วันอาทิตย์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2558

สงครามข่าวสารกับสงครามสื่อ

สงครามข่าวสารกับสงครามสื่อ
 ( Information warfare VS Media Warfare)
โดย พลตรี ฤทธี  อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร

สงครามข่าวสาร หรือ สงครามสารสนเทศ ( Information warfare ) และสงครามสื่อ ( Media warfare ) หากมองดูเผินฯ แทบจะไม่มีความแตกต่างทางด้านเป้าประสงค์ ( Objective )  แต่หากจะมองลงไปถึงขอบเขตและรายละเอียดของการปฏิบัติจะมองเห็นความแตกต่างพอสมควร โดยพื้นฐานของสงครามทั้ง 3 ประเภทมาจาก สงครามจิตวิทยา ( Psychological warfare ) ซึ่งได้มีการพัฒนารูปแบบของสงครามไปตามยุค ตามสมัย ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสงครามข่าวสารในอดีต จะเป็นการปฏิบัติการที่เกี่ยวกับข่าวสารทั้งปวง ในรูปแบบการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ชวนเชื่อ
ปลุกปั่น ยุยง ปลุกระดม  และการปลูกฝังแนวคิดในสื่อต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ แผ่นป้ายโฆษณา แผ่นพับ หนังสือตำรา หนังสือพิมพ์ รายการวิทยุ ฯลฯ โดยแผ่นป้ายโฆษณานิยมนำมาใช้มากที่สุดเพราะผลิตได้ง่าย ราคาถูก และมีสีสันสะดุดตา ส่วนสงครามสารสนเทศ จะเป็นการปฏิบัติการข่าวสารบนระบบสารสนเทศรวมถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ( Information and Communication Technology ; ICT ) พึ่งจะเกิดขึ้นในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ  ส่วนสงครามสื่อ เป็นสงครามเงียบในยุคปัจจุบัน เป็นการปฏิบัติการข่าวสาร ( Information Operations ; IO ) บนระบบสื่อสารมวลชน ( Mass Media ) ทุกรูปแบบ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสาร และอื่น ๆ โดยรวมถึงรูปแบบการปฏิบัติการทั้ง 2 ประเภทข้างต้น รวมถึง การแย่งพื้นที่ข่าว การกลบข่าวบางข่าว การสร้างกระแสข่าว การแสดงปฏิกิริยา และการแสดงออกของสื่อต่างๆ เป็นต้น
1. สงครามและการเริ่มต้นของการปฏิบัติการข่าวสาร โดยทั่วไปประเภทของการสงครามขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในอดีต พอจะสามารถจำแนกออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ  คือ
1.1   สงครามระหว่างชาติพงศ์เผ่าพันธุ์ เป็นสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างชาติพงศ์เผ่าพันธุ์ที่มีความแตกต่างกัน เพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ในการปกครอง การแย่งชิงดินแดนและผลประโยชน์ต่างๆ เช่น กรีก -โรมัน ไทย-พม่า ฯลฯ
1.2   สงครามศาสนา เป็นสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างความเชื่อทางศาสนา ทั้งศาสนาเดียวกันแต่ต่างนิกาย หรือต่างศาสนา เช่น สงครามครูเสด ( Crusades War ) เป็นสงครามระหว่าง พวกคริสเตียนในยุโรป กับพวกมุสลิมที่ยึดครองนครเยรูซาเล็มในปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาคริสต์ 
1.3   สงครามลัทธิทางการเมือง เป็นสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างความเชื่อของลัทธิทางการเมือง ระหว่างลัทธิเผด็จการสังคมนิยม – ประชาธิปไตย เช่น สงครามโลก สงครามเวียดนาม สงครามเกาหลี ฯลฯ
1.4   สงครามเศรษฐกิจ เป็นสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศมหาอำนาจใหญ่ ที่ไม่สามารถใช้อาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังรบห้ำหั่นกันได้โดยตรง แต่มีมีวัตถุประสงค์ด้านผลประโยชน์ของชาติในการเข้ายึดครอง ครอบงำ ปกป้อง รักษาผลประโยชน์ของชาติตนไว้ จึงมักนิยมใช้สงครามเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือ ของประเทศไทยเคยเจอถูกโจมตีค่าเงินบาท ในยุค ต้มยำกุ้งดีซีส ( Tom Yum Kung / Economic Crisis ) จนต้องมานั่งใช้หนี้ IMF อยู่หลายปี
สงครามจิตวิทยา ( Psychological warfare ) เป็น สงครามที่ใช้ทฤษฎีทางด้านจิตวิทยาที่มุ่งเน้นการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อความคิด และความเชื่อของบุคคลและกลุ่มบุคคล โดยอาศัยการโฆษณาชวนเชื่อร่วมกับกิจกรรมทางจิตวิทยา สงครามจิตวิทยานั้นกระทำทั้งในยามสงบและยามสงคราม ทั้งฝ่ายข้าศึกและฝ่ายเดียวกัน รวมถึงฝ่ายเป็นกลางอีกด้วย ทั้งในด้านการเมืองและการทหาร  ทั้งในระดับยุทธศาสตร์ ยุทธการ และระดับยุทธวิธี ตัวอย่างเช่น สงครามกรุงทรอย , การปฏิวัติอเมริกา และสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เป็นต้น
สงครามกรุงทรอย ฝ่ายกรีกใช้กลศึกม้าไม้โทรจันในการเอาชนะกรุงทรอย  โดยใช้วิธีการถอยทัพออกจากฝั่งของกรุงทรอยแล้วเอาทหารทุกนายขึ้นกองเรือไปแอบไว้ในเกาะใกล้ๆ และสร้างม้าไม้ขนาดยักษ์ไว้หนึ่งตัว และปล่อยทหารไว้หนึ่งคน เมื่อทหารทรอยเห็นว่าฝ่ายกรีกถอยทัพกลับไปหมดทั้งกองทัพแล้วจึงกราบทูลต่อกษัตริย์ในสมัยนั้น กษัตริย์พร้อมกับแม่ทัพ นายกองทั้งหลายจึงออกมาตรวจสอบ จึงได้พบม้าไม้ขนาดยักษ์กับทหารหนึ่งคน เมื่อทหารฝ่ายกรีกคนนี้ได้พบกับกษัตริย์จึงได้กราบทูลว่า "การที่ฝ่ายกรีกต้องถอยทัพนั้นทำให้เทพเจ้าพิโรธ และฝ่ายกรีกเสียนายทหารไปมากมาย จึงได้สร้างม้าไม้ขนาดยักษ์นี้ไว้เพื่อเป็นการขอขมาต่อเทพเจ้าทั้งปวง" เมื่อฝ่ายกษัตริย์ได้ฟังก็เกิดการหลงเชื่อและให้นำมาไม้ขนาดยักษ์นี้เข้าเมือง แต่หารู้ไม่ว่าภายในม้าไม้ขนาดยักษ์นี้มีทหารของกรีกจำนวนหนึ่งแอบซ่อนอยู่ภายในท้องขนาดใหญ่ ตกดึกทหารที่อยู่ในท้องของม้าได้ออกมาเปิดประตูและส่งสัญญาณให้ทหารฝ่ายกรีกเข้าเมือง ทหารกรีกจึงได้สังหารทหารของฝ่ายทรอย และเผาเมืองจนราบพนาสูญ
การปฏิวัติอเมริกา สหรัฐอเมริกาในสมัยก่อนถูกปกครองโดยประเทศอังกฤษ ในฐานะเมืองอาณานิคม เมื่อเกิดการปฏิวัติขึ้นฝ่ายอเมริกาได้ใช้สงครามจิตวิทยา โดยใช้ลักษณะคำชวนเชื่อในหมู่ชาวอเมริกาด้วยกันเอง โดยใช้คำกล่าวที่ว่า "จงอย่ากดขี่ข้าพเจ้า" และ "จงให้อิสรภาพแก่ข้าพเจ้าหรือไม่ก็ฆ่าข้าพเจ้าเสีย" ส่งผลให้ชาวอเมริกามีจิตสำนึก เกิดความรักชาติ และพร้อมสู้กับทหารอังกฤษจนตัวตาย ต่อมาคำกล่าวนี้ได้ขยายวงกว้างไปถึงหมู่ทหารอังกฤษด้วย ทหารอังกฤษจำนวนมากเสียขวัญและแปรพรรคมาร่วมต่อสู้กับฝ่ายอเมริกา สุดท้ายกองทัพอังกฤษจึงอ่อนกำลังลงและพ่ายแพ้ไปในที่สุด
สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ประเทศมหาอำนาจต่างๆ มีความพยามยามในการโน้มน้าวให้ประชาชนสนับสนุนสงคราม โดยเฉพาะสงครามเกาหลี และสงครามเวียดนาม ใช้การโฆษณา และปลูกฝังแนวคิดในสื่อต่างๆ ได้แก่ ภาพยนตร์ แผ่นป้ายโฆษณา แผ่นพับ หนังสือ หนังสือพิมพ์ รายการวิทยุ ฯลฯ โดยแผ่นป้ายโฆษณานิยมนำมาใช้มากที่สุดเพราะผลิตได้ง่าย ราคาถูก และมีสีสันสะดุดตา
ปัจจุบันในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สื่อที่นิยมนำมาใช้ในการทำสงครามจิตวิทยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แพร่หลาย รวดเร็ว ทันเวลา และไร้พรมแดน ก็คือ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเฉพาะการใช้แอฟฟริเคชั่นบนโซเชียลมีเดีย เช่นWebpage  Facebook Line Twitter YouTube Skype Whatsapp Google+ ฯลฯ รวมถึงการใช้สื่อยุคดั่งเดิมที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงเป็นที่มาของ สงครามข่าวสาร ( Information warfare ) และการปฏิบัติการข่าวสาร ( Information Operations ; IO ) นั่นเอง โดย สงครามข่าวสาร เป็นส่วนหนึ่งของสงครามจิตวิทยาที่มักจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเสริมของการสงครามใหญ่ๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เพียงแต่ ขอบเขตการปฏิบัติการของสงครามข่าวสารจะมีความกว้างขวาง หลากหลายรูปแบบทุกมิติ มีประสิทธิภาพสูง และส่งผลลัพธ์ได้อย่างรวดเร็วช่วงพริบตาในด้านการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ตอบโต้ ปลูกฝังความคิดความเชื่อ โน้มน้าวหรือเปลี่ยนแปลงทัศนคติจากดำเป็นขาว สามารถลดค่าทำให้ข้อมูลข่าวสารด้อยค่าไม่น่าเชื่อถือ สามารถบิดเบือนเปลี่ยนแปลงลวงเลียนความหมายที่แท้จริงให้เข้าใจผิด รวมถึงการควบคุม ปิดกั้น รบกวน หรือทำลายช่องทางของสื่อต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างความได้เปรียบฝ่ายตัวเองในการทำศึกสงคราม หรือการต่อสู้เพื่อเอาชนะฝ่ายข้าศึกศัตรู หรือฝ่ายตรงข้ามนั่นเอง
2. การปฏิบัติการข่าวสารกับการเป็นสายลับไซเบอร์ ( Spy Online )
รัฐบาลทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในการควบคุมข้อมูลข่าวสารเป็นอย่างมาก บางรายทำเกินขอบเขตที่สาธารณชนจะยอมรับได้ก็มี อย่างเช่นกรณีของ นายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden) ที่ออกมาแฉข้อมูลความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการดักฟังผู้นำทั่วโลก จนทำให้เกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลเยอรมนี ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ที่ถดถอยของอินโดนีเซียกับออสเตรเลีย ที่มาจากสาเหตุการแอบดักฟังโทรศัพท์เหมือนกัน นอกจากนี้ ในเอกสารที่ นายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน นำออกมาแฉนั้น ยังอธิบายถึงการที่องค์กรด้านความมั่นคงสหรัฐฯ สนับสนุนเงินทุนจำนวนมาก ให้กับบริษัทชั้นนำต่างๆ ที่ให้บริการบนอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Yahoo, Microsoft และ Apple เพื่อเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้บริการทั่วโลก ซึ่งถ้ามองดูดีๆ นี่ถือเป็นภัยทางความมั่นคงของทุกประเทศทั่วโลก
รัฐบาลจีน ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของสหรัฐฯ ต่างตระหนักถึงปัญหานี้ดี จึงไม่อนุญาตให้เว็บไซต์อย่าง Facebook, Twitter หรือแม้กระทั่ง Google ที่มีสัญชาติอเมริกัน ให้บริการกับประชาชนของตัวเอง แต่กลับให้บริษัทจีน ทำการเปิดเว็บไซต์ใหม่ที่ให้บริการใกล้เคียงกัน จึงทำให้รัฐบาลจีนยังสามารถควบคุมข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตได้
ประเทศไทย ในด้านการปฏิบัติการเป็น นักจารกรรมข้อมูลออนไลน์ ,  จารชน , จารบุรุษ , ผู้สอดแนม , นักสืบ , นักสืบราชการลับ ฯลฯ ในโลกไซเบอร์ ในระดับประเทศต่อประเทศยังไม่ค่อมจะมีข่าวปรากฏ อาจจะมีหรือไม่ ไม่ทราบแน่ชัด แต่ในระดับภายในประเทศ โดยเฉพาะทางด้านวงการการเมือง การค้าการขาย ก็มีข่าวอยู่บ่อยครั้งที่ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ภาพจากกล้องวงจรปิด การใช้วิทยุโทรศัพท์ หรือเอกสารสำคัญทางราชการ ถูกนำมาเผยแพร่ตามสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อการทำลายเครดิต หรือ แบล็คเมล์ เรียกร้องผลประโยชน์ การเจรจาต่อรอง การสร้างภาพความชอบธรรมในการปฏิบัติการใดการหนึ่ง ฯลฯ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการข่าวสาร

3. ความสำคัญของการปฏิบัติการข่าวสาร
การปฏิบัติการข่าวสาร ถือเป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำคัญยิ่ง และเป็นส่วนหนึ่งของสงครามจิตวิทยา โดยเฉพาะในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งสามารถกระทำทั้งในยามปกติและยามสงคราม ทั้งฝ่ายข้าศึก และฝ่ายเดียวกัน รวมถึงฝ่ายเป็นกลางอีกด้วย ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และการทหาร ในระดับยุทธศาสตร์ ยุทธการ และระดับยุทธวิธี เพราะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดที่ส่งผลกระทบในด้านจิตใจ ความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อมั่นศรัทธา ทัศนคติทั้งทางบวกและทางลบ สร้างความรักเพราะชอบความเกลียดเพราะชัง ตามวัตถุประสงค์ช่วงระยะเวลาเพียงพริบตา และแพร่กระจายไปในวงกว้างอย่างไร้ขอบเขต

4. ความรุนแรงของการปฏิบัติการข่าวสาร ระหว่างโลกเสรี VS สังคมนิยม?
ปัจจุบันความรุนแรงของการปฏิบัติการข่าวสารในโลกเสรีนิยม หรือระบอบประชาธิปไตย เมื่อเปรียบเทียบกับโลกเผด็จการสังคมนิยม จะมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เพราะโลกเสรีนิยม ส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญมากในด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการเข้าถึงและการรับรู้ข่าวสาร การปิดกั้นควบคุมสื่อในการนำเสนอภาพเหตุการณ์และข่าวสารต่างๆ แทบทุกประเทศ กระทำให้ยาก หากจะกระทำได้ก็เพียงแต่สื่อภายในประเทศ ส่วนสื่อต่างประเทศไม่สามารถปิดกั้นและควบคุมได้ ดังนั้นความรุนแรงของการปฏิบัติการข่าวสารในโลกเสรีนิยมจึงมีความเข้มข้นกว่า สำหรับโลกเผด็จการสังคมนิยม ผู้นำและรัฐบาลสามารถการปิดกั้นและควบคุมสื่อทั้งภายในและภายนอกประเทศได้ รวมถึงการปิดประเทศ เพื่อสกัดกั้นการปฏิบัติการข่าวสารของฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้ตนเองสามารถการปฏิบัติการข่าวสารได้อย่างเต็มรูปแบบ ส่วนจะได้ผลแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับฝีมือ

5. การปฏิบัติการข่าวสารในเมืองไทย
ประเทศไทยซึ่งอยู่ในกลุ่มโลกเสรีประชาธิปไตย เท่าที่ผ่านมาก็นับว่ามีความรุนแรง และความเข้มข้นมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะการปฏิบัติการข่าวสารในการแย่งชิงมวลชน เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองและการบริหารประเทศ จนถึงขนาดประเทศชาติแทบจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ เกิดความแตกแยกของคนในสังคมไทย แบ่งสีแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน เกิดความเสียหายและความวุ่นวายในบ้านเมืองจนแทบจะกลายเป็นสงครามกลางเมือง ( Civil Warfare ) เหล่านี้เป็นผลมาจากการปฏิบัติการข่าวสารของฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะคู่ขัดแย้งทางการเมือง โดยมีประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับผลกระทบโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้าการขาย อันเป็นผลพวงมาจากความวุ่นวายทางการเมือง

6. ทำไมมองดูเหมือนทหารไทยพึ่งให้ความสำคัญกับการปฏิบัติการข่าวสาร
ข้อเท็จจริงฝ่ายทหารได้มีการเฝ้าระวัง สืบค้น และติดตามการปฏิบัติการข่าวสารของฝ่ายต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศมาอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่องมาโดยตลอด รวมถึงการปฏิบัติการข่าวสารเชิงรุกบางโอกาสภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ ในฐานะหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศ เพียงแต่บทบาทของทหารที่เหมาะสมนั้นควรจะอยู่ในฐานะเป็นกลาง ไม่ความเลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง หากจำเป็นจะต้องเลือกข้างก็ควรจะเลือกข้างประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ตามคำขวัญของกองทัพบกที่ว่า “ เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน ” โดยในส่วนของกองทัพบก ได้มีการจัดตั้งหน่วยงาน กองการสงครามสารสนเทศ ( Information warfare Department ( IW ) มาตั้งแต่ปี 2539 และมีการจัดทำ หลักนิยมการปฏิบัติการข่าวสารของกองทัพบก ( Army Information Operations Doctrine )  เพื่อรองรับการปฏิบัติงานด้านนี้ ทั้งการปฏิบัติการตามมาตรการเชิงรับและเชิงรุก ส่วนใหญ่จะเน้นไปในด้านมาตรการเชิงรับเป็นหลักมากกว่าเชิงรุก เนื่องจากนโยบายของผู้บังคับบัญชา ต้องการให้ภาพลักษณ์ของกองทัพมีสถานะในการวางตัวให้เป็นกลาง ไม่เข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะประชาชน
ดังนั้น บทบาทในด้านการปฏิบัติการข่าวสารของกองทัพที่ผ่านมา จึงมักจะไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมากนัก เนื่องจากเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศ เลยมองดูว่าทหารไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไรนัก แต่ข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า การปฏิบัติการข่าวสาร นับเป็นเครื่องมือสำคัญทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และการทหาร ของทุกประเทศในยุคปัจจุบัน ที่สามารถสร้างกระแส แต้มต่อและความได้เปรียบต่อฝ่ายตรงข้าม และนำไปสู่ความสำเร็จโดยแทบมิต้องใช้กำลังรบและยุทโธปกรณ์ในการต่อสู้ ดังตำราพิชัยสงครามของซุนวู กล่าวไว้ว่า การชนะร้อยทั้งร้อย มิใช่วิธีการอันประเสริฐแท้ แต่ชนะโดยไม่ต้องรบเลย จึงถือว่าเป็นวิธีอันวิเศษยิ่ง

7. มุมมองและทัศนคติของคำพูดที่ว่า " ควบคุมสื่อได้ ควบคุมประเทศได้ "
ในอดีต แอลเฟร็ด เฑเยอร์ มาฮาน (1890 ) กล่าวไว้ว่า " Who ever rules the waves rules the world " แปลความว่า " ผู้ใดครองผืนน้ำ ผู้นั้นครองโลก " เพราะว่าในยุคนั้นการเดินทางใช้ทางเรือเป็นหลัก และพื้นน้ำสามารถไปได้ทั่วโลก พอยุคสารสนเทศ มักจะได้ยินคำพูดว่า “ ผู้ใดครองข้อมูล ผู้นั้นครองโลก ” เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลหรือมีฐานข้อมูลที่พร้อมใช้ จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหาร และเกิดความได้เปรียบในการตัดสินใจมากกว่าผู้ที่ไม่มีข้อมูล
ส่วนคำว่า “ ใครครองสื่อ คนนั้นครองโลก ” หรือ “ ควบคุมสื่อได้ ควบคุมประเทศได้ ” เป็นคำกล่าวที่ติดตามมาในยุคการเมืองไทยยุคหนึ่ง ซึ่งผู้บริหารประเทศยุคนั้นดำเนินธุรกิจด้านสื่อ จึงสามารถควบคุมสื่อได้เกือบทั้งหมดทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน จนเชื่อกันว่าจะสามารถควบคุมประเทศได้ แต่ในข้อเท็จจริงการควบคุมประเทศมีปัจจัยหลายอย่างที่สำคัญ อาทิเช่น การบริหารจัดการภาครัฐที่ดี การปกครองแบบธรรมภิบาล การผดุงรักษาผลประโยชน์ของชาติของส่วนรวม และการเป็นผู้นำที่ตัดสินใจอย่างชาญฉลาด เป็นต้น ส่วนสื่อเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศ และการปฏิบัติการจิตวิทยา หากเนื้อหาสาระ ( Contents ) มันตรงกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ มันก็จะได้รับกระแสความนิยม หากมันไม่ใช่ก็มักจะถูกต่อต้าน เมื่อถูกกระแสต่อต้าน ถึงแม้จะใช้ กฎหมาย อำนาจหรืออิทธิพลที่มีอยู่ไปปิดกั้นหรือควบคุมสื่อ ก็จะเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนตามกฎหมาย โดยสื่อเองก็มักจะนำมาเป็นข้ออ้างเรียกร้องในเรื่องของ เสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข่าวสาร และประชาชนก็อาจจะหันมาใช้พื้นที่ตามท้องถนนแทน จนเกิดความเดือนร้อนและความวุ่นวายหนักขึ้นไปอีก
ดังนั้น การควบคุมสื่อได้ ก็ใช่ว่าจะควบคุมประเทศได้ เพราะสื่อเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในอีกหลายๆ เครื่องมือที่สามารถใช้ควบคุมประเทศได้ เช่น บางประเทศใช้ระบบเมืองการปกครองที่ดี บางประเทศใช้ระบบเศรษฐกิจสวัสดิการความเป็นอยู่ที่ดี บางประเทศใช้ระบบรัฐสวัสดิการที่ดี บางประเทศใช้ระบบสังคมประเพณีและวัฒนธรรมที่ดี และบางประเทศอาจจำเป็นจะต้องใช้กำลังเข้าควบคุม เป็นต้น
------------------------------------------------
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
1. ข่าวไทยรัฐออนไลน์ , 11 มกราคม 2557IO ยุทธการมวลชน ผ่านโซเชียลมีเดียที่มีมาแต่โบราณ ,แหล่งที่มา : http://www.thairath.co.th/content/395281.
2. พระมหาสุรศักดิ์ สุรเมธี ( ชะมารัมย์ )  , 11 พฤศจิกายน 2549สงครามกับท่าทีของมนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์  ,แหล่งที่มา : https://www.eduzones.com/knowledge-2-2-32863.html
3วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, 1 ตุลาคม 2557 , สงครามจิตวิทยา, แหล่งที่มา : 
http://th.wikipedia.org/wiki/สงครามจิตวิทยา.