บทบาทและจรรยาบรรณของสื่อบนโลกไซเบอร์
( Role and Ethics of Mass Media in Cyber Space )
พลตรี ฤทธี อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร
การนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนในยุคไซเบอร์ปัจจุบัน
นับวันจะทวีความเข้มข้นในด้านประเด็นเนื้อหา รูปแบบ และความรวดเร็วในการนำเสนอไปสู่ประชาชนผู้บริโภคข่าวสาร
ดังนั้นการแข่งขันด้านสื่อมวลชนเพื่อช่วงชิงกลุ่มเป้าหมายลูกค้า
และสร้างกระแสความนิยมชมชอบ ตลอดจนจำนวนผู้บริโภค ( Rating ) จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สื่อมวลชนทุกแขนงจะต้องให้ความสำคัญ
และพยายามนำเทคโนโลยีและช่องทางต่างๆ มาช่วยพัฒนาด้านการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร
เพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการนำเสนอ
โลกไซเบอร์
นับเป็นช่องทางการนำเสนอที่สำคัญในยุคปัจจุบัน เพราะสามารถนำเสนอได้หลากหลายรูปแบบ
เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคข่าวสารอย่างไร้ขีดจำกัด ด้านพื้นที่ ระยะทาง
และเวลา ตลอดจนความสะดวกรวดเร็วใน
ช่วงที่ผ่านมาไม่กี่วันนี้
เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นในประเทศยุโรป และแอฟริกา
โดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้ใช้อาวุธปืนและระเบิดพลีชีพเข้าโจมตี ตลอดจนการเข้ายึดโรงแรมและจับตัวประกันจนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บนับร้อยราย
ผู้สื่อข่าวทุกสำนักจากทั่วทุกมุมโลกต่างให้ความสนใจในการนำเสนอข่าวเหตุการณ์ร้ายแรงระดับโลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด
แต่ทำไมภาพข่าวที่นำเสนอเผยแพร่ไปทั่วโลกทั้งในโลกไซเบอร์และโลกความเป็นจริง
กลับไม่มีภาพความรุนแรงและสยดสยองของผู้เสียชีวิตจำนวนนับร้อยถูกนำมาเผยแพร่เลยแม้แต่ภาพเดียว
คงมีแต่การนำเสนอภาพสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์แบบรวมๆ โดยภาพไม่ได้เน้นไปยังจุดที่เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงจากการระเบิด
และภาพการนำดอกไม้ จุดเทียนไข เพื่อไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตภายหลังการเกิดเหตุเท่านั้น
การนำเสนอภาพในลักษณะเชิงบวกของสื่อมวลชนดังกล่าว
มีวัตถุประสงค์อยู่หลายประการด้วยกันคือ ประการแรก
เป็นการเคารพและให้เกียรติแก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์รวมถึงญาติพี่น้องผู้สูญเสีย
โดยสื่อมวลชนจะไม่นำเสนอภาพลักษณะของการเสียชีวิต ซึ่งเป็นภาพที่แสดงถึงความรุนแรง
สยดสยอง ไม่น่าดู และไม่เหมาะสม ประการที่สอง เป็นการควบคุมข้อมูลข่าวสาร เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก
มีสติสัมปชัญญะ ไม่เกิดความสับสนวุ่นวาย และเจ้าหน้าที่ฯ
สามารถควบคุมความเป็นระเบียบเรียบร้อยได้ โดยสังเกตจากภาพเหตุการณ์ที่สนามฟุตบอล
ซึ่งมีประชาชนนับหมื่นอยู่ในสนาม
สามารถควบคุมสติและพากันเดินร้องเพลงชาติออกมาจากสนามด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย
ไม่เกิดความแตกตื่น ตื่นตระหนก
วิ่งหนีกรูออกมาจนเกิดหกล้มเหยียบกันบาดเจ็บล้มตายแต่อย่างใด ประการที่สาม
เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศทั้งด้านมาตรการรักษาความปลอดภัยและการท่องเที่ยว
และประการสุดท้าย เป็นการควบคุมข้อมูลข่าวสาร
เพื่อไม่ให้ฝ่ายก่อเหตุหรือฝ่ายตรงข้ามนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานของตน
ให้ประชาชนเกิดความวิตกหวาดกลัว และใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์หรือการสนับสนุนจากพรรคพวกตน
ตลอดจนการปลุกเร้ายั่วยุเพื่อสร้างความฮึกเหิมในกลุ่มของตน
การควบคุมการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในบางกรณี
นับเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นยิ่ง ที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน
รวมถึงประชาชนทั่วไปที่อยู่ในเหตุการณ์ซึ่งมีอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือสามารถบันทึกเก็บภาพและใช้โซเชียลมีเดียเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้
จะต้องมีจิตสำนึก และความตระหนัก ตลอดจนให้ความร่วมมือกันในการควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร
โดยเฉพาะสื่อมวลชนซึ่งมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข่าวควรจะต้องมีจรรยาบรรณ และจริยธรรม
เพราะไม่ใช่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร แต่เป็นการแสดงออกถึงสภาวะทางจิตใจและจิตสำนึกส่วนบุคคล
ความตระหนักในหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม
ตลอดจนการผดุงรักษาภาพลักษณ์ของประเทศชาติ ดังนั้นทุกคนควรจะต้องมีจิตสำนึกและความตระหนักในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ
ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบในเชิงลบ ไม่เป็นผลดีต่อใคร และอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้
บทบาทและจรรยาบรรณของสื่อโดยเฉพาะบนโลกไซเบอร์
จะมีความพิเศษแตกต่างจากสื่ออื่นๆ เพราะสื่อรายการโทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์
ส่วนใหญ่จะมีบรรณาธิการข่าวคอยพิจารณากำกับดูแลการนำเสนอข่าว
แต่บนโลกไซเบอร์ส่วนใหญ่จะทันทีทันใด ซึ่งอาจจะเกิดผลกระทบในเชิงลบ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นในประเทศที่ผ่านมา เช่น
เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
และเหตูการณ์ที่ราชประสงค์ คงจะเป็นกรณีตัวอย่างของการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร
เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในต่างประเทศที่ผ่านมา
การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและการนำเสนอภาพข่าวต่างๆ
ในโลกไซเบอร์ ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ว่าเป็นหน้าที่ของทุกๆ ฝ่าย ที่เกี่ยวข้อง
รวมถึงประชาชน จะต้องร่วมมือกันในการปรับเปลี่ยนบริบท พฤติกรรม และทัศนคติทางสังคม
โดยควรมุ่งเน้นไปที่ข้อมูลข่าวสารมากกว่าภาพความรุนแรง โหดร้าย สยดสยอง
เพื่อลดการเผยแพร่ภาพข่าวดังกล่าว
รวมถึงการป้องกันไม่ให้ประชาชนเสพภาพความรุนแรงดังกล่าว ที่สำคัญทุกคนควรจะต้องเคารพให้เกียรติแก่ผู้เสียชีวิตและคำนึงถึงจิตใจของญาติพี่น้องผู้สูญเสีย
เป็นสำคัญ รวมทั้งไม่ตกเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้กับฝ่ายตรงข้ามหรือผู้ไม่หวังดี
โดยเฉพาะด้านการก่อการร้าย และการท่องเที่ยวของประเทศ
ดังนั้น การควบคุมข้อมูลข่าวสารบนโลกไซเบอร์ ด้วยมาตรการความร่วมมือทางสังคม
โดยการปลูกฝังจิตสำนึก เสริมสร้างความตระหนัก เสริมสร้างจริยธรรมและจรรยาบรรณ
ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องรวมถึงประชาชน จึงเป็นหนทางการปฏิบัติที่ได้ผล ลงทุนน้อยที่สุด
สามารถกระทำได้จริง และมีตัวอย่างให้เห็นตามที่ปรากฏ โดยไม่ต้องลงทุนใช้เครื่องมือทางด้านเทคนิคมาควบคุมข้อมูลข่าวสารบนโลกไซเบอร์แต่ประการใด
------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น