วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556

๒๕๕๗ ปีแห่งการเตรียมความพร้อมกองทัพบกไปสู่อนาคต

๒๕๕๗ ปีแห่งการเตรียมความพร้อมกองทัพบกไปสู่อนาคต
(  The Royal Thai Army's Preparatory Year Towards the Future )
โดย พันเอก ฤทธี  อินทราวุธ
รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร

นับถอยหลังอีกเพียงหนึ่งปีเท่านั้น ประเทศไทยก็จะก้าวเข้าสู่ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) หรือ ประชาคมอาเซียน อย่างเต็มรูปแบบ ตามที่ได้มีการร่วมลงนามในปฏิญญาให้เป็นประชาคมเดียวกัน ให้สำเร็จภายใน พ.ศ. ๒๕๕๘ (ค.ศ. 2015) เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง และขีดความสามารถการแข่งขันของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงให้อาเซียนมีความแข็งแกร่ง มีภูมิต้านทานที่ดี ในการรับมือกับปัญหาใหม่ ๆ  ระดับโลก
กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ไทย  พม่า ลาว เวียดนาม  มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และ บรูไน  ต่างก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อรองรับความร่วมมือ ความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบจากการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียน ในด้านต่างๆ ทั้ง ๓ ประชาคมย่อย ซึ่งได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community :APSC) , ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( ASEAN Economics Community :AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ( ASEAN  Socio - Cultural Community : ASCC)
ประเทศไทย หนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียน ก็ได้มีการเตรียมการและเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ของ องค์กร หน่วยงาน ทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคธุรกิจเอกชน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมของประชาชนคนไทย มาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน  ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และด้านความมั่นคง เพื่อรองรับโอกาส ( Opportunity ) วิกฤติ ( Critical ) และความท้าทาย ( Challenge ) จากการรวมตัวของประเทศสมาชิกอาเซียน ในปี ๒๕๕๘ ทั้งด้านความร่วมมือ ด้านการยอมรับ ด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านความแข็งแกร่ง ด้านภูมิคุ้มกันและภูมิต้านทานที่ดี เพื่อการรับมือกับปัญหาภัยคุกคามรูปแบบใหม่ๆ   
กองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงของประเทศหน่วยงานหนึ่ง ได้มีการเตรียมการและเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เช่นกัน โดยได้ดำเนินการพัฒนาและขับเคลื่อนกองทัพบกในแต่ละปีมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการบริหารจัดการ ด้านการฝึก และด้านการพัฒนาบุคลากร เพื่อให้มีความพร้อม โดยในปี ๒๕๕๔ ได้
กำหนดให้เป็นปีแห่งการพัฒนาการของกองทัพบกต่อมาในปี ๒๕๕๕ ได้กำหนดให้ เป็นปีแห่งการพัฒนาบุคลากรของกองทัพบกและในปี ๒๕๕๖ ได้กำหนดให้ เป็นปีแห่งการพัฒนาการบริหารจัดการและการฝึกที่มุ่ง
สู่ผลสัมฤทธิ์  สำหรับในปี ๒๕๕๗ ได้กำหนดทิศทางการพัฒนากองทัพบก ให้มีความพร้อมสู่อนาคต ในด้านความทันสมัย ด้วยเทคโนโลยี โดยให้ทุกสายงานพิจารณานำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในกระบวนการทำงาน หรือพัฒนาหน่วยงาน เพื่อให้มีความทันสมัย ทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ สถานที่ มุ่งสู่การเป็นกองทัพที่ทันสมัย มีมาตรฐานในระดับสากล และเป็นที่ยอมรับของมิตรประเทศ
การเตรียมความพร้อมของกองทัพบกในปี ๒๕๕๗  สู่อนาคต ในด้านความทันสมัย ด้วยเทคโนโลยี นับเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและเฉียบแหลมของผู้นำกองทัพ ซึ่งมองเห็นความสำคัญในด้านเทคโนโลยี และปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง และมีมากมายหลากหลายสาขา สามารถที่จะนำมาประยุกต์ใช้งานในด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม ทั้งด้านการพัฒนาโครงสร้างการจัดองค์กรหน่วยงานให้มีความเหมาะสม กะทัดรัด คล่องตัว และมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ไม่เกิดความซ้ำซ้อน สับสน เทอะทะ อุ้ยอ้าย ลุ่มลาม และความสิ้นเปลือง ด้านการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการและการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความสะดวก ความถูกต้อง ความรวดเร็ว และความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ด้านการพัฒนาคนให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า มีความรู้ ความสามารถ มีจิตสำนึก มีความรับผิดชอบ และมีศักยภาพในการปฏิบัติงาน เป็นต้น
เทคโนโลยีสารสนเทศ ( Information Technology ) นับเป็นกุลแจสำคัญและเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาองค์กรให้มีความทันสมัยและเกิดประสิทธิภาพ ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ในด้านการบริหารจัดการ ( Management ) ด้านกระบวนการทำงาน ( Process ) ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ( Human Resource Development ) ด้านสวัสดิการและการบริการตนเอง ( Welfare and Self Service ) องค์กรใดสามารถนำเอาข้อมูลสารสนเทศมาใช้งานได้อย่างเต็มที่ ก็จะสามารถบริหารจัดการองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความคล่องตัว ความสะดวก ความถูกต้อง ความรวดเร็ว และเกิดความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ และผู้บริหารองค์กรใดสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจในการบริหารงาน ของผู้บริหาร ( Executive Decision Support ) ขององค์กรอย่างเต็มที่ ก็จะทำให้ทราบถึงสถานภาพ ขีดความสามารถ และประสิทธิภาพขององค์กร ว่ามีความมั่นคง ความเจริญก้าวหน้า ความสำเร็จ หรือความล้มเหลวอย่างไร ทราบถึงศักยภาพของบุคลากร ว่าใครมีความรู้ ความสามารถ มีความเหมาะสมกับงานหรือไม่เพียงใด และสามารถบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนา ปรับปรุง โครงสร้างองค์กร และการปรับเปลี่ยนบุคลากรให้เหมาะสมกับงาน ( Put the right man to the right job ) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพขององค์กรให้สูงยิ่งขึ้น มีความสามารถในการแข่งขัน มีมาตรฐานการทำงานในระดับสากล มีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับคนทั่วไป
ดังนั้น การนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาองค์กร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ควรจะต้องนำมาใช้ให้ครอบคลุมทั้ง ๔ ด้าน คือ ด้านการบริหารจัดการ ด้านกระบวนการทำงาน ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านสวัสดิการและการบริการตนเอง เพื่อให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจ สั่งการ ติดตาม ควบคุม และกำกับดูแลองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว และทันเวลา ด้านกระบวนการทำงานที่เป็นระบบ ระเบียบ และมีแบบแผน เพื่อให้การทำงานมีมาตรฐาน มีความถูกต้อง เที่ยงตรง และเป็นไปตามกำหนดเวลา ไม่เกิดความซ้ำซ้อน และความสิ้นเปลืองแรงงานคน ทรัพยากร และงบประมาณ  ด้านเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับได้รับการพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุนความเจริญก้าวหน้า และการเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรม จากผู้บริหารฯ ซึ่งพิจารณาจากข้อมูลสารสนเทศ เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพในการปฏิบัติงานที่สูงขึ้น ส่วนด้านสวัสดิการและการบริการตนเองนั้น เทคโนโลยีสารสนเทศจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ในองค์กร สามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารการประชาสัมพันธ์ต่างๆ สามารถเข้าถึงการบริการและสวัสดิการต่างๆ ตามสิทธิผ่านระบบสารสนเทศด้วยตนเองโดยไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่บริการ มีแต่หน้าจอคำแนะนำขั้นตอนการใช้บริการแบบตู้กดเงิน ATM เท่านั้น เพื่อลดงานด้านธุรการขององค์กร และเป็นการพัฒนาเสริมสร้างจิตสำนึก ความรับผิดชอบของตนเอง ตลอดจนเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 
นอกจากการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาองค์กรแล้ว เรายังสามารถที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาบูรณาการและประยุกต์ใช้กับงานสำคัญในด้านต่างๆ ทางทหาร ได้อย่างเหมาะสม และทำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เช่น ด้านการส่งกำลังบำรุง ( Logistic ) ด้านการปฏิบัติการทางทหาร    ( Military Operations ) และด้านการฝึกศึกษา ( Training and Education )
ระบบส่งกำลังบำรุง ( Logistic System ) นับว่ามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีสถานที่ตั้งของหน่วยย่อยกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง การส่งกำลังบำรุงจะต้องมีเสถียรภาพ ความมั่นคง ปลอดภัย ความต่อเนื่อง และทันเวลา ซึ่งต้องอาศัยกระบวนการตรวจสอบ การควบคุมสถานภาพ และการขนส่งที่ดี เพื่อไม่ให้เกิดสภาพความขาดแคลน ความคับคั่ง และความสิ้นเปลือง ดังนั้น การนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาประยุกต์ใช้ในงานด้านส่งกำลังบำรุง และการเคลื่อนย้ายกำลังในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ จึงมีความเหมาะสม โดยเฉพาะการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์  ( Centralization Management ) เพื่อสามารถตรวจสอบ ควบคุมสิ่งอุปกรณ์ และยุทโธปกรณ์ต่างๆ ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยย่อยทั่วประเทศ ให้อยู่ในสถานภาพความพร้อมรบ พร้อมใช้งาน และสามารถระดมทรัพยากรได้อย่างทันเวลาตามความต้องการ นอกจากนี้การเคลื่อนย้ายกำลังพลและยุทโธปกรณ์ เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะด้านภูมิสารสนเทศ ( Geo Informatics System ; GIS ) และการใช้อุปกรณ์แสดงตำแหน่งบนพื้นผิวโลก  ( Global Positioning System ; GPS ) จะช่วยในการวางแผน ควบคุม กำกับ ดูแลการเคลื่อนย้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ตรงเวลา ปลอดภัย ลดความสิ้นเปลือง และความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น
การปฏิบัติการทางทหาร ( Military Operations ) ในยุคปัจจุบันซึ่งจะต้องเผชิญกับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงการปฏิบัติการทางทหารที่มิใช่สงคราม ( Military Operations Other Than War ; MOOTW )  จำเป็นจะต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาบูรณาการและประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีทางทหารต่างๆ เช่น ระบบลาดตระเวน ( Reconnaissance  System ) ระบบเฝ้าตรวจ ( Surveillance System ) ระบบตรวจดักจับ ( Sensor System ) ระบบควบคุมระยะไกล ( Remote Control  System ) ระบบรับ-ส่งข้อมูลดาวเทียม ( Remote Sensing System ) ระบบอาวุธอัตโนมัติ ( Automatic Weapon System ) และระบบควบคุมบังคับบัญชา ( C4I System ) เป็นต้น เพื่อนำข้อมูลสารสนเทศจากระบบต่างๆ มาประมวลผล หรือแสดงภาพให้สามารถเห็นภาพพื้นที่ปฏิบัติการ สามารถติดตามสถานการณ์ได้อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เกิดความได้เปรียบต่อฝ่ายตรงข้าม สามารถควบคุม สั่งการ และปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จ สามารถป้องกันหรือลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น ที่สำคัญการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้มาใช้งาน จะต้องไม่เป็นภาระเกินความจำเป็นต่อผู้ปฏิบัติงาน
การเตรียมความพร้อมของกองทัพ นอกจากการเตรียมกำลังรบ ในด้านองค์กรและยุทโธปกรณ์แล้ว การเตรียมกำลังคน ( Man Power ) นับว่ามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาบูรณาการและประยุกต์ใช้กับงานด้านการฝึกศึกษา ( Training and Education ) เพื่อเตรียมความพร้อมของกำลังคนนั้น ถือเป็นแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมมากหนทางหนึ่งในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการองค์ความรู้     ( Knowledge Management ; KM ) ขององค์กร เพื่อรวบรวมความรู้และประสบการณ์ต่างๆ มาสร้างเป็นองค์ความรู้ เผยแพร่ และถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ไปยัง รุ่นสู่รุ่น สืบทอดต่อเนื่องกันไป
การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการด้านการศึกษา การเรียน การสอน ผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศ โดยเฉพาะระบบการเรียนการสอนแบบอิเล็กทรอนิกส์ ( e - Learning )  จะช่วยให้เกิดการพัฒนาการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐาน และรวดเร็วทันต่อการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มและสถานการณ์ของโลก เป็นการเปิดช่องทางและโอกาสในการเข้าสู่ระบบการศึกษาได้กว้างขวางไร้ข้อจำกัด ด้านเวลา สถานที่ และระยะทาง ( any where any time ) ผู้เข้ารับการศึกษาสามารถเรียน ทบทวน ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก โดยใช้เวลานอกราชการ และผู้ที่สนใจศึกษาสามารถศึกษาในรูปแบบสหวิทยาการ ได้อย่างหลากหลายสาขาวิชา หลายๆ หลักสูตรพร้อมๆ กันในห้วงเวลาเดียวกัน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามแนวทางรับราชการ และในอนาคตบางหลักสูตรสามารถนำหน่วยกิตการศึกษาไปเทียบโอนกับหลักสูตรในสถาบันการศึกษาภายนอก ที่มีข้อตกลงความร่วมมือทางการศึกษา เพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามหลักสูตรเพิ่มพูน คุณวุฒิ หรือ วิทยฐานะ
การฝึกปฏิบัติการ และการซ้อมรบ นับเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นของหน่วยทหาร ซึ่งจะต้องมีความพร้อมในการปฏิบัติการยุทธ์ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการฝึกทั้งระดับบุคคล และระดับหน่วย ตั้งแต่ การฝึกยิงปืนเลเซอร์ ( Laser Gun ) ซึ่งสามารถแสดงผลการยิงรายบุคคล และประมวลผลสถิติเป็นรายหน่วย เพื่อการประเมินขีดความสามารถ สมรรถนะ ความแม่นยำ และศักยภาพของหน่วยในด้านการใช้อาวุธประจำกาย การฝึกประลองยุทธ์ด้วยปืนเลเซอร์ ( War Game ) เพื่อการประเมินขีดความสามารถ สมรรถนะ และศักยภาพในการปฏิบัติการรบของหน่วย การฝึกแก้ปัญหาที่บังคับการ       ( Command Post Exercise ; CPX ) ด้วยระบบจำลองยุทธ์ ( Battle Simulation System ) เป็นการฝึกจำลองสถานการณ์รบด้วยระบบสารสนเทศ เพื่อการแก้ปัญหาของผู้บังคับหน่วยและฝ่ายอำนวยการ เพื่อการประเมินความรู้ความสามารถ สมรรถนะ และศักยภาพในขั้นตอนกระบวนการแก้ปัญหาต่างๆ ในการรบ รวมถึงการตัดสินใจของผู้บังคับหน่วย ระบบจำลองยุทธ์บางระบบ นอกจากจะใช้ในทดสอบและประเมินผลการปฏิบัติของผู้บังคับหน่วย ฝ่ายอำนวยการ และเจ้าหน้าที่กองบังคับการแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์และประเมินแผนยุทธการต่างๆ ว่ามีความเหมาะสม และความเป็นไปได้เพียงใด ตลอดจนการนำมาประยุกต์ใช้ในการฝึกความชำนาญในสถานการณ์รูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการปฏิบัติการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการฝึกฯดังกล่าว สามารถทำการฝึกซ้ำๆ จนเกิดความเชี่ยวชาญ และความชำนาญ โดยไม่ต้องใช้กระสุนจริง ให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ไม่จำเป็นต้องใช้กำลังพลแสดงเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายเดียวกันเต็มรูปแบบ ไม่ต้องเคลื่อนย้ายหน่วย ยุทโธปกรณ์ และกำลังพล ไปฝึกซ้อมในสนาม ไม่ต้องห่วงสภาพ ลม ฟ้าอากาศ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการฝึกซ้อมจริง ที่สำคัญ ข้อมูลการฝึกต่างๆ ทั้งระดับบุคคลและหน่วย ด้วยระบบสารสนเทศจะถูกเก็บบันทึก และสามารถนำมาตรวจสอบ นำมาอ้างอิง หรือใช้ประโยชน์ในอนาคตได้ตลอดเวลา
ดังนั้น การเตรียมความพร้อมของกองทัพบกในปี ๒๕๕๗  สู่อนาคต โดยเฉพาะในปี ๒๕๕๘ ซึ่งประเทศไทยจะต้องก้าวเข้าสู่ ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ ตามที่ได้มีการร่วมลงนามในปฏิญญาให้เป็นประชาคมเดียวกันนั้น ทิศทางการพัฒนากองทัพบกให้มีความพร้อมสู่อนาคต ในด้านความทันสมัย ด้วยเทคโนโลยี โดยให้ทุกสายงานพิจารณานำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในกระบวนการทำงาน หรือพัฒนาหน่วยงาน เพื่อให้มีความทันสมัย ทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ และสถานที่ จึงควรพิจารณานำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาประยุกต์ใช้ในการเตรียมความพร้อมของกองทัพเป็นลำดับแรก เพื่อมุ่งสู่การเป็นกองทัพที่ทันสมัย มีมาตรฐานในระดับสากล และเป็นที่ยอมรับของมิตรประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น