วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2561

กระทรวงกลาโหม กับ การพัฒนากิจการอวกาศ


กระทรวงกลาโหม กับ การพัฒนากิจการอวกาศ
(  Ministry of Defence and Space affairs Development )
โดย พลเอก ฤทธี  อินทราวุธ
ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงกลาโหม/
หัวหน้าคณะทำงานเทคโนโลยีสารสนเทศ กิจการอวกาศ  และไซเบอร์
-----------------------------------------
การพัฒนากิจการอวกาศของประเทศไทย ประกอบด้วย การพิจารณาและการปรับปรุงแนวทางการพัฒนากิจการอวกาศของประเทศไทย การจัดทำโปรแกรมอวกาศแห่งชาติ ตลอดจนพิจารณาการดำเนินโครงการดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา โดยมอบหมายให้กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานหลัก ในการพัฒนากิจการอวกาศเพื่อความมั่นคง ตามแนวทางการพัฒนากิจการอวกาศของประเทศไทย โดยกำหนดเป้าหมายให้ใช้อวกาศเป็นพื้นที่ปฏิบัติการด้านความมั่นคง เพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติ บูรณาการและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อความมั่นคงและสามารถพัฒนาสู่การพึ่งพาตนเอง ตลอดจนพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีอวกาศเพื่อความมั่นคงอย่างพอเพียง[1]
เทคโนโลยีกิจการด้านอวกาศเพื่อความมั่นคง กระทรวงกลาโหมได้มีแนวความคิดในการพัฒนาด้านกิจการอวกาศมาอย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน  เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการตอบสนองต่อการ
เปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคง เช่น การสังเกตการณ์ห้วงอวกาศ การตรวจการณ์ทางอวกาศ การสื่อสารและโทรคมนาคม เป็นต้น ซึ่งสามารถสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคงของเหล่าทัพ ทั้งการปฏิบัติการภายในประเทศ และการปฏิบัติการร่วม/ผสมกับต่างประเทศ อย่างสมบูรณ์และไร้ขีดจำกัด โดยกระทรวงกลาโหม ได้เคยมีหน่วย ศูนย์พัฒนากิจการอวกาศกลาโหม ( ศพอ.กห.) ตั้งแต่ 1 เมษายน 2539 และต่อมาได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยและเปลี่ยนชื่อนามหน่วยเป็น กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม ( ทสอ.กห.) [2] เมื่อ 1 ตุลาคม 2547 เพื่อรองรับเทคโนโลยีสารสนเทศที่กำลังมีความสำคัญมากในขณะนั้น โดยยังคงมี กองกิจการอวกาศ ดูแลรับผิดชอบงานด้านกิจการอวกาศ ของกระทรวงกลาโหม
การประชุมสภากลาโหม เมื่อ 30 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมาโดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานฯ มีการนำเสนอแนวความคิดด้านกิจการอวกาศของกระทรวงกลาโหมในที่ประชุม เพื่อนำไปสู่การเตรียมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์กิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม พ.ศ.2561-2570 โดยมีเป้าหมายให้กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานหลักในการใช้เทคโนโลยีอวกาศด้านความมั่นคงของประเทศ และมีการกำหนดวิสัยทัศน์โดย กระทรวงกลาโหมเป็นองค์กรหลักด้านกิจการอวกาศ ที่มีศักยภาพในการเตรียมกำลัง ผนึกกำลัง และพัฒนาด้านกิจการอวกาศ เพื่อการป้องกันประเทศ[3] โดยกำหนดพันธกิจ ด้านการพัฒนา เสริมสร้าง และบูรณาการขีดความสามารถด้านกิจการอวกาศ เพื่อการป้องกันประเทศ ตามยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม ( พ.ศ.2560 -2579 ) ด้วยการเตรียมกำลัง , การผนึกกำลัง และการพัฒนา และมีประเด็นยุทธศาสตร์ย่อย ประกอบด้วย
1. การสร้างความพร้อมด้านกิจการอวกาศของหน่วยงานภายในกระทรวงกลาโหม ให้สามารถนำเทคโนโลยีอวกาศไปใช้ในการปฏิบัติภารกิจทางด้านความมั่นคงเพี่อการป้องกันประเทศ การพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติ รวมทั้งเพื่อการพัฒนาประเทศ และการช่วยเหลือประชาชน ทั้งในภาวะปกติและไม่ปกติ 
2. การสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการแบ่งปัน แลกเปลี่ยน และบูรณาการทรัพยากรที่มี เพื่อให้กระทรวงกลาโหมมีศักยภาพด้านกิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ เมื่อได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและเมื่อถึงเงื่อนไขที่กำหนด เสริมสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติ และรักษาสมดุลของความสัมพันธ์ได้อย่างบังเกิดผลเป็นรูปธรรม 
3. การสร้างนวัตกรรม องค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านกิจการอวกาศ การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบต่างๆ ให้ทันต่อภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และสถานการณ์ความมั่นคงของโลก มีการศึกษา วิจัย และพัฒนานวัตกรรมอวกาศในการก้าวไปสู่กิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ 
กระทรวงกลาโหมได้มีการดำเนินการด้านกิจการอวกาศมาตามลำดับ โดยเข้าร่วมเป็นหนึ่งใน คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารกิจการอวกาศ พ.ศ.2552[4]
และประสานความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ( องค์การมหาชน )  หรือ GISTDA ในการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของโครงการดาวเทียมถ่ายภาพ ธีออส 2 ( THEOS-2 ) [5] วงเงิน 7,800 ล้านบาท ที่จะส่งขึ้นไปทดแทนดาวเทียมธีออส หรือ ดาวเทียมไทยโชติ ที่ใช้งานมาแล้วกว่า 10 ปี จำเป็นต้องมีดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นไปทดแทนเพื่อรักษาสิทธิวงโคจรให้มีความต่อเนื่อง โดยคุณลักษณะเฉพาะหลักๆ ก็ยังเป็นดาวเทียมถ่ายภาพเช่นเดิม แต่สามารถนำเอามาเสริมหรือประยุกต์ใช้งานด้านความมั่นคงเพื่อการป้องประเทศ เช่น เฝ้าตรวจพื้นที่ชายแดน และน่านน้ำทะเลไทยได้ตามความต้องการของกองทัพ เพราะสามารถบังคับควบคุมวิถีวงโคจร และการบังคับมุมกล้องถ่ายภาพจาก
สถานีควบคุมดาวเทียมภาคพื้นดิน ที่ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ( Space Krenovation Park  ) [6] อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงกลาโหมจะมีเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งเข้าร่วมการปฏิบัติงาน ณ สถานีควบคุมดาวเทียมภาคพื้นดินดังกล่าว
นอกจากเหนือจากความร่วมมือตามโครงการดาวเทียม THEOS-2 แล้ว กระทรวงกลาโหมกำลังเดินหน้าประสานความร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ( องค์การมหาชน )  หรือ
GISTDA เพื่อนำไปสู่การลงนาม บันทึกข้อตกลง ( Memorandum of Agreement หรือ MOA ) จากการหารือได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการเข้าร่วมโครงการพัฒนาบุคลากร และโครงการพัฒนาดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก หรือดาวเทียมถ่ายภาพขนาดเล็ก ( Micro Satellites ) วงโคจรต่ำ ( Low Earth Orbit : LEO ) น้ำหนักประมาณ 50 - 100 กิโลกรัม ใช้ระยะเวลาในการพัฒนาดาวเทียม 2 – 3 ปี โดยคนไทยพัฒนาเองทั้งหมด และจะใช้พื้นที่ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ( Space Krenovation Park ) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นสถานที่ในการพัฒนาดาวเทียมดังกล่าว เพื่อพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถของคนไทยด้านการพัฒนาดาวเทียมให้สามารถพึ่งพาตนเองได้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ส่วนที่มีกระแสข่าววิพากษ์วิจารณ์ว่า กระทรวงกลาโหมจะใช้ดาวเทียม THEOS-2 มาเป็นดาวเทียมเพื่อความมั่นคง ในการสอดแนม ดักฟัง หรือนำขีปนาวุธ นั้น เป็นเรื่องจินตนาการที่เกินความเป็นจริงสำหรับประเทศไทย ทั้งด้านกฎหมาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ถึงแม้ว่าชั้นบรรยากาศระดับความสูงตั้แต่ 100 กิโลเมตรขึ้นไปทางสากลจะถือว่าเป็นพื้นที่ห้วงอวกาศเสรีที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ  แต่ดาวเทียมใช่ว่าใครจะนำไปใช้ทำอะไรได้ตามอำเภอใจ ยกเว้นประเทศมหาอำนาจเท่านั้น ดาวเทียมทุกดวงที่จะขึ้นไปสู่ห้วงอวกาศส่วนใหญ่ จะต้องจ้างบริษัทต่างประเทศในการนำส่งทางจรวดซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทธุรกิจเอกชน หรืออาจจะถูกควบคุมตรวจสอบโดยหน่วยงานความมั่นคง ดาวเทียมทุกดวงจะต้องผ่านการตรวจคุณลักษณะเฉพาะของชิ้นส่วนวัสดุอุปกรณ์ทุกชิ้น มีมาตรฐานสากลรับรองจากองค์การอวกาศ รวมถึงวัตถุประสงค์ในการใช้งาน ถ้าชี้แจงไม่ชัดเจนไม่ผ่าน , ตกคุณลักษณะเฉพาะ หรือตกมาตรฐานรับรองจากองค์การด้านอวกาศ เช่น องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซ่า ( NASA ) รวมทั้งถ้ามีส่วนใดส่วนหนึ่งใช้ในกิจการทางทหารติดขึ้นมา จะไม่สามารถนำส่งขึ้นอวกาศได้ เป็นกฎระเบียบของบริษัทเอกชนผู้ให้บริการส่งจรวต เช่นเดียวกับการส่งพัสดุภัณฑ์ทางไปรษณีย์ หรือพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ ( Air cargo ) 
ประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์ว่า กระทรวงกลาโหมจะนำดาวทียม THEIA มาทดแทนดาวเทียม THAICOM-4 ซึ่งจะหมดอายุการใช้งานในปี 2564 ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะดาวทียมถ่ายภาพหรือดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก ( Earth Observation Satellites )  กับ ดาวเทียมสื่อสาร ( Communications Satellites ) วิถีโคจรคนละแบบกัน โดยดาวเทียมสื่อสารเป็นดาวเทียมแบบค้างฟ้าที่โคจรไปพร้อมกับการหมุนของโลก เพื่อให้ตำแหน่งของดาวเทียมคงที่เหนือพื้นที่ให้การบริการสื่อสารโทรคมนาคม ส่วนดาวเทียมถ่ายภาพ จะโคจรรอบโลกผ่านตำแหน่งเดิมวันละ 1 ครั้งหรือมากกว่า ผ่านมาทีถึงจะถ่ายภาพได้ที หากจะใช้ดาวเทียม THEIA มาแทน THEOS-2 ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะโครงการดาวเทียม THEOS-2 เปิดประกาศ TOR ประกวดราคาเสร็จแล้ว และรอลงนามในสัญญาฯ กับ AIRBUS GROUP กลางเดือน มิถุนายน 2561 เพื่อให้สามารถใช้งานทดแทนดาวเทียม THEOS หรือ ไทยโชติ ซึ่งใช้งานมากว่า 10 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2551 ได้ทันตามกำหนดเวลา เพราะการส่งดาวเทียมจะต้องใช้เวลาการพัฒนาดาวเทียมรวมถึงการเตรียมการจองคิวปล่อยดาวเทียม ประมาณ 3 – 5 ปี และโครงการดาวเทียม THEIA ของบริษัทเอกชน เป็นเพียงดาวทียมถ่ายภาพหรือดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก ที่สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ( สทป.) กำลังศึกษาความเหมาะสมร่วมกับหน่วยราชการอื่นๆ เพื่อนำมาใช้งานด้านการค้นหาแหล่งน้ำใต้ดิน บนดิน แหล่งพลังงานจากธรรมชาติเพื่อใช้ในการลงทุน งานด้านการขนส่ง งานด้านการประมงผิดกฎหมายหรือไอยูยู[7] จึงมีความเป็นไปได้ยากที่จะพัฒนาเป็น ดาวเทียมจารกรรม[8] ( Reconnaissance Satellites ) ซึ่งเป็น ดาวเทียมสำรวจความละเอียดสูง หรือดาวเทียมสื่อสารที่ใช้เพื่อกิจการทางทหาร หรือการจารกรรม
ส่วนใครคิดจะมีดาวเทียมเพื่อความมั่นคงทางการทหาร เพื่อใช้สอดแนม , เฝ้าฟัง , ดักฟัง , นำวิถีขีปนาวุธ หรือติดขีปนาวุธเพื่อการทำลายล้าง จะต้องมีศักยภาพด้านการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างสูง ทั้งอุปกรณ์ดาวเทียม อุปกรณ์ทางทหารที่ใช้งานภายใต้สภาพไร้น้ำหนักหรือสูญญากาศ อุปกรณ์ควบคุมจากสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน รวมถึงจรวดนำส่งดาวเทียมขึ้นสู่ชั้นอวกาศเอง เอาแค่พัฒนาขีดความสามารถในการบังคับควบคุมดาวเทียมให้อยู่ในวิถีวงโคจร และการบังคับมุมกล้องถ่ายภาพจากสถานีภาคพื้น แค่นี้ก็เก่งแล้ว ยิ่งการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรในการสร้างดาวเทียมของตนเองให้ใช้งานได้ยิ่งเก่งกว่า เพราะการถ่ายทอดเทคโนโลยี ( Technology Transfer ) ที่ได้มาจากโครงการดวงเทียมต่างๆ ของประเทศไทยที่ผ่านมา เป็นเพียงเปลือกนอก ไม่ใช่แก่นของความลับทางธุรกิจด้านเทคโนโลยีอวกาศหรือเทคโนโลยีดาวเทียมที่จะได้มาง่ายๆ ดังนั้นเราจึงควรมีนโยบายและกลไกขับเคลื่อนผลักดัน ตลอดจนการให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างแท้จริงให้เป็นรูปธรรม จนสามารถพัฒนาดาวเทียมด้วยตนเองได้เช่นเดียวกับการพัฒนากิจการอวกาศของประเทศต่างๆ เพราะการพัฒนาดาวเทียม แม้จะเป็นดาวเทียมขนาดเล็ก ( Micro Satellites ) หรือดาวเทียมขนาดจิ๋ว ( Cube SAT) จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศและกิจการอวกาศขั้นพื้นฐานที่ดีที่สุด ซึ่งจะต้องรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง เรียนรู้จากประสบการณ์จริง เรียนรู้จากความล้มเหลว เพื่อพัฒนาไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน และถ้าเราสามารถพัฒนาขีดความสามารถในการสร้างจรวดนำส่งอวกาศควบคู่กันไปจนประสบความสำเร็จ ถือเป็น สุดยอดของการพัฒนาเทคโนโลยีด้านกิจการอวกาศ
-------------------------------------------
อ้างอิง :

วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2561

กำลังพลสำรองไซเบอร์ หนึ่งใน สรรพกำลังด้านไซเบอร์


กำลังพลสำรองไซเบอร์ หนึ่งใน สรรพกำลังด้านไซเบอร์
(  Cyber Reserve : One of the Cyber Mobilization )
โดย พลเอก ฤทธี  อินทราวุธ
ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงกลาโหม/
หัวหน้าคณะทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กิจการอวกาศ  และไซเบอร์
-----------------------------------------
การระดมสรรพกำลัง ( Mobilization ) [1] หมายถึง การกระทำเพื่อเตรียมการทำสงคราม หรือเผชิญภาวะฉุกเฉินอื่นๆ โดยการรวบรวม และจัดระเบียบต่อทรัพยากรของชาติ ซึ่งได้แก่ กำลังคน สิ่งของ การบริการ และ
สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ การระดมสรรพกำลัง แบ่งออกเป็น 2 ทาง คือ การระดมสรรพกำลังทางเศรษฐกิจ ( Economic Mobilization ) และการระดมสรรพกำลังทางทหาร ( Military Mobilization )
การระดมสรรพกำลังทางเศรษฐกิจ ( Economic Mobilization ) หมายถึง การกระทำเพื่อรวบรวม และจัดระเบียบต่อทรัพยากรทางเศรษฐกิจของชาติ ทำให้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจอยู่ในลักษณะพร้อมที่จะใช้งานในภาวะฉุกเฉินหรือในเวลาสงคราม
การระดมสรรพกำลังทางทหาร ( Military Mobilization ) หมายถึง กระบวนการที่จะทำให้กำลังทหารทั้งสิ้นหรือส่วนหนึ่งอยู่ในลักษณะที่พร้อมจะเผชิญกับภาวะไม่ปกติของชาติ ทั้งนี้รวมถึงการรวบรวมและจัดระเบียบกำลังพล อันได้แก่ การเรียกทหารกองหนุนเข้ารับราชการ การเรียกเกณฑ์ การจัดระเบียบด้านสิ่งอุปกรณ์และบริการ
ก่อนถึงขั้นการระดมสรรพกำลังอย่างแท้จริงในยามสงคราม หรือในยามเกิดภาวะฉุกเฉินอื่นๆ กระทรวงกลาโหมในฐานะหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงทางทหาร ได้มีการเตรียมการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เช่น
การฝึกการระดมสรรพกำลังเพื่อการทหาร , การออก พ.ร.บ. กำลังพลสำรอง พ.ศ. 2558[2] และการเรียกกำลังพลสำรองเข้ามารับการฝึกกำลังพลสำรองเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรบ และเป็นหลักประกันความมั่นคงของประเทศชาติบ้านเมือง ตามพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6  “ แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบ ให้พร้อมสรรพ ” และในปีนี้ กระทรวงกลาโหม ได้จัดให้มี การแสดงศักยภาพของกำลังสำรอง ทั้ง 3 เหล่าทัพ[3]  ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (ศรีสมาน) โดยมี พลเอก เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม มาเป็นประธานในพิธีฯ
มีรองปลัดกระทรวงกลาโหม, รองปลัดกระทรวงมหาดไทย, ผู้แทนกองบัญชาการกองทัพไทยและเหล่าทัพ, หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน และหัวหน้าคณะทำงานฯ ที่เกี่ยวข้องชมการแสดงศักยภาพของกำลังพลสำรองของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ในการพัฒนาขีดความสามารถของกำลังพลสำรองให้สามารถปฏิบัติภารกิจร่วมกับกำลังประจำการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์ให้สาธารณะได้รับทราบถึงบทบาท และความสำคัญของกำลังพลสำรองที่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ
นอกจากนี้ กรมการสรรพกำลังกลาโหมได้จัดให้มีการฝึกปัญหาที่บังคับการ ( Post Command Exercise ; CPX ) ในการฝึกการระดมสรรพกำลังเพื่อการทหาร ประจำปี 2561 ระหว่างวันที่ 22 - 24 พฤษภาคม 2561
ณ กรมการสรรพกำลังกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (ศรีสมาน) โดยจัดให้มีการฝึกสถานการณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ตลอดจนการเตรียมฐานข้อมูลสรรพกำลังด้านต่างๆ ทั้งด้านสถานที่ สิ่งอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ยานพาหนะ และด้านกำลังคน  เช่น กำลังพลสำรอง ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและพัฒนาเสริมสร้าง กำลังพลสำรองไซเบอร์ตามนโยบายของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม[4]   
“ กำลังพลสำรองไซเบอร์ ” ถือเป็นหนึ่งในการระดมสรรพกำลัง ด้านกำลังคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ที่มีความสำคัญในยุคเทคโนโลยีปัจจุบัน นอกเหนือจากการระดมสิ่งของและทรัพยกรด้านอื่นๆ  เพราะในอดีตยุคสงครามเย็น “ กำลังพลสำรอง ” ถือเป็น “ กำลังกองหนุน ” ที่มีความสำคัญต่อกองทัพ เพราะจะเป็นกำลังรบที่จะมาทดแทนกำลังทหารที่เกิดการสูญเสียในยามสงคราม แต่ในยุคเทคโนโลยีปัจจุบัน “ กำลังพลสำรองไซเบอร์ ” ถือเป็น “ อำนาจกำลังรบ ” ที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ[5] เพราะกองทัพสามารถนำกำลังพลสำรองไซเบอร์ ซึ่งหมายถึง กำลังพลสำรองที่มีคุณวุฒิ มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ด้านไซเบอร์ มาใช้งานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตั้งแต่ยามปกติ   ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ และการพัฒนาเสริมสร้างบุคลากรด้านไซเบอร์ของประเทศที่มีความสำคัญในยุคเทคโนโลยีปัจจุบันอีกทางหนึ่ง
กระทรวงกลาโหม ได้มีแนวความคิดในการนำขีดความสามารถทางไซเบอร์พลเรือนมาใช้งานในกองทัพ โดยกำหนดไว้ใน ยุทธศาสตร์ไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม[6] ตั้งแต่ปี 2558 และในการประชุมสภากลาโหม[7] ได้มีการพิจารณาหารือในการนำ ผู้เชี่ยวชาญไซเบอร์พลเรือนและกำลังพลสำรอง มาเสริม
สร้างขีดความสามารถด้านไซเบอร์ให้กับกองทัพ เพื่อสอดรับนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในการตั้งเป้าสร้างนักรบไซเบอร์ จำนวน 1,000 คน เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยไซเบอร์ ในปี 2561[8]   และล่าสุดจากการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ครั้งที่ 1/2561 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกับแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ทั้ง 6 กลุ่ม โดยกระทรวงกลาโหมรับผิดชอบกลุ่มงานที่ 1 กลุ่มความมั่นคงฯ และรัฐบาลได้ตั้งงบประมาณด้านการพัฒนาบุคลากรด้านไซเบอร์ จำนวน 350 ล้านบาท[9]
แนวความคิดและนโยบายดังกล่าว มีการตีความว่าเป็นการสร้าง นักรบไซเบอร์ จึงใคร่ขออธิบายว่า " นักรบไซเบอร์ " หรือ " Cyber warrior " เป็นเรื่องของการปฏิบัติการทางทหารโดยตรง ต่อเป้าหมายทางทหารหรือเป้าหมายที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ในกรณีที่เกิดสถานการณ์ภาวะ " สงครามไซเบอร์ " หรือ " Cyber warfare " เท่านั้น
กรณีในสภาวะปกติ เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานไซเบอร์ของทหาร จะเป็นเพียง " เจ้าหน้าที่ หรือ ผู้เชื่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ " ( Cyber security officer / Cyber security specialist ) ไม่ใช่ " นักรบไซเบอร์ " หรือ " Cyber warrior " ตามที่เป็นกระแส ซึ่งอาจจะมาจากข้าราชการประจำ หรือพนักงานราชการที่มีความรู้ด้านนี้ ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอต่อภารกิจ ก็สามารถเปิดรับสมัครบรรจุบุคคลพลเรือนเข้ามารับราชการทหาร หรือ ข้าราชการพลเรือนกลาโหม (ไม่มียศ) หรือ พนักงานราชการที่มีศักยภาพสูง (อัตราเงินเดือนสูง) ตามนโยบายของรัฐบาล โดยระเบียบกฎเกณฑ์การรับสมัครก็เป็นไปตามระเบียบข้าราชการทหาร หรือ ระเบียบข้าราชการพลเรือน
สำหรับ " กำลังพลสำรองไซเบอร์ " เป็นการคัดเลือกจาก " กำลังพลสำรอง " ตาม พ.ร.บ. กำลังพลสำรอง พ.ศ.2558 ที่มีคุณวุฒิ หรือ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ เพื่อนำมาบรรจุ " ทำหน้าที่ทหารเป็นการชั่วคราว " ตามระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อบรรจุในหน่วยงานไซเบอร์ของทหาร โดยกระทรวงกลาโหมสามารถแต่งตั้ง " ว่ามี่ยศ " ให้ได้ตามคุณวุฒิและอัตราที่บรรจุ และจะพ้นสภาพการเป็นกำลังพลสำรอง
ดังนั้น การนำ " กำลังพลสำรอง " ซึ่งมีจำนวนยอดรวมทั่วประเทศประมาณ 10 - 12 ล้านคน มาคัดเลือกเป็น " กำลังพลสำรองไซเบอร์ " เพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นกำลังพลสำรองที่มีคุณวุฒิ หรือ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มาทำการฝึกอบรมและพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพด้านไซเบอร์ แทนที่จะนำมาฝึกด้านการทหารสำหรับนำมาบรรจุทดแทน หรือเสริมกำลัง หรือใช้เป็นกองหนุนในเหล่ากำลังรบ เหล่าการช่วยรบ หรือเหล่าสนับสนุนการรบ รวมถึงการแต่งตั้งว่าที่ยศให้เหมาะสมกับคุณวุฒิ จึงนับว่ามีความเหมาะสมกับฐานะ คุณวุฒิ ความรู้ความสามารถ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ด้านการใช้ทรัพยากรมนุษย์อย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาบุคลากรด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศอีกทางหนึ่ง
 -------------------------------------------
อ้างอิง :