โลกไซเบอร์กับความมั่นคงของชาติ
( Cyber Space VS National Security )
โดย พลตรี ฤทธี อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร
ความมั่นคง ( Security ) กล่าวโดยทั่วไปมักจะหมายถึง ความอยู่รอด
ปลอดภัย และเสถียรภาพ ความคงอยู่ รวมถึง ศักยภาพ ความพร้อม ความเชื่อมั่นเชื่อถือในด้านการปกป้อง
คุ้มครอง และตอบโต้กับภัยภยันตราย หรือภัยคุกคามต่างๆ
ทั้งทางด้านรูปธรรมและนามธรรม
การพัฒนาด้านเทคโนโลยีนั้น
นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ เพื่อการเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ ในด้านทางบวกเพื่อก่อเกิดประโยชน์แล้ว
ก็มักจะมีการนำความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาใช้ในด้านทางลบ หรือด้านมืด
ก่อเกิดโทษ และความเสียหาย วุ่นวาย ดังคำกล่าวที่ว่า “ อะไรที่มีคุณอเนกอนันต์
ก็ย่อมมีโทษมหันต์ ” ซึ่งส่งผลกระทบในด้านความมั่นคงเช่นกัน ดังนั้นการพัฒนาของเทคโนโลยีจากอดีตสู่ปัจจุบัน
จึงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทั้งทางด้านทางบวกและทางลบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ( National Security ) ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการทหาร ประเทศใดมีความเจริญก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า
ย่อมจะได้เปรียบในเรื่อง
ของศักยภาพ ( Potential ) และพลังอำนาจ
( Power ) ทั้งทางด้านการเมือง
เศรษฐกิจ สังคม และการทหาร ในด้านการเมืองก็จะทำให้เกิดเสถียรภาพและความมั่งคงทางการเมือง
เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่น ความเชื่อถือของรัฐบาลในการปกครองและบริหารประเทศ การเจรจาต่อรองและรักษาผลประโยชน์ของชาติ
( National Interest ) ด้านเศรษฐกิจ จะเห็นได้ชัดเจนในด้านการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของประเทศ
ด้านสังคม ก็จะเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นและภูมิคุ้มกันให้กับประชากร
ส่วนด้านการทหาร ก็จะเป็นการเสริมสร้างศักย์สงคราม และพลังอำนาจด้านการรบที่สูงกว่า
เช่น ถ้าประเทศใดมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านทางทหาร เช่น ระบบลาดตระเวนและเฝ้าตรวจ ระบบแจ้งเตือน
ระบบป้องกัน ระบบควบคุมบังคับบัญชา และระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ทันสมัยกว่าอีกประเทศหนึ่ง
ความได้เปรียบ และอำนาจกำลังรบย่อมจะสูงกว่าประเทศอื่นๆ ที่ด้อยกว่า และเทคโนโลยีในด้านต่างๆ
ที่กล่าวมานี้ มักจะหนีไม่พ้นกับโลกไซเบอร์ ( Cyber Space )
การพัฒนาเทคโนโลยีด้านไซเบอร์ เช่น
การพัฒนาด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง การพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย
และการขยายโครงข่ายการสื่อสารและสารสนเทศ โดยเฉพาะเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงการสื่อสารและข้อมูลสารสนเทศถึงกันอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศ
และต่างประเทศ แบบไร้พรมแดน โครงข่ายเหล่านั้นมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานทั้งด้านกิจการธุรกิจเอกชน
พลเรือน ระบบราชการ และด้านการทหาร การเชื่อมโยงจากจุดใดๆ ในประเทศ แม้แต่ในบ้าน
ในองค์กร หรือในหน่วยทหาร อาจจะเกิดผลกระทบในด้านความมั่นคงได้ เพราะฝ่ายตรงข้ามหรือผู้ไม่หวังดีสามารถเข้าถึงเครือข่ายจากที่ได้ก็ได้
เพื่อเฝ้าติดตาม ค้นหาช่องโหว่ของระบบฯ การโจมตีระบบฯ การแอบฝังโปรแกรมจารกรรมข้อมูล
( Spyware ) โปรแกรมควบคุมเครือข่ายและการทำงานของระบบ (
Botnet ) ด้วยการใช้ช่องโหว่เหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ รวมถึงการแพร่ระบาดของโปรแกรมไม่พึงประสงค์
( Malware ) เพื่อสร้างความเสียหายต่อระบบ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะป้องกัน
หรือเฝ้าระวังและติดตามฝ่ายตรงข้ามได้ ในทุกๆ จุดที่มีเครือข่ายไซเบอร์เชื่อมต่อถึงกันนั้นเอง
โลกไซเบอร์ นับวันยิ่งทวีความสำคัญและมีความพิเศษ โดยเฉพาะในทางการทหาร
ได้กำหนดความสำคัญให้เป็นโดเมนหนึ่งในการปฏิบัติการทางทหาร คือ พื้นที่ปฏิบัติการบนไซเบอร์
( Cyber Domain ) นอกเหนือจาก พื้นที่ปฏิบัติการบนดิน ( Land
Domain ) , พื้นที่ปฏิบัติการในน้ำ ( Sea Domain ) , พื้นที่ปฏิบัติการในอากาศ ( Air Domain ) และพื้นที่ปฏิบัติการบนห้วงอวกาศ
( Space Domain ) เนื่องจากการใช้เครือข่ายไซเบอร์
มีการใช้งานในหลายๆ ด้านทั้งระบบสาธารณูปโภคหลักของประเทศ เช่น ระบบพลังงาน ไฟฟ้า
ประปา โทรศัพท์ การคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีการใช้งานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ระบบการเงิน
การคลัง ธนาคาร บริษัท ห้างร้าน โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น คงจะมองเห็นแล้วว่าโลกไซเบอร์ในปัจจุบันเปรียบเสมือนสมอง
เส้นประสาท เส้นเลือด ของระบบร่างกายมนุษย์ ซึ่งเป็นเครือข่ายการเชื่อมโยงหลักในระดับชาติไปแล้ว
ถ้าหากองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการต่างๆ ระดับประเทศเหล่านี้
ถูกโจมตีผ่านระบบเครือข่าย หรือระบบสารสนเทศจนหยุดการให้บริการหรือไม่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้
ผลกระทบนั้นจะกว้างขวางมากเพียงใด ความวุ่นวายย่อมเกิดขึ้น
แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
พื้นที่บนโลกไซเบอร์ ( Cyber Domain
) เป็นพื้นที่ๆ ที่ต้องมีการเชื่อมโยงเครือข่ายถึงกัน
บุคคลที่จะเข้าไปสู่พื้นที่ดังกล่าว ไม่สามารถที่จะใช้ยานพาหนะใด หรือการเข้าถึงด้วยการสัมผัสด้วยร่างกายของมนุษย์โดยตรง
ดังนั้น ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือในการเข้าถึง เช่น ระบบ Hardware และ Software ของคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
อุปกรณ์เหล่าเป็นเสมือน ร่างอวตาร ( Avatar ) ของคนเรา
ที่จะเข้าไปเฝ้าระวัง สำรวจ ตรวจสอบ ติดตาม สืบคัน ปกป้อง คุ้มครองพื้นที่ไซเบอร์
ว่ามีข้อมูลอะไรอยู่ในนั้นบ้าง อะไรที่ผิดปกติ อะไรที่มีความเสี่ยง
อะไรที่เป็นภัยคุกคาม รวมถึงมาตรการการตอบโต้
ดังนั้นถือว่าโลกไซเบอร์ ( Cyber Domain ) เป็นพื้นที่ที่มีความ
การก่อการร้าย ( Terrorism ) โดยหลักแล้วต้องมี เป้าหมาย วัตถุประสงค์
และรูปแบบในการกระทำที่ชัดเจน อาจจะกระทำโดยบุคคล หรือ องค์กร หรือรัฐ แต่การก่อการร้ายหรืออาชญากรรมบนโลกไซเบอร์
( Cyber Crimes ) มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งพวกที่กระทำโดยสมัครเล่น
พวกลองของลองวิชา รวมไปจนถึงพวกไม่เพียงแต่หวังเพียงข้อมูลหรือการขโมยข้อมูลเท่านั้น
แต่อาจจะไปถึงการทำลายล้าง หรือสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินต่อเป้าหมาย หรือสร้างอันตราย
และผลกระทบต่อชีวิตประชาชนทั่วไป และบางกลุ่มอาจจะเป็นพวกที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง
และไม่ได้หวังชื่อเสียงแต่อย่างใด ดังนั้น
ภัยการก่อการร้ายทางโลกไซเบอร์ จึงมีลักษณะตามที่กล่าวไว้ในตอนต้น โดยมีรูปแบบที่หลากหลาย
และความสลับซับซ้อน
แน่นอนว่าภัยคุกคามดังกล่าว ถ้ามีเป้าหมายในหน่วยงานในระดับชาติ
หรือในระบบสาธารณูปโภคในระดับประเทศ
ผลกระทบที่ประเมินแล้วความเสียหายมากจนถึงระดับชาติ ก็ย่อมเป็นภัยสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศนั่นเอง
สำหรับบุคคลสำคัญของประเทศ เช่น ประมุขของประเทศ ถ้าถูกกำหนดเป็นเป้าหมาย
ย่อมจะเป็นภัยในระดับชาติด้วยเช่นกัน สำหรับแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นหรือไม่
มันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ ด้าน เช่น ด้านการเมืองในประเทศ หรือต่างประเทศ ว่ามีความขัดแย้งกันสูงแค่ไหน
โดยเฉพาะในด้านผลประโยชน์ทางการเมือง ( Political
Interest ) ผลประโยชน์ของชาติ ( National Interest ) ส่วนด้านเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่อาจจะเกิดได้
ถ้ามีความเกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์ทางการค้า ทางธุรกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เป็นต้น
การเข้ามาของโลกไซเบอร์
คือ ก่อนหน้าเมื่อไม่นานมานี้จนถึง ณ ปัจจุบัน และในอนาคตจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ
เนื่องจากความเจริญทางวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและคอมพิวเตอร์
มีการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด มนุษย์ใช้คอมพิวเตอร์ เครือข่ายสื่อสารและสารสนเทศ
เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในวิถีชีวิตด้านปัจเจกบุคคลและการทำงานประจำวันในองค์กร
ตลอดจนการใช้เป็นส่วนหนึ่งของอาวุธในด้านการทหาร
ประเทศใดไม่มีการพัฒนาในด้านดังกล่าว จะกลายเป็นประเทศที่ล้าหลัง
และไม่สามารถพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็ว การเข้ามาของเทคโนโลยีเหล่านั้น มีทั้งด้านที่เป็นประโยชน์
และด้านที่เป็นโทษ ขึ้นกับมนุษย์ว่าใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด
ถ้าเป็นการใช้งานในด้านลบ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้แน่นอน
ผลในทางลบถ้ามันส่งผลเสียหายเมื่อประเมินแล้วอยู่ในระดับชาติ
รัฐต้องเข้ามามีบทบาทเพื่อรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดและส่งผลกระทบเหล่านั้น
อาจจะมีหน่วยงานเพื่อติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวัง พร้อมการสร้างความตระหนักในการใช้ไซเบอร์
เพื่อให้พวกเขาระมัดระวังด้านลบ และส่งเสริมการใช้งานในด้านบวกให้มากขึ้น นั่นคือ การสร้างความเข้าใจ
สร้างองค์ความรู้ และสร้างความตระหนักในการใช้ไซเบอร์ต่อคนในประเทศ สำหรับแนวทางการสร้างโลกไซเบอร์ให้มีความปลอดภัย
สรุปง่ายๆ สั้นๆ ดังนี้ คือ
1.
ผู้ใช้งาน : โดยการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ การปลูกฝังจิตสำนึก
และการสร้างความตระหนัก ควรเป็นอันดับแรกๆ ของการสร้างความปลอดภัยในโลกไซเบอร์
2.
องค์กร : องค์กรและหน่วยงานทั่วไปที่มีการใช้งานบนโลกไซเบอร์
ควรจะต้องมีมาตรการการรักษาความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ( Cyber Security
Measures ) ส่วนในระดับประเทศ ควรมีหน่วยงานไซเบอร์เป็นการเฉพาะ ที่ให้การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการบริการประชาชน
( Cyber Emergency Response Team ; CERT ) ในการเฝ้าระวัง
แจ้งเตือนภัย และการแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างความเชื่อมั่น
ความมั่นใจในการใช้งานในโลกไซเบอร์ การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจโลกไซเบอร์ รวมถึงการมีหน่วยงานที่บังคับการใช้กฎหมายด้านไซเบอร์
เป็นต้น
3.
กฎหมาย : ควรมีกฎหมายด้านไซเบอร์เป็นการเฉพาะ เพื่อกำหนดกฎกติกาทางสังคมโลกไซเบอร์
และมาตรการป้องปรามป้องกันการละเมิดกฎหมาย โดยกฎหมายจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างมากสำหรับการสร้างโลกไซเบอร์ที่ปลอดภัย
กองทัพนับเป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงของประเทศ
ในสถานการณ์ยามปกติ ที่ภัยคุกคามด้านไซเบอร์ยังไม่มีความรุนแรงเท่าไรนัก
อาจจะมีหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่งคงปลอดภัยด้านไซเบอร์อื่นๆ
เช่น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
กรมสอบสวนคดีพิเศษ และอื่นๆ คอยรับมือกับภัยคุกคามดังกล่าว
แต่ในสถานการณ์ยามวิกฤตระดับชาติ หรือยามสงคราม หน่วยงานดังกล่าวข้างต้นอาจจะไม่มีศักยภาพเพียงพอต่อการรับมือภัยคุกคามด้านไซเบอร์ในระดับประเทศ
ดังนั้น กองทัพควรจะต้องมีความพร้อมในการเตรียมหน่วยงานด้านไซเบอร์ที่มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร
และเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อการรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่มีความรุนแรง
ความเสียหายอย่างใหญ่หลวง และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศในด้านต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นตั้งแต่ปัจจุบัน
และควรมีการพัฒนาเสริมสร้างกำลังกองทัพด้านไซเบอร์ อย่างเป็นระบบ มีระเบียบแบบแผน ทั้งมาตรการเชิงรับและเชิงรุก
ให้มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ มีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อเป็นหลักประกันด้านความมั่งคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ของประเทศ
ไม่ควรทำตามกระแส แบบไฟไหม้ฟาง เพราะ “ กองทัพ คือ ที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนในชาติ
” อย่าปล่อยไปเป็นเช่นสุภาษิตโบราณว่า “ วัวหาย ล้อมคอก ”
---------------------------------------------------