รายการ มหานครอัจฉริยะ ( Technopolis ) ไทยรัฐทีวี ช่อง 32
สัมภาษณ์เรื่องราวสาระความรู้เกี่ยวกับ
กิจการอวกาศและดาวเทียม เพื่อเก็บข้อมูลทำสกู้ปนำเสนอ มีสัมภาษณ์สดช่วงท้ายรายการ on air เมื่อวันเสาร์ที่ 28
ก.ค.2561 เวลา 1230
ดำเนินรายการโดย คุณจอห์น นูโว ( จอห์น
รัตนเวโรจน์ )
--------------------------------------------------------------------------
1. พูดถึงระบบความเชื่อมโยง
สารสนเทศ เทคโนโลยีในประเทศไทย ?
สารสนเทศ เป็น ข้อมูลดิจิตัล
จึงสามารถที่จะเชื่อมโยงผ่านสื่อหรือมีเดียต่างๆ เช่นเดียวกับ การสื่อสารโทรคมนาคม
ทั้งทางระบบใช้สาย และระบบไร้สาย ซึ่งเทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่ายการเชื่อมโยงของประเทศไทยคงไม่มีอะไรแตกต่างจากต่างประเทศมากนัก
ยกเว้นในเรื่องคุณภาพและประสิทธิภาพของการบริการ
โดยเฉพาะระบบไร้สาย
ซึ่งประเทศไทยเราส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ระบบ 3G - 4G แต่บางประเทศได้มีการใช้ระบบ
4G LTE-A (Long Term
Evolution - Advanced) หรือ 4.5 G ไปจนถึง 5G
กันแล้ว ซึ่งมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ
และความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลสารสนเทศทั้งในรูปแบบข้อความ ภาพนิ่ง
และภาพเคลื่อนไหว ได้ดีกว่า
ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศในยุคปัจจุบัน
มักจะนิยมใช้การเชื่อมโยงเครือข่ายผ่านระบบสื่อสารดาวเทียม เพราะมีความสะดวกสบาย
เกือบจะไร้ข้อจำกัดด้านพื้นที่ สามารถใช้งานผ่านทางโทรศัพท์มือถือแบบ Smart
Phone ซึ่งมีการพกพาใช้งานกันเกือบทุกคน ตั้งแต่เด็กจนไปถึงผู้ใหญ่
ทุกเพศทุกวัย
โดยเฉพาะในประเทศไทยเราซึ่งกำลังประสบกับปัญหาการจราจรติดขัดอย่างรุนแรง
ทำให้การติดต่อนัดหมาย การยืนยันหลักฐาน การแสดงภาพแบบ Real Time รวมถึงการส่งภาพเหตุการณ์ และตำแหน่งต่างๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
รวมถึงแอฟฟริเคชั่นต่างๆ
บนโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมโยงเครือข่ายผ่านระบบสื่อสารดาวเทียม
สามารถกระทำได้โดยง่ายและเป็นประโยชน์
2. อยากทราบถึงดาวเทียมในปัจจุบันมีทั้งหมดกี่ประเภท? มีกี่ดวงที่ใช้งาน การใช้งานแตกต่างกันอย่างไร?
ประเภทของดาวเทียม สามารถแบ่งได้ตาม
ลักษณะการใช้งาน , ลักษณะของวงโคจร ,
ระดับความสูง และขนาดของดาวเทียม แต่ถ้าจะจำแนกตามลักษณะการใช้งานหรือการใช้ประโยชน์หลักๆ
มีดังนี้
-
ดาวเทียมสื่อสาร (
THAICOM , IntelSat , Iridium)
-
ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก
หรือ ดาวเทียมถ่ายภาพ ( Theos , LandSat , RadarSat, Spot , QuickBird
)
-
ดาวเทียมนำร่อง หรือ ดาวเทียม
GPS
( NavStar )
-
ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา (
Noaa ถ่ายภาพภูมิอากาศ ติดตามพายุ )
-
ดาวเทียมดาราศาสตร์ (
Galileo สำรวจดาวพฤหัส , Magellan สำรวจดาวศุกร์)
-
ดาวเทียมจารกรรม (
Keyhole และ BigBird ของสหรัฐ , Cosmos
ของรัสเซีย)
รายละเอียดอื่นๆ สามารถดูได้ในเว็บไซต์ของ
GISTDA
3. ประเทศไทยใช้ประโยชน์อะไรจากดาวเทียมบ้าง?
ประเทศไทยเราใช้ประโยชน์จากดาวเทียมประเภทต่างๆ
ตามที่กล่าวมาแล้ว ยกเว้นดาวเทียมจารกรรม ที่ใช้ในทางทหาร เพราะถือว่าเป็นความลับ
ความมั่นคงของประเทศมหาอำนาจนั้นๆ ดาวเทียมประเภทนี้จะต้องพัฒนา
สร้างขึ้นมาเองและนำส่งสู่ชั้นอวกาศเอง
ไม่สามารถที่จะไปจ้างใครมาสร้างให้ได้
เพราะถือเป็นยุทโธปกรณ์ที่มีความสำคัญและเป็นความลับทางการทหาร
เมื่อจะนำส่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ก็จะต้องสร้างจรวดนำส่งดาวเทียมขึ้นไปเอง
ไม่สามารถนำส่งโดยใช้บริการจรวดนำส่งดาวเทียมจากบริษัทภาคธุรกิจเอกชนได้
เพราะไม่สามารถผ่านการ Declare รายละเอียดอุปกรณ์
และวัตถุประสงค์การใช้งานที่ขัดกับระเบียบการใช้ห้วงอวกาศขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศนานชาติได้
ส่วนดาวเทียมประเภทอื่นๆ ประเทศไทยเราใช้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ทั้งดาวเทียมของไทย และของต่างประเทศ
4. ความต้องการการใช้งานดาวเทียมของประเทศไทยมีมากน้อยแค่ไหน
และมีงานประเภทไหนบ้างที่ยังต้องการพึ่งพาการใช้ดาวเทียม?
ประเทศไทยเรามีความต้องการใช้งานดาวเทียมสูงมาก
ทั้งดาวเทียมของไทย และการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมต่างประเทศ เช่น
ดาวเทียมสื่อสาร
ของไทยเรามี THAICOM 1 – 8 ปัจจุบันที่มีใช้งาน คือ THAICOM
4 ( IP Star เป็น ดาวเทียม Broadband เครือข่ายความเร็วสูง ) , THAICOM 5 - 8 ( เป็น ดาวเทียม Broadcast ) และดาวเทียมของต่างประเทศ
เช่น IntelSat , Iridium เป็นต้น
ซึ่งจำเป็นต่อระบบการติดต่อสื่อสารโทรคมนาคม ระบบกิจการกระจายเสียง
ระบบกิจการโทรทัศน์ และระบบสารสนเทศ ทั้งข้อมูล ภาพ และเสียง
ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก
หรือ ดาวเทียมถ่ายภาพ ของไทยเรามี
Theos และดาวเทียมของต่างประเทศ เช่น LandSat , RadarSat,
Spot , QuickBird ซึ่งมีรายละเอียดคุณสมบัติของกล้องถ่ายภาพประเภทต่างๆ
รวมถึงความ
ละเอียดของภาพ ( Resolution ) แตกต่างกันไป
ซึ่งมีความจำเป็นในการสำรวจพื้นที่ การทำแผนที่ การบริหารจัดการพื้นที่
การวางผังเมือง การติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติ อุทกภัย วาตภัย ไฟป่า
การบุกรุกป่าและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
ดาวเทียมนำร่อง หรือ ดาวเทียม
GPS เราใช้ดาวเทียมของต่างประเทศ เช่น NavStar ในการ
แสดงตำแหน่งบนผิวโลก ใช้นำทางในการขับรถไปไหนมาไหน ผ่านแอฟฟริเคชั่นแผนที่ GoogleMap หรือ Track เส้นทาง ผ่านอุปกรณ์ GPS หรือ โทรศัพท์มือถือ
ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา
เราใช้ดาวเทียมของต่างประเทศ เช่น Noaa สำหรับดูสภาพภูมิอากาศ
, พยากรณ์อากาศ และเส้นทางพายุต่างๆ
ในเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา หรือเว็บไซต์พยากรณ์อากาศต่างๆ
ดาวเทียมดาราศาสตร์
เราใช้ข้อมูลภาพเพื่อใช้ในการศึกษาด้านดาราศาสตร์ จากดาวเทียมของต่างประเทศ เช่น
Galileo สำรวจดาวพฤหัส หรือ Magellan สำรวจดาวศุกร์
รวมถึงดาวเทียมดาราศาสตร์อื่นๆ ที่ใช้ในการสำรวจ Galaxy ,
จุดดับของดาวอาทิตย์ , พายุสุริยะ และดาวเคราะห์ต่างๆ
5. บทบาทของดาวเทียมที่จะมีต่อประเทศในอนาคตจะเป็นอย่างไร?
ประเทศไทยเราให้ความสำคัญในบทบาทของดาวเทียมและกิจการอวกาศมานานแล้วในอดีต
ตั้งแต่การปล่อยดาวเทียมสื่อสาร THAICOM
มาจนถึงดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก THEOS –1 เมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่เนื่องจากเป็น
เทคโนโลยีที่ค่อนข้างจะมีการลงทุนสูง
และองค์ความรู้บางส่วนเป็นความลับเชิงธุรกิจ
ถึงแม้ว่าไทยเราจะส่งผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งไปร่วมทีมพัฒนาสร้างดาวเทียมดังกล่าว
แต่เมื่อสร้างเสร็จกลับมา
เราไม่สามารถต่อยอดการพัฒนาไปสู่การสร้างดาวเทียมด้วยตนเองได้เลย เพราะการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือ Technology
Transfer ที่เราได้รับมานั้น ยังไม่เพียงพอเท่าที่ควร หรือองค์ความรู้บางอย่างเรายังเข้าไม่ถึง
ปัจจุบันประเทศไทยเราเริ่มให้ความสนใจ
และมีการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียมเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
บางสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษานอกจากจะมีสาขาวิชาดังกล่าวแล้ว
ยังสามารถทำการวิจัยพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็ก เช่น Cube Sat ได้สำเร็จ เช่น โครงการดาวเทียม KNACKSAT ของ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นต้น
นอกจากนี้ผลพวงจากการที่ประเทศไทยได้ลงทุนสร้างดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก
THEOS
–2 ของ GISTDA ซึ่งนอกจากจะได้รับประโยชน์จากการใช้งานดาวเทียมดาวหลักแล้ว
ยังได้มีการเตรียมการพัฒนาบุคลากรจำนวนหนึ่งประมาณ 40 – 50 คน
เพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจนถึงขั้นสามารถสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก ( Micro Satellite ) ขนาดประมาณ 100 กิโลกรัม โดยจะพัฒนาในประเทศไทย ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา
จ.ชลบุรี โดยคนไทยให้สำเร็จ และปล่อยไปพร้อมๆ กับดาวเทียม THEOS –2
ส่วนในระดับชาติได้มีการแต่งตั้ง
คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ขึ้นมากำกับดูแล หน่วยงานของรัฐบางหน่วยงาน ได้มีการจัดตั้งองค์กรด้านนี้ขึ้นมา
เพื่อรองรับการทำงานของหน่วยงาน และรองรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาในด้านนี้
แม้จะเป็นจุดเริ่มต้น แต่ก็ทำให้มองเห็นทิศทาง บทบาท และอนาคตของดาวเทียมรวมถึงกิจการอวกาศของ
ประเทศไทยชัดเจนเพิ่มมากขึ้น
ในด้านการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาบุคลากรในด้านนี้
เพื่อรองรับนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม
ที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศ โดยเฉพาะการเดินหน้า Startup ของ
mu Space บริษัทสัญชาติไทย
ที่ประกาศจับมือกับ BLUE ORIGIN เตรียมสร้างจรวด New
Glenn เพื่อส่งดาวเทียมในปี 2563
6. บทบาทสรุปในปัจจุบัน และอนาคต
ของวงการสื่อสารของไทย ?
วงการสื่อสารของไทยในปัจจุบันได้มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคต ทั้งระบบโครงข่าย อุปกรณ์ สื่อ มีเดีย
และแอฟฟริเคชั่นต่างๆ โดยเฉพาะการใช้งานบนโทรศัพท์มือถือแบบ Smart
Phone ในปัจจุบันและอนาคต นับว่ามีบทบาทสำคัญและมีความจำเป็นสำหรับทุกๆ
คน เพราะระบบสื่อสารดังกล่าว จะทำให้คนทุกมุมโลกสามารถเข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้น สามารถเข้าถึงเหตุการณ์ต่างๆ
ได้รวดเร็วขึ้น และสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย
ซึ่งข้อดีของวงการสื่อสารดังกล่าว ในมุมกลับกับอาจจะส่งผลกระทบในทางลบต่อสังคม
หากข้อมูล ข่าวสาร เหตุการณ์ และการใช้งานถูกนำไปใช้ในทางที่มิชอบมิควร
ดังนั้นการใช้งานและการบริโภคข้อมูลข่าวสารต่างๆ
จึงควรมีสติ และใช้มันด้วยความชาญฉลาด
-----------------------------------