วันอังคารที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560

แนวคิดการจัดตั้ง ศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหม

แนวคิดการจัดตั้ง ศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหม
(Concept of Defense Cyber Command Center )

โดย พลโท ฤทธี  อินทราวุธ

ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงกลาโหม

ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และไซเบอร์


สถานการณ์ความรุนแรงของภัยคุกคามและการโจมตีทางไซเบอร์ในปัจจุบัน นับวันจะทวีความเข้มข้นและความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ทั้งด้าน
การเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และการทหาร หลายประเทศได้มีความตระหนักและมีการตื่นตัวในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภัยคุกคามและการโจมตีดังกล่าว โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การสหประชาชาติได้ออกมาแจ้งเตือนว่า สงครามโลกครั้งที่ 3 อาจจะเกิดบนโลกไซเบอร์ วอนนานาชาติเร่งหาทางรับมือ [ 1 ]
สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสงครามไซเบอร์มากที่สุด โดยเริ่มปรับหลักนิยม ทางทหารใหม่ ได้เพิ่ม สมรภูมิการรบที่ 5 คือ ไซเบอร์โดเมน ให้เทียบเท่ากับสมรภูมิรบที่มีอยู่เดิม คือ บก ทะเล อากาศ และอวกาศ สมรภูมิบกก็จะมี กองทัพบกรับผิดชอบ สมรภูมิทะเลหรือมหาสมุทรก็จะมีกองทัพเรือดูแล ส่วนห้วงอากาศก็จะมีกองทัพอากาศคอยปกป้องอยู่ ส่วนอวกาศนั้นจะมีหน่วยทหารที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แต่ยังไม่ถึงกับเรียกว่าเป็นกองทัพอวกาศ ดังนั้นการที่กำหนดให้ไซเบอร์เป็นอีกหนึ่งสมรภูมิแห่งการสู้รบนั้น เพื่อที่จะได้จัดตั้งกองกาลังที่รับผิดชอบในการรบในสมรภูมินี้ โดยล่าสุดสหรัฐฯ ได้ก่อตั้งกองทัพไซเบอร์ขึ้น เรียกว่า กองบัญชาการไซเบอร์ (Cyber Command)
กองบัญชาการไซเบอร์ [ 2 ] (US CYBERCOM) เป็น กองบัญชาการรบร่วมระดับรอง ( Sub-unified command ) ขึ้นตรงกับกองบัญชาการด้านยุทธศาสตร์ (US STRATCOM) หน่วยบัญชาการไซเบอร์ตั้งอยู่ในฐานทัพฟอร์ทมีด ( Fort Meade )  มลรัฐแมร์รี่แลนด์  ( Maryland ) ซึ่งเป็น ศูนย์บัญชาการรบร่วม ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการปฏิบัติการทางทหารในไซเบอร์โดเมนทั้งหมด ปัจจุบันประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 60 ว่ากำลังยกระดับกองบัญชาการไซเบอร์จากเดิมอยู่ภายใต้กองบัญชาการด้านยุทธศาสตร์ ให้เป็นกองบังคับบัญชาพลรบรวม (Unified Combatant Command) อย่างเต็มรูปแบบ และให้แยกออกจากสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (NSA) ซึ่งก่อนหน้านี้กองบัญชาการไซเบอร์อยู่ภายในสำนักงานใหญ่ของ NSA มาแล้ว 8 ปี
หน้าที่หลักของกองบัญชาการไซเบอร์ คือ การปกป้องระบบเครือข่ายที่ทหารเป็นผู้รับผิดชอบ ในขณะที่ระบบเครือข่ายของรัฐบาลฝ่ายพลเรือนนั้นจะเป็นหน้าที่ของ กระทรวงโฮมแลนด์ซีเคียวลิตี้ หน่วยบัญชาการไซเบอร์จะมีส่วนของกองกำลังที่อยู่ในสังกัดเหล่าทัพต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย กองทัพบกที่ 2 (2nd Army), กองทัพเรือที่ 10 (10th Fleet), กองทัพอากาศที่ 24 (24th Air Force) และกองกำลังไซเบอร์กองทัพน้อยนาวิกโยธิน (US Marine Corps Forces Cyberspace Command) ในส่วนของกองทัพอากาศที่ 24 ประกอบด้วย 3 กองบิน และ 1 ศูนย์ปฏิบัติการ ซึ่งประกอบด้วย 67th Network Warfare Wing , 688th Information Operations Wing , 689th Combat Communications Wing และ 624th Operations Center นอกจากนี้ กองบัญชาการไซเบอร์ ยังประกอบด้วยส่วนสนับสนุนกำลังรบร่วมต่างๆ   สำหรับหน่วยงานทหารซึ่งจะให้การสนับสนุนร่วมกับกองบัญชาการไซเบอร์ ได้แก่
·       Army Cyber Command (Army)
·       Fleet Cyber Command/Tenth Fleet (Navy)
·       Air Forces Cyber/Twenty-Fourth Air Force (Air Force)
·       Marine Corps Cyberspace Command (Marine Corps)
ส่วนทหารที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ( Military Specialties ) เป็นส่วนที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรงด้านไซเบอร์  โดยทหารเหล่านี้จะได้รับคำสั่งจากส่วนสนับสนุนกำลังรบร่วมของตนตามสายการบังคับบัญชา ได้แก่
·       US Army - นายทหารสงครามไซเบอร์, เจ้าหน้าเทคนิคปฏิบัติการไซเบอร์, ผู้เชี่ยวชาญสงครามไซเบอร์
·       US Navy – ด้านเครือข่ายช่างเทคนิคด้านการเข้ารหัส
·       US Air Force – ส่วนปฏิบัติการสงครามพื้นที่ไซเบอร์
·       US Marine Corps – ส่วนปฏิบัติการเครือข่ายไซเบอร์และส่วนงานวิเคราะห์/ปฏิบัติการเครือข่ายดิจิทัลระบบทางรหัส
กองบัญชาการไซเบอร์ มีการจัดตั้งทีมไซเบอร์ (Cyber teams) ตั้งแต่ปี 2015 เพื่อตอบสนองภารกิจในแต่ละด้าน จำนวนถึง 133 ทีมไซเบอร์ ดังนี้
·       ทีมภารกิจระดับชาติ จำนวน 13 ทีม เพื่อการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ในวงกว้าง
·       ทีมป้องกันไซเบอร์ จำนวน 68 ทีม เพื่อปกป้องเครือข่ายของกระทรวงกลาโหมที่มีความสำคัญและให้ความเร่งด่วนต่อระบบต่อต้านภัยคุกคามต่างๆ
·       ทีมภารกิจด้านการรบ จำนวน 27 ทีม ดำเนินการโจมตีทางไซเบอร์แบบส่วนร่วมสำหรับสนับสนุนแผนการปฏิบัติต่างๆ และการปฏิบัติในกรณีฉุกเฉินต่างๆ
·       ทีมสนับสนุน 25 ทีม สำหรับการสนับสนุนการวิเคราะห์และการวางแผน
สภากลาโหมได้มีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2560-2564[ 3 ] รองรับยุทธศาสตร์ไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศ ครอบคลุม 6แผนงาน คือ แผนงานจัดองค์กรด้านไซเบอร์ , แผนการป้องกันระบบโครงสร้างพื้นฐาน , แผนการพัฒนาความพร้อมในการปฏิบัติการไซเบอร์เชิงรุก และการปฏิบัติสงครามไซเบอร์ แผนการดำรงและพัฒนา ศักยภาพด้านไซเบอร์ รวมทั้งแผนการสนับสนุนศักยภาพด้านไซเบอร์ระดับชาติ และแผนการร่วมมือและพัฒนาศักยภาพไซเบอร์ โดยได้มีการจัดตั้ง ศูนย์ไซเบอร์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม  ,ศูนย์ไซเบอร์กองบัญชาการกองทัพไทย และศูนย์ไซเบอร์เหล่าทัพขึ้น และล่าสุดเมื่อวันที่  21 ก.ย. 60 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ประกาศว่า รัฐบาลตั้งเป้าปี 61 จะสร้างนักรบไซเบอร์ให้ได้ 1,000 คน[ 4 ]
การจัดตั้ง ศูนย์ไซเบอร์ของกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ ดังกล่าว เป็นไปในลักษณะต่างฝ่ายต่างทำ ไม่ประสานสอดคล้อง และไม่มีความเป็นเอกภาพ  ซึ่งแตกต่างจากการจัดหน่วยไซเบอร์ของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งมี กองบัญชาการไซเบอร์  เป็นหน่วยระดับ กองบัญชาการรบร่วม ( Unified Command ) ทำให้ประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม ทั้ง 6 แผนงาน ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านไซเบอร์ของกระทรวงกลาโหม ครอบคลุมแผนงานตามร่างแผนแม่บทไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม จึงควรพิจารณาจัดตั้ง ศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหม   ( Defense Cyber Command Center : DCCC )  เช่นเดียวกับกองทัพสหรัฐ ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับสถานการณ์และแนวโน้มความรุนแรงของภัยคุกคามด้านไซเบอร์ตามที่ได้กล่าวมาแล้วขั้นต้น และเป็นไปตามแนวทางการพัฒนากองทัพด้านไซเบอร์ของสหรัฐฯ ที่มีการประกอบกำลังครอบคลุมทั้ง 3 เหล่าทัพ เพื่อความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติงานร่วมกัน เป็นการบูรณาการและควบคุมการปฏิบัติด้านไซเบอร์ของหน่วยงานในกระทรวงกลาโหม , สนับสนุนศักยภาพด้านไซเบอร์ระดับชาติ และประสานการร่วมมือและพัฒนาศักยภาพด้านไซเบอร์ในระดับชาติ ซึ่งจะมีการจัดตั้ง ศูนย์ไซเบอร์อาเซียน ในเร็วๆ นี้
แนวทางการจัดตั้ง ศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหม ควรเป็นหน่วยระดับ กองบัญชาการรบร่วม ( Unified Command ) โดยการแปรสภาพ ศูนย์ไซเบอร์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม เป็น ศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหม เป็นหน่วยขึ้นตรง สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม  มี ผู้บัญชาการไซเบอร์กลาโหม ( Defense Cyber Commander )  ( อัตรา พลเอก ) เป็น ผู้บังคับบัญชา มี รองผู้บัญชาการไซเบอร์กลาโหม ( Deputy Defense Cyber Commander ) ( อัตรา พลโท ) จำนวน 4 อัตรา มาจาก กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ โดยปรับเกลี่ยตำแหน่ง/อัตรา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ( อัตรา พลเอก )  และตำแหน่ง อัตราผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ ( อัตรา พลโท )  เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านกำลังพลและงบประมาณ โครงสร้างการจัดประกอบด้วย  กองบัญชาการ , ศูนย์ไซเบอร์กลาโหม ( ศูนย์ไซเบอร์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม ปรับสายการบังคับบัญชาใหม่ )  และมีศูนย์ไซเบอร์กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ ขึ้นควบคุมทางยุทธการเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตระดับชาติ โดยมีภารกิจ ตามกรอบร่างแผนแม่บทไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2560-2564 และมีสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ( สทป. ) หรือ DTI.  ให้การสนับสนุนในด้านการพัฒนาบุคลากร การศึกษาวิจัย และการประสานความร่วมมือต่างๆ ด้านไซเบอร์ ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม สามารถจัดตั้งศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหมเพื่อการทดลองปฏิบัติงาน ไปพลางๆก่อนเช่นเดียวกับกองทัพบก ในการทดลองปฏิบัติงาน ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ที่ผ่านมาก่อนการจัดตั้งหน่วยจริง หรือจะจัดตั้งตามแนวทางการจัดตั้ง ศูนย์การแก้ไขปัญหาความมั่นคงแบบบูรณาการ ( ศมบ.) ก็คงจะมีความเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วและเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงกลาโหมและประเทศชาติสืบไป เรื่องแบบนี้ต้อง คิดเร็วทำเร็ว อย่าปล่อยให้เป็นไปแบบคำสุภาษิตโบราณกล่าวว่า " กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ "
-------------------------------------------------
อ้างอิง :
[1] http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9520000118760
[2] https://en.wikipedia.org/wiki/United_States_Cyber_Command

[4] https://www.thairath.co.th/content/1076524

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น