วันศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2560

หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ยุคสงครามเย็น) กับ หน่วยบัญชาการไซเบอร์ (ยุคสงครามดิจิตอล)

หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ยุคสงครามเย็น) กับ หน่วยบัญชาการไซเบอร์ (ยุคสงครามดิจิตอล)
 ( Special Force Command  ( Cold war ) vs. Cyber Command ( Digital war )
โดย พลตรี ฤทธี  อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก


ยุคสงครามเย็นในอดีต เป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มประเทศ 2 กลุ่ม ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองและระบอบการเมืองที่แตกต่างกัน ระหว่างกลุ่มประเทศโลกเสรี นำโดย ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ นำโดย ประเทศสหภาพโซเวียต ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงประมาณ ค.ศ.1945-1991 (พ.ศ. 2488-2534) โดย
ประเทศมหาอำนาจทั้ง
2 ฝ่าย จะไม่ทำสงครามกันโดยตรง แต่จะพยายามสร้างแสนยานุภาพทางการทหารของตนไว้ข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม และส่งเสริมสนับสนุนให้ประเทศพันธมิตรของตนเข้าทำสงครามแทน หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สงครามตัวแทน ( Proxy War ) เหตุที่เรียก สงครามเย็น ( Cold War ) เนื่องจากเป็นการต่อสู้กันระหว่างประเทศมหาอำนาจ โดยใช้การปฏิบัติการจิตวิทยา (
Psychological Operation )  ซึ่งไม่ได้เป็นการต่อสู้ด้วยกำลังทหารโดยตรง แต่ใช้วิธี การโฆษณาชวนเชื่อ การแทรกซึมบ่อนทำลาย การประณาม การแข่งขันกันสร้างกำลังอาวุธ และแสวงหาอิทธิพลในประเทศเล็ก เพื่อโน้มน้าวเข้ามาเป็นพวกฝ่ายเดียวกัน

หน่วยทหารยุคสงครามเย็นในขณะนั้นที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติการจิตวิทยา การโฆษณาชวนเชื่อ และการแทรกซึมบ่อนทำลาย ฯลฯ ในพื้นที่เป้าหมายต่างๆ ทั้งในดินแดนและพื้นที่นอกดินแดน ก็คือ หน่วยรบพิเศษ ( Special Force ) เพื่อปฏิบัติการด้านสงครามพิเศษนั่นเอง ดังนั้นประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในการจัดตั้งหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ( Special Force Command ) ขึ้นมา เพิ่มเติมขีดความสามารถทางการทหาร เพื่อเสริมศักยภาพทางการรบให้กับกองกำลังทหารปกติที่มีอยู่เดิม
ดังนั้น กองทัพบกจึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของการปฏิบัติการสงครามพิเศษ ที่จะสามารถเผชิญหน้าและลดภัยคุกคามจากภายนอกประเทศได้ จึงได้มีการจัดตั้งหน่วยรบพิเศษขึ้นเป็นหน่วยแรก เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2497 ที่บ้านป่าหวาย ตำบลป่าตาล อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี และขยายหน่วยมาเป็น หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ขึ้น เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2526
ปัจจุบันการทำสงครามในยุคสมัยนี้ ซึ่งเป็นยุคดิจิตอล หรือ ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างการประกอบกำลังทหาร การพัฒนาหลักนิยมการรบ การพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และการพัฒนาศักยภาพกำลังพล เพื่อรองรับสงครามในยุคของสงครามคอมพิวเตอร์ เห็นได้จากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในระบบควบคุมบังคับบัญชาและสั่งการ การลาดตระเวนและเฝ้าตรวจ  รวมถึงการดำเนินกลยุทธ์ และการสั่งการควบคุมอำนวยการยิงโดยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แทนคนในการปฏิบัติการรบ และที่สำคัญก่อนที่จะมาถึงขั้นการปฏิบัติการรบโดยใช้กำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยดังกล่าว จะต้องมีการดำเนินการปฏิบัติการข่าวสาร ( Information Operation ; IO ) เช่นเดียวกับการปฏิบัติการจิตวิทยาในยุคสงครามเย็น และการปฏิบัติการไซเบอร์ ( Cyber Operation ) เพื่อทำลายขีดความสามารถของระบบควบคุมบังคับบัญชาและสั่งการ การลาดตระเวนและเฝ้าตรวจ  รวมถึงการดำเนินกลยุทธ์ และการสั่งการควบคุมอำนวยการยิงอาวุธอัตโนมัติ ดังกล่าว
ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญด้านการปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่โลกไซเบอร์ หรือที่เรียกกันว่า ไซเบอร์โดเมน ( Cyber Space Domain ) ซึ่งถือเป็นโดเมนที่ 5 เพิ่มเติมจาก Land Domain , Sea Domain , Air Domain และ Space Domain หลายประเทศได้มีการจัดตั้ง หน่วยบัญชาการไซเบอร์ ( Cyber Command ) ขึ้นมาเพิ่มเติมขีดความสามารถทางการทหาร เพื่อเสริมศักยภาพทางการรบให้กับกองกำลังทหารปกติที่มีอยู่เดิม เช่นเดียวกับการจัดตั้ง หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ในยุคสงครามเย็น โดยมี ผู้บัญชาการ อัตรา พลโท – พลเอก
กองทัพบกในอดีตได้เล็งเห็นความสำคัญของการปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่โลกไซเบอร์ จึงได้อนุมัติจัดตั้ง ศูนย์เทคโนโลยีทางทหารกองทัพบก ขึ้นในปี 2539 โดยมี กองการสงครามสารสนเทศ ปฏิบัติภารกิจเพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านสารสนเทศ และต่อมาในปี 2559 กองทัพบกจึงได้แปรสภาพหน่วย ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร เป็น ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก โดยมี ผู้อำนวยการ อัตรา พลตรี เพื่อปฏิบัติภารกิจด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ , การปฏิบัติการไซเบอร์ และการสนับสนุนการปฏิบัติการข่าวสาร โดยใช้เวลานานนับ 20 ปีในการพัฒนาหน่วย  ซึ่งปัจจุบันแนวโน้มภัยคุกคามด้านไซเบอร์ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ทั้งด้านการโจมตีทางไซเบอร์ และการปฏิบัติการข่าวสาร นับวันจะทวีความรุนแรงเข้มข้นมากขึ้นตามลำดับ หากการพัฒนาเสริมสร้างกำลังรบด้านไซเบอร์โดเมน โดยเฉพาะโครงสร้างการจัดหน่วย การพัฒนาเครื่องมือที่ทันสมัย และการพัฒนาขีดความสามารถกำลังพล ยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ทันต่อสถานการณ์ และการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของกองทัพ รวมถึงขีดความสามารถด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤติในระดับประเทศ ซึ่งการพัฒนาศักยภาพกำลังรบทางไซเบอร์โดเมน ถือเป็นการลงทุนงบประมาณที่น้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับโดเมนด้านอื่น ความหวังที่ ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ในการปรับโครงสร้างหน่วยเป็น หน่วยบัญชาการไซเบอร์ เพื่อรองรับการปฏิบัติการรบในพื้นที่ไซเบอร์โดเมน เช่นนานาประเทศ จึงอยู่ที่ “ วิสัยทัศน์ ”  ของ ผู้บังคับบัญชา

---------------------------------------------

อ้างอิง :
https://hilight.kapook.com/view/92088
http://www.swcom.mi.th/index.php/aboutus/history

http://cyber.rta.mi.th/about.php