วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

งานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อการป้องกันประเทศและความปลอดภัย 2560 : เราได้อะไร ?

งานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อการป้องกันประเทศและความปลอดภัย 2560 : เราได้อะไร ?
( What are the benefits of  Defense & Security  2017 )
พลโท ฤทธี  อินทราวุธ
ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงกลาโหม
ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และไซเบอร์

งานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อการป้องกันประเทศและความปลอดภัย ครั้งที่ 8  ประจำปี 2560 หรืองาน Defense & Security 2017[1]  เป็นงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ เทคโนโลยีด้านการทหาร และความปลอดภัย รวม
ไปถึงอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยครอบคลุมทั้ง 3 เหล่าทัพ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระดับภูมิภาค รวมทั้งพาวิลเลี่ยนนานาชาติกว่า 25 ประเทศ อาทิ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี จีน เกาหลี และรัสเซีย โดยผู้ประกอบการและผู้ผลิตชั้นนำกว่า 400 รายการจาก 50 ประเทศ และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงกลาโหม รวมถึงผู้ผลิตยุทโธปกรณ์สัญชาติไทยแท้จัดแสดงภายในงานกว่า 22 ราย   ระหว่างวันที่ 6 - 9 พฤศจิกายน 2560 ณ อาคาร 6 - 8 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ถือเป็นงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ยิ่งใหญ่ของปะเทศไทย ที่จัดขี้นโดย กระทรวงกลาโหม เป็นประจำทุกๆ 2 ปี 
ในส่วนของอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อการป้องกันประเทศและความปลอดภัย ที่นำมาจัดแสดงในงาน Defense & Security ในแต่ละครั้งโดยผู้ประกอบการและผู้ผลิตชั้นนำจากต่างประเทศ ที่ต้องการนำอาวุธยุทโธปกรณ์
ที่ทันสมัย เทคโนโลยีด้านการทหารต่างๆ รวมไปถึงอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยครอบคลุม ทั้ง 3
เหล่าทัพ มาเสนอขายให้กับผู้มาชมงานซึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและทูตานุทูตจากต่างประเทศ ทูตทหารประเทศต่างๆ ที่ประจำประเทศไทย ผู้บังคับบัญชาทางทหารระดับสูงของประเทศต่างๆ รวมถึงผู้บังคับบัญชาและกำลังพลของหน่วยทหารของไทย ถือเป็นตลาดค้าอาวุธที่สำคัญ ที่ผู้ประกอบการและผู้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ชั้นนำจากต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และหนึ่งในลูกค้าที่สำคัญก็คือประเทศไทย ซึ่งในแต่ละปีมักมียอดสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย เทคโนโลยีด้านการทหารต่างๆ รวมไปถึงอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย จากผู้ประกอบการและผู้ผลิตชั้นนำจากต่างประเทศ จำนวนหลายพันล้านบาท เพื่อนำมาพัฒนาเสริมสร้างกำลังกองทัพให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย ซึ่งแทบถือเป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญของผู้ประกอบการและผู้ผลิตชั้นนำจากต่างประเทศ โดยในส่วนของผู้จัดงานยังคงมุ่งเป้าหมายหลักไปยังการสร้างโอกาสสำคัญของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย[2]   เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่รัฐบาลมุ่งหวังจะผลักดันให้เกิดขึ้น  เพื่อสร้างโอกาสในการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ระดับโลก ผู้มีอำนาจตัดสินใจในกองทัพ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลจากทั้งในไทย และในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ภายใต้แนวคิด The Power of  Partnerships  
นอกจากนี้ในงาน Defense and Security 2017 ได้ให้ความสำคัญในด้านการป้องกันประเทศจากภัยคุกคาม และการรับมือกับภัยคุกคามแบบใหม่ทั้ง การก่อการร้าย สงครามไซเบอร์ หรือการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการป้องกันประเทศใหม่ๆ ที่ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องก้าวตามให้ทัน ดังนั้นจึงจัดให้มีการสัมมนาในประเด็น การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาเป็นวิทยากรนำเสนอ
ซึ่งมีหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจ เช่น แนวทางเชิงกลยุทธ์สำหรับการป้องกันภัยทางไซเบอร์ด้านการทหาร, ความท้าทายในการป้องกันภัยทางไซเบอร์ในระดับประเทศ, ระบบนิเวศของความมั่นคงทางไซเบอร์ ประเทศอิสราเอล, การข่าวกรองกับการขับเคลื่อนระบบการรักษาความมั่นคงทางไซเบอร์, การแบ่งปันข้อมูลข่าวสารในโลกยุคโลกาภิวัตน์, ความท้าทายในการป้องกันระบบประมวลผลแบบฝังตัว, การป้องกันโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญ-คลื่นลูกใหม่, ภัยทางไซเบอร์จากฟากฟ้า-การต่อสู้ท่ามกลางเมฆทมิฬ, ความมั่นคงทางไซเบอร์-การสร้างความเข้าใจในระบบ Big Data, แผงควบคุม-ตัวชี้วัดการโจมตีและมาตรการตอบโต้ เป็นต้น นับเป็นการสร้างโอกาสที่ดีเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้
การสร้างโอกาสสำคัญของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่รัฐบาลมุ่งหวังจะผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ในการจัดงาน Defense and Security 2017 โดยได้รับการตอบรับจากผู้ผลิตยุทโธปกรณ์สัญชาติไทยจำนวนกว่า 22 ราย[3]     ที่มีขีดความสามารถในการผลิตยุทโธปกรณ์ครอบคลุมทั้งที่ใช้ในทางทหาร การกู้ภัยธรรมชาติ และระบบความปลอดภัยไซเบอร์ รวมไปถึงโดรนสอดแนม และดาวเทียมถ่ายภาพ ที่คนไทยก็ทำได้ไม่แพ้ใคร อาทิเช่น
รถหุ้มเกราะล้อยาง รุ่น First Win I และ First Win II ของ บริษัท ชัยเสรี ( Chaiseri ) ที่ได้เข้าประจำการกองทัพบกไทยไปแล้ว 13 คัน ส่วนรุ่น First Win I ประจำการอยู่ที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ( DSI ) แล้วกว่า 20 คัน นอกจากนี้ยังส่งมอบให้กับกองทัพมาเลเซียและฟิลิปปินส์ โดยรถหุ้มเกราะล้อยางของชัยเสรีออกแบบและผลิตโดยคนไทยเกือบทั้งคัน มีเพียงเครื่องยนต์และอาวุธปืนประจำรถเท่านั้นที่ต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ
โดรนหรือเครื่องบินตรวจการณ์ไร้คนขับ หรือ SKY SCOUT TACTICAL UAS ของ บริษัท RV CONNEX สำหรับใช้ตรวจการณ์โดยเน้นภารกิจกู้ภัย และภารกิจทางทหารที่ไม่ใช่การรบ ตัวเครื่อง
สามารถติดกล้องเซ็นเซอร์ที่สามารถจับภาพทะลุเมฆได้ ตัวเครื่องบินไร้คนขับนี้มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการเต็มรูปแบบทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ออกแบบและผลิตโดยคนไทยทั้งหมด ส่วนตัวเครื่องบินก็ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ มีเพียงกล้องและเครื่องยนต์เท่านั้นที่ต้องนำเข้า  เครื่องบินตรวจการณ์ไร้คนขับนี้ได้รับการพัฒนาพร้อมผ่านมาตรฐานการบินระดับสากล และเตรียมเข้าประจำการในกองทัพอากาศในช่วงกลางปีหน้า
ดาวเทียมสื่อสารฝีมือคนไทย โดยบริษัท RV CONNEX พัฒนาร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร พัฒนาดาวเทียมพร้อมระบบปฏิบัติการประมวลข้อมูลข่าวสารเชื่อมกับระบบอินเทอร์เน็ต หลักการทำงาน
คือ ข้อมูลในโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวหรือบุคคลทั่วไปเผยแพร่เหตุการณ์อุบัติเหตุใหญ่ ระบบดาวเทียมจะทำการหาพิกัด และถ่ายภาพทางอากาศที่จุดเกิดเหตุ เพื่อประเมินสถานการณ์และวางแผนการช่วยเหลือ ระบบที่ว่านี้ถูกพัฒนาขึ้นเสร็จสมบูรณ์แล้ว อยู่ระหว่างทำเรื่องเสนอรัฐบาลพิจารณา

ระบบ Hunting Ground โดยบริษัท RV CONNEX ซึ่งเป็น ระบบจำลองยุทธ์ทางไซเบอร์ หรือ Cyber Range สำหรับการฝึกบุคลากรในด้าน Cyber Security ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดยระบบสามารถสร้างโจทย์ปัญหา สถานการณ์ และจำลองสภาวะแวดล้อมที่บุคลาการด้าน Cyber Security จะต้องเจอจริง รวมถึงมีระบบ Debrief ที่ช่วยในการบรรยายสรุปอีกด้วย โดยระบบนี้เป็นระบบที่ทางบริษัทฯ พัฒนาขึ้นเอง
ผู้ประกอบการและผู้ผลิตยุทโธปกรณ์คนไทย ต่างยอมรับว่ามีชาวต่างประเทศให้ความสนใจในยุทโธปกรณ์ของคนไทยจำนวนมากในงานนี้ แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับว่า ผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ไทยยังขาดการสนับสนุนจากรัฐบาล และการสั่งซื้อจากกองทัพเท่าที่ควร ต้องยอมรับว่าการทดลองพัฒนาอาวุธเองมีต้นทุนสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับการซื้อสำเร็จจากต่างประเทศ แต่มีผลดีกว่ามากในระยะยาว เพราะเมื่อเราสามารถพัฒนาจนผลิตได้เอง ต้นทุนจะต่ำลงมากและยังสามารถนำเป็นสินค้าส่งออกได้ด้วย และปัญหาการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ มักไม่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปสำรวจวิจัยเพื่อพัฒนาเท่าที่ควร เนื่องจากเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์มักถูกปิดเป็นความลับ หากรัฐบาลต้องการจะสร้างโอกาสด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่รัฐบาลมุ่งหวังจะผลักดันให้เกิดขึ้น คงจะต้องปรับแนวคิดและวิธีการในการส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ในฐานะผู้ผลิต, ผู้ใช้ (อุปโภค) และผู้จำหน่าย " ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ " 
ถ้าเราสามารถผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารขึ้นมาใช้ประจำการในกองทัพของเราได้เองโดยการสนับสนุนจากรัฐบาลและกองทัพอย่างเป็นรูปธรรมแท้จริง เพื่อเป็นการอ้างอิงข้อมูลกองทัพที่มีการใช้งานจริง ก็จะเป็นบันไดก้าวไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยไปสู่ตลาดค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารระดับภูมิภาคและระดับโลก เช่นเดียวกับผู้ประกอบการและผู้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารของต่างประเทศ ที่มีการใช้ประจำการในประเทศของตนเอง และนำมาขายให้กับประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศเรา การจัดงาน  Defense & Security  ของไทยก็จะก่อเกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย ทั้งด้านการค้า การลงทุน การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และความภาคภูมิใจในความสามารถของคนไทย 

--------------------------------------------------
อ้างอิง :
[3] https://thestandard.co/ordnance-defense-and-security-2017/

วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เราพร้อมเผชิญสถานการณ์ภัยแฮ็กเกอร์รึยัง?

เราพร้อมเผชิญสถานการณ์ภัยแฮ็กเกอร์รึยัง?
( Are you ready for face the hack situation ? )
พลโท ฤทธี  อินทราวุธ
ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงกลาโหม
ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และไซเบอร์

ภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่ร้ายแรงในปัจจุบัน นอกเหนือจากการถูกโจมตีด้วยโปรแกรมมัลแวร์ หรือไวรัสเรียกค่าไถ่ ( Ransomware ) เช่น WannaCry[1] และ Petya[2] ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อข้อมูล ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ไปทั่วโลก จนหลายประเทศต่างให้ความสำคัญในด้านการ
เฝ้าระวัง และการรับมืออย่างเต็มที่ ทั้งด้านองค์กร ด้านเครื่องมืออุปกรณ์ป้องกัน และด้านการพัฒนาบุคคลากร แต่ก็มีบางประเทศที่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก มักจะตื่นตัวตามกระแสสังคม แต่การเตรียมการรับมือยังคงปล่อยให้เป็นแบบตัวใครตัวมัน ยังขาดการเตรียมการรับมือแบบบูรณาการหรือแบบองค์รวมอย่างมีเอกภาพ ทั้งการเฝ้าระวังและเตรียมการรับมือในภาคธุรกิจ ภาคการเงิน ภาคระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ภาคอุตสากรรมการผลิตที่ทันสมัยควบคุมด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ภาคระบบสาธารณสุขและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ฯลฯ เป็นต้น
ข่าวการโจมตีของกลุ่มแฮ็คเกอร์ต่างๆ ที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน นับว่ามีความสำคัญเช่นกันในด้านภัยคุกคามไซเบอร์ โดยเฉพาะการนำข้อมูลสำคัญต่างๆ ออกมาเปิดเผย โดยล่าสุดได้มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของประชาชนชาวมาเลย์เซียเกือบทั้งประเทศที่ถูกแฮ็คข้อมูลรั่วไหลออกมากว่า 46.2 ล้านรายการ[3]  ในขณะที่ประชากรของมาเลย์เซียมีประชาชน 31.2 ล้านราย และข้อมูล 46.2 ล้านรายการนี้ถูกแฮ็คออกมาจากแหล่งผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมในมาเลย์เซีย นอกจากข้อมูลส่วนตัวพื้นฐานแล้ว ข้อมูลเหล่านี้ยังครอบคลุมถึงเบอร์โทรศัพท์, ข้อมูล SIM Card, ข้อมูล Serial Number ของอุปกรณ์ และที่อยู่ ที่สำคัญยังมีการแฮ็คข้อมูลประวัติทางการแพทย์ของประชาชนมาเลย์เซียอีกกว่า 80,000 รายการจากหน่วยงานทางด้านสาธารณสุข ในขณะที่เว็บไซต์ของภาครัฐ และเว็บไซต์ที่มีข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานจำนวนมากอย่าง jobstreet.com เองก็ถูกแฮ็คด้วยเช่นกัน
ปรากฏการณ์การโจมตีทางไซเบอร์เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความเชื่อมั่นของนานาประเทศที่จะมาลงทุนด้านธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชนภายในประเทศด้านความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ที่เก็บรักษาไว้โดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ว่าจะไม่ถุกแฮ็คข้อมูลนำมาเปิดเผยต่สาธารณะ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว ถึงแม้ว่าจะมีมาตรการทางกฏหมายไว้ลงโทษผู้กระทำความผิด แต่ก็ไม่มีใครอยากจะได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหาย
กลไกที่จะมาสร้างความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ในภาพรวมแบบบูรณาการดังกล่าวให้ตรอบคลุมทุกด้าน หากจะมาคาดหวังทางภาครัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียวคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากภัยคุกคามด้านไซเบอร์ไร้ขอบเขต ไร้รูปแบบ และไร้กาลเวลา เช่นเดียวกับ การรับมือกับภัยคุกคามทางการทหาร ภัยธรรมชาติ และภัยด้านความมั่นคงของมนุษย์ ของ องค์การสหประชาชาติ[4] ( United Nations ; UN ) จึงใช้กลไกในรูปแบบ “ หุ้นส่วน ” โดยระดมประเทศสมาชิกก่อตั้งเป็นองค์กรขึ้น ช่วยกันลงขันมากน้อยตามกำลัง และจัดส่งกองกำลัง หน่วยงานต่างๆ เข้าไปปฏิบัติภารกิจเพื่อสันติภาพ ภารกิจบรรเทาสาธารณะภัย ภารกิจคุ้มครองเส้นทางเดินเรือจากโจรสลัด ฯลฯ เป็นต้น แนวคิดดังกล่าวสามารถนำมาประยุกต์เป็น “ หุ้นส่วนความปลอดภัยทางไซเบอร์ ” ( Cyber security partnerships ) ในระดับประเทศ โดยเริ่มต้นจากองค์กรภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคเอกชน จากกลุ่มเล็กในแต่ละด้านค่อยๆ ผนึกกำลังกัน เช่นเดียวกับการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ แรกเริ่มก็มีเพียง 26 ประเทศ จนขยายตัวเติบโตเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีสมาชิกทั้งหมดในปัจจุบัน 193 ประเทศ เช่นเดียงกับ กรุงโรม หรือ กำแพงเมืองจีน ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว ต่างล้วนเริ่มต้นมาจากอิฐก้อนแรกทั้งสิ้น และเป็นก้อนที่อยู่ล่างสุด ต้องทนแบกรับน้ำหนักอิฐก้อนอื่นๆ ที่ก่อทับตามมาภายหลังจนเกิดผลสำเร็จในภายหลัง โดยไม่มีใครได้มีโอกาสมองเห็นอิฐก้อนแรก “ เราพร้อมจะเป็นอิฐก้อนแรกรึยัง? ถ้าพร้อม !!! “ เราก็จะพร้อมเผชิญสถานการณ์ภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ”
--------------------------------------------------
อ้างอิง :