วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

คนไทย 4.0 หรือ คนไทยขาเลาะ ( Thai 4.0 vs. Thai 0.0 )

คนไทย 4.0 หรือ คนไทยขาเลาะ
( Thai 4.0 vs. Thai 0.0 )
โดย พลตรี ฤทธี  อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2559 เวลา 20.15 น. อธิบายถึง คนไทย
1.0 , 2.0 , 3.0 หรือ 4.0 โดยเปรียบเทียบกับ คนใช้โทรศัพท์ว่า ถ้ายังใช้งานเพียงเพื่อการสื่อสารพื้นฐาน ก็ยังคงเป็น “คนไทย 1.0” ถ้าหากใช้ “มือถือ” ในการส่ง e-mail , ส่งไฟล์เอกสาร หรือใช้ประโยชน์ในการทำงาน และกิจวัตรประจำวัน ก็น่าจะยกระดับตนเองเป็น “คนไทย 2.0” ได้ไม่ยาก แต่ถ้าหากสามารถใช้ “สมาร์ทโฟนได้ราวกับคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อ “อินเตอร์เน็ตในการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ พัฒนาตนเอง ติดต่อกับคนทั่วโลกได้ ก็อาจได้ชื่อว่าเป็น “คนไทย 3.0” ยิ่งกว่านั้นหากสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างเครือข่าย สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ นำไปสู่การผลิต ด้วยความรู้เหล่านั้น แล้วทำให้รู้สึกว่า “ทำงานน้อยลง แต่ได้ผลผลิตมากขึ้นเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา แบบนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็น “คนไทย 4.0” โดยสรุปแล้ว ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า “ท่านมีอะไร?” แต่สิ่งสำคัญ คือ “ท่านใช้สิ่งที่ท่านมีอย่างไร? ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดโดยเฉพาะในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยอยู่บนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ว่าจะเป็น คนไทย 1.0 , 2.0 , 3.0 หรือ 4.0 ก็ตาม ขออย่าหยุดที่จะพัฒนาตนเอง [1]
ข้อเท็จจริง ปัจจุบันคนไทยเรามีทั้ง คนไทยขาเลาะ[2] หรือ คนไทย 0.0 , คนไทย 1.0 , 2.0 , 3.0 ไปจนถึง คนไทย 4.0 และบางคนอาจจะไปถึงขั้น คนไทย 5.0 ซึ่งหมายถึง คนไทยที่สามารถต่อยอดจากกลุ่ม คนไทย 4.0 ซึ่งใช้สิ่งที่มีอยู่สร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างเครือข่าย สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และนำไปสู่การผลิต โดยการรวมศักยภาพคนไทย 4.0 ให้เป็นเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก และนำไปสู่การสร้างเครือข่ายสร้างพลังอำนาจในการต่อรองผลประโยชน์ในระดับชาติ   
แต่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ คนไทยขาเลาะ หรือ คนไทย 0.0 ซึ่งหมายถึง คนไทย ที่ชอบเที่ยวเตร็ดเตร่ไปเรื่อย ไม่มีสาระแก่นสารอะไร ส่วนมากจะเป็นกลุ่มเยาวชนวัยรุ่นหนุ่มสาว ที่ชอบเที่ยวเล่นสนุกสนานไปวันๆ ไม่คิดจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม บางรายมีความพร้อมด้านฐานะสภาพความเป็นอยู่สุขสบาย บางรายก็ตรงกันข้าม แต่ที่เหมือนกันคือความเป็น คนไทยขาเลาะ หรือ คนไทย 0.0 ที่สร้างปัญหาต่อสังคมไทย เช่น การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อแข่งขันด้านวัตถุนิยมหรือค่านิยมในทางที่ผิด  เที่ยวเตร่ มั่วสุมมอมเมาทางเพศ เกี่ยวข้องยาเสพติด เป็นต้น บางรายมีทุกอย่าง แบบที่นายกรัฐมนตรีกล่าว แต่ใช้สิ่งที่ตนมีแบบไร้คุณค่า ไม่มีการพัฒนา บางรายไม่มีก็พยายามแสวงหาให้ตนมี แต่ก็ใช้สิ่งที่มีแบบไร้คุณค่าคุณประโยชน์ บางรายใช้สิ่งที่มีเพื่อกระโดดข้ามไปเป็น คนไทย 3.0 แบบผิดๆ เช่น การใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชี่ยลมีเดีย ในการเผยแพร่ข้อมูล ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวที่ไม่เหมาะสมต่างๆ รวมถึงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากการใช้สื่อดังกล่าว
ดังนั้นการที่ “ท่านมีอะไร?” และ “ท่านใช้สิ่งที่ท่านมีอย่างไร?” คงไม่เพียงพอ หากคนไทยยังขาดการปลูกฝังเพาะบ่มกระบวนการทางความคิด ( Mind Set ) ตั้งแต่วัยเด็กในด้านที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาพัฒนาประเทศเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการตามนโยบาย Thailand 4.0 [3] จึงอาจจะยังห่างไกลความเป็นจริง เพราะเรายังมี คนไทยขาเลาะ หรือ คนไทย 0.0 , คนไทย 1.0 , 2.0 และ 3.0 ที่ยังใช้สิ่งที่มีอยู่แบบผิดๆ ขาดสติ ขาดจิตสำนึก และขาดความรับผิดชอบ
การที่จะพัฒนาคนไทยเพื่อรองรับการไปสู่ Thailand 4.0 จึงต้องกลับมาเริ่มต้นที่การปลูกฝังเพาะบ่มกระบวนการทางความคิด ( Mind Set ) การสร้างความตระหนักรู้ ( Awareness ) การเสริมสร้างจิตสำนึก และสร้างค่านิยมที่ถูกต้องให้กับคนรุ่นใหม่ตั้งแต่วัยเด็ก จนถึง Generation X , Y , Z [4] ซึ่งมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในยุคดิจิตัล ให้ฉลาดที่จะเลือก ฉลาดที่จะใช้ และฉลาดที่จะอยู่กับมันได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการรู้เท่าทัน มีความตระหนัก มีจิตสำนึก และความรับผิดชอบ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ให้สามารถอยู่กับเทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด จะได้ไม่ตกเป็นทาสเทคโนโลยีแบบ คนไทยขาเลาะ หรือ คนไทย 0.0
กระบวนการปลูกฝังเพาะบ่ม ( Cultivation )  กระบวนการทางความคิดให้กับคนรุ่นใหม่ หลายประเทศที่เจริญแล้วได้ดำเนินการกันมานานแล้ว เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้ถือเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี และคนรุ่นใหม่ของประเทศเหล่านี้ถือว่าได้มีการพัฒนารุ่นต่อรุ่นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นประเทศที่ประสบปัญหาจากภัยสงครามมาในอดีต ตรงข้ามกับเด็กไทยอย่างสิ้นเชิง ที่การพัฒนาแบบย่ำเท้าอยู่กับที่ หรือถดถอยลงไปทุกวัน เพราะผู้ใหญ่มักทำแบบอย่างไว้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควร และสังคมกับเพิกเฉย หรือบางกรณีเห็นดีเห็นงามไปด้วย มีการเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชี่ยลมีเดีย ทำให้เป็นแบบอย่างในทางที่ไม่ดีแก่คนรุ่นหลังๆ
แม้ว่าจะมีการรณรงค์เสริมสร้างจิตสำนึกค่านิยมคนไทย 12 ประการ[5] ของรัฐบาล และการจัดตั้ง ลูกเสือไซเบอร์ [6] ( Cyber Scout )  มาตั้งแต่ปี 2554 โดยสร้างอาสาสมัครลูกเสือไซเบอร์ ( Cyber Scout )  ที่มีจิตสำนึกด้านจริยธรรม คุณธรรม และขยายเครือข่ายอาสาสมัครลูกเสือไซเบอร์ ( Cyber Scout )  เพื่อสนับสนุนความรักความสามัคคีภายในชาติ เฝ้าระวังและสอดส่องพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของสังคมไทย  แต่แนวโน้มพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของสังคมไทยก็มิได้ลดลง นับวันจะทวีคูณเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น กระบวนการปลูกฝังเพาะบ่มกระบวนการทางความคิดไปสู่ Thailand 4.0 ให้กับคนไทยรุ่นใหม่ จึงมีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน ควบคู่ไปกับการแจกอุปกรณ์แท็บเล็ต ( Tables ) โดยเริ่มตั้งเด็กเล็กระดับอนุบาลมาจนถึงชั้นประถมศึกษา และพัฒนาความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติ ค่านิยม จิตสำนึก และสร้างความตระหนักรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดและภัยอันตรายต่างๆ ให้กับบุคลากรทางการศึกษา ครู บาอาจารย์ เพื่อนำไปถ่ายทอดปลูกฝังเพาะบ่มกระบวนการทางความคิดให้กับเด็กรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องแบบเดียวกับประเทศที่กล่าวมาแล้ว เพียงเท่านี้ประเทศไทยก็จะเจริญก้าวหน้าไปสู่ Thailand 4.0
----------------------------------------------------------------

อ้างอิง :

[1] http://thailand.prd.go.th/1700/ewt/aseanthai/ewt_news.php?nid=6679&filename=index


[6] http://www.cyberscout.in.th/home.php

วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ศูนย์ไซเบอร์อาเซียน ( ASEAN Cybersecurity Center )

ศูนย์ไซเบอร์อาเซียน
 ( ASEAN Cybersecurity Center )
โดย พลตรี ฤทธี อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก

ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงกลาโหม ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้านความ
มั่นคงทางไซเบอร์ ( ASEAN Workshop on Strengthening and Enhancing Cybersecurity Cooperation in the ASEAN Region : Towards an Integrated Approach in Addressing Transnational Crime ) ในระหว่างการจัดงานสัปดาห์ความมั่นคงทางไซเบอร์ประเทศไทย ปี ๒๕๖๐ ที่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 
ที่ประชุมตระหนักถึง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น และได้กลายเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ดังนั้นประเทศสมาชิกอาเซียนจึงจำเป็นต้องเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ตลอดจนเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับประเทศภายนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรระดับภูมิภาค และองค์การระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเสริมสร้างขีดความสามารถด้านความมั่นคงและความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ นอกจากนี้รัฐต้องเสริมสร้างมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย ระหว่างภาครัฐ ภาครัฐกับภาคเอกชน องค์กรระดับภูมิภาค และองค์การระหว่างประเทศ และสื่อมวลชน เพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน อันจะนำไปสู่การหารือและการสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล การจัดตั้งจุดประสานงาน ตลอดจนความร่วมมือเพื่อป้องกันและรับมือจากการโจมตีทางไซเบอร์ และการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่บุคคลทั่วไปเกี่ยวกับภัยคุกคามและอาชญากรรมทางไซเบอร์ ลดช่องว่างด้านขีดความสามารถในการต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ และช่องว่างของกฎหมายและฐานความผิดทางไซเบอร์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน  ที่ประชุมเห็นพ้องต่อข้อเสนอให้พิจารณากลไกระดับภูมิภาคเพื่อบูรณาการความร่วมมือด้านไซเบอร์ โดยพิจารณาจัดตั้งศูนย์ไซเบอร์อาเซียน ( ASEAN Cybersecurity Center ) หรือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ของอาเซียน ( ASEAN Cybersecurity Centre Excellence ) หรือหน่วยงานอิสระ โดยกลไกนี้ควรประกอบด้วย ผู้แทนจากภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศ ภาคเอกชน และภาควิชาการ เพื่อเป็นเวทีสำหรับการหารือทั้งเชิงนโยบาย หรือเชิงเทคนิค การเสริมสร้างความตระหนักรู้ให้แก่บุคคลทั่วไป ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ การวิเคราะห์ข้อมูลและพัฒนางานวิจัยในประเด็นความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ประสานงานด้านข้อมูลและข่าวกรอง ดำเนินงานเชิงปฏิบัติการ เสนอแนะแนวทางในการป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ในระดับชาติ และจัดการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ในการต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ 
จากผลการประชุมดังกล่าว แสดงถึงแนวโน้มของความร่วมมือเพื่อป้องกันและรับมือจากการโจมตีทางไซเบอร์ในระดับภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้นี้ และเชื่อว่าประเทศสมาชิกอาเซียนต่างเห็นความสำคัญ และมีความพร้อมในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะได้รับการจัดลำดับอยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก และอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (1)  และมาเลเซีย (3)   สำหรับอันดับโลกของกลุ่มประเทศอาเซียนที่เหลืออีก 7 ประเทศ ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ (37) , บรูไน (53) , อินโดนีเซีย (70) , ลาว (77) , กัมพูชา (92) , พม่า (100)  และ เวียดนาม(101) ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทางสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ( International Telecommunication Union  : ITU ) ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ ( UN ) ดำเนินการสำรวจประเทศทั่วโลก 193 ประเทศ นำมาจัดทำเป็นรายงานในหัวข้อ “ Global Cybersecurity Index 2017 ” เผยแพร่เมื่อวันพุธที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยองค์การสหประชาชาติ ( UN ) ระบุว่ามีประเทศราวครึ่งหนึ่งของโลกที่เสี่ยงตกเป็นเหยื่อ อาชญากรออนไลน์เนื่องจากไม่มีแผนรักษาความปลอดภัยโลกไซเบอร์ที่ดีพอ
ปัญหาความพร้อมของประเทศไทย ไม่ได้อยู่ที่การจัดลำดับ หรือขีดความสามารถขององค์กรและตัวบุคคลากร แต่เป็นปัญหาภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย , ช่องว่างของกฎหมายและฐานความผิดทางไซเบอร์ และการบริหารจัดการองค์กรและทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมักจะยึดโยงอยู่กับวัฒนธรรมองค์กรแบบตั้งเดิมในระบบอุปถัมภ์ พรรคพวก เพื่อนพ้อง น้องพี่ และเชื่อมโยงกับศูนย์อำนาจทางการเมือง ไม่มีความเป็นอิสระและเอกภาพเท่าที่ควร รวมถึงความพร้อมในการจัดตั้งองค์กรภายในประเทศ ที่เรียกว่า ศูนย์ไซเบอร์แห่งชาติ ( National Cybersecurity Center )  ที่จะมารองรับการทำงานของศูนย์ไซเบอร์อาเซียนซึ่งยังไม่มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม ว่าจะเป็นองค์กรอิสระหรือองค์กรในระบบราชการ ซึ่งควรจะมุ่งเน้นการพัฒนาเสริมสร้างด้านความมั่นคงและความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศแบบองค์รวมทั้งเชิงรุกและเชิงรับตามกรอบมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของ National Institute of Standard and Technology NIST ) เพื่อเสริมสร้างหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยและความไว้เนื้อเชื่อใจทุกภาคส่วน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านปลอดภัยทางไซเบอร์ การพัฒนาบุคลากร และการเสริมสร้างความตระหนักรู้ให้แก่บุคคลทั่วไป เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นการเตรียมความพร้อมด้านไซเบอร์ของประเทศเพื่อรองรับการจัดตั้งศูนย์ไซเบอร์อาเซียนในอนาคต

---------------------------------------------

อ้างอิง :

วันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ประเทศไทย 4.0 กับ กองทัพ ศตวรรษ ที่ 21 ( Thailand 4.0 vs. Force 21 )

ประเทศไทย 4.0 กับ กองทัพ ศตวรรษ ที่ 21
( Thailand 4.0 vs. Force 21 )
โดย พลตรี ฤทธี อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก

อะไร? อะไร? ก็ 4.0 ประเทศไทยในยุคสมัยนี้ หากใครไม่พูดถึง “ ไทยแลนด์ 4.0 ” ( Thailand 4.0 ) ก็จะตกยุคตกสมัยไป ทั้งที่หลายต่อหลายคนก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจอะไรมากนัก ที่ว่าไม่เข้าใจหมายถึง นึกภาพความเป็นจริงไม่ค่อย
ออกว่าหน้าตา “ ไทยแลนด์ 4.0 ” มันเป็นอย่างไร
และมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร? รวมถึง โมเดล 4.0 ได้ถูกนำไปใช้ในหลายๆ องค์กรอย่างแพร่หลาย แทบจะเรียกว่าเป็น กระแส 4.0 หรือ 4.0 ฟีเวอร์ เพื่อให้สอดรับกับ “ ไทยแลนด์ 4.0 ” ยกเว้นหน่วยงานของกองทัพ

ข้อเท็จจริง ไทยแลนด์ 4.0 เป็นเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยการพัฒนาประเทศในยุค 1.0 เราถือว่าเป็น ยุคเกษตรกรรม จากนั้นก็พัฒนากลายเป็นยุค 2.0 ที่มีการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยงานหรือเป็นยุคอุตสาหกรรมเบา ในขณะที่ยุค 3.0 เป็นยุคอุตสาหกรรมหนักและมีการลงทุนจากต่างชาติ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจในยุค 3.0 ยังมีความเปราะบางต่อสถานการณ์โลก และประเทศไทยยังไม่สามารถก้าวข้ามความเป็นประเทศรายได้ปานกลาง

ดังนั้นการนำมาสู่ “ ไทยแลนด์ 4.0 ” จึงเป็นการเน้นที่จะแก้ปัญหาให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยการพัฒนาโครงสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า New Economy Model มีการใช้ “ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ” ( Sufficiency Economy ) ที่ประชาชนสามารถสร้างรายได้ได้ด้วยตนเอง มีการปฏิรูปทั้งโครงสร้างในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น ภาคธุรกิจ การเกษตร การศึกษา และแรงงาน จากระบบเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตโดยใช้แรงงาน เครื่องจักร และทรัพยากร เปลี่ยนมาเป็นการผลิตบนฐานความรู้และเทคโนโลยี  โดยมีการดึงสถาบันวิจัยระดับโลกเข้ามาตั้งในประเทศไทย และมีความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันการเงิน ให้มากขึ้นที่เรียกว่า ประชารัฐ โดยมีเป้าหมายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ภายใน 3 - 5 ปี โมเดลไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็น Value-based Economy จะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ โดยมีเป้าหมาย 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่

1.กลุ่มอาหาร, เกษตรกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพ ( Food, Agriculture & Bio-tech )

2.กลุ่มสาธารณสุข บริการสุขภาพ และเทคโนโลยีการแพทย์ ( Health, Wellness & Bio-medical )

3.กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ, หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ( Smart Devices, Robotics & electronic )

4.กลุ่มดิจิตอล และเทคโนโลยีสมองกลแบบฝังตัว (  Digital & Embedded Technology )

5.กลุ่มอุตสาหกรรม สร้างสรรค์ และการบริการที่มีมูลค่าสูง ( Creative, Culture & High Value Service )

สำหรับบรรดาหน่วยงานกองทัพ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคง ที่มีแผนงานการพัฒนาเสริมสร้างกำลังกองทัพอย่างเป็นระบบ ตามแผนยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม ที่พิจารณาจากความมั่นคงของโลก ภัยคุกคามของภูมิภาค สถานการณ์ภายในประเทศ ให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีประเด็นยุทธศาสตร์ของกระทรวงกลาโหมทั้ง ๓ ด้าน คือ ยุทธศาสตร์ที่ ๑ : การป้องกันเชิงรุก,  ยุทธศาสตร์ที่ ๒  : การผนึกกำลังป้องกันประเทศ และยุทธศาสตร์ที่ ๓ : การสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง
การกำหนดแผนพัฒนาเสริมสร้างกองทัพแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ระหว่างปี 2560 – 2564 , ระยะที่ 2 ระหว่างปี 2565 - 2569  , ระยะที่ 3 ระหว่างปี 2570 - 2574 และระยะที่ 4 คือ 2575 - 2579 ทั้งนี้ตามแผนยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหมได้เล็งเห็นว่า ภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า ไม่ใช่ภัยคุกคามที่ต้องใช้กำลังขนาดใหญ่เข้าปราบปรามเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา จึงมีความจำเป็นต้องลดคน แต่ต้องคงกำลังกองทัพให้เหมาะสม ทัดเทียมกับประเทศในภูมิภาค เพื่อความสมดุลของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ การต่อรองผลประโยชน์ของชาติ โดยที่ไม่ต้องอาศัยพึ่งพาประเทศมหาอำนาจ
สิ่งที่สำคัญที่มาเสริมขีดความสามารถของกองทัพ ในยุคศตวรรษที่ 21  คงหนีไม่พ้นการพัฒนาขีดความสามารถด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ ( Cyber Operation ) เพื่อรองรับกับภัยคุกคามไซเบอร์ในพื้นที่ปฏิบัติการทางทหารที่ 5 ( Cyber Domain ) ตามแผนยุทธศาสตร์ไซเบอร์ของกระทรวงกลาโหม ที่กำหนดไว้รวม ๓ ด้าน คือ การป้องกัน,  การป้องปราม และการผนึกกำลัง โดยแผนแม่บทไซเบอร์เพื่อการป้องกันประเทศกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2560 – 2564   จะครอบคลุมแผนงานหลัก 6 แผนงาน ได้แก่ แผนการจัดองค์กรด้านไซเบอร์, แผนการป้องกันระบบโครงสร้างพื้นฐาน, แผนการพัฒนาความพร้อมการปฏิบัติการไซเบอร์เชิงรุกและการปฏิบัติการสงครามไซเบอร์, แผนการดำรงและพัฒนาศักยภาพด้านไซเบอร์, แผนการสนับสนุนศักยภาพทางไซเบอร์ระดับชาติ และแผนงานความร่วมมือและผนึกกำลังด้านไซเบอร์
ดังนั้น คงจะเป็นที่หายสงสัยว่า ทำไมกองทัพจึงไม่มี “ กองทัพ 4.0 ” จะมีแต่คำว่า “ กองทัพศตวรรษที่ 21 ” ( Force 21 ) แทน เพราะหน่วยงานกองทัพมุ่งพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถทางการทหารขององค์กรด้านการรักษาความมั่นคงของชาติ มิใช่มุ่งเน้นการแข่งขันเชิงธุรกิจ

---------------------------------------------

อ้างอิง :
http://www.thairath.co.th/content/613903
http://www.komchadluek.net/news/scoop/226657

http://www.komchadluek.net/news/politic/239087