วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ความร่วมมือ สู่ ความท้าทายด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของชาติ
( Co-operations  : A Challenge of Thailand Cybersecurity )

โดย พลตรี ฤทธี  อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร

ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ( Non-Traditional Threats )  โดยเฉพาะด้านไซเบอร์ในยุคปัจจุบันและอนาคต นับวันจะทวีเพิ่มระดับความรุนแรง และมีความสลับซับซ้อนในการโจมตีมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดความสูญเสียและความเสียหาย
ต่อระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระบบงานสารสนเทศ ข้อมูลสารสนเทศ ทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียง ความเชื่อมั่นเชื่อถือ ความศรัทธา ทั้งตัวบุคคล องค์กร ไปจนถึงระดับชาติ อันเกิดจากอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ( Cyber Crime )  และการโจมตีทางไซเบอร์ ( Cyber Attack ) ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อประเทศ องค์กรภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และประชาชนอย่างร้ายแรง ทั้งนี้เนื่องมาจากยุคปัจจุบัน โลกไซเบอร์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญและความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนอย่างมากมาย จึงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติทั้งทางบวกและลบ ทั้งกำลังอำนาจของชาติในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และการทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านทหาร หลายประเทศได้กำหนดความสำคัญให้เป็น 1 ใน 5 โดเมนทางทหาร ที่เรียกกันว่า ไซเบอร์โดเมน ( Cyber Domain ) 
จากสถานการณ์ความเข้มข้นและความรุนแรงของภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ( Cyber Threats )  ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย นอกเหนือจากการโจมตีด้วยข้อมูลข่าวสาร และการปฏิบัติการข่าวสารบนไซเบอร์แล้ว ภัยคุกคามประเภทอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ ด้วย DDos Attack , การโจมตีโปรแกรม
คอมพิวเตอร์ ด้วย Virus / Worm , การเจาะระบบ ( Hack Server ) เพื่อแก้ไขข้อมูลหรือเปลี่ยนแปลหน้าเว็บไซต์ , การแพร่ระบาดของโปรแกรม Malware  , การใช้โปรแกรม Spy ware เพื่อจารกรรมข้อมูล , การใช้โปรแกรมควบคุมหรือใช้เป็นฐานโจมตีต่อเป้าหมายต่างๆ ที่เรียกว่า BotNet และการใช้โปรแกรมไวรัสเรียกค่าไถ่ Ransomware เป็นต้น ซึ่งหลายประเทศได้ดำเนินการเตรียมการรับมือต่อภัยคุกคามดังกล่าว โดยการจัดตั้งหน่วยงานด้านไซเบอร์ขึ้นมารับผิดชอบโดยตรง การใช้มาตรการทางกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่ แต่อาจจะไม่เพียงพอต่อการรับมือกับภัยคุกคามดังกล่าว ซึ่งนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรง และมีความสลับซับซ้อน หลากหลายรูปแบบวิธีการโจมตี รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยใหม่ๆ ซึ่งยากต่อการรับมือในลักษณะมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เชิงรับ ดังนั้นหลายประเทศ จึงหันมาให้ความ
สำคัญกับมาตรการเชิงรุก โดยการจัดตั้งกองกำลังด้านไซเบอร์
( Cyber Forces ) และนักรบไซเบอร์ ( Cyber Warrior )  ขึ้นมาเตรียมการตอบโต้ เพื่อการทำลายการโจมตี การสกัดกั้น ยับยั้ง ชิงความได้เปรียบในด้านความริเริ่ม เพื่อให้เกิดเสรีในการปฏิบัติการ และเสริมสร้างศักยภาพพลังอำนาจกำลังรบทางการทหารด้านไซเบอร์ รวมถึงการผนึกกำลังทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ดังกล่าว
กองทัพในฐานะหน่วยงานด้านความมั่นคงของชาติ ได้มองเห็นความสำคัญในการเตรียมการรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ จึงได้ดำเนินการเตรียมการมาตามลำดับ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของกำลังพลให้มีความพร้อมในการรับมือทั้งทางด้านการปฏิบัติการไซเบอร์เชิงรับและเชิงรุก โดยการฝึกทักษะการปฏิบัติการไซเบอร์ทั้งเชิงรุกและเชิงรับให้กับกำลังพลในกองทัพ การรณรงค์เสริมสร้างความตระหนักรู้ต่อภัยคุกคามและการใช้งานด้านเทคโนโลยีสรสนเทศอย่างปลอดภัย การปลูกฝังจิตสำนักในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานบนโลกไซเบอร์ เพื่อลดความเสี่ยงด้านภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่มองไม่เห็นตัว ตั้งแต่ยามปกติ และเสริมสร้างความพร้อมรับมือทั้งเชิงรับและเชิงรุกในยามวิกฤติ แต่จากประสบการณ์ด้านการปฏิบัติการรบและการต่อต้านการก่อการร้าย เป้าหมายที่มักจะตกเป็นเหยื่อการโจมตีของฝ่ายตรงข้าม มักจะเป็นเป้าหมายทางพลเรือนเป็นลำดับแรกๆ ของการโจมตี เพื่อสร้างความระส่ำระสาย ความตื่นตระหนก และความโกลาหน สับสนอลหม่าน แก่ประชาชน โดยเฉพาะเป้าหมายการโจมตีต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค การสื่อสาร และคมนาคม รวมถึงระบบภาคธุรกิจเอกชน ให้เกิดความเสียหาย ก่อนเริ่มการปฏิบัติการทางทหาร ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งขึ้นในระดับประเทศ
กระทรวงกลาโหม ได้ความตระหนักและให้ความสำคัญในการเตรียมการรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ โดยกำหนดแผนยุทธศาสตร์ด้านไซเบอร์ของกระทรวงกลาโหม ออกเป็น 3 ด้าน คือ การป้องกัน ( Defensive )  , การป้องปราม ( Suppression )  และการผนึกกำลัง ( Synergies )  โดยเฉพาะด้านการผนึกกำลัง นับว่าเป็นหัวใจที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในกรณีที่เกิดการคุกคามจากการโจมตีทางไซเบอร์ โดยจะต้องมีการประสานความร่วมมือกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ทหาร ตำรวจ และประชาชน เพื่อผนึกกำลังในการเสริมสร้างศักยภาพและความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ของประเทศ และพัฒนาไปสู่การเสริมสร้างพลังอำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน ( Intangible Forces )  
กองทัพบกได้มีแนวความคิดเปิดกว้างในการพัฒนาเสริมสร้างความสัมพันธ์ และความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นการเตรียมการผนึกกำลังในการเสริมสร้างศักยภาพและความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ของประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์ด้านไซเบอร์กระทรวงกลาโหม  จึงได้มอบหมายให้ ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร / ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ดำเนินการจัดกิจกรรมทางด้านไซเบอร์ขึ้น เพื่อพัฒนาเสริมสร้างขีดความสามารถกำลังพลของกองทัพ ในด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ทั้งเชิงรับและเชิงรุก โดยจัดการแข่งขันทักษะการ
ปฏิบัติการไซเบอร์ ( Cyber Operation Contest ) เพื่อให้หน่วยงานภายนอกและประชาชนทั่วไป ได้เห็นภาพจำลองของการโจมตีทางไซเบอร์ และการปฏิบัติการในการรับมือ เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบสารสนเทศเกิดความเสียหายและมีความมั่นคงปลอดภัย รวมถึงการเสริมสร้างศรัทธาความเชื่อมั่นและความไว้วางใจต่อกองทัพในด้านการปฏิบัติการด้านไซเบอร์ เพื่อให้ทุกภาคส่วนรับรู้รับทราบการดำเนินการของกองทัพ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติและสามารถเปิดเผยต่อสังคม เป็นการเตรียมการรับมือ เพื่อป้องกันและป้องปรามภัยคุกคามทางการทหารด้านความมั่นคงของประเทศ  มิใช่นำมาปฏิบัติการโจมตีต่อประชาชนในประเทศ ตามที่มีการบิดเบียน ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการเสวนาแนวทางการพัฒนาความร่วมมือและการผนึกกำลังทุกภาคส่วน เพื่อเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือ และพัฒนาศักยภาพด้านไซเบอร์ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว ถือเป็นความท้าทายด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของชาติ นับจุดเริ่มต้นในการประสานความร่วมมือและการผนึกกำลังทุกภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ของประเทศ และเป็นหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยในการพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ไปสู่ ดิจิตอล ไทยแลนด์
“ ไซเบอร์ปลอดภัย ประเทศไทยยุคดิจิตอล ”
---------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น