วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

สรรพกำลังด้านไซเบอร์ (Cyber Mobilization)

สรรพกำลังด้านไซเบอร์
(  Cyber Mobilization )
โดย พลโท ฤทธี  อินทราวุธ
ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงกลาโหม/
หัวหน้าคณะทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กิจการอวกาศ  และไซเบอร์
-----------------------------------------
ศักราชใหม่ 2018 ปีนี้ ช่วงเดือน มกราคม 2561 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวในวงการไซเบอร์ที่สำคัญ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการจัดตั้งองค์กรหน่วยงานด้านไซเบอร์ การรับสมัครบุคลากรด้านไซเบอร์ และการมอบนโยบายสั่งการด้านไซเบอร์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้นับเป็นสิ่งบอกเหตุที่แสดงถึงความ
สำคัญ ในการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ของหน่วยงานความมั่นคงของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ภายหลัง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายในการสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยรัฐบาลได้ตั้งเป้าผลิต “นักรบไซเบอร์” จำนวน 1,000 คน ในปี 2561 เพื่อ เฝ้าระวัง รักษาความปลอดภัย แก้ปัญหาหากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในโลกไซเบอร์ทั้งหมด[1]
สำหรับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเซีย ที่มีข่าวสารความเคลื่อนไหวด้านไซเบอร์ โดยเฉพาะการจัดตั้ง หน่วยงานด้านไซเบอร์ ที่สำคัญ อาทิ เช่น
อินโดนีเซีย โดย นายโจโค เซเตียดี หัวหน้าสำนักงานไซเบอร์และการเข้ารหัสแห่งชาติ ของอินโดนีเซีย ซึ่งเพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง เมื่อต้นเดือน มกราคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ได้สรรหาผู้พิทักษ์ไซเบอร์หลายร้อยคน โดยกล่าวว่า รัฐบาลจะพยายามอย่างที่สุดในการเพิ่มตำแหน่งต่าง ๆ ด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ด้วยบุคลากรที่ดีที่สุดที่มีอยู่ โดยต้องการทรัพยากรมนุษย์จำนวนมาก จึงวางแผนที่จะสรรหาบุคลากรหลายร้อยคนในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งรวมถึงผู้จบการศึกษาจากสถาบันด้านเทคโนโลยีภายในประเทศ และผู้ใดก็ตามที่มีความเชี่ยวชาญทางไซเบอร์และความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลที่กำลังมองหา และนายเซเตียดีฯ ได้กล่าวต่อว่า ความรับผิดชอบของ “สำนักงานไซเบอร์และการเข้ารหัสแห่งชาติของอินโดนีเซีย” คือ ให้การป้องกันในโลกไซเบอร์แก่องค์กรรัฐบาลต่าง ๆ แม้แต่ บริษัทเอกชน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือให้แก่ สาธารณชน[2]  
เวียดนาม ประกาศจัดตั้ง “กองบัญชาการปฏิบัติการไซเบอร์สเปซ” เมื่อเดือน มกราคม ที่ผ่านมา เพื่อปกป้องคุ้มครองอธิปไตยของประเทศบนโลกอินเทอร์เน็ต ด้วยนายกรัฐมนตรีอ้างถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องต่อทะเลจีนใต้ และสถานการณ์ในภูมิภาคและโลกที่มีความซับซ้อน หน่วยสงครามไซเบอร์ของเวียดนามที่เพิ่งได้รับการเปิดเผยนี้ มีชื่อว่า กองกำลัง-47 ( Force-47 ) ประกอบด้วย ทหารและพลเรือนที่เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ กว่า 10,000 คน ขณะนี้ได้เริ่มปฏิบัติงานแล้วในหลายภาคส่วน โดยภารกิจหลักคือ การเฝ้าจับตาการแสดงความคิดเห็นของประชาชนตามโซเชียลมีเดียต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่ผ่านมารัฐบาลไม่สามารถควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชนบนโซเชียลมีเดียได้มากนัก เพราะบริษัทที่ให้บริการสื่อโซเชียลมีเดียในเวียดนามมาจากหลายประเทศทั่วโลก และเวียดนามมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อการสอดส่องทั้งหมด[3]  
สำหรับประเทศไทย มีความเคลื่อนไหวด้านไซเบอร์ที่สำคัญ คือ การรับสมัครบุคลากรด้านไซเบอร์ ของ ศูนย์ไซเบอร์ทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ที่เปิดรับสมัครพลเรือนรับราชการ 2 ตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้านการตรวจประเมินมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (security audit) และ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้านเทคนิค โดยได้รับอัตราเงินเดือนสำหรับ ปริญญาตรี 15,000 บาท, ปริญญาโท 17,550 บาท และปริญญาเอก 21,140 บาท[4]  
และจากผลการประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ 1/2561 เมื่อ 31 มกราคม 2561
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานสภากลาโหม ได้สั่งการให้ กระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ หาแนวทางะละกลไก เพื่อรองรับ “Our Eyes Initiative” ความร่วมมือต่อต้านก่อการร้ายของ 6 ชาติอาเซียน  พร้อมตั้ง “ศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหม” รองรับภัยคุกคามทั้งเชิงรุกและเชิงรับ
โดยได้สั่งการให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ บูรณาการความร่วมมือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในประเทศ และกระทรวงกลาโหมมิตรประเทศ พัฒนาและเสริมขีดความสามารถด้านไซเบอร์ ทั้งเชิงรุก และเชิงรับ ในภาพรวมของกระทรวงกลาโหม โดยเน้นการผนึกกำลังด้านไซเบอร์ จากกำลังพลสำรอง และความร่วมมือเป็นสำคัญ[5]  
ด้าน พลเอก เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้มอบนโยบายในการประชุมหน่วยขึ้นตรงสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ครั้งที่ 1//2561 ให้หน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการด้านไซเบอร์และกิจการอวกาศของกระทรวงกลาโหม ให้มีขีดความสามารถรองรับภัยคุกคามทุกมิติ ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ คณะทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กิจการอวกาศ และไซเบอร์ ได้เร่งกลไกการขับเคลื่อนการผนึกกำลังเพื่อนำไปสู่ การระดมสรรพกำลังด้านไซเบอร์ ตาม ยุทธศาสตร์ไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศ ของ กระทรวงกลาโหม ที่มีแนวความคิดในการนำขีดความสามารถผู้เชี่ยวชาญไซเบอร์พลเรือน มารองรับภัยคุกคามไซเบอร์ในระดับชาติ โดยเปิดตัว Facebook “สรรพกำลังด้านไซเบอร์”  ขึ้น เพื่อการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร ต่างๆใน URL : https://www.facebook.com/groups/1968092893453090/
“สรรพกำลังด้านไซเบอร์” เป็น การระดมสรรพกำลัง กำลังสำรอง กำลังพลสำรอง และบุคคลพลเรือนชาย-หญิง ที่มีความรู้, ความสามารถ, ความเชี่ยวชาญ, มีประสบการณ์, ปฏิบัติงาน หรือ ผู้ที่มีความสนใจ งานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, งานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์, การปฏิบัติการทางไซเบอร์ และการปฏิบัติการข่าวสาร เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ และการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ บทความ ข้อมูลข่าวสาร แจ้งเตือนภัย ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง[6]
สำหรับแนวความคิดของ “สรรพกำลังด้านไซเบอร์" เป็นการแก้ไขปัญหาความขาดแคลนบุคลากรด้านไซเบอร์ของหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งประสบปัญหาข้อจำกัดด้านระเบียบและกฎเกณฑ์เรื่องค่าจ้าง ค่าตอบแทนในระบบราชการ ที่ต่ำกว่าภาคเอกชนพลเรือน ทำให้ไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในด้านไซเบอร์หันมาสนใจบรรจุในระบบราชการ รวมถึงปัญหาความสูญเปล่าในการผลิต และการบรรจุใช้งานของกำลังสำรอง ที่ไม่ตรงกับคุณวุฒิความรู้ความสามารถ เช่น นักศึกษาวิชาทหารหญิง ปี 5 ที่ศึกษาสาขาวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานด้านไซเบอร์ เมื่อติดยศ ว่าที่ ร้อยตรี แล้วไม่มีแผนการนำไปใช้งานในระบบกำลังสำรอง หรือ นักศึกษาวิชาทหารชาย-หญิง ปี 4 – ปี 5 ที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยในสาขาวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานด้านไซเบอร์ ควรจะได้ไปฝึกอบรมวิชาทหารในหน่วยสายงานเทคนิคที่เกี่ยวข้องแทนการฝึกอบรมวิชาทหารแบบทั่วไป หรือผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ในสาขาวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานด้านไซเบอร์ แต่จับสลากเกณฑ์ทหารได้ใบดำ บรรจุเป็นกองหนุนในตำแหน่ง พลทหาร หรือ นายทหารชั้นประทวน ที่บรรจุในหน่วยกำลังรบ หน่วยสนับสนุนการรบ หน่วยสนับสนุนการช่วยรบ ตามแผนป้องกันประเทศ
การดำเนินการของ “สรรพกำลังด้านไซเบอร์" แบ่งการดำเนินการออกเป็นด้านต่างๆ เช่น ด้านการจัดทำเพจประชาสัมพันธ์และช่องทางการติดต่อสื่อสาร, ด้านการสำรวจข้อมูลสรรพกำลังด้านไซเบอร์ จากฐานข้อมูลกำลังสำรอง ข้อมูลการระดมสรรพกำลัง และข้อมูลผู้เชี่ยวชาญไซเบอร์พลเรือน, ด้านการจัดทำเนียบบัญชีข้อมูลสรรพกำลังด้านไซเบอร์พร้อมใช้งาน ( On Call List ), ด้านการจัดทำโครงสร้าง “ศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหม” เพื่อรองรับผู้เชี่ยวชาญไซเบอร์พลเรือน ปฏิบัติงานในส่วนของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น สาธารณูปโภค สื่อสาร คมนาคม ขนส่ง พลังงาน สาธารณะสุข ฯลฯ, ด้านการพัฒนาองค์ความรู้ของสรรพกำลังด้านไซเบอร์ในระดับพื้นฐานและบุคลากรในระดับผู้เชี่ยวชาญ, ด้านการพิจารณาปรับปรุงข้อกฎหมาย และกฏกระทรวงต่างๆ ทั้งระเบียบการบรรจุ เกณฑ์การเลื่อนยศนายทหารสัญญาบัตรกองหนุน และค่าตอบแทน เพื่อสร้างมาตรการจูงใจในการรองรับผู้เชี่ยวชาญไซเบอร์พลเรือน, การพิจารณาปรับปรุงแผนการฝึกศึกษาวิชาทหาร การฝึกระดมสรรพกำลัง  การฝึกกำลังพลสำรอง  การฝึกซ้อมสถานการณ์ฉุกเฉิน และการฝึกตามแผนเตรียมพร้อมแห่งชาติ รวมถึงด้านการแสวงหาความร่วมมือในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยเฉพาะประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียน เป็นต้น
-------------------------------------------
อ้างอิง :