วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ระเบิดป่วนเมืองเพื่อการปฏิบัติการข่าวสาร

ระเบิดป่วนเมืองเพื่อการปฏิบัติการข่าวสาร
 ( Blast the city for Information Operations )
โดย พลตรี ฤทธี  อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก

ความขัดแย้งทางการเมือง หรือ การแย่งชิงผลประโยชน์ทางการเมือง ย่อมนำไปสู่ความรุนแรงทุกรูปแบบ และหนึ่งในวิธีการก่อความรุนแรงยอดนิยมที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชนและสังคม รวมถึงผู้มีอำนาจบริหาร
ในขณะนั้นก็คือ ระเบิดป่วนเมือง เพราะผู้กระทำการสามารถเลือกพื้นที่เป้าหมายการวางระเบิดได้อย่างเสรี โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นจุดอ่อนด้านมาตรการควบคุมและการรักษาความปลอดภัย การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุกระทำได้ยาก เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุตรงจุดไหน การดำเนินการติดตามจับกุมผู้กระทำความผิด กระทำได้ค่อนข้างยากลำบาก เพราะเป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนทั่วไปสัญจรไปมาตามปกติ เมื่อเกิดเหตุการณ์ข่าวสารจะแพร่กระจายไปได้รวดเร็วในวงกว้างโดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน
การวางระเบิดป่วนเมืองเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปลาย รัฐบาลทักษิณ โดยเกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อ 9 มีนาคม 2549 บริเวณทางเท้าข้างตู้ยามหัวมุมรั้วบ้านสี่เสาเทเวศร์ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ต่อมา 27 มีนาคม 2549 มีคนร้ายลอบวางไว้ที่ข้าง อาคารควง อภัยวงศ์ใน พรรคประชาธิปัตย์ต่อมา 4 พฤษภาคม 2549 หน้าอาคารศรีจุลทรัพย์ ที่ตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง” ( กกต.) ต่อมา 23 พฤษภาคม 2549 บริเวณ ซุ้มเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติต่อมา 24 มิถุนายน 2549 ที่ทำการของพรรคไทยรักไทย ต่อมา 31 ธันวาคม 2549 ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2549-2550 เกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และนนทบุรี มีประชาชนผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บล้มตายหลายราย ต่อมา 30 กันยายน 2550 หัวมุมกำแพงกองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ต่อมา 14 กุมภาพันธ์ 2555 เกิดเหตุระเบิดขึ้น 3 จุด ในซอยสุขุมวิท 71  ต่อมา 26 พฤษภาคม 2556 ปากซอยรามคำแหง 43/1 ต่อมา 1 กุมภาพันธ์ 2558 หลังหม้อแปลงไฟฟ้าบริเวณทางเชื่อมรถไฟฟ้า บีทีเอส สถานีสยาม ต่อมา 17 สิงหาคม 2558 แยกราชประสงค์ [1] และล่าสุด 22 พฤษภาคม 2560 หน้าห้อง “ วงษ์สุวรรณ ” รพ.พระมงกุฎฯ ซึ่งเป็นวันครบรอบ 3 ปี “ คสช.” พอดี ซึ่งชื่อและสถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่จะมีนัยยะทางการเมืองและความขัดแย้งทั้งสิ้น
การกระทำในลักษณะดังกล่าว นับว่าประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายในหลายๆด้าน เช่น การสร้างสถานการณ์ความรุนแรง เพื่อให้กระทบกระเทือนต่อสังคมให้เกิดความตื่นตระหนก ประชาชนเกิดความหวาดกลัวและขาดความเชื่อมั่นต่อผู้มีอำนาจบริหารในด้านความมั่นคงปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน การนำภาพเหตุการณ์ ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และการสัมภาษณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์มาใช้ในการปฏิบัติการข่าวสาร โดยการเผยแพร่เหตุการณ์ความรุนแรง ข้อมูลบิดเบือน การโจมตีให้ร้ายทางสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อปลุกกระแสยั่วยุให้เกิดความแตกแยกในสังคม เพื่อดิสเครดิตและบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนต่อผู้มีอำนาจบริหาร รวมถึงการบ่อนทำลายความเชื่อมั่นในระดับประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา การท่องเที่ยว และความมั่นคงของประเทศ  
ผลสำเร็จของการกระทำดังกล่าว หากเป็นการกระทำของคนต่างชาติ คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่หากเป็นคนในประเทศนับว่าเป็นเรื่องผิดปกติของมนุษย์ที่ไม่สามารถแยกแยะการกระทำอะไรดี อะไรไม่ดี ที่สามารถกระทำการเลวร้ายเช่นนี้ได้โดยไม่คำนึงถึงอันตรายของประชาชน ความเสียหายที่เกิดขึ้นในสังคมและประเทศชาติ เพียงมุ่งหวังเพื่อต่อต้าน หรือแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ให้กับตนเองและพรรคพวก รวมถึงผู้ที่พยายามโหนกระแสข่าวทางสังคมโลกออนไลน์ ในการแสดงออก วิพากษ์วิจารณ์ และเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ที่ไม่เกิดผลดีต่อสังคมและประเทศชาติบ้านเมืองบนสื่อสังคมออนไลน์ หากเป็นการกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงกาล ก็ควรจะมีสติเพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือการปฏิบัติการข่าวสารของกลุ่มผู้ไม่หวังดี ผลกระทบและความเสียหายโดยตรงของการระเบิดอาจจะไม่เท่าไหร่ แต่ผลกระทบและความเสียหายของการปฏิบัติการข่าวสารจากเหตุการณ์ร้ายแรงกว่าหลายร้อยเท่า
--------------------------------------------------------------
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น