วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การบูรณาการกำลังอำนาจแห่งชาติทั้งมวลเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติงานของ เจ้าหน้าที่รัฐ ในการขจัดปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( จชต.)

สรุปย่อ
ลักษณะวิชา ยุทธศาสตร์
เรื่อง                 การบูรณาการกำลังอำนาจแห่งชาติทั้งมวลเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติงานของ
                        เจ้าหน้าที่รัฐ ในการขจัดปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( จชต.)
ผู้วิจัย               พ.อ. ฤทธี  อินทราวุธ               หลักสูตร วปอ.               รุ่นที่ ๕๕
ตำแหน่ง          รองผู้อำนายการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ปัจจุบัน การก่อความไม่สงบ ถือได้ว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศเล็ก ๆ เท่านั้น แม้แต่ประเทศอภิมหาอำนาจอย่าง ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ไม่เว้น ทั้งนี้เนื่องมาจากสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยมูลเหตุ  ปัจจัย  และเงื่อนไขต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิเช่น  เทคโนโลยีสารสนเทศ  เป็นต้น   สำหรับประเทศไทย ปัญหาการก่อเหตุรุนแรง ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งได้เริ่มกลับมา
ปะทุอีกครั้งภายหลังการบุกปล้นอาวุธในค่ายทหาร เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ และมีการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงต่างๆ ในพื้นที่ และพื้นที่อื่นๆ ติดตามมา จนรัฐบาลต้องหันมาดำเนินการนโยบายแก้ไขอย่างจริงจัง แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งนี้เนื่องจาก  ขาดการบริหารจัดการองค์ความรู้เกี่ยวกับการก่อความไม่สงบ  ซึ่งมีความเป็นอัตลักษณ์ และมีความแตกต่างจากการก่อความไม่สงบในประเทศต่างๆ ทั่วโลก  ทำให้แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักปฏิบัติ หลักการ หลักนิยม หรือ ทฤษฎีของประเทศอื่นๆ มาใช้ไม่ได้ผล ดังนั้นควรจะต้องมีการดำเนินการศึกษาองค์ความรู้ที่มีลักษณะเฉพาะนี้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาต่อไป
ปัญหาการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) เป็นปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศที่เรื้อรังมานาน และทุกรัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ทำให้บางช่วงการก่อเหตุความรุนแรงลดลงตามระดับเกือบสู่ภาวะปกติ   และบางช่วงการก่อเหตุได้ทวีความรุนแรงจนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ  โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นปี ๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ     ทั้งด้านการเมืองการปกครอง  ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมจิตวิทยา และด้านการทหาร ฯลฯ  ซึ่งเป็นกำลังอำนาจแห่งชาติ  ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลทั้งด้านชีวิต และทรัพย์สินที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งงบประมาณแผ่นดินในการดำเนินการแก้ไขปัญหา และจนถึงขณะนี้ ปัญหาความรุนแรงดังกล่าว ยังไม่มีท่าทีที่จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น
ประเด็นสำคัญที่เป็นกลไกของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อยู่ที่กำลังอำนาจแห่งชาติด้านต่างๆ ซึ่งยังมิได้มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง ถึงความสมดุล และการบูรณาการกำลังอำนาจแห่งชาติ  ตลอดจนการ บูรณาการองค์ความรู้ในการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดศักยภาพสูงสุด ทำให้การปฏิบัติที่ผ่านมาส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ ตัวแปรสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกำลังอำนาจแห่งชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยส่งผลต่อระดับความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ กำลังอำนาจทางการเมือง , เศรษฐกิจ , สังคมจิตวิทยา และการทหาร
การศึกษาวิจัย เรื่อง การบูรณาการกำลังอำนาจแห่งชาติทั้งมวลเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการขจัดปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( จชต.) จึงเป็นสิ่งท้าทายในการที่จะศึกษา เพื่อหาคำตอบดังกล่าว และนำไปสู่การจัดทำเป็นข้อเสนอ และแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้กับรัฐบาลและหน่วยที่ปฏิบัติงานอยู่ใน  ๓  จังหวัดชายแดนภาคใต้ 
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อศึกษาองค์ความรู้ด้านกำลังอำนาจแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
๒. เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอ และแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในระดับยุทธศาสตร์ลงมา
ขอบเขตของการวิจัย
การศึกษาวิจัยฯ นี้ กำหนดขอบเขตในการศึกษาเฉพาะพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ได้แก่ จังหวัดยะลา , จังหวัดปัตตานี , จังหวัดนราธิวาส และพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสงขลา
วิธีดำเนินการวิจัย
การศึกษาวิจัยดังกล่าวฯ  เป็นการวิจัยโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ กำหนดกรอบความคิดในการวิจัยฯ โดยอ้างอิงหลักธรรมอริยะสัจสี่ คือ ทุกข์ (ปัญหา)  สมุทัย (เหตุแห่งปัญหา)  นิโรธ (แนวทางแก้ปัญหา)  มรรค  (การหลุดพ้นปัญหา) ใช้กระบวนการศึกษาข้อมูลปฐมภูมิ จากข้อมูล เอกสาร สื่อสิ่งพิมพ์  สื่อออนไลน์ บทความ งานวิจัยฯที่เกี่ยวข้อง การศึกษาข้อมูลทุติยภูมิ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกเจ้าหน้าที่    ผู้เคยปฏิบัติงานและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ  การวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลข้อเท็จจริงและผลการปฏิบัติที่ผ่านมา  การบูรณาการความรู้ เพื่อแสวงหาข้อค้นพบจากการศึกษาวิจัยฯ และสรุปเป็นข้อเสนอแนะ แนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  เพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้แบบองค์รวม  จัดทำเป็นข้อเสนอเชิงโครงสร้าง และเชิงกระบวนการ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการขจัดปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในระดับยุทธศาสตร์ ลงมา
ผลการวิจัย
ผลการศึกษาวิจัยฯ พบว่า นโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล และการใช้กลไกกำลังอำนาจแห่งชาติ ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และการทหาร เพื่อเป็นเครื่องมือในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในที่ผ่านมาของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ยังไม่สอดคล้องกับสภาพมูลเหตุและลำดับความสำคัญของปัญหา ตลอดจนการใช้กำลังอำนาจแห่งชาติในด้านต่างๆ ยังขาดความสมดุล ไม่สอดรับกับน้ำหนักความสำคัญของปัญหา โดยให้น้ำหนักการใช้กำลังอำนาจแห่งชาติในด้านการทหารเป็นหลักเช่นในอดีต ส่งผลกระทบทางด้านลบทางด้านสังคมจิตวิทยา สร้างเงื่อนไขและขยายปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ให้ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลเริ่มมองเห็นว่า แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จึงได้ปรับยุทธศาสตร์ นโยบาย และแนวทางการปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วยนโยบายการเมืองนำการทหาร ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ  ซึ่งมีปัจจัย และองค์ประกอบของสภาพแวดล้อมทางสังคมที่มีความเป็นอัตลักษณ์ มีความแตกต่างในหลายๆ ด้าน รวมถึงการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และประชาชน ยังขาดการบูรณาการและจัดการความรู้จากบทเรียนการปฏิบัติงานที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหาวนเวียนซ้ำซาก และไม่มีแนวทางการปฏิบัติงานที่ชัดเจน
การแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้ข้อสรุปว่า จะต้องแก้ด้วยการเมืองนำการทหาร การเมืองการปกครองเป็นหัวใจสำคัญของปัญหาความขัดแย้งทางสังคม และปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งมาตรการสุดท้ายที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาคือ การใช้มาตรการทางทหาร การแก้ปัญหาการปกครองต้องคำนึงถึง ๓ องค์ประกอบ คือ ความสมดุลของกำลังอำนาจแห่งชาติในด้านต่างๆ ทั้งด้านการเมือง-การปกครอง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมจิตวิทยา และด้านการทหาร, การให้ความสำคัญกับปัจจัยวัฒนธรรม และการคำนึงถึงปัญหาอำนาจรัฐในการแก้ปัญหา กำลังอำนาจแห่งชาติด้านเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือส่งเสริมและสนับสนุน และการใช้กำลังอำนาจแห่งชาติด้านการทหารจะพยายามใช้เท่าที่จำเป็น
การศึกษาวิจัยดังกล่าวฯ  ได้ให้ทั้งองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ทั้งบริบทด้านปูมหลังประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ สภาพแวดล้อมทางสังคมจิตวิทยา สภาพแวดล้อมของพื้นที่ สภาพเงื่อนไขปัญหาความรุนแรง วัฒนธรรมขององค์กร และแนวทางการทำงานของหน่วยงานต่างๆ บทเรียนจากการปฏิบัติงาน แนวทางการบูรณาการองค์ความรู้ในการปฏิบัติงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหา และข้อเสนอแนะเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะด้านนโยบายที่สำคัญและสอดรับกับการใช้กำลังอำนาจแห่งชาติที่สมดุล ๔ ด้าน ซึ่งประกอบด้วยมาตรการเร่งด่วนที่สำคัญในแต่ละด้าน และข้อเสนอเชิงกระบวนการเพื่อกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบ และแนวทางการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในบูรณาการและการใช้กำลังอำนาจแห่งชาติทั้งมวล เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการขจัดปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ดังนี้

๑. นโยบายปกครองและบริหารงานแบบธรรมาภิบาลเพื่อสันติสุขในพื้นที่ จชต.
๑.๑ มาตรการปกครองและการบริหารแบบธรรมาภิบาล เพื่ออำนวยการแก้ปัญหาโดยมีความชอบธรรม และสันติ
๑.๒ มาตรการติดตามและเร่งรัด ๑๗ กระทรวง และ ๖๖ หน่วยงาน ให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น รวมทั้งจัดทำแผนงาน/โครงการบูรณาการให้ตรงกับ ๒๙ เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ร่วม
๑.๓ มาตรการลงโทษข้าราชการที่ทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเด็ดขาด  เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความโปร่งใส
๑.๔ มาตรการเปิดช่องทางพูดคุย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่
๑.๕ มาตรการสร้างแรงจูงใจในการเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหา เพื่อหาทางออกไปสู่สันติ
๑.๖ มาตรการบูรณาการกฎหมาย ให้มีความเป็นเอกภาพ
๑.๗ มาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เท่าเทียม เป็นธรรม และเสมอภาค
๑.๘ มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการปกครองให้เป็นที่พึ่งของประชาชน
๑.๙ มาตรการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของรัฐ

๒. นโยบายผสมผสานความเป็นอัตลักษณะกับความเป็นไทยสู่สากล
๒.๑ มาตรการส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคม
๒.๒ มาตรการสร้างสำนึกร่วมในการเป็นคนไทยมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของประเทศ และได้รับผลประโยชน์เท่าเทียมกัน  
๒.๓ มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นที่พึ่งของประชาชน
๒.๔ มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และมีอิสรเสรีภาพในการการดำรงอยู่ในชีวิตประจำวัน
๒.๕ มาตรการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันภัยทางสังคม
๒.๖ มาตรการพัฒนา ส่งเสริมการศึกษาในทุกระดับที่สอดคล้องกับความต้องการ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของพื้นที่ ตลอดจนการก้าวข้ามสู่ความเป็นสากล
๒.๗ มาตรการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับมวลชน สื่อภาครัฐและเอกชน สถาบัน การศึกษา สถาบันทางศาสนา ตลอดจนเวทีสาธารณะ เพื่อเผยแพร่ความเข้าใจ ตามหลักการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

๓.  นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน
๓.๑ มาตรการพัฒนาเสริมสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างสมดุลและยั่งยืน  เพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนให้มีความอยู่ดีกินดีตามฐานะ
๓.๒ มาตรการยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
๓.๓ มาตรการสร้างแรงจูงใจในการประกอบอาชีพธุรกิจในพื้นที่
๓.๔ มาตรการเยียวยากระทบในด้านเศรษฐกิจ ในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่

๔. นโยบายลดปัญหาความรุนแรงในพื้นที่
๔.๑ มาตรการด้านประสิทธิภาพของการข่าว  
๔.๒ มาตรการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
๔.๓ มาตรการป้องกันการก่อเหตุร้ายเขตภายใน ๗ เมืองเศรษฐกิจ
๔.๔ มาตรการลดอิทธิพลภายในเขต ๖ เมืองของผู้ก่อเหตุรุนแรง
๔.๕ มาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับตำรวจ และ อส. รวมทั้งภาคประชาชน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานเชิงรับแทนเจ้าหน้าที่ทหาร
๔.๖ มาตรการทำลายขบวนการยาเสพติดทุกชนิดและน้ำมัน/สินค้าหนีภาษี ให้หมดไปจากพื้นที่โดยเร็ว เพื่อลดปัญหาอิทธิพลและผลประโยชน์
๔.๗ มาตรการทำลายขบวนการผู้มีอิทธิพล และเจ้าหน้าที่ที่ประพฤติมิชอบ เพื่อลดปัญหาแทรกซ้อน
๔.๘ มาตรการควบคุมช่องทางการผ่านเข้า – ออก ตามแนวชายแดน เพื่อตัดเส้นทางการสนับสนุน
๔.๙ มาตรการกดดันและปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อจำกัดเสรีในการปฏิบัติของฝ่ายก่อเหตุความรุนแรง
๔.๑๐ มาตรการเปิดช่องทางเพื่อให้ผู้ก่อเหตุความรุนแรงออกมามอบตัว 

ข้อเสนอแนะ
นอกจากข้อเสนอแนะในเชิงโครงสร้าง และเชิงกระบวนการ ตลอดจนแนวทางการดำเนินการดังกล่าวแล้ว สิ่งที่สำคัญที่จะต้องนำไปพิจารณาดำเนินการควบคู่กันไปคือ ข้อเสนอแนะในด้านการใช้กำลังอำนาจแห่งชาติในด้านต่างๆ คือ ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และการทหาร ที่ได้เสนอไว้ท้าย บทที่ ๔ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับน้ำหนักความสำคัญของเงื่อนไขปัญหา และเกิดความสมดุลในการใช้กำลังอำนาจแห่งชาติ เพื่อเป็นกลไกเครื่องมือในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของชาติ และวัตถุประสงค์มูลฐานของชาติต่อไป

สำหรับข้อเสนอแนะด้านวิชาการ เนื่องจากสภาวะแวดล้อมของโลก สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และสถานการณ์ในพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ตลอดจนผลกระทบจากการเคลื่อนไหวเพื่อรวมกลุ่มของประเทศเศรษฐกิจอาเซียน ( AEC ) ในปี ๒๕๕๘ ยังคงเป็นปัจจัยและมีอิทธิพลต่อการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่  ดังนั้นผลการศึกษาวิจัยฯนี้ จึงควรได้มีการพิจารณาทบทวนสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก เพื่อดำเนินการแก้ไขปรับปรุงข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เป็นผลจากการศึกษาวิจัยฯ ให้มีความทันสมัย และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น