วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

การพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็ก เพื่อก้าวสู่กิจการอวกาศ ของ กระทรวงกลาโหม


การพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็ก เพื่อก้าวสู่กิจการอวกาศ ของ กระทรวงกลาโหม
( Micro SAT : Startup for Defence Aerospace )
โดย พลเอก ฤทธี  อินทราวุธ
ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงกลาโหม/
หัวหน้าคณะทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กิจการอวกาศ  และไซเบอร์
-----------------------------------------
“ อวกาศ ” หากเป็นการกล่าวถึงในห้วงเวลาก่อนหน้านี้ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ไกลตัว เอื้อมไปถึงยากสำหรับคนไทย โดยเฉพาะในวงการทหารก็มักจะมองเรื่องการมีดาวเทียมเพื่อความมั่นคง ที่มีราคาสูงนับหมื่น
ล้านบาทเป็นสำคัญ ซึ่งมีความเป็นไปได้ยากในสภาวะปัจจัยเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังอยู่ในห้วงของการพัฒนาประเทศเป็นหลัก ถึงแม้ว่าปัจจุบันทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทยต่างกำลังให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์ทางด้านกิจการอวกาศเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา การทหาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ปัจจุบันสถาบันการศึกษาหลายแห่งของไทยได้มีหลักสูตรการศึกษา งานวิจัยพัฒนา และส่งการดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อการศึกษา ที่เรียกว่า Cube Sat ซึ่งเป็นดาวเทียมขนาดเล็กวงโคจรต่ำ ( Low Earth Orbit ; LEO) ระดับความสูง 160 – 1,000 กิโลเมตรจากพื้นโลก ซึ่งค่าใช้จ่ายดวงละไม่กี่แสนบาทไปจนถึงหลักล้านบาท เฉพาะโครงสร้างตัวกล่องดาวเทียมขนาด 1U ( 10 X 10 X 10 ตร.ซม.) รวมอุปกรณ์ควบคุม CPU ราคาตามท้องตลาด ประมาณ 20,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 600,000 บาท
และค่าใช้จ่ายในการขนส่งดาวเทียมขนาดเล็กขึ้นสู่วงโคจรโลก จากเดิมประมาณ 170 ล้านบาท ปัจจุบันมีการให้บริการจรวด Low Cost ของบริษัท Rocket Lab  สหรัฐ ประมาณ 2.6 ล้านบาท[1]  หากต้องการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อใช้งานด้านถ่ายภาพจากดาวเทียม หรือการลาดตระเวณเฝ้าตรวจภาคพื้นดิน รวมทั้งระบบสื่อสารต่างๆ ก็สามารถทำได้ ปัจจุบันจีนได้พัฒนาดาวเทียมชุดขนาดเล็กเพื่อใช้ในการสื่อสาร โดยล่าสุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้พัฒนาดาวเทียม KNACKSAT[2]  เพื่อใช้ในการถ่ายภาพ โดยมีกำหนดการส่งขึ้นวงโคจรภายในปี 2561 นี้
แนวทางการพัฒนาด้านกิจการอวกาศของกระทรวงกลาโหม ตามพันธกิจที่กำหนดไว้ ควรต้องหันกลับมามองสภาพความเป็นจริง และมีการวางแผนการพัฒนางานด้านกิจการอวกาศเพื่อความมั่นคงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จากระดับเล็กๆ ค่อยขยายไปสู่สเกลที่ใหญ่ขึ้นตามลำดับ มีการพัฒนาส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาบุคคลากร การแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ  และการดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีด้านกิจการอวกาศอย่างจริงจังต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมภายใต้การบริหารจัดการด้านงบประมาณอย่างประหยัดและชาญฉลาด
สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เปรียบเสมือนเป็นหน่วยงานที่เป็นมันสมองของกระทรวงกลาโหม โดยทำหน้าที่ กำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และแผนการดำเนินการ ที่เชื่อมโยงจากรัฐบาลไปยังหน่วยปฏิบัติ รวมถึงการกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติราชการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง เกิดประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล และเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล เพื่อตอบสนองเจตนารมณ์ของประเทศ ประชาชน และสังคมไทย[3]  โดยมีพัมธกิจ ที่สำคัญอยู่ 9 ประการ[4]   โดยพัทธกิจข้อ 4. พัฒนางานเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และกิจการอวกาศเพื่อความมั่นคง ได้มีการกำหนดพันธกิจด้านกิจการอวกาศไว้นานแล้ว โดยมี กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม ( ทสอ.กห.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินงาน แต่มีเพียงหน่วยงานระดับกอง คือ กองกิจการอวกาศ[5]  ซึ่งมีหน้าที่ วางแผน อำนวยการ ประสานงาน เสนอแนะ กำกับดูแล และดำเนินการด้านกิจการอวกาศและภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อความมั่นคง ซึ่งไม่สอดคล้องกับภาระหน้าที่พันธกิจใหญ่ๆ ที่มีความสำคัญในระดับชาติ รวมทั้งกระทรวงกลาโหมยังไม่เคยมีการกำหนด “ ยุทธศาสตร์อวกาศเพื่อการป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม ” เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการพัฒนา ไม่มีแผนงานและโครงการตามกรอบยุทธศาสตร์ คงมีแต่แผนการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงกลาโหมในภาพรวม และนโยบายการพัฒนาด้านกิจการอวกาศ โดยเน้นเรื่องการสื่อสารโทรคมนาคม และการใช้งานภาพถ่ายจากดาวเทียมเท่านั้น ซึ่งกองทัพอากาศได้มีการจัดทำแผนการพัฒนากองทัพอากาศ 20 ปี โดยเฉพาะด้านการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการบินและอวกาศ อย่างเป็นรูปธรรม โดยได้จัดตั้ง ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการบิน และอวกาศ กองทัพอากาศ[6] รวมถึงความร่วมมือในการสร้าง หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ [7]  ที่ สถานีรายงานดอยอินทนนท์ เพื่อเฝ้าสังเกตการณ์ดาวเทียม ขยะอวกาศ วัตถุใกล้โลกที่อาจก่ออันตรายต่อโลก
ดังนั้น การพัฒนาด้านกิจการอวกาศของกระทรวงกลาโหม ตามพันธกิจที่กำหนดไว้  จึงต้องมีการวางแผนการพัฒนางานด้านกิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยจะต้องเร่งรัดการดำเนินการจัดทำ “ ยุทธศาสตร์อวกาศเพื่อการป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม ” เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการพัฒนา มีแผนแม่บท แผนงาน โครงการตามกรอบยุทธศาสตร์ เพื่อการพัฒนาส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาบุคคลากร การแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ  และการดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีด้านกิจการอวกาศอย่างเป็นรูปธรรมและมีความต่อเนื่องยั่งยืน
แนวความคิดในการพัฒนาบุคคลากรและการพัฒนาด้านเทคโนโลยีด้านกิจการอวกาศของกระทรวงกลาโหม  เพื่อสร้างหลักประกันความสำเร็จให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว นอกเหนือจากการเปิดบรรจุข้าราชการพลเรือนกลาโหม และพนักงานราชการที่มีศักยภาพสูง ควรจะมี “โครงการช้างเผือก ” เพื่อรับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสาขาวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศ หรือกำลังศึกษาวิจัยงานด้านนี้ คัดสรรและบรรจุเข้ารับราชการในระดับชั้นนายทหารชั้นประทวน เช่นเดียวกับการบรรจุนักกีฬาทีมชาติ เพื่อให้มีรายได้และมีสิทธิได้รับทุนการศึกษาจากกระทรวงกลาโหม ในการเข้ารับการศึกษาโดยใช้เวลาราชการบางส่วน โดยผู้ที่ได้รับสิทธิจะต้องสร้างผลงานวิจัยตามหลักสูตรการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของกระทรวงกลาโหม เช่น การวิจัยพัฒนาดาวเทียม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการพัฒนาบุคคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญโดยตรง โดย แสวงประโยชน์จากสถาบันการศึกษาและห้องปฏิบัติการ ( Lab ) ที่มีความพร้อมทั้งเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย  และเมื่อสิ้นสุดโปรเจคมีผลงานเป็นที่ประจักษ์เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ ก็สามารถเลื่อนการบรรจุเข้ารับราชการเป็นนายทหารสัญญาบัตรเพื่อปฏิบัติงานในหน่วยงานด้านกิจการอวกาศของกระทรวงกลาโหม
การพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็ก ( Micro Sat  หรือ ดาวเทียมขนาดเล็กขนาดจิ๋ว ( Cube Sat ) ของกระทรวงกลาโหม เหมาะที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาด้านกิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ เพราะต้นทุนต่ำ มีความเป็นไปได้สูง ใช้ระยะเวลาสั้น มีความพร้อม
ในการแสวงหาความร่วมมือกับสถานศึกษาและองค์กรต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อเป็นการปูพื้นและเตรียมความพร้อมของบุคคลากรในการที่นำไปสู่การพัฒนาดาวเทียมเพื่อความมั่นคงในอนาคต เช่นเดียวกับ กองทัพบก ก่อนที่จะมีเฮลิคอปเตอร์ หรือ ฮ.โจมตี แบบ Cobra เราก็ฝึกนักบินใช้ ฮท.1 ( UH-1)  มาติดอาวุธ เพื่อใช้โจมตีสนับสนุนทางอากาศ กองทัพเรือ ก่อนที่จะมีโครงการเรือดำน้ำ เราก็ฝึกกำลังพลใช้ เรือฟริตเกอร์ ในการป้องกันน่านน้ำ เช่นเดียวกับ กองทัพอากาศ ก่อนที่จะมี เครื่องบินรบ แบบ F-1 , Alpha Jet มาจนถึง Gripen เราก็ฝึกนักบินใช้เครื่องบินขับไล่ OV-10 สมัยสงครามโลก ทุกอย่างที่กล่าวมาล้วนมีจุดเริ่มต้นของการพัฒนามาจากจุดเล็กๆ ทั้งสิ้น กองทัพเคยพัฒนานักบิน นักเดินเรือ และผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ขึ้นมา ส่งเสียเล่าเรียนหลักสูตรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเสียค่าใช้จ่ายจากงบประมาณแผ่นดินไปจำนวนไม่น้อย แต่ก็ประสบปัญหาสมองไหลมีหลายรายที่ลาออกไปอยู่ในภาคธุรกิจเอกชน ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าไป ดังนั้น “โครงการช้างเผือกเพื่อสานฝันสู่อวกาศ  ” และ โครงการดาวเทียมขนาดเล็ก  ( Micro Sat  หรือ  ดาวเทียมขนาดเล็กขนาดจิ๋ว  ( Cube Sat อาจจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางการพัฒนาบุคคลากรและการพัฒนากิจการด้านกิจการอวกาศของกระทรวงกลาโหม  ที่มีความเป็นไปได้สูง และเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
-------------------------------------------
อ้างอิง :

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น