วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2560

สมรภูมิเฟซบุ๊กภูมิภาคอาเซียนร้อนระอุ

สมรภูมิเฟซบุ๊กภูมิภาคอาเซียนร้อนระอุ
โดย พลโท ฤทธี  อินทราวุธ
ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงกลาโหม
ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และไซเบอร์

ประเด็น Facebook กลายเป็น Talk of the Town กรณีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า  นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ( Mark Zuckerberg )  ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก สื่อสังคมออนไลน์ชื่อดังจะมาเยือนไทย
ปลายเดือนตุลาคมนี้ และมีกำหนดจะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ในวันที่ 30 ต.ค.60 นั้น ล่าสุดทางเฟซบุ๊กสำนักงานที่สิงคโปร์ ได้ส่งข้อความสั้นๆ มายังสื่อมวลชนในไทย โดยอ้างโฆษกของเฟซบุ๊ก ระบุว่า There are no plans currently for any of our senior leaders to visit Thailand .” : Facebook spokesperson หรือ แปลเป็นไทยว่า “ ผู้บริหารระดับสูงของเฟซบุ๊กยังไม่มีกำหนดการจะเดินทางมาเยือนประเทศไทยในช่วงนี้ ”[1]
เรื่องดังกล่าว กลายเป็นประเด็นทางสื่อต่างๆ และสังคมโซเชียล ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่? เพราะ ต่างคาดหวังว่า การที่นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ( Mark Zuckerberg )  ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กและผู้บริหารระดับสูงมาพบนายกรัฐมนตรีจะเป็นผลดีต่อประเทศชาติบ้านเมืองทั้งด้านเศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติตามที่นายกรัฐมนตรีชี้แจงสื่อ[2]
การที่ทาง Facebook ได้ออกมายืนยันว่านายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก CEO Facebook ยังไม่มีแผนมาไทยในช่วงนี้นั้น อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งมาจากการนำเสนอข่าวของสื่อต่างๆในไทย จนทำให้ทางเฟซบุ๊กสิงคโปร์กังวลว่า หากการพบปะเจรจาในครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อทางสิงคโปร์โดยตรง เพราะสิงคโปร์ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางเครือข่ายเฟซบุ๊กในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งที่ผ่านมาเฟซบุ๊กกับรัฐบาลไทยนั้นมีการร่วมงานกันมานานแล้ว และนายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ( Mark Zuckerberg ) ก็ได้มีแผนมาประเทศไทยจริง แต่เป็นการเดินทางเพื่อคุยกับผู้นำของไทยแบบส่วนตัว ด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ไม่อยากเป็นข่าวใหญ่โต ต้องการมาพบนายกฯ เป็นการส่วนตัว และไม่ต้องการให้เป็นข่าวใหญ่โตจนสื่อมารอดักสัมภาษณ์ เมื่อเรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่โตจำอาจเป็นสาเหตุให้นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ยกเลิกการเยือนไทยในครั้งนี้
สำหรับประเด็นข้อกังวลของทางเฟซบุ๊กสิงคโปร์เชื่อว่า การพบปะในครั้งนี้ นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ( Mark Zuckerberg ) จะมีการคุยกับรัฐบาลไทยในหลายเรื่อง โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ( Eastern Economic Corridor หรือ EEC ) หรือพื้นที่พิเศษ ที่รัฐบาลตั้งใจส่งเสริมการลงทุน
โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีในเมืองใหม่ และมีกฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติ ซึ่งทางเฟซบุ๊กก็น่าสนใจจะร่วมลงทุนในโครงการนี้เช่นกัน เพราะที่ตั้งของประเทศไทยเป็น Landmark ที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ และจำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กของไทยอยู่ในลำดับที่ 8 ของโลก มีจำนวนมากถึง 46 ล้านยูสเซอร์[3] ซึ่งมีการนำเฟซบุ๊กมาใช้เป็นช่องทางธุรกิจการค้าในหลายๆด้าน รวมถึงแนวคิดในการที่จะย้ายศูนย์กลางเครือข่ายเฟซบุ๊กของภูมิภาคนี้มาตั้งอยู่ที่ประเทศไทย ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสิงคโปร์อย่างเห็นได้ชัด อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ สมรภูมิเฟซบุ๊กภูมิภาคอาเซียน ร้อนระอุ !!!
-------------------------------------------
อ้างอิง :

วันอังคารที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560

แนวคิดการจัดตั้ง ศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหม

แนวคิดการจัดตั้ง ศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหม
(Concept of Defense Cyber Command Center )

โดย พลโท ฤทธี  อินทราวุธ

ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงกลาโหม

ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และไซเบอร์


สถานการณ์ความรุนแรงของภัยคุกคามและการโจมตีทางไซเบอร์ในปัจจุบัน นับวันจะทวีความเข้มข้นและความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ทั้งด้าน
การเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และการทหาร หลายประเทศได้มีความตระหนักและมีการตื่นตัวในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภัยคุกคามและการโจมตีดังกล่าว โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การสหประชาชาติได้ออกมาแจ้งเตือนว่า สงครามโลกครั้งที่ 3 อาจจะเกิดบนโลกไซเบอร์ วอนนานาชาติเร่งหาทางรับมือ [ 1 ]
สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสงครามไซเบอร์มากที่สุด โดยเริ่มปรับหลักนิยม ทางทหารใหม่ ได้เพิ่ม สมรภูมิการรบที่ 5 คือ ไซเบอร์โดเมน ให้เทียบเท่ากับสมรภูมิรบที่มีอยู่เดิม คือ บก ทะเล อากาศ และอวกาศ สมรภูมิบกก็จะมี กองทัพบกรับผิดชอบ สมรภูมิทะเลหรือมหาสมุทรก็จะมีกองทัพเรือดูแล ส่วนห้วงอากาศก็จะมีกองทัพอากาศคอยปกป้องอยู่ ส่วนอวกาศนั้นจะมีหน่วยทหารที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แต่ยังไม่ถึงกับเรียกว่าเป็นกองทัพอวกาศ ดังนั้นการที่กำหนดให้ไซเบอร์เป็นอีกหนึ่งสมรภูมิแห่งการสู้รบนั้น เพื่อที่จะได้จัดตั้งกองกาลังที่รับผิดชอบในการรบในสมรภูมินี้ โดยล่าสุดสหรัฐฯ ได้ก่อตั้งกองทัพไซเบอร์ขึ้น เรียกว่า กองบัญชาการไซเบอร์ (Cyber Command)
กองบัญชาการไซเบอร์ [ 2 ] (US CYBERCOM) เป็น กองบัญชาการรบร่วมระดับรอง ( Sub-unified command ) ขึ้นตรงกับกองบัญชาการด้านยุทธศาสตร์ (US STRATCOM) หน่วยบัญชาการไซเบอร์ตั้งอยู่ในฐานทัพฟอร์ทมีด ( Fort Meade )  มลรัฐแมร์รี่แลนด์  ( Maryland ) ซึ่งเป็น ศูนย์บัญชาการรบร่วม ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการปฏิบัติการทางทหารในไซเบอร์โดเมนทั้งหมด ปัจจุบันประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 60 ว่ากำลังยกระดับกองบัญชาการไซเบอร์จากเดิมอยู่ภายใต้กองบัญชาการด้านยุทธศาสตร์ ให้เป็นกองบังคับบัญชาพลรบรวม (Unified Combatant Command) อย่างเต็มรูปแบบ และให้แยกออกจากสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (NSA) ซึ่งก่อนหน้านี้กองบัญชาการไซเบอร์อยู่ภายในสำนักงานใหญ่ของ NSA มาแล้ว 8 ปี
หน้าที่หลักของกองบัญชาการไซเบอร์ คือ การปกป้องระบบเครือข่ายที่ทหารเป็นผู้รับผิดชอบ ในขณะที่ระบบเครือข่ายของรัฐบาลฝ่ายพลเรือนนั้นจะเป็นหน้าที่ของ กระทรวงโฮมแลนด์ซีเคียวลิตี้ หน่วยบัญชาการไซเบอร์จะมีส่วนของกองกำลังที่อยู่ในสังกัดเหล่าทัพต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย กองทัพบกที่ 2 (2nd Army), กองทัพเรือที่ 10 (10th Fleet), กองทัพอากาศที่ 24 (24th Air Force) และกองกำลังไซเบอร์กองทัพน้อยนาวิกโยธิน (US Marine Corps Forces Cyberspace Command) ในส่วนของกองทัพอากาศที่ 24 ประกอบด้วย 3 กองบิน และ 1 ศูนย์ปฏิบัติการ ซึ่งประกอบด้วย 67th Network Warfare Wing , 688th Information Operations Wing , 689th Combat Communications Wing และ 624th Operations Center นอกจากนี้ กองบัญชาการไซเบอร์ ยังประกอบด้วยส่วนสนับสนุนกำลังรบร่วมต่างๆ   สำหรับหน่วยงานทหารซึ่งจะให้การสนับสนุนร่วมกับกองบัญชาการไซเบอร์ ได้แก่
·       Army Cyber Command (Army)
·       Fleet Cyber Command/Tenth Fleet (Navy)
·       Air Forces Cyber/Twenty-Fourth Air Force (Air Force)
·       Marine Corps Cyberspace Command (Marine Corps)
ส่วนทหารที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ( Military Specialties ) เป็นส่วนที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรงด้านไซเบอร์  โดยทหารเหล่านี้จะได้รับคำสั่งจากส่วนสนับสนุนกำลังรบร่วมของตนตามสายการบังคับบัญชา ได้แก่
·       US Army - นายทหารสงครามไซเบอร์, เจ้าหน้าเทคนิคปฏิบัติการไซเบอร์, ผู้เชี่ยวชาญสงครามไซเบอร์
·       US Navy – ด้านเครือข่ายช่างเทคนิคด้านการเข้ารหัส
·       US Air Force – ส่วนปฏิบัติการสงครามพื้นที่ไซเบอร์
·       US Marine Corps – ส่วนปฏิบัติการเครือข่ายไซเบอร์และส่วนงานวิเคราะห์/ปฏิบัติการเครือข่ายดิจิทัลระบบทางรหัส
กองบัญชาการไซเบอร์ มีการจัดตั้งทีมไซเบอร์ (Cyber teams) ตั้งแต่ปี 2015 เพื่อตอบสนองภารกิจในแต่ละด้าน จำนวนถึง 133 ทีมไซเบอร์ ดังนี้
·       ทีมภารกิจระดับชาติ จำนวน 13 ทีม เพื่อการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ในวงกว้าง
·       ทีมป้องกันไซเบอร์ จำนวน 68 ทีม เพื่อปกป้องเครือข่ายของกระทรวงกลาโหมที่มีความสำคัญและให้ความเร่งด่วนต่อระบบต่อต้านภัยคุกคามต่างๆ
·       ทีมภารกิจด้านการรบ จำนวน 27 ทีม ดำเนินการโจมตีทางไซเบอร์แบบส่วนร่วมสำหรับสนับสนุนแผนการปฏิบัติต่างๆ และการปฏิบัติในกรณีฉุกเฉินต่างๆ
·       ทีมสนับสนุน 25 ทีม สำหรับการสนับสนุนการวิเคราะห์และการวางแผน
สภากลาโหมได้มีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2560-2564[ 3 ] รองรับยุทธศาสตร์ไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศ ครอบคลุม 6แผนงาน คือ แผนงานจัดองค์กรด้านไซเบอร์ , แผนการป้องกันระบบโครงสร้างพื้นฐาน , แผนการพัฒนาความพร้อมในการปฏิบัติการไซเบอร์เชิงรุก และการปฏิบัติสงครามไซเบอร์ แผนการดำรงและพัฒนา ศักยภาพด้านไซเบอร์ รวมทั้งแผนการสนับสนุนศักยภาพด้านไซเบอร์ระดับชาติ และแผนการร่วมมือและพัฒนาศักยภาพไซเบอร์ โดยได้มีการจัดตั้ง ศูนย์ไซเบอร์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม  ,ศูนย์ไซเบอร์กองบัญชาการกองทัพไทย และศูนย์ไซเบอร์เหล่าทัพขึ้น และล่าสุดเมื่อวันที่  21 ก.ย. 60 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ประกาศว่า รัฐบาลตั้งเป้าปี 61 จะสร้างนักรบไซเบอร์ให้ได้ 1,000 คน[ 4 ]
การจัดตั้ง ศูนย์ไซเบอร์ของกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ ดังกล่าว เป็นไปในลักษณะต่างฝ่ายต่างทำ ไม่ประสานสอดคล้อง และไม่มีความเป็นเอกภาพ  ซึ่งแตกต่างจากการจัดหน่วยไซเบอร์ของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งมี กองบัญชาการไซเบอร์  เป็นหน่วยระดับ กองบัญชาการรบร่วม ( Unified Command ) ทำให้ประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม ทั้ง 6 แผนงาน ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านไซเบอร์ของกระทรวงกลาโหม ครอบคลุมแผนงานตามร่างแผนแม่บทไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม จึงควรพิจารณาจัดตั้ง ศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหม   ( Defense Cyber Command Center : DCCC )  เช่นเดียวกับกองทัพสหรัฐ ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับสถานการณ์และแนวโน้มความรุนแรงของภัยคุกคามด้านไซเบอร์ตามที่ได้กล่าวมาแล้วขั้นต้น และเป็นไปตามแนวทางการพัฒนากองทัพด้านไซเบอร์ของสหรัฐฯ ที่มีการประกอบกำลังครอบคลุมทั้ง 3 เหล่าทัพ เพื่อความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติงานร่วมกัน เป็นการบูรณาการและควบคุมการปฏิบัติด้านไซเบอร์ของหน่วยงานในกระทรวงกลาโหม , สนับสนุนศักยภาพด้านไซเบอร์ระดับชาติ และประสานการร่วมมือและพัฒนาศักยภาพด้านไซเบอร์ในระดับชาติ ซึ่งจะมีการจัดตั้ง ศูนย์ไซเบอร์อาเซียน ในเร็วๆ นี้
แนวทางการจัดตั้ง ศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหม ควรเป็นหน่วยระดับ กองบัญชาการรบร่วม ( Unified Command ) โดยการแปรสภาพ ศูนย์ไซเบอร์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม เป็น ศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหม เป็นหน่วยขึ้นตรง สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม  มี ผู้บัญชาการไซเบอร์กลาโหม ( Defense Cyber Commander )  ( อัตรา พลเอก ) เป็น ผู้บังคับบัญชา มี รองผู้บัญชาการไซเบอร์กลาโหม ( Deputy Defense Cyber Commander ) ( อัตรา พลโท ) จำนวน 4 อัตรา มาจาก กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ โดยปรับเกลี่ยตำแหน่ง/อัตรา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ( อัตรา พลเอก )  และตำแหน่ง อัตราผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ ( อัตรา พลโท )  เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านกำลังพลและงบประมาณ โครงสร้างการจัดประกอบด้วย  กองบัญชาการ , ศูนย์ไซเบอร์กลาโหม ( ศูนย์ไซเบอร์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม ปรับสายการบังคับบัญชาใหม่ )  และมีศูนย์ไซเบอร์กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ ขึ้นควบคุมทางยุทธการเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตระดับชาติ โดยมีภารกิจ ตามกรอบร่างแผนแม่บทไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2560-2564 และมีสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ( สทป. ) หรือ DTI.  ให้การสนับสนุนในด้านการพัฒนาบุคลากร การศึกษาวิจัย และการประสานความร่วมมือต่างๆ ด้านไซเบอร์ ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม สามารถจัดตั้งศูนย์บัญชาการไซเบอร์กลาโหมเพื่อการทดลองปฏิบัติงาน ไปพลางๆก่อนเช่นเดียวกับกองทัพบก ในการทดลองปฏิบัติงาน ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ที่ผ่านมาก่อนการจัดตั้งหน่วยจริง หรือจะจัดตั้งตามแนวทางการจัดตั้ง ศูนย์การแก้ไขปัญหาความมั่นคงแบบบูรณาการ ( ศมบ.) ก็คงจะมีความเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วและเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงกลาโหมและประเทศชาติสืบไป เรื่องแบบนี้ต้อง คิดเร็วทำเร็ว อย่าปล่อยให้เป็นไปแบบคำสุภาษิตโบราณกล่าวว่า " กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ "
-------------------------------------------------
อ้างอิง :
[1] http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9520000118760
[2] https://en.wikipedia.org/wiki/United_States_Cyber_Command

[4] https://www.thairath.co.th/content/1076524