การพัฒนาความร่วมมือด้านความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
( Cyber
Security Collaboration for ASEAN Community )
โดย
พันเอก ฤทธี อินทราวุธ
รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร
------------------------------------
การเตรียมความพร้อมด้านการรักษาความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศไทย
เพื่อป้องกันและปราบปรามการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด
รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ภัยคุกคามด้านไซเบอร์
อันสืบเนื่องมาจากผลกระทบจากการเปิดเสรีอาเซียน เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ( ASEAN
Community ) ในปี 2558 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ( DSI ) กระทรวงยุติธรรม
จึงได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม “ การพัฒนาความร่วมมือด้านความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
” ณ โรงแรม เดอะ เกรซ อัมพวา รีสอร์ท
จ.สมุทรสงคราม ระหว่าง 13 – 14 สิงหาคม 2557 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาจากหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้ง
ผู้แทนจากสถานทูตในอาเซียน อาทิเช่น ประเทศเมียนม่าร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม
มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน หน่วยงานจากประเทศ สหรัฐอเมริกา
ออสเตรเลีย และอังกฤษ รวมทั้งสิ้น กว่า 80 ท่าน โดยได้เชิญ ผู้แทนกองทัพบก
เข้าร่วมการประชุมสัมมนา และอภิปรายกลุ่มในหัวข้อเรื่อง “ การพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศ
ในมุมมองของกองทัพ และกรอบความร่วมมือ ” (
Perspectives for ICT Security and Collaboration Framework ) ร่วมกับ
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
กรมสอบสวนคดีพิเศษ และคุณปริญญา หอมเอนก ประธานบริษัท ACIS Professional
Center จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้าน Cyber Security ของประเทศไทย
1.
มุมมองของกองทัพต่อปัญหาความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
กองทัพบก ในฐานะหน่วยงานหลัก
ด้านความมั่นคงปลอดภัยของประทศ
ได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อปัญหาความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
ซึ่งปัจจุบันได้ทวีความเข้มข้น และมีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ พร้อมๆ
กับความเจริญก้าวหน้าด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสานสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน
รวมถึงกระบวนการทำงานของกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นระบบบริหารงานยามปกติ ( MIS ) ระบบควบคุมบังคับบัญชา ( C4I ) รวมถึงระบบอื่นๆ เช่น
ระบบลาดตระเวนและเฝ้าตรวจ ระบบติดตามเป้าหมาย ระบบอาวุธยิงทำลาย
รวมถึงระบบอุปกรณ์การฝึกด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงสมัยใหม่
ซึ่งภัยคุกคามด้านความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ถือเป็นอาวุธโจมตี
และการปฏิบัติการทางทหารที่สำคัญมากในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะการปฏิบัติการข่าวสาร (
IO ) ซึ่งมีอิทธิพลอย่างสูงต่อความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ และจิตใจคนได้อย่างรวดเร็ว
ส่งกระทบไปในวงกว้างแบบไร้ขีดจำกัด ไร้พรมแดน จึงทำให้หลายประเทศ
นิยมนำมาอาวุธชนิดนี้มาใช้ในการโจมตี และการปฏิบัติการทางทหาร เพราะถือโลกไซเบอร์ (
Cyber Space Domain) ว่าเป็นโดเมนที่ 5 เพิ่มเติมจาก พื้นดิน ( Land Domain ) พื้นน้ำ ( Sea Domain ) อากาศ ( Air Domain ) และอวกาศ ( Space
Domain )
นอกจากด้านการปฏิบัติการทางทหารแล้ว
กองทัพยังมีภารกิจด้านการปฏิบัติการทางทหารที่มิใช่สงคราม ( Military
Operations Other Than War ; MOOTWAR ) โดยเฉพาะการพัฒนาประเทศและการช่วยเหลือประชาชน
การบรรเทาสาธารณภัยและการกู้ภัยพิบัติที่รุนแรง
รวมถึงการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
และการแก้ไขปัญหาของชาติตามนโยบายรัฐบาล เช่น ปัญหายาเสพติด
ปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง ปัญหาแรงงานเถื่อน เป็นต้น กองทัพอาจจะอยู่ในฐานะหน่วยงานช่วยเหลือสนับสนุนส่วนราชการพลเรือน
หรืออาจจะเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติการ
ซึ่งกองทัพจะต้องมีการประสานการปฏิบัติร่วมกันกับส่วนราชการอื่นๆ
รวมถึงภาคเอกชนพลเรือน
จึงจำเป็นจะต้องมีช่องทางการประสานงานโดยเฉพาะระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งจะต้องสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันได้
เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และความรวดเร็วในการปฏิบัติงานร่วมกัน
และที่สำคัญระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จะต้องมีเสถียรภาพ ความมั่นคง และปลอดภัย
ปราศจากการถูกคุกคาม และการโจมตีจากฝ่ายตรงข้าม หรือจากการถูกทำลายจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น
หรือจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นต้น
2.
การเตรียมการของกองทัพต่อปัญหาความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
กองทัพบก รวมถึง
กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพอื่นๆ
ต่างตระหนักถึงภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศดังกล่าว จึงได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานด้านไซเบอร์ขึ้น
เพื่อเตรียมความพร้อมรับภัยคุกคามดังกล่าว ในส่วนของกองทัพบก ได้อนุมัติจัดตั้ง ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบกขึ้น
ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป โดยการแปรสภาพหน่วย
ศูนย์เทคโนโลยีทางทหารกองทัพบก ปัจจุบัน มาปฏิบัติงานด้านไซเบอร์ของกองทัพ โดยมีกรอบการปฏิบัติงานไซเบอร์ในด้านการรักษาความมั่นคงของชาติเบื้องต้น
ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายมารองรับ
จะเน้นไปในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ภายในองค์กร
โดยจะเริ่มต้นการดำเนินการสำรวจตรวจสอบทรัพย์สินอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับไซเบอร์ ( Asset
Management ) เช่น ระบบคอมพิวเตอร์, ระบบเครือข่าย, ระบบฐานข้อมูล,
รวมถึง
ระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกับอาวุธยุทโธปกรณ์, ระบบควบคุมอาวุธยิง, ระบบค้นหาและติดตามเป้าหมาย,
ระบบลาดตระเวนและเฝ้าตรวจ ฯลฯ การดำเนินการตรวจสอบสภาพแวดล้อมภัยคุกคามไซเบอร์ ( Environmental Scanning ) โดยเฉพาะการโจมตี การบุกรุก
และการใช้โปรแกรมไวรัส และมัลแวร์
การตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงด้านเครือข่าย ( Risk Assessment ) โดยเฉพาะเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายไร้ การประเมินช่องโหว่ของระบบสารสนเทศ ( Vulnerability
Assessment ) ทั้งอุปกรณ์เครือข่าย อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โปรแกรมระบบงาน
และระบบฐานข้อมูลต่างๆ การประกันความเสี่ยงด้านสารสนเทศ ( Information Assurance )
การปฏิบัติการทดสอบเจาะระบบสารสนเทศ ( Penetration Testing ) การบริหารจัดการความเสี่ยงระบบสารสนเทศ ( Risk Management ) ในกรณีที่เกิดการโจมตีไซเบอร์ เกิดความเสียหาย
หรือเกิดปัญหาข้อขัดข้องต่างๆโดยการจัดทำแผนฉุกเฉิน
และการกำหนดกลยุทธ์บริหารจัดการความเสี่ยง การกำหนดมาตรการควบคุมการเข้าถึงระบบสารสนเทศ ( Access Control ) เพื่อควบคุมสิทธิการใช้งานระบบสารสนเทศ และการเข้าถึงข้อมูลในระดับต่างๆ
ของผู้ที่มีสิทธิ์ รวมถึงการป้องกันการเข้าใช้งานจากบุคคลที่ไม่มีสิทธิ์ การยืนยันรับรองตัวบุคคลด้านสารสนเทศ
( Authentic )
เพื่อยืนยันรับรองตัวตนและความถูกต้องของบุคคลที่มีสิทธิ์เข้าใช้งาน
และเก็บบันทึกไว้สำหรับการตรวจสอบ การสร้างความสำนึกความตระหนักและการฝึกอบรม ( Awareness and Training ) เป็นการดำเนินการรณรงค์ ชี้แจง ทำความเข้าใจ ปลูกฝังจิตสำนึก
สร้างความตระหนัก รวมถึงการฝึกอบรมความรู้ความเข้าใจในกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ
และแนวทางการปฏิบัติต่างๆ รวมถึงการสร้างภาคีประชาคมเครือข่ายไซเบอร์กองทัพบก
( Army Cyber Communities ) ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วทั้ง
4 พื้นที่กองทัพภาค การดำเนินการเฝ้าระวังตรวจสอบ วิเคราะห์ไซเบอร์
และข้อมูลข่าวสารที่เป็นภัยต่อความมั่นคง
การเตรียมการปรับปรุงห้องปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ( CSOC ) เพื่อใช้เป็นศูนย์ปฏิบัติการฯ
ในการดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยเฉพาะระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยต่างๆ
ทั้งกองทัพบก การตรวจสอบระบบสารสนเทศ ( IT Audit ) การตรวจพิสูจน์หลักฐานทางดิจิตอล ( Digital Forensics ) เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินการทางกฎหมายต่อไป การปฏิบัติการฉุกเฉินด้านไซเบอร์ ในกรณีที่มีการคุกคามด้านไซเบอร์
จะมีชุดปฏิบัติการฉุกเฉินด้านไซเบอร์ของกองทัพบก (
Army CERT ) เข้าไปปฏิบัติการในพื้นที่ที่เกิดเหตุ
โดยชุดปฏิบัติการดังกล่าวจะประสานความร่วมมือในการปฏิบัติการกับระดับชาติ ( Thai
CERT ) ระดับกระทรวงกลาโหม ( MOD CERT ) และระดับเหล่าทัพ ในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อระบบสารสนเทศ
จะมีชุดการปฏิบัติการกู้คืนระบบ ( System
Recovery Team ; SRT ) เข้าไปดำเนินการปฏิบัติการกู้คืนระบบ เพื่อให้สามารถกับมาใช้งานได้ตามปกติ
สำหรับการดำเนินการปฏิบัติการข่าวสารบนไซเบอร์ จะเป็นการใช้ประโยชน์จากไซเบอร์เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการข่าวสาร
ในกรณีการใช้ข่าวสารและสื่อไซเบอร์เพื่อเผยแพร่โจมตีให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์และ
กองทัพ,
การโจมตีให้ร้ายหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ, การเผยแพร่ ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกเกลียดชังของคนในสังคม,
การเผยแพร่หรือบิดเบือนข้อเท็จจริงที่มีผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย,
การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน
เป็นต้น โดยดำเนินการเฝ้าระวัง ค้นหา ติดตาม ตรวจสอบ
ความเคลื่อนไหวข้อมูลข่าวสารที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ตามที่กล่าวมาแล้วเพื่อรวบรวม
สังเคราะห์ วิเคราะห์ และพิสูจน์ทราบความเคลื่อนไหวข้อมูลข่าวสาร จากกลุ่มบุคคล
และเครือข่ายต่างๆ ในโลกไซเบอร์ เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินการทางกฎหมาย
หรือกำหนดมาตรการในการปฏิบัติการข่าวสารในด้านอื่นๆ เช่น การตอบโต้ข่าวสาร
การบิดเบือนข้อมูล การสร้างความสับสน การลดกระแส และลดความน่าเชื่อถือของข่าวสาร
ตลอดจนการกำหนดเป็นเป้าหมายในการปฏิบัติการเชิงรุก เมื่อมีความจำเป็นต่อไป
3. แนวทางของกองทัพในความร่วมมือด้านความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
จากมุมมอง และการเตรียมการ รวมถึงกรอบการปฏิบัติงานไซเบอร์ของกองทัพบก
ด้านการรักษาความมั่นคงของชาติเบื้องต้น
ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายด้านไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศเป็นการเฉพาะ
มารองรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งปัจจุบันมีแต่กฎหมาย ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์
โดยมุ่ง
เน้นไปที่ปัญหาอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ( Computer Crime ) และการเผยแพร่ข่าวสารที่กระทำให้เกิดความเสียหาย เป็นหลัก
แต่การกระทำความผิดทางไซเบอร์ในด้านความมั่นคงของประเทศ อาทิเช่น การโจมตีระบบสาธารณูปโภค
ระบบสื่อสาร ระบบการจราจร ขนส่ง คมนาคม ระบบการเงินการคลังของประเทศ เป็นต้น ยังไม่มีความชัดเจน
และเป็นการเฉพาะ เมื่อกองทัพจัดตั้งหน่วยงานด้านไซเบอร์ขึ้นมา
จึงควรจะพิจารณาออกกฎหมาย ว่าด้วยการกระทำความผิดทางไซเบอร์ในด้านความมั่นคงของประเทศ
เป็นการเฉพาะ เช่นเดียวกับ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงฯ ของ
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำหรับประเด็นด้านกฎหมายนี้
ผู้ร่วมอภิปราย และผู้ร่วมการประชุมสัมมนาฯ ทุกท่านต่างให้ความเห็นชอบด้วยอย่างมาก
ในส่วนของแนวทางของกองทัพในความร่วมมือด้านความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
ซึ่งกองทัพบกมีความพร้อมในระดับหนึ่ง โดยมี ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก
รวมถึงกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพอื่นๆ
ซึ่งมีหน่วยงานด้านไซเบอร์เช่นกัน ดำเนินการแสวงหาความร่วมมือกัน โดยการดำเนินการสร้างความ
สำนึก ความตระหนัก
การสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ การศึกษาดูงาน การฝึกอบรมความรู้
การวิจัยพัฒนา และการสร้างภาคีประชาคมเครือข่ายไซเบอร์ ( Cyber Communities
) รวมถึงการปฏิบัติการฉุกเฉินด้านไซเบอร์ ในกรณีที่มีการคุกคามด้านไซเบอร์ จะมีชุดปฏิบัติการฉุกเฉินด้านไซเบอร์ เข้าไปปฏิบัติการในพื้นที่ที่เกิดเหตุ
โดยชุดปฏิบัติการดังกล่าวจะประสานความร่วมมือในการปฏิบัติการกับระดับชาติ ( Thai
CERT ) ระดับกระทรวงกลาโหม ( MOD CERT ) และระดับเหล่าทัพ รวมถึงความร่วมมือในการปฏิบัติการกับหน่วยงานอื่นนอกกองทัพ
สำหรับประเด็นหน่วยงานด้านไซเบอร์ของประเทศไทย
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ได้ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยควรจะมีการจัดตั้งหน่วยงานไซเบอร์ของประเทศเป็นการเฉพาะอาจจะเป็น
สำนักงานไซเบอร์แห่งชาติ โดยมี ผู้บัญชาการไซเบอร์แห่งชาติ เป็นผู้บังคับบัญชา
เพื่อความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของชาติโดยตรง
เช่นเดียวกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากปัจจุบันมีหน่วยปฏิบัติงานด้านไซเบอร์คาบเกี่ยวกันหลายหน่วย
ทั้งงานทางด้านเทคนิคและด้านกฎหมาย
ซึ่งภัยคุกคามไซเบอร์มีทั้งในด้านความมั่นคงของประเทศ ด้านอาชญากรรมคอมพิวเตอร์
และด้านการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
โดยมีแนวโน้มที่จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกระดับทั้งระดับชาติ
ลงไปถึงระดับชุมชนทั่วประเทศ
แนวทางของกองทัพในการพัฒนาความร่วมมือ ด้านความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
กับส่วนราชการพลเรือนอื่นๆ รวมถึงภาคองค์กรเอกชน
นับเป็นสิ่งที่ดี และมีประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมหาศาล
เพราะจะทำให้เกิดเครือข่ายกว้างขวางมากยิ่งขึ้น มีความเข้มแข็ง
และมีศักยภาพในการพร้อมรับกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคต
โดยการดำเนินการพัฒนาความร่วมมือดังกล่าว เริ่มจากการแสวงหาความร่วมมือกันตามแนวทางของกองทัพที่ได้กล่าวมาแล้ว
การจัดทำบันทึกความเข้าใจหรือข้อตกลงความร่วมมือ ( MOU ) และการผลักดันให้พิจารณาออกกฎหมาย
ว่าด้วยการกระทำความผิดทางไซเบอร์ในด้านความมั่นคงของประเทศ เป็นการเฉพาะ
เพื่อใช้เป็นเกราะป้องกัน และเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในกรณีจำเป็น
สำหรับประเด็นการจัดทำบันทึกความเข้าใจหรือข้อตกลงความร่วมมือ ( MOU ) ผู้ร่วมอภิปราย
และผู้ร่วมการประชุมสัมมนาฯ ทุกท่านต่างให้ความเห็นชอบด้วยอย่างมาก
การพัฒนาความร่วมมือด้านความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในกรอบอาเซียน
และมิตรประเทศ กองทัพบกได้มีการประสานความร่วมมือกับมิตรประเทศ ผ่านทางคณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐฯ
ประจำประเทศไทย ( JUSMAG THAI ) ซึ่งเป็นองค์กรความช่วยเหลือด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ
โดยได้จัดให้มีการประชุมแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ ไทย-สหรัฐ ( Cyber
Security Subject Matter Expert Exchange ; SMEE ) เป็นครั้งแรก
เมื่อปลาย
เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา
สำหรับประเทศอื่นๆ ที่สนใจ ทางกองทัพบกมีความยินดีในการประสานความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์กับทุกประเทศ
รวมถึงองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยกรอบความร่วมมือระดับอาเซียน
จะเน้นไปใน ทั้งด้านการศึกษา ดูงาน การวิจัยพัฒนา การฝึกปฏิบัติงาน
และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นต้น
ด้านการสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ในการป้องกันความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์
ที่มีความทันสมัย และมีราคาสูง รวมถึงในด้านการเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือในด้านอื่นๆ
เช่น การจัดตั้งเป็นประชาคมไซเบอร์ระดับนานาชาติ หรือระดับอาเซียน เช่นเดียวกับความร่วมมือในด้านภัยพิบัติ
และการบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งได้มีการร่วมลงทุนติดตั้งเครื่องมือและทุ่นแจ้งเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิ
ทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นต้น
สำหรับประเด็นความร่วมมือระหว่างประเทศ
ผู้ร่วมอภิปราย และผู้ร่วมการประชุมสัมมนาฯ
โดยเฉพาะผู้แทนจากต่างประเทศได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะปัญหาภัยคุกคามด้านไซเบอร์ผ่านเครือข่ายเข้ารหัสข้อมูล ( Encryption
) ที่ชื่อว่า Tor Network เพื่อหลบเลี่ยงการค้นหา
ตรวจจับ หรือการตามตัว Hacker
ซึ่งหลายประเทศยังมีขีดความสามารถไม่เพียงพอต่อการรับมือการโจมตีผ่าน Tor
Network
การพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรของกองทัพบกนั้น
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และคุณปริญญา หอมเอนก ประธานบริษัท ACIS Professional Center
จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้าน Cyber
Security ของประเทศไทย ต่างให้ความสนใจเป็นพิเศษ
โดยมีเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือกันเพื่อพัฒนาขีดความสามารถบุคลากร รวมถึงความร่วมมือในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้านอื่นๆ
โดยทาง คุณปริญญา หอมเอนก ประธานบริษัท
จากผลการประชุมสัมมนาฯในครั้งนี้ กองทัพบก โดย
ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ได้เตรียมความพร้อมในการ
จากนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมจัดการแข่งขันทักษะด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและการปฏิบัติการไซเบอร์ ( Army Cyber Security & Operations Contest 2015 ) ในปี 2558 เพื่อตรวจสอบขีดความสามารถของกำลังพลของกองทัพบก และบุคคลทั่วไป รวมถึงการพัฒนาทักษะเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถการปฏิบัติการไซเบอร์ ทั้งมาตรการเชิงรับและเชิงรุกต่อไป ใครสนใจจะเข้าร่วมการแข่งขันฯ ต้องเริ่มเตรียมตัว เตรียมความรู้ และเตรียมทีมแต่เนิ่นๆ แล้วพบกันต้นปีหน้า ที่กองทัพบก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น