วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

คนไทย 4.0 หรือ คนไทยขาเลาะ ( Thai 4.0 vs. Thai 0.0 )

คนไทย 4.0 หรือ คนไทยขาเลาะ
( Thai 4.0 vs. Thai 0.0 )
โดย พลตรี ฤทธี  อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2559 เวลา 20.15 น. อธิบายถึง คนไทย
1.0 , 2.0 , 3.0 หรือ 4.0 โดยเปรียบเทียบกับ คนใช้โทรศัพท์ว่า ถ้ายังใช้งานเพียงเพื่อการสื่อสารพื้นฐาน ก็ยังคงเป็น “คนไทย 1.0” ถ้าหากใช้ “มือถือ” ในการส่ง e-mail , ส่งไฟล์เอกสาร หรือใช้ประโยชน์ในการทำงาน และกิจวัตรประจำวัน ก็น่าจะยกระดับตนเองเป็น “คนไทย 2.0” ได้ไม่ยาก แต่ถ้าหากสามารถใช้ “สมาร์ทโฟนได้ราวกับคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อ “อินเตอร์เน็ตในการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ พัฒนาตนเอง ติดต่อกับคนทั่วโลกได้ ก็อาจได้ชื่อว่าเป็น “คนไทย 3.0” ยิ่งกว่านั้นหากสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างเครือข่าย สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ นำไปสู่การผลิต ด้วยความรู้เหล่านั้น แล้วทำให้รู้สึกว่า “ทำงานน้อยลง แต่ได้ผลผลิตมากขึ้นเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา แบบนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็น “คนไทย 4.0” โดยสรุปแล้ว ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า “ท่านมีอะไร?” แต่สิ่งสำคัญ คือ “ท่านใช้สิ่งที่ท่านมีอย่างไร? ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดโดยเฉพาะในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยอยู่บนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ว่าจะเป็น คนไทย 1.0 , 2.0 , 3.0 หรือ 4.0 ก็ตาม ขออย่าหยุดที่จะพัฒนาตนเอง [1]
ข้อเท็จจริง ปัจจุบันคนไทยเรามีทั้ง คนไทยขาเลาะ[2] หรือ คนไทย 0.0 , คนไทย 1.0 , 2.0 , 3.0 ไปจนถึง คนไทย 4.0 และบางคนอาจจะไปถึงขั้น คนไทย 5.0 ซึ่งหมายถึง คนไทยที่สามารถต่อยอดจากกลุ่ม คนไทย 4.0 ซึ่งใช้สิ่งที่มีอยู่สร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างเครือข่าย สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และนำไปสู่การผลิต โดยการรวมศักยภาพคนไทย 4.0 ให้เป็นเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก และนำไปสู่การสร้างเครือข่ายสร้างพลังอำนาจในการต่อรองผลประโยชน์ในระดับชาติ   
แต่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ คนไทยขาเลาะ หรือ คนไทย 0.0 ซึ่งหมายถึง คนไทย ที่ชอบเที่ยวเตร็ดเตร่ไปเรื่อย ไม่มีสาระแก่นสารอะไร ส่วนมากจะเป็นกลุ่มเยาวชนวัยรุ่นหนุ่มสาว ที่ชอบเที่ยวเล่นสนุกสนานไปวันๆ ไม่คิดจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม บางรายมีความพร้อมด้านฐานะสภาพความเป็นอยู่สุขสบาย บางรายก็ตรงกันข้าม แต่ที่เหมือนกันคือความเป็น คนไทยขาเลาะ หรือ คนไทย 0.0 ที่สร้างปัญหาต่อสังคมไทย เช่น การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อแข่งขันด้านวัตถุนิยมหรือค่านิยมในทางที่ผิด  เที่ยวเตร่ มั่วสุมมอมเมาทางเพศ เกี่ยวข้องยาเสพติด เป็นต้น บางรายมีทุกอย่าง แบบที่นายกรัฐมนตรีกล่าว แต่ใช้สิ่งที่ตนมีแบบไร้คุณค่า ไม่มีการพัฒนา บางรายไม่มีก็พยายามแสวงหาให้ตนมี แต่ก็ใช้สิ่งที่มีแบบไร้คุณค่าคุณประโยชน์ บางรายใช้สิ่งที่มีเพื่อกระโดดข้ามไปเป็น คนไทย 3.0 แบบผิดๆ เช่น การใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชี่ยลมีเดีย ในการเผยแพร่ข้อมูล ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวที่ไม่เหมาะสมต่างๆ รวมถึงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากการใช้สื่อดังกล่าว
ดังนั้นการที่ “ท่านมีอะไร?” และ “ท่านใช้สิ่งที่ท่านมีอย่างไร?” คงไม่เพียงพอ หากคนไทยยังขาดการปลูกฝังเพาะบ่มกระบวนการทางความคิด ( Mind Set ) ตั้งแต่วัยเด็กในด้านที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาพัฒนาประเทศเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการตามนโยบาย Thailand 4.0 [3] จึงอาจจะยังห่างไกลความเป็นจริง เพราะเรายังมี คนไทยขาเลาะ หรือ คนไทย 0.0 , คนไทย 1.0 , 2.0 และ 3.0 ที่ยังใช้สิ่งที่มีอยู่แบบผิดๆ ขาดสติ ขาดจิตสำนึก และขาดความรับผิดชอบ
การที่จะพัฒนาคนไทยเพื่อรองรับการไปสู่ Thailand 4.0 จึงต้องกลับมาเริ่มต้นที่การปลูกฝังเพาะบ่มกระบวนการทางความคิด ( Mind Set ) การสร้างความตระหนักรู้ ( Awareness ) การเสริมสร้างจิตสำนึก และสร้างค่านิยมที่ถูกต้องให้กับคนรุ่นใหม่ตั้งแต่วัยเด็ก จนถึง Generation X , Y , Z [4] ซึ่งมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในยุคดิจิตัล ให้ฉลาดที่จะเลือก ฉลาดที่จะใช้ และฉลาดที่จะอยู่กับมันได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการรู้เท่าทัน มีความตระหนัก มีจิตสำนึก และความรับผิดชอบ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ให้สามารถอยู่กับเทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด จะได้ไม่ตกเป็นทาสเทคโนโลยีแบบ คนไทยขาเลาะ หรือ คนไทย 0.0
กระบวนการปลูกฝังเพาะบ่ม ( Cultivation )  กระบวนการทางความคิดให้กับคนรุ่นใหม่ หลายประเทศที่เจริญแล้วได้ดำเนินการกันมานานแล้ว เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้ถือเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี และคนรุ่นใหม่ของประเทศเหล่านี้ถือว่าได้มีการพัฒนารุ่นต่อรุ่นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นประเทศที่ประสบปัญหาจากภัยสงครามมาในอดีต ตรงข้ามกับเด็กไทยอย่างสิ้นเชิง ที่การพัฒนาแบบย่ำเท้าอยู่กับที่ หรือถดถอยลงไปทุกวัน เพราะผู้ใหญ่มักทำแบบอย่างไว้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควร และสังคมกับเพิกเฉย หรือบางกรณีเห็นดีเห็นงามไปด้วย มีการเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชี่ยลมีเดีย ทำให้เป็นแบบอย่างในทางที่ไม่ดีแก่คนรุ่นหลังๆ
แม้ว่าจะมีการรณรงค์เสริมสร้างจิตสำนึกค่านิยมคนไทย 12 ประการ[5] ของรัฐบาล และการจัดตั้ง ลูกเสือไซเบอร์ [6] ( Cyber Scout )  มาตั้งแต่ปี 2554 โดยสร้างอาสาสมัครลูกเสือไซเบอร์ ( Cyber Scout )  ที่มีจิตสำนึกด้านจริยธรรม คุณธรรม และขยายเครือข่ายอาสาสมัครลูกเสือไซเบอร์ ( Cyber Scout )  เพื่อสนับสนุนความรักความสามัคคีภายในชาติ เฝ้าระวังและสอดส่องพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของสังคมไทย  แต่แนวโน้มพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของสังคมไทยก็มิได้ลดลง นับวันจะทวีคูณเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น กระบวนการปลูกฝังเพาะบ่มกระบวนการทางความคิดไปสู่ Thailand 4.0 ให้กับคนไทยรุ่นใหม่ จึงมีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน ควบคู่ไปกับการแจกอุปกรณ์แท็บเล็ต ( Tables ) โดยเริ่มตั้งเด็กเล็กระดับอนุบาลมาจนถึงชั้นประถมศึกษา และพัฒนาความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติ ค่านิยม จิตสำนึก และสร้างความตระหนักรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดและภัยอันตรายต่างๆ ให้กับบุคลากรทางการศึกษา ครู บาอาจารย์ เพื่อนำไปถ่ายทอดปลูกฝังเพาะบ่มกระบวนการทางความคิดให้กับเด็กรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องแบบเดียวกับประเทศที่กล่าวมาแล้ว เพียงเท่านี้ประเทศไทยก็จะเจริญก้าวหน้าไปสู่ Thailand 4.0
----------------------------------------------------------------

อ้างอิง :

[1] http://thailand.prd.go.th/1700/ewt/aseanthai/ewt_news.php?nid=6679&filename=index


[6] http://www.cyberscout.in.th/home.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น