
พอจะอนุมานแบ่งได้เป็น 3 ยุคเช่นกัน คือ ยุค “มึง - กู”
เป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยประเทศสยามในขณะนั้น จากการอยู่แบบตัวใครตัวมันกระจัดกระจายหลากหลายอาณาจักร
ภายใต้อิทธิพลของขอม ไม่มีภาษาเป็นของตนเอง เปลี่ยนมารวมเป็นปึกแผ่น คือ
อาณาจักรสุโขทัย และมีภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ ใช้สรรพนาม มึง - กู ยุคต่อมาเป็น ยุค “ฉัน - ท่าน”
เป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยจากชื่อประเทศสยาม มาเป็น ประเทศไทย ใช้สรรพนาม ฉัน - ท่าน เพื่อทำให้ประเทศมีความเป็นศิวิไล
และมีการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีไทยหลายๆ อย่างตามนโยบาย รัฐนิยม
เพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากการตกไปเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก
และยุคปัจจุบันที่เรียกกันว่า ยุค “ไอ้ - อี” เป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยสมัยใหม่เข้าสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
เพื่อการพัฒนาประเทศไทยให้มีความเจริญ ก้าวหน้า ทันสมัย ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ
----------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
1.
หนังสือ “คลื่นโลกที่สาม” หรือ The Third Wave เขียนโดย นายอัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ ( Alvin Toffler ) ปี 1991 และ สุกัญญา ตีระวนิช แปลพิมพ์ พ.ศ. 2532
2.
หนังสือเรียน “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ของ กระทรวงศึกษาธิการ
3.
บทความ “แปลก พิบูลสงคราม” จาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น