วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

โครงการบัตรประชาชนอัจฉริยะเพื่อเชื่อมการบริการภาครัฐผ่านโทรศัพท์มือถือ

โครงการบัตรประชาชนอัจฉริยะเพื่อเชื่อมการบริการภาครัฐผ่านโทรศัพท์มือถือ
( Smart Card 4 Smart Phones )


โดย    พ.อ.ฤทธี  อินทราวุํธ
รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร
นักศึกษาหลักสูตร  วปอ. 2555

หลักการและเหตุผล
ตามที่รัฐบาล โดย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้มีแผนงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบูรณาการระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ( e – Government )  โดยจัดทำโครงการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และโครงการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเตรียมการรองรับการเข้าร่วมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( Asean Economics Community : AEC ) ในปี ๒๕๕๘ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย โดย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำลังเร่งดำเนินการออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการพัฒนาระบบการติดต่อสื่อสารของประเทศ ไปสู่ระบบ 3G และ 4G ตามลำดับ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานต่างๆ ของโทรศัพท์มือถือ และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
สำหรับบัตรประจำตัวประชาชน กฎหมายได้กำหนดให้คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ ๗ ปีขึ้นไป จะต้องทำบัตรประชาชนทุกคน ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาเป็นบัตรประจำตัวประชาชนแบบอิเล็กทรอนิกส์ ( Smart Card ) โดยมีทั้งชิปวงจรข้อมูล (Microchip) และแถบรหัสแท่ง (Bar code) ซึ่งบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าว ส่วนใหญ่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ตามคุณสมบัติ และขีดความสามารถ
ที่มีอยู่เท่าที่ควร เนื่องจากบัตรดังกล่าวยังไม่มีข้อมูลประจำตัวบุคคลพื้นฐานที่จำเป็น และการใช้งานจำเป็นจะต้องใช้เครื่องอ่านข้อมูลโดยเฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่ติดตั้งอยู่ที่สำนักงานเขต / ที่ว่าการอำเภอ หรือส่วนราชการบางหน่วยงาน ทำให้ไม่มีความสะดวกในการใช้งานนอกสถานที่ และประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลในบัตรดังกล่าวได้ ประชาชนส่วนใหญ่โดยทั่วไปที่มีบัตรประจำตัวประชาชน จึงนำมาใช้งานเพียงการถ่ายสำเนาเอกสารบัตรฯ เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการทำธุรกรรมต่างๆ เท่านั้น นับเป็นการลงทุนจัดทำบัตรแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่คุ้มค่า และใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่เท่าที่ควร
ดังนั้นการพัฒนาต่อยอด แผนงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบูรณาการระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และโครงการบัตรประจำตัวประชาชนแบบอิเล็กทรอนิกส์ ของ โครงการบัตรประชาชนอัจฉริยะเพื่อเชื่อมการบริการภาครัฐผ่านโทรศัพท์มือถือ ( Smart Card 4 Smart Phones ) จึงมีความจำเป็น และสอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.๒๕๕๗ – ๒๕๖๑ ของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งได้กำหนด วัตถุประสงค์เฉพาะแห่งชาติ ข้อที่ ๔๗ ว่า ประชากรไทยสามารถเข้าถึงบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อย่างทั่วถึงคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ โดยมี นโยบายส่งเสริมการบริการสาธารณะด้าน ICT แก่ประชาชนอย่างมีคุณภาพโดยมุ่งเน้นด้านการศึกษาและการบริการภาครัฐ ตามมาตรการส่งเสริมการใช้ ICT เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเป็นประโยชน์ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และด้านการทหาร เพราะประชาชนคนไทยทุกคนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล จะสามารถเข้าถึงข้อมูลพื้นฐานบางส่วนเท่าที่จำเป็นในด้านต่างๆ ได้ทุกเวลา และทุกสถานที่ ผ่านระบบ 3G หรือระบบ WiFi โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนอัจฉริยะแบบ All in One ร่วมกับอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือแบบ Smart Phones ซึ่งมีอุปกรณ์กล้องถ่ายรูปที่สามารถจับภาพรหัส หรืออ่าน Quick Response Code (QR Code) ได้โดยตรง หรือผ่านแอฟฟริ เคชั่น เพื่อแสดงข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นบางส่วนของข้อมูล ทะเบียนราษฎร์ ประวัติทางการแพทย์ ระบบการประกันสังคม ระบบการรักษาพยาบาลแบบจ่ายตรง ข้อมูลทะเบียนทหาร ข้อมูลพนักงานข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจ ข้อมูลการศึกษา ข้อมูลใบขับขี่ ข้อมูลหนังสือการเดินทางระหว่างประเทศ ( Passport ) ข้อมูลบัตรธนาคาร ( Credit Card ) ข้อมูลการกระทำความผิดตามกฎหมาย เป็นต้น รวมถึงการเข้าใช้งานบริการข้อมูลด้านสารสนเทศ และระบบงานบริการต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของบัตรประจำตัวประชาชน
โดยปกติทั่วไป ประชาชนคนไทยจะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนพกพาติดตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะขณะเดินทางออกนอกบ้านเพื่อใช้ในการแสดงตน และในกรณีที่ประสบอุบัติภัยได้รับบาดเจ็บสาหัส ผู้ประสบเหตุการณ์สามารถจะเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ โดยเฉพาะกรุ๊ฟเลือดของผู้บาดเจ็บสาหัส หรือข้อมูลการบริจาคอวัยวะร่างกายของผู้เสียชีวิต เพื่อการช่วยเหลือฉุกเฉินทางการแพทย์และประสานหน่วยที่เกี่ยวข้องผ่านระบบโทรศัพท์มือถือได้ทันที ประชาชนทั่วไปสามารถใช้งานเข้าถึงการบริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐและธุรกิจเอกชนผ่านแอฟฟริเคชั่นบนระบบโทรศัพท์มือถือ นักเรียนและนักศึกษาสามารถใช้งานเข้าถึงการบริการทางการศึกษาแบบอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐและเอกชนผ่านแอฟฟริเคชั่นบนระบบโทรศัพท์มือถือ การตรวจสอบบุคคลต้องสงสัย ของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย โดยเฉพาะผู้ต้องหากระทำความผิดและหลบหนีคดี การตรวจสอบข้อมูลหนังสือการเดินทางระหว่างประเทศ กรณีการเปิดประเทศหลังการเข้าร่วมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตลอดจนสามารถตรวจสอบสิทธิ์และการใช้สิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งต่างๆ ตามกฎหมาย รวมถึงการใช้บัตรประจำตัวประชาชนเพื่อทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้จะต้องมีการพัฒนาต่อยอดอยู่ ๓ ส่วนคือ การพัฒนาระบบ QR Code และข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นในบัตรประจำตัวประชาชน  การพัฒนาแอฟฟริเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ และการพัฒนาแอฟฟริเคชั่นบนระบบสารสนเทศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการบูรณาการระบบงานและฐานข้อมูลต่างๆ ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จะทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบอัจฉริยะนี้เข้าถึงการบริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐและเอกชน   ( e – Services ) และการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ( e – Business ) ต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบาย มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงของมนุษย์ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ

วัตถุประสงค์
๑. เพื่อต่อยอดแผนงาน/โครงการต่างๆ ที่มีอยู่และกำลังจะพัฒนาในอนาคตทั้งภาครัฐและเอกชน โดยบูรณาการการใช้งานร่วมกับบัตรประจำตัวประชาชน
๒. เพื่อให้ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงการบริการด้าน ICT และหน่วยงานต่างๆ ได้รับประโยชน์จากบัตรประจำตัวประชาชนอย่างคุ้มค่า
๓. เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และความมั่นคงของมนุษย์ให้กับประชาชนคนไทย ด้วยการเข้าถึงการบริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐและเอกชน และการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ลักษณะโครงการ
โครงการบัตรประชาชนอัจฉริยะเพื่อเชื่อมการบริการภาครัฐผ่านโทรศัพท์มือถือ       ( Smart Card 4 Smart Phones ) เป็นการต่อยอดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อรองรับโครงการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และโครงการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาระบบการติดต่อสื่อสารของประเทศ ไปสู่ระบบ 3G และ 4G ตลอดจนการรองรับด้านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั้งภาครัฐและธุรกิจเอกชน เพื่อให้ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถรับประโยชน์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ( ICT ) จากการใช้บัตรประจำตัวประชาชนได้อย่างคุ้มค่า ทุกเวลา และทุกสถานที่

แนวทางการดำเนินการ
การดำเนินการจะต้องมีการบูรณาการการทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนให้มีมาตรฐานในการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ แบบ Smart Phones โดยการการพัฒนาต่อยอดทั้ง ๓ ส่วน คือ
๑. การพัฒนาระบบ QR Code และข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นในบัตรประจำตัวประชาชน โดย กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อจัดเก็บข้อมูลประจำตัวบุคคลพื้นฐานที่จำเป็นในการเรียกใช้งานทั้ง แบบ Real-Time คือ การใช้กล้องในโทรศัพท์มือถือส่อง QR Code บนบัตรประจำตัวประชาชน ข้อมูลก็จะแสดงผลข้อมูลประจำตัวบุคคลพื้นฐานที่จำเป็นได้ทันที และแบบ Snapshot / Capture คือ ต้องเปิดแอฟ ฟริเคชั่นแล้ว ถ่ายภาพ QR Code จากบัตรประจำตัวประชาชนจากกล้องมือถือก่อนจึงประมวลผลออกมา หรือการดึงข้อมูลจากระบบสารสนเทศของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องผ่านระบบเครือข่าย 3G หรือ WiFi
๒. การพัฒนาแอฟฟริเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ โดย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับ ผู้ผลิตแอฟฟริเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานตามข้อ ๑ ของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงระบบการรักษาความปลอดภัยในการใช้งานโดยการตรวจสอบภาพลายนิ้วมือ ( Finger Print ) ของเจ้าของบัตรด้วยแอฟฟริเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ
๓. การพัฒนาแอฟฟริเคชั่นบนระบบสารสนเทศ ของ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการบูรณาการระบบงานและฐานข้อมูลต่างๆ ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมี กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นเจ้าภาพหลักในการบูรณาการการทำงาน เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้าถึงการบริการระบบอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ผู้รับผิดชอบโครงการ         กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร





หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แนวทางการดำเนินการ
เจ้าภาพหลัก
หน่วยรับผิดชอบหลัก
หน่วยสนับสนุน
ระยะเวลา
งบประมาณ
การพัฒนาระบบ QR Code
ทก.
ทก.
ทก.


การจัดทำข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นในบัตรประจำตัวประชาชน
ทก.
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


การจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนแบบอัจฉริยะ
มท.
มท.
มท.


การพัฒนาแอฟฟริเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ
ทก.
ทก.
ผู้ผลิตแอฟฟริ-เคชั่นบนโทรศัพท์ มือถือ


การพัฒนาแอฟฟริเคชั่นบนระบบสารสนเทศ ของ หน่วยงาน
ทก.
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


การบูรณาการระบบฐานข้อมูล
ทก.
ทก.
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง



ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๑. เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม ในด้านการบูรณาการและการบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และการนำไปประยุกต์ใช้งานอย่างคุ้มค่า และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
๒. ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ได้รับประโยชน์จากการใช้บัตรประจำตัวประชาชนอย่างคุ้มค่า
๓. ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในการนำบัตรประชาชนไปใช้งานต่างๆ สามารถเข้าถึงการบริการด้าน ICT และได้รับการบริการที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความมั่นคงของมนุษย์เพิ่มขึ้น


--------------------------------------------------

การบูรณาการกำลังอำนาจแห่งชาติทั้งมวลเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติงานของ เจ้าหน้าที่รัฐ ในการขจัดปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( จชต.)

สรุปย่อ
ลักษณะวิชา ยุทธศาสตร์
เรื่อง                 การบูรณาการกำลังอำนาจแห่งชาติทั้งมวลเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติงานของ
                        เจ้าหน้าที่รัฐ ในการขจัดปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( จชต.)
ผู้วิจัย               พ.อ. ฤทธี  อินทราวุธ               หลักสูตร วปอ.               รุ่นที่ ๕๕
ตำแหน่ง          รองผู้อำนายการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ปัจจุบัน การก่อความไม่สงบ ถือได้ว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศเล็ก ๆ เท่านั้น แม้แต่ประเทศอภิมหาอำนาจอย่าง ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ไม่เว้น ทั้งนี้เนื่องมาจากสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยมูลเหตุ  ปัจจัย  และเงื่อนไขต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิเช่น  เทคโนโลยีสารสนเทศ  เป็นต้น   สำหรับประเทศไทย ปัญหาการก่อเหตุรุนแรง ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งได้เริ่มกลับมา
ปะทุอีกครั้งภายหลังการบุกปล้นอาวุธในค่ายทหาร เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ และมีการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงต่างๆ ในพื้นที่ และพื้นที่อื่นๆ ติดตามมา จนรัฐบาลต้องหันมาดำเนินการนโยบายแก้ไขอย่างจริงจัง แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งนี้เนื่องจาก  ขาดการบริหารจัดการองค์ความรู้เกี่ยวกับการก่อความไม่สงบ  ซึ่งมีความเป็นอัตลักษณ์ และมีความแตกต่างจากการก่อความไม่สงบในประเทศต่างๆ ทั่วโลก  ทำให้แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักปฏิบัติ หลักการ หลักนิยม หรือ ทฤษฎีของประเทศอื่นๆ มาใช้ไม่ได้ผล ดังนั้นควรจะต้องมีการดำเนินการศึกษาองค์ความรู้ที่มีลักษณะเฉพาะนี้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาต่อไป
ปัญหาการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) เป็นปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศที่เรื้อรังมานาน และทุกรัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ทำให้บางช่วงการก่อเหตุความรุนแรงลดลงตามระดับเกือบสู่ภาวะปกติ   และบางช่วงการก่อเหตุได้ทวีความรุนแรงจนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ  โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นปี ๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ     ทั้งด้านการเมืองการปกครอง  ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมจิตวิทยา และด้านการทหาร ฯลฯ  ซึ่งเป็นกำลังอำนาจแห่งชาติ  ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลทั้งด้านชีวิต และทรัพย์สินที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งงบประมาณแผ่นดินในการดำเนินการแก้ไขปัญหา และจนถึงขณะนี้ ปัญหาความรุนแรงดังกล่าว ยังไม่มีท่าทีที่จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น
ประเด็นสำคัญที่เป็นกลไกของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อยู่ที่กำลังอำนาจแห่งชาติด้านต่างๆ ซึ่งยังมิได้มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง ถึงความสมดุล และการบูรณาการกำลังอำนาจแห่งชาติ  ตลอดจนการ บูรณาการองค์ความรู้ในการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดศักยภาพสูงสุด ทำให้การปฏิบัติที่ผ่านมาส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ ตัวแปรสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกำลังอำนาจแห่งชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยส่งผลต่อระดับความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ กำลังอำนาจทางการเมือง , เศรษฐกิจ , สังคมจิตวิทยา และการทหาร
การศึกษาวิจัย เรื่อง การบูรณาการกำลังอำนาจแห่งชาติทั้งมวลเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการขจัดปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( จชต.) จึงเป็นสิ่งท้าทายในการที่จะศึกษา เพื่อหาคำตอบดังกล่าว และนำไปสู่การจัดทำเป็นข้อเสนอ และแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้กับรัฐบาลและหน่วยที่ปฏิบัติงานอยู่ใน  ๓  จังหวัดชายแดนภาคใต้ 
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
๑. เพื่อศึกษาองค์ความรู้ด้านกำลังอำนาจแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
๒. เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอ และแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในระดับยุทธศาสตร์ลงมา
ขอบเขตของการวิจัย
การศึกษาวิจัยฯ นี้ กำหนดขอบเขตในการศึกษาเฉพาะพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ได้แก่ จังหวัดยะลา , จังหวัดปัตตานี , จังหวัดนราธิวาส และพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสงขลา
วิธีดำเนินการวิจัย
การศึกษาวิจัยดังกล่าวฯ  เป็นการวิจัยโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ กำหนดกรอบความคิดในการวิจัยฯ โดยอ้างอิงหลักธรรมอริยะสัจสี่ คือ ทุกข์ (ปัญหา)  สมุทัย (เหตุแห่งปัญหา)  นิโรธ (แนวทางแก้ปัญหา)  มรรค  (การหลุดพ้นปัญหา) ใช้กระบวนการศึกษาข้อมูลปฐมภูมิ จากข้อมูล เอกสาร สื่อสิ่งพิมพ์  สื่อออนไลน์ บทความ งานวิจัยฯที่เกี่ยวข้อง การศึกษาข้อมูลทุติยภูมิ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกเจ้าหน้าที่    ผู้เคยปฏิบัติงานและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ  การวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลข้อเท็จจริงและผลการปฏิบัติที่ผ่านมา  การบูรณาการความรู้ เพื่อแสวงหาข้อค้นพบจากการศึกษาวิจัยฯ และสรุปเป็นข้อเสนอแนะ แนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  เพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้แบบองค์รวม  จัดทำเป็นข้อเสนอเชิงโครงสร้าง และเชิงกระบวนการ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการขจัดปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในระดับยุทธศาสตร์ ลงมา
ผลการวิจัย
ผลการศึกษาวิจัยฯ พบว่า นโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล และการใช้กลไกกำลังอำนาจแห่งชาติ ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และการทหาร เพื่อเป็นเครื่องมือในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในที่ผ่านมาของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ยังไม่สอดคล้องกับสภาพมูลเหตุและลำดับความสำคัญของปัญหา ตลอดจนการใช้กำลังอำนาจแห่งชาติในด้านต่างๆ ยังขาดความสมดุล ไม่สอดรับกับน้ำหนักความสำคัญของปัญหา โดยให้น้ำหนักการใช้กำลังอำนาจแห่งชาติในด้านการทหารเป็นหลักเช่นในอดีต ส่งผลกระทบทางด้านลบทางด้านสังคมจิตวิทยา สร้างเงื่อนไขและขยายปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ให้ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลเริ่มมองเห็นว่า แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จึงได้ปรับยุทธศาสตร์ นโยบาย และแนวทางการปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วยนโยบายการเมืองนำการทหาร ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ  ซึ่งมีปัจจัย และองค์ประกอบของสภาพแวดล้อมทางสังคมที่มีความเป็นอัตลักษณ์ มีความแตกต่างในหลายๆ ด้าน รวมถึงการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และประชาชน ยังขาดการบูรณาการและจัดการความรู้จากบทเรียนการปฏิบัติงานที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหาวนเวียนซ้ำซาก และไม่มีแนวทางการปฏิบัติงานที่ชัดเจน
การแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้ข้อสรุปว่า จะต้องแก้ด้วยการเมืองนำการทหาร การเมืองการปกครองเป็นหัวใจสำคัญของปัญหาความขัดแย้งทางสังคม และปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งมาตรการสุดท้ายที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาคือ การใช้มาตรการทางทหาร การแก้ปัญหาการปกครองต้องคำนึงถึง ๓ องค์ประกอบ คือ ความสมดุลของกำลังอำนาจแห่งชาติในด้านต่างๆ ทั้งด้านการเมือง-การปกครอง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมจิตวิทยา และด้านการทหาร, การให้ความสำคัญกับปัจจัยวัฒนธรรม และการคำนึงถึงปัญหาอำนาจรัฐในการแก้ปัญหา กำลังอำนาจแห่งชาติด้านเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือส่งเสริมและสนับสนุน และการใช้กำลังอำนาจแห่งชาติด้านการทหารจะพยายามใช้เท่าที่จำเป็น
การศึกษาวิจัยดังกล่าวฯ  ได้ให้ทั้งองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ทั้งบริบทด้านปูมหลังประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ สภาพแวดล้อมทางสังคมจิตวิทยา สภาพแวดล้อมของพื้นที่ สภาพเงื่อนไขปัญหาความรุนแรง วัฒนธรรมขององค์กร และแนวทางการทำงานของหน่วยงานต่างๆ บทเรียนจากการปฏิบัติงาน แนวทางการบูรณาการองค์ความรู้ในการปฏิบัติงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหา และข้อเสนอแนะเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะด้านนโยบายที่สำคัญและสอดรับกับการใช้กำลังอำนาจแห่งชาติที่สมดุล ๔ ด้าน ซึ่งประกอบด้วยมาตรการเร่งด่วนที่สำคัญในแต่ละด้าน และข้อเสนอเชิงกระบวนการเพื่อกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบ และแนวทางการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในบูรณาการและการใช้กำลังอำนาจแห่งชาติทั้งมวล เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการขจัดปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ดังนี้

๑. นโยบายปกครองและบริหารงานแบบธรรมาภิบาลเพื่อสันติสุขในพื้นที่ จชต.
๑.๑ มาตรการปกครองและการบริหารแบบธรรมาภิบาล เพื่ออำนวยการแก้ปัญหาโดยมีความชอบธรรม และสันติ
๑.๒ มาตรการติดตามและเร่งรัด ๑๗ กระทรวง และ ๖๖ หน่วยงาน ให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น รวมทั้งจัดทำแผนงาน/โครงการบูรณาการให้ตรงกับ ๒๙ เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ร่วม
๑.๓ มาตรการลงโทษข้าราชการที่ทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเด็ดขาด  เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความโปร่งใส
๑.๔ มาตรการเปิดช่องทางพูดคุย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่
๑.๕ มาตรการสร้างแรงจูงใจในการเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหา เพื่อหาทางออกไปสู่สันติ
๑.๖ มาตรการบูรณาการกฎหมาย ให้มีความเป็นเอกภาพ
๑.๗ มาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เท่าเทียม เป็นธรรม และเสมอภาค
๑.๘ มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการปกครองให้เป็นที่พึ่งของประชาชน
๑.๙ มาตรการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของรัฐ

๒. นโยบายผสมผสานความเป็นอัตลักษณะกับความเป็นไทยสู่สากล
๒.๑ มาตรการส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคม
๒.๒ มาตรการสร้างสำนึกร่วมในการเป็นคนไทยมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของประเทศ และได้รับผลประโยชน์เท่าเทียมกัน  
๒.๓ มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นที่พึ่งของประชาชน
๒.๔ มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และมีอิสรเสรีภาพในการการดำรงอยู่ในชีวิตประจำวัน
๒.๕ มาตรการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันภัยทางสังคม
๒.๖ มาตรการพัฒนา ส่งเสริมการศึกษาในทุกระดับที่สอดคล้องกับความต้องการ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของพื้นที่ ตลอดจนการก้าวข้ามสู่ความเป็นสากล
๒.๗ มาตรการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับมวลชน สื่อภาครัฐและเอกชน สถาบัน การศึกษา สถาบันทางศาสนา ตลอดจนเวทีสาธารณะ เพื่อเผยแพร่ความเข้าใจ ตามหลักการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

๓.  นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน
๓.๑ มาตรการพัฒนาเสริมสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างสมดุลและยั่งยืน  เพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนให้มีความอยู่ดีกินดีตามฐานะ
๓.๒ มาตรการยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
๓.๓ มาตรการสร้างแรงจูงใจในการประกอบอาชีพธุรกิจในพื้นที่
๓.๔ มาตรการเยียวยากระทบในด้านเศรษฐกิจ ในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่

๔. นโยบายลดปัญหาความรุนแรงในพื้นที่
๔.๑ มาตรการด้านประสิทธิภาพของการข่าว  
๔.๒ มาตรการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
๔.๓ มาตรการป้องกันการก่อเหตุร้ายเขตภายใน ๗ เมืองเศรษฐกิจ
๔.๔ มาตรการลดอิทธิพลภายในเขต ๖ เมืองของผู้ก่อเหตุรุนแรง
๔.๕ มาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับตำรวจ และ อส. รวมทั้งภาคประชาชน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานเชิงรับแทนเจ้าหน้าที่ทหาร
๔.๖ มาตรการทำลายขบวนการยาเสพติดทุกชนิดและน้ำมัน/สินค้าหนีภาษี ให้หมดไปจากพื้นที่โดยเร็ว เพื่อลดปัญหาอิทธิพลและผลประโยชน์
๔.๗ มาตรการทำลายขบวนการผู้มีอิทธิพล และเจ้าหน้าที่ที่ประพฤติมิชอบ เพื่อลดปัญหาแทรกซ้อน
๔.๘ มาตรการควบคุมช่องทางการผ่านเข้า – ออก ตามแนวชายแดน เพื่อตัดเส้นทางการสนับสนุน
๔.๙ มาตรการกดดันและปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อจำกัดเสรีในการปฏิบัติของฝ่ายก่อเหตุความรุนแรง
๔.๑๐ มาตรการเปิดช่องทางเพื่อให้ผู้ก่อเหตุความรุนแรงออกมามอบตัว 

ข้อเสนอแนะ
นอกจากข้อเสนอแนะในเชิงโครงสร้าง และเชิงกระบวนการ ตลอดจนแนวทางการดำเนินการดังกล่าวแล้ว สิ่งที่สำคัญที่จะต้องนำไปพิจารณาดำเนินการควบคู่กันไปคือ ข้อเสนอแนะในด้านการใช้กำลังอำนาจแห่งชาติในด้านต่างๆ คือ ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และการทหาร ที่ได้เสนอไว้ท้าย บทที่ ๔ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับน้ำหนักความสำคัญของเงื่อนไขปัญหา และเกิดความสมดุลในการใช้กำลังอำนาจแห่งชาติ เพื่อเป็นกลไกเครื่องมือในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของชาติ และวัตถุประสงค์มูลฐานของชาติต่อไป

สำหรับข้อเสนอแนะด้านวิชาการ เนื่องจากสภาวะแวดล้อมของโลก สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และสถานการณ์ในพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ตลอดจนผลกระทบจากการเคลื่อนไหวเพื่อรวมกลุ่มของประเทศเศรษฐกิจอาเซียน ( AEC ) ในปี ๒๕๕๘ ยังคงเป็นปัจจัยและมีอิทธิพลต่อการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่  ดังนั้นผลการศึกษาวิจัยฯนี้ จึงควรได้มีการพิจารณาทบทวนสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก เพื่อดำเนินการแก้ไขปรับปรุงข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เป็นผลจากการศึกษาวิจัยฯ ให้มีความทันสมัย และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน