ไซเบอร์
:
หนึ่งในพลังอำนาจทางทหารที่กองทัพทั่วโลกจับตามอง แต่ไทยมึน ?
(
Cyber : One of the Military power )
พลตรี
ฤทธี อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก
การทหาร
ถือเป็นหนึ่งในกำลังอำนาจแห่งชาติ หรือ พลังอำนาจของชาติ[1] ( National Power ) นอกเหนือจาก การเมือง , เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา ถือเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงของชาติ
( National Security ) ที่
สำคัญที่สุด ประเทศใดที่กำลังอำนาจทางการทหารมีความอ่อนแอ
ไม่มั่นคงแข็งแรงเพียงพอ ก็มักจะถูกแทรกแซง หรือถูกรุกรานจากประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพทางทหารที่เหนือกว่า
ดังนั้นในหลายประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก จึงให้ความสำคัญด้านการพัฒนาเสริมสร้างกำลังอำนาจทางการทหาร
เพื่อใช้ในการปกป้องคุ้มครองเอกราช อธิปไตย
และผลประโยชน์ของชาติ
หรือใช้เป็นอำนาจในการต่อรอง
การพัฒนาเสริมสร้างกำลังอำนาจทางการทหารของแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน
ขึ้นกับสภาพแวดล้อมของภัยคุกคาม การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา
ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ การพัฒนาเสริมสร้างกำลังอำนาจทางการทหารของประเทศมหาอำนาจส่วนใหญ่
เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน อังกฤษ ฯลฯ มักจะให้ความสำคัญและใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมหาศาลกับ “ อาวุธยุทโธปกรณ์ ”
เพื่อใช้ในการสู้รบ ปกป้องเอกราช และอธิปไตยของตัวเอง
รวมทั้งการใช้เป็นเครื่องมือทางการทหาร เพื่อสร้างความได้เปรียบให้แก่ตัวเองในเชิงยุทธศาสตร์ต่างๆ
ในหลายพื้นที่และหลายสมรภูมิทั่วโลก[2] จากข้อมูลผลการสำรวจอันดับกองกำลังทางทหารที่มีพลังมากที่สุดในโลก
35 อันดับ โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆราว 50 กว่าปัจจัย อาทิ งบประมาณด้านการทหาร กำลังพล
และจำนวนยุทธภัณฑ์ในแต่ละประเทศ โดยสหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับหนึ่งของโลก
มีงบประมาณด้านการทหารที่สูงที่สุดในโลก คือราว 612,500,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ , รัสเซียตามมาเป็นอันดับสอง
, จีนอยู่ในอันดับสามของโลก โดยมีงบประมาณด้านการทหารอยู่ที่ 126,000,000,000
ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับประเทศไทย
ติดอันดับที่ 24 มีงบประมาณด้านการทหาร 5,390,000,000
ดอลลาร์สหรัฐฯ[3] ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การพัฒนาเสริมสร้างกำลังอำนาจทางการทหารของทุกประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ
แต่อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทย ก็ถือว่าการจัดลำดับกองกำลังทางทหารที่มีพลังมากที่สุดในโลกนี้อยู่ในลำดับกลางๆ
ค่อนข้างล่างจาก 35 ประเทศ ทั้งนี้เนื่องมาจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ
ประกอบกับปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ รวมถึงความต้องการงบประมาณเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ
การพัฒนาเสริมสร้างกำลังอำนาจทางการทหารของประเทศต่างๆ
ทั่วโลกส่วนใหญ่จะไปในทิศทางเดียวกัน นอกเหนือจากกำลังรบและอาวุธยุทโธปกรณ์แล้ว
สิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นในการพัฒนาเสริมสร้างกองทัพให้มีประสิทธิภาพและมีศักยภาพทางการทหารในยุคปัจจุบันและอนาคต
โดยใช้งบประมาณไม่มากนัก แต่สามารถเสริมสร้างขีดความสามารถและศักยภาพทางการทหารให้มีความเหนือกว่าและเป็นที่เกรงขาม
คงหนีไม่พ้นการเสริมสร้างและพัฒนากองทัพในด้านไซเบอร์ ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติการทางทหาร
ให้เกิดความได้เปรียบ และลดการสูญเสียด้านกำลังรบและอาวุธยุทโธปกรณ์
ไซเบอร์
(
Cyber ) กองทัพชั้นนำในหลายๆ ประเทศ
โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ได้ให้ความสำคัญกับ การปฏิบัติการทางไซเบอร์ ( Cyber Operations
) มานานหลายสิบปีแล้ว โดยปัจจุบันได้มีการจัดตั้ง กองบัญชาการไซเบอร์[4] (
Cyber Command ) หรือ กองทัพไซเบอร์ ขึ้นมา โดยมีนายทหารยศ
“ พลเอก ” เป็น ผู้บัญชาการ เพื่อรองรับการปฏิบัติการทางทหารในโลกไซเบอร์
หรือพื้นที่ปฏิบัติการทางไซเบอร์ ( Cyber Domain ) รวมถึงการทำสงครามไซเบอร์ (
Cyber Warfare ) ซึ่งหลายประเทศต่างได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานด้านไซเบอร์
รวมถึงการพัฒนาเสริมสร้างกำลังรบส่วนหนึ่งที่เรียกว่า “ นักรบไซเบอร์
” ( Cyber Warrior ) ทั้งแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผยอย่างเป็นทางการ
อาทิเช่น กองทัพสหรัฐอเมริกา จีน เกาหลี ฯลฯ ตามที่เป็นข่าวปรากฏเกี่ยวกับการโจมตีหรือเจาะระบบของพวกแฮ็กเกอร์
( Hacker ) และการแพร่ระบาดของไวรัสคอมพิวเตอร์ (
Virus Computer ) หรือโปรแกรมไม่พึงประสงค์ ( Malware ) ต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก สำหรับกองทัพของไทยได้มีการจัดตั้งหน่วยงานไซเบอร์ขึ้นมาเช่นกัน
โดยเน้นไปในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ( Cyber Security ) ให้กับระบบสารสนเทศขององค์กรเป็นหลัก
ซึ่งจะมีความแตกต่างกับการพัฒนาเสริมสร้างกำลังกองทัพด้านไซเบอร์ของประเทศอื่นๆ
ที่นอกเหนือจากภารกิจด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แล้ว ต่างมุ่งเป้าไปสู่การพัฒนากำลังรบแบบ หน่วยรบไซเบอร์
( Cyber Forces ) เพื่อการปฏิบัติการไซเบอร์เชิงรุก
และการทำสงครามไซเบอร์เป็นการเฉพาะ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถ ศักยภาพ
อำนาจกำลังรบ และความได้เปรียบทางการทหารในพื้นที่ปฏิบัติการทางไซเบอร์ หรือ ไซเบอร์โดเมน
( Cyber Domain ) ในการสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารในมิติการรบอื่นๆ
เช่น พื้นที่ปฏิบัติการทางภาคพื้นดิน ( Land Domain ) , พื้นที่ปฏิบัติการทางภาคพื้นน้ำ ( Sea
Domain ) และพื้นที่ปฏิบัติการทางอากาศ
( Air Domain )
หากเรายังคงจัดตั้งหน่วยงานไซเบอร์ของกองทัพขึ้นมา
เพื่อการดูแลงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นหลัก
โดยไม่ให้ความสำคัญเร่งด่วนในด้านการพัฒนาเสริมสร้างกำลังพลและหน่วยงานไซเบอร์เพื่อไปสู่การปฏิบัติการไซเบอร์เชิงรุกเช่นเดียวประเทศต่างๆ
ทั่วโลกซึ่งใช้งบประมาณจำนวนไม่มากนัก จะทำให้การพัฒนาเสริมสร้างกำลังกองทัพด้านไซเบอร์ล้าหลัง
อาจจะเป็นการพัฒนากองทัพที่ผิดทิศทาง ไม่ทันต่อสถานการณ์และภัยคุกคามในอนาคต
การเสริมสร้างและพัฒนากองทัพในด้านไซเบอร์
จึงมีความสำคัญควบคู่ไปกับการพัฒนาเสริมสร้างกำลังรบและอาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล
แต่การการเสริมสร้างและพัฒนากองทัพในด้านไซเบอร์เป็นการลงทุนระยะยาว
มีความต่อเนื่อง ที่ใช้งบประมาณไม่สูงมากนัก แต่สามารถเพิ่มศักยภาพทางทหารได้ไม่น้อย
ดังนั้น กองทัพจึงควรหันมาให้ความสำคัญและปรับแนวคิดในการพัฒนาเสริมสร้างหน่วยงานดังกล่าว
อย่ารอให้เกิดสงครามไซเบอร์ขึ้นมาก่อนแล้วค่อยคิดได้ “ ไซเบอร์ ”
ก็คงไม่ต่างจาก “ เกลือ ” ดังสุภาษิตโบราณว่า “แกงจืดจึงรู้คุณเกลือ”
-----------------------------------------
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
[1] https://hengwelcome5000.files.wordpress.com/2014/07/283-e0b89ee0b8a5e0b8b1e0b887e0b8ade0b8b2e0b899e0b8b2e0b888e0b981e0b8abe0b988e0b887e0b88ae0b8b2e0b895e0b8b4-national-power-5.pdf
[2] http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1445838104
[3] https://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1405075034
[4] https://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1360126342
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น