วันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2560

คณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

คณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

โดย พลตรี ฤทธี  อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการ ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เมื่อ 19 กันยายน 2560 เพื่อเตรียมการด้านการพัฒนาและการรักษา
ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข พลังงาน การทหาร ระบบการเตือนภัย และการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ อีกทั้งสามารถป้องกันหรือรับมือกับสถานการณ์ด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยคุ้มครองและสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ร่างระเบียบดังกล่าว กำหนดให้ นายกรัฐมนตรี เป็น ประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็น รองประธานคนที่ 1 และรองประธานคนที่ 2 รวมถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวนไม่เกิน 7 คน เป็นกรรมการ โดยให้ปลัดกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้รองปลัดกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
คณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ จะมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายและแผนระดับชาติ ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี บูรณาการ จัดการพัฒนา และการสร้างศักยภาพในการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินทางความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยการจัดทำแผนแม่บทด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อปกป้องด้านโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ  พิจารณากำหนดโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศ และวางกรอบการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชน โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วย หน่วยงานประสานงานกลาง หน่วยงานเผชิญเหตุฉุกเฉิน และกรอบมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตามหลักการบริหารความเสี่ยง ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินการ ประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการระดับชาติหรือคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายอื่น เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการจัดให้มีหรือปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
ในมุมมองของการเตรียมความพร้อม ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ เพื่อการรับมือกับภัยคุกคามและการโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ ถือได้ว่าการจัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เป็นอีกก้าวหนึ่งของความสำคัญและความตระหนักในระดับรัฐบาล แต่บทเรียนความล้มเหลวที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติมาแล้ว แต่ก็ไม่ประสบผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ทางภาครัฐ ภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ ก็คงเป็นไปตามสูตรเดิมๆ คือ ผู้บริหารระดับสูงยังไม่ให้ความสำคัญในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เท่าไรมากนัก การสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาบุคคลากรและอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือป้องกันการโจมตีก็ล่าช้าอยู่ในลำดับความเร่งด่วนท้ายๆ  ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการดิ้นรน เต้นแร้งเต้นกาไปตามยถากรรม แต่เวลาโดนโจมตี โดน Hack เปลี่ยนหน้าเว็บ เจาะระบบ เจาะฐานข้อมูล ฯลฯ ก็ค่อยเต้นเป็นไฟไหม้ฟาง พอเรื่องซาลงก็เข้าสูตรเดิม ที่สำคัญการให้ความสำคัญต่อบุคคลากรภาครัฐที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ทักษะ ประสบการณ์ในด้านไซเบอร์ ในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีความเจริญก้าวหน้าเติมโตไปตามลำดับ และการนำมาใช้ประโยชน์ต่อทางราชการอย่างเต็มทีเช่นเดียวกับบุคคลากรผู้เชี่ยวชาญสายงานอื่นๆ ที่เกษียณอายุราชการไปแล้วในระบบราชการยังมีช่องทางอยู่น้อยมาก ทำให้บุคลากรเหล่านี้ต้องหันไปพึ่งพาองค์กรภาคธุรกิจเอกชน จนทำให้องค์กรภาคธุรกิจเอกชนเหล่านี้มีการพัฒนาเสริมสร้างขีดความสามารถ ด้านรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มากกว่าองค์กรภาครัฐ
อีกบทเรียนแห่งความล้มเหลว ในการจัดตั้งคณะกรรมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อนุกรรมการฯ คณะทำงานฯ ต่างๆ  ซึ่งมักจะใช้สูตรเดิมๆ คือ ข้าราชการหรือผู้บริหารระดับสูงยุค Analog ผู้สูงอายุที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ ทักษะ ประสบการณ์การทำงานจริง และไม่ค่อยจะมีเวลาในการทำงานด้านไซเบอร์อย่างเต็มที่ เวลาจะคิดจะทำอะไรก็มักใช้คนใกล้ชิดคนใกล้ตัวเป็นหลัก โดยไม่ได้ไปเสาะแสวงหาผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์เฉพาะในแต่ละด้านมาเป็นกลไกขับเคลื่อนในการทำงาน ก็คงเป็นการยากที่จะทำให้การทำงานของ คณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้ เพราะดูภารกิจ หน้าที่ และขอบเขตของคณะกรรมการฯ ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งมีจำนวนมากมายหลากหลายงานจึงไม่เป็นการง่ายเลย ในการที่จะหาบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์เฉพาะในแต่ละด้านมาช่วยกันทำ แต่ถ้ายังคงเป็นแบบพวกมากลากไป คนของใครคนของมัน ไม่ต่างอะไรกับ “ การติดกระดุมผิดในเม็ดแรก ”

---------------------------------------------

อ้างอิง :

https://www.dailynews.co.th/politics/599338

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น