วันจันทร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2561

สรรพกำลังทางไซเบอร์ หนึ่งในภาพลักษณ์ ของ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

สรรพกำลังทางไซเบอร์ หนึ่งในภาพลักษณ์ ของ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
(  Cyber Resources is brand of the Permanent Secretary for Defence )

โดย พลโท ฤทธี  อินทราวุธ
ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงกลาโหม/
หัวหน้าคณะทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กิจการอวกาศ  และไซเบอร์
-----------------------------------------
หากจะเอ่ยถึงนามหน่วย  “สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ” สำหรับประชาชนทั่วไป เชื่อว่าหลายคนคงนึกภาพไม่ออกว่ามันคือหน่วยอะไร? อยู่ที่ไหน? มีบทบาทหน้าที่ทำงานอะไร? เมื่อเปรียบเทียบกับนามหน่วยอื่นๆ เช่น “กระทรวงกลาโหม” ประชาชนก็จะนึกถึงแบรนด์หรือภาพลักษณ์ของ “ศาลาว่าการกลาโหม” ตึกเก่าแก่
ทรงโบราณสีเหลืองๆ ที่มีปืนใหญ่โบราณตั้งอยู่ด้านหน้าจำนวนหลายกระบอก ซึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว และพระบรมมหาราชวัง อยู่ติดกับศาลหลักเมือง ตรงข้ามสนามหลวง ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีช่าวว่าการกระทรวงกลาโหม มีหน้าที่ดูแลงานด้านความมั่นคงของประเทศ ถ้าพูดถึง “กองทัพบก” ประชาชนก็จะนึกแบรนด์หรือภาพลักษณ์ของ “ทหารบก” ที่ถืออาวุธ ยุทโธปกรณ์ต่างๆ คอยปกป้องประเทศชาติ อธิปไตยทางบก ดูแลความสงบเรียบร้อย และคอยช่วยเหลือประชาชนที่ประสบความเดือดร้อยจากภัยพิบัติต่างๆ ถ้าพูดถึง “กองทัพเรือ” ประชาชนก็จะนึกถึงแบรนด์หรือภาพลักษณ์ของ “ทหารเรือ” ที่อยู่บนเรือรบหลวงคอยปกป้องอธิปไตยในน่านน้ำ ผลประโยชน์ทางทะเล และคอยอนุรักษ์สัตว์น้ำและทรัพยากรชายฝั่ง หากพูดถึง “กองทัพเรืออากาศ” ประชาชนก็จะนึกถึงแบรนด์หรือภาพลักษณ์ของ “นักบินทหารอากาศ” ที่ขับเครื่องบินเจ็ทคอยปกป้องอธิปไตยบนน่านฟ้า
สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เปรียบเสมือนเป็นหน่วยงานที่เป็นมันสมองของกระทรวงกลาโหม โดยทำหน้าที่ กำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และแผนการดำเนินการ ที่เชื่อมโยงจากรัฐบาลไปยังหน่วยปฏิบัติ รวมถึงการกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติราชการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง เกิดประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล และเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล เพื่อตอบสนองเจตนารมณ์ของประเทศ ประชาชน และสังคมไทย[1]  โดยมีพัมธกิจ ที่สำคัญอยู่ ๙ ประการ[2]   คือ
๑.  พิทักษ์รักษาและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 
๒. เสนอแนะและบูรณาการนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงกลาโหม
๓. ส่งเสริมการวิจัย พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม
๔. พัฒนางานเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และกิจการอวกาศเพื่อความมั่นคง
๕. พัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร เพื่อการพึ่งพาตนเอง
๖. เสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับต่างประเทศ ด้วยการบูรณาการงานร่วมกันระหว่างส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
๗. สนับสนุนการรักษาความมั่นคงของรัฐ การพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่สำคัญของชาติ
๘. ปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามประเมินผลที่เป็นรูปธรรมไปสู่การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
๙. ดำเนินงานการสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเพื่อความมั่นคง
จากพัมธกิจของ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ทั้ง ๙ ประการ จะเห็นได้ว่า พัมธกิจส่วนใหญ่ เป็นเพียง “นามธรรม” ไม่สามารถสื่อถึง “ภาพลักษณ์” ของหน่วยงานเพื่อให้ประชาชนเข้าถึง เข้าใจ หรือมีส่วนร่วมและสัมผัสได้อย่างเป็น “รูปธรรม” ยกเว้นพันธกิจในข้อ ๔. พัฒนางานเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และกิจการอวกาศเพื่อความมั่นคง
ดังนั้น การแปลงพันธกิจไปสู่การปฏิบัติแบบกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างแบรนด์หรือภาพลักษณ์ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อสื่อให้ประชาชนเข้าถึง เข้าใจ หรือมีส่วนร่วมและสัมผัสได้อย่างเป็น “รูปธรรม”  เช่นเดียวกับเหล่าทัพต่างๆ โดยการพัฒนางานเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และกิจการอวกาศเพื่อความมั่นคง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยรัฐบาลและกระทรวงกลาโหมได้ให้ความสำคัญกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ซึ่งถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ กระทรวงกลาโหมจึงได้อนุมัติ ยุทธศาสตร์ไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๕๘ และ แผนแม่บทไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ โดยเนื้อหาในยุทธศาสตร์ไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๕๘ ได้กำหนดให้ ดำเนินการเพื่อระดมขีดความสามารถของผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์พลเรือนมาปฏิบัติงานในศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหม โดยจัดให้มีตำแหน่งงานชั่วคราวสำหรับผู้เชี่ยวชาญไซเบอร์พลเรือน มีมาตรการจูงใจและการตอบแทนที่เหมาะสม นอกเหนือจากการระดมขีดความสามารถของผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์พลเรือน เพื่อนำมาใช้งานด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ของ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ในลักษณะ Outsource แล้ว สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ยังมีพัทธกิจและขีดความ
สามารถในการระดมสรรพกำลัง ที่เป็น กำลังพลสำรองที่มีความรู้ความชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ เพื่อระดมขีดความสามารถมาใช้ในการฝึกทดสอบ ตามแผนการฝึกกำลังพลสำรองตามวงรอบประจำปี ตาม พระราชบัญญัติกำลังพลสำรอง พ.ศ.๒๕๕๘[3]   และสามารถนำกำลังพลสำรองที่มีความรู้ความชี่ยวชาญด้านไซเบอร์เหล่านี้มาบรรจุใน ศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหม ตามแผนป้องกันประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้มีแผนการบรรจุกำลังพลสำรองไว้เฉพาะหน่วยกำลังรบ หน่วยสนับสนุนการรบ และหน่วยช่วยรบ สำหรับใช้ในการปฏิบัติการรบ ซึ่งกำหนดให้กำลังพลสำรองที่อายุไม่เกิน ๔๕ ปี และสามารถบรรจุและเลื่อนอัตราชั้นยศไม่เกิน พันตรี
การฝึกซ้อมการระดมสรรพกำลัง ในปีที่ผ่านมา ได้มีการนำประเด็นภัยคุกคามด้านไซเบอร์มาเป็นโจทย์ปัญหาการฝึกฯ โดยใช้เจ้าหน้าที่ตำแหน่งประจำในองค์กรมาทำการฝีกฯ ควรจะได้มีการพิจารณานำกำลังพลสำรองที่มีความรู้ความชี่ยวชาญด้านไซเบอร์เหล่านี้มาร่วมในการฝึกฯ  ซึ่งอาจจะต้องมีการพิจารณาจัดทำแผนการ
บรรจุกำลังพลสำรองที่มีความรู้ความชี่ยวชาญด้านไซเบอร์เหล่านี้เพิ่มเติมในแผนป้องกันประเทศเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศกระทรวงกลาโหม รวมถึงการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์อายุกำลังพลสำรอง จากเดิม กำลังพลสำรองสำหรับใช้ในการรบ อายุไม่เกิน ๔๕ ปี ให้ขยายเพิ่มขึ้น และพิจารณาขยายการบรรจุและเลื่อนอัตราชั้นยศไปจนถึง พันเอก เพื่อรองรับแผนการบรรจุกำลังพลสำรองที่มีความรู้ความชี่ยวชาญด้านไซเบอร์เหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่มีความรู้ในระดับผู้เชี่ยวชาญ มักจะเป็นผู้บริหารงานในองค์กรในระดับสูง มีวัยวุฒิและคุณวุฒิสูงๆ จนถึงระดับปริญญาเอก จึงควรพิจารณาบรรจุตำแหน่งหน้าที่ในโครงสร้างระบบกำลังพลสำรองประเภทผู้เชี่ยวชาญให้เหมาะสม เพื่อสร้างแรงจูงใจ เป็นเกียรติประวัติ และเกิดความภาคภูมิใจ
นอกเหนือจากการระดมขีดความสามารถของผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์พลเรือน เพื่อมาใช้งานในศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหม ตามยุทธศาสตร์ไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๕๘  และเพื่อการฝึกซ้อมการระดมสรรพกำลังประจำปีแล้ว การสร้างชุมชนไซเบอร์ ( Cyber Community ) ในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อนำไปสู่เครือข่ายกำลังพลสำรองประเภทผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ ( Cyber Reserve Network ) และการจัดทำระบบ
ทำเนียบกำลังพลสำรองประเภทผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์นับว่ามีความจำเป็น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร การสร้างปฏิสัมพันธ์และการติดต่อสื่อสาร การแจ้งข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจัดทำบัญชีเรียกพลพร้อมใช้งาน ( Cyber Reserve On Call List ) สิ่งเหล่านี้ จะเป็นแนวทางการสร้างแบรนด์หรือภาพลักษณ์ของ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ให้เกิดความเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน และต่อไปหากมีใครกล่าวถึง สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ประชาชนก็จะนึกถึงภาพลักษณ์ของ แหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญทางไซเบอร์ ( Cyber Expertise Group ) , สรรพกำลังทางไซเบอร์ ( Cyber Resource ) และศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหม ( Cyber Command for Defence )
-------------------------------------------
อ้างอิง :

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น