วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

โลกส่วนตัว กับ โลกโซเชียล ( Privacy vs Social )

โลกส่วนตัว กับ โลกโซเชียล
 ( Privacy vs Social )
โดย พลตรี ฤทธี  อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก

วิถีชีวิตของคนในสังคมไทยยุคปัจจุบัน ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานอินเตอร์เน็ตบนโลกไซเบอร์อยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นเช้าจนเข้านอน มีความแตกต่างจากสังคมไทยในยุคก่อนๆอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตความเป็นส่วน
ตัวกับการใช้ชีวิตในสังคมยุคก่อนๆจะมีเส้นแบ่งกันอย่างชัดเจน ว่าสิ่งใดเป็นเรื่องส่วนตัว สิ่งใดเป็นเรื่องสังคม ดังมีสำนวนไทยโบราณกล่าวว่า “ ความในอย่านำออก ความนอกอย่านำเข้า ” ถ้าเป็นสุภาษิตไทย จะใช้คำว่า “ ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า ”  กล่าวคือ เรื่องอะไรที่ไม่ดีภายในบ้าน คนในบ้านไม่ควรนำไปพูดกับคนภายนอก และเรื่องอะไรที่ไม่ดีนอกบ้าน ก็ไม่ควรนำมาเป็นประเด็นในบ้าน ให้เกิดความขุ่นข้องหมองมัว ไม่สบายใจ หรือเกิดความแตกแยก รวมถึงความเป็นส่วนตัวของคนในยุคสมัยก่อน มักจะได้รับการยอมรับ การเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ใครจะไปทำอะไร ที่ไหน มีความลับ มีความเป็นส่วนตัวอะไร คนในสังคมภายนอกแม้แต่คนในครอบครัวมักจะไม่ไปก้าวก่ายก้าวล่วงเรื่องของคนอื่น หรือพยายามไปสอดรู้สอดเห็นเรื่องของชาวบ้านที่เขาไม่ต้องการเปิดเผย เพราะเป็นมารยาทอันดีงามของสังคมไทยมาแต่โบราณ ดังนั้นความเป็นโลกส่วนตัวในยุคก่อนๆ จึงมีความเป็นโลกส่วนตัวจริงๆ
ปัจจุบันคนในสังคมไทยกลับตรงกันข้าม มักชอบสอดรู้สอดเห็นเรื่องของชาวบ้าน รู้อย่าเดียวไม่พอ ยังเอาไปโพนทะนาหรือเผยแพร่ให้คนอื่นรู้อีก จึงทำให้โลกส่วนตัวของคนในยุคปัจจุบันถูกละเมิดโดยบุคคลอื่น รวมถึงตนเองมักจะพูดเสมอว่าเป็นโลกส่วนตัวหรือเรื่องส่วนตัว ( Privacy ) แต่ตนเองกลับนำไปบอกกล่าว แสดงโอ้อวด และเผยแพร่ให้บุคคลภายนอกและสังคมได้รับทราบ รับรู้ และชื่นชมตนเอง พอมีใครที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างหรือตรงกันข้ามจากตนก็มักจะเกิดอาการเหวี่ยง
ในยุคสังคมออนไลน์ปัจจุบัน ที่มีอุปกรณ์เทคโนโลยีและแอพพริเคชั่นต่างๆ ด้านโซเชียลมีเดีย ซึ่งช่วยให้วิถีชีวิตของคนในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง แทบไม่รู้ว่าโลกส่วนตัวหรือความเป็นส่วนตัวของตนเองอยู่ที่จุดไหน ทั้งๆ ที่ตัวตนจริงๆ อยู่คนละฟากฟ้า บางคนไม่เคยคบหา บางรายไม่เคยรู้จักมักคุ้น ไม่เคยเห็นหน้าค่าตาตัวตนจริงๆ รูปที่ปรากฏหรือส่งมาให้ดูอาจจะเป็นใครก็ไม่รู้ ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ถูกเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็ว กว้างขวาง มีทั้งข้อมูลจริง ข้อมูลจริงบางส่วน ข้อมูลเท็จ ข้อมูลบิดเบือน ดัดแปลง เสริมเติมแต่งตัดต่อ พอเป็นกระแสทางสังคมขึ้นมาก็เป็นเรื่อง ทั้งที่เป็นเรื่องดีงาม และเรื่องไม่ดีผสมโรงกันไปด้วยความสะใจ ส่วนใหญ่เรื่องดีๆ มีน้อยราย และคนในสังคมมักจะให้ความสนใจเป็นห้วงสั้นๆ แต่พอเป็นเรื่องไม่ดี คนสนใจมาก เป็นกระแสยาวนาน และบางเรื่องพอพลิกกลับ กลับมองหาคนรับผิดชอบแก้ข่าวแทบมองไม่เห็น คนที่เสียหายก็รับเคราะห์ไป
ดังนั้น ผู้คนในสังคมปัจจุบันทั้งที่รู้เรื่องและไม่รู้เรื่องคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต รวมถึงผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดียจึงพึงสังวรอยู่ตลอดเวลาว่า โลกส่วนตัวของคุณ มันได้ถูกโลกโซเชียลยึดครอบงำไปเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่จะเป็นกระแส เป็นประเด็นที่ไหน เมื่อไหร่ ทางดี หรือทางร้ายเท่านั้น สิ่งที่สำคัญเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คนในสังคม คนที่ใช้สื่อโซเชียล รวมถึงสื่อต่างๆ จะต้องมีมารยาททางสังคม เคารพสิทธิส่วนบุคคล มีความสำนึก มีความรับผิดชอบ มีจริยธรรม และมีจรรยาบรรณ ในการสืบสาวราวเรื่องข้อเท็จจริง การนำเสนอข้อมูลทั้งสองด้าน และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วน เพื่อให้โลกโซเชียลเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนคนในสังคมที่ติดตามข้อมูลข่าวสารในโลกโซเชียล ก็จะต้องมีสติ ไม่ไปก้าวล่วงหรือละเมิดบุคคลอื่น หรือทำการอะไรด้วยความสะใจ เพราะบางครั้งมันจะย้อนกลับมาเข้าหาตนเอง ทั้งๆ ที่ตนเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวเลย รวมถึงผู้ที่ใช้งานสื่อโซเชียล พึงระมัดระวังการนำข้อมูลส่วนตัว วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตน รวมถึงกิจกรรมต่างๆ หากต้องการบันทึกเก็บรักษาข้อมูลและเรื่องราวต่างๆ ไว้เป็นความทรงจำส่วนตัว ก็ควรกำหนดสิทธิ์ในการเห็นเป็น “เฉพาะฉัน” หรือ “ไม่เผยแพร่สาธารณะ” ก็จะทำให้มีความเป็นโลกส่วนตัวอยู่พอสมควร แต่ถ้าตราบใดไปโพสต์ไปแชร์ “สาธารณะ”เมื่อไหร่ ก็จะถือว่าเป็นเรื่องทางสังคมทันที ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดี เรื่องไม่ดี เรื่องที่คนอื่นมองว่าไม่ดี เรื่องที่คนอื่นแอบอิจฉาตาร้อน หมั่นไส้ ติฉิน นินทา ฯลฯ ก็ขอให้ทำใจที่จะต้องรับสถานการณ์ทุกรูปแบบอย่างมีสติ จะมาอ้างว่าเป็นโลกส่วนตัวคงไม่ได้ เพราะจะไปบังคับให้ทุกคนในสังคมมองโลกสวย คงเป็นเรื่องยาก

---------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น