งาน Army Cyber Contest 2015 จัดขึ้นตามนโยบายของกองทัพบก
และผู้บัญชาการทหารบก ที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมด้านการปฏิบัติการไซเบอร์
โดย ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร / ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจาก
กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และองค์กรต่างๆ
ทั้งภาครัฐและธุรกิจเอกชน ซึ่งมี พลตรี ฤทธี อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร รับผิดชอบในการจัดงานฯภายใต้ Concept “ ก้าวสู่หลักประกันความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ของชาติ ” Go
ahead for National Cyber Security Warranty ซึ่งสอดรับกับแนวคิดของ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยได้สั่งการในงานแถลงยุทธศาสตร์ชาติ ของ
นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร 2557 ที่ สโมสรกองทัพบก เมื่อ 3 กันยายน 2558 ให้นำเอาแนวความคิดการปฏิบัติการไซเบอร์
และการต่อต้านสงครามไซเบอร์ ของศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ใส่ไว้ใน Digital
Economy จัดเชื่อมโยงเครือข่าย และขยายผลในระดับชาติ รวมไว้ในโครงสร้างระบบเศรษฐกิจแบบ
Digital Economy ของรัฐบาล และให้กระทรวงกลาโหมไปดูภาพรวม
งานดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกของกองทัพบก
ที่มีการจัดงานด้านเทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยและการปฏิบัติการไซเบอร์ที่ยิ่งใหญ่
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อปลุกกระแสการรณรงค์ เสริมสร้างศักยภาพทางด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ของกองทัพ
การสร้างความตระหนักถึงภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ และการแข่งขันทักษะการปฏิบัติการไซเบอร์ระหว่างเหล่าทัพ ในงานประกอบด้วย การบรรยายพิเศษ นิทรรศการ และการแข่งขันทักษะการปฏิบัติการไซเบอร์
( Cyber Contest ) ถือเป็นการจัดแข่งขันระหว่างเหล่าทัพครั้งแรก
เพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพกำลังพลของกองทัพด้านไซเบอร์ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดย พลเอก ปรีชา จันทร์โอชา
ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ได้กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานฯ และ พลเอก
อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก ได้กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีปิดฯ
และมอบถ้วยรางวัลชนะเลิศการแข่งขันฯ โดยมีผลการแข่งขันฯ ดังนี้ ชนะเลิศลำดับที่ 1 ทีมกรมการทหารสื่อสาร, ชนะเลิศลำดับที่ 2
ทีมศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร, ชนะเลิศลำดับที่
3 ทีมกระทรวงกลาโหม, ชนะเลิศลำดับที่ 4 ทีมศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร, ชนะเลิศลำดับที่
5 ทีมกองบัญชาการกองทัพไทย และถ้วยรางวัลชมเชย ประกอบด้วย
ทีมผสมกรมยุทธการทหารบกและกรมข่าวทหารบก , ทีมกองทัพเรือ และทีมกองทัพอากาศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและขีดความสามารถของกองทัพบกและเหล่าทัพ
ในความพร้อมกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์
การแข่งขันทักษะการปฏิบัติการไซเบอร์
ถือเป็นกลไกที่สำคัญยิ่งอันหนึ่งในการพัฒนาบุคลากร ให้มีความรู้ความสามารถนำสู่การปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาขีดความสามารถ ศักยภาพ ทักษะ และประสบการณ์ของกำลังพลให้มีความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์
นับเป็นจุดเริ่มต้นในการประสานความร่วมมือ และประเมินการทดสอบทักษะขีดความสามารถด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ทั้งเชิงรุกและเชิงรับของบุคลากรของกองทัพ
ซึ่งจะนำไปสู่การจัดตั้งและพัฒนาหน่วยงานไซเบอร์ของกองทัพได้เร็วขึ้น
โดยในปีต่อๆไป คาดว่าจะมีการขยายผลความร่วมมือและเปิดกว้างในการจัดการแข่งขันฯ
ไปยังหน่วยงานภายนอก ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ และความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ของประเทศ
และเป็นหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยให้กับการพัฒนาประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบดิจิตอล
และผลตอบรับจากการจัดงานฯในครั้งนี้ ได้ปลุกกระแสรัฐบาล กองทัพ
องค์กรภาครัฐและธุรกิจเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชนทุกแขนง
ให้หันมาตระหนักถึงภัยคุกคามด้านไซเบอร์ และได้เห็นถึงการเตรียมมาตรการรับมือภัยคุกคามด้านไซเบอร์ของกองทัพ
ตามนโยบายของรัฐบาล
แหล่งข้อมูล : ข่าวทหารบก ปีที่ 24 ฉบับที่ 24 วันศุกร์ที่ 18 ก.ย.58
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น