วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

แนวทางการแก้ไขปัญหาความคับคั่งทางการศึกษาของกองทัพบก

แนวทางการแก้ไขปัญหาความคับคั่งทางการศึกษาหลักสูตรตามแนวทาง
รับราชการของกองทัพบก โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
( IT Solutions for the Army’s Education Problem )
โดย พันเอก ฤทธี  อินทราวุธ
รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร

ปัจจุบันกองทัพบกกำลังประสบปัญหาด้านการพัฒนาบุคคลากร โดยเฉพาะการจัดการศึกษาหลักสูตรต่างๆ ตามแนวทางรับราชการ ซึ่งไม่สามารถรองรับจำนวนปริมาณความต้องการทางการศึกษาตามแนวทางรับราชการของกำลังพลทั้งนายทหารชั้นประทวนและนายทหารสัญญาบัตร อันเนื่องมาจากปัญหาข้อจำกัดด้านงบประมาณประจำปี ทำให้
เกิดความคับคั่งทางการศึกษา และมีกำลังพลจำนวนมากที่ขาดคุณสมบัติทางการศึกษาในการที่จะพิจารณาเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น ทำให้การพิจารณาปรับย้ายกำลังพลจำเป็นต้องยกเว้นการบังคับใช้คุณสมบัติดังกล่าว  ส่งผลกระทบให้กำลังพลบางส่วนไม่สนใจที่จะเข้ารับการศึกษาพัฒนาความรู้ให้กับตนเองในหลักสูตรตามแนวทางรับราชการ เพราะสามารถที่จะปรับย้ายไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นได้โดยไม่ต้องผ่านการศึกษาหลักสูตรตามแนวทางรับราชการ ทำให้นายทหารชั้นประทวนบางรายสามารถรับราชการเติบโตเลื่อนยศเป็นจ่าสิบเอก หรือจ่าพิเศษ โดยไม่เคยเข้ารับการศึกษาหลักสูตรนายสิบชั้นต้น นายสิบอาวุโสของเหล่า บางรายเป็นนายทหารยศชั้นนายพัน โดยไม่ผ่านหลักสูตรชั้นนายร้อย ชั้นนายพันของเหล่า เป็นสาเหตุให้กำลังพลเหล่านี้ขาดการพัฒนาด้านการศึกษา ขาดความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์การฝึกของเหล่า และขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน
การประชุมกรมฝ่ายกิจการพิเศษ สายงานกำลังพล และหน่วยงานด้านการศึกษา ครั้งที่ ๒ / ๕๗  เมื่อ ๒ เม.ย. ๕๗  มีหน่วยงานด้านการศึกษารายงานปัญหาความคับคั่งของกำลังพลของเหล่าในการเข้ารับการศึกษาหลักสูตรตามแนวทางรับราชการ จำนวนนับหมื่นนาย ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการจัดการศึกษาแบบปกตินานนับ ๑๐ ปี จึงจะสามารถเข้ารับการศึกษาตามหลักสูตรได้ครบหมด พลเอกไพบูลย์  คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ( ๒ ) ประธานการประชุมฯ จึงได้ดำริให้หน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการหาทางแก้ไขปัญหาเป็นการเร่งด่วน โดยเฉพาะหลักสูตรนายสิบชั้นต้น และหลักสูตรนายสิบอาวุโส ของนายทหารชั้นประทวน
ปัญหาดังกล่าว เกิดจากระบบการจัดการศึกษาของกองทัพบก ที่ส่วนใหญ่ยังคงจัดระบบการศึกษาตามวงเงินกรอบงบประมาณประจำปีที่ได้รับการจัดสรร และยึดถือแนวทางการเรียนการสอนแบบเดิมในระบบหลักสูตรปกติ ซึ่งมีขีดจำกัดด้านจำนวนผู้เข้าเรียนและสถานที่ศึกษา ถึงแม้ว่าบางหน่วยได้มีการนำหลักสูตรการเรียนการสอนแบบอิเล็กทรอนิกส์ ( e-Learning ) มาแก้ปัญหาได้บางส่วน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ที่ตกค้างการศึกษาซึ่งมีจำนวนมากนับหมื่นราย
กรมยุทธศึกษาทหารบก ( ยศ.ทบ. )  และ กรมกำลังพลทหารบก ( กพ.ทบ.) ได้ดำเนินการจัดประชุมหน่วยที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยกำหนดแนวทางการดำเนินการจัดการศึกษาเพิ่มเติม นอกเหนือจากการจัดการศึกษาตามปกติ ณ โรงเรียนเหล่า / สายวิทยาการ ประกอบด้วยแนวทางต่างๆ ดังนี้
๑.       การศึกษา ณ ที่ตั้งหน่วย
๒.     การศึกษาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-learning
๓.     การศึกษาด้วยชุดฝึกสอนเคลื่อนที่ หรือ Mobile Team
๔.     การศึกษาทางไกลทางไปรษณีย์
หน่วยที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการจัดการศึกษา แบบผสมผสานแนวทางต่างๆ ตามขีดความสามารถ และความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของหน่วย โดยจะสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาความคับคั่งทางการศึกษาได้ภายใน ๕ ปี
ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร จึงได้ริเริ่มจัดทำโครงการนำร่องเพื่อเสริมการแก้ไขปัญหาความคับคั่งทางการศึกษาหลักสูตรตามแนวทางรับราชการของกองทัพบก และแนวทางการดำเนินการจัดการศึกษาเพิ่มเติมดังที่กล่าวมาแล้ว โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผสมผสานแนวคิดการจัดการศึกษาแบบระบบเปิด หรือ ตลาดนัดวิชาการ เพื่อศึกษาด้วยตนเอง เช่นเดียวกับ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยเน้นในด้านการศึกษาภาคทฤษฎีทางวิชาการเป็นหลัก เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้กับกำลังพลอย่างทั่วถึง ไร้ขีดจำกัดด้านจำนวน เวลา และสถานที่ เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานการพิจารณาคุณสมบัติด้านความรู้ตามหลักสูตรแนวทางรับราชการประกอบการพิจารณาปรับย้ายตำแหน่งสูงขึ้นโดยอนุโลม สำหรับการศึกษาภาคปฏิบัติให้หน่วยที่เกี่ยวข้องพิจารณาเรียกผู้ที่สอบเกณฑ์ผ่านภาคทฤษฎี มาเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติมแบบรวมการภายหลัง ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการศึกษาของกองทัพบก มากกว่าการจัดการศึกษาแบบหลักสูตรปกติ  ลดระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาแนวทางอื่น และแก้ไขปัญหาความคับคั่งทางการศึกษาหลักสูตรตามแนวทางรับราชการของกองทัพบก โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ เสริมการแก้ไขปัญหาความคับคั่งทางการศึกษาหลักสูตรตามแนวทางรับราชการของกองทัพบก เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้กับกำลังพลอย่างทั่วถึง ไร้ขีดจำกัดด้านจำนวนปริมาณ เวลา และสถานที่ ตลอดจนจะเป็นการลดระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาจาก ๕ ปี ลงมาเป็น ๒ ๓ ปี และจะช่วยลดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการศึกษาของกองทัพบก โดยมีแนวความคิดในการดำเนินการ ดังนี้
การจัดระบบการศึกษา
- เป็นการจัดการศึกษาแบบระบบเปิด โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นช่องทางในการเข้าถึงระบบการศึกษาในหลักสูตรตามแนวทางรับราชการ
- เป็นการศึกษาด้วยตนเอง โดยไม่มีข้อจำกัดด้านจำนวน เวลา และสถานที่
- เป็นระบบการศึกษา โดยศึกษาจากคลังสรุปแนวสอน คู่มือ ตำรา และเอกสารแบบอิเล็กทรอนิกส์ของแต่ละหลักสูตร
- การสอบวัดผลเก็บคะแนนรายวิชาแบบออนไลน์เป็นรายบุคคล โดยการสุ่มข้อสอบจากคลังข้อสอบ และการสอบรวบยอดเป็นแบบรวมการ ทั้งกองทัพบกพร้อมกัน โดยสุ่มเลือกชุดข้อสอบแบบเดียวกัน เพื่อวัดมาตรฐานแบบเดียวกัน
- การสอบเก็บคะแนนรายวิชา มีเกณฑ์คะแนนผ่านตามหลักเกณฑ์และสอบรวบยอดเป็นแบบรวมการ เมื่อผ่านการสอบเก็บคะแนนทุกวิชาตามหลักสูตรแล้ว
ผู้เข้ารับการศึกษา
- เป็นกำลังพลของกองทัพบกที่ไม่สามารถเข้ารับการศึกษาตามแนวทางรับราชการในหลักสูตรปกติ และมีบัญชีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของโครงการฯ
- เป็นผู้ลงทะเบียนเข้ารับการศึกษาตามโครงการฯ และต้องศึกษาจากเอกสาร และตำรา จากคลังตำราเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และสื่อผสมด้านการเรียนการสอนด้วยตนเอง
- จะต้องสอบเก็บคะแนนรายวิชา และมีเกณฑ์คะแนนผ่านตามหลักเกณฑ์ครบทุกวิชาตามหลักสูตร จึงจะสามารถสอบรวบยอดเพื่อผ่านการศึกษาได้
-  ผู้ที่สอบเก็บคะแนนรายวิชา หรือสอบรวบยอดไม่ผ่านเกณฑ์ สามารถสอบซ้ำได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยมีการจัดเจ้าหน้าที่นายทหารสัญญาบัตรของหน่วยในสังกัดทำหน้าที่ตรวจสอบตัวบุคคลผู้เข้าสอบ และเป็นผู้รับรองรับรองตัวบุคคล
- ผู้ที่สอบรวบยอดไม่ผ่านเกณฑ์ สามารถสอบซ้ำได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
ผู้จัดการศึกษา
-  เป็นหน่วยจัดการศึกษา โรงเรียนเหล่า / สายวิทยาการของกองทัพบก
- จะต้องจัดทำหลักสูตรเฉพาะภาคทฤษฎีด้านวิชาการเท่านั้น
- จะต้องจัดทำคลังตำรารายวิชาตามหลักสูตร ด้วย
- จะต้องจัดทำคลังข้อสอบ
ผู้สนับสนุนด้านเทคนิค
- ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร เป็นหน่วยติดตั้งระบบจัดการศึกษาตามโครงการนำร่องฯ
- พัฒนาระบบลงทะเบียน ปฏิทินการศึกษา คลังตำรา คลังข้อสอบ และระบบการสอบแบบอิเล็กทรอนิกส์
การดำเนินการ ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ( ศทท.) จะดำเนินการติดตั้งระบบจัดการศึกษาตามโครงการนำร่องฯ ระบบการลงทะเบียน ระบบปฏิทินการศึกษา คลังตำรา คลังข้อสอบ ระบบการสอบแบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบประเมินผลการศึกษา หน่วยจัดการศึกษา โรงเรียนเหล่า / สายวิทยาการของกองทัพบก จะดำเนินการจัดทำหลักสูตรเฉพาะภาคทฤษฎีด้านวิชาการเท่านั้น โดยมอบหมายให้แผนกวิชาตามโครงการฯ จัดทำสรุปแนวสอน คู่มือ ตำรา รายวิชาตามหลักสูตร ในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น ไฟล์ pdf  , ไฟล์ MS-office , e-book หรือ อื่นๆ ตามขีดความสามารถ เพื่อจะนำมาดำเนินการจัดทำเป็นคลังสื่อแนวสอน คู่มือ ตำราอิเล็กทรอนิกส์ ดำเนินการจัดทำชุดข้อสอบ พร้อมเฉลย เป็นรายวิชา เพื่อจะนำมาดำเนินการจัดทำเป็นคลังข้อสอบ สำหรับการเลือกสุ่ม ( Random ) มาใช้ในการสอบวัดความรู้ทั้งรายวิชา และการสอบรวบยอด ( Comprehensive Examination )
กำลังพลของกองทัพบกที่ประสงค์จะเข้ารับการศึกษาตามโครงการฯ จะขอมีบัญชีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ( e-mail ) และลงทะเบียน ( Registration ) เข้ารับการศึกษาตามโครงการฯ โดยจะต้องศึกษาจากสื่อแนวสอน คู่มือ ตำรา จากคลังตำราเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และสื่อผสมด้านการเรียนการสอนด้วยตนเอง เมื่อมีความรู้ความเข้าใจในวิชาต่างๆ ตามหลักสูตร ก็สามารถลงทะเบียนสมัครสอบเก็บคะแนนรายวิชา และมีเกณฑ์คะแนนผ่านตามหลักเกณฑ์ครบทุกวิชาตามหลักสูตรแบบสะสมไมล์จบครบ  จึงจะสามารถสอบรวบยอดเพื่อผ่านการศึกษาได้  ผู้ที่สอบเก็บคะแนนรายวิชา หรือสอบรวบยอดไม่ผ่านเกณฑ์ สามารถสอบซ้ำได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยมีการจัดเจ้าหน้าที่นายทหารสัญญาบัตรของหน่วยในสังกัดทำหน้าที่ตรวจสอบตัวบุคคลผู้เข้าสอบ และเป็นผู้รับรองรับรองตัวบุคคล และผู้ที่สอบรวบยอดไม่ผ่านเกณฑ์ สามารถสอบซ้ำได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร จะดำเนินการส่งข้อมูลผลการศึกษาให้หน่วยจัดการศึกษา โรงเรียนเหล่า / สายวิทยาการของกองทัพบก พิจารณาดำเนินการต่อไป และหน่วยจัดการศึกษา โรงเรียนเหล่า / สายวิทยาการของกองทัพบก ประเมินผลการศึกษาและรายงานตามสายงาน นอกจากนี้ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ยังจะดำเนินการประเมินผลการจัดการศึกษา ระดับบุคคล ( ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดแต่ละวิชา แต่ละหลักสูตร )  ระดับหน่วย ( จำนวนกำลังผลที่ลงทะเบียนศึกษา และจำนวนผู้สำเร็จการศึกษา )  ระดับหลักสูตร ( จำนวนผู้ที่ลงทะเบียนศึกษา และจำนวนผู้สำเร็จการศึกษา )   ระดับหน่วยจัดการศึกษา ( จำนวนผู้ที่ลงทะเบียนศึกษา และจำนวนผู้สำเร็จการศึกษา )  เป็นต้น
โครงการนำร่องเพื่อเสริมการแก้ไขปัญหาความคับคั่งทางการศึกษาหลักสูตรตามแนวทางรับราชการของกองทัพบก เป็นโครงการบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยมี กรมกำลังพลทหารบก รับผิดชอบทางฝ่ายอำนวยการ , กรมยุทธศึกษาทหารบก รับผิดชอบจัดแผนการศึกษาหลักสูตรตามแนวทางรับราชการของกองทัพบก ตามโครงการนำร่องฯ ปี 2557 -2558 , หน่วยจัดการศึกษา โรงเรียนเหล่า / สายวิทยาการ รับผิดชอบจัดหลักสูตรการศึกษา คลังตำรา และคลังข้อสอบ ตามโครงการนำร่องฯ ปี 2557 -2558 , ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร รับผิดชอบสนับสนุนทางด้านเทคนิค และหน่วยในกองทัพบกรับผิดชอบตรวจสอบตัวบุคคลผู้เข้าสอบระบบออนไลน์ เพื่อป้องกันการสอบแทนกัน และเป็นผู้รับรองรับรองตัวบุคคลในสังกัดที่เข้ารับการศึกษา โดยโครงการนำร่องนี้จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ เดือน พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไป  ซึ่งในขั้นต้น ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร จะดำเนินการนำร่องทดสอบการใช้งานระบบ  โดยการจัดทำคลังสื่อ
แนวสอน คู่มือ ตำราอิเล็กทรอนิกส์  และคลังข้อสอบ ในหลักสูตรภาษาอังกฤษ ของ กรมยุทธศึกษาทหารบก และการทดสอบความรู้เพื่อคัดเลือกนายทหารชั้นประทวนบรรจุเป็นนายทหารสัญญาบัตรประจำปี เป็นต้น โดยกำลังพลที่สนใจสามารถสมัครลงทะเบียนออนไลน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อเข้าทดสอบความรู้ดังกล่าวได้ ที่ http://plan.rta.mi.th/examarmy  และพร้อมที่จะดำเนินการจัดการศึกษาหลักสูตรต่างๆ ที่ทางหน่วยจัดการศึกษา โรงเรียนเหล่า / สายวิทยาการ ตามโครงการฯ ภายในเดือน มิถุนายน ๒๕๕๗ เป็นต้นไป  ซึ่งคาดหวังว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถเสริมการแก้ไขปัญหาความคับคั่งทางการศึกษาหลักสูตรตามแนวทางรับราชการของกองทัพบก ภายใน ๒-๓ ปี
-------------------------------------