การแข่งขันทักษะการปฏิบัติการไซเบอร์
( Army
Cyber Contest 2015 )
สัมภาษณ์พิเศษ นสพ. ข่าวทหารบก
พลตรี ฤทธี อินทราวุธ
พลตรี ฤทธี อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร
กองทัพบกได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
มาเสริมสร้างประสิทธิภาพในการบริหาร และการปฏิบัติงานของกองทัพให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนากำลังพลให้
“ ทันโลก ทันข่าวสาร ทันงาน และทันคน ” พลเอก วิมล วงศ์วานิช ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้น จึงได้จัดตั้ง ศูนย์สารสนเทศ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ขึ้นในปี ๒๕๓๘ และปีต่อมา พลเอก ประมณฑ์ ผลาสินธุ์ ผู้บัญชาการทหารบก
ท่านต่อมาได้อนุมัติจัดตั้ง ศูนย์เทคโนโลยีทางทหารกองทัพบก
เป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก โดยมีประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ในปี ๒๕๔๔ และในปี ๒๕๔๘
ได้เปลี่ยนนามหน่วยเป็น ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร และปรับการบังคับบัญชาเป็นหน่วยขึ้นตรง
กรมการทหารสื่อสาร จนถึงปัจจุบัน
ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิก ริเริ่มการก่อตั้ง
และรับราชการอยู่ในหน่วยนี้มาตลอดเกือบ ๒๐ ปี จนได้รับการโปรดเกล้าฯ
ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร คนปัจจุบัน ได้เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายกองทัพบก ไปสู่การปฏิบัติงานที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
นอกเหนือจากการดูแลสวัสดิการกำลังพลและครอบครัว ตามนโยบายผู้บัญชาการทหารบก โดยได้ดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่สำคัญ
เช่น การบูรณาการระบบสารสนเทศของกองทัพบก ให้เกิดประสิทธิภาพ มีความรวดเร็ว
ถูกต้องเชื่อถือได้ มีความเป็นเอกภาพ และลดการปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อน ,
การพัฒนาระบบงานเพิ่มเติมให้กับหน่วยต่างๆ ในกองทัพบก ทั้งระบบงานการศึกษา งานสวัสดิการกำลังพลและครอบครัว
งานการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น , การให้บริการระบบคอมพิวเตอร์แม่ข่ายต่างๆ
ให้กับหน่วยในกองทัพบก รวมถึงการพัฒนาระบบโครงข่ายข้อมูลสารสนเทศ
อย่างครอบคลุมและทั่วถึงส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งระบบทางสายและไร้สาย เพื่อพัฒนาไปสู่การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง
( Network Centric
Operations )
นอกเหนือจากงานบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว กองทัพบกยังได้รับมอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ทดลองปฏิบัติงานเป็น
ศูนย์ไซเบอร์ของกองทัพบก ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ระยะเวลา ๑ ปี
เพื่อเตรียมการรองรับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ตามนโยบายของรัฐบาล นับเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมของกองทัพบก
ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
ในการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์
ซึ่งปัจจุบันนับวันจะทวีความเข้มข้นและรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หลายประเทศได้กำหนดความสำคัญให้พื้นที่บนโลกไซเบอร์ ( Cyber Domain ) เป็น ๑ ใน ๕ ของโดเมนปฏิบัติการทางทหาร
ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร และ ศูนย์ไซเบอร์ของกองทัพบก ได้ดำเนินการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติงานที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งด้านการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรในการปฏิบัติงานด้านไซเบอร์
โดยมีงานสำคัญหลักเร่งด่วน 3 ประการ คือ
การปฏิบัติการไซเบอร์ ( Cyber Operations ) โดยทำหน้าที่เป็นเสมือน ศูนย์ปฏิบัติการไซเบอร์ ( CSOC ) เพื่อ เฝ้าระวัง
แจ้งเตือน ป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภัยคุกคามด้านไซเบอร์
ตลอดจนการพัฒนาขีดความสามารถในการปฏิบัติการไซเบอร์เชิงรุก
เพื่อให้สามารถปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อโต้ตอบและโจมตีฝ่ายตรงข้ามได้ในกรณีจำเป็น
การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ( Cyber Security ) โดย การรณรงค์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ปลูกสร้างจิตสำนึกและความตระหนัก
ติดตามกำกับดูแลการปฏิบัติของหน่วยตามมาตรการการรักษาความมั่งคงปลอดภัย
รวมถึงการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยคุกคาม และการป้องกันด้านการรักษาความมั่งคงปลอดภัยไซเบอร์
, การติดตาม สืบค้น และตรวจสอบช่องโหว่ของระบบ
รวมถึงการดำเนินการพิสูจน์หลักฐานทางดิจิตอล
การปฏิบัติการข่าวสารบนไซเบอร์ ( Information Operations ) เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการข่าวสารของกองทัพบกและหน่วยที่เกี่ยวข้อง
โดยทำหน้าที่ เฝ้าระวัง แจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารบนไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบต่อสถาบัน และความมั่งคงของชาติ
, การรวบรวม วิเคราะห์ ทิศทาง แนวโน้ม โครงข่ายความสัมพันธ์ของข้อมูล ประเภทสื่อ
และกลุ่มเป้าหมาย , การติดตาม สืบค้น แหล่งที่มาและเป้าหมาย
และการกำหนดมาตรการป้องปราม ตอบโต้ สกัดกั้น รวมถึงการประสานการดำเนินการตามกฎหมาย
นอกเหนือจากการปฏิบัติงานหลักด้านไซเบอร์ทั้ง ๓
ประการแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์
ขีดความสามารถ และประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยการจัดการประชุมแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์กับกองทัพบกสหรัฐ
, การจัดบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญ , การประชุมสัมมนาด้านไซเบอร์,
การฝึกอบรมจากหน่วยงานองค์กรและสถานศึกษาด้านไซเบอร์ ,
การจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการจากผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์
ตลอดจนการศึกษาดูงานทั้งในประเทศและนอกประเทศ
ทั้งนี้ เพื่อให้ ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร และ ศูนย์ไซเบอร์ของกองทัพบก
เป็นหน่วยมีความพร้อมทั้งด้านการบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
และเป็นหลักประกันด้านการรักษาความมั่งคงปลอดภัยไซเบอร์ของกองทัพบก อย่างแท้จริง สมกับคำปฏิญาณตนของหน่วยว่า “ เราเดินหน้าเป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายกองทัพบก
ไปสู่การปฏิบัติงานที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ” ภายใต้คำขวัญ “ รอบรู้ ริเริ่ม รูปธรรม
มีระดับมาตรฐาน ”
สำหรับปี ๒๕๕๘ นี้ นับเป็นปีที่มีความสำคัญยิ่งของ ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร
เนื่องจากได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง ให้รับผิดชอบดำเนินงานสำคัญของรัฐบาล
และกองทัพบก จำนวน ๒ งาน คือ รับผิดชอบฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฝ่ายลงทะเบียนผู้เข้าร่วมกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติฯ ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์และการลงทะเบียนผู้เข้าร่วมกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๓ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๘ ( Bike for mom 2015 ) ปั่นเพื่อแม่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างสูงสุดจนได้รับการบันทึกเป็นสถิติโลก
( Guinness World
Records ) และได้รับคำชมเชยจากทุกภาคส่วน
สำหรับงานสำคัญอีกงาน
คือ Army Cyber Contest 2015 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของกองทัพบก ที่จะมีการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ ด้านเทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยและการปฏิบัติการไซเบอร์
รวมถึงการแข่งขันด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ระหว่างเหล่าทัพ โดยกำหนดจัดขึ้นในวันที่
๙ กันยายน ๒๕๕๘ ณ กองบัญชาการกองทัพบก
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อปลุกกระแสรณรงค์สร้างความตระหนักถึงภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์
การเสริมสร้างศักยภาพทางด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ของกองทัพบก เหล่าทัพ
กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม และการแข่งขันด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ระหว่างเหล่าทัพ
รูปแบบของงาน
ประกอบไปด้วย ๒ ส่วนสำคัญ คือ ส่วนการบรรยายพิเศษและนิทรรศการ และส่วนการแข่งขันการปฏิบัติการไซเบอร์
( Cyber Contest ) ซึ่งผู้สนใจสามารถที่จะชมการถ่ายทอดสดภาพการแข่งขันฯ
แบบ Real Time และรับฟังการบรรยายพิเศษ
เพื่อเสริมสร้างโลกทัศน์ ทักษะ และประสบการณ์ด้านปฏิบัติการไซเบอร์
ตลอดจนด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ ไปในคราวเดียวกัน
การแข่งขันการปฏิบัติการไซเบอร์
ถือเป็นครั้งแรกเช่นกัน ที่มีการจัดแข่งขันขึ้นในระหว่างเหล่าทัพ โดยได้นำระบบจัดการแข่งขันการปฏิบัติการไซเบอร์
ที่เรียกว่า Cyber Range มูลค่าหลายสิบล้านมาติดตั้งในการแข่งขันฯ ครั้งนี้
ถือเป็นการเสริมสร้างศักยภาพกำลังพลของกองทัพด้านไซเบอร์ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ
รูปแบบการแข่งขันจะเป็นการแข่งขันที่เรียกว่า Capture The Flag กติกาโดยใครชิงธง ( เป้าหมาย ) หรือ คุกคามเครื่องแม่ข่าย ( Server
) ของฝ่ายตรงข้ามได้คะแนนมากที่สุดก็ถือว่าเป็นผู้ชนะ การแข่งขันในครั้งมีจำนวนทั้งสิ้น
๘ ทีม ประกอบไปด้วย ทีมจาก กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ
และกองทัพอากาศ หน่วยละ ๑ ทีม และกองทัพบก จำนวน ๔ ทีม แข่งขันแบบอิสระต่อกัน โดยแต่ละทีมจะมีเครื่องแม่ข่าย
( Server ) ทีมละ ๓ ชุด รวมจำนวนเครื่องแม่ข่าย ( Server
) ๒๘ ชุด แต่ละทีมจะแสดงผลการจำลองบนตำแหน่งแผนที่โลก
แยกเป็นประเทศละทีม แบ่งเป็น ๓ โซน / เครื่องแม่ข่าย ( Server ) คือ โซนเหนือ ( N ) , โซนใต้ ( S ) และโซนตะวันตก ( W ) หากเครื่องแม่ข่าย ( Server ) ทีมใดโดยโจมตี
สีของแผนที่โซนนั้นจะถูกเปลี่ยนไปทำให้ผู้ชมสามารถสังเกตได้ว่าใครอยู่ ใครไป นอกจากนี้ระบบจำลองการโจมตีทางไซเบอร์จะแสดงเส้นทางและรูปแบบการโจมตีแบบต่างๆ
สามารถมองเห็นบนแผนที่แบบการโจมตีด้วยขีปนาวุธพิสัยไกล ถือว่าเป็นการทดสอบฝีมือ ทักษะด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ระหว่างเหล่าทัพกันเลยทีเดียว ความสนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจ
คงจะบรรยายได้ไม่เท่ากับการได้มาชมจากเหตุการณ์จริง จึงขอเชิญชวนกำลังพลของกองทัพบก เหล่าทัพ
กองบัญชาการกองทัพไทย และกระทรวงกลาโหม ตลอดจนท่านผู้สนใจเข้าร่วมรับชมงานดังกล่าว
และมาเป็นกำลังใจให้กับทีมแข่งขันฯ
สุดท้าย เรื่องแนวคิดในการปฏิบัติตนและการรับราชการ
คงไม่มีอะไรเป็นพิเศษ นอกเหนือจากการประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา
มีความสำนึกในหน้าที่และมีความรับผิดชอบ มีความวิริยะ
อุตสาหะ ขยันหมั่นเพียรในความรู้และการงาน จนเป็นที่ยอมรับและไว้วางใจของผู้บังคับบัญชา
และได้รับรางวัลผลงานดีเด่นต่างๆ ที่สำคัญด้วยความภาคภูมิใจ เช่น ทหารราบดีเด่น ,
โครงการวิจัยดีเด่นของกองทัพบก และนักวิจัยดีเด่นของกระทรวงกลาโหม เป็นต้น โดยยึดถือหลัก “ ค่าของคน
อยู่ที่ผลของงาน ”
------------------------
ที่มา : ข่าวทหารบก ปีที่ 24 ฉบับที่ 23 วันพฤหัสบดีที่ 3
กันยายน 2558
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น