วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2562

กระทรวงกลาโหม กับ โครงการดาวเทียมสื่อสารภาครัฐ


กระทรวงกลาโหม กับ โครงการดาวเทียมสื่อสารภาครัฐ
โดย พลเอก ฤทธี  อินทราวุธ
หัวหน้าที่ปรึกษา คณะทำงานฯด้านกิจการอวกาศ กระทรวงกลาโหม
---------------------------------------
ดาวเทียม ( Satellites )  นับว่ามีความสำคัญและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศและงานด้านความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะโลกในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้มีการพัฒนา
และมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และการทหาร หลายประเทศได้ให้ความสนใจต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านกิจการอวกาศ โดยเฉพาะกิจการดาวเทียม ซึ่งมีหลากหลายประเภทของการใช้งาน ทั้ง ดาวเทียมสื่อสาร ( Communications Satellites ) .   ดาวเทียมถ่ายภาพหรือดาวเทียมสำรจทรัพยากร ( Earth Observation Satellites ) ,  ดาวเทียมนำร่อง ( Navigation Satellites )  ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา ( Meteorological Satellites )  , ดาวเทียมดาราศาสตร์ ( Astronomical Satellites )  , ดาวเทียมจารกรรม ( Reconnaissance Satellites )  เป็นต้น[1]
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมด้านกิจการอวกาศ ยังแบ่งแยกกิ่งของประเภทอุตสาหกรรมในเชิงธุรกิจออกเป็นอย่างน้อยอีก 4 - 5 ด้าน คือ อุตสาหกรรมการพัฒนาและผลิตสร้างดาวเทียม , อุตสาหกรรมการพัฒนาระบบจรว
ตนำส่งดาวเทียม , อุตสาหกรรมการพัฒนาระบบสถานีภาคพื้น ซึ่งประกอบด้วยสถานีควบคุมดาวเทียมและสถานีการให้บริการข้อมูลดาวเทียม , อุตสาหกรรมการพัฒนา Payload หรือ ระบบเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนดาวเทียมเพื่อใช้งานตามวัตถุประสงค์ และอุตสาหกรรมการพัฒนาต่อยอดการใช้ประโยชน์จากดาวเทียม เช่น ระบบเครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคม , ระบบโทรทัศน์ดาวเทียม , ระบบข้อมูลดิจิทัล , ระบบนำร่อง , ระบบสมาร์ทฟาร์ม ฯลฯ เป็นต้น
กระทรวงกลาโหม ได้มีแนวความคิดในการพัฒนาดาวเทียมสื่อสารเพื่อความมั่นคง หรือดาวเทียมทางทหาร มาตั้งแต่ ปี 2539 ในสมัย พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
กลาโหม แต่โครงการฯ ไม่สำเร็จ ต่อมาในปี 2558 กระทรวงกลาโหม ได้มีการผลักดัน โครงการดาวเทียมสื่อสารเพื่อความมั่นคง [2]  โดย พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในขณะนั้น ได้เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่าง กระทรวงกลาโหม และ บริษัท ไทยคม จำกัด ( มหาชน )  ว่าด้วยความร่วมมือด้านการสื่อสารดาวเทียม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ กำหนดแนวทางความร่วมมือทางด้านการสื่อสารผ่านดาวเทียมระหว่าง กระทรวงกลาโหม และ บริษัท ไทยคม จำกัด ( มหาชน )  ในการที่จะร่วมกันเสริมสร้างศักยภาพ และพัฒนาขีดความสามารถทางด้านการสื่อสารผ่านดาวเทียมของประเทศ รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการดาวเทียมสื่อสารร่วมกันระหว่างภาครัฐ
และเอกชนโดยกระทรวงกลาโหม จะให้การสนับสนุนข้อมูลในการออกแบบดาวเทียมและระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม บุคลากรผู้เชี่ยวชาญ และการสนับสนุนในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และ บริษัท ไทยคม จำกัด ( มหาชน )  จะให้การสนับสนุนในการดำเนินโครงการจัดสร้างดาวเทียมสื่อสาร (
THAICOM 9 )  ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม ตลอดจนสนับสนุนองค์ความรู้ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเพื่อการพัฒนาบุคลากร รวมถึงการให้การสนับสนุนในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทั้งในด้านกำลังพล เทคโนโลยี และการบริหารจัดการ เพื่อให้สามารถนำประโยชน์จากระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม ไปใช้ในการปฏิบัติภารกิจทางด้านความมั่นคงและภารกิจอื่นๆ ของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศต่อไป แต่โครงการจัดสร้างดาวเทียมสื่อสาร ( THAICOM 9 )  ก็ถูกรัฐบาลชุดปัจจุบันระงับไปในที่สุด
ดาวเทียมไทยคม[3] นับเป็นดาวเทียมสื่อสารของไทย ที่ได้รับสัญญาสัมปทานให้การบริการด้านการสื่อสารผ่านช่องสัญญาณดาวเทียมมาตั้งแต่ปี 2537 โดยได้ปล่อยดาวเทียมสื่อสารมาแล้วรวมจำนวน 8 ดาว ดาวเทียม
ไทยคม 1 – 3 ได้หมดอายุการใช้งานไปแล้ว ยังคงเหลือ ดาวเทียมไทยคม 4 ( IP Star ) เป็นดาวเทียมที่ให้การบริการสัญญาณแบบ Broadband ความเร็วสูง ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในอีก 2 ปี ,  ดาวเทียมไทยคม 5 เป็นดาวเทียมที่ให้การบริการสัญญาณแบบ Broadcast ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในอีก 3 ปี โดยดาวเทียมทั้ง 2 ดวงกำลังจะประสบปัญหาด้านพลังงานเชื้อเพลิงที่จะบังคับควบคุมดาวเทียมให้อยู่ในวงโคจร ทั้งนี้จากการสอบถามข้อมูลจากการศึกษาดูงานที่ผ่านมา ทาง บริษัท ไทยคม จำกัด ( มหาชน )  ได้เสนอแผนการส่งดาวเทียมพลังงานไปประกบกับดาวเทียมไทยคม 4 และ 5 โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจากรัฐบาล เพื่อใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากดาวเทียมดังกล่าว ไปช่วยในการขับเคลื่อนและบังคับควบคุมดาวเทียมไทยคมทั้ง 2 ดวง ที่กำลังจะหมดพลังงานให้สามารถยืดอายุการใช้งานต่อไปได้อีก 5 ปี ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการให้การบริการต่อลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เกิดความต่อเนื่อง สำหรับดาวเทียม
ไทยคม 6 , 7  และ 8 ยังคงอยู่ในสัญญาสัมปทาน ทั้งนี้ เคยมีข้อสงสัยเกี่ยวกับดาวเทียมไทยคม 7 ซึ่งมีชื่อปรากฎในระบบบัญชีทำเนียบดาวเทียมว่า
Asia SAT นั้น เนื่องจากดาวเทียมไทยคม 7 เป็นดาวเทียมที่ บริษัท ไทยคม จำกัด ( มหาชน )  ลงทุนร่วมกับจีน โดยแบ่งช่องสัญญาณการให้บริการสื่อสารดาวเทียมออกเป็น 2 ส่วน ของใครของมัน

ผลจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม 4 และ 5 โดย คณะรัฐมนตรีได้มีมติไม่ต่อสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม 5[4]  หรือขยายเวลาสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ แต่ให้ใช้แนวทางเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ ( PPP )  ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.
2556 โดยมอบให้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศาษฐกิจและสังคม รับผิดชอบดำเนินการ โดยคำนึงถึง ข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบ และความสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว จะให้ผลประโยชน์กับรัฐมากที่สุด อีก 3 แนวทาง คือ การจำหน่ายดาวเทียมให้เอกชน , รัฐบาลดำเนินการเอง หรือ โอนทรัพย์สินให้ บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด เพื่อนำทรัพย์สินออกให้เช่าในฐานะผู้ประกอบการ (Operator) โดยล่าสุด บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด[5] ประกาศตัวว่ามีความพร้อมที่จะเข้ามาดำเนินการเสนอขอยื่นสัมปทานต่อภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม 5 ของ บริษัท ไทยคม จำกัด ( มหาชน ) ( CAT ) เพื่อดำเนินการเป็น โครงการดาวเทียมสื่อสารภาครัฐ โดยจะแยกการบริการออกเป็น 2 ส่วน คือ การให้บริการด้านการสื่อสารดาวเทียมภาครัฐให้กับส่วนราชการต่างๆ และการให้บริการด้านการสื่อสารดาวเทียมภาคธุรกิจเชิงพาณิชย์
กระทรวงกลาโหม ควรจะเข้ามามีบทบาทใน โครงการดาวเทียมสื่อสารภาครัฐ โดยเฉพาะการให้บริการด้านการสื่อสารดาวเทียมภาครัฐให้กับส่วนราชการต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนงานสื่อสารด้านความมั่นคง
ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมมีหน่วยงานด้านสื่อสารโทรคมนาคม เช่น กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม , กรมการสื่อสารทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย , กรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก และกรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ และกรมสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ทหารอากาศ  เป็นต้น ซึ่งถือว่ามีศักยภาพทั้งองค์กรและบุคลากรด้านการสื่อสาร หากได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างหน่วยและการจัดตั้งหน่วยงานด้านกิจการอวกาศกลาโหม ก็สามารถที่จะเข้ามามีบทบาทใน โครงการดาวเทียมสื่อสารภาครัฐ โดยเฉพาะการให้บริการด้านการสื่อสารดาวเทียมภาครัฐให้กับส่วนราชการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ มีความต่อเนื่องและยั่งยืน ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมจะต้องมี นโยบาย แผนงาน
โครงการ แผนปฏิบัติการในด้านต่างๆ รองรับ ทั้งการพัฒนาองค์กร และบุคลากร นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยเฉพาะการเตรียมบุคลากรและการพัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนถึงการสร้างแนวทางรับราชการ ความเจริญก้าวหน้าที่มั่นคงยั่งยืน มาตรการจูงใจและการตอบแทนต่างๆ  เพื่อพัฒนาเสริมสร้างความพร้อมขององค์กรและบุคลากร ให้มีขีดความสามารถในการ
ให้การบริการด้านการสื่อสารดาวเทียมภาครัฐให้กับส่วนราชการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไปสู่ “ ไทยแลนด์ 4.0 ” รวมถึงการสนับสนุนงานด้านความมั่นคงของชาติ สืบไป
---------------------------------------------------
อ้างอิง : 
[1] https://gistda.or.th/main/th/node/962
[2] https://www.ryt9.com/s/prg/2230103
[4] https://www.khaosod.co.th/economics/news_2151687
[5] https://mgronline.com/daily/detail/9620000011028

วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2562


เทคโนโลยีและความร่วมมือ กับ การแก้ไขปัญหา PM 2.5

โดย พลเอก ฤทธี  อินทราวุธ
หัวหน้าที่ปรึกษา คณะทำงานฯ ด้านกิจการอวกาศ กระทรวงกลาโหม
---------------------------------------
ปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ ฝุ่นละอองอนุภาคขนาดจิ๋ว หรือที่เรียกกันว่า PM 2.5  กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้ จนล่าสุดรัฐบาลได้ออกมาประกาศให้โรงเรียนรัฐบาลมากกว่า 400 แห่งในกรุงเทพฯ
ให้ยกเลิกการเรียนการสอนในช่วงเที่ยงของวันพุธที่ 30 ม.ค.62 ส่วนโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯ และ โรงเรียนตามจังหวัดต่างๆ ที่อยู่โดยรอบจะปิดการเรียนการสอนในวันพฤหัสบดีที่ 31 ม.ค.62 และวันศุกที่ 1 ก.พ.62[1]  ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อลดผลกระทบทางสุขอนามัย นับเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ
ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาสำคัญที่ทุกประเทศให้ความสำคัญและใส่ใจ โดยมีมาตรการต่างๆ รองรับ ทั้งมาตรการลงโทษ มาตรการป้องปราม มาตรการป้องกัน มาตรการส่งเสริมสนับสนุน เพื่อให้ทุกภาคส่วน
เห็นความสำคัญ ใส่ใจ และมีความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน บางประเทศกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ด้านการลดมลพิษ มีการกำหนดพื้นที่ไม่ให้มีการก่อสร้างขนาดใหญ่จนเกิดมลพิษ การควบคุมการปล่อยควัน ฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศอย่างเข้มงวด การสร้างถนนไร้ฝุ่น การกำหนดให้ใช้รถไฟฟ้าในบางเมืองเท่านั้น การกำหนดโซนนิ่งในการควบคุมปริมาณรถ ฯลฯ เป็นต้น เหล่านี้เป็นการวางรางฐานการปัองกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองอนุภาคขนาดจิ๋ว ที่สามารถผ่านขนจมูก ขี้มูก โพรงจมูก คอ หลอดลมใหญ่ ขนพัดโบก เสมหะ หลอดลมเล็ก หลอดลมย่อย ไปตกที่ถุงลมได้โดยตรง และเป็นหนึ่งในมาตรวัดหลักของดัชนีคุณภาพอากาศ ( Air Quality Index : AQI ) [2]  ซึ่งจากข้อมูลของ airvisual.com ซึ่งวัดระดับมลพิษตามเมืองต่างๆ ทั่วโลก พบว่า ค่า AQI ของกรุงเทพฯ อยู่ที่ 175 ส่งผลให้เมืองหลวงของไทยแห่งนี้ รั้งอันดับ 5 ของเมืองที่กำลังเผชิญมลพิษร้ายแรงสุดของโลก โดยมี นิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ครองอันดับ 1 มีค่า AQI อยู่ที่ 257
กรมควบคุมมลพิษของไทย รายงานว่า คุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ ได้แตะระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ด้วยผลการวัดค่าฝุ่นละอองอนุภาคขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ( PM 2.5 ) นั้น สูงกว่าระดับที่ปลอดภัยใน 41 พื้นที่รอบๆ เมืองหลวง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการให้ความสำคัญ ขาดการดูแลและเอาใจใส่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้ง ปัญหาการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ขาดมาตรการการควบคุมด้านมลพิษ ปัญหาการปล่อยควัน ฝุ่นละออง และมลพิษจากอาคาร ที่พัก โรงแรม ห้างร้าน และโรงงานต่างๆ ปัญหาการจราจร บรรทุก ขนส่งในเขตเมืองที่คับคั่งและขาดการกำกับดูแลเอาใจใส่ในมาตรการลงโทษทางกฎหมายผู้ผ่าฝืนกฎหมาย ปัญหาเส้นทางการจราจรที่เต็มไปด้วยมลพิษ ควันเสีย ฝุ่นละอองต่างๆ เป็นต้น
รัฐบาลไทยเริ่มให้ความสำคัญ หาวิธีการและแนวทางการแก้ไขปัญหา ฝุ่นละอองอนุภาคขนาดจิ๋ว หรือ PM 2.5 โดยการใช้เครื่องบินทำฝนเทียม การใช้โดรนปล่อยละอองน้ำบนอากาศ และการใช้รถดับเพลิงฉีดสเปร์น้ำละอองฝอย เพื่อให้ละอองน้ำผสมสารเคมีบางชนิดลองไปจับฝุ่นละอองอนุภาคขนาดจิ๋ว หรือ PM 2.5 ให้ตกลงมาบนพื้นดิน เพื่อลดปริมาณ PM 2.5 ในอากาศ และบางอาคารสูงๆ เริ่มมีการติดตั้งเครื่องพ่นสเปร์ละอองน้ำ หรือฉีดน้ำเป็นฝอยลงมาจากตึกสูงเหมือนฝนตกเบาๆ เพื่อช่วยในการจับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่แขวนลอยในอากาศ เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ นับเป็นปรากฎการณ์แห่งความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 แม้จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม ที่ทุกภาคส่วนเริ่มเห็นความสำคัญกับปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะ
ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาชน ในส่วนของนักวิชาการเช่น นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้ออกมาให้คำแนะนำวิธีการที่ถูกต้องในการติดตั้งเครื่องพ่นสเปร์ละอองน้ำ หรือฉีดน้ำเป็นฝอยลงมาจากตึกสูง ตามหลักวิชาการ[3]   เช่น
1. ต้องติดตั้งหัวกระจายน้ำเป็นฝอยบนหลังคาของตึกสูงไม่เกิน 100 เมตร เรียกว่า Skyscraper sprinkler system โดยจะพ่นละอองฝอยของน้าขนาด  0.1 - 3 ไมครอน ( ขนาดใกล้เคียงฝุ่น 2.5 ) ออกไปสู่บรรยากาศโดยรอบในรัศมีอย่างน้อย 50 เมตร เพื่อให้สามารถจับฝุ่นดังกล่าวลงสู่พื้นดินได้โดยต้องทำพร้อมกันหลายๆ ตึกในระดับความสูงไม่เกิน100 เมตรโดยทำในวันที่มีค่า PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน และลมสงบ ( Bad day )
2. การพ่นละอองน้ำต้องทำอย่างต่อเนื่องกันอย่างน้อย 30 นาที และเว้นระยะ 30 นาที - 1 ชม. จึงพ่นต่อได้ จะสามารถลดฝุ่นลงได้ถึงร้อยละ 70 ในบริเวณดังกล่าว
3. ในต่างประเทศตึกที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือแม่น้ำที่สะอาดก็สามารถดูดขึ้นมาและพ่นออกไปเป็นฝอยเล็กๆได้ซึ่งจะประหยัด ใช้พลังงานน้อย และได้ผลกว่าที่คิด
4. วิธีการที่จะช่วยบรรเทาลดความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กลงที่ดีที่สุดคือ การไป x-ray พื้นที่ และจัดการกับแหล่งต้นกำเนิดมลพิษจะดีและถูกต้องที่สุด

จากแนวความคิดและวิธีการแก้ปัญหา PM 2.5 แบบง่ายๆ ดังกล่าว ที่ได้ผลแบบยั่งยืนระยะยาว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเจ้าของอาคารสูงในการติดตั้งอุปกรณ์ และการสนับสนุนของภาครัฐด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม และการสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่าย ตลอดจนมาตรการส่งเสริมและจูงใจเจ้าของอาคารให้ช่วยกันติดตั้งอุปกรณ์ฯ เพื่อตอบแทนและรับผิดชอบต่อสังคม ( CSR ) โดยสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ จะเป็นมาตรการกระตุ้นและจูงใจให้เจ้าของอาคารสูงๆ หันมาให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา PM 2.5
ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ ( IT , เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ หรือระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ( GIS ) มาบริหารจัดการพื้นที่และปริมาณมลพิษทางสิ่งแวดล้อม โดยการติดตั้งเครื่องมือมาตรวัดต่างๆ เชื่อมโยงกับระบบเซ็นเซอร์ และระบบควบคุมอุปกรณ์เครื่องพ่นสเปร์ละอองน้ำแบบอัตโนมัติ เพื่อให้อุปกรณ์สามารถทำงานแบบอัตโนมัติ เมื่อค่ามลพิษมีปริมาณสูงในระดับที่อาจจะก่อให้เกิดอันตราย ทำนองเดียวกับ ระบบฟาร์มอัจฉริยะ หรือ Smart Farm เพื่อให้การป้องกัน บรรเทา ปัญหา PM 2.5 ประสบความสำเร็จ มีความต่อเนื่องและยั่งยืน รวมถึงการกำหนดมาตรการลงโทษ มาตรการป้องปราม มาตรการป้องกัน และมาตรการส่งเสริมสนับสนุน ในระยะยาว ต่อไป
---------------------------------------------------
อ้างอิง : 
[1] https://mgronline.com/around/detail/9620000010592
[2] https://www.airvisual.com/?fbclid=IwAR0s1gPX_vyxcW2l2iiNvykdlqa8yLkvQqeCzV-8C_dZdT88OhN6Lg7YKPQ

วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กิจการอวกาศเพื่อความมั่นคง กระทรวงกลาโหม vs. ฝันให้ไกล ไปให้ถึง ?

กิจการอวกาศเพื่อความมั่นคง กระทรวงกลาโหม vs. ฝันให้ไกล ไปให้ถึง ?
โดย พลเอก ฤทธี  อินทราวุธ
หัวหน้าที่ปรึกษา คณะทำงานด้านกิจการอวกาศ กระทรวงกลาโหม 
---------------------------------------
กิจการอวกาศของประเทศไทย ได้มีการดำเนินงานมานานแล้ว ทั้งในรูปแบบโดยตรงและโดยอ้อม ก่อนที่จะมีการจัดตั้ง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ( องค์การมหาชน ) หรือ สทอภ.
( GISTDA ) ในปี 2543 หากพิจารณาจากนิยามคำว่า “ กิจการอวกาศ ” หมายถึง กิจกรรมอวกาศ และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอวกาศ โดย “ กิจกรรมอวกาศ ” รวมความถึง การสำรวจ การทดลองในอวกาศ การส่งวัตถุอวกาศ วัตถุ มนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตขึ้นสู่อวกาศ การดำเนินการเพื่อการส่งหรือให้วัตถุอวกาศโคจรในอวกาศหรือกลับคืนสู่พื้นโลก และ “ กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอวกาศ ” รวมความถึง การออกแบบ การผลิตวัตถุอวกาศ การศึกษา ค้นคว้า วิจัย หรือพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศหรือภูมิสารสนเทศ [1] ซึ่งประเทศไทยเราได้มีการศึกษา ค้นคว้า วิจัยงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศ ภูมิสารสนเทศ และอวกาศ มานานแล้ว ทั้งในสถาบันการศึกษา และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการสังเกตุการณ์ทางดาราศาสตร์
ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการ NASA ERTS-1 ซึ่งเป็น ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของโลก เมื่อ 14 กันยายน 2514 ภายใต้การดำเนินงานของ โครงการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม สำนักงาน
คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดย ทำหน้าที่ประสานงาน จัดหาข้อมูลดาวเทียม ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูล ถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนจัดหาทุนฝึกอบรม ดูงาน และการประชุมทั้งระดับประเทศและนานาชาติ ต่อมาได้จัดตั้ง กองสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม ในปี 2522 และ 2525 ได้จัดตั้งสถานีรับสัญญาณดาวเทียม ขึ้นที่เขต
ลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร นับเป็นสถานีรับสัญญานดาวเทียมแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมาในปี 2543 กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่โดยรวม กองสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และ ฝ่ายประสานงานและส่งเสริมการพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ศูนย์ข้อมูลข้อสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ตั้งเป็น สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ถือเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการอวกาศของประเทศ[2]
กิจการอวกาศเพื่อความมั่นคง  กระทรวงกลาโหมได้มีแนวความคิดในการพัฒนาด้านกิจการอวกาศมาอย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน [3]   เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคง เช่น การสังเกตการณ์ห้วงอวกาศ การตรวจการณ์ทางอวกาศมายังภาคพื้นดินและพื้นน้ำ การสื่อสารและโทรคมนาคม เป็นต้น ซึ่งสามารถสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจด้านความมั่นคงของเหล่าทัพ ทั้งการปฏิบัติการภายในประเทศ และการปฏิบัติการร่วม/ผสมกับต่างประเทศ อย่างสมบูรณ์และไร้ขีดจำกัด กระทรวงกลาโหมได้เคยมีหน่วย ศูนย์พัฒนากิจการอวกาศกลาโหม ( ศพอ.กห.) ตั้งแต่  1  เมษายน 2539  และต่อมาได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยและเปลี่ยนชื่อนามหน่วยเป็น กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม ( ทสอ.กห.)  เมื่อ ตุลาคม 2547 เพื่อรองรับเทคโนโลยีสารสนเทศที่กำลังมีความสำคัญมากในขณะนั้น โดยยังคงมี กองกิจการอวกาศ[4]  ดูแลรับผิดชอบงานด้านกิจการอวกาศ ของกระทรวงกลาโหม โดยมีหน้าที่วางแผน อำนวยการ ประสานงาน เสนอแนะ กำกับดูแล และดำเนินการด้านกิจการอวกาศ และภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อความมั่นคง
นาย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามการจัดตั้งหน่วยงานสาขาใหม่ของกองทัพ เมื่อ 18 มิถุนายน 2561 เป็น กองกำลังอวกาศ[5] หรือ สเปซฟอร์ซ ( Space Force ) เป็นหน่วยเอกเทศ มีสถานะ
เทียบเท่า กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เพื่อให้มั่นใจว่า อเมริกาจะเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศไม่แพ้จีนและรัสเซีย พร้อมได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหมเริ่มขั้นตอนการก่อตั้งหน่วยงานนี้ทันที ในฐานะกองทัพที่ 6 ของสหรัฐอเมริกา มี พลเอกโจเซฟ ดันฟอร์ด ประธานคณะเสนาธิการร่วม เป็น ผู้บังคับบัญชา
กิจการอวกาศ เป็นเรื่องที่ทุกประเทศให้ความสำคัญไม่เฉพาะประเทศมหาอำนาจ ซึ่งประเทศไทยกำลังพิจารณายกร่างกฎหมาย โดยตราเป็น พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ[6] พ.ศ. ..... โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1.   เพื่อยกระดับกฎหมายด้านกิจการอวกาศของประเทศไทย
2. ให้ประเทศไทยมี นโยบาย ทิศทาง และขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีอวกาศทัดเทียมกับนานาชาติ สามารถพึ่งพาตนเอง และนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับประเทศในอนาคต
3. เพื่อกำกับกิจการอวกาศ และส่งเสริมให้เทคโนโลยีอวกาศสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนในประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
4. เป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีของตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อแสดงความรับผิดชอบร่วมกัน และแสดงให้เห็นว่า พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกในการดำเนินกิจการอวกาศ ตามภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการดำเนินกิจการของรัฐเพื่อการสำรวจ และการใช้อวกาศภายนอกดวงจันทร์และเทหะในท้องฟ้าอื่น ๆ ค.ศ. 1967 ความตกลงว่าด้วยการช่วยชีวิตนักอวกาศการส่งคืนนักอวกาศและการคืนวัตถุที่ส่งออกไปในอวกาศภายนอก ค.ศ. 1968 อนุสัญญาว่าด้วยความรับผิดระหว่างประเทศสำหรับความเสียหายที่เกิดจากวัตถุอวกาศค.ศ. 1972 และอนุสัญญาว่าด้วยการจดทะเบียนวัตถุอวกาศ  ค.ศ. 1975
กระทรวงกลาโหม ในฐานะหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีภารกิจในด้านการพัฒนาประเทศ และเป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคง มองเห็นความสำคัญด้านกิจการอวกาศ ซึ่งมีบทบาทสำคัญทั้งด้านการขับเคลื่อนนโยบาย 
ดิจิทัล
เพื่อสนับสนุน “ ไทยแลนด์ 4.0 ” การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติ  การแก้ไขปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การป้องกันบรรเทาและช่วยเหลือภัยพิบัติต่างๆ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาความมั่นคงต่างๆ จึงได้เร่งดำเนินการผลักดันการดำเนินงานด้านกิจการอวกาศเพื่อความมั่นคง ให้เกิดความเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทั้งด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนแม่บท แผนงาน และการดำเนินการ รวมถึงการพัฒนาองค์กรและบุคลากรให้มีขีดความสามารถและศักยภาพทางด้านกิจการอวกาศ เพื่อรองรับภารกิจและการปฏิบัติงานขององค์กรในระดับ “ ศูนย์กิจการอวกาศกลาโหม ” การสร้างองค์ความรู้ การสร้างการรับรู้ให้กับกำลังพล ตลอดจนการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรในกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย เหล่าทัพ และองค์กรภายนอก ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับการปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ...... และ แผนแม่บทกิจการอวกาศแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2579 ( National Space Master Plan 2017 - 2036 ) รวมถึงการเตรียมการด้านบุคลากรของกระทรวงกลาโหมในการรองรับการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับ โครงการดาวเทียมสื่อสารภาครัฐ จากการหมดสัญญาสัมปทาน ดาวเทียม THAICOM 4 ( IP STAR ) และ ดาวเทียม THAICOM 5 ซึ่งจะตกเป็นทรัพย์สินของรัฐภายใน 3 - 4 ปีข้างหน้า  และโครงการดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก หรือดาวเทียมถ่ายภาพ ความละเอียดขนาด 50 เซนติเมตร ตามโครงการ THEOS-2 ในอนาคตอันใกล้ภายใน 3 ปีนี้
การจัดสัมมนา กิจการอวกาศเพื่อความมั่นคง [7]ของ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ โรงแรมทินิดี โฮเต็ล เมื่อ 4 ธันวาคม 2561 นับเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมของการพัฒนาด้านกิจการอวกาศเพื่อความมั่นคง ของ กระทรวงกลาโหม โดยมี ลอากากาศเอก ปรเมศร์ เกษโกวิท รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานใน
พิธีเปิดการสัมมนาฯ ซึ่งมีหัวข้อในการสัมมนา คือ 1.ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกิจการอวกาศ 2. ความรู้เกี่ยวกับการเฝ้าระวังทางอวกาศ 3.ความรู้เกี่ยวกับระบบดาวเทียมสื่อสาร 4.ความรู้เกี่ยวกับระบบดาวเทียมสำรวจ หรือดาวเทียมถ่ายภาพ เพื่อสร้างความพร้อมด้านกิจการอวกาศ ของหน่วยงานภายในกระทรวงกลาโหม ให้สามารถนำเทคโนโลยีอวกาศไปใช้ในการปฏิบัติภารกิจทางด้านความมั่นคง รวมทั้งการรักษาผลประโยชน์ของชาติ การพัฒนาประเทศ และการช่วยเหลือประชาชน
กิจการอวกาศเพื่อความมั่นคง ของ กระทรวงกลาโหม เป็นเรื่องสำคัญที่มีการกล่าวถึงกันมานาน แต่ยังไม่สามารถทำให้ปรากฎมรรคผลอย่างเป็นรูปธรรม เพราะหลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว ไกลเกินเอื้อม ไกลเกินฝัน
แต่ทุกอย่างย่อมมีจุดเริ่มต้น ส่วนจะไปได้ไกลแค่ไหน อยู่ที่ความมุ่งมั่นและความพยายาม ดังคำกล่าววลีเด็ดที่ว่า “ ฝันให้ไกล ไปให้ถึง ” และคำว่า “ ล้มเหลวได้ แต่อย่าล้มเลิก ” 2 วลีนี้ ถ้าเรามีความเชื่อมั่นว่าทำได้ สักวันหนึ่งต้องสำเร็จ เช่นเดียวกับ “ กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว ”
---------------------------------------------------
อ้างอิง : 
[1] เอกสารการบรรยาย เรื่อง กิจการอวกาศของประเทศไทย โดย นาย พีร์ ชูศรี รอง ผอ.สทอภ. ในการสัมมนา กิจการอวกาศเพื่อความมั่นคง กระทรวงกลาโหม เมื่อ 4 ธ.ค.61
[2] https://gistda.or.th/main/th/node/66
[4] http://space.dist.mod.go.th/
[6] https://www.gistda.or.th/main/system/files_force/article/2582/file/document_space-14003.pdf?download=1
[7] https://www.gistda.or.th/main/th/node/2865

วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561

พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.….ใครได้ ? ใครเสีย ?


พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …. .
ใครได้ ? ใครเสีย ?
โดย พลเอก ฤทธี  อินทราวุธ
----------------------------------
หัวข้อประเด็น Talk of the town ที่ผู้คนในวงการไซเบอร์ และไอที ของไทยในเวลานี้ กำลังกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวาง ซื่งถือเป็น " เผือกร้อน " ของรัฐบาล คงไม่มีใครที่ไม่หันมาจับตามองเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ…….ที่กำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ สมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช.) ในขณะนี้
พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.….ใครได้ ? ใครเสีย ? เพราะอะไร ? และทำไมผู้คนในวงการไซเบอร์ และไอที ของไทย รวมถึงนักวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่างหันมาให้ตวามสนใจ ตื่นตระหนก
วิตกกังวล และห่วงใยในผลกระทบต่อหน่วยงานรัฐ , กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศที่มีความเสี่ยงของประเทศ ( Critical Information Infrastructure : CII ) , กลุ่มภาคธุรกิจ , เอกชน และ ประชาชนทั่วไป ซึ่งอาจจะติดตามมาจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …. .ฉบับนี้ หากไม่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เสียก่อน ที่จะผ่าน สนช.ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีความเข้าใจเรื่องไซเบอร์ !
ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงการไซเบอร์ และไอที ส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นหลักเกี่ยวกับ การปฏิบัติในโลกของความเป็นจริงแบบมาตรฐานเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ฯ หรือการปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน , การเพิ่มภาระให้กับเจ้าหน้าที่ดูแลระบบฯ , การเพิ่มภาระการลงทุนของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ , การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฯ จนเกินขอบเขต ซึ่งจะนำไปสู่การใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ หรือใช้เป็นช่องทางการเรียกรับผลประโยชน์ , การเปิดโอกาสและช่องทางในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้โดยไม่มีการกำกับตรวจสอบถ่วงดุล และการเอื้อประโยชน์แก่ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ CSA ที่ให้มีอำนาจถือหุ้น ร่วมทุน ทำให้มีสถานะเป็น Operator และ Regulator เป็นต้น โดยมีผู้ให้ความคิดเห็นบางท่าน ดังนี้
พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน หนึ่งใน คณะกรรมการเตรียมการด้านรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ มองปัญหาตามร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นต้นว่า 
กรณีที่กำหนดให้ผู้ดูแลระบบสารสนเทศ ต้องจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงอย่างน้อยปีละครั้ง ผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษปรับสองแสนบาท หรือ วันละหนึ่งหมื่นบาท และหากเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการรักษาความ
มั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) เห็นว่า การประเมินความเสี่ยงไม่น่าพอใจ ผู้ดูแลระบบ ต้องทำใหม่อีกครั้ง ผู้ดูแลระบบยังต้องกำหนดให้มีกลไกการเฝ้าระวัง และ ต้องเข้าร่วมทดสอบความพร้อมของระบบ อีกด้วย

เมื่อหน่วยงานควบคุม หรือกำกับดูแล ทราบเหตุ ให้สนับสนุน ช่วยเหลือ และแจ้งหน่วยอื่นให้ทราบด้วย รวมทั้งให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ มีหนังสือเรียกบุคคลให้ไปให้ข้อมูล ในเวลาที่เหมาะสม หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือขอข้อมูล หรือสำเนาข้อมูลเอกสารซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้อื่นอันเป็นประโยชน์แก่การดำเนินการ ต้องจัดการให้ตามนั้น ใครฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

# ประเด็นดังกล่าวข้างต้นตามความเห็นของผู้เขียน " ใครที่มีหน้าที่ดูแลด้านไซเบอร์และไอที ของหน่วยงานต่างๆ คงต้องเปลี่ยนอาชีพใหม่ ถ้าไม่อขากเสี่ยงที่จะถูกปรับ หรือเปล่า ? หรือ หน่วยงานต่างๆ คงจะต้องลงทุนจ้างบริษัทรับประกันความเสี่ยงในการปฏิบัติตามกฎหมาย ? "

พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ หรือสถานประกอบการใด ที่เกี่ยวข้องหรือคาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ของบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับความยินยอมจากผู้ครอบครองสถานที่นั้น
นอกจากนี้ เลขาธิการ กปช. ยังมีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานของรัฐด้านความมั่นคง ดำเนินการป้องกัน และ รับมือภัย เช่น สั่ง หน่วยงานทางทหารหรือตำรวจ หรือสั่งให้ ผู้บริหารรถไฟฟ้า BTS หยุดการเดินรถ เพราะมีสัญญาณไปรบกวนได้ด้วย เป็นต้น
ซึ่ง พ.ต.อ.ญาณพลฯ เห็นว่า คำว่า ระดับร้ายแรงนั้น เขียนไว้กว้างเกินไปแบบครอบจักรวาล เช่น ถ้ามีความรุนแรงที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือทรัพย์สินสารสนเทศที่สำคัญ หรือมีจำนวนมาก มาตรานี้ซึ่งตีความได้กว้างมาก เปิดช่องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ สามารถบุกบ้านของเราได้ หากคอมพิวเตอร์ของบ้านเราถูกไวรัสโจมตี เป็นต้น
หรือถ้า กปช. เห็นว่า เซิร์ฟเวอร์ของท่านมีปัญหา ไม่ว่าเป็นเครื่องที่ถูกโจมตีหรือเครื่องที่จะนำไปใช้โจมตีผู้อื่น ให้เหมารวมเอาไว้ก่อนว่า ถือเป็นเครื่องที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคาม ถ้าได้รับความยินยอมจากผู้ครอบครองสถานที่ซึ่งเซิร์ฟเวอร์นั้นตั้งอยู่ (จะมีสักกี่คนที่กล้าขัดขืน) ทางการสามารถ เข้าไปตรวจค้น และ เข้าถึงทรัพย์สินสารสนเทศ เช่น ระบบเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือฮาร์ดดิสก์ ทั้งยังสามารถทดสอบการทำงานของเครื่องเหล่านั้น ซึ่งบางทีอาจเป็นข้อมูลสำคัญหรือเป็นความลับทางการค้า รวมทั้งยังสามารถยึดเอาเครื่องไปตรวจสอบได้ถึง 30 วัน ซึ่งบางคนบอกว่า เล่นจัดหนักให้อำนาจกันถึงขนาดนี้ ควรย้ายเซิร์ฟเวอร์ไปอยู่ในต่างประเทศกันซะให้หมดเลยดีไหม?
เทียบกับกรณีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน DSI จะเข้าไปตรวจค้นที่ใด หลังจากทำให้เป็นคดีพิเศษแล้ว จึงจะมีอำนาจเข้าไปตรวจค้นได้ หรือในกรณีที่ต้องการจะแอบดักฟังการสนทนา ต้องไปขออนุญาตต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาก่อนแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น จากนั้นให้จัดทำสำเนาไว้ 2 ชุด มอบให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา 1 ชุด อีกชุดเก็บไว้ใช้ดำเนินการสอบสวนต่อ

# ประเด็นดังกล่าวข้างต้นตามความเห็นของผู้เขียน มองว่า " เป็นการให้อำนาจทางกฎหมายแก่ เจ้าหน้าที่ฯ จนเกินขอบเขตการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดบไม่มีกระบวนการพิจารณากลั่นกรอง แบบคดีพิเศษของ DSI หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 60 ฉบับล่าสุด "
ด้าน พล.อ.บรรเจิด เทียนทองดี คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติให้ความเห็นว่า การร่างกฎหมายที่ดีควรร่างมาจากความเห็นที่หลากหลายของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คุณภาพของกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่จำนวนกฎหมาย ที่เร่งออกมากันมากมาย เพื่อให้ดูมีผลงาน
ร่างกฎหมายนี้คล้ายกับร่างกฎหมายอีกหลายฉบับ ที่ผู้ร่างจงใจเขียนออกมาเพื่อตอบโจทย์ตัวเอง เอาไว้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการของตัวเอง หรือสร้างอำนาจและอาณาจักรของตัวเองขึ้นมา เท่าที่ทราบมีการไปลอกบางส่วนมาจากกฎหมายไซเบอร์ของสิงคโปร์ แต่เอามาเขียนให้กระทรวงดิจิทัลฯเป็นใหญ่
ขณะที่ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ประเมินผลกระทบของ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.......... ว่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนา
เศรษฐกิจดิจิทัล และมีเนื้อหาหลายส่วนอาจขัดขวางต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มต้นทุนในการประกอบการ และส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการดำเนินการของภาคธุรกิจอีกด้วย ซึ่งประเมินว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้จะส่งผลกระทบอย่างน้อย 9 ด้าน ดังนี้
ด้านที่1 กฎหมายฉบับนี้จะก่อให้เกิดอุปสรรคต่อความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและเนื้อหาบางส่วนอาจขัดขวางต่อการขยายตัวเติบโตของเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม
ด้านที่ 2 เปิดโอกาสและช่องทางในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้โดยไม่มีการกำกับตรวจสอบถ่วงดุลที่ดีพอ อำนาจของเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กปช ใน มาตรา 46, 47, 48, 54, 55, 56, 57 มีความอ่อนไหวสูงต่อการใช้อำนาจรัฐละเมิดสิทธิประชาชนหรือองค์กรหรือกิจการธุรกิจต่างๆ และอำนาจบางอย่างที่ระบุไว้ในกฎหมายต้องผ่านคำสั่งศาล เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชนและองค์กรต่างๆ รวมทั้งเกิดช่องทางหาผลประโยชน์ในทางที่มิชอบ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายและเกิดการทับซ้อนทางผลประโยชน์ได้ ควรมีการใช้อำนาจดุลยพินิจของเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กปช และ เจ้าหน้าที่ให้น้อยที่สุด
ด้านที่ 3 โครงสร้างการบริหารขาดการมีส่วนร่วมและยังไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี เนื่องจากผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ กปช มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีทั้งหมด จึงขาดกรรมการมืออาชีพที่เป็นอิสระในการถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐ 
ด้านที่ 4 ทรัพย์สินสารสนเทศในมาตราสาม ครอบคลุมอุปกรณ์และทรัพย์สินส่วนบุคคลของประชาชนและองค์กรต่างๆ เช่น มือถือ อุปกรณ์สื่อสารส่วนบุคคล Internet of Thing ด้วยจึงอาจก่อให้เกิดการจำกัดเสรีภาพและละเมิดสิทธิอย่างกว้างขวางได้หากผู้ใช้อำนาจไม่คำนึงถึงหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน 
ด้านที่ 5 ในมาตรา 64 การรับผิดชอบควรเกิดขึ้นเมื่อมีการฝ่าฝืนกฎหมายโดยไม่มีเหตุอันควร และ ต้องให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดโอกาสในการกลั่นแกล้งกัน เพื่อให้กฎหมายเป็นไปตามหลักนิติธรรม 
ด้านที่ 6 มีปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ CSA มีอำนาจถือหุ้น ร่วมทุน จึงมีสถานะทั้งเป็น operator และ regulator ทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือ Conflict of Interest ได้ 
ด้านที่ 7 มีการรวบอำนาจไว้ที่หน่วยงานเดียว จึงขาดการตรวจสอบถ่วงดุล
ด้านที่ 8 การกำหนดหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศไม่ครอบคลุมเพียงพอ ไม่ครอบคลุม Critical Infrastructure สำคัญ ควรมีการระบุผลกระทบและเกณฑ์ขนาดของหน่วยงานเพื่อไม่ไปสร้างภาระทางการลงทุนทางด้าน ITให้กับหน่วยงานขนาดเล็กที่ไม่มีความพร้อมหรือไม่มีศักยภาพเพียงพอ 
ด้านที่ 9 การที่ไม่ระบุอย่างชัดเจนว่าอะไรคือภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ขณะนี้จึงยังไม่สามารถพูดได้ว่า การส่งข้อมูลในอีเมล์ การส่งข้อมูลหรือเนื้อหาวิดีโอต่างๆทางสื่อสังคมออนไลน์ที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจรัฐ หรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจอาจถูกเหมารวมเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ก็ได้ ทั้งที่ไม่ได้เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นเพียงการเสนอความคิดเห็นอันเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
ทั้งนี้ ผศ.ดร.อนุสรณ์ฯ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า กฎหมายนี้แม้นจะมีความจำเป็นในการสร้างระบบความมั่นคงทางด้านไซเบอร์ แต่กระบวนการในการร่างกฎหมายต้องให้เกิดการมีส่วนร่วม และต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตย "
" การมีกฎหมายที่กำลังบังคับใช้ใหม่ แต่อยู่บนฐานคิดที่ล้าหลัง อยู่ภายใต้กรอบคิดความมั่นคงแบบเก่าๆ และไม่เป็นประชาธิปไตยเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อสังคม ต่อระบบการดำเนินธุรกิจและระบบเศรษฐกิจ "
" การมีกฎหมายหรือผู้ออกกฎหมายที่มุ่งไปที่มิติความมั่นคงมากเกินไป โดยไม่สนมิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม มิติทางด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิส่วนบุคคล เป็นเรื่องที่น่าห่วงใยอย่างยิ่งต่อสังคมไทยในอนาคต "

บทสรุปของ ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.….ฉบับนี้ ว่าใครจะได้ ใครจะเสีย ? คงไม่เป็นการยากจนเกินไปนักในการที่จะทำความเข้าใจ เพราะประเด็นต่างๆ ที่สังคมตั้งประเด็นสงสัย คลางแคลงใจ โดยเฉพาะคนในวงการไซเบอร์ และไอที ระดับกูรูมืออาชีพชั้นนำของประเทศ ที่มีประสบการณ์การทำงานด้านนี้มานานกว่า 20 - 30 ปี คงไม่ได้มีอะไรแอบแฝง หรือมีวาระซ่อนเร้น แต่ด้วยความกังวลและห่วงใย ว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ อาจจะถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่เเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน คนทั้งชาติ ตามเจตนารมณ์ของการออกกฎหมาย ?

---------------------------------------------------
อ้างอิง : 
https://www.thairath.co.th/content/1396446
https://www.thebangkokinsight.com/51957/https://www.ryt9.com/s/prg/2900732 
http://www.lawamendment.go.th/index.php/component/k2/item/1306-2018-09-27-07-35-21