กำลังพลสำรองไซเบอร์
หนึ่งใน สรรพกำลังด้านไซเบอร์
( Cyber Reserve : One of the Cyber Mobilization )
โดย พลเอก ฤทธี
อินทราวุธ
ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงกลาโหม/
หัวหน้าคณะทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
กิจการอวกาศ และไซเบอร์
-----------------------------------------
การระดมสรรพกำลัง ( Mobilization ) [1] หมายถึง การกระทำเพื่อเตรียมการทำสงคราม หรือเผชิญภาวะฉุกเฉินอื่นๆ
โดยการรวบรวม และจัดระเบียบต่อทรัพยากรของชาติ ซึ่งได้แก่ กำลังคน สิ่งของ
การบริการ และ
สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ การระดมสรรพกำลัง แบ่งออกเป็น 2 ทาง คือ
การระดมสรรพกำลังทางเศรษฐกิจ ( Economic Mobilization
) และการระดมสรรพกำลังทางทหาร ( Military Mobilization )
การระดมสรรพกำลังทางเศรษฐกิจ ( Economic Mobilization ) หมายถึง
การกระทำเพื่อรวบรวม และจัดระเบียบต่อทรัพยากรทางเศรษฐกิจของชาติ ทำให้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจอยู่ในลักษณะพร้อมที่จะใช้งานในภาวะฉุกเฉินหรือในเวลาสงคราม
การระดมสรรพกำลังทางทหาร ( Military Mobilization ) หมายถึง กระบวนการที่จะทำให้กำลังทหารทั้งสิ้นหรือส่วนหนึ่งอยู่ในลักษณะที่พร้อมจะเผชิญกับภาวะไม่ปกติของชาติ
ทั้งนี้รวมถึงการรวบรวมและจัดระเบียบกำลังพล อันได้แก่
การเรียกทหารกองหนุนเข้ารับราชการ การเรียกเกณฑ์ การจัดระเบียบด้านสิ่งอุปกรณ์และบริการ
ก่อนถึงขั้นการระดมสรรพกำลังอย่างแท้จริงในยามสงคราม หรือในยามเกิดภาวะฉุกเฉินอื่นๆ
กระทรวงกลาโหมในฐานะหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงทางทหาร
ได้มีการเตรียมการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เช่น
การฝึกการระดมสรรพกำลังเพื่อการทหาร ,
การออก พ.ร.บ. กำลังพลสำรอง พ.ศ. 2558[2]
และการเรียกกำลังพลสำรองเข้ามารับการฝึกกำลังพลสำรองเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรบ
และเป็นหลักประกันความมั่นคงของประเทศชาติบ้านเมือง ตามพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ
รัชกาลที่ 6 “ แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบ ให้พร้อมสรรพ ”
และในปีนี้ กระทรวงกลาโหม ได้จัดให้มี การแสดงศักยภาพของกำลังสำรอง ทั้ง 3
เหล่าทัพ[3] ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่
16 พฤษภาคม 2561 ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
(ศรีสมาน) โดยมี พลเอก เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม มาเป็นประธานในพิธีฯมีรองปลัดกระทรวงกลาโหม, รองปลัดกระทรวงมหาดไทย, ผู้แทนกองบัญชาการกองทัพไทยและเหล่าทัพ, หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน และหัวหน้าคณะทำงานฯ ที่เกี่ยวข้องชมการแสดงศักยภาพของกำลังพลสำรองของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ในการพัฒนาขีดความสามารถของกำลังพลสำรองให้สามารถปฏิบัติภารกิจร่วมกับกำลังประจำการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์ให้สาธารณะได้รับทราบถึงบทบาท และความสำคัญของกำลังพลสำรองที่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ
นอกจากนี้ กรมการสรรพกำลังกลาโหมได้จัดให้มีการฝึกปัญหาที่บังคับการ
( Post Command
Exercise ; CPX ) ในการฝึกการระดมสรรพกำลังเพื่อการทหาร ประจำปี 2561
ระหว่างวันที่ 22 - 24 พฤษภาคม 2561
ณ กรมการสรรพกำลังกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
(ศรีสมาน) โดยจัดให้มีการฝึกสถานการณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งภัยคุกคามด้านไซเบอร์
ตลอดจนการเตรียมฐานข้อมูลสรรพกำลังด้านต่างๆ ทั้งด้านสถานที่ สิ่งอุปกรณ์
เครื่องมือเครื่องใช้ ยานพาหนะ และด้านกำลังคน
เช่น กำลังพลสำรอง ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและพัฒนาเสริมสร้าง
“กำลังพลสำรองไซเบอร์” ตามนโยบายของ
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม[4]
“ กำลังพลสำรองไซเบอร์ ” ถือเป็นหนึ่งในการระดมสรรพกำลัง
ด้านกำลังคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ที่มีความสำคัญในยุคเทคโนโลยีปัจจุบัน
นอกเหนือจากการระดมสิ่งของและทรัพยกรด้านอื่นๆ เพราะในอดีตยุคสงครามเย็น “ กำลังพลสำรอง ”
ถือเป็น “ กำลังกองหนุน ” ที่มีความสำคัญต่อกองทัพ เพราะจะเป็นกำลังรบที่จะมาทดแทนกำลังทหารที่เกิดการสูญเสียในยามสงคราม
แต่ในยุคเทคโนโลยีปัจจุบัน “ กำลังพลสำรองไซเบอร์ ” ถือเป็น “ อำนาจกำลังรบ ”
ที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ[5] เพราะกองทัพสามารถนำกำลังพลสำรองไซเบอร์
ซึ่งหมายถึง กำลังพลสำรองที่มีคุณวุฒิ มีความรู้ความสามารถ
และประสบการณ์ด้านไซเบอร์ มาใช้งานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตั้งแต่ยามปกติ
ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์
และการพัฒนาเสริมสร้างบุคลากรด้านไซเบอร์ของประเทศที่มีความสำคัญในยุคเทคโนโลยีปัจจุบันอีกทางหนึ่ง
กระทรวงกลาโหม ได้มีแนวความคิดในการนำขีดความสามารถทางไซเบอร์พลเรือนมาใช้งานในกองทัพ
โดยกำหนดไว้ใน ยุทธศาสตร์ไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม[6] ตั้งแต่ปี 2558 และในการประชุมสภากลาโหม[7] ได้มีการพิจารณาหารือในการนำ ผู้เชี่ยวชาญไซเบอร์พลเรือนและกำลังพลสำรอง
มาเสริม
สร้างขีดความสามารถด้านไซเบอร์ให้กับกองทัพ เพื่อสอดรับนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์
จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในการตั้งเป้าสร้างนักรบไซเบอร์ จำนวน 1,000 คน
เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยไซเบอร์ ในปี 2561[8] และล่าสุดจากการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
ครั้งที่ 1/2561 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกับแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ
ทั้ง 6 กลุ่ม โดยกระทรวงกลาโหมรับผิดชอบกลุ่มงานที่ 1
กลุ่มความมั่นคงฯ
และรัฐบาลได้ตั้งงบประมาณด้านการพัฒนาบุคลากรด้านไซเบอร์ จำนวน 350 ล้านบาท[9]
แนวความคิดและนโยบายดังกล่าว มีการตีความว่าเป็นการสร้าง
นักรบไซเบอร์ จึงใคร่ขออธิบายว่า " นักรบไซเบอร์
" หรือ " Cyber warrior " เป็นเรื่องของการปฏิบัติการทางทหารโดยตรง
ต่อเป้าหมายทางทหารหรือเป้าหมายที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ
ในกรณีที่เกิดสถานการณ์ภาวะ " สงครามไซเบอร์ " หรือ " Cyber
warfare " เท่านั้น
กรณีในสภาวะปกติ
เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานไซเบอร์ของทหาร จะเป็นเพียง " เจ้าหน้าที่ หรือ
ผู้เชื่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ " ( Cyber
security officer / Cyber security specialist ) ไม่ใช่ "
นักรบไซเบอร์ " หรือ " Cyber warrior " ตามที่เป็นกระแส
ซึ่งอาจจะมาจากข้าราชการประจำ หรือพนักงานราชการที่มีความรู้ด้านนี้
ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอต่อภารกิจ
ก็สามารถเปิดรับสมัครบรรจุบุคคลพลเรือนเข้ามารับราชการทหาร หรือ
ข้าราชการพลเรือนกลาโหม (ไม่มียศ) หรือ พนักงานราชการที่มีศักยภาพสูง
(อัตราเงินเดือนสูง) ตามนโยบายของรัฐบาล
โดยระเบียบกฎเกณฑ์การรับสมัครก็เป็นไปตามระเบียบข้าราชการทหาร หรือ
ระเบียบข้าราชการพลเรือน
สำหรับ "
กำลังพลสำรองไซเบอร์ " เป็นการคัดเลือกจาก " กำลังพลสำรอง " ตาม
พ.ร.บ. กำลังพลสำรอง พ.ศ.2558 ที่มีคุณวุฒิ หรือ มีความรู้
ความเชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ เพื่อนำมาบรรจุ " ทำหน้าที่ทหารเป็นการชั่วคราว
" ตามระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
เพื่อบรรจุในหน่วยงานไซเบอร์ของทหาร โดยกระทรวงกลาโหมสามารถแต่งตั้ง "
ว่ามี่ยศ " ให้ได้ตามคุณวุฒิและอัตราที่บรรจุ
และจะพ้นสภาพการเป็นกำลังพลสำรอง
ดังนั้น การนำ "
กำลังพลสำรอง " ซึ่งมีจำนวนยอดรวมทั่วประเทศประมาณ 10 - 12
ล้านคน มาคัดเลือกเป็น " กำลังพลสำรองไซเบอร์ " เพียงส่วนหนึ่ง
ซึ่งเป็นกำลังพลสำรองที่มีคุณวุฒิ หรือ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มาทำการฝึกอบรมและพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพด้านไซเบอร์
แทนที่จะนำมาฝึกด้านการทหารสำหรับนำมาบรรจุทดแทน หรือเสริมกำลัง
หรือใช้เป็นกองหนุนในเหล่ากำลังรบ เหล่าการช่วยรบ หรือเหล่าสนับสนุนการรบ รวมถึงการแต่งตั้งว่าที่ยศให้เหมาะสมกับคุณวุฒิ
จึงนับว่ามีความเหมาะสมกับฐานะ คุณวุฒิ ความรู้ความสามารถ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ
ด้านการใช้ทรัพยากรมนุษย์อย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด
และเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาบุคลากรด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศอีกทางหนึ่ง
-------------------------------------------
อ้างอิง :
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น