วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2558

สกรู๊ฟข่าว งาน Army Cyber Contest 2015 ใน ข่าวทหารบก ปีที่ 24 ฉบับที่ 24 วันศุกร์ที่ 18 ก.ย.58

งาน Army Cyber Contest 2015 จัดขึ้นตามนโยบายของกองทัพบก และผู้บัญชาการทหารบก ที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ โดย ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร / ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจาก กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและธุรกิจเอกชน ซึ่งมี พลตรี ฤทธี อินทราวุธ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร รับผิดชอบในการจัดงานฯภายใต้ Concept ก้าวสู่หลักประกันความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ของชาติ Go ahead for National Cyber Security Warranty ซึ่งสอดรับกับแนวคิดของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยได้สั่งการในงานแถลงยุทธศาสตร์ชาติ ของ นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร 2557 ที่ สโมสรกองทัพบก เมื่อ 3 กันยายน 2558 ให้นำเอาแนวความคิดการปฏิบัติการไซเบอร์ และการต่อต้านสงครามไซเบอร์ ของศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ใส่ไว้ใน Digital Economy จัดเชื่อมโยงเครือข่าย และขยายผลในระดับชาติ รวมไว้ในโครงสร้างระบบเศรษฐกิจแบบ Digital Economy ของรัฐบาล และให้กระทรวงกลาโหมไปดูภาพรวม
งานดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกของกองทัพบก  ที่มีการจัดงานด้านเทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยและการปฏิบัติการไซเบอร์ที่ยิ่งใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อปลุกกระแสการรณรงค์ เสริมสร้างศักยภาพทางด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ของกองทัพ การสร้างความตระหนักถึงภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ และการแข่งขันทักษะการปฏิบัติการไซเบอร์ระหว่างเหล่าทัพ ในงานประกอบด้วย การบรรยายพิเศษ นิทรรศการ และการแข่งขันทักษะการปฏิบัติการไซเบอร์ ( Cyber Contest ) ถือเป็นการจัดแข่งขันระหว่างเหล่าทัพครั้งแรก เพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพกำลังพลของกองทัพด้านไซเบอร์ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดย พลเอก ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ได้กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานฯ และ พลเอก อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก ได้กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีปิดฯ และมอบถ้วยรางวัลชนะเลิศการแข่งขันฯ โดยมีผลการแข่งขันฯ ดังนี้ ชนะเลิศลำดับที่ 1 ทีมกรมการทหารสื่อสาร, ชนะเลิศลำดับที่ 2 ทีมศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร, ชนะเลิศลำดับที่ 3 ทีมกระทรวงกลาโหม, ชนะเลิศลำดับที่ 4 ทีมศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร, ชนะเลิศลำดับที่ 5 ทีมกองบัญชาการกองทัพไทย และถ้วยรางวัลชมเชย ประกอบด้วย ทีมผสมกรมยุทธการทหารบกและกรมข่าวทหารบก , ทีมกองทัพเรือ และทีมกองทัพอากาศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและขีดความสามารถของกองทัพบกและเหล่าทัพ ในความพร้อมกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์

การแข่งขันทักษะการปฏิบัติการไซเบอร์ ถือเป็นกลไกที่สำคัญยิ่งอันหนึ่งในการพัฒนาบุคลากร ให้มีความรู้ความสามารถนำสู่การปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาขีดความสามารถ ศักยภาพ ทักษะ และประสบการณ์ของกำลังพลให้มีความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ นับเป็นจุดเริ่มต้นในการประสานความร่วมมือ และประเมินการทดสอบทักษะขีดความสามารถด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ทั้งเชิงรุกและเชิงรับของบุคลากรของกองทัพ  ซึ่งจะนำไปสู่การจัดตั้งและพัฒนาหน่วยงานไซเบอร์ของกองทัพได้เร็วขึ้น โดยในปีต่อๆไป คาดว่าจะมีการขยายผลความร่วมมือและเปิดกว้างในการจัดการแข่งขันฯ ไปยังหน่วยงานภายนอก ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ และความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ของประเทศ และเป็นหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยให้กับการพัฒนาประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบดิจิตอล และผลตอบรับจากการจัดงานฯในครั้งนี้ ได้ปลุกกระแสรัฐบาล กองทัพ องค์กรภาครัฐและธุรกิจเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชนทุกแขนง ให้หันมาตระหนักถึงภัยคุกคามด้านไซเบอร์ และได้เห็นถึงการเตรียมมาตรการรับมือภัยคุกคามด้านไซเบอร์ของกองทัพ ตามนโยบายของรัฐบาล


แหล่งข้อมูล : ข่าวทหารบก ปีที่ 24 ฉบับที่ 24 วันศุกร์ที่ 18 ก.ย.58

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

สัมภาษณ์พิเศษ “หน่วยรบไซเบอร์” อำนาจกำลังรบไร้ตัวตน

หน่วยรบไซเบอร์”  อำนาจกำลังรบไร้ตัวตน
สัมภาษณ์ โดย วรรณโชค ไชยสะอาด (โพสต์ทูเดย์)

เมื่ออำนาจในโลกไซเบอร์กำลังทรงพลัง...
 ปี 2558 ผลสำรวจของ " แคสเปอร์สกี้ แลป " ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสระดับโลก โดย นายยูริ นาเมสนิคอฟ นักวิจัยอาวุโสด้านความปลอดภัย จากทีมวิเคราะห์และวิจัยระดับโกลเบิล แคสเปอร์สกี้ แลป เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงถูกโจมตีทางไซเบอร์เป็นอันดับ 33 จาก 250 ประเทศทั่วโลก เนื่องจากยังมีผู้นิยมใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน และไม่นิยมอัพเดตซอฟต์แวร์  รวมทั้งยังไร้มาตรการดูแลเรื่องความมั่นคงและปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ที่ชัดเจน และรัดกุม  ข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้กองทัพไทยให้ความสำคัญ และเร่งพัฒนาหน่วยงาน ที่เรียกว่า “ศูนย์ไซเบอร์” ขึ้นมา

ทำไมต้องให้ความสำคัญกับ “ไซเบอร์
หนทางนำพาประเทศไปสู่ความเจริญ มั่งคั่ง และมีเสถียรภาพ  จำเป็นต้องมี พลังทางอำนาจ ใน 5 ด้าน ได้แก่ พลังทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การทหาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งน้ำหนักที่รัฐบาลใส่ลงไปในแต่ละด้าน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และทิศทางการบริหารของแต่ละประเทศ หากว่ากันเฉพาะ “ พลังอำนาจทางทหาร ”  กองทัพไทยเริ่มให้ความสำคัญกับ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มากขึ้น โดยเฉพาะประเด็น ภัยคุกคามด้านไซเบอร์
พล.ต.ฤทธี  อินทราวุธ  ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร บอกว่า พลังอำนาจทางทหาร  มีพื้นที่ปฏิบัติการหลักๆ อยู่  5 ด้าน ได้แก่ พื้นที่ปฏิบัติการบนดิน ( Land Domain ) , พื้นที่ปฏิบัติการในน้ำ ( Sea Domain ) , พื้นที่ปฏิบัติ
การในอากาศ ( Air Domain ) และพื้นที่ปฏิบัติการบนห้วงอวกาศ ( Space Domain )  ทั้งหมดถูกควบคุม โดยไซเบอร์ โดเมน” ( Cyber Domain ) ซึ่งนับเป็นโดเมนที่สำคัญมาก
 “ ต่อให้คุณมีกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยเต็มไปหมด แต่ไม่สามารถควบคุมสั่งการได้ก็เท่านั้น ไม่เห็นภาพการเคลื่อนไหวทางการรบ เพราะถูกแฮกเข้าไปในระบบ โจมตีในโครงข่าย บิดเบือนข้อมูลต่างๆ นานาจนกองทัพเสียการควบคุมบังคับบัญชา และพ่ายแพ้
 ทั้งนี้ ด้วยงบประมาณของพื้นที่ปฏิบัติการอื่นที่มีค่อนข้างมหาศาลเมื่อเทียบกับ “ไซเบอร์โดเมน” ทำให้ประเทศขนาดเล็กหลายประเทศ ที่มีงบประมาณด้านการทหารจำกัด เลือกสร้างศักยภาพทางทหารให้แข็งแกร่งด้วย  “ไซเบอร์ วอริเออร์ หรือ นักรบไซเบอร์” แทน ในต่างประเทศเราเห็นตัวอย่างของภัยคุกคาม หรือการโจมตีทางไซเบอร์ระดับรุนแรงกันอย่างบ่อยครั้ง เช่น การปล่อย ไวรัสสตักซ์เน็ต (  Stuxnet ) ทำลายระบบโรงงานผลิตอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศอิหร่าน จนทำให้ต้องปิดโรงงานทั้งหมด พล.ต.ฤทธีฯ บอกว่า หน่วยรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ National Cyber security and Integration Center ( NCCIC )  ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดระดับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ( Spectrum of  Cyber Threats ) ไว้  4 ระดับ ดังนี้
1.ภัยคุกคามในระดับรัฐบาลแห่งชาติ ( National Governments ) คือ ภัยที่อาจจะเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ เช่น การโฆษณาชวนเชื่อ การเปลี่ยนแปลงหน้าเว็บไซต์ เพื่อสร้างความรำคาญให้กับหน่วยงานของรัฐ  ตลอดจนถึงขั้นทำให้เกิดการหยุดชะงักของโครงสร้างพื้นฐาน  เช่น ระบบไฟฟ้า ประปา เป็นต้น
2. การก่อการร้าย และ กลุ่มการก่อร้าย ( Terrorists )  มุ่งสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของประเทศ รวมทั้งสร้างความหวาดกลัวไปยังประชาชนในประเทศเป้าหมาย
3.สายลับหรือพวกจารกรรมในภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มองค์กรอาชญากรรม ( Industrial Spies and Organized Crime Groups ) การจารกรรมขององค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรเครือข่ายอาชญากรรมต่างๆ เป็นภัยคุกคามระดับกลางของประเทศ 
4.กลุ่มแฮ็กเกอร์ที่มีอุดมการณ์ ( Hacktivists ) กลุ่มแฮ็กเกอร์ ( Hacker) ที่มีอุดมการณ์เป็นรูปแบบของกลุ่มเล็กๆ มีแรงจูงใจหรือแนวทางเพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง หรือบุคคลทางการเมือง รวมทั้งกลุ่มต่อต้านต่างๆ ในระดับประเทศที่เป็นฝ่ายตรงกันข้าม 
5. แฮ็กเกอร์  ( Hackers) การโจมตีไซเบอร์แบบนี้จะเกิดมากที่สุด และมีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง โดยพวกเหล่าแฮ็กเกอร์มือสมัครเล่น สามารถก่อให้เกิดภัยคุกคามที่สำคัญอย่างกว้างขวาง และส่งผลกระทบรวมทั้งการสร้างความเสียหายในระยะยาวให้กับโครงสร้างพื้นฐานในระดับชาติได้
 5 ข้อดังกล่าวคือภัยคุกคามของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ  ซึ่งห่างไกลจากระดับความรุนแรงของเมืองไทย ที่ส่วนใหญ่จำนวนมากเป็นเพียงไวรัส มัลแวร์ , การแฮกหน้าเว็บ และการโจมตีด้วยข้อมูลข่าวสาร ที่สร้างความเสียหาย ซึ่งภัยคุกคามของประเทศ เป็นที่มาของการกำหนดภารกิจ ซึ่งกองทัพบกได้เน้นในเรื่องความมั่นคงของชาติเป็นหลัก โดยให้ความสำคัญกับระดับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ 4 ด้าน ได้แก่
1.ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ การใช้ไซเบอร์เพื่อสร้างให้เป็นภัยคุกคามในระดับประเทศ หรือระดับชาติ วิธีการอาจจะเพียงแค่ใช้เว็บไซต์ของประเทศตนเอง เผยแพร่ข่าวสารที่ทำให้เกิดความได้เปรียบทางการเมือง หรือด้านความมั่นคง หรือข้อมูลความลับของชาติ การแพร่กระจายโปรแกรม ไม่พึงประสงค์
2. ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( จชต. ) เป็นการใช้ไซเบอร์ เพื่อการเผยแพร่ข่าวสารของผู้ก่อความไม่สงบ เพื่อให้สื่อมวลชนกระแสหลักนำไปเผยแพร่ต่อ หรือเพื่อให้ประชาชนทั่วไป รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐเกิดความกลัวเกรง ถือเป็นการปฏิบัติการข่าวสาร (IO ) การปฏิบัติการจิตวิทยาอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีการแสดงถึงผลงานของผู้ก่อความไม่สงบที่อาจจะส่งผลกระทบ ทำให้เกิดแนวร่วมของผู้ก่อความไม่สงบเพิ่มขึ้น
3.ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันฯ เป็นสิ่งที่กระทำได้ง่าย และยากต่อการดำเนินคดีต่อผู้กระทำ การดำเนินการดังกล่าว มีทั้งการเผยแพร่ภาพที่หมิ่นสถาบันฯ การวิจารณ์สถาบันฯ ในทางเสื่อมเสีย  โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่อาจจะดำเนินการได้  เนื่องจาก สาเหตุหลายประการ อาทิ ผู้กระทำไม่ได้อยู่ประเทศไทย หรือผู้กระทำใช้เครื่องมือของต่างประเทศ ซึ่งกฎหมายของต่างประเทศไม่ได้รับรองความผิดในฐานความผิดนั้น
4.ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของกองทัพ เพื่อทำให้ภาพลักษณ์ของกองทัพหรือผู้นำกองทัพเสื่อมเสีย เพื่อลดความน่าเชื่อถือในสังคม ย่อมจะสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อการปกป้อง หรือพิทักษ์อธิปไตยของชาติ
ปัจจุบันมีการมอนิเตอร์ เฝ้าระวัง ข้อมูลข่าวสาร เนื้อหาต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องและสร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่นของประเทศตลอดเวลา สิ่งไหนที่สามารถตอบโต้ได้ภายใต้กฎหมาย เราก็จะพยายามสร้างเนื้อหา เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่พี่น้องประชาชน ขณะเดียวกันยังตรวจสอบไปยังแหล่งที่มาของการสร้างความเสียหาย เพื่อประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงไอซีที เพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป” ผอ.ศูนย์ไซเบอร์กล่าว และว่านอกจากเรื่องระบบข้อมูลแล้ว ศูนย์ไซเบอร์ยังมีหน้าที่รณรงค์ปลูกฝังให้ความรู้แก่ ข้าราชการทหารและประชาชนให้เกิดความตระหนัก ในการใช้เครื่องมือสื่อสารอย่างชาญฉลาด ปลอดภัยไม่ตกเป็นเหยื่อ หรือเป็นพาหะในการแพร่กระจายความผิด โดยไม่รู้เท่าไม่ถึงการณ์อีกด้วย  ”
  
เร่งพัฒนานักรบอย่างต่อเรื่องทั้งเชิงรุกและเชิงรับ
พล.ต.ฤทธี บอกว่า การปฎิบัติการของศูนย์ไซเบอร์ในปัจจุบันให้น้ำหนักไปที่เชิงรับ คือการพัฒนาระบบป้องกันเครือข่ายข้อมูลของหน่วยงานในกองทัพ  ส่วนเชิงรุกเนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ก็ได้สร้างและพัฒนาคนไว้อย่างต่อเนื่อง  ดังเช่นการแข่งขันระบบงานจำลองการฝึกด้านไซเบอร์ (Cyber Range) ภายใต้งาน “อาร์มี ไซเบอร์คอนเทสต์ 2015” (Army Cyber Contest 2015) ที่ผ่านมานั่นเอง
 “ ในเชิงรุก ยืนยันว่ากองทัพไม่ได้มีพัฒนาคนเพื่อไปละเมิดกฎหมายหรือสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแน่นอน เป็นหลักของการปฏิบัติงานในหน่วยงานอยู่แล้ว
 ขณะเดียวกัน พล.ต.ฤทธี บอกอีกว่า ในอนาคตกองทัพเตรียมพัฒนาหลักสูตรไซเบอร์เป็นของตัวเอง เนื่องจากปัจจุบันสร้างคนจากหลักสูตรของสถาบันและบริษัทเอกชนอื่นที่มีหลักสูตรเรื่อง
การรักษาความปลอดภัยด้านสารสนเทศ หรือ ไซเบอร์ซีเคียวริตี้  และอีกหนึ่งความคาดหวังของ ผอ.ไซเบอร์ ก็คือ การลงทุนกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย
มนุษย์มีข้อจำกัดทางด้านสมองและร่างกาย เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเฝ้าระวัง คัดกรองข้อมูล หรือจัดการกับภัยคุกคามแทนคนมากกว่าที่เป็น เนื่องจากปัจจุบันมีการกระทำความผิดในโลกไซเบอร์เยอะมาก  ส่วนตัวเชื่อว่าอำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน และลงทุนน้อยเป็นที่เรื่องควรให้ความสนใจ  เพราะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยรักษาความมั่นคงของประเทศที่ค่อนข้างได้ผลไม่น้อยหน้ากว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ แสนยานุภาพกำลังรบอื่นๆ  เพราะแฮกเกอร์คนเดียว อาจจะหยุดกองทัพได้ทั้งกองเลยก็ได้
สงครามไซเบอร์กำลังทรงพลัง และทรงประสิทธิภาพมากกว่าการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ เราสามารถที่จะใช้การปฏิบัติการไซเบอร์สร้างความเข้าใจ บิดเบือน ชี้นำ หรือควบคุมอาวุธยุทโธปกรณ์ของฝ่ายตรงข้ามให้หันไปทางอื่น หรือโจมตีกันเองก็ได้ นับเป็นการเปลี่ยนวิถีการรบในอนาคตอย่างแท้จริง  
------------------------------------------
แหล่งที่มา : http://www.posttoday.com/analysis/report/389038

วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558

กองทัพเร่งฝึก นักรบไซเบอร์รับมือแฮกเกอร์ทั่วโลกโจมตีประเทศไทย

สกรู๊ฟพิเศษ ผู้จัดการออนไลน์
17 ก.ย. 58

               บิ๊กตู่ สั่ง กองทัพ-สมคิด-อุตตมะรับมือสงครามไซเบอร์ (Cyber Warfare) เร่งบูรณะเศรษฐกิจดิจิตอลให้ขับเคลื่อนไปพร้อมปกป้องความมั่นคงของชาติ ด้านกองทัพพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญปฏิบัติการไซเบอร์ ทั้งใน
เชิงรุก-เชิงรับ สกัดกั้นภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ ที่แฮกเกอร์ระดับโลกใช้ไทยเป็นเป้าโจมตี จัดตั้ง “ ศูนย์ไซเบอร์กองทัพ รับมือแฮกเกอร์ทั่วโลก ที่เข้ามาสร้างผลกระทบต่อประเทศชาติ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ด้านผู้เชี่ยวชาญระบบคอมพ์ ย้ำทหารดูแลดีกว่าให้การเมืองคุมศูนย์ฯ 
               จากสถานการณ์ไซเบอร์ของประเทศไทยในวันนี้ ที่ถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่ถูกโจมตีผ่านระบบไซเบอร์เป็นอันดับที่ 33 จาก 250 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะสถานการณ์การถูกโจมตีเมื่อ เดือนสิงหาคม ที่ผ่านมานั้น บรรดาหน้าเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการ อาทิ เว็บไซต์ของจังหวัดลำพูน และเว็บไซต์ของฝ่ายอำนวยการ 1 บก.อก. กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ถูกเจาะ
ระบบเปลี่ยนหน้าโฮมเพจเป็นข้อความเรียกร้องสันติภาพชาวมุสลิม พร้อมระบุว่าเป็นฝีมือของ แฮกเกอร์แอลจีเรีย ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นมาในขณะที่ประเทศไทย ยังไม่มีมาตรการดูแลเรื่องความมั่นคงและปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ที่ชัดเจน และรัดกุม หากปล่อยไว้โดยไม่เร่งดำเนินการจัดการจากภัยคุกคามจากโลกไซเบอร์ บรรดาแฮกเกอร์ในที่ต่างๆ ทั่วโลก สามารถใช้จุดอ่อนหรือช่องโหว่ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศไทย เข้ามาทำลาย หรือรบกวนขัดขวางการทำงานโดยโจมตีระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์โครงสร้างพื้นฐานสำคัญของชาติได้ ทั้งนี้เพราะระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของภาครัฐ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจโทรคมนาคม ตลอดจนภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการคุกคามในระดับบุคคลและองค์กรซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติ เศรษฐกิจ และสังคม 
               ดังนั้น รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมีนโยบายและสั่งการ เพื่อรับมือกับสงครามไซเบอร์ โดยให้มีการบูรณการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล ควบคู่ไปกับความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ระดับชาติ ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงกลาโหมเป็นผู้ดูแลภาพรวม อย่างไรก็ดีกองทัพมีการเตรียมความพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจดังกล่าว ทั้งในเรื่องการพัฒนาบุคลากรทางการทหารให้มีความเชี่ยวชาญการปฏิบัติการด้านไซเบอร์เชิงรับ ( Defensive ) และการปฏิบัติการด้านไซเบอร์เชิงรุก ( Offensive ) โดยหลายปีที่ผ่านมา มีการนำร่องการอบรมเพิ่มทักษะให้กับกำลังพลของกองทัพ โดย ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร กองบัญชาการกองทัพบก ดำเนินการในเรื่อง อัตรากำลัง และงบประมาณที่จะฝึกฝนความรู้ทางด้านไซเบอร์ ให้บุคลากรนายทหารระดับสูงจนถึงระดับกลาง ตลอดจนการสรรหาคนเก่งปรับจากชั้นประทวนเป็นชั้นสัญญาบัตรและจะสนับสนุนให้เป็นนักรบไซเบอร์หรือทหารรบไซเบอร์ และในปีที่ผ่านมา ยังมีการเปิดรับสมัครคนนอกที่เก่งด้านไซเบอร์เข้ามาติดยศเป็นนายทหารของกองบัญชาการกองทัพไทย 
               ปัจจุบันมีการพัฒนาบุคลากรของกองทัพในรูปแบบการแข่งขันระบบงานจำลองการฝึกด้านไซเบอร์ ( Cyber Range ) ที่จัดขึ้นภายใต้งาน อาร์มี ไซเบอร์คอนเทสต์ 2015” ( Army Cyber Contest 2015 ) เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่ กองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งทั้งหมดเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะขยายศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร สู่ ศูนย์ไซเบอร์ของกองทัพบก ให้เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ภายใต้กรอบการปฏิบัติงานทั้ง “ Scope ” และ “ Scale ” ออกเป็น 4 ด้าน คือ 1.ภัยคุกคามที่ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ 2.ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) 3.ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อสถาบัน และ4.ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของกองทัพ
               ด้าน พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร กล่าวว่า ถือว่าปีนี้เป็นครั้งแรกที่ กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือ และสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่ง
เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการฝึกทักษะเพื่อรองรับการปฏิบัติงานความมั่งคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ของชาติ ( National Cyber Security ) และการเตรียมพร้อมด้านบุคลากรซึ่งเป็นนักรบไซเบอร์ในการปฏิบัติการทางทหาร ถือว่ามีความจำเป็นสำหรับยุคนี้ เพราะไซเบอร์สเปซ เป็น โดเมนที่5” ซึ่งนอกเหนือจากการฝึกทักษะทั้งทางพื้นดิน ผืนฟ้า อากาศ และอวกาศแล้ว การปฏิบัติการในไซเบอร์โดเมนจะเข้าไปเกี่ยวพันกับการปฏิบัติการในทุกมิติ 
               ขณะที่ ดร.ปริญญา หอมอเนก ผู้เชี่ยวชาญทางระบบคอมพิวเตอร์และความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ( Information Security ) ให้ความเห็นกับ Special scoop ว่าการตั้ง กองบัญชาการไซเบอร์ สอดคล้องกับสถานการณ์สงครามไซเบอร์ ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ซึ่งภายในเวลา 5 เดือน เว็บไซต์ถูกเจาะระบบมากถึง 6,000 แห่ง นอกจากนั้นประเทศไทยยังติดอันดับโลกโดยเป็น 1 ใน 5 ของประเทศที่โดนแฮกมากที่สุด เพราะเว็บไซต์โดนฝังไวรัสโทรจัน หน้าเวบเพจ เป็นว่าเล่น และยังติดอันดับ 7 ประเทศแรกที่โดนเป็นเป้าหมายโจมตีมากที่สุด ซึ่งจากข้อมูลรีเสิร์ชของอเมริกา
ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่เป็นเป้าหมายถูกแฮก ทั้งในมิติเรื่องความมั่นคงรัฐ ด้านธุรกิจ ซึ่งตรงนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสร้างระบบความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ขึ้นมา “ เมื่อเร็วๆ นี้เว็บไซต์ภาครัฐถูกแฮกเกอร์เจาะแก้หน้าเว็บไซต์ ซึ่งจุดนี้ก็ต้องยอมรับว่าการรับมือสงครามไซเบอร์ของประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม โดยเฉพาะเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีเป็นหลักหมื่น ต้องมีการปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน เพราะยังกระจัดกระจายต่างคนต่างทำ ตัวอย่างองค์การบริการจังหวัดได้งบมาก็ไปเช่าโฮสติ้ง 500 บาทต่อเดือน แถมบางแห่งใช้ชื่อโดเมนลงท้ายว่า .com แทนที่จะใช้ .go.th ปัญหาส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าไม่มีการตั้งหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบดูแลโดยตรง” 
               ส่วนแนวทางในการแก้ปัญหามีตั้งแต่ การตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อตรวจสอบดูแลเว็บไซต์ต่างๆ ที่เป็นของราชการให้ผ่านมาตรฐาน โดยจ้างเอกชนมาทำหน้าที่ตรวจสอบ 10 บริษัทแบ่งให้รายละ 100 เว็บไซต์ แล้วนำมาหรือหากจะยึดการดำเนินการตามแนวทางเดิม โดยหน่วยงานเป็นผู้ดำเนินการเว็บไซต์ด้วยตัวเองนั้น ก็ต้องทำให้มีมาตรฐานมากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ดร.ปริญญา บอกด้วยว่า ในการฝึกทหารไซเบอร์ที่กระทรวงกลาโหม เป็นผู้ดูแลกับการตั้งหน่วยงานขึ้นมาตรวจสอบดูแลเว็บไซต์ สามารถดำเนินการไปด้วยกันได้ เพราะถือเป็นการเตรียมคนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านความมั่นคงด้านไซเบอร์ ( Cyber Security ) ขณะเดียวกันการที่ทหารฝึกนำระบบจำลองยุทธ์ทางไซเบอร์
ซึ่งเป็นการแข่งขันสนามจำลองยุทธ์ ประกอบด้วย 1.เกมเทคโนโลยี 2.เอ็ดดูเคชัน 3.เอนเตอร์เทนเมนต์ รวมกัน ซึ่งเกมนี้ส่งเสริมให้มีทักษะประสบการณ์ทางด้านไซเบอร์ และสร้างศักยภาพกำลังพลของกองทัพด้านไซเบอร์ เพระมีการฝึกทั้งเชิงรุกและเชิงรับโดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ เรดทีม ( ทีมเจาะบุกเข้าไปแฮก : Offensive ) และบลูทีม ( Defensive ) เป็นทีมปิด โดยวิธีการนี้จะเพิ่มจำนวนกำลังพลของศูนย์ไซเบอร์กองทัพบกไปถึงเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว คาดว่าภายในเวลา 1- 2 ปี บุคลากรที่เป็นนักรบไซเบอร์ที่มีความเก่งและความเชี่ยวชาญจะเพิ่มเป็นหลักร้อยคน ที่สำคัญหากประเทศไม่มีความมั่นคงทางไซเบอร์แล้ว แนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบดิจิตอลอีโคโนมีจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ที่ผ่านมาเราใช้เศรษฐกิจนำ แต่อันที่จริงแล้วความมั่นคงและเศรษฐกิจจะต้องไปด้วยกัน จะทำให้ดิจิตอลอีโคโนมีมีความชัดเจนดีขึ้นทั้งเศรษฐกิจและความปลอดภัย โดยในวันแถลงยุทธศาสตร์ชาติ-ยุทธศาสตร์ทหาร พศ. 2559-2563 ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวขณะเยี่ยมชมบูทศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของภัยบนโลกไซเบอร์ จึงให้นโยบายและแนวทางกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และ ดร.อุตตมะ สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นำไปสานต่อ ให้นำแนวความคิด การปฏิบัติการไซเบอร์ และการต่อต้านสงครามไซเบอร์ของศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ใส่ไว้ใน “ Digital Economy ” จัดเชื่อมโยงเครือข่าย และขยายผลในระดับชาติ รวมไว้ในโครงสร้างระบบเศรษฐกิจแบบ “ Digital Economy ” ของรัฐบาลและให้กระทรวงกลาโหมไปดูภาพรวม ” 
               ดร.ปริญญา ระบุว่า การให้นโยบายครั้งนี้สอดคล้องกับบทบาทและศักยภาพการปฏิบัติงานของ ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และรับมือกับภัยคุกคามที่มองไม่เห็นบนเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงกำหนดให้ " ดิจิตอลอีโคโนมีจะต้องเชื่อมต่อกับไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างทำไม่มีการเชื่อมโยงและบูรณาการดิจิตัลไปในภาคเศรษฐกิจ ขณะที่กองทัพดำเนินการทางด้านความมั่นคงทางไซเบอร์” การที่พลเอกประยุทธ์ให้การบ้าน รองนายกฯ และ รมว.ไอซีที ถือเป็นจุดเริ่มต้นว่าจะเอาจริงเอาจัง เรื่องไซเบอร์บูรณาการเชื่อมโยงกับนโยบายดิจิตอลอีโคโนมีชัดเจน
-------------------------------------
แหล่งที่มา : http://m.manager.co.th/Home/detail/9580000104403

วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558

การแข่งขันทักษะการปฏิบัติการไซเบอร์
( Army Cyber Contest 2015 )
สัมภาษณ์พิเศษ นสพ. ข่าวทหารบก
พลตรี ฤทธี  อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร

กองทัพบกได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาเสริมสร้างประสิทธิภาพในการบริหาร และการปฏิบัติงานของกองทัพให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนากำลังพลให้ “ ทันโลก ทันข่าวสาร ทันงาน และทันคน ” พลเอก วิมล วงศ์วานิช  ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้น จึงได้จัดตั้ง ศูนย์สารสนเทศ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ขึ้นในปี ๒๕๓๘ และปีต่อมา พลเอก ประมณฑ์ ผลาสินธุ์    ผู้บัญชาการทหารบก ท่านต่อมาได้อนุมัติจัดตั้ง ศูนย์เทคโนโลยีทางทหารกองทัพบก เป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก โดยมีประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ในปี ๒๕๔๔ และในปี ๒๕๔๘ ได้เปลี่ยนนามหน่วยเป็น ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร และปรับการบังคับบัญชาเป็นหน่วยขึ้นตรง กรมการทหารสื่อสาร จนถึงปัจจุบัน
ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิก ริเริ่มการก่อตั้ง และรับราชการอยู่ในหน่วยนี้มาตลอดเกือบ ๒๐ ปี จนได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร คนปัจจุบัน ได้เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายกองทัพบก ไปสู่การปฏิบัติงานที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม นอกเหนือจากการดูแลสวัสดิการกำลังพลและครอบครัว ตามนโยบายผู้บัญชาการทหารบก โดยได้ดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่สำคัญ เช่น การบูรณาการระบบสารสนเทศของกองทัพบก ให้เกิดประสิทธิภาพ มีความรวดเร็ว ถูกต้องเชื่อถือได้ มีความเป็นเอกภาพ และลดการปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อน , การพัฒนาระบบงานเพิ่มเติมให้กับหน่วยต่างๆ ในกองทัพบก ทั้งระบบงานการศึกษา งานสวัสดิการกำลังพลและครอบครัว งานการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น , การให้บริการระบบคอมพิวเตอร์แม่ข่ายต่างๆ ให้กับหน่วยในกองทัพบก รวมถึงการพัฒนาระบบโครงข่ายข้อมูลสารสนเทศ อย่างครอบคลุมและทั่วถึงส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งระบบทางสายและไร้สาย  เพื่อพัฒนาไปสู่การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง ( Network Centric Operations )
นอกเหนือจากงานบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว กองทัพบกยังได้รับมอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ทดลองปฏิบัติงานเป็น ศูนย์ไซเบอร์ของกองทัพบก ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ระยะเวลา ๑ ปี เพื่อเตรียมการรองรับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ตามนโยบายของรัฐบาล นับเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมของกองทัพบก ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์  ในการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ ซึ่งปัจจุบันนับวันจะทวีความเข้มข้นและรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หลายประเทศได้กำหนดความสำคัญให้พื้นที่บนโลกไซเบอร์ ( Cyber Domain )  เป็น ๑ ใน ๕ ของโดเมนปฏิบัติการทางทหาร
ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร และ ศูนย์ไซเบอร์ของกองทัพบก ได้ดำเนินการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติงานที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรในการปฏิบัติงานด้านไซเบอร์ โดยมีงานสำคัญหลักเร่งด่วน 3 ประการ คือ
การปฏิบัติการไซเบอร์ ( Cyber Operations ) โดยทำหน้าที่เป็นเสมือน ศูนย์ปฏิบัติการไซเบอร์   ( CSOC ) เพื่อ เฝ้าระวัง แจ้งเตือน ป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ตลอดจนการพัฒนาขีดความสามารถในการปฏิบัติการไซเบอร์เชิงรุก เพื่อให้สามารถปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อโต้ตอบและโจมตีฝ่ายตรงข้ามได้ในกรณีจำเป็น
การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ( Cyber Security ) โดย การรณรงค์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ปลูกสร้างจิตสำนึกและความตระหนัก ติดตามกำกับดูแลการปฏิบัติของหน่วยตามมาตรการการรักษาความมั่งคงปลอดภัย รวมถึงการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยคุกคาม และการป้องกันด้านการรักษาความมั่งคงปลอดภัยไซเบอร์ , การติดตาม สืบค้น และตรวจสอบช่องโหว่ของระบบ รวมถึงการดำเนินการพิสูจน์หลักฐานทางดิจิตอล
การปฏิบัติการข่าวสารบนไซเบอร์ ( Information Operations )  เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการข่าวสารของกองทัพบกและหน่วยที่เกี่ยวข้อง โดยทำหน้าที่ เฝ้าระวัง แจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารบนไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบต่อสถาบัน และความมั่งคงของชาติ , การรวบรวม วิเคราะห์ ทิศทาง แนวโน้ม โครงข่ายความสัมพันธ์ของข้อมูล ประเภทสื่อ และกลุ่มเป้าหมาย , การติดตาม สืบค้น แหล่งที่มาและเป้าหมาย และการกำหนดมาตรการป้องปราม ตอบโต้ สกัดกั้น รวมถึงการประสานการดำเนินการตามกฎหมาย
นอกเหนือจากการปฏิบัติงานหลักด้านไซเบอร์ทั้ง ๓ ประการแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ขีดความสามารถ และประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยการจัดการประชุมแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์กับกองทัพบกสหรัฐ , การจัดบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญ , การประชุมสัมมนาด้านไซเบอร์, การฝึกอบรมจากหน่วยงานองค์กรและสถานศึกษาด้านไซเบอร์ , การจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการจากผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ ตลอดจนการศึกษาดูงานทั้งในประเทศและนอกประเทศ
ทั้งนี้ เพื่อให้ ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร และ ศูนย์ไซเบอร์ของกองทัพบก เป็นหน่วยมีความพร้อมทั้งด้านการบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และเป็นหลักประกันด้านการรักษาความมั่งคงปลอดภัยไซเบอร์ของกองทัพบก อย่างแท้จริง สมกับคำปฏิญาณตนของหน่วยว่า “ เราเดินหน้าเป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายกองทัพบก ไปสู่การปฏิบัติงานที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้คำขวัญ “ รอบรู้ ริเริ่ม รูปธรรม มีระดับมาตรฐาน
สำหรับปี ๒๕๕๘ นี้ นับเป็นปีที่มีความสำคัญยิ่งของ ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร เนื่องจากได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง ให้รับผิดชอบดำเนินงานสำคัญของรัฐบาล และกองทัพบก จำนวน ๒ งาน คือ รับผิดชอบฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฝ่ายลงทะเบียนผู้เข้าร่วมกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติฯ ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์และการลงทะเบียนผู้เข้าร่วมกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๓ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๘ ( Bike for mom 2015 ) ปั่นเพื่อแม่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างสูงสุดจนได้รับการบันทึกเป็นสถิติโลก ( Guinness World Records ) และได้รับคำชมเชยจากทุกภาคส่วน
สำหรับงานสำคัญอีกงาน คือ Army Cyber Contest 2015 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของกองทัพบก  ที่จะมีการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ ด้านเทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยและการปฏิบัติการไซเบอร์ รวมถึงการแข่งขันด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ระหว่างเหล่าทัพ โดยกำหนดจัดขึ้นในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๘ ณ กองบัญชาการกองทัพบก โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อปลุกกระแสรณรงค์สร้างความตระหนักถึงภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ การเสริมสร้างศักยภาพทางด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ของกองทัพบก เหล่าทัพ กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม และการแข่งขันด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ระหว่างเหล่าทัพ
รูปแบบของงาน ประกอบไปด้วย ๒ ส่วนสำคัญ คือ ส่วนการบรรยายพิเศษและนิทรรศการ และส่วนการแข่งขันการปฏิบัติการไซเบอร์ ( Cyber Contest ) ซึ่งผู้สนใจสามารถที่จะชมการถ่ายทอดสดภาพการแข่งขันฯ แบบ Real Time และรับฟังการบรรยายพิเศษ เพื่อเสริมสร้างโลกทัศน์ ทักษะ และประสบการณ์ด้านปฏิบัติการไซเบอร์ ตลอดจนด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ ไปในคราวเดียวกัน
การแข่งขันการปฏิบัติการไซเบอร์ ถือเป็นครั้งแรกเช่นกัน ที่มีการจัดแข่งขันขึ้นในระหว่างเหล่าทัพ โดยได้นำระบบจัดการแข่งขันการปฏิบัติการไซเบอร์ ที่เรียกว่า Cyber Range มูลค่าหลายสิบล้านมาติดตั้งในการแข่งขันฯ ครั้งนี้ ถือเป็นการเสริมสร้างศักยภาพกำลังพลของกองทัพด้านไซเบอร์ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ รูปแบบการแข่งขันจะเป็นการแข่งขันที่เรียกว่า Capture The Flag กติกาโดยใครชิงธง ( เป้าหมาย ) หรือ คุกคามเครื่องแม่ข่าย ( Server ) ของฝ่ายตรงข้ามได้คะแนนมากที่สุดก็ถือว่าเป็นผู้ชนะ การแข่งขันในครั้งมีจำนวนทั้งสิ้น ๘ ทีม ประกอบไปด้วย ทีมจาก กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ หน่วยละ ๑ ทีม และกองทัพบก จำนวน ๔ ทีม แข่งขันแบบอิสระต่อกัน โดยแต่ละทีมจะมีเครื่องแม่ข่าย ( Server ) ทีมละ ๓ ชุด รวมจำนวนเครื่องแม่ข่าย ( Server ) ๒๘ ชุด แต่ละทีมจะแสดงผลการจำลองบนตำแหน่งแผนที่โลก แยกเป็นประเทศละทีม แบ่งเป็น ๓ โซน / เครื่องแม่ข่าย ( Server )  คือ โซนเหนือ ( N ) , โซนใต้ ( S )  และโซนตะวันตก ( W )  หากเครื่องแม่ข่าย ( Server ) ทีมใดโดยโจมตี สีของแผนที่โซนนั้นจะถูกเปลี่ยนไปทำให้ผู้ชมสามารถสังเกตได้ว่าใครอยู่ ใครไป นอกจากนี้ระบบจำลองการโจมตีทางไซเบอร์จะแสดงเส้นทางและรูปแบบการโจมตีแบบต่างๆ สามารถมองเห็นบนแผนที่แบบการโจมตีด้วยขีปนาวุธพิสัยไกล ถือว่าเป็นการทดสอบฝีมือ ทักษะด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ระหว่างเหล่าทัพกันเลยทีเดียว  ความสนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจ คงจะบรรยายได้ไม่เท่ากับการได้มาชมจากเหตุการณ์จริง จึงขอเชิญชวนกำลังพลของกองทัพบก เหล่าทัพ กองบัญชาการกองทัพไทย และกระทรวงกลาโหม ตลอดจนท่านผู้สนใจเข้าร่วมรับชมงานดังกล่าว และมาเป็นกำลังใจให้กับทีมแข่งขันฯ

สุดท้าย เรื่องแนวคิดในการปฏิบัติตนและการรับราชการ คงไม่มีอะไรเป็นพิเศษ นอกเหนือจากการประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา มีความสำนึกในหน้าที่และมีความรับผิดชอบ  มีความวิริยะ อุตสาหะ ขยันหมั่นเพียรในความรู้และการงาน จนเป็นที่ยอมรับและไว้วางใจของผู้บังคับบัญชา และได้รับรางวัลผลงานดีเด่นต่างๆ ที่สำคัญด้วยความภาคภูมิใจ เช่น ทหารราบดีเด่น , โครงการวิจัยดีเด่นของกองทัพบก และนักวิจัยดีเด่นของกระทรวงกลาโหม  เป็นต้น โดยยึดถือหลัก “ ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน ” 
------------------------


ที่มา : ข่าวทหารบก ปีที่ 24 ฉบับที่ 23 วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน 2558