เทคโนโลยีสารสนเทศกับสังคมแห่งปัญญา
( Information Technology and Wisdom Society )
โดย พันเอก ฤทธี อินทราวุธ
รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร
สังคมไทยในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารปัจจุบัน
นับวันจะทวีปัญหาทางสังคมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความแตกแยกทางสังคม ( การแบ่งแยกฝ่ายเขา-ฝ่ายเรา
, เสื้อแดง-เสื้อเหลือง ) ปัญหาความขัดแย้งทางความคิด
( การเห็นต่างทางความคิด ฝ่ายโน้นผิด-ฝ่ายนี้ถูก และการไม่ยอมรับฟังด้วยสติปัญญา
และเหตุผล ) ปัญหาค่านิยม (
ค่านิยมทางวัตถุเหนือกว่าคุณธรรม ซึ่งเกิดจากขาดการปลูกฝังจิตสำนึก และความหลงใหลมัวเมาในความฟุ้งเฟ้อทางสังคม
)
ปัญหาทัศนคติและความเชื่อ ( อันเกิดจากการบริโภคข้อมูลข่าวสารอย่างขาดสติ
รักเพราะชอบ เกลียดเพราะชัง ) ปัญหาความคับแคบทางจิตใจ ( มีความเห็นแก่ตัว ขาดคุณธรรมและความสงสารเอื้ออาทร
) และปัญหาพฤติกรรมเลียนแบบ ( ชื่นชมการชี้นำ หรือการแสดงออก ที่ได้รับการยอมรับของคนในสังคมกลุ่มหนึ่งไม่ว่าจะเป็นในทางชอบหรือมิชอบ
) เป็นต้น
ปัญหาทางสังคมเหล่านี้
นักจิตวิทยา และนักสังคมศาสตร์
ต่างมองว่าเป็นผลกระทบมาจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ซึ่งทำให้สังคมต่างๆบนโลกไปจนถึงระดับชุมชนหรือท้องถิ่น สามารถเชื่อมโยงกันจนแทบเป็นเนื้อเดียวกัน
ไร้ขอบเขต ไร้พรมแดน ทำให้สังคมโลกใกล้ชิดแคบลง และประกฎการณ์ต่างๆ ในสังคมสามารถแพร่กระจาย
ถ่ายทอด เลียนแบบ และหลั่งไหลไปมาหากันได้อย่างรวดเร็ว
ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จนหลายท่านเป็นกังวลว่า
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
มันทำให้สังคมดีขึ้นหรือว่าแย่ลง ดังนั้นหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา
ต่างหันมาให้ความสนใจกับ คำว่า สังคมข้อมูลข่าวสาร , สังคมแห่งความรู้ ,
สังคมอุดมปัญญา และสังคมแห่งปัญญา
เพราะต่างเชื่อกันว่าจะช่วยให้ สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
คลังศัพท์ไทย
ได้ให้นิยามคำว่า สังคมข้อมูลข่าวสาร ( INFORMATION SOCIETY )หมายถึง สังคมที่มีการนำข้อมูลสารสนเทศในรูปแบบต่างๆ
มาช่วยดำเนินกิจกรรมทั้งเพื่อประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้สามารถกล่าวได้ว่า
โลกในยุคปัจจุบัน คือ ศตวรรษที่ 21 เป็นยุคของสังคมสารสนเทศ
ปัจจัยที่นำไปสู่ “ สังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร ” คือ ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น มีการพัฒนาอย่ารวดเร็ว ทำให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ มากมายในทุกด้าน
และอุปกรณ์เครื่องมือที่เอื้อประโยชน์ต่อการเกิดสังคมแห่งข้อมูลข่าวสารมากที่สุด
คือ คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต
บล็อก
IKM IS ICT ได้ให้ความหมายคำว่า สังคมแห่งความรู้ (
KNOWLEDGE SOCIETY ) ว่าหมายถึง
กระบวนการทางสังคมที่เกื้อหนุนส่งเสริมให้บุคคล หรือสมาชิกในชุมชน /สังคมเกิดการเรียนรู้โดยผ่านสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ
แหล่งการเรียนรู้ องค์ความรู้ต่างๆ จนสามารถสร้างความรู้ สร้างทักษะ
มีระบบการจัดการความรู้ และระบบการเรียนรู้ที่ดี มีการถ่ายทอดความรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทุกภาคส่วนในสังคม
ทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์ และใช้ความรู้เป็นเครื่องมือในการเลือก และตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหา
และพัฒนาอย่างเหมาะสมทั้ง ด้านเศรษฐกิจสังคม และการเมือง
แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ( ฉบับที่ 2
) ของประเทศไทย พ.ศ. 2552-2556 ได้ให้คำจำกัดความว่า สังคมอุดมปัญญา ( KNOWLEDGE-BASED SOCIETY / SMART SOCIETY ) หมายถึง สังคมที่มีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างชาญฉลาด
โดยใช้แนวปฏิบัติของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนทุกระดับมีความเฉลียวฉลาด (
SMART ) และรอบรู้สารสนเทศ
( INFORMATION LITERACY ) สามารถเข้าถึง และใช้สารสนเทศอย่างมีคุณธรรม
จริยธรรม มีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนและสังคม
มีการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีธรรมาภิบาล (
SMART GOVERNANCE ) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสู่เศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้
และนวัตกรรมอย่างยั่งยืนและมั่นคง
ส่วนคำว่า
สังคมแห่งปัญญา
( WISDOM
SOCIETY )
ยังไม่มีความหมาย หรือ คำอธิบายอย่างชัดเจน แต่ได้มีการกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางในวงการนักสังคมศาสตร์สมัยใหม่
คำว่า ปัญญา ( WISDOM ) ตามพจนานุกรม
หมายถึง ความรอบคอบ, ความรอบรู้,
ฉลาด, ไตร่ตรอง, รู้ ,
รู้จัก ( โลก ) , สุขุม เป็นต้น โดยนัยยะของคำว่า สังคมแห่งปัญญา จะมุ่งเน้นไปที่
สภาพของสังคมที่มีการพัฒนาไปสู่การเรียนรู้ด้วยปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ปัญญาในการรู้จักตัวตน
และสภาพความเป็นจริง ตามหลัก อริยสัจ 4 เพื่อจะนำปัญญาไปแก้ไขปัญหาทางสังคม
ตามหลักพุทธศาสนา คือ ทุกข์ ( การมีอยู่ของทุกข์ หรือปัญหา ) สมุทัย ( เหตุแห่งทุกข์หรือปัญหา ) นิโรธ ( การดับทุกข์หรือปัญหา ) และมรรค (
หนทางการไปสู่การดับทุกข์หรือปัญหา )
สังคม
หรือ องค์กรยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ในขณะที่ความเจริญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำลังก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง แทนที่เราจะได้ประโยชน์ในการนำมาช่วยแก้ปัญหา
กลับดูเหมือนจะยิ่งก่อให้เกิดปัญหาพอกพูนมากขึ้น ทำไมจึงเป็นเช่นนี้? เรากำลังหลงทางอยู่หรือเปล่า?
เราฉลาดขึ้นหรือโง่ลงกว่าเดิม มนุษย์ส่วนใหญ่แยกแยะได้ว่าอะไรดี?
อะไรไม่ดี ? อะไรควรทำ? อะไรไม่ควรทำ? แต่ทำไมเรามนุษย์ส่วนหนึ่ง จึงยังกำลังทำสิ่งที่ไม่ควรทำ
และยังละเลยสิ่งที่ควรทำอยู่ ทั้งๆ ที่รู้
หรือแกล้งทำเป็นไม่รู้ บางคนไม่รู้ แต่กลับอวดทำเป็นรู้ คำตอบก็คือ “ เพราะเรารู้ไม่จริงนั่นเอง ”
สังคม
หรือ องค์กรส่วนใหญ่ ที่มักจะประสบกับปัญหาอุปสรรคในการพัฒนา และไม่ค่อยจะมีความเจริญ
รุ่งเรือง ก้าวหน้า พัฒนาสถาพร มักจะเกิดจากปัญหาของคนในสังคมหรือองค์กร 6 พวกใหญ่ๆ
คือ
1.
พวกธุระไม่ใช่
พวกนี้มักจะเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม หรือองค์กรที่มีปัญหา คำว่า ธุระไม่ใช่ ได้มีผู้ให้ความหมายต่างๆ
เช่น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง / ไม่ได้รับประโยชน์ / ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย / ไม่เดือดร้อน
/ ไม่ยอมเสียเวลา / ไม่หาเรื่องใส่ตัว ฯลฯ สรุปว่า
วางเฉยทุกเรื่องที่ไม่ใช้เรื่องของตนเอง
หรืออาจจะรวมถึงเรื่องของตนเองบางเรื่องที่ตนเองไม่ได้ประโยชน์ จึงเจตนาทำมึนตีลูกมั่วตีกินไปว่าไม่ใช่เรื่องของตนเอง
เพราะไม่อยากลำบาก เดือนร้อน เสียเวลา สู้อยู่เฉยๆ สบายๆ ดีกว่า ในวงการทหารมักเรียกกันว่า
“
เสธ.อู้ ” ( ตรงกันข้ามกับ “ เสธ.ตู้ ” ) พอมีเรื่องเข้ามาจวนตัวก็มักจะพยายามเบี่ยงเบนประเด็น
และผลักเรื่องไปให้คนอื่นรับแทน หรือคนทั่วไปเรียกกันว่า “ พวกเกี่ยงงาน
” ดังเช่นนิทานคติสอนใจเรื่อง ยายกะตา
ปลูกถั่วปลูกงา ให้หลานเฝ้า ฯลฯ เกี่ยงกันไป เกี่ยงกันมา หาข้อสรุปอะไรไม่ได้
สุดท้ายไม่มีใครทำงาน จนเกิดปัญหาความผิดพลาดขึ้น
2.
พวกทำงานเอาหน้า หมายถึง พวกที่ชอบยุ่ง ชอบทำทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องที่ตนเองควรจะต้องทำ
แต่ไม่ชอบทำ หรือที่มักเรียกจนติดปากกันว่า “ เก่งทุกเรื่อง ยกเว้นงานในหน้าที่ ” ในวงการทั่วไปมักจะได้ยินคำว่า “ ไม่ใช่กิจของสงฆ์ ” หมายถึง การทำงานที่มิใช่การในหน้าที่ของตน ส่วนในวงการดารา มักใช้คำว่า “ แย่งซีน ” หมายถึง ยังไม่ถึงบทหรือตอนของตนเองที่จะแสดง
หรือทั้งๆ ที่ไม่มีบทไม่ตอน แต่อยากจะรีบออกมาเสนอหน้า วงการทหารเรียกกันว่า “
เสธ. แซงค์ ” เลยทำให้คนที่มีหน้าที่โดยตรงไม่รู้จะทำอย่างไร
ต้องปล่อยเลยตามเลย พอมีปัญหาขึ้นมา ต่างคนต่างโยนกลองเป็นพัลวัน พวกนี้มักจะเป็นที่ถูกใจและชื่นชอบของผู้บริหารบางคน
เพราะมักมีโอกาสเจริญก้าวหน้า แต่มักจะเกิดผลเสียหายต่อสังคมและองค์กรเป็นส่วนรวม
เพราะทำงานไม่มีระบบ
3.
พวกรู้แล้วไม่ทำ หมายถึง พวกที่เรื่องอะไรๆ ก็รู้ดีไปหมดทุกเรื่อง ทั้งเรื่องทฤษฎี
เรื่องปฏิบัติ แต่ไม่ชอบทำเอง มักจะพบเห็นบ่อยๆ ในที่ประชุม เสวนา หรือการสัมมนา
โดยจะแสดงภูมิความรู้ต่างๆ แม้กระทั่งเวลาซักถามข้อสงสัย ที่เรียกกันว่า “ ถามแบบแสดงภูมิปัญญา
” มักจะคอยเสนอความคิดบรรเจิดเลิศหรู
และโยนงานไปให้คนอื่นทำแทน แล้วเอาผลงานมาเป็นของตนผู้ซึ่งเสนอไอเดียดังกล่าว วงการทหารให้ฉายาว่า
“ เสธ. นาโต้ ” ( NATO )
หมายถึง No Action Talk Only
4.
พวกไม่รู้ไม่ชี้ หมายถึง พวกที่ไม่ค่อยจะมีกึ๋น ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร
และก็ไม่กล้าจะทำอะไร กลัวความผิดพลาด แต่พอใครเสนอ หรือทำอะไรไปแล้วเกิดความผิดพลาด
ก็จะมักแสดงความเฉียบออกมาทันที “ นึกแล้ว มันต้องอย่างงั้นต้องอย่างงี้ ” หรือบางประเภทก็ทำนอง “ ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ ”
ไม่สนใจโลก ใครจะทำอะไรก็ทำไป แต่อย่ามายุ่งกับตน วงการทหารเรียกว่า
“ เสธ.มึน ” คือ
ชอบทำมึนไม่รู้เรื่อง คนประเภทนี้ มักจะรอดตายในยุคฮิตเล่อร์
เพราะพวกโง่แล้วทำเป็นอวดฉลาด จะถูกเอาไปฆ่าทิ้งหมด ข้อดี คือ ไม่รู้ก็ไม่ต้องทำ
จะได้ไม่เหนื่อยและไม่เสี่ยง เลยทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรแบบ “ เช้าชาม เย็นชาม ” หรือ “
เกียร์ว่าง ” อะไรๆ ก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ไปหมด พลอยทำให้พวกที่รู้
ต้องแกล้งทำเป็นไม่รู้ตามไปด้วย ไม่เช่นนั้นจะตกอยู่ในสถานการณ์ “ งานเข้า ”
5.
พวกรู้แล้วไม่ชี้ พวกนี้จะแตกต่างจากพวกที่ 3 ซึ่งเป็นพวกที่รู้แล้วชอบชี้
แต่ไม่ชอบทำ แต่พวกนี้ รู้แต่ไม่ชี้และไม่ทำ พวกนี้ส่วนใหญ่ หมายถึง พวกเก่ง ฉลาด
รอบรู้ รู้ดีไปหมดทุกเรื่อง แต่ไม่ชอบหรือไม่กล้าจะเสนอแนะผู้บริหาร สู้ทำเฉยๆ
ดีกว่า “ พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง ” เพราะผู้บริหารส่วนใหญ่มักจะมีธงอยู่ในใจแล้ว
ขืนทำเป็นอวดเก่ง อวดกึ๋น เสนอแนะไป เดี๋ยวผู้บริหารจะหมั่นไส้หรือไม่ชอบใจตน
ทำนอง “ หมูไม่ต้องตาเจ็ก ”
ต่อให้เนื้อหมูดีอย่างไร พ่อค้าเขียงหมูก็ไม่เอามาสับ หรือกรณีที่ผู้บริหารใจกว้าง
เปิดโอกาสให้เสนอแนะความคิดเห็น แต่ก็เงียบไม่กล้าเสนอในวงประชุม พอลับหลังหรือเลิกประชุมทีไร
“ เทพจุติ ” ทันที มันต้องอย่างงั้น มันต้องอย่างงี้
ตอนเวลาให้ชี้ไม่ชี้ สุดท้ายก็ เจ๊ง วงการทหารเรียกกันว่า “ เสธ.หลังไมค์
”
6.
พวกไม่รู้ดันชี้ หมายถึง พวกที่ไม่ค่อยจะมีกึ๋น ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร เหมือนพวกที่ 4 หรืออาจจะเก่ง
หรือรู้ในบางเรื่อง ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้บริหาร หรือ ฝ่ายอำนวยการ ที่ชอบแสดงบท “ เทพ ” เพื่อไม่ให้เสียฟอร์ม มักจะชอบชี้ ชอบตัดสินใจด้วยความเชื่อมั่นในตนเอง
มีความเชื่อมั่นสูง ใครเสนอแนะ หรือท้วงติงทักท้วงอะไรไม่ค่อยจะฟังใครที่ไม่ค่อยคุ้นเคย ทำเป็นรู้ดีไปหมด คนพวกนี้มักจะกลัวหรือไม่ชอบใช้งานคนเก่ง
มักชอบจะฟังความแต่คนสนิทรอบข้าง ทำให้ขาดองค์ความรู้ ข้อเท็จจริง การวิเคราะห์
ไตร่ตรอง ข้อมูลที่จะมาสนับสนุนในการตัดสินใจ ชี้นำไปในทางที่ถูกต้องและเหมาะสม จนทำให้เกิดข้อผิดพลาด
ความล้มเหลว และปัญหาต่างๆ ติดตามมาภายหลัง
โครงสร้างของสังคม
ประกอบด้วย คนในสังคมเป็นหลักใหญ่ และปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมก็มาจากคนนั่นเอง
ดังนั้น การที่จะพัฒนาสังคม หรือ องค์กร ให้เจริญก้าวหน้า จึงต้องมุ่งไปที่การพัฒนากำลังคน
( Man Power ) เป็นหลัก โดยมองไปที่การพัฒนาคนเพื่อนำไปสู่ สังคมข้อมูลข่าวสาร , สังคมแห่งความรู้ และสังคมอุดมปัญญา ซึ่งจะต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
มาเป็นเครื่องมือหลักในการส่งเสริม ผลักดัน และขับเคลื่อนอย่างชาญฉลาด หากปล่อยปละละเลยให้คนในสังคมใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างขาดความตระหนัก
ขาดความสำนึก และขาดภูมิคุ้มกัน ก็อาจจะส่งผลกระทบไปในทางลบ และเกิดปัญหาต่างๆ
ตามมา
องค์กรที่มีความสำคัญ
โดยเฉพาะองค์กรด้านความมั่นคงของประเทศ ปัญหาทางสังคมที่สำคัญๆ และปัญหาคนในองค์กรทั้ง 6
จำพวกใหญ่ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนส่งผลกระทบต่อปัญหาความมั่นคงของประเทศ
รวมถึงปัญหาขององค์กร ดังนั้น การพัฒนาสังคมไปสู่สังคมข้อมูลข่าวสาร , สังคมแห่งความรู้ และสังคมอุดมปัญญา
อาจจะไม่เพียงพอต่อภูมิคุ้มกันภัยทางสังคมในยุคปัจจุบัน การพัฒนาองค์กรไปสู่สังคมแห่งปัญญา จึงเป็นทางออกทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาทางสังคมในยุคปัจจุบัน
โดยเริ่มที่ปัญหาคนในองค์กรทั้ง 6 ประเภทใหญ่ๆ
ซึ่งจะต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาคนในองค์กร เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมแห่งปัญญา ที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาคนไปสู่การเรียนรู้ด้วย
“
ปัญญา ” ซึ่งหมายถึง ความรอบคอบ, ความรอบรู้, ฉลาด, ไตร่ตรอง, รู้ , รู้จัก ( โลก )
, สุขุม เป็นต้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ปัญญาในการรู้จักตัวตน และสภาพความเป็นจริง มีการถ่ายทอดความรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทุกภาคส่วนในสังคม
ทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์ และใช้ความรู้เป็นเครื่องมือในการเลือก การตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหา
และการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดังนี้
1.
พวกธุระไม่ใช่
พวกนี้เป็นถือเป็นกลไกสำคัญแต่ไม่ค่อยจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนสังคมและองค์กรให้พัฒนาและเจริญก้าวหน้า
เพราะจะคอยหาจังหวะโอกาสในการวางเฉย หรือหลีกเลี่ยงเรื่องที่ไม่ใช้เรื่องของตนเอง
หรืออาจจะรวมถึงเรื่องของตนเองบางเรื่อง ผู้บริหารและองค์กรควรจะมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เป็นเครื่องมือเสริมสร้างจิตสำนึก
การสร้างความตระหนักในหน้าที่และการมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบต่อสังคมและองค์กร
รวมถึงการใช้มาตรการเสริมสร้าง และส่งเสริมแรงจูงใจ เพื่อให้คนพวกนี้หันมาใส่ใจ
และมีความกระตือรือร้นในการทำงาน โดยการเผยแพร่ข่อมูลข่าวสาร ประชาสัมพันธ์กิจกรรม
และการประกาศเกียรติคุณยกย่องชมเชยความดีงาม ทั้งงานในหน้าที่และการทำความดีต่างๆ เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมแห่งปัญญา
2.
พวกทำงานเอาหน้า พวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนทำงานหยิบโยง คอยฉวยโอกาส เป็นคนส่วนน้อยของสังคมและองค์กร
แต่มักจะมีบทบาทสำคัญต่อผู้บริหาร ชอบออกรับหน้ารับงานจากผู้บริหารโดยตรง
เพื่อจะได้สร้างโอกาสแสดงผลงานแทนผู้ที่มีหน้าที่โดยตรง ดังนั้น การกำหนดภารกิจ
หน้าที่ และความรับผิดชอบในการทำงาน
รวมถึงการพิจารณาคัดเลือกบรรจุคนให้เหมาะสมกับงาน ( Put the Right Man to the Right Job ) จะต้องมีความชัดเจน โปร่งใส ไม่มั่วนิ่ม โดยใช้ข้อมูลสารสนเทศ มาเป็นเครื่องมือในการพิจารณาคัดสรรคุณสมบัติ
ความรู้ ความสามารถ และผลการปฏิบัติงานตามหน้าที่ เพื่อการพิจารณาบรรจุคน
การเลื่อนชั้นให้เหมาะสม การเลือกใช้คนให้ตรงกับงาน และไม่ให้คนที่ไม่มีหน้าที่
หรือได้รับการมอบหมายงานมาแย่งงานทำ โดยเฉพาะงานสำคัญๆ ที่อยู่ในความสนใจของผู้บริหาร
เมื่อกระบวนการทำงานถูกกำหนดอย่างเป็นระบบ ระเบียบ และมีแบบแผนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ
ประสบการณ์ และองค์ความรู้ที่เกิดจากกระบวนการทำงานก็จะถูกสะสม พัฒนา ปรับปรุง
ถ่ายทอด และเผยแพร่จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง เพื่อนำไปปฏิบัติงานในหน้าที่
และการแก้ไขปัญหาด้วยสติปัญญา
3.
พวกรู้แล้วไม่ทำ พวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนเก่ง ฉลาด หลักแหลม และเป็นประเภท “ นกรู้ ”
รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรเสี่ยง อะไรไม่เสี่ยง
ทำแล้วได้อะไร? คนพวกนี้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาสังคมและองค์กร
เพราะเป็นคนเก่ง และฉลาด ( อาจจะมีแกมโกงบ้าง ) จึงต้องเสริมสร้างแรงจูงใจ
ให้คนเหล่านี้กลายเป็น “ พวกรู้แล้วทำ ” หรือ ให้ช่วยเอาความรู้ที่ตนมีอยู่นำไปถ่ายทอดให้คนอื่นรู้ตาม หรือนำไปทำตาม
โดยที่ตนเองก็จะได้เครดิตจากการผลงานที่เกิดขึ้นทั้งที่จากตนเองทำ และผลงานที่ผู้อื่นเอาไปทำ
โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาเป็นเครื่องมือ บันทึก จัดเก็บ
เผยแพร่ความรู้ และผลงานต่างๆ จากหนึ่ง เป็นสิบ เป็นร้อย เป็นพัน
จนหลากหลายทั้งองค์กรและสังคม เพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศ เกิดการเรียนรู้ความผิดพลาด
ประสบการณ์ และแนวทางความสำเร็จ ก็จะพัฒนาไปสู่สังคมแห่งปัญญา
4.
พวกไม่รู้ไม่ชี้ พวกนี้เป็นถือเป็นตัวถ่วงความเจริญของสังคมและองค์กร
เพราะนอกจากจะไม่ค่อยได้ผลผลิตจากคนพวกนี้แล้ว ยังจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี
หรือเป็นตัวชักจูงให้พวกอื่นๆ ทำตาม ทั้งนี้มาจากสาเหตุ คือ
บรรจุคนไม่ตรงกับคุณสมบัติงาน หมายถึง เอาคนไม่มีความรู้มาทำงาน
และเอาคนอวดรู้มาทำงาน เลยไม่รู้อะไรจริงๆ สักอย่าง และก็ไม่กล้าทำอะไร
กลัวความผิดพลาด บางรายตนเองไม่ทำอะไรยังไม่พอ กลับทำตัวเป็น “ หมาหางด้วน ” การพัฒนาคนพวกนี้ ค่อนข้างจะใช้ความพยายามอย่างมาก โดยเริ่มที่การใช้ปัญญาในการรู้จักตัวตน
และสภาพความเป็นจริง และต้องทำให้คนเหล่านั้นเกิดการยอมรับความเป็นจริง
ว่าถ้ายังขืนเป็นตุ้มถ่วงเรือ หรือความเจริญของสังคมและองค์กร ก็มี 2 แนวทาง คือ
จะโยนตุ้มถ่วงออกไป หรือจะพัฒนา ปรับปรุง ไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ซึ่งการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
มาเป็นเครื่องมือช่วยในการคัดกรอง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการทำงาน
การพัฒนาความรู้ใหม่ๆ ให้ตรงและเหมาะสมกับงานในหน้าที่
การปรับเปลี่ยนหน้าที่การงาน รวมถึงการติดตามประเมินผลงาน จะเป็นแนวทางในการพัฒนาคนไปสู่สังคมแห่งปัญญา
แทนการปล่อยให้คนเหล่านี้มาสร้างปัญหาในสังคมและองค์กร
5.
พวกรู้แล้วไม่ชี้ พวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนเก่ง ฉลาด เช่นเดียวกับ พวกที่ 3
แต่แย่กว่า คือ ไม่ทำและไม่ชี้ อาจเป็นเพราะมีผู้บริหารขั้นเทพ หรือผู้บริหารไม่ปลื้มคนเก่ง
หรือเป็นพวกชอบแสดงกึ๋นนอกเวที พอให้ชี้ ไม่กล้าชี้ พอไม่ให้ชี้ อยากจะชี้
ทั้งนี้มาจากพฤติกรรมของคนระดับสูงในสังคมและองค์กร เพราะฉะนั้นการเปิดช่องทางเพื่อการลดช่องว่างในการแสดงความคิดเห็นที่สร้างสรรค์
แบบไม่ต้องเผชิญหน้ากัน จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขพฤติกรรมดังกล่าว การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงเครือข่ายองค์ความรู้ ประสบการณ์ ความคิดเห็น
และข้อเสนอแนะ ระหว่างผู้บริหาร และฝ่ายอำนวยการ
ในการบูรณาการความคิดเห็นให้เกิดประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ และการพัฒนาไปสู่สังคมแห่งปัญญา
6.
พวกไม่รู้ดันชี้ นับเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมและองค์กรที่ประสบปัญหา ผู้บริหาร หรือ
ฝ่ายอำนวยการ ที่ไม่ค่อยจะมีความรู้ ความสามารถ หรืออาจจะเก่ง หรือรู้ในบางเรื่อง แต่ชอบวางฟอร์มเป็นพหูสูต
คือ รู้ดีไปหมด และมักจะชอบชี้ ชอบตัดสินใจด้วยความเชื่อมั่นในตนเอง ทำให้เกิดข้อผิดพลาด
ความล้มเหลว และปัญหาต่างๆ ติดตามมาภายหลัง โดยส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยจะกล้ารับผิดชอบอะไร
จึงมักจะมีกรณีแพะถูกบูชายันต์แทน หรือทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ แกล้งทำเป็นลืมๆ
กันไปกับความผิดพลาดล้มเหลว การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ในการบริหารจัดการองค์ความรู้ต่างๆ จากส่วนงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์
จะเป็นช่องทางให้ผู้บริหาร หรือ ฝ่ายอำนวยการได้มีเวลาในการศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริง
และทำการบ้านก่อนการพิจารณาตัดสินใจ หรือการนำเอาข้อมูลสารสนเทศ อาทิเช่น
ข้อมูลคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถประสบการณ์ และผลงานของบุคคล เพื่อพิจารณาเลือกชี้ใช้งานให้คนตรงกับงานอย่างเหมาะสม
โดยใช้สติปัญญา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคมแห่งปัญญา
สรุป การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาไปสู่สังคมแห่งปัญญา
จะต้องมุ่งพัฒนาที่คนเป็นหลัก โดยการทำให้คนในสังคมและองค์กรมีจิตสำนึก
มีความตระหนัก มีส่วนร่วมในความรับผิดชอบของสังคมและองค์กร การยกย่องชมเชย การส่งเสริมความเจริญก้าวหน้า
เพื่อสร้างความท้าทาย (
Challenge ) และแรงจูงใจ ( Motivation ) โดยการพิจารณาคัดเลือกบรรจุ ปรับเปลี่ยน เลื่อนชั้น
เพื่อให้คนเหมาะสมกับงาน (
Put the Right Man to the Right Job ) ด้วยความเหมาะสมและเป็นธรรม ตามระบบธรรมาภิบาล (
Good Governance ) หรือระบบคุณธรรม ( Merit System ) แทนระบบอุปถัมภ์ ( Spoil System ) หรือ ระบบเล่นพรรคเล่นพวก
( Cronyism )
การพัฒนาสังคมและองค์กร
โดยการจัดการความรู้ (
Knowledge Management ; KM ) เพื่อถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งให้เกิดปัญญา การสร้างช่องทางเข้าถึงความรู้
( Knowledge Access
; KA ) เพื่อพัฒนาคนให้มีความรู้มีปัญญาโดยสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย
การเชื่อมโยงเครือข่ายความรู้ ( Knowledge Network ; KN ) เพื่อการกระจายความรู้ การลดช่องว่างระหว่างตำแหน่งหน้าที่การงาน
ฐานะ ศักดิ์ศรี และทิฐิของคนในสังคมและองค์กร การพัฒนาทั้งสองส่วนหลักทั้งคนและสังคมหรือองค์กรเป็นแนวทางการพัฒนาไปสู่สังคมแห่งปัญญา
-------------------------------------------------------
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- คลังศัพท์ไทย. (ออนไลน์).
แหล่งที่มา : http://www.thaiglossary.org/node/81034. มีนาคม ๒๕๕๗
- พลอากาศตรี
บุญเลิศ จุลเกียรติ. 2551 . ทางสู่สังคมแห่งปัญญา ( WISDOM SOCIETY ) ธนาคารสมอง
วุฒิอาสา. (ออนไลน์).
แหล่งที่มา : http://brainbank.nesdb.go.th/Default.aspx?
tabid=222&articleType=ArticleView&articleId=271. มีนาคม ๒๕๕๗
-ไอเคเอ็ม ไอเอส ไอซีที. 2552. สังคมความรู้
(ออนไลน์).
แหล่งที่มา : http://ikmisict52.blogspot.com/2009/09/blog-post.html
. มีนาคม
๒๕๕๗
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2557.
แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2)
ของประเทศไทย พ.ศ. 2552-2556. (ออนไลน์).
แหล่งที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร_ (ฉบับที่ 2). มีนาคม
๒๕๕๗
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น