การเตรียมความพร้อมสู่ ไซเบอร์ซีเกม
( Preparations for the Cyber SEA Game )
โดย พลโท ฤทธี
อินทราวุธ
ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงกลาโหม/
หัวหน้าคณะทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
กิจการอวกาศ และไซเบอร์
-----------------------------------------
นับเป็นนิมิตรหมายอันดีสำหรับประเทศไทย
ในการพัฒนาส่งเสริมด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ภายหลังจากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ
( TELMIN : ASEAN Telecommunications and
Information Technology Ministers Meeting ) และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้าน
โทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ
( TELSOM : ASEAN Telecommunications and IT Senior Officials Meetings ) ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา การประชุมดังกล่าว เป็นการประชุมระหว่างสมาชิกอาเซียน
10 ประเทศ และผู้เจรจา 3 ประเทศ ได้แก่
จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งได้มีมติเลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้ง ศูนย์ความร่วมมือ
อาเซียน-ญี่ปุ่น ( ASEAN-JAPAN Cyber Security Center ) สำหรับฝึกอบรมความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
ซึ่งการเป็นศูนย์ฝึกอบรมฯดังกล่าว ประเทศไทยจะได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่นจำนวน
5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเวลา 4
ปี ตั้งแต่ปี 2561-2564[1]
ศูนย์ความร่วมมือความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
อาเซียน - ญี่ปุ่น ดังกล่าว จะมีหน้าที่ฝึกอบรมความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และยกระดับความสามารถบุคลากรด้านความปลอดภัยมั่นคงทางไซเบอร์
รวมถึงการสร้างบุคลากรใหม่ๆ
ขึ้นมาเพื่อให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
โดยจะเป็นศูนย์กลางการจัดอบรมฯ ของประเทศสมาชิกในอาเซียน
ซึ่งตามเป้าหมายที่อาเซียนวางไว้จะต้องมีบุคลากรที่ผ่านการอบรมฯ อย่างน้อย 280 คนต่อระดับหรือหลักสูตร นอกจากการจัดอบรมฯ ที่จะเกิดขึ้นแล้ว
ยังมีกิจกรรมที่หลากหลาย ตลอดระยะเวลา 4 ปี
การที่ประเทศสมาชิกอาเซียนมีมติเลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้ง ศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น สำหรับอบรมด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
ถือเป็นการปั้นให้ประเทศไทยสู่ " ฮับป้องกันภัยไซเบอร์ " โดยไทยได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ
( MOU ) กับญี่ปุ่น โดยในปี 2561 จะจัดกิจกรรมทุกๆ
2 เดือน ทั้งการจัดอบรมความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์, การอบรมการซ้อมรับมือการโจมตีทางไซเบอร์, การจัดประกวดเพื่อให้บุคคลทั่วไปได้เข้าร่วมฯ
นอกจากนี้ไทยจะได้เป็นเจ้าภาพจัดไซเบอร์ซีเกม ( Cyber SEA Game ) โดยจะเปิดรับสมัครแฮกเกอร์จากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้ามาทำการเจาะเข้าไปในระบบ
และสร้างระบบเพื่อแก้ไขการเจาะข้อมูล เป็นต้น
สำหรับหน่วยงานหลักที่กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะมอบหมายให้เป็นแม่งานคงหนีไม่พ้น
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ( องค์การมหาชน ) หรือ สพธอ. / ETDA ซึ่งได้มีการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในภาพรวมของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้คงจะต้องมีการประสานความร่วมมือ และการบูรณาการกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน
และสถาบันการศึกษาต่างๆ ของไทยที่ได้มีการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
เพื่อเป็นการเปิดกว้างหลากหลายในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ให้ครอบคลุมงานแต่ละสาขา
รวมทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ในรูปแบบการวางแผนแบบรวมการ
ปฏิบัติแบบแยกการ
สำหรับงานความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในด้านความมั่นคงทางทหาร กระทรวงกลาโหมถือว่าเป็นหัวเรือใหญ่
นอกเหนือจากการมีหน่วยงานหลัก เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม , กองบัญชาการกองทัพไทย
, กองทัพบก , กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ซึ่งเป็นเป้าหมายการโจมตีหลักของภัยคุกคามด้านไซเบอร์ในระดับชาติ
รวมถึงการทำสงครามไซเบอร์แล้ว ระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ , ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ของกองทัพล้วนแต่มีความสลับซับซ้อนและแตกต่างจากระบบงานพลเรือนทั่วไป
จำเป็นต้องมีการพัฒนาด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เช่นกัน อีกทั้งกระทรวงกลาโหมยังมีหน่วยงานหลักในสังกัดนอกเหนือจากศูนย์ไซเบอร์ของแต่ละเหล่าทัพแล้ว
เช่น สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ( องค์การมหาชน ) และกรมสรรพกำลังกลาโหม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะมาเสริมด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำที่สำคัญ
ในด้านการระดมสรรพกำลัง การคัดสรรบุคคลจากทหารกองหนุนและบุคคลพลเรือนที่มีความรู้ความสามารถด้านไซเบอร์
การพัฒนาส่งเสริมและต่อยอด เพื่อการบรรจุทำงานตามหน้าที่
ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการตั้ง ศูนย์ความร่วมมือความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อาเซียน - ญี่ปุ่น ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างคุ้มค่า ทั้งด้านการอบรมความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์, การอบรมการซ้อมรับมือการโจมตีทางไซเบอร์, การจัดประกวดเพื่อให้บุคคลทั่วไปได้เข้าร่วมฯ
และการเข้าร่วมการแข่งขันไซเบอร์ซีเกม ( Cyber SEA Game ) ในปี 2561
จะต้องมีการเตรียมแผนงาน การวางแผนเตรียมการทั้งด้านหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านต่างๆ
ที่เกี่ยวข้อง , การเตรียมบุคลากรที่จะต้องพิจารณาส่งเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ,
การพัฒนาความพร้อมของบุคลากร , การฝึกฝนทักษะความรู้ความชำนาญอย่างเพียงพอ รวมถึงกระบวนการคัดเลือกตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันไซเบอร์ซีเกม
เป็นต้น เพราะนอกจากประโยชน์โดยตรงที่จะได้รับจากศูนย์ความร่วมมือความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อาเซียน – ญี่ปุ่น
แล้ว การร่วมการแข่งขันไซเบอร์ซีเกม
ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน นอกจากจะเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ
การประสานความร่วมมือระหว่างกันแล้ว ยังจะเป็นการแสดงออกถึงศักยภาพและขีดความสามารถของคนไทย
-------------------------------------------
อ้างอิง :
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น