วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2560

การเตรียมความพร้อมสู่ ไซเบอร์ซีเกม

การเตรียมความพร้อมสู่ ไซเบอร์ซีเกม
( Preparations for the Cyber SEA Game )
โดย พลโท ฤทธี  อินทราวุธ
ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงกลาโหม/
หัวหน้าคณะทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กิจการอวกาศ  และไซเบอร์
-----------------------------------------
นับเป็นนิมิตรหมายอันดีสำหรับประเทศไทย ในการพัฒนาส่งเสริมด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ภายหลังจากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ( TELMIN : ASEAN Telecommunications and Information Technology Ministers Meeting ) และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้าน
โทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ( TELSOM : ASEAN Telecommunications and IT Senior Officials Meetings ) ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา การประชุมดังกล่าว เป็นการประชุมระหว่างสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และผู้เจรจา 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งได้มีมติเลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้ง ศูนย์ความร่วมมือ อาเซียน-ญี่ปุ่น ( ASEAN-JAPAN Cyber Security Center ) สำหรับฝึกอบรมความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งการเป็นศูนย์ฝึกอบรมฯดังกล่าว ประเทศไทยจะได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่นจำนวน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2564[1]
ศูนย์ความร่วมมือความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อาเซียน - ญี่ปุ่น ดังกล่าว จะมีหน้าที่ฝึกอบรมความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และยกระดับความสามารถบุคลากรด้านความปลอดภัยมั่นคงทางไซเบอร์ รวมถึงการสร้างบุคลากรใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยจะเป็นศูนย์กลางการจัดอบรมฯ ของประเทศสมาชิกในอาเซียน ซึ่งตามเป้าหมายที่อาเซียนวางไว้จะต้องมีบุคลากรที่ผ่านการอบรมฯ อย่างน้อย 280 คนต่อระดับหรือหลักสูตร นอกจากการจัดอบรมฯ ที่จะเกิดขึ้นแล้ว ยังมีกิจกรรมที่หลากหลาย ตลอดระยะเวลา 4 ปี
การที่ประเทศสมาชิกอาเซียนมีมติเลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้ง ศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น สำหรับอบรมด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ถือเป็นการปั้นให้ประเทศไทยสู่ " ฮับป้องกันภัยไซเบอร์ " โดยไทยได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ ( MOU ) กับญี่ปุ่น โดยในปี 2561 จะจัดกิจกรรมทุกๆ 2 เดือน ทั้งการจัดอบรมความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์, การอบรมการซ้อมรับมือการโจมตีทางไซเบอร์, การจัดประกวดเพื่อให้บุคคลทั่วไปได้เข้าร่วมฯ นอกจากนี้ไทยจะได้เป็นเจ้าภาพจัดไซเบอร์ซีเกม ( Cyber SEA Game ) โดยจะเปิดรับสมัครแฮกเกอร์จากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้ามาทำการเจาะเข้าไปในระบบ และสร้างระบบเพื่อแก้ไขการเจาะข้อมูล เป็นต้น
สำหรับหน่วยงานหลักที่กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะมอบหมายให้เป็นแม่งานคงหนีไม่พ้น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ( องค์การมหาชน ) หรือ สพธอ. / ETDA  ซึ่งได้มีการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในภาพรวมของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้คงจะต้องมีการประสานความร่วมมือ และการบูรณาการกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาต่างๆ ของไทยที่ได้มีการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อเป็นการเปิดกว้างหลากหลายในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ให้ครอบคลุมงานแต่ละสาขา รวมทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ในรูปแบบการวางแผนแบบรวมการ ปฏิบัติแบบแยกการ
สำหรับงานความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในด้านความมั่นคงทางทหาร กระทรวงกลาโหมถือว่าเป็นหัวเรือใหญ่ นอกเหนือจากการมีหน่วยงานหลัก เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม , กองบัญชาการกองทัพไทย , กองทัพบก , กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ซึ่งเป็นเป้าหมายการโจมตีหลักของภัยคุกคามด้านไซเบอร์ในระดับชาติ รวมถึงการทำสงครามไซเบอร์แล้ว ระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ , ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ของกองทัพล้วนแต่มีความสลับซับซ้อนและแตกต่างจากระบบงานพลเรือนทั่วไป จำเป็นต้องมีการพัฒนาด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เช่นกัน อีกทั้งกระทรวงกลาโหมยังมีหน่วยงานหลักในสังกัดนอกเหนือจากศูนย์ไซเบอร์ของแต่ละเหล่าทัพแล้ว เช่น สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ( องค์การมหาชน ) และกรมสรรพกำลังกลาโหม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะมาเสริมด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำที่สำคัญ ในด้านการระดมสรรพกำลัง การคัดสรรบุคคลจากทหารกองหนุนและบุคคลพลเรือนที่มีความรู้ความสามารถด้านไซเบอร์ การพัฒนาส่งเสริมและต่อยอด เพื่อการบรรจุทำงานตามหน้าที่
ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการตั้ง ศูนย์ความร่วมมือความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อาเซียน - ญี่ปุ่น ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างคุ้มค่า ทั้งด้านการอบรมความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์, การอบรมการซ้อมรับมือการโจมตีทางไซเบอร์, การจัดประกวดเพื่อให้บุคคลทั่วไปได้เข้าร่วมฯ และการเข้าร่วมการแข่งขันไซเบอร์ซีเกม ( Cyber SEA Game ) ในปี 2561 จะต้องมีการเตรียมแผนงาน การวางแผนเตรียมการทั้งด้านหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง , การเตรียมบุคลากรที่จะต้องพิจารณาส่งเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ , การพัฒนาความพร้อมของบุคลากร , การฝึกฝนทักษะความรู้ความชำนาญอย่างเพียงพอ รวมถึงกระบวนการคัดเลือกตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันไซเบอร์ซีเกม เป็นต้น เพราะนอกจากประโยชน์โดยตรงที่จะได้รับจากศูนย์ความร่วมมือความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อาเซียน – ญี่ปุ่น แล้ว การร่วมการแข่งขันไซเบอร์ซีเกม ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน นอกจากจะเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ การประสานความร่วมมือระหว่างกันแล้ว ยังจะเป็นการแสดงออกถึงศักยภาพและขีดความสามารถของคนไทย
-------------------------------------------
อ้างอิง :

วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

งานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อการป้องกันประเทศและความปลอดภัย 2560 : เราได้อะไร ?

งานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อการป้องกันประเทศและความปลอดภัย 2560 : เราได้อะไร ?
( What are the benefits of  Defense & Security  2017 )
พลโท ฤทธี  อินทราวุธ
ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงกลาโหม
ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และไซเบอร์

งานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อการป้องกันประเทศและความปลอดภัย ครั้งที่ 8  ประจำปี 2560 หรืองาน Defense & Security 2017[1]  เป็นงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ เทคโนโลยีด้านการทหาร และความปลอดภัย รวม
ไปถึงอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยครอบคลุมทั้ง 3 เหล่าทัพ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระดับภูมิภาค รวมทั้งพาวิลเลี่ยนนานาชาติกว่า 25 ประเทศ อาทิ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี จีน เกาหลี และรัสเซีย โดยผู้ประกอบการและผู้ผลิตชั้นนำกว่า 400 รายการจาก 50 ประเทศ และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงกลาโหม รวมถึงผู้ผลิตยุทโธปกรณ์สัญชาติไทยแท้จัดแสดงภายในงานกว่า 22 ราย   ระหว่างวันที่ 6 - 9 พฤศจิกายน 2560 ณ อาคาร 6 - 8 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ถือเป็นงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ยิ่งใหญ่ของปะเทศไทย ที่จัดขี้นโดย กระทรวงกลาโหม เป็นประจำทุกๆ 2 ปี 
ในส่วนของอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อการป้องกันประเทศและความปลอดภัย ที่นำมาจัดแสดงในงาน Defense & Security ในแต่ละครั้งโดยผู้ประกอบการและผู้ผลิตชั้นนำจากต่างประเทศ ที่ต้องการนำอาวุธยุทโธปกรณ์
ที่ทันสมัย เทคโนโลยีด้านการทหารต่างๆ รวมไปถึงอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยครอบคลุม ทั้ง 3
เหล่าทัพ มาเสนอขายให้กับผู้มาชมงานซึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและทูตานุทูตจากต่างประเทศ ทูตทหารประเทศต่างๆ ที่ประจำประเทศไทย ผู้บังคับบัญชาทางทหารระดับสูงของประเทศต่างๆ รวมถึงผู้บังคับบัญชาและกำลังพลของหน่วยทหารของไทย ถือเป็นตลาดค้าอาวุธที่สำคัญ ที่ผู้ประกอบการและผู้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ชั้นนำจากต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และหนึ่งในลูกค้าที่สำคัญก็คือประเทศไทย ซึ่งในแต่ละปีมักมียอดสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย เทคโนโลยีด้านการทหารต่างๆ รวมไปถึงอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย จากผู้ประกอบการและผู้ผลิตชั้นนำจากต่างประเทศ จำนวนหลายพันล้านบาท เพื่อนำมาพัฒนาเสริมสร้างกำลังกองทัพให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย ซึ่งแทบถือเป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญของผู้ประกอบการและผู้ผลิตชั้นนำจากต่างประเทศ โดยในส่วนของผู้จัดงานยังคงมุ่งเป้าหมายหลักไปยังการสร้างโอกาสสำคัญของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย[2]   เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่รัฐบาลมุ่งหวังจะผลักดันให้เกิดขึ้น  เพื่อสร้างโอกาสในการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ระดับโลก ผู้มีอำนาจตัดสินใจในกองทัพ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลจากทั้งในไทย และในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ภายใต้แนวคิด The Power of  Partnerships  
นอกจากนี้ในงาน Defense and Security 2017 ได้ให้ความสำคัญในด้านการป้องกันประเทศจากภัยคุกคาม และการรับมือกับภัยคุกคามแบบใหม่ทั้ง การก่อการร้าย สงครามไซเบอร์ หรือการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการป้องกันประเทศใหม่ๆ ที่ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องก้าวตามให้ทัน ดังนั้นจึงจัดให้มีการสัมมนาในประเด็น การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาเป็นวิทยากรนำเสนอ
ซึ่งมีหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจ เช่น แนวทางเชิงกลยุทธ์สำหรับการป้องกันภัยทางไซเบอร์ด้านการทหาร, ความท้าทายในการป้องกันภัยทางไซเบอร์ในระดับประเทศ, ระบบนิเวศของความมั่นคงทางไซเบอร์ ประเทศอิสราเอล, การข่าวกรองกับการขับเคลื่อนระบบการรักษาความมั่นคงทางไซเบอร์, การแบ่งปันข้อมูลข่าวสารในโลกยุคโลกาภิวัตน์, ความท้าทายในการป้องกันระบบประมวลผลแบบฝังตัว, การป้องกันโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญ-คลื่นลูกใหม่, ภัยทางไซเบอร์จากฟากฟ้า-การต่อสู้ท่ามกลางเมฆทมิฬ, ความมั่นคงทางไซเบอร์-การสร้างความเข้าใจในระบบ Big Data, แผงควบคุม-ตัวชี้วัดการโจมตีและมาตรการตอบโต้ เป็นต้น นับเป็นการสร้างโอกาสที่ดีเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้
การสร้างโอกาสสำคัญของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่รัฐบาลมุ่งหวังจะผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ในการจัดงาน Defense and Security 2017 โดยได้รับการตอบรับจากผู้ผลิตยุทโธปกรณ์สัญชาติไทยจำนวนกว่า 22 ราย[3]     ที่มีขีดความสามารถในการผลิตยุทโธปกรณ์ครอบคลุมทั้งที่ใช้ในทางทหาร การกู้ภัยธรรมชาติ และระบบความปลอดภัยไซเบอร์ รวมไปถึงโดรนสอดแนม และดาวเทียมถ่ายภาพ ที่คนไทยก็ทำได้ไม่แพ้ใคร อาทิเช่น
รถหุ้มเกราะล้อยาง รุ่น First Win I และ First Win II ของ บริษัท ชัยเสรี ( Chaiseri ) ที่ได้เข้าประจำการกองทัพบกไทยไปแล้ว 13 คัน ส่วนรุ่น First Win I ประจำการอยู่ที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ( DSI ) แล้วกว่า 20 คัน นอกจากนี้ยังส่งมอบให้กับกองทัพมาเลเซียและฟิลิปปินส์ โดยรถหุ้มเกราะล้อยางของชัยเสรีออกแบบและผลิตโดยคนไทยเกือบทั้งคัน มีเพียงเครื่องยนต์และอาวุธปืนประจำรถเท่านั้นที่ต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ
โดรนหรือเครื่องบินตรวจการณ์ไร้คนขับ หรือ SKY SCOUT TACTICAL UAS ของ บริษัท RV CONNEX สำหรับใช้ตรวจการณ์โดยเน้นภารกิจกู้ภัย และภารกิจทางทหารที่ไม่ใช่การรบ ตัวเครื่อง
สามารถติดกล้องเซ็นเซอร์ที่สามารถจับภาพทะลุเมฆได้ ตัวเครื่องบินไร้คนขับนี้มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการเต็มรูปแบบทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ออกแบบและผลิตโดยคนไทยทั้งหมด ส่วนตัวเครื่องบินก็ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ มีเพียงกล้องและเครื่องยนต์เท่านั้นที่ต้องนำเข้า  เครื่องบินตรวจการณ์ไร้คนขับนี้ได้รับการพัฒนาพร้อมผ่านมาตรฐานการบินระดับสากล และเตรียมเข้าประจำการในกองทัพอากาศในช่วงกลางปีหน้า
ดาวเทียมสื่อสารฝีมือคนไทย โดยบริษัท RV CONNEX พัฒนาร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร พัฒนาดาวเทียมพร้อมระบบปฏิบัติการประมวลข้อมูลข่าวสารเชื่อมกับระบบอินเทอร์เน็ต หลักการทำงาน
คือ ข้อมูลในโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวหรือบุคคลทั่วไปเผยแพร่เหตุการณ์อุบัติเหตุใหญ่ ระบบดาวเทียมจะทำการหาพิกัด และถ่ายภาพทางอากาศที่จุดเกิดเหตุ เพื่อประเมินสถานการณ์และวางแผนการช่วยเหลือ ระบบที่ว่านี้ถูกพัฒนาขึ้นเสร็จสมบูรณ์แล้ว อยู่ระหว่างทำเรื่องเสนอรัฐบาลพิจารณา

ระบบ Hunting Ground โดยบริษัท RV CONNEX ซึ่งเป็น ระบบจำลองยุทธ์ทางไซเบอร์ หรือ Cyber Range สำหรับการฝึกบุคลากรในด้าน Cyber Security ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดยระบบสามารถสร้างโจทย์ปัญหา สถานการณ์ และจำลองสภาวะแวดล้อมที่บุคลาการด้าน Cyber Security จะต้องเจอจริง รวมถึงมีระบบ Debrief ที่ช่วยในการบรรยายสรุปอีกด้วย โดยระบบนี้เป็นระบบที่ทางบริษัทฯ พัฒนาขึ้นเอง
ผู้ประกอบการและผู้ผลิตยุทโธปกรณ์คนไทย ต่างยอมรับว่ามีชาวต่างประเทศให้ความสนใจในยุทโธปกรณ์ของคนไทยจำนวนมากในงานนี้ แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับว่า ผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ไทยยังขาดการสนับสนุนจากรัฐบาล และการสั่งซื้อจากกองทัพเท่าที่ควร ต้องยอมรับว่าการทดลองพัฒนาอาวุธเองมีต้นทุนสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับการซื้อสำเร็จจากต่างประเทศ แต่มีผลดีกว่ามากในระยะยาว เพราะเมื่อเราสามารถพัฒนาจนผลิตได้เอง ต้นทุนจะต่ำลงมากและยังสามารถนำเป็นสินค้าส่งออกได้ด้วย และปัญหาการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ มักไม่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปสำรวจวิจัยเพื่อพัฒนาเท่าที่ควร เนื่องจากเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์มักถูกปิดเป็นความลับ หากรัฐบาลต้องการจะสร้างโอกาสด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่รัฐบาลมุ่งหวังจะผลักดันให้เกิดขึ้น คงจะต้องปรับแนวคิดและวิธีการในการส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ในฐานะผู้ผลิต, ผู้ใช้ (อุปโภค) และผู้จำหน่าย " ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ " 
ถ้าเราสามารถผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารขึ้นมาใช้ประจำการในกองทัพของเราได้เองโดยการสนับสนุนจากรัฐบาลและกองทัพอย่างเป็นรูปธรรมแท้จริง เพื่อเป็นการอ้างอิงข้อมูลกองทัพที่มีการใช้งานจริง ก็จะเป็นบันไดก้าวไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยไปสู่ตลาดค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารระดับภูมิภาคและระดับโลก เช่นเดียวกับผู้ประกอบการและผู้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารของต่างประเทศ ที่มีการใช้ประจำการในประเทศของตนเอง และนำมาขายให้กับประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศเรา การจัดงาน  Defense & Security  ของไทยก็จะก่อเกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย ทั้งด้านการค้า การลงทุน การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และความภาคภูมิใจในความสามารถของคนไทย 

--------------------------------------------------
อ้างอิง :
[3] https://thestandard.co/ordnance-defense-and-security-2017/

วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เราพร้อมเผชิญสถานการณ์ภัยแฮ็กเกอร์รึยัง?

เราพร้อมเผชิญสถานการณ์ภัยแฮ็กเกอร์รึยัง?
( Are you ready for face the hack situation ? )
พลโท ฤทธี  อินทราวุธ
ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงกลาโหม
ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และไซเบอร์

ภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่ร้ายแรงในปัจจุบัน นอกเหนือจากการถูกโจมตีด้วยโปรแกรมมัลแวร์ หรือไวรัสเรียกค่าไถ่ ( Ransomware ) เช่น WannaCry[1] และ Petya[2] ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อข้อมูล ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ไปทั่วโลก จนหลายประเทศต่างให้ความสำคัญในด้านการ
เฝ้าระวัง และการรับมืออย่างเต็มที่ ทั้งด้านองค์กร ด้านเครื่องมืออุปกรณ์ป้องกัน และด้านการพัฒนาบุคคลากร แต่ก็มีบางประเทศที่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก มักจะตื่นตัวตามกระแสสังคม แต่การเตรียมการรับมือยังคงปล่อยให้เป็นแบบตัวใครตัวมัน ยังขาดการเตรียมการรับมือแบบบูรณาการหรือแบบองค์รวมอย่างมีเอกภาพ ทั้งการเฝ้าระวังและเตรียมการรับมือในภาคธุรกิจ ภาคการเงิน ภาคระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ภาคอุตสากรรมการผลิตที่ทันสมัยควบคุมด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ภาคระบบสาธารณสุขและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ฯลฯ เป็นต้น
ข่าวการโจมตีของกลุ่มแฮ็คเกอร์ต่างๆ ที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน นับว่ามีความสำคัญเช่นกันในด้านภัยคุกคามไซเบอร์ โดยเฉพาะการนำข้อมูลสำคัญต่างๆ ออกมาเปิดเผย โดยล่าสุดได้มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของประชาชนชาวมาเลย์เซียเกือบทั้งประเทศที่ถูกแฮ็คข้อมูลรั่วไหลออกมากว่า 46.2 ล้านรายการ[3]  ในขณะที่ประชากรของมาเลย์เซียมีประชาชน 31.2 ล้านราย และข้อมูล 46.2 ล้านรายการนี้ถูกแฮ็คออกมาจากแหล่งผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมในมาเลย์เซีย นอกจากข้อมูลส่วนตัวพื้นฐานแล้ว ข้อมูลเหล่านี้ยังครอบคลุมถึงเบอร์โทรศัพท์, ข้อมูล SIM Card, ข้อมูล Serial Number ของอุปกรณ์ และที่อยู่ ที่สำคัญยังมีการแฮ็คข้อมูลประวัติทางการแพทย์ของประชาชนมาเลย์เซียอีกกว่า 80,000 รายการจากหน่วยงานทางด้านสาธารณสุข ในขณะที่เว็บไซต์ของภาครัฐ และเว็บไซต์ที่มีข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานจำนวนมากอย่าง jobstreet.com เองก็ถูกแฮ็คด้วยเช่นกัน
ปรากฏการณ์การโจมตีทางไซเบอร์เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความเชื่อมั่นของนานาประเทศที่จะมาลงทุนด้านธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชนภายในประเทศด้านความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ที่เก็บรักษาไว้โดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ว่าจะไม่ถุกแฮ็คข้อมูลนำมาเปิดเผยต่สาธารณะ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว ถึงแม้ว่าจะมีมาตรการทางกฏหมายไว้ลงโทษผู้กระทำความผิด แต่ก็ไม่มีใครอยากจะได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหาย
กลไกที่จะมาสร้างความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ในภาพรวมแบบบูรณาการดังกล่าวให้ตรอบคลุมทุกด้าน หากจะมาคาดหวังทางภาครัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียวคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากภัยคุกคามด้านไซเบอร์ไร้ขอบเขต ไร้รูปแบบ และไร้กาลเวลา เช่นเดียวกับ การรับมือกับภัยคุกคามทางการทหาร ภัยธรรมชาติ และภัยด้านความมั่นคงของมนุษย์ ของ องค์การสหประชาชาติ[4] ( United Nations ; UN ) จึงใช้กลไกในรูปแบบ “ หุ้นส่วน ” โดยระดมประเทศสมาชิกก่อตั้งเป็นองค์กรขึ้น ช่วยกันลงขันมากน้อยตามกำลัง และจัดส่งกองกำลัง หน่วยงานต่างๆ เข้าไปปฏิบัติภารกิจเพื่อสันติภาพ ภารกิจบรรเทาสาธารณะภัย ภารกิจคุ้มครองเส้นทางเดินเรือจากโจรสลัด ฯลฯ เป็นต้น แนวคิดดังกล่าวสามารถนำมาประยุกต์เป็น “ หุ้นส่วนความปลอดภัยทางไซเบอร์ ” ( Cyber security partnerships ) ในระดับประเทศ โดยเริ่มต้นจากองค์กรภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคเอกชน จากกลุ่มเล็กในแต่ละด้านค่อยๆ ผนึกกำลังกัน เช่นเดียวกับการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ แรกเริ่มก็มีเพียง 26 ประเทศ จนขยายตัวเติบโตเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีสมาชิกทั้งหมดในปัจจุบัน 193 ประเทศ เช่นเดียงกับ กรุงโรม หรือ กำแพงเมืองจีน ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว ต่างล้วนเริ่มต้นมาจากอิฐก้อนแรกทั้งสิ้น และเป็นก้อนที่อยู่ล่างสุด ต้องทนแบกรับน้ำหนักอิฐก้อนอื่นๆ ที่ก่อทับตามมาภายหลังจนเกิดผลสำเร็จในภายหลัง โดยไม่มีใครได้มีโอกาสมองเห็นอิฐก้อนแรก “ เราพร้อมจะเป็นอิฐก้อนแรกรึยัง? ถ้าพร้อม !!! “ เราก็จะพร้อมเผชิญสถานการณ์ภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ”
--------------------------------------------------
อ้างอิง :

วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2560

สมรภูมิเฟซบุ๊กภูมิภาคอาเซียนร้อนระอุ

สมรภูมิเฟซบุ๊กภูมิภาคอาเซียนร้อนระอุ
โดย พลโท ฤทธี  อินทราวุธ
ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงกลาโหม
ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และไซเบอร์

ประเด็น Facebook กลายเป็น Talk of the Town กรณีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า  นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ( Mark Zuckerberg )  ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก สื่อสังคมออนไลน์ชื่อดังจะมาเยือนไทย
ปลายเดือนตุลาคมนี้ และมีกำหนดจะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ในวันที่ 30 ต.ค.60 นั้น ล่าสุดทางเฟซบุ๊กสำนักงานที่สิงคโปร์ ได้ส่งข้อความสั้นๆ มายังสื่อมวลชนในไทย โดยอ้างโฆษกของเฟซบุ๊ก ระบุว่า There are no plans currently for any of our senior leaders to visit Thailand .” : Facebook spokesperson หรือ แปลเป็นไทยว่า “ ผู้บริหารระดับสูงของเฟซบุ๊กยังไม่มีกำหนดการจะเดินทางมาเยือนประเทศไทยในช่วงนี้ ”[1]
เรื่องดังกล่าว กลายเป็นประเด็นทางสื่อต่างๆ และสังคมโซเชียล ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่? เพราะ ต่างคาดหวังว่า การที่นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ( Mark Zuckerberg )  ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กและผู้บริหารระดับสูงมาพบนายกรัฐมนตรีจะเป็นผลดีต่อประเทศชาติบ้านเมืองทั้งด้านเศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติตามที่นายกรัฐมนตรีชี้แจงสื่อ[2]
การที่ทาง Facebook ได้ออกมายืนยันว่านายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก CEO Facebook ยังไม่มีแผนมาไทยในช่วงนี้นั้น อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งมาจากการนำเสนอข่าวของสื่อต่างๆในไทย จนทำให้ทางเฟซบุ๊กสิงคโปร์กังวลว่า หากการพบปะเจรจาในครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อทางสิงคโปร์โดยตรง เพราะสิงคโปร์ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางเครือข่ายเฟซบุ๊กในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งที่ผ่านมาเฟซบุ๊กกับรัฐบาลไทยนั้นมีการร่วมงานกันมานานแล้ว และนายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ( Mark Zuckerberg ) ก็ได้มีแผนมาประเทศไทยจริง แต่เป็นการเดินทางเพื่อคุยกับผู้นำของไทยแบบส่วนตัว ด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ไม่อยากเป็นข่าวใหญ่โต ต้องการมาพบนายกฯ เป็นการส่วนตัว และไม่ต้องการให้เป็นข่าวใหญ่โตจนสื่อมารอดักสัมภาษณ์ เมื่อเรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่โตจำอาจเป็นสาเหตุให้นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ยกเลิกการเยือนไทยในครั้งนี้
สำหรับประเด็นข้อกังวลของทางเฟซบุ๊กสิงคโปร์เชื่อว่า การพบปะในครั้งนี้ นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ( Mark Zuckerberg ) จะมีการคุยกับรัฐบาลไทยในหลายเรื่อง โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ( Eastern Economic Corridor หรือ EEC ) หรือพื้นที่พิเศษ ที่รัฐบาลตั้งใจส่งเสริมการลงทุน
โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีในเมืองใหม่ และมีกฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติ ซึ่งทางเฟซบุ๊กก็น่าสนใจจะร่วมลงทุนในโครงการนี้เช่นกัน เพราะที่ตั้งของประเทศไทยเป็น Landmark ที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ และจำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กของไทยอยู่ในลำดับที่ 8 ของโลก มีจำนวนมากถึง 46 ล้านยูสเซอร์[3] ซึ่งมีการนำเฟซบุ๊กมาใช้เป็นช่องทางธุรกิจการค้าในหลายๆด้าน รวมถึงแนวคิดในการที่จะย้ายศูนย์กลางเครือข่ายเฟซบุ๊กของภูมิภาคนี้มาตั้งอยู่ที่ประเทศไทย ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสิงคโปร์อย่างเห็นได้ชัด อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ สมรภูมิเฟซบุ๊กภูมิภาคอาเซียน ร้อนระอุ !!!
-------------------------------------------
อ้างอิง :

วันอังคารที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560

แนวคิดการจัดตั้ง ศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหม

แนวคิดการจัดตั้ง ศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหม
(Concept of Defense Cyber Command Center )

โดย พลโท ฤทธี  อินทราวุธ

ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงกลาโหม

ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และไซเบอร์


สถานการณ์ความรุนแรงของภัยคุกคามและการโจมตีทางไซเบอร์ในปัจจุบัน นับวันจะทวีความเข้มข้นและความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ทั้งด้าน
การเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และการทหาร หลายประเทศได้มีความตระหนักและมีการตื่นตัวในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภัยคุกคามและการโจมตีดังกล่าว โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การสหประชาชาติได้ออกมาแจ้งเตือนว่า สงครามโลกครั้งที่ 3 อาจจะเกิดบนโลกไซเบอร์ วอนนานาชาติเร่งหาทางรับมือ [ 1 ]
สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสงครามไซเบอร์มากที่สุด โดยเริ่มปรับหลักนิยม ทางทหารใหม่ ได้เพิ่ม สมรภูมิการรบที่ 5 คือ ไซเบอร์โดเมน ให้เทียบเท่ากับสมรภูมิรบที่มีอยู่เดิม คือ บก ทะเล อากาศ และอวกาศ สมรภูมิบกก็จะมี กองทัพบกรับผิดชอบ สมรภูมิทะเลหรือมหาสมุทรก็จะมีกองทัพเรือดูแล ส่วนห้วงอากาศก็จะมีกองทัพอากาศคอยปกป้องอยู่ ส่วนอวกาศนั้นจะมีหน่วยทหารที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แต่ยังไม่ถึงกับเรียกว่าเป็นกองทัพอวกาศ ดังนั้นการที่กำหนดให้ไซเบอร์เป็นอีกหนึ่งสมรภูมิแห่งการสู้รบนั้น เพื่อที่จะได้จัดตั้งกองกาลังที่รับผิดชอบในการรบในสมรภูมินี้ โดยล่าสุดสหรัฐฯ ได้ก่อตั้งกองทัพไซเบอร์ขึ้น เรียกว่า กองบัญชาการไซเบอร์ (Cyber Command)
กองบัญชาการไซเบอร์ [ 2 ] (US CYBERCOM) เป็น กองบัญชาการรบร่วมระดับรอง ( Sub-unified command ) ขึ้นตรงกับกองบัญชาการด้านยุทธศาสตร์ (US STRATCOM) หน่วยบัญชาการไซเบอร์ตั้งอยู่ในฐานทัพฟอร์ทมีด ( Fort Meade )  มลรัฐแมร์รี่แลนด์  ( Maryland ) ซึ่งเป็น ศูนย์บัญชาการรบร่วม ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการปฏิบัติการทางทหารในไซเบอร์โดเมนทั้งหมด ปัจจุบันประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 60 ว่ากำลังยกระดับกองบัญชาการไซเบอร์จากเดิมอยู่ภายใต้กองบัญชาการด้านยุทธศาสตร์ ให้เป็นกองบังคับบัญชาพลรบรวม (Unified Combatant Command) อย่างเต็มรูปแบบ และให้แยกออกจากสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (NSA) ซึ่งก่อนหน้านี้กองบัญชาการไซเบอร์อยู่ภายในสำนักงานใหญ่ของ NSA มาแล้ว 8 ปี
หน้าที่หลักของกองบัญชาการไซเบอร์ คือ การปกป้องระบบเครือข่ายที่ทหารเป็นผู้รับผิดชอบ ในขณะที่ระบบเครือข่ายของรัฐบาลฝ่ายพลเรือนนั้นจะเป็นหน้าที่ของ กระทรวงโฮมแลนด์ซีเคียวลิตี้ หน่วยบัญชาการไซเบอร์จะมีส่วนของกองกำลังที่อยู่ในสังกัดเหล่าทัพต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย กองทัพบกที่ 2 (2nd Army), กองทัพเรือที่ 10 (10th Fleet), กองทัพอากาศที่ 24 (24th Air Force) และกองกำลังไซเบอร์กองทัพน้อยนาวิกโยธิน (US Marine Corps Forces Cyberspace Command) ในส่วนของกองทัพอากาศที่ 24 ประกอบด้วย 3 กองบิน และ 1 ศูนย์ปฏิบัติการ ซึ่งประกอบด้วย 67th Network Warfare Wing , 688th Information Operations Wing , 689th Combat Communications Wing และ 624th Operations Center นอกจากนี้ กองบัญชาการไซเบอร์ ยังประกอบด้วยส่วนสนับสนุนกำลังรบร่วมต่างๆ   สำหรับหน่วยงานทหารซึ่งจะให้การสนับสนุนร่วมกับกองบัญชาการไซเบอร์ ได้แก่
·       Army Cyber Command (Army)
·       Fleet Cyber Command/Tenth Fleet (Navy)
·       Air Forces Cyber/Twenty-Fourth Air Force (Air Force)
·       Marine Corps Cyberspace Command (Marine Corps)
ส่วนทหารที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ( Military Specialties ) เป็นส่วนที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรงด้านไซเบอร์  โดยทหารเหล่านี้จะได้รับคำสั่งจากส่วนสนับสนุนกำลังรบร่วมของตนตามสายการบังคับบัญชา ได้แก่
·       US Army - นายทหารสงครามไซเบอร์, เจ้าหน้าเทคนิคปฏิบัติการไซเบอร์, ผู้เชี่ยวชาญสงครามไซเบอร์
·       US Navy – ด้านเครือข่ายช่างเทคนิคด้านการเข้ารหัส
·       US Air Force – ส่วนปฏิบัติการสงครามพื้นที่ไซเบอร์
·       US Marine Corps – ส่วนปฏิบัติการเครือข่ายไซเบอร์และส่วนงานวิเคราะห์/ปฏิบัติการเครือข่ายดิจิทัลระบบทางรหัส
กองบัญชาการไซเบอร์ มีการจัดตั้งทีมไซเบอร์ (Cyber teams) ตั้งแต่ปี 2015 เพื่อตอบสนองภารกิจในแต่ละด้าน จำนวนถึง 133 ทีมไซเบอร์ ดังนี้
·       ทีมภารกิจระดับชาติ จำนวน 13 ทีม เพื่อการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ในวงกว้าง
·       ทีมป้องกันไซเบอร์ จำนวน 68 ทีม เพื่อปกป้องเครือข่ายของกระทรวงกลาโหมที่มีความสำคัญและให้ความเร่งด่วนต่อระบบต่อต้านภัยคุกคามต่างๆ
·       ทีมภารกิจด้านการรบ จำนวน 27 ทีม ดำเนินการโจมตีทางไซเบอร์แบบส่วนร่วมสำหรับสนับสนุนแผนการปฏิบัติต่างๆ และการปฏิบัติในกรณีฉุกเฉินต่างๆ
·       ทีมสนับสนุน 25 ทีม สำหรับการสนับสนุนการวิเคราะห์และการวางแผน
สภากลาโหมได้มีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2560-2564[ 3 ] รองรับยุทธศาสตร์ไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศ ครอบคลุม 6แผนงาน คือ แผนงานจัดองค์กรด้านไซเบอร์ , แผนการป้องกันระบบโครงสร้างพื้นฐาน , แผนการพัฒนาความพร้อมในการปฏิบัติการไซเบอร์เชิงรุก และการปฏิบัติสงครามไซเบอร์ แผนการดำรงและพัฒนา ศักยภาพด้านไซเบอร์ รวมทั้งแผนการสนับสนุนศักยภาพด้านไซเบอร์ระดับชาติ และแผนการร่วมมือและพัฒนาศักยภาพไซเบอร์ โดยได้มีการจัดตั้ง ศูนย์ไซเบอร์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม  ,ศูนย์ไซเบอร์กองบัญชาการกองทัพไทย และศูนย์ไซเบอร์เหล่าทัพขึ้น และล่าสุดเมื่อวันที่  21 ก.ย. 60 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ประกาศว่า รัฐบาลตั้งเป้าปี 61 จะสร้างนักรบไซเบอร์ให้ได้ 1,000 คน[ 4 ]
การจัดตั้ง ศูนย์ไซเบอร์ของกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ ดังกล่าว เป็นไปในลักษณะต่างฝ่ายต่างทำ ไม่ประสานสอดคล้อง และไม่มีความเป็นเอกภาพ  ซึ่งแตกต่างจากการจัดหน่วยไซเบอร์ของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งมี กองบัญชาการไซเบอร์  เป็นหน่วยระดับ กองบัญชาการรบร่วม ( Unified Command ) ทำให้ประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม ทั้ง 6 แผนงาน ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านไซเบอร์ของกระทรวงกลาโหม ครอบคลุมแผนงานตามร่างแผนแม่บทไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม จึงควรพิจารณาจัดตั้ง ศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหม   ( Defense Cyber Command Center : DCCC )  เช่นเดียวกับกองทัพสหรัฐ ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับสถานการณ์และแนวโน้มความรุนแรงของภัยคุกคามด้านไซเบอร์ตามที่ได้กล่าวมาแล้วขั้นต้น และเป็นไปตามแนวทางการพัฒนากองทัพด้านไซเบอร์ของสหรัฐฯ ที่มีการประกอบกำลังครอบคลุมทั้ง 3 เหล่าทัพ เพื่อความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติงานร่วมกัน เป็นการบูรณาการและควบคุมการปฏิบัติด้านไซเบอร์ของหน่วยงานในกระทรวงกลาโหม , สนับสนุนศักยภาพด้านไซเบอร์ระดับชาติ และประสานการร่วมมือและพัฒนาศักยภาพด้านไซเบอร์ในระดับชาติ ซึ่งจะมีการจัดตั้ง ศูนย์ไซเบอร์อาเซียน ในเร็วๆ นี้
แนวทางการจัดตั้ง ศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหม ควรเป็นหน่วยระดับ กองบัญชาการรบร่วม ( Unified Command ) โดยการแปรสภาพ ศูนย์ไซเบอร์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม เป็น ศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหม เป็นหน่วยขึ้นตรง สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม  มี ผู้บัญชาการไซเบอร์กลาโหม ( Defense Cyber Commander )  ( อัตรา พลเอก ) เป็น ผู้บังคับบัญชา มี รองผู้บัญชาการไซเบอร์กลาโหม ( Deputy Defense Cyber Commander ) ( อัตรา พลโท ) จำนวน 4 อัตรา มาจาก กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ โดยปรับเกลี่ยตำแหน่ง/อัตรา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ( อัตรา พลเอก )  และตำแหน่ง อัตราผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ ( อัตรา พลโท )  เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านกำลังพลและงบประมาณ โครงสร้างการจัดประกอบด้วย  กองบัญชาการ , ศูนย์ไซเบอร์กลาโหม ( ศูนย์ไซเบอร์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม ปรับสายการบังคับบัญชาใหม่ )  และมีศูนย์ไซเบอร์กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ ขึ้นควบคุมทางยุทธการเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตระดับชาติ โดยมีภารกิจ ตามกรอบร่างแผนแม่บทไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2560-2564 และมีสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ( สทป. ) หรือ DTI.  ให้การสนับสนุนในด้านการพัฒนาบุคลากร การศึกษาวิจัย และการประสานความร่วมมือต่างๆ ด้านไซเบอร์ ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม สามารถจัดตั้งศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหมเพื่อการทดลองปฏิบัติงาน ไปพลางๆก่อนเช่นเดียวกับกองทัพบก ในการทดลองปฏิบัติงาน ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ที่ผ่านมาก่อนการจัดตั้งหน่วยจริง หรือจะจัดตั้งตามแนวทางการจัดตั้ง ศูนย์การแก้ไขปัญหาความมั่นคงแบบบูรณาการ ( ศมบ.) ก็คงจะมีความเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วและเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงกลาโหมและประเทศชาติสืบไป เรื่องแบบนี้ต้อง คิดเร็วทำเร็ว อย่าปล่อยให้เป็นไปแบบคำสุภาษิตโบราณกล่าวว่า " กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ "
-------------------------------------------------
อ้างอิง :
[1] http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9520000118760
[2] https://en.wikipedia.org/wiki/United_States_Cyber_Command

[4] https://www.thairath.co.th/content/1076524