วันอังคารที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2560

“เงิน” หายจากระบบเศรษฐกิจไปสู่ “ปัจจัยที่5” ใครได้ ใครเสีย เพราะอะไร ?

“เงิน” หายจากระบบเศรษฐกิจไปสู่ “ปัจจัยที่5”  ใครได้ ใครเสีย เพราะอะไร ?
โดย พลตรี ฤทธี อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก

เนื้อหาข้อความเรื่อง “เงิน” หายจากระบบเศรษฐกิจ ไปสู่ “ปัจจัยที่5” ของ ตราชู กาญจนสถิต ข้างล่างนี้ ที่ถูกแชร์กันในโลกโซเชียลอย่างกว้างขวาง สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยในความเป็นจริงยุคปัจจุบัน ที่กำลังจะก้าวไปสู่ Thailand 4.0
แน่นอน ในแง่เศรษฐกิจ ถ้ามองดูตัวเลขการเติมโตของธุรกิจมือถือและอินเตอร์เน็ต คงเป็นที่ปลื้มอกปลื้มใจของบรรดาเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นกลุ่มธุรกิจดังกล่าว แต่ในภาพเศรษฐกิจของประเทศ เม็ดเงินมหาศาลดังกล่าว ที่ไหลออก
ไปสู่ต่างประเทศจำนวนไม่น้อย จนเกิดเป็นประเด็นคำถามของสังคมขึ้นมาว่า “เรากำลังหลงทางกันรึเปล่า ?
ในแง่สังคม เรากำลังส่งเสริมสนับสนุนการสร้างค่านิยม ให้กับคนในสังคมไทยตั้งแต่รุ่นเด็กอนุบาลขึ้นไปให้หลงใหลไปกับความฟุ้งเฟ้อ ความทันสมัยมากจนเกินไปรึเปล่า ? ดูจากจำนวนปริมาณมือถือที่เติบโตปีละ 25 ล้านเครื่อง เฉลี่ยเดือนละ 2 ล้านเครื่อง ที่นำเข้าจากต่างประเทศ คนไทย 60 กว่าล้านคน แต่ใช้มือถือเกือบ 100 ล้านเครื่อง ยังไม่รวมค่าบริการ และค่าทำธุรกรรมต่างๆ ด้านการซื้อขายแบบออนไลน์ ที่ไหลออกไปต่างประเทศ ไม่ต่างอะไรกับ เลือดที่กำลังไหลออกนอกกายโดยไม่รู้ตัว !
เรื่องการพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ควรจะต้องมองให้ครอบคลุมรอบด้าน ครบทุกมิติ และจะต้องมีความสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี รวมถึง มิติความมั่นคงปลอดภัยทั้ง 3 ด้าน
ความมั่นคงปลอดภัยด้านเศรษฐกิจ ทำอย่างไร ? จึงจะไม่เสี่ยง ไม่เสียเปรียบต่างประเทศ , ความมั่นคงปลอดภัยด้านสังคม ทำอย่างไร ? จึงจะไม่เกิดผลกระทบทางสังคม ไม่มาทำลายค่านิยมไทย หรือสร้างค่านิยมแบบผิดๆ และความมั่นคงปลอดภัยด้านเทคโนโลยี ทำอย่างไร ? จึงจะมีความมั่นคงปลอดภัย และมีความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยี เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ ผู้บริหารประเทศจะต้องมองความเป็นจริงในสังคม ถ้าเอาแต่มโนโลกสวย ดูแต่ข้อมูลด้านเดียว มองไม่เห็นด้านที่เสีย ก็เป็นการยากที่จะพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0

-----------------------------------
“เงิน” หาย จากระบบเศรษฐกิจ ไปสู่ “ปัจจัยที่5”
-----------------------------------
ใครๆ ก็บ่นว่าขายของไม่ออก เศรษฐกิจไม่ดี เผอิญว่าไปอ่านบทความหนึ่งของ Wall Street Journal ที่น่านำมาคิดต่อ คือเป็นบทความที่รายงานว่า บริษัทเนสท์เล่ , บริษัทโคคาโคลา , บริษัทขายแชมพู ในอินเดีย ยอดขายตก !! เค้าวิจัย พบว่าคนอินเดีย เอาเงินไปใช้กับ "มือถือ" และพวกเค้ากำลังสนุกกับการใช้ Internet จากมือถือ เลยเอาเงินไปซื้ออินเตอร์เน็ตกันมาก เลยลดการใช้เงินกับสินค้าและเครื่องดื่มที่คุ้นเคย ( http://on.wsj.com/2vJnQs4 ) จนยอดขายของเนสท์เล่ ,โค้ก และอื่นๆ ลดลง
ผมเลยเกิดความสงสัยครับ ว่าแล้วเมืองไทยล่ะ ธุรกิจของเราได้รับผลกระทบ จากการบูม ของมือถือไหม เรามาดูตัวเลขกันครับ
1. จำนวนโทรศัพท์มือถือในเมืองไทย ในปี 2017 มีจำนวน 90 ล้านเครื่อง
2. ค่าใช้จ่ายโทรศัพท์มือถือ แต่ละเบอร์ มีค่าเฉลี่ยประมาณ 220 บาทต่อเดือน (ข้อมูลปี 2558)
3. แต่ละปี ต้องนำเข้าโทรศัพท์มือถือ เข้ามาประมาณ 25 ล้านเครื่อง (ข้อมูลปี 2556) ค่าเฉลี่ยเครื่องละ 7 พันบาท (จากการประเมินของ กสทช.)
เรามาดูกันครับ ว่าในปีหนึ่งๆ คนไทยเสียเงินไปกับการใช้ "มือถือ" เป็นเงินเท่าไหร่?
-ค่าใช้สัญญาณโทรศัพท์ = 90 ล้านเครื่อง x ฿220/ด. x 12 ด./ปี คิดเป็นเงิน 237,600 ล้านบาท ต่อปี
-ค่าซื้อเครื่องโทรศัพท์    = 25 ล้านเครื่อง x ฿7,000/เครื่อง คิดเป็นเงิน 175,000 ล้านบาท ต่อปี
รวมสองตัวเลขนี้ ออกมาเป็น 412,600 ล้านบาทต่อปี หรือ พูดกันง่าย ๆ ว่า เงินในกระเป๋าคนไทย จำนวน สี่แสนกว่าล้านบาท หายไปกับการใช้ การมีโทรศัพท์มือถือ (แน่นอนว่า เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้บ้าง ไม่มากก็น้อย) เงินจำนวนนี้ ถ้าเอาไปซื้อรถ ราคา 1 ล้านบาท ก็จะได้รถยนต์ 4 แสนกว่าคัน (ปี 2559 เราซื้อรถเก๋งกัน 5 แสนกว่าคัน) เงินจำนวนนี้หายออกไปจากระบบไปสู่เมืองนอก 1.75 แสนล้านบาท ไปสู่บริษัทที่ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์ อีก 2.37 แสนล้านบาท ถามว่า ในยุคที่มือถือยังไม่บูม เงินสี่แสนกว่าล้านบาทนี้ ถูกนำไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ อย่างไร?
ผมไม่สามารถสรุปได้ ว่า เงิน 4 แสนเกือบ 5 แสนล้านบาท ที่หายออกไปจากระบบของเรานั้น ส่งผลอะไรต่อระบบเศรษฐกิจ ส่งผลอะไรกับการซื้อขายอาหารการกินที่แม่ค้าแม่ขายบ่นกันทั่วหน้าหรือเปล่า หรือ 4-5 แสนล้านบาทนี้เป็นเงินจิ๊บ ๆ เมื่อเทียบกับเม็ดเงิน ที่หมุนเวียนกันอยู่ ในระบบของเรา ผมก็เอามา ให้คิดกันเล่น ๆ ครับ
ตราชู กาญจนสถิต
8 ส.ค. 2560
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1102153729914972&id=625602934236723

-----------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น