วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ภัยคุกคามด้านไซเบอร์เป็นภัยคุกคามของกองทัพ คงไม่มีใครตั้งหน่วยงานขึ้นมาโจมตี ให้ร้ายประชาชนในประเทศ


คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ “ภัยคุกคามด้านไซเบอร์เป็นภัยคุกคามของกองทัพ คงไม่มีใครตั้งหน่วยงานขึ้นมาโจมตี ให้ร้ายประชาชนในประเทศ”

พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ “ภัยคุกคามด้านไซเบอร์เป็นภัยคุกคามของกองทัพ คงไม่มีใครตั้งหน่วยงานขึ้นมาโจมตี ให้ร้ายประชาชนในประเทศ”

พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ “ภัยคุกคามด้านไซเบอร์เป็นภัยคุกคามของกองทัพ คงไม่มีใครตั้งหน่วยงานขึ้นมาโจมตี ให้ร้ายประชาชนในประเทศ”

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน
7 พฤศจิกายน 2558 06:37 น.

ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -แคสเปอร์สกี้ แลป ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสระดับโลก ระบุว่าสถานการณ์คุกคามทางไซเบอร์ของประเทศไทย ปี 2558 ถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่ถูกโจมตีผ่านระบบไซเบอร์เป็นอันดับที่ 33 จากทั้งหมด 250 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งปรากฏการณ์เมื่อครั้งเว็บของภาครัฐถูกโจมตีกรณีประท้วงเรื่อง Single gateway ยิ่งทำให้รัฐบาลเห็นถึงความการโจมตีทางไซเบอร์ในประเทศไทยมากขึ้น
     
       ดังนั้น ภัยคุกคามในรูปแบบ สงครามไซเบอร์ (Cyber Warfare) จึงเป็นประเด็นด้านความมั่นคงที่เหล่าทัพและรัฐบาลไทยให้ความสำคัญ โดยเฉพาะด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ (Cyber Security)เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามที่มองไม่เห็นตัวในไซเบอร์สเปซ
     
       และนั่นจึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง 'กองสงครามไซเบอร์ กองทัพไทย' โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้การสนับสนุนเต็มสูบเมื่อครั้งเข้ารับฟังการแถลงยุทธศาสตร์ชาติ - ยุทธศาสตร์ทหาร พ.ศ. 2559 - 2563
     
       แผนยุทธศาสตร์ตั้งรบในโลกไซเบอร์จะเป็นอย่างไร ติดตามในสัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ( Army Cyber Center )
     
       ปรากฏการณ์เกี่ยวกับแนวทางและมาตรการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เห็นชัดว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงระดับประเทศพุ่งเป้าให้ความสำคัญมากขึ้น
     
       เราถือว่าภัยคุกคามด้านไซเบอร์เป็นภัยคุกคามของกองทัพ เป็นการคุกคามรูปแบบใหม่ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติทั้งด้านการเมือง อย่างที่ทราบกันอยู่แล้ว กระทบทางด้านเศรษฐกิจ อย่างพวก E-Banking กระทบด้านสังคม ประเด็นด้านจิตวิทยาการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร หรือการบิดเบือนข้อมูลให้ร้ายสถาบัน เป็นต้น และกระทบทางการทหารเรื่องของปฏิบัติการทางทหาร ระบบเอาความลับทางทหารหรืออะไรต่างๆ
     
       เราถือว่าภัยคุกคามด้านไซเบอร์เป็น 1 ใน 5 Domain พื้นที่ปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งทุกกองทัพได้มีการจัดตั้งหน่วยงานเข้ามารับผิดชอบทางด้านภัยคุกคามด้านไซเบอร์ อาจจะตั้งชื่อหน่วยอะไรต่างๆ อย่างสหรัฐฯ ก็เป็นหน่วยบัญชาการไซเบอร์กองทัพบก ก็เป็น US ARMY ออกมา แล้วก็มีอีก 200 กว่าประเทศที่ตั้งหน่วยปฏิบัติภารกิจนี้ขึ้นมา ของกองทัพบกก็จัดตั้ง ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ขึ้นมา พูดง่ายๆ ก็คือรับผิดชอบงานด้านไซเบอร์ เน้นมาตรการเชิงรับ รักษาความปลอดภัยรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านภัยคุกคามไซเบอร์ ก็เป็นภารกิจหลักเลยก็คือ Cyber security
     
       แต่จะมาตั้งรับรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างเดียวคงไม่ใช่ ทางทหารมีทั้งปฏิบัติการเชิงรับและเชิงรุก เรามีการพัฒนาคนเตรียมคนและตรวจสอบ มีความพร้อมตอบโต้กับฝ่ายตรงข้าม ทางการทหารหรือระดับประเทศ เมื่อมีการประกาศสงคราม เป้าหมายเราก็คือทางการทหาร เราจะมีงานทั้งเชิงรับเน้นไปทางด้านเชิงรับ และก็เตรียมความพร้อมในด้านเชิงรุกในกรณีเกิดวิกฤตการณ์ที่มีความจำเป็น หากเพลี่ยงพล้ำมีอำนาจต่อรอง เพราะฉะนั้นเราก็มีการพัฒนาคน ในเชิงรุกให้รู้ว่าเราโจมตีกับเป้าหมายที่เป็นทางการทหารจะทำอย่างไร
     
       การตั้งหน่วยงานลักษณะแบบนี้ไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคงของกองทัพเท่านั้น จริงๆ แล้วทุกหน่วยงานที่ทำงานด้านไอที จะต้องมีหน้าที่เป็นแผนกเป็นฝ่ายรักษาความปลอดภัยในส่วนนี้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องปกติของหน่วยงานด้านดูแลให้บริการสารสนเทศ เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัย ปกป้องระบบ และไม่ให้ถูกโจมตี
     
       ดูเหมือนที่ผ่านมาคนไทยเริ่มรู้จักการโจมตีทางไซเบอร์ จากปฏิบัติการถล่มเว็บไซต์รัฐที่พลเมืองจำนวนหนึ่งประท้วงรัฐบาลเรื่อง Single Gateway 
     
       การโจมตีด้านไซเบอร์มีเยอะมาก หลากหลายรูปแบบนะครับ มีทั้งมีเป็นการโจมตีเปิดเผยไม่เปิดเผย เริ่มตั้งแต่การใช้โปรแกรมมัลแวร์ ไวรัส โทรจัน เพื่อทำลายระบบเข้ามาป่วนจนใช้งานไม่ได้ถือเป็นภัยคุกคามเหมือนกัน หรือพวกแฮกเกอร์เจาะระบบ ซึ่งจะมีตั้งแต่เจาะแบบสนุกสนาน เจาะแบบทดลองเอาความรู้ หรือเจาะแบบเอาเป็นเอาตายขโมยข้อมูล หรือเจาะเพื่อที่จะแฮกธุรกรรมทางการเงิน ฯลฯ การเจาะระบบถือเป็นภัยคุกคาม การใช้โจมตีด้วย DDoS ที่เราพูดถึงคือการยิ่งTrafficเข้าไปที่ Serverหรือช่องทางเครือข่ายต่างๆ เพื่อที่จะให้ระบบปฏิเสธการบริการ DDoS กดF5 มันไม่ใช่นะครับ ที่เราเจออยู่ลักษณะ Auto refresh รันความถี่ด้วยโปรแกรมก็ทำให้เกิดข้อมูลคับคั่งจนทำให้ระบบมันล่ม เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ทุกหน่วยงานหรือองค์กรที่ใช้ระบบคอมพ์ต้องเจอ เพราะฉะนั้นจะต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำองค์กรรองรับตรงนี้เพื่อให้การทำงานของหน่วยงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นหน้าที่ของทุกองค์กรที่มีระบบให้บริการสารสนเทศจะต้องมีการรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ ต้องมีหน้าที่ตรงนี้
     
       ทีนี้ ในส่วนของกองทัพซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงที่มีหน้าที่นอกจากป้องกันฝ่ายตรงข้ามในระดับเดียวกัน หน่วยทหารโดยพวกทหารด้วยกันโจมตีก็จะต้องมีการตอบโต้ ซึ่งมันก็จะมีกฎการปะทะกฎการตอบโต้ เพราะฉะนั้นเราถึงมีขั้นตอนการปฏิบัติรับเชิงรุก เมื่อถูกโจมตีเราอาจจะโจมตีตอบกลับคืนไปเพื่อให้เขาหยุดการกระทำ หมายถึงว่าเพื่อแสดงแสนยานุภาพทางการทหารที่เหนือกว่า ไม่ใช่การตอบโต้เพื่อการทำลาย
     
       ยกตัวอย่าง การไปโจมตีทางไซเบอร์ โจมตีพลเรือนในเรื่องของสาธารณูปโภค แหล่งพลังงานไฟฟ้า ประปา เมื่อถูกโจมตี ที่นี้จะรบก็ไม่ได้ เป็นคำตอบว่าทำไมถึงต้องมีหน่วยงานตรงนี้ ฉะนั้น หลายคนที่มาตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีหน่วยไซเบอร์ขึ้นมาทำอะไร เรามาเพื่อใช้ประกอบปฏิบัติการทางทหารเพื่อเสริมปฏิบัติการรบเมื่อเกิดสงคราม คงไม่มีใครตั้งหน่วยงานขึ้นมาโจมตี ให้ร้าย ทำลายทรัพย์สินประชาชนในประเทศให้เกิดความเสียหาย ผมไม่รู้ว่าคนคิดคนอย่างนั้นเขาพูดอย่างนั้นได้ยังไง เพราะว่าเป็นหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานทหาร เรามีวิธีแบบนี้ต้องเป็นเพื่อรับมือฆ่าศึกทางการทหารทางการสงคราม ไม่ใช่ใช้จัดการเมื่อไม่ชอบใครเป็นการส่วนตัว
     
       กองทัพเป็นเครื่องมือในการบริหารงานของรัฐบาล มาตรการป้องกันด้านไซเบอร์ทางการทหารจะสร้างความมั่นคงแก่รัฐบาลด้วย 
     
       กองทัพเป็นเครื่องมือของรัฐบาลใช่ไหม คำตอบต้องบอกว่า ใช่! แต่นั้นหมายถึงว่ารัฐก็ต้องรู้ต้องใช้หน่วยงานในกรอบขอบเขตที่กฎหมายกำหนดอย่างไร อย่างกองทัพบกเตรียมกำลังและใช้กำลังปกป้องอธิปไตยของประเทศ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง
     
       หน่วยงานด้านไซเบอร์ของหน่วยงานด้านความมั่นคงมันแตกต่างจากพลเรือนอย่างไร จริงๆ ไม่ต่าง มันเติมหน้าที่ของหน่วยงานพลเรือน นอกจากการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กร จะเป็นเครื่องมือทางการทหารในการปฏิบัติเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ระดับชาติ ถามว่าเอางบประมาณภาษีประชาชนไปทำอะไร นี่แหละครับ เอาไปฝึกคนของรัฐ ไว้ป้องกันประเทศ และเวลาเกิดวิกฤตก็ย้อนไปดูแลประชาชน
     
       สถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในประเทศไทยตอนนี้เป็นอย่างไร หน่วยงานของท่านฯ มีบทบาทอย่างไรบ้าง
     
       อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าภัยคุกคามไซเบอร์กระทบต่อความมั่นคง มีความร้ายแรง เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตประชาชนทั่วไป หน่วยงาน และความมั่นคงของรัฐอย่างไร ประเด็นแรกภารกิจของเราจะรณรงค์เสริมสร้างความตระหนักและไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก ที่เห็นอยู่ในสังคมมันไม่ใช่ภัยคุกคามที่ร้ายแรง เป็นเรื่องทั่วๆ ไป ที่ทุกคนต้องเจออยู่แล้ว แต่ในบางกลุ่มจะไปอยู่ในส่วนของใน Cyber Crime อาชญากรรม ลักษณะการทำผิดกฎหมายโดยกลุ่มบุคคลบางกลุ่มหรือมิจฉาชีพ ไม่ใช่ร้ายแรงถึงขนาดเป็นเชิงต่อสู้สงครามไซเบอร์ หรือCyber Warfare เหมือนกับมีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง เพราะว่าการที่ประกาศสงครามนั้นเป็นการประกาศโดยองค์กรที่ได้รับการยอมรับ อาจจะเป็นรัฐ กลุ่มก่อการร้ายที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ อยู่ในบัญชีรายชื่อของภายคุกคามระดับนานาชาติ แต่แค่ประกาศตัวเป็นกลุ่ม Anonymous กลุ่มนั้นนี่ (หมายถึงกลุ่มประท้วงรัฐบาลไทย กรณี Single Gateway) แล้วประกาศตัวเป็นสงคราม ในแง่ของการทหารเราถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีน้ำหนัก ก็สรุปได้ว่า ไม่มีอะไรหรอกเป็นเรื่องปกติ โดนไวรัส โดนเจาะระบบ แต่ถ้าเป็นกรณี เกิด Cyber Warfare จริงๆ จะประกาศโจมตีอย่างจริงจัง เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาในมหาประเทศ ที่มีการโจมตีเว็บไซต์กันอย่างถล่มทะลายเกิดความเสียหายอย่างหนัก
     
       ถัดมา ประเด็นที่ 2 เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของความปลอดภัยด้านการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเช่น สมาร์ทโฟน ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน อย่างชาญฉลาดและมีความระมัดระวัง มีความปลอดภัยในการใช้งาน ไม่ใช่โดยขาดสติ ประเด็นที่ 3 เรื่องของการรณรงค์ปลูกฝังจิตสำนึกในการใช้งานและการนำความรู้ไปใช้ ระมัดระวังไม่ละเมิดกฎหมายหรือสิทธิส่วนบุคคล ประเด็นที่ 4 เสริมสร้างความร่วมมือองค์กรทุกภาคส่วน เพราะว่าปฏิบัติการไซเบอร์มันไม่ใช่งาน One man show ต้องผนึกกำลังทุกภาคส่วน เพราะว่าผลกระทบมันเป็นวงกว้าง ประเด็นที่ 5 การช่วยเหลือภาครัฐ เอกชน และประชาชน ที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามด้านไซเบอร์ กองทัพเรามีหน่วยทหารอยู่ทั่วประเทศ และในระดับกองพันจะมีนายทหารปฏิบัติงานด้านสารสนเทศ สามารถให้คำแนะนำช่วยเหลือได้
     
       ประเด็นที่ 6 การเตรียมความช่วยเหลือในระดับองค์กรภาครัฐ เอกชน ตลอดจนประชาชน กรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินการเกิดสงคราม กรณีพิพาทระหว่างประเทศ Cyber Warfare เราต้องเข้าไปช่วย เพราะเราไม่ได้ตั้งหน่วยพวกนี้ขึ้นมาเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และประการสุดท้าย บทบาทที่สำคัญ แสวงหาความร่วมมือทุกภาคส่วน ภาคีเครือข่ายอาจจะเป็นองค์กรเป็นภาคีเครือข่ายประชาชน Cyber community ซึ่งเป็นพลังสำคัญในCyber domainที่ 5 การเตรียมการดังกล่าวมันต้องเริ่มจากตรงนี้ ตอนที่สถานการณ์ของประเทศเริ่มเห็นภัยคุกคามประเทศ อยากให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ก็เป็นหน้าที่ของกองทัพ ที่ต้องพยายามสร้างเครือข่ายดึงเข้ามาเป็นสรรพกำลังเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ
     
       การแข่งขัน Army Cyber Contest 2015 ผ่านมาเป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นทักษะด้านไซเบอร์ของบุคลากรทางทหารได้เป็นอย่างดี มีการพัฒนากำลังพลปฏิบัติงานด้านไซเบอร์อย่างไร 
     
       Army Cyber Contest 2015 เราจัดส่วนที่เป็นหน่วยงานกระทรวงกลาโหม แต่คิดว่าครั้งต่อไปเราจะพยายามเปิดกว้างขึ้น หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะและมีเวทีที่จะกลับไปฝึกปฏิบัติการแก้ปัญหา
     
       กำลังพลของกองทัพต้องพูดถึงพื้นฐานก่อนว่าเราเอาคนที่อยู่กับด้าน IT ดูแลระบบเครือข่าย พัฒนาโปรแกรม มีพื้นฐานในด้านของเทคโนโลยีสารสนเทศ พอสมควรแล้ว และพัฒนาการบริการการMaintenance ซึ่งมีพื้นฐานแล้ว เปรียบเทียบกับเอานักขับมืออาชีพมาให้ขับรถไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางให้วิ่งได้ปลอดภัยแค่นั้นเอง แต่ว่าในเรื่องของไซเบอร์ เอารถไปใช้ในยุทธวิธี ยุทธศาสตร์ ทางการปฏิบัติการที่ไปในลักษณะการตอบโต้ยามจำเป็น เราต้องฝึกคนจากพื้นฐานตรงนั้น ยกตัวอย่างการแข่งขันขับรถ แน่นอนคุณจะต้องขับรถเป็น แต่ว่าคุณต้องแย่งชิงจังหวะในการแซง เขาโค้ง เข้าเส้นชัย เรียกว่าชิงไหวชิงพริบ เป็นทักษะที่เพิ่มเติมเข้าไปด้านไอที หน่วยงานด้านความมั่นคงจะเพิ่มเติมเรื่องความเป็นทหารเข้าไป เพราะว่าการปฏิบัติงานทหารไม่ใช่เจาะจงเพียงในภาคของประชาชนที่ถูกโจมตี ยังมีเป้าหมายปกป้องคุ้มครองตอบโต้ อุปกรณ์เครือข่ายระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การยุทธศาสตร์ทหาร และหาช่องทางในการทำลายระบบของฝ่ายตรงข้ามในการทหารเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นหลักการเป็นตำราทหารเหมือนกันทั่วโลก
     
       ถ้าถามว่าความพร้อมของไซเบอร์ของกองทัพมากน้อยเพียงใด เราคิดว่าเราพึ่งพัฒนาคนเตรียมคนในขั้นของการเริ่มต้น หากเทียบความเชี่ยวชาญในระดับที่เมื่อเทียบกับบางประเทศที่เขาทำกันมานานนั้น ที่นี่คนของเราต้องได้รับการส่งเสริมพัฒนาเข้าคอร์สอบรมซึ่งมันเป็นการลงทุน คือประเทศเล็กๆ เริ่มให้ความสนใจพัฒนาคนเรื่องของCyber domainที่ 5 เพราะว่า มันมีอิทธิพลและมีพลังอำนาจ อำนาจที่ไม่มีตัวตนสามารถเปลี่ยนความคิดของคนในด้านข้อมูลข่าวสารให้คนกำลังจะรบกันเลิกรบกัน หรือควบคุมให้อาวุธยิงไปทิศทางอื่น หรือทำให้ระบบควบคุมกองทัพเสียหายไม่สามารถควบคุมกองทัพรถถัง เพราะปรากฏว่าถูกเจาะระบบกองทัพนั้นหยุดทันที เพราะถ้ารบเราแพ้ทันทีฉะนั้นจะไม่รบ ทั้งนี้ กระทำด้วยแฮกเกอร์คนเดียว เป็นการลงทุนที่น้อยมาก
     
       ประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีงบประมาณไปทุ่มลงทุนกับการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ทรงพลานุภาพ ขาหันมาพัฒนาทางด้านบุคลากรด้านไซเบอร์ พัฒนาขีดสูงสุดเรียกว่า นักรบไซเบอร์ (Cyber Warrior) แต่เราคงไม่ถึงขนาดนั้นนะครับ เราแค่สามารถป้องกันตัว และก็สามารถตอบโต้เมื่อถูกกระทำ ประเทศเรายังไม่มีนโยบายสร้างถึงขั้นประกาศสงคราม ประเทศเราเป็นประเทศเล็กๆ ที่เตรียมความพร้อมทั้งเชิงรับและเชิงรุก ถ้าไม่มีรุกเลยเขาก็ไม่กลัวเราก็โดนกระทำฝ่ายเดียว มีโอกาสเสียหายมากขึ้น แต่ถ้าเรามีโอกาสรุกบ้างตอบโต้ได้บ้าง เกมก็จะเริ่มเปลี่ยน มัน เป็นหลักของการพัฒนา และหัวใจสำคัญ อย่างที่บอกไปคือการประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน กองทัพจะอยู่ได้หรือไม่ก็อยู่ที่มีการให้ความร่วมมือของประชาชน ทุกคนมีจิตสำนึกในการหวงแหนแผ่นดิน ปกป้องประเทศชาติ สรรพกำลังไซเบอร์จะมีบทบาทสำคัญ ดังคำที่ว่า "ยามศึกเราพร้อมรบ ยามสงบเราพร้อมสรรพ"
     
       ประชาชนจับตาการจัดตั้งกองสงครามไซเบอร์ ของกองทัพไทย ในส่วนนี้ภารกิจคล้ายกับศูนย์ไซเบอร์ ของกองทัพบก หรือเปล่า
     
       กองสงครามไซเบอร์เป็นของกองทัพไทยผมคงไม่ก้าวล่วง ก็คงจะคิดในแนวทางเดียวกันเพราะคุยกับผู้อำนวยการกองฯ ก็นำไปใช้ในการปฏิบัติการทางทหารไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับยามปกติ เป็นการเตรียมกำลังพลเหมือนกับที่ผมกล่าวไป คงไม่เอาหน่วยงานของรัฐไปทำอะไรที่ไม่เกิดเป็นผลดีต่อประเทศชาติบ้านเมืองเหมือนที่มีคนกล่าวอ้าง หน่วยงานทหารเราตั้งขึ้นมาเพื่อป้องกันประเทศ เป็นเจตนารมณ์ชัดเจนนะครับ คือถ้าตั้งหน่วยงานขึ้นมาแล้วมันผิดจากรัฐธรรมนูญ หน่วยงานนั้นผิดกฎหมายทันทีมีความชัดเจนอยู่แล้วครับ
     
       ในส่วนของกองสงครามไซเบอร์ชื่ออาจจะดูดุเดือด แต่ว่ามันเป็นในลักษณะ หน่วยสงครามพิเศษของกองทัพบก ถามว่าแล้วต้องไปทำสงครามกับใครไหม? ก็ไม่ใช่! เขาก็ปฏิบัติงานกันยามปกติเตรียมกำลังพร้อมปฏิบัติเมื่อเกิดสถานการณ์ต่างๆ ฝากไปถึงประชาชนให้มีความสบายใจอย่าไปตีความหมายว่าไปทำร้ายประชาชนอะไรต่างๆ ประชาชนน่าจะสบายใจ อุ่นใจได้มากกว่าด้วยซ้ำเนื่องจากเรามีการจัดตั้งหน่วยงานรองรับ แนวโน้มการเกิดขึ้นของภัยคุกคาม
     
       สุดท้ายในเรื่องการจัดการและมาตรการป้องกันด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของกองทัพมีประเด็นใดเป็นปัญหาหรือไม่
     
       ปัญหามีนิดเดียวในเรื่องของแรงจูงใจ คือมันเป็นปัญหามานานแล้วเรื่องของบุคลากร ซึ่งพื้นฐานเขาทำงานไอที เมื่อเทียบกันระหว่างเอกชนกับราชการ เงินเดือนมันมีความต่างกันอยู่แล้วครับ และยิ่งปัจจุบันในด้าน Cyber security มันยิ่งห่างกันเข้าไปอีก เพราะไม่ใช่ว่าคุณมีความรู้ทางด้านไอทีแล้วจะมาปฏิบัติงานได้ เราต้องลงทุนในการส่งคนฝึกไปอบรมสัมมนา ซึ่งมีราคาใช้จ่ายทางรัฐก็ให้การส่งเสริมทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ก็ให้การส่งเสริมส่วนหนึ่ง ซึ่งคนส่วนที่ได้รับการอบรมก็จะนำมาถ่ายทอดต่อ ทางศูนย์ฯ เองมีห้องอบรมปฏิบัติการมาเทรนด์คนของเราในระดับชั้นประทวนเพื่อที่จะให้มีความรู้ในการปฏิบัติการได้ เพราะว่าการทำงานมีหลายภาคส่วนทั้งระดับบริหาร อำนวยการ ปฏิบัติการ ผมจะให้ความสำคัญกับทีมงานฯ
     
ภาพโดย วรวิทย์ พานิชนันท์
แหล่งที่มา : http://manager.co.th/AstvWeekend/ViewNews.aspx?NewsID=9580000123947

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น