ประชาคมไซเบอร์ของกองทัพ: ก้าวแรกสู่ประชาคมไซเบอร์ของชาติ
( Armed Forces Cyber Community : First step for National Cyber
Community )
โดย พลตรี ฤทธี อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร
“ แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์ ศัตรูกล้ามาประจัญ จะอาจสู้ริปูสลาย”
พระราชนิพนธ์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ( Cyber Threats ) ในยุคปัจจุบันและอนาคต
นับวันจะทวีความรุนแรงและเข้มข้นมากขึ้นตามลำดับ จากสถานการณ์การโจมตีด้านไซเบอร์ต่อระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ที่ปรากฏเป็นกระแสข่าวดังไปทั่วโลก ด้วยการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยี
และซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมา และกระทำการโดยกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีต่างๆ เช่น กลุ่มอาชญากรรมทางไซเบอร์
( Cyber Crimes ) กลุ่มก่อการร้าย ( Terrorist ) กลุ่มมิจฉาชีพ ( Criminals
) กลุ่มนิรนาม (
Anonymous ) รวมถึงกองกำลังไซเบอร์ ( Cyber Warrior ) ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตระหนก หวั่นวิตกต่อการดำรงวิถีชีวิต
และความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ และธุรกิจเอกชน ด้านความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล
ระบบงานสารสนเทศ และการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงการลักลอบโจรกรรมข้อมูล
การเจาะระบบ และการโจมตีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ
ตลอดจนหน่วยงานด้านความมั่นคง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
กองทัพได้ตระหนักถึงภัยคุกคามด้านไซเบอร์ดังกล่าว
ซึ่งส่งผลกระทบไปในวงกว้างในด้านความเสียหาย และความเชื่อมั่นในด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์
จึงได้ดำเนินการเตรียมการรับมือกับการโจมตีด้านไซเบอร์มาตามลำดับ
รวมถึงการดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานด้านไซเบอร์ของแต่ละเหล่าทัพขึ้นมา
เพื่อรับผิดชอบภัยคุกคามด้านไซเบอร์โดยตรง ถึงกระนั้นยังไม่เพียงพอที่จะเป็น
หลักประกันความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ที่ชัดเจน ทั้งนี้เนื่องมาจาก ภัยคุกคามด้านไซเบอร์ นับเป็นภัยคุกคามทั้งไร้ตัวตน
ไร้ทิศทาง และไร้ขีดจำกัดในการโจมตี กล่าวคือ เราไม่ทราบว่ามันมีรูปร่างอย่างไร
แฝงตัวมาลักษณะใด มาจากที่ไหนบ้าง สามารถโจมตีได้จากทุกทิศทุกทางทั่วโลก และไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา
รวมถึงสามารถจะเข้ายึดควบคุมอุปกรณ์และระบบคอมพิวเตอร์ของฝ่ายเรา
เพื่อใช้โจรกรรมข้อมูล หรือโจมตีระบบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ระบบงานสารสนเทศ และระบบการสื่อสารของฝ่ายเรา ดังนั้น
แนวทางการรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ จึงจำเป็นจะต้องมีการระดมสรรพกำลัง
โดยการผนึกกำลัง แสวงหาความร่วมมือทุกภาคส่วน และการระดมทรัพยากร
โดยเฉพาะทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยมีความสำคัญยิ่งและมีอยู่อย่างค่อนข้างจำกัด
เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านไซเบอร์ ให้เป็น กำลังอำนาจของชาติ ( National Power ) และเป็น พลังอำนาจที่ไม่มีตัวตน
( Intangible Power ) สำหรับการรับมือกับภัยคุกคามด้านโดเมนที่
๕ หรือ พื้นที่ปฏิบัติการบนโลกไซเบอร์ ( Cyber Domain )
การจัดตั้งประชาคมไซเบอร์ ( Cyber Community ) จึงเป็น
แนวคิดของการผนึกกำลัง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานด้านไซเบอร์
ในระดับวางแผนและระดับปฏิบัติการ ได้มีโอกาสพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยน เรียนรู้
ประสบการณ์การทำงานและองค์ความรู้ต่างๆ ด้านไซเบอร์ซึ่งกันและกัน
อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์
ความร่วมมือในการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดให้เกิดความเป็นรูปธรรม
มีความต่อเนื่องและยั่งยืน รวมถึงการประสานความร่วมมือในด้านอื่นๆ เช่น
การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาองค์ความรู้
การพัฒนาองค์กรด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
การพัฒนาการฝึกทักษะและประสบการณ์ร่วมกัน รวมถึงการใช้ทรัพยากร เครื่องมือ อุปกรณ์
และเทคโนโลยีร่วมกันในอนาคต ตลอดจนการกระจายข่าวสาร การแจ้งเตือนภัยคุกคาม
และข้อมูลข่าวสารต่างๆ ระหว่างกันภายในประชาคมไซเบอร์
แนวคิดดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งประชาคมไซเบอร์ของกองทัพขึ้น
เพื่อพัฒนาให้การปฏิบัติการร่วมในมิติไซเบอร์ ( Cyber co-operations ) ของกองทัพเป็นไปด้วยความเรียบร้อยอย่างเป็นรูปธรรม
และมีความเข้าใจในกรอบแนวทางการปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ
หน่วยงานด้านไซเบอร์ของกองทัพ
จะมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ ให้กับหน่วยทหารในสังกัดเป็นหลัก
เพื่อพร้อมรับมือกับการโจมตีด้านไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว
ให้หน่วยทหารมีความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ซึ่งเป็นมาตรการเชิงรับ
และพัฒนาขีดความสามารถในการปฏิบัติการไซเบอร์เชิงรุก
เพื่อรองรับการปฏิบัติการทางทหารในกรณีที่เกิดสถานการณ์สงครามขึ้นทั้ง
สงครามตามแบบ ( War ) สงครามนอกแบบ ( Unconventional War ) และสงครามไซเบอร์
( Cyber War ) ซึ่งเป้าหมายในการปฏิบัติการไซเบอร์ของกองทัพในกรณีที่เกิดภาวะสงครามดังกล่าว
จะเป็นการกระทำต่อเป้าหมายทางทหารของฝ่ายตรงข้ามเป็นหลัก
สถานการณ์สงครามโดยทั่วไป
เป้าหมายส่วนใหญ่ที่มักจะถูกโจมตีจะมีทั้งเป้าหมายทางทหาร และเป้าหมายพลเรือนซึ่งเป็นเป้าหมายที่มีความอ่อนแอและมีผลกระทบเสียหายในวงกว้าง
เพื่อสร้างความเสียหาย คุกคาม
และกดดันให้ฝ่ายตรงข้ามไปสู่สถานะเสียเปรียบในทางการเจรจาเพื่อยุติปัญหา ดังนั้น การจัดตั้งประชาคมไซเบอร์ของกองทัพ
จึงยังมิใช่คำตอบ แบบสูตรสำเร็จ ในการรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ในระดับสงครามไซเบอร์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ดังนั้น การพัฒนาความสัมพันธ์ และความร่วมมือด้านไซเบอร์ของทุกภาคส่วน
ทั้งหน่วยทหาร หน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานองค์กรภาครัฐและธุรกิจเอกชน
รวมถึงสถาบันการศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป เพื่อนำไปสู่การจัดตั้ง ประชาคมไซเบอร์ระดับชาติ
( National Cyber
Community ) จึงเป็นอีกก้าวหนึ่ง ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเสริมสร้างขีดความสามารถและศักยภาพด้านไซเบอร์ของประเทศ
ให้เป็น กำลังอำนาจของชาติ (
National Power ) ในอนาคต
ประชาคมไซเบอร์ระดับชาติ
นับเป็นเป้าหมายสูงสุดของ การเตรียมสรรพกำลังด้านไซเบอร์ นอกเหนือจาก
การระดมสรรพกำลังทางทหาร ซึ่งเป็นการดําเนินการรวบรวม และการจัดระเบียบทรัพยากรทั้งปวง
เพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์ของชาติในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือภาวะไม่ปกติ โดยมีกฎหมายรองรับ
แต่การเตรียมสรรพกำลังด้านไซเบอร์ จะเป็นความสมัครใจ จิตอาสา
และความสำนึกของความเป็นคนไทย
ที่มุ่งหวังให้ประเทศชาติอยู่รอดปลอดภัยจากภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ซึ่งเกิดจากการพัฒนาความสัมพันธ์
การพัฒนาความร่วมมือด้านไซเบอร์ของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยทหาร หน่วยงานความมั่นคง
หน่วยงานองค์กรภาครัฐและธุรกิจเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษา
ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ทักษะ และประสบการณ์ด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ทั้งเชิงรับและเชิงรุก
โดยจัดให้มีเวที หรือช่องทางการพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยน เรียนรู้
ประสบการณ์การทำงานและองค์ความรู้ต่างๆ ด้านไซเบอร์ซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอในขั้นต้น
และพัฒนาเสริมสร้างความสัมพันธ์ไปสู่ความร่วมมือในการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
รวมถึงการประสานความร่วมมือในด้านอื่นๆ ทั้งด้านบุคลากร องค์ความรู้ การพัฒนาองค์กร
การฝึกปฏิบัติการร่วมกัน รวมถึงการใช้ทรัพยากร เครื่องมือ อุปกรณ์
และเทคโนโลยีร่วมกัน ตลอดจนการกระจายข่าวสาร การแจ้งเตือนภัยคุกคาม
และข้อมูลข่าวสารต่างๆ ระหว่างกันภายในประชาคมไซเบอร์ เพื่อสร้างเป็นเครือข่ายโยงใยไปทุกภาคส่วน
และมีความกลมเกลียวเหนียวแน่นเป็นปึกแผ่น
ผนึกเป็นการระดมสรรพกำลังซึ่งเป็นพลังอำนาจที่ไม่มีตัวตน
เพราะฝ่ายตรงข้ามจะไม่รู้ว่าพลังอำนาจเหล่านี้เป็นใคร อยู่ที่ไหน
อาจจะอยู่ในประเทศ หรือนอกประเทศก็สามารถปฏิบัติการร่วมกันได้ โดยใช้ความรู้
ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ทักษะ และประสบการณ์ด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ทั้งเชิงรับและเชิงรุกของตนนำมาปฏิบัติการต่อเป้าหมายฝ่ายตรงข้าม
เพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ รักษาผลประโยชน์ของชาติ หรือผนึกกำลังกันเพื่อปกป้อง
คุ้มครอง รักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จากการโจมตีของฝ่ายตรงข้ามไม่ให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายจากการคุกคามและการโจมตีด้านไซเบอร์
ซึ่งจะเป็นการดีกว่าการปล่อยปละละเลยให้บุคลากรที่มีความรู้
ความสามารถทางด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ ตลอดจนผู้ที่กำลังให้ความสนใจในด้านนี้ ถูกผู้ไม่หวังดีชักจูงไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควร
และนำเอาความรู้ ความสามารถด้านปฏิบัติการไซเบอร์ดังกล่าว
มากระทำการที่ผิดตามกฎหมาย สร้างความเสียหาย และบั่นทอนความเชื่อมั่นของประเทศชาติ
หน่วยงาน และองค์กรต่างๆ ในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ดังนั้น การจัดตั้งประชาคมไซเบอร์ของกองทัพ
จึงถือเป็นก้าวหนึ่งของการนำไปสู่การจัดตั้งประชาคมไซเบอร์ระดับชาติในอนาคต เพื่อเป็นการ
“ เตรียมรบให้พร้อมสรรพ ” ตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งนี้เพียงเพื่อมุ่งหวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้
ประเทศไทยจะมีความพร้อมในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในระดับที่สูงยิ่งๆ
ขึ้นไป รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถขีดความสามารถในการปฏิบัติการเชิงรุก
เพื่อใช้เป็นกำลังอำนาจที่ไม่มีตัวตนในการปฏิบัติการบนโลกไซเบอร์หรือไซเบอร์โดเมน
---------------------------------