วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สื่อสังคมออนไลน์กับความมั่นคงของชาติ

สื่อสังคมออนไลน์กับความมั่นคงของชาติ
 ( Social Media VS National Security)
โดย พล.ต. ฤทธี อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร

การติดต่อสื่อสารนับเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่งในสังคมมาตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงยุคปัจจุบัน ยิ่งในสังคมยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารปัจจุบัน การใช้ข้อมูลสารสนเทศเพื่อการติดต่อสื่อสารโทรคมนาคมได้มีการพัฒนา
นวัตกรรม เทคโนโลยี และความเจริญก้าวหน้าที่ทันสมัยในรูปแบบต่างๆ หลากหลายรูปแบบ ซึ่งรูปแบบที่กำลังเป็นกระแสและได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในยุคปัจจุบันคงจะหนีไม่พ้นการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ( Social Media ) อาทิเช่น Facebook , Line , Instagram , Twitter , etc. เนื่องจากมีความง่าย สะดวก รวดเร็ว ไร้ขีดจำกัดด้านเวลา สถานที่ ซึ่งมักจะเรียกกันติดปากว่า โลกไร้พรมแดนและกาลเวลา
ประเทศไทยถึงเป็นหนึ่งในสิบของโลก ( Top Ten )  ที่ได้รับการจัดลำดับของปริมาณผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ( Social Media ) มาหลายปีแล้ว โดยล่าสุดการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของคนไทย จัดอยู่ในอันดับ 9 ของโลก ( ข้อมูลจากกระทรวง ICT ปี 2558 ) โดยมีปริมาณผู้ใช้ Facebook จำนวน 30 ล้าน ( ลำดับที่ 9 ของโลก ) และปริมาณผู้ใช้ Line จำนวน 25 ล้าน ( ลำดับที่ 2 ของโลก รองจากญี่ปุ่น ) และมีแนวโน้มจะเพิ่มปริมาณการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของคนไทยทวีเพิ่มขึ้นมากกว่า 20 % ต่อปี จากอัตราการเติมโตของโลกอยู่ที่ 33 %  และคาดว่าอีกไม่กี่ปีประเทศไทยจะขยับตัวไปอยู่ในลำดับที่ต้นๆ ของโลกอย่างรวดเร็ว
 ทำไมสังคมไทยจึงขานรับกับกระแสการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าทันสมัยได้อย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่การจัดระดับมาตรฐานการศึกษาของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน เรากับอยู่ลำดับที่ 8 ทั้งนี้เนื่องมาจากวัฒนธรรมของคนไทยเป็นสังคมกลุ่ม ไม่ใช่สังคมเดี่ยว เหมือนกับต่างประเทศที่ส่วนใหญ่มักนิยมเป็นครอบครัวเดี่ยว การดำเนินชีวิตส่วนใหญ่มักจะเป็นสังคมกลุ่มเล็กๆ  ในขณะที่คนไทยเป็นเครือข่ายสังคม เป็นมนุษย์สังคม มีพวกพ้อง น้องพี่ ซึ่งจะมีความอบอุ่นในด้านความรู้สึกต่อตัวบุคคล ไม่โดดเดี่ยว ไปไหนมาไหนได้รับความสะดวกสบาย และสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าวสามารถจะตอบโจทย์ความต้องการของคนไทยได้เป็นอย่างดี และเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนไทยสามารถเข้าสังคมได้ง่าย สะดวก กว้างขวางมากขึ้น และไร้พรมแดน  จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาในการตอบรับกับกระแสสื่อสังคมออนไลน์สูงกว่าชาติอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่พื้นฐานระดับมาตรฐานการศึกษาของคนในประเทศอย่างอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ จึงทำให้การใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของคนไทยส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากระดับการจัดมาตรฐานการศึกษาของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ดังนั้นวุฒิภาวะของผู้ใช้งานส่วนใหญ่จึงมีน้อยกว่าประเทศที่มีระดับมาตรฐานการศึกษาที่สูงกว่า
สังคมโลกอื่นๆ จะมีความต่างกัน คือ ประชาชนของประเทศที่เจริญแล้ว จะค่อนข้างมีคุณภาพ โดยเฉพาะทางด้านการศึกษา ดังนั้นการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในการติดต่อสื่อสารส่วนใหญ่มักจะเป็นงานเป็นการ ไม่พร่ำเพรื่อ ไม่นิยมหยอกล้อกันทุกเรื่อง ด้านการวางตัวทางสังคมเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ จะมีความต่างกัน คนไทยมีอุปนิสัยสบายๆ ง่ายๆ รักสนุก มีความเป็นกันเอง สนุกสนาน ไม่จริงจังเท่าไรนัก ในขณะที่สังคมของคนในต่างประเทศจะมีความเป็นแบบแผน และมีวุฒิภาวะมากกว่า การใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารทางด้านสารสนเทศ จึงมุ่งเน้นการใช้งานอย่างจริงจัง อาจจะมีการใช้งานแบบพร่ำเพรื่อเป็นส่วนน้อย
กระแสแนวโน้มการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์เริ่มมาแรงทีละเล็กทีละน้อย โดยพัฒนารูปแบบการใช้งานมาจากห้องสนทนา ( Chat ) ในอดีต ซึ่งต้องใช้นักเขียนโปรแกรม ( Programmer ) พัฒนาโปรแกรมขึ้นมาเป็นการเฉพาะมีราคาค่อนข้างสูงและใช้งานในวงจำกัดในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบอินเทอร์เน็ต  แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีความเจริญก้าวหน้า ในการพัฒนา Social Media Applications สามารถใช้งานได้อย่างกว้างขวางทั้งระบบคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือแบบ Smartphone จึงทำให้คนทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้าถึงการใช้งานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ไร้พรมแดน และทำให้ติดตลาดสังคมไทยอย่างรวดเร็ว เกิดการใช้งานในหลากหลายรูปแบบทั้งการงาน การเมือง ส่วนตัว สังคมกลุ่มเล็ก-กลุ่มใหญ่ เชิงธุรกิจ การพาณิช การค้า การขาย ทั้งสุจริต และผิดกฎหมาย  เช่น การเผยแพร่ โฆษณา ประชาสัมพันธ์ต่างๆ  ซึ่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความมั่นคงของชาติ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา
ผลกระทบด้านการเมือง การใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์สามารถแพร่กระจายข่าวสารได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และไปได้ทั่วโลก ทำให้เกิดการปลุกระดมมวลชน การสร้างกระแสต่อต้านก่อให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองและความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ การบิดเบือนข้อมูล การกล่าวร้ายให้เท็จทำให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงและความเสียหายทางทรัพย์สิน การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล องค์กร ตลอดจนสถาบันต่างๆ  ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบมากกว่าทางบวก และสามารถขยายวงให้กว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการยากต่อป้องกัน ยับยั้ง  และสกัดกั้นการเผยแพร่ข้อมูลให้ทันเวลา
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ นอกจากการใช้งานในทางทุจริตผิดกฎหมาย เช่น การล่อลวง หลอกลวง ในทางมิจฉาชีพ ที่แฝงเร้นเข้ามาในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะด้านการตลาดที่โฆษณาเกินความเป็นจริง การค้าขายออนไลน์ที่ไม่ได้รับสินค้าตรงตามที่สั่งซื้อ การบริการเผยแพร่ภาพลามกอานาจาร และการเล่นเกมการพนันออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งส่งผลเสียหายทางระบบเศรษฐกิจโดยตรง ทั้งทางด้านความเชื่อถือทางธุรกิจการค้าการขายและการลงทุน ส่วนผลเสียหายทางระบบเศรษฐกิจทางอ้อม เนื่องจากการโฆษณาสินค้าและการค้าขายผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ สามารถจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและซื้อขายสินค้าได้ทั่วโลก โดยไม่สามารถเก็บภาษีทางการค้าได้เลย นอกจากการเก็บได้เพียงภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าเท่านั้นเอง เนื่องจากผู้ขายอยู่นอกประเทศทั่วทุกมุมโลก จึงไม่สามารถเก็บภาษีรายได้จากการค้าได้ มูลค่าการค้าขายจำนวนมหาศาลในแต่ละเดือนที่คนไทยสั่งสินค้าจากต่างประเทศทางสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ ขาดดุลทางการค้า เงินตราไหลออกนอกประเทศ ซึ่งเป็นการซื้อขายที่ประเทศไม่ได้รับประโยชน์กลับคืนเลย
ผลกระทบด้านสังคมจิตวิทยา การใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ไปในการล่อลวง หลอกลวง โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน สตรี รวมถึงผู้ใหญ่บางราย ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของกลุ่มมิจฉาชีพ ซึ่งมักจะใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการต่อต่อสื่อสารกับเหยื่อ โดยการสร้างภาพลักษณ์ แต่งภาพตนเอง ( Image ) และคุณสมบัติ ( Profile ) ให้ดูดี น่าคบหา น่าเชื่อถือ มีเสน่ห์ มีฐานะร่ำรวย เพื่อเปิดช่องทางในการติดต่อคบหากันให้เกิดความหลงเชื่อ และทำการล่อลวง ทำอนาจาร พร้อมทั้งถ่ายภาพ ถ่ายคลิปความสัมพันธ์ เพื่อใช้ในการแบล็กเมล์ ( Blackmail ) เรียกร้องผลประโยชน์เงินทองในภายหลัง เป็นต้น ซึ่งแต่ละปีมีสถิติการก่ออาชญากรรมในด้านนี้จำนวนไม่น้อย นับเป็นกระทบทางสังคม ทั้งตัวบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อที่เสียหาย พ่อแม่ญาติพี่น้องที่เสื่อมเสียชื่อเสียง ทรัพย์สินเงินทอง นอกจากการที่เด็ก และเยาวชน ใช้เวลาหมกมุ่นอยู่กับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ จนติดเป็นนิสัย ที่เราเรียกกันว่า “ สังคมก้มหน้า ” ก่อให้เกิดพฤติกรรมแยกตัวเองออกมาจากสังคมโลกมนุษย์แห่งความเป็นจริง ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในโลกออนไลน์ มักถูกเสแสร้ง แต่งเติมจนหาความจริงแทบไม่ได้ ขาดการปฏิบัติสัมพันธ์ทางสังคมในลักษณะเผชิญหน้า ต่างคน ต่างอยู่ ขาดความอบอุ่นทางสังคมครอบครัว ลูกมักจะไม่ค่อยให้ความสนใจกับคนในครอบครัวมากนัก พ่อ-แม่มีความรู้สึกว้าเหว่เดียวดาย ทั้งๆ ที่อยู่กันครบหน้า แต่ไม่ค่อยมีเวลาพูดคุยกัน เอาเวลาส่วนใหญ่ไปใช้ในการติดต่อสารสื่อสารและสนทนากับเพื่อนๆ ในกลุ่มสังคมออนไลน์ ไม่มีเวลาเล่น ไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีเวลาออกกำลังกาย และไม่มีเวลาดูหนังสือหนังหา ตำรับตำรา ทบทวนการเรียนต่างๆ เวลาเรียนบางรายยังแอบเล่น Social Media ก็มี  เหล่านี้จึงเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งของผลการจัดระดับมาตรฐานการศึกษาของประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน
จะเห็นได้ว่าสื่อสังคมออนไลน์มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ตั้งแต่ ปัจเจกบุคคล สังคมส่วนรวม จนถึงระดับประเทศชาติ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา ทั้งนี้การป้องกัน ยับยั้ง  และสกัดกั้นการเผยแพร่ข้อมูลทางสื่อสังคมออนไลน์นั้นกระทำได้ยาก หรือแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย  เนื่องจากไทยไม่ได้เป็นเจ้าของ Application และ Server ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ช่องทางการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์สามารถไปได้หลายเส้นทาง ทั้งทางยุโรปและสหรัฐอเมริกา เส้นทางหลักทางสหรัฐอเมริกาจะเชื่อมโยงมาจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และฮ่องกง ตัวอย่างเช่น ปัจจุบัน Gateway หลักของ Facebook ในแถบภูมิภาคนี้ตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งสามารถเชื่อมผ่านเข้ามาประเทศไทยโดยใช้เคเบิ้ลไยแก้วใต้น้ำ ( Submarine Cable )  และมากระจายเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ รอบประเทศ เช่น เมียนมาร์ , ลาว , กัมพูชา เป็นต้น ซึ่งข้อมูลลูกค้า Facebook ที่สิงคโปร์ส่วนใหญ่มาจากประเทศไทยเป็นหลัก ( ลำดับที่ 2 ของโลก ) ถ้ามองดูจากแผนที่จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีศักยภาพ ทั้งด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ( Location ) และปริมาณกลุ่มลูกค้าทางการตลาด ( Customer ) ของภูมิภาคแถบนี้  เหมาะสมที่จะเป็นฮับ ( Hub ) ในภูมิภาคนี้ แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากสิงคโปร์มีการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ โดยการสร้างคน และวางยุทธศาสตร์ในระยะยาวไว้เมื่อหลายสิบปีก่อน
ดังนั้นในระดับนโยบายรัฐบาล จึงควรเร่งดำเนินการให้มีการเสริมสร้างศักยภาพในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะทำให้ไทยลดการสูญเสียรายได้ไปเป็นจำนวนไม่น้อย อีกทั้งสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ก็จะมีแนวโน้มที่จะย้าย Gateway มาตั้งอยู่ที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลาง ( Hub ) ในภูมิภาคเพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ซึ่งเกิดจากสื่อสังคมออนไลน์ ก็สามารถการบริหารจัดการได้โดยง่ายด้วยตนเอง
การใช้สื่อสังคมออนไลน์มีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ถึงแม้จะมีเชิงลบอย่างไร ก็แฝงด้วยประโยชน์ทางใดทางหนึ่งเช่นกัน หรือในบางครั้งก็อาจให้คนไม่ดีไปทำประโยชน์ในแง่หนึ่งได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ การใช้สื่อสังคมออนไลน์จะต้องมีคำแนะนำ หรือให้ข้อคิดในการใช้ ต้องสร้างให้เกิดความรู้ ความตระหนัก โดยไม่ควรปิดกั้น ทำนองยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ซึ่งเป็นอุปนิสัยของมนุษย์ หากสงสัยก็ยิ่งอยากรู้ ทั้งนี้จึงมีกระบวนการศึกษาสภาพแวดล้อม ( Environment )   สร้างบริบท ( Context ) สร้างต้นแบบ ( Prototype )  การรณรงค์ ( Campaign ) ให้คนใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างชาญฉลาด ในประเทศอื่นเขามีกันอยู่แล้ว “ ล้อมคอกก่อนวัวหาย ” แต่ในประเทศไทยจะเป็นลักษณะปล่อยให้เกิดขึ้น แล้วจึงติดตามแก้ปัญหา ตรงกับสุภาษิต “ วัวหายล้อมคอก ”  เนื่องจากการป้องกันไว้ก่อนอาจมีการทัดทาน จึงต้องปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นก่อน จึงกล่าวอ้างและนำไปสู่การกำหนดมาตรการในเชิงรับ คือ การสร้างความสำนึก สร้างความตระหนัก โดยเริ่มจากคนรุ่นใหม่ อย่างเช่นในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี  เริ่มสร้างคนตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึง ปัจจุบัน และสร้างความเจริญก้าวหน้า จากบทเรียน ( Lesson Learned ) จากข้อเท็จจริง ตรงข้ามกับสังคมไทยที่มักเรียนรู้ตามกระแส แทนการศึกษาตามกรอบความคิดที่วางไว้
ระดับฐานรากของสังคมไทยในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในอนาคต คนไทยจะต้องมีจุดยืน และปลูกฝังให้เด็กเยาวชนรุ่นใหม่มีจุดยืน หรือสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ไปตามกระแส ขาดวิจารณญาณ โดยการกำหนดหลักปฏิบัติ 3 ประการ คือ การรู้ , การตระหนัก และการสร้างจิตสำนึก  เมื่อมีจุดยืนครบ 3 สิ่ง ก็จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองนั่นเอง เมื่อปัจเจกบุคคลมีภูมิคุ้มกัน สังคม ประเทศชาติก็จะมีภูมิคุ้มกันเช่นกัน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนในรุ่นปัจจุบันในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ควรกำหนดมาตรการ 5 ข้อ คือ มาตรการรณรงค์ , มาตรการปลูกฝัง , มาตรการส่งเสริม , มาตรการป้องปรามป้องกัน และมาตรการลงโทษ ทั้งหมดต้องบริหารจัดการเชิงระบบ ให้ครบ 5 องค์ประกอบในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งการควบคุมจะทำได้ยากกว่าสังคมโลก จึงต้องมีมิติในการควบคุมที่สูงกว่า กำหนดกรอบเวลาในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ทั้งนี้การรณรงค์ให้มุ่งที่ “ คน ” ต่อจากนั้นจึงมุ่งสู่ “ สังคม ” โดยกำหนดเป็นกฎหมาย เพื่อให้เป็นกติกาของสังคมต่อไป
----------------------------------
แหล่งข้อมูล
http://thainews.prd.go.th/centerweb/news/NewsDetail?NT01_NewsID=WNECO5804100010015

http://www.jaymart.co.th/line-behavior-shopping.asp