วันพุธที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2557

โครงการวิจัยและพัฒนาระบบจัดการความรู้เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลการก่อความไม่สงบ

โครงการวิจัยและพัฒนาระบบจัดการฐานองค์ความรู้เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล
การก่อความไม่สงบ  สนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ
โดย พันเอก ฤทธี  อินทราวุธ
รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร

การป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบถือว่าเป็นการปฏิบัติการเพื่อความมั่นคงของประเทศ  ปัจจุบันพบว่าสงครามได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไป  ซึ่งจะอาศัยลักษณะการก่อความไม่สงบเป็นเครื่องมือของการทำสงครามสมัยใหม่  ในการสงครามไม่ว่ารูปแบบใด จำเป็นต้องรู้เขา  รู้เรา โดยเฉพาะรู้เขานั้นนับว่าเป็นสิ่งที่ยากลำบากมากในสถานการณ์ที่มีความรุนแรง   การตัดสินใจในการจัดการต่อปัญหาการก่อความไม่สงบนั้น จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือการจัดการฐานองค์ความรู้การก่อความไม่สงบนับเป็นสิ่งสำคัญ  โดยเฉพาะการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากอย่างเป็นระบบ  การสร้างความสัมพันธ์ของข้อมูลต่างๆ  และรวมถึงผูกความสัมพันธ์ไปยังเหตุการณ์การก่อความไม่สงบประกอบเชิงพื้นที่  เพื่อให้ได้โมเดลรูปแบบการปฏิบัติ ทำให้เกิดความเข้าใจ  สามารถอธิบายในลักษณะแบบจำลอง และนำไปสู่การพยากรณ์ลักษณะการก่อความไม่สงบ
การก่อความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้  เป็นปัญหาสำคัญด้านความมั่นคงของประเทศ  และมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของกองทัพ ในการบริหารจัดการต่อปัญหาดังกล่าว เพราะทุกนาที และทุกชีวิตในพื้นที่  ๓  จังหวัดชายแดนภาคใต้  ได้มีความเสียหายเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา  ชีวิตของผู้บริสุทธิ์และชีวิตข้าราชการที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ได้สูญเสียไปจำนวนมาก  หากเราสามารถหยุดยั้ง หรือลดความสูญเสียลงไปแม้สักหนึ่งชีวิตก็นับว่าคุ้มค่า  กองทัพบกในฐานะเป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงของประเทศ จึงสมควรดำเนินการศึกษา วิจัย และพัฒนาระบบจัดการฐาน
องค์ความรู้ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการก่อความไม่สงบขึ้นมา  โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ผนวกกับความรู้ความสามารถของผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย  เพื่อสร้างองค์ความรู้ และนำข้อมูลข่าวสารมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ได้ระบบจัดการฐานข้อมูลองค์ความรู้ เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลการก่อความไม่สงบ เพื่อสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ  และสามารถบูรณาการองค์ความรู้ด้านการก่อความไม่สงบ ในพื้นที่ ๓ จังหวัดภาคใต้ เพื่อเป็นต้นแบบในการบูรณาการในการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ
โครงการวิจัยและพัฒนาระบบจัดการฐานองค์ความรู้เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลการก่อความไม่สงบสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ ( Knowledge Management System for Insurgency Analysis to Counter Insurgency ) เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ โดยอาศัยเทคโนโลยีการจัดการความรู้แบบการจัดระดับ ( Level Classify Knowledge Management )  เป็นเครื่องมือจัดการฐานองค์ความรู้ (Knowledge Management )  และใช้เทคโนโลยีการแพร่กระจายข้อมูลระบบภูมิสารสนเทศแบบ ๓ มิติ ( Broadband 3D GIS ) ที่ทันสมัยมาประยุกต์ในกิจการทหาร มีการพัฒนาแบบผสมผสานระหว่างระบบงานสารสนเทศ ( MIS ) และระบบภูมิสารสนเทศ ( GIS ) ระบบข้อมูลเครือข่ายสังคม   ( Social Network ) และเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ผนวกลงบนระบบแผนที่ดิจิตอลพิกัดทางทหาร ( Military Grid Reference System ; MGRS )  และภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูง  การบูรณาการระบบฐานข้อมูลต่าง ๆ ( Data Integrations )  การจัดการระบบฐานข้อมูลภาพนิ่ง   ( SouthKM Photos Gallery )  การจัดการระบบฐานข้อมูลภาพเคลื่อนไหว ( SouthKM Tube )   การจัดการข่าวสารระบบเปิด  ( SouthKM News )  เพื่อประเมินพื้นที่เสี่ยง (  Risk Area )   และเพิ่มประสิทธิภาพระบบงานให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น โดยการดำเนินการวิจัยและพัฒนาระบบฯ ได้อาศัย นักวิจัยฯ คณะที่ปรึกษาฯที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ องค์ความรู้ แนวคิด และทฤษฎีต่าง ๆ  นำมาประยุกต์กับการปฏิบัติการวิจัย และการประเมินผลการทดสอบการใช้งานของผู้ใช้งาน  ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
การวิเคราะห์และประเมินผลข้อมูลการก่อการร้ายในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแคนภาคใต้ สามารถกำหนดรูปแบบ ( Model ) ของประเภทเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการระวังป้องกันการก่อเหตุร้ายในอนาคต สามารถนำผลการบันทึกข้อมูลเหตุการณ์ไปทำการจำลองรูปแบบ ( Model ) ตามแนวทางด้านทฤษฎี และกรอบแผนที่เชิงความคิด ( Mind Map ) พบว่ามีรูปแบบของการก่อความรุนแรง ๖ โมเดล คือ ๑. โมเดลเชิงทฤษฎีการแบ่งแยกดินแดน  ๒. โมเดลแผนบันใด ๗ ขั้น  ๓. โมเดลการต่อต้านอำนาจรัฐ ๔. โมเดลการสร้างพื้นที่เขตอิทธิพล  ๕. โมเดลการปกครองตนเอง  ๖. โมเดลการปฏิบัติการแบบไร้รูปแบบ
การประเมินผลการวิจัยและพัฒนาฯ  พบว่า ค่าเฉลี่ยผลการทดสอบการใช้งานระบบงานต่าง ๆ สามารถตอบสนองต่อผู้ใช้งานอยู่ในเกณฑ์ ระดับดีมาก สำหรับค่าเฉลี่ยผลการประเมินความพึงพอใจเกี่ยวกับภาพรวมของโครงการวิจัยและพัฒนาระบบจัดการฐานองค์ความรู้เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลการก่อความไม่สงบ  สนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบนั้น เกณฑ์ความพึงพอใจอยู่ใน ระดับดีมาก เช่นกัน
สรุปผลการวิจัยฯ พบว่าผู้ใช้งานส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในการทดสอบและการใช้งานอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยระบบจัดการฐานองค์ความรู้เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลการก่อความไม่สงบสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ สามารถที่จะนำมาวิเคราะห์ข้อมูลเหตุการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อกำหนดรูปแบบ   ( Model ) ของประเภทเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อการระวังป้องกันการก่อเหตุร้ายในอนาคต และยังสามารถนำหลักการ แนวทางการจัดการความรู้แบบกระบวนการมีส่วนร่วม และการบูรณาการมาขยายผลต่อยอดการพัฒนาระบบงานเพื่อนำมาใช้ในกิจการทหาร เพื่อลดขีดความสามารถของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลงานวิจัยนี้เป็นหลักการ , แนวทางการบริหารจัดการองค์ความรู้แบบมีส่วนร่วม , การบูรณาการ และระบบงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านความมั่นคงกองทัพบก , หน่วยที่ปฏิบัติงานอยู่ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ทางวิชาการแล้ว ผลผลิตจากการวิจัยพัฒนาฯ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อหน่วยที่ปฏิบัติงานอยู่ใน  ๓  จังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งปัจจุบันนี้ได้มีการนำระบบฯดังกล่าวมาใช้งานกันอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องตลอดเวลา  เช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ( ส่วนหน้า ) ,  กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด , กองบัญชาการพลเรือน ตำรวจ ทหาร ( พตท.) , หน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ ,  กองกำลังในพื้นที่ ,  ศูนย์ข่าวกรองจังหวัดชายแดนภาคใต้ , ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้  และกองพลทหารราบที่ ๑๕  รวมทั้งหน่วยงานด้านวิชาการ โดยเฉพาะวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ( วปอ.)ได้นำไปต่อยอดแนวความคิดในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในระดับชาติ
วิจัยครั้งนี้ได้เน้นเรื่อง แนวคิดและหลักการจัดการองค์ความรู้แบบกระบวนการมีส่วนร่วม , การบูรณาการ
การทำงานที่เป็นระบบ , การพัฒนาต่อยอดระบบงาน ซึ่งจะทำให้เกิดระบบสนับสนุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเพิ่มอำนาจกำลังรบ รวมถึงกำลังอำนาจแห่งชาติ  ( การเมือง , เศรษฐกิจ , สังคม และการทหาร )  และยังเอื้อต่อการขยายระบบงาน ให้เป็นระบบควบคุมบังบัญชาเพื่อตอบสนองต่อการป้องกันและการปราบปรามการก่อความไม่สงบ และปัญหาความมั่นคงของประเทศ ในอนาคต

จากผลงานวิจัยฯ ดังกล่าว ของคณะผู้วิจัยฯ ประกอบด้วย พ.อ.ฤทธี  อินทราวุธ นายทหารโครงการฯ  พ.อ.ธนพัฒน  ปัทมานนท์  พ.อ. เศรษฐศักดิ์  ดีสุข พ.ต. วีระศักดิ์  จิตรโคตร และ จ.ส.อ. ฐานันดร สำราญสุข  คณะอนุกรรมการส่งเสริมงานวิจัยพัฒนาและสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางทหาร กระทรวงกลาโหม จึงพิจารณาคัดเลือกให้ได้รับ รางวัลที่ ๓ ผลงานวิจัยดีเด่น ด้านหลักการ ของ กระทรวงกลาโหม ประจำปี ๒๕๕๗

3 ความคิดเห็น:

  1. พร้อม AC-130 ซักลำผมเชื่อว่าทหารจะมีความปลอดภัยมากขึ้น เอซี-130เอ เซอร์ไพรซ์แพ็คเกจ, เพฟ พรอนโต, เอซี-130อี เพฟสเปกเตอร์
    ปืนมินิกันจีเอยู-2/เอขนาด 7.62 ม.ม. 4 กระบอก
    ปืนใหญ่เอ็ม61 วัลแคนขนาด 20 ม.ม. 2 กระบอก
    ปืนใหญ่แอล/60 โบฟอร์สขนาด 40 ม.ม. 2 กระบอก

    ตอบลบ
  2. และผมอยากให้กองทัพมีอันนี้ด้วย AH-64D Apache Longbow อาปาเช่ แค่1-4ลำเหลือเฟือใช้กำจัดโจร

    ตอบลบ
  3. ผมอยากให้มีจัง

    ตอบลบ