ประเทศไทย 4.0 กับ กองทัพ ศตวรรษ ที่ 21
( Thailand 4.0 vs. Force 21 )
โดย พลตรี ฤทธี อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก
อะไร? อะไร? ก็ 4.0 ประเทศไทยในยุคสมัยนี้ หากใครไม่พูดถึง “ ไทยแลนด์
4.0 ” ( Thailand 4.0 ) ก็จะตกยุคตกสมัยไป
ทั้งที่หลายต่อหลายคนก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจอะไรมากนัก ที่ว่าไม่เข้าใจหมายถึง
นึกภาพความเป็นจริงไม่ค่อย
ออกว่าหน้าตา “ ไทยแลนด์ 4.0 ” มันเป็นอย่างไร? และมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร?
รวมถึง โมเดล 4.0 ได้ถูกนำไปใช้ในหลายๆ องค์กรอย่างแพร่หลาย
แทบจะเรียกว่าเป็น กระแส 4.0 หรือ 4.0 ฟีเวอร์ เพื่อให้สอดรับกับ “ ไทยแลนด์ 4.0 ”
ยกเว้นหน่วยงานของกองทัพ
ข้อเท็จจริง ไทยแลนด์ 4.0 เป็นเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย
โดยการพัฒนาประเทศในยุค 1.0 เราถือว่าเป็น ยุคเกษตรกรรม จากนั้นก็พัฒนากลายเป็นยุค
2.0 ที่มีการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยงานหรือเป็นยุคอุตสาหกรรมเบา ในขณะที่ยุค 3.0
เป็นยุคอุตสาหกรรมหนักและมีการลงทุนจากต่างชาติ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจในยุค 3.0 ยังมีความเปราะบางต่อสถานการณ์โลก
และประเทศไทยยังไม่สามารถก้าวข้ามความเป็นประเทศรายได้ปานกลาง
ดังนั้นการนำมาสู่
“ ไทยแลนด์ 4.0 ” จึงเป็นการเน้นที่จะแก้ปัญหาให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง
โดยการพัฒนาโครงสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า New Economy Model มีการใช้ “ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
” ( Sufficiency Economy ) ที่ประชาชนสามารถสร้างรายได้ได้ด้วยตนเอง
มีการปฏิรูปทั้งโครงสร้างในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น ภาคธุรกิจ การเกษตร การศึกษา
และแรงงาน จากระบบเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตโดยใช้แรงงาน เครื่องจักร และทรัพยากร
เปลี่ยนมาเป็นการผลิตบนฐานความรู้และเทคโนโลยี โดยมีการดึงสถาบันวิจัยระดับโลกเข้ามาตั้งในประเทศไทย
และมีความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันการเงิน
ให้มากขึ้นที่เรียกว่า ประชารัฐ โดยมีเป้าหมายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ภายใน 3 - 5 ปี โมเดลไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็น Value-based Economy จะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต
เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ โดยมีเป้าหมาย 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก
ได้แก่
1.กลุ่มอาหาร, เกษตรกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพ ( Food, Agriculture & Bio-tech )
2.กลุ่มสาธารณสุข บริการสุขภาพ
และเทคโนโลยีการแพทย์ ( Health, Wellness & Bio-medical )
3.กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ, หุ่นยนต์
และอิเล็กทรอนิกส์ (
Smart Devices, Robotics & electronic )
4.กลุ่มดิจิตอล และเทคโนโลยีสมองกลแบบฝังตัว ( Digital & Embedded Technology )
5.กลุ่มอุตสาหกรรม สร้างสรรค์
และการบริการที่มีมูลค่าสูง (
Creative, Culture & High Value Service )
สำหรับบรรดาหน่วยงานกองทัพ
ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคง ที่มีแผนงานการพัฒนาเสริมสร้างกำลังกองทัพอย่างเป็นระบบ
ตามแผนยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม
ที่พิจารณาจากความมั่นคงของโลก ภัยคุกคามของภูมิภาค สถานการณ์ภายในประเทศ
ให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีประเด็นยุทธศาสตร์ของกระทรวงกลาโหมทั้ง ๓ ด้าน คือ
ยุทธศาสตร์ที่ ๑ : การป้องกันเชิงรุก,
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ :
การผนึกกำลังป้องกันประเทศ และยุทธศาสตร์ที่ ๓ :
การสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง
การกำหนดแผนพัฒนาเสริมสร้างกองทัพแบ่งออกเป็น
4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ระหว่างปี 2560 – 2564 , ระยะที่ 2 ระหว่างปี 2565 - 2569 , ระยะที่ 3 ระหว่างปี 2570 - 2574 และระยะที่ 4
คือ 2575 - 2579
ทั้งนี้ตามแผนยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหมได้เล็งเห็นว่า
ภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า
ไม่ใช่ภัยคุกคามที่ต้องใช้กำลังขนาดใหญ่เข้าปราบปรามเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา
จึงมีความจำเป็นต้องลดคน แต่ต้องคงกำลังกองทัพให้เหมาะสม
ทัดเทียมกับประเทศในภูมิภาค เพื่อความสมดุลของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
การต่อรองผลประโยชน์ของชาติ โดยที่ไม่ต้องอาศัยพึ่งพาประเทศมหาอำนาจ
สิ่งที่สำคัญที่มาเสริมขีดความสามารถของกองทัพ
ในยุคศตวรรษที่ 21 คงหนีไม่พ้นการพัฒนาขีดความสามารถด้านการปฏิบัติการไซเบอร์
(
Cyber Operation ) เพื่อรองรับกับภัยคุกคามไซเบอร์ในพื้นที่ปฏิบัติการทางทหารที่
5 (
Cyber Domain ) ตามแผนยุทธศาสตร์ไซเบอร์ของกระทรวงกลาโหม
ที่กำหนดไว้รวม ๓ ด้าน คือ การป้องกัน, การป้องปราม
และการผนึกกำลัง โดยแผนแม่บทไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศกระทรวงกลาโหม
พ.ศ.
2560 – 2564 จะครอบคลุมแผนงานหลัก 6 แผนงาน
ได้แก่ แผนการจัดองค์กรด้านไซเบอร์, แผนการป้องกันระบบโครงสร้างพื้นฐาน,
แผนการพัฒนาความพร้อมการปฏิบัติการไซเบอร์เชิงรุกและการปฏิบัติการสงครามไซเบอร์,
แผนการดำรงและพัฒนาศักยภาพด้านไซเบอร์, แผนการสนับสนุนศักยภาพทางไซเบอร์ระดับชาติ
และแผนงานความร่วมมือและผนึกกำลังด้านไซเบอร์
ดังนั้น
คงจะเป็นที่หายสงสัยว่า ทำไมกองทัพจึงไม่มี “ กองทัพ 4.0 ” จะมีแต่คำว่า “ กองทัพศตวรรษที่
21 ” (
Force 21 ) แทน เพราะหน่วยงานกองทัพมุ่งพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถทางการทหารขององค์กรด้านการรักษาความมั่นคงของชาติ
มิใช่มุ่งเน้นการแข่งขันเชิงธุรกิจ
---------------------------------------------
อ้างอิง :
http://www.thairath.co.th/content/613903
http://www.komchadluek.net/news/scoop/226657
http://www.komchadluek.net/news/politic/239087
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น