วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการใช้งานหน่วยในกองทัพบก ภาคพิศดาร

การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการใช้งานหน่วยในกองทัพบก ภาคพิศดาร
( Army MIS Development Episode )

โดย พันเอก ฤทธี  อินทราวุธ
รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร

การพัฒนาระบบสารสนเทศ (Management Information System ; MIS) เพื่อการใช้งานของหน่วยในกองทัพบกมีมานานพอสมควร ประมาณกว่าสองทศวรรษ หรือ ๒๐ กว่าปี ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมของโลกเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) หรือ ยุคสารสนเทศ (Information Age) เท่าที่จำได้ว่าสมัยผู้เขียนพึ่งจบการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ประมาณปี ๒๕๓๓ และบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่ง อาจารย์ส่วนจำลองยุทธ์ รร.สธ.ทบ. ก็ได้มีแนวความคิดและริเริ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อการใช้งานหน่วยในกองทัพบก แบบ Stand Alone ในยุคแรกๆ โดยพัฒนาโปรแกรมประยุกต์สายงานกำลังพล (สาย ๑) , สายงานส่งกำลังบำรุง (สาย ๔) ซึ่งพัฒนาจากโปรแกรมสำเร็จรูปต่างๆ อาทิเช่น โปรแกรม Microsoft Access และโปรแกรมประมาณการ (สาย ๓) ซึ่งพัฒนาด้วยโปรแกรม Microsoft Excel บรรจุลงในแผ่นดิสเก็ต รุ่นเก่าขนาดใหญ่ ๕.๒๕ นิ้ว (สมัยนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว)
 พร้อมจัดทำเอกสารคู่มือการใช้งาน แจกจ่ายให้กับหน่วยระดับกองพันขึ้นไป ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นนายทหารนักเรียนที่กำลังเข้ารับการศึกษา รร.สธ.ทบ. และหน่วยต่างๆ ในกองทัพบกที่สนใจ นำไปทดลองติดตั้งใช้งานในการบันทึก แก้ไข ปรับปรุง ข้อมูลประวัติกำลังพล บัญชีคุมสิ่งอุปกรณ์ และอาวุธยุทโธปกรณ์ เก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ (Stand Alone) เอาไว้สืบค้นหาข้อมูลและการใช้งานภายในหน่วย ตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ และโปรแกรมประยุกต์ต่างๆ ดังกล่าว ซึ่งได้รับโล่รางวัลการประกวดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จะถูกนำผลงานมาจัดแสดงสาธิตการใช้งาน เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่อผู้บัญชาการทหารบก และผู้มาร่วมในงานวันคล้ายวันสถาปนา รร.สธ.ทบ. เป็นประจำทุกปี
ต่อมาปี ๒๕๓๖ ซึ่งเป็น ยุคเริ่มแรกของการก่อตั้ง ศูนย์เทคโนโลยีทางทหารกองทัพบก (ศทท.ทบ.) หรือ ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร (ศทท.) ในปัจจุบัน กองทัพบกได้ดำเนินการอนุมัติโครงการจัดหาคอมพิวเตอร์วงเงินไม่เกิน ๕ ล้านบาท ตามนโยบายรัฐบาล และ ศทท.ทบ. ได้มีการดำเนินการจัดการประกวดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของกองทัพบกขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อพัฒนาส่งเสริมการพัฒนาระบบสารสนเทศของกองทัพบก และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ประกาศเกียรติคุณยกย่องชมเชย ให้กับบุคลากรด้านสารสนเทศของหน่วยต่างๆ ในกองทัพบก ที่ได้พัฒนาโปรแกรมเพื่อการใช้งานภายในหน่วยและส่งเข้าประกวด ซึ่งเป็นยุคของการพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ใช้งานด้วยโปรแกรม Clipper และใช้โปรแกรมฐานข้อมูล Foxpro หรือ Foxbase เป็นส่วนใหญ่ สามารถใช้งานบนระบบเครือข่ายภายในท้องถิ่น (Local Area Network ; LAN) โดยโปรแกรมประยุกต์ที่ได้รับโล่รางวัลการประกวดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของกองทัพบก จะถูกนำผลงานมาจัดแสดงเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในงานนิทรรศการด้านคอมพิวเตอร์ บริเวณอาคารกองบัญชาการกองทัพบก และถูกนำไปเผยแพร่ขยายผล เพื่อการใช้งานของหน่วยต่างๆ ในกองทัพบก โดยชุดเผยแพร่และฝึกอบรมความรู้คอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ของกองทัพบก (Mobile Team)   ซึ่งมีโปรแกรมประยุกต์ใช้งานที่สำคัญ อาทิเช่น โปรแกรมกำลังพล , โปรแกรมส่งกำลังบำรุง และโปรแกรมพิมพ์งานสารบรรณ เป็นต้น
ต่อมาเป็น ยุครุ่งโรจน์ของการจัดหาโครงการคอมพิวเตอร์ของกองทัพบก วงเงินเกิน ๕ ล้านบาท การพัฒนาระบบงานสารสนเทศของกองทัพบกได้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเด่นชัดมากยิ่งขึ้น โดยหลายหน่วยงานในกองทัพบกได้มีการพัฒนาและว่าจ้างบริษัทเอกชนมาดำเนินการพัฒนาระบบสารสนเทศที่สำคัญๆ อาทิเช่น ระบบงานกำลังพล (โปรแกรมมโหรี) ของ กรมสารบรรณทหารบก (สบ.ทบ.) , ระบบงานส่งกำลังบำรุง ของ กองบัญชาการช่วยรบที่ ๒ (บชร. ๒)  และระบบงานการเงิน ของ กรมการเงินทหารบก (กง.ทบ.) เป็นต้น โดยระบบงานดังกล่าว ได้มีการนำไปใช้งานของหน่วยต่างๆ ในกองทัพบกที่เกี่ยวข้อง โปรแกรมประยุกต์บางระบบงานก็สามารถดำรงอยู่ได้สืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ และยังมีการพัฒนาปรับปรุงใช้งานกันอยู่ และบางระบบงานก็ล้มหายตายจากไปอย่างน่าเสียดาย
ต่อมายุคระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ (Linux) ในปี ๒๕๔๕ ซึ่งเป็นโปรแกรมระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์เครือข่าย (Network Operation System ; NOS) ที่ไม่มีปัญหาค่าใช้จ่ายด้านลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ (Open source) เพื่อแก้ปัญหาด้านความเก่าแก่ และล้าสมัยของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Server) รุ่นเก่า ที่มีคุณสมบัติเฉพาะ และสมรรถนะขีดความสามารถต่ำ (Low Specification) รวมถึงปัญหาความขาดแคลนงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์รุ่นใหม่ที่ทันสมัย และ
ปัญหาค่าใช้จ่ายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ศูนย์เทคโนโลยีทางทหารกองทัพบก (ศทท.ทบ.) ในขณะนั้น จึงได้ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนา เพื่อศึกษาความเหมาะสมในการใช้ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์เครือข่ายลีนุกซ์ (Linux) ในกองทัพบก และวิจัยพัฒนาลีนุกซ์ขุนศึก ( Linux RTA)  ขึ้นมา เพื่อใช้งานและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยใช้ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ (Slackware For Dos)  และได้พัฒนาโปรแกรมประยุกต์ใช้งานบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต Web Application ด้วยภาษา PHP และใช้ระบบฐานข้อมูล MySQL โปรแกรมประยุกต์ใช้งานบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่สำคัญ อาทิเช่น ระบบงานกำลังพล (โอนข้อมูลมาจากโปรแกรมมโหรี) , ระบบงานการข่าว , ระบบงานแผนที่ยุทธการ และระบบงานส่งกำลังบำรุง เป็นต้น ซึ่งโครงการวิจัยฯ ดังกล่าวได้รับโล่รางวัลโครงการวิจัยดีเด่นของกองทัพบกในปี ๒๕๔๖ จากผู้บัญชาการทหารบก และมีการนำไปใช้งานในหน่วยต่างๆ ในกองทัพบก ที่มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แม่ข่ายรุ่นเก่า ไม่สามารถรองรับซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ๆ ได้ การขยายผลการใช้งานโครงการดังกล่าว ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้บังคับบัญชาบางท่านเท่าที่ควร เพราะเป็นโครงการประเภท Low Profile ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการพึ่งพาตนเอง โครงการลีนุกซ์ ก็เลยสาบสูญไป
ยุคทองของการพัฒนาระบบสารสนเทศของกองทัพบก หรือ ยุคโครงการจัดหาระบบสารสนเทศกองทัพบก ระยะที่ ๑ (MIS Phase I) วงเงินประมาณ ๖๐๐ กว่าล้านบาท นับเป็นการใช้งบประมาณของกองทัพบก ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในอดีต เป็นการพัฒนาระบบงานสารสนเทศของกองทัพบก แบบเต็มรูปแบบ (Full Scale) เพื่อตอบสนองการใช้งานด้านสารสนเทศของทุกสายงานฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายยุทธบริการ ฝ่ายกิจการพิเศษ และหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกในส่วนกลาง ซึ่งบางระบบงานสามารถใช้งานลงไปถึงหน่วยระดับกองพันหรือเทียบเท่า โดยผลสัมฤทธิ์ของระบบงานที่สามารถนำมาใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม และมีความต่อเนื่องยั่งยืน ยังเป็นเรื่อง น้ำท่วมปาก ถึงแม้จะมีโครงการว่าจ้างการปรนนิบัติบำรุงรักษาระบบสารสนเทศ (Maintenance ; MA) มาเสริมการพัฒนาปรับปรุงและการดูแลรักษาระบบฯ เป็นประจำทุกปี ซึ่งโครงการระบบสารสนเทศกองทัพบก ระยะที่ ๑ ถือได้ว่าเป็นแก่น (Core)  ของ การพัฒนาระบบสารสนเทศของกองทัพบกแบบครบถ้วนสมบูรณ์ทุกสายงาน ซึ่งในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะสายงานด้านกำลังพล ซึ่งเป็นสายงานหลัก และได้มีการพัฒนามาอย่างยาวนานกว่า ๒๐ ปีในรูปแบบการผลัดใบ ไม่มีความต่อเนื่องยั่งยืน เพื่อนำไปสู่ ยุคการบูรณาการ โดยการวิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน ในด้านการพัฒนาระบบงาน (Application)  และระบบฐานข้อมูล (Database) ของระบบงาน ที่เกี่ยวข้องในยุคถัดๆ ไป พอเป็นสังเขป ดังนี้
จุดแข็งด้าน Application
-         การพัฒนาระบบด้วยภาษา Java มีการพัฒนาเป็น Web Application และมีการทำงานในลักษณะ Web Service ทำให้มีประสิทธิภาพในการใช้งาน นอกจากนั้นในส่วนจุดสำคัญหลัก (Main) ของโปรแกรมที่มีการติดต่อกับฐานข้อมูล โดยเฉพาะในส่วน Library สำคัญ จะได้รับการ Compile และ Deploy เพื่อการใช้งาน ทำให้เกิดความปลอดภัยในการเข้าถึง Source code หรือ มีการดัดแปลง Source code ขณะกำลังดำเนินการ หรือปฏิบัติงานในขณะนั้น
-         การพัฒนาตามโครงการฯ กองทัพบกได้มีการจัดจ้าง Outsource เข้ามาดำเนินการ ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือของการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีมาตรฐานในทุกขั้นตอน
-         ระบบงานปัจจุบัน มีการใช้งานเฉพาะหน่วยที่มีเครือข่ายภายใน ทบ. (Intranet) ไปถึง หน่วยภายนอกระบบเครือข่าย Intranet จะเข้ามาใช้งานต้องดำเนินการผ่านระบบ VPN เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยของข้อมูลสูง
-         ระบบงาน Web Application จะทำงานได้เฉพาะในเครือข่ายภายในเท่านั้น ทำให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งาน
-         กำลังพลของกองทัพบก ได้รับการฝึกอบรมการใช้งานและมีความคุ้นเคยกับระบบงานดังกล่าวแล้ว อีกทั้งได้มีการออกระเบียบปฏิบัติให้มีการใช้งาน Application และการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนเกิดความมั่นใจในการใช้งานมากขึ้นตามลำดับ
จุดอ่อนด้าน Application
-         การพัฒนาระบบที่ใช้ภาษา Java ในระดับ Enterprise โดย Out Source ทำให้การพัฒนาต่อยอดของบุคลากรของกองทัพบก มีข้อจำกัด และเป็นเรื่องที่กระทำได้ยาก ถึงแม้ว่าจะมีการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องก็ตาม เพราะบุคลากรภายนอกที่มีความรู้และเข้าใจภาษา Java นั้น ย่อมจะได้รับค่าตอบแทนที่สูงมากกว่าระบบราชการ และเป็นที่ต้องการของบริษัทต่างๆ เป็นอย่างมาก
-         การปรับปรุงหรือพัฒนาต่อยอดระบบงานเพิ่มเติมจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง
-         การใช้งาน  Application ถูกจำกัดสิทธิเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
จุดแข็งด้าน Database
-         การจัดหาซอฟต์แวร์ระบบจัดการฐานข้อมูลเชิงวัตถุ-สัมพันธ์ (Object-Relational Database Management System : ORDBMS) มีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่จำกัดจำนวนผู้ใช้งาน (Unlimited)
-         ฐานข้อมูล Oracle เป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้การยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
-         Oracle เป็นฐานข้อมูลที่มีมาตรฐานสากลด้านการรักษาความปลอดภัย มีเสถียรภาพ ความคงทน และรองรับข้อมูลในปริมาณขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง และมีส่วนที่สนับสนุนการประมวล XML หลายอย่างที่ดี
-         ข้อมูลที่บันทึกลงฐานข้อมูลดังกล่าว มีความปลอดภัย และทนต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
-         การเชื่อมโยงฐานข้อมูล ได้มีการออกแบบ และกำหนดการเชื่อมโยง ทั้งสายงานยุทธการ สายงานกำลังพล สายงานสารบรรณ ในระดับกรมฝ่ายอำนวยการไว้แล้ว
จุดอ่อนด้าน Database
-         เนื่องจากเป็นฐานข้อมูลที่มีลิขสิทธิ์ อาจจำเป็นจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการปรนนิบัติบำรุงรักษา (MA) อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพราะจะได้รับการปรับปรุง Version ให้มีความทันสมัย รองรับ Feature ใหม่ๆ เกิดความมั่นคงของระบบอย่างต่อเนื่อง
-         การบริหารจัดการระบบฐานข้อมูลดังกล่าว จำเป็นจะต้องมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ดูแลระบบฐานข้อมูล (Database Administrator ; DBA) โดยเฉพาะ ซึ่งกำลังพลของกองทัพบกที่มีความรู้ความสามารถในด้านนี้ ยังขาดแคลนเป็นอย่างมาก
-         เนื่องจากโครงการฯ เป็นการพัฒนาฯ ใน ระยะที่ ทำให้ข้อมูลสายงานกำลังพล มีเฉพาะหน่วยที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นส่วนมาก ยังไม่ครอบคลุมถึงหน่วยในส่วนภูมิภาค
-         ข้อมูลที่จัดเก็บข้อมูลกำลังพลในระยะแรก เน้นจัดเก็บข้อมูลนายทหารสัญญาบัตร นายทหารประทวน ลูกจ้างที่อยู่ในสังกัด และมีอัตราประจำของหน่วยเท่านั้น ส่วนข้อมูลของพลทหารกองประจำการ ยังไม่ได้มีการจัดเก็บข้อมูล
ยุคกองพันอิเล็กทรอนิกส์ (e-Battalion) ระบบกองพันอิเล็กทรอนิกส์ แต่เดิมได้มีการพัฒนาระบบงาน เพื่อการใช้งานเฉพาะภายในหน่วยกองพันทหารปืนใหญ่ และได้มีการขยายผลการใช้งานเพิ่มขึ้นในระดับกรม และกองพล ปัจจุบันมีนโยบายจากกองทัพบก ให้ดำเนินการเผยแพร่ และขยายผลใช้งานอย่างกว้างขวางในหน่วยระดับต่างๆ
ที่สังกัดในกองทัพบก โดยทีมผู้พัฒนาระบบฯ ซึ่งเป็นกำลังพลของกองทัพบกได้มีการพัฒนาปรับปรุง เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบสารสนเทศของหน่วยเหนือ ซึ่งได้แยกเป็น กลุ่มงาน ซึ่งสอดคล้องกับงานฝ่ายอำนวยการระดับกองพัน คือ ด้านกำลังพล ด้านการข่าว ด้านยุทธการและฝึก ด้านส่งกำลังบำรุง รวมไปถึง ด้านการเงิน ซึ่งระบบนี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ปฏิบัติงานในการบันทึก ค้นหา และการเรียกใช้ข้อมูล ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยระบบงานดังกล่าว มีการติดตั้งใช้งานในระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์เครือข่าย Linux ใช้ระบบฐานข้อมูล MySQL การพัฒนาจะใช้ภาษา PHP เป็นหลัก การทำงานของ Application เป็นในลักษณะ Web Application การใช้งานหรือสั่งงานผ่านโปรแกรม Browser ต่างๆ เช่น Internet Explorer , Firefox เป็นต้น และการใช้งานสามารถเข้าถึงจากระบบอินเทอร์เน็ตได้โดยตรง
จุดแข็งด้าน Application
-   การใช้ภาษา PHP ในการพัฒนาจะมีความง่ายในการเรียนรู้ และมีกำลังพลในกองทัพบก ที่มีความรู้ทางด้านนี้มากพอสมควร
-   การพัฒนาต่อยอดกระทำได้ง่าย และรวดเร็ว
-   สามารถจัดหา Outsource ได้ในงบประมาณที่ไม่สูงมากนัก
จุดอ่อนด้าน Application
-   PHP เป็นภาษาที่เป็นในลักษณะ Interpreter ซึ่งเป็นโปรแกรมภาษาตัวแปลที่อ่านคำสั่งในโปรแกรมทีละคำสั่ง การเก็บของคำสั่งจึงเป็นเพียง Text File บุคคลภายนอกสามารถแกะอ่านข้อมูลได้โดยตรง ถ้าสามารถเข้าถึง Source Code ได้ จะเกิดความไม่ปลอดภัยได้ ถ้าคอมพิวเตอร์แม่ข่าย และอุปกรณ์เครือข่ายมีช่องโหว่ในการดำเนินการ
-   การพัฒนาโดยการเขียน Coding Program ในลักษณะ Structure Program ไม่ได้มีการวางสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ ( Architectural pattern ) แบบ Model View Controller ; MVC หรือ การเขียนในลักษณะของ Object PHP หรือ การใช้งานของ Framework ต่างๆ ทำให้การพัฒนาต่อยอดจากทีมพัฒนาอื่นๆ อาจจะต้องใช้เวลาเรียนรู้นานพอสมควร
-   การเข้าใช้งาน Application โดยตรงจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีความเสี่ยงในการที่จะถูกการเข้าถึงข้อมูลจากภายนอกได้
จุดแข็งด้าน Database
-   การใช้ฐานข้อมูล MySQL ซึ่งเป็น Open Source ทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
-   ข้อมูลที่มีการบันทึก สามารถครอบคลุมในทุกระดับจนถึงระดับพลทหารกองประจำการ รวมทั้งยุทโธปกรณ์ต่างๆ ทำให้เป็นที่ต้องการใช้งานของฝ่ายอำนวยการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
จุดอ่อนด้าน Database
-   เนื่องจากฐานข้อมูลที่เป็น Open Source ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ฐานข้อมูลดังกล่าว จะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา แต่เนื่องจากไม่ได้มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ การปรับปรุงในอนาคต หรือการปรับย้ายไปใช้งานในฐานข้อมูลรุ่นที่มีความปลอดภัย และทนทานสูงกว่าจึงกระทำได้ยาก และหากยังคงใช้งานฐานข้อมูลที่เป็น Version เดิมอยู่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ด้านความปลอดภัยของข้อมูลที่นับวันจะมีปริมาณมากขึ้น ย่อมจะจะมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา
-   ระบบฐานข้อมูลมีขีดความสามารถในการรองรับการใช้งานอย่างจำกัด ไม่สามารถรองรับการใช้งานในระดับกองทัพบกได้อย่างมีเสถียรภาพและมั่นคง
-   ระบบฐานข้อมูลการมีการสั่งงานด้วยโปรแกรม Script ที่เรียกว่า SQL อาจทำให้เกิดช่องโหว่ในการใช้งานได้
-   ระบบฐานข้อมูล ไม่ค่อยมีขีดความความสามารถในการจัดการคำถามที่สลับ ซับซ้อน และการจัดการข้อมูลที่มีขนาดใหญ่มาก รวมทั้งข้อมูล XML ซึ่ง MySQL สนับสนุนแค่ส่งออกข้อมูล (Export Data) ออกมาเป็น XML แต่ไม่สามารถแปลงข้อมูล XML ในฐานข้อมูลได้
-   การเชื่อมโยงฐานข้อมูล ยังเป็นการเชื่อมโยงในระดับหน่วยเท่านั้น ยังไม่ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลในระดับฝ่ายอำนวยการ ทำให้ถ้ามีการใช้งานจริง การกำหนดอัตราต่างๆ การจัดบันทึกข้อมูลต่างๆ จะกระทำเพียงระบบงานที่รับผิดชอบเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้ว ควรจะต้องกำหนดการใช้งานฐานข้อมูลให้เป็นสิทธิของผู้รับผิดชอบในแต่ละส่วน จะไม่เกิดปัญหาและความผิดพลาดในอนาคต
ยุคการแลกเปลี่ยนข้อมูลกำลังพล (PDX)  เป็นผลมาจากโครงการปรนนิบัติบำรุงระบบสารสนเทศกองทัพบก ระยะที่ ๑ (Maintenance ; MA) โดยการว่าจ้าง Out source มาดำเนินการพัฒนาปรับปรุงและการดูแลรักษาระบบสารสนเทศ ต่อเนื่องจากโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศของกองทัพบก ระยะที่ ๑ (MIS Phase 1) ที่ได้ส่งมอบงานให้กองทัพบกเรียบร้อยแล้ว และมีการใช้งานอย่างต่อเนื่องในบางระบบ บางระบบสามารถนำมาใช้งานได้บางส่วน บางระบบก็ไม่รู้จะใช้งานอย่างไร เนื่องจากไม่ตรงกับความต้องการในการใช้งานปัจจุบัน หน่วยที่เกี่ยวข้อง จึงได้พิจารณาดำเนินการพัฒนา ปรับปรุง แก้ไขระบบงานต่างๆ เพื่อให้สามารถนำมาใช้งานตอบสนองได้ตรงตามภารกิจการทำงานและวัตถุประสงค์ ในห้วงระยะเวลาการดำเนินโครงการจ้างปรนนิบัติบำรุงรักษาระบบสารสนเทศกองทัพบกที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะสายงานกำลังพล และสายงานส่งกำลังบำรุง ระบบงานที่พัฒนาปรับปรุงขึ้นมาใหม่ที่ได้รับการผลักดันจาก กรมกำลังพลทหารบก (กพ.ทบ.)  โดยมีแนวทางในการดำเนินการ สืบเนื่องมาจากการที่กองทัพบกได้กรุณาอนุมัติให้ปีงบประมาณ ๒๕๕๖ เป็น ปีแห่งการพัฒนาระบบบริหารจัดการและการฝึก กพ.ทบ. จึงได้กำหนดกิจกรรมรองรับนโยบายดังกล่าว โดยจะพัฒนากระบวนการจัดทำ และตรวจสอบประวัติกำลังพลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ในภาพรวมของกองทัพบก ให้เกิดความเป็นรูปธรรม โดยพัฒนาโปรแกรมประยุกต์สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลกำลังพล (Personnel Data eXchange : PDX) เพื่อแก้ไขปัญหาการบันทึกข้อมูลกำลังพลของหน่วยภูมิภาค ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตงานของโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศของกองทัพบก ระยะที่ ๑ ซึ่งสามารถรองรับการใช้งานเฉพาะหน่วยในกองบัญชาการกองทัพบกและส่วนกลาง โดยระบบงานดังกล่าวจะใช้เป็นช่องทางการบันทึกข้อมูล และการแลกเปลี่ยนข้อมูลกำลังพลของหน่วยต่างจังหวัดที่กำลังจะดำเนินการใช้โปรแกรมระบบกองพันอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน ๗๐๐ กว่าหน่วย ซึ่งอยู่นอกเหนือจากหน่วยในโครงการนำร่องสายงานกำลังพล ระบบ MIS ทบ. ระยะที่ ๑  เพื่อโอนถ่ายข้อมูลกำลังพลเข้ามาสู่ระบบงานใหม่ เพื่อเป็นระบบกลางสำหรับรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากระบบ MIS และ e-Battalion สำหรับโปรแกรม PDX ดังกล่าว ดำเนินการพัฒนาโดย Outsource ที่กำลังดำเนินโครงการปรนนิบัติบำรุงรักษาระบบสารสนเทศกองทัพบกอยู่ในขณะนี้ การพัฒนาระบบงานฯ เป็น Web Application จะใช้ PHP Framework ที่เรียกว่า CakePHP เป็นหลักสามารถเข้าถึงจาก Browser โดยผ่าน เครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้โดยตรง  และใช้ระบบฐานข้อมูล PostgreSQL ซึ่งเป็น ORDBMS ประเภท Open source เช่นเดียวกับ MySQL ระบบ PDX จะดำรงสภาพเป็นฐานข้อมูลกลางสำหรับเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูลประวัติกำลังพลกับระบบงานต่างๆ ที่มีอยู่ และที่จะพัฒนา ขึ้นต่อไป
จุดแข็งด้าน Application
-   การใช้ภาษา PHP ในการพัฒนาจะมีความง่ายในการเรียนรู้ และมีกำลังพลในกองทัพบก ที่มีความรู้ทางด้านนี้มากพอสมควร
-   การพัฒนาต่อยอดกระทำได้ง่าย และรวดเร็ว
-   สามารถจัดหา Outsource ได้ในงบประมาณที่ไม่สูงมากนัก
จุดอ่อนด้าน Application
-   PHP เป็นภาษาที่เป็นในลักษณะ Interpreter การเก็บของคำสั่งจึงเป็นเพียง Text File บุคคลภายนอกสามารถแกะอ่านข้อมูลได้โดยตรงถ้าสามารถเข้าถึง Source Code ได้ จะเกิดความไม่ปลอดภัยได้ ถ้าคอมพิวเตอร์แม่ข่าย และอุปกรณ์เครือข่ายมีช่องโหว่ในการดำเนินการ
-   การเข้าใช้งาน Application โดยตรงจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีความเสี่ยงในการที่จะถูกการเข้าถึงข้อมูลจากภายนอกได้
จุดแข็งด้าน Database
-   PostgreSQL เป็นระบบจัดการฐานข้อมูลเชิงวัตถุ-สัมพันธ์ (Object-Relational Database Management System : ORDBMS) สามารถสนับสนุน Subquery และ Complex Joins มีส่วนสนับสนุน XML เช่น XPath queries and XSLT processing over XML values
-   ฐานข้อมูลที่เป็น Open Source ทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
-   ข้อมูลมีการจัดเก็บครอบคลุมในทุกระดับ ทั้งส่วนของระบบ MIS และ e-Battalion
จุดอ่อนด้าน Database
-   เนื่องจากฐานข้อมูลที่เป็น Open Source ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ฐานข้อมูลดังกล่าว จะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา แต่เนื่องจากไม่ได้มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ การปรับปรุงในอนาคต หรือการปรับย้ายไปใช้งานในฐานข้อมูลรุ่นที่มีความปลอดภัย และทนทานสูงกว่าจึงกระทำได้ยาก และหากยังคงใช้งานฐานข้อมูลที่เป็น Version เดิมอยู่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ด้านความปลอดภัยของข้อมูลที่นับวันจะมีปริมาณมากขึ้น ย่อมจะจะมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา
-   ระบบฐานข้อมูลการมีการสั่งงานด้วยโปรแกรม Script ที่เรียกว่า SQL อาจทำให้เกิดช่องโหว่ในการใช้งานได้
-   PostgreSQL ใช้ค่อนข้างยากกว่า MySQL
ยุคการบูรณาการ จากปัญหาความหลากหลายของการพัฒนาระบบสารสนเทศของกองทัพบกในปัจจุบัน ทำให้เกิดความสับสน ยุ่งยาก และซ้ำซ้อนในการทำงาน รวมถึงปัญหาความไม่พร้อมทั้งระบบงาน และระบบเครือข่าย ตัวอย่างเช่น หน่วยนำร่องในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่ทำการทดลองใช้งานระบบฐานข้อมูลประวัติกำลังพลในระบบ MIS
เพื่อทดสอบการใช้เครือข่ายสื่อสารต่าง โดยกำหนดให้ พล.. , พล.. และ ศร. เป็นหน่วยปฏิบัติ ผลจากการดำเนินการพบว่า การเข้าใช้งานโปรแกรมของแต่ละหน่วยมีปัญหา ขาดเสถียรภาพ การเชื่อมต่อของระบบเครือข่ายมีการสะดุดและหลุดระหว่างใช้งาน รวมถึงการรับ - ส่งข้อมูลในระบบมีความล่าช้า ข้อมูลประวัติกำลังพลของแต่ละบุคคลยังมีอยู่ในระบบฐานข้อมูลของระบบ MIS ไม่มาก และการบันทึกแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อมูลด้วยการส่งข้อมูลผ่านโปรแกรมโดยให้เจ้าหน้าที่ธุรการของหน่วยดำเนินการนั้น ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน และเหมาะสม เป็นต้น
ปัจจุบันกองทัพบก ได้มีนโยบายดำเนินการบันทึกประวัติกำลังพล ลงบนระบบฐานข้อมูลกลางในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวม ระบบ คือ ระบบ MIS โดยมี กพ.ทบ. และ สบ.ทบ. รับผิดชอบกำกับดูแล และระบบ e-Battalion โดยมี สปช.ทบ. และ ศทท.รับผิดชอบกำกับดูแล ส่วนระบบ PDX โดยมี กพ.ทบ. รับผิดชอบกำกับดูแล เป็นระบบงานกลางสำหรับรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลจาก ระบบ MIS และ e-Battalion
ดังนั้น ผู้บัญชาการทหารบก จึงได้อนุมัติหลักการให้ ศทท. ดำเนินการบูรณาการฐานข้อมูลต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อมูลกำลังพลที่มีความหลากหลาย และเกิดความซ้ำซ้อนของข้อมูล ให้มีความเป็นเอกภาพในการทำงาน และเกิดประสิทธิภาพในการนำมาใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน มีความทันสมัย ความถูกต้อง เชื่อถือได้ของข้อมูล มีการพัฒนาด้วยความต่อเนื่อง และยั่งยืนในการใช้งาน โดย ศทท. จึงได้กำหนด Roadmap เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการบูรณาการออกเป็น ๔ ขั้นตอน ดังนี้
๑.      ขั้นตอนการบันทึกและตรวจสอบข้อมูล โดยให้หน่วยระดับกองพันขึ้นไป ดำเนินการบันทึกและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลกำลังพล ทั้งในระบบ MIS (หน่วยนำร่อง ๒๘ หน่วย) และระบบ e-Battalion ( หน่วยที่เหลือ ) ทั้งนี้ ศทท. จะพัฒนาโปรแกรมฯ สำหรับกำลังพลให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลด้วยตนเอง และแจ้งข้อมูลที่ผิดพลาดให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขข้อมูลต่อไป
๒.    ขั้นตอนการใช้งานจริง ทีมพัฒนาระบบ e-Battalion และ ศทท. จะพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ใช้งาน Web Service สำหรับหน่วยและกำลังพล ให้สามารถใช้งานอย่างเป็นรูปธรรมในขั้นต้นผ่านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (Web Application) และอุปกรณ์พกพา (Mobile Application) จากระบบ e-Battalion และ ระบบ MIS อาทิเช่น รายงานข้อมูลสถานภาพกำลังพล , รายงานข้อมูลการพิจารณาบำเหน็จ , รายงานข้อมูลการพิจารณาปรับย้าย , รายงานข้อมูลการทดสอบร่ายกาย , แบบฟอร์มประวัติย่อกำลังพล , แบบฟอร์มการประเมินค่ากำลังพล , แบบฟอร์มหนังสือรับรองบุคคล , การตรวจสอบเงินเดือนและหนี้สินล่วงหน้า ฯลฯ เป็นต้น ส่วนระบบ PDX ก็จะพัฒนาระบบขึ้นมา เพื่อการใช้งานในระดับกองทัพบก โดยมี กพ.ทบ. รับผิดชอบดำเนินการ และในขั้นตอนนี้ ศทท. จะกำหนดแผนการรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์ (Cyber Security) การปฏิบัติด้านการสำรองข้อมูล (Backup Data)  และการกู้คืนสภาพ (Recovery) เมื่อระบบฯ เกิดความเสียหาย
๓.    ขั้นตอนการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูล เป็นขั้นตอนสำคัญอย่างยิ่งในการเตรียมการบูรณาการ โดยระบบงานด้านกำลังพล ทั้ง ๓ ระบบ คือ ระบบ MIS , ระบบ e-Battalion และระบบ PDX จะต้องสามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ขั้นต้น ระบบ PDX จะทำหน้าที่เป็นระบบกลางในการถ่ายโอนฐานข้อมูล Oracle จากระบบ MIS และฐานข้อมูล MySQL จากระบบ e-Battalion มารวมเป็นระบบฐานข้อมูล PostgreSQL เพื่อการใช้งานในระดับกองทัพบก และถ่ายโอนฐานข้อมูล Oracle จากระบบ MIS ( หน่วยนำร่อง ๒๘ หน่วย ) ไปสู่ฐานข้อมูล MySQL ในระบบ e-Battalion เพื่อขยายผลการใช้งานต่อยอดจากขั้นตอนที่ ๒ เพื่อรองรับ ระบบการปรับย้าย และการเบิกจ่ายตรง เป็นต้น
๔.    ขั้นตอนการบูรณาการระบบ เป็นขั้นตอนสำคัญอย่างยิ่งในการบูรณาการ ไปสู่ระบบ MIS ทบ. อย่างเต็มรูปแบบ และมีความเป็นเอกภาพ โดยเฉพาะระบบงานด้านกำลังพล เนื่องจากระบบ MIS จะมีระบบงานย่อยต่างๆ อยู่แล้ว นอกเหนือจากงานประวัติกำลังพล และระบบงานที่เชื่อมโยงกับสายงานต่างๆ ตามโครงการ MIS ระยะที่ ๑ ระบบ PDX จะทำหน้าที่เป็นระบบกลางในการถ่ายโอนระบบฐานข้อมูลกำลังพล PostgreSQL ทั้งหมดไปสู่ระบบฐานข้อมูลกลาง Oracle ของระบบ MIS ทบ. (Data Center) ซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะที่เป็นมาตรฐานสากล และมีขีดความสามารถสูงกว่าระบบฐานข้อมูลอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว และ Outsource จากโครงการ MA ประจำปี จะดำเนินการพัฒนาปรับปรุงระบบงานต่างๆ ตามโครงการ MIS ทบ. เป็น Web Service เพื่อให้สามารถใช้งานในระดับกองทัพบกและหน่วยรองลงมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขยายผลการพัฒนาให้ครอบคลุมทุกสายงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ปัจจัยผลสำเร็จของการบูรณาการฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศกองทัพบกเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว จะต้องพิจารณาแนวทางการดำเนินการ ดังนี้
๑. การกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบฐานข้อมูล และสิทธิในการใช้งานของแต่ละฐานข้อมูลให้มีความชัดเจน
๒. การเร่งรัดจัดทำฐานข้อมูลอัตราการจัดของหน่วย เช่น อจย. และ อฉก. ให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน และสมบูรณ์ สามารถนำไปใช้งานร่วมได้จริงทุกระดับ
๓. การเร่งรัดจัดทำฐานข้อมูลของหน่วย เช่น ข้อมูลกำลังพล สิ่งอุปกรณ์ และยุทโธปกรณ์ ให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน และสมบูรณ์ สามารถนำไปใช้งานร่วมได้จริงทุกระดับ
๔. การกำหนดมาตรฐานของพจนานุกรมข้อมูล (Data Dictionary) เพื่อให้มีความชัดเจนด้านระเบียนข้อมูลต่างๆ ในการอ้างอิง และการนำไปใช้งาน
๕. การศึกษาและออกแบบโครงสร้างความสัมพันธ์ข้อมูล (E-R Diagram) ในการเชื่อมโยงฐานข้อมูล เพื่อให้เกิดเอกภาพในการใช้งานร่วมกัน ลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล ข้อมูลมีความครบถ้วน ถูกต้อง ทันสมัย มีความสะดวกและง่ายในการพัฒนาต่อยอดในอนาคต
๖. การกำหนดมาตรฐานการใช้งานระบบฐานข้อมูล (Database System) ของกองทัพบกในแต่ละระดับให้มีความชัดเจน เช่น ระดับกองทัพบก ควรใช้ Oracle ระดับหน่วยรองลงมา อาจจะใช้ฐานข้อมูลตระกูล SQL เป็นต้น โดยยึดถือแนวทางตามข้อ ๔ และ ๕
๗. การถ่ายโอนฐานข้อมูลจากระบบงานต่างๆ เช่น ระบบ MIS , e-Battalion และ PDX ตามข้อ ๒ และ ๓ ไปสู่มาตรฐานการใช้งานระบบฐานข้อมูล ตามข้อ ๖ ควรกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติในการถ่ายโอน และการใช้งานข้อมูลต่างๆ  ซึ่งอาจจะจัดจ้างที่ปรึกษากรณีที่หน่วยงานขาดแคลนบุคลากรในด้านบริหารจัดการฐานข้อมูล ซึ่งการย้ายถ่ายโอนฐานข้อมูลนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบฐานข้อมูลควรจะต้องจัดเจ้าหน้าที่มากำกับดูแลอย่างใกล้ชิด
๘. การทดสอบสิทธิและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เพื่อทดสอบสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของหน่วยที่รับผิดชอบฐานข้อมูลนั้น การดึงข้อมูลออกมาใช้งานร่วมกัน การแก้ไขปรับปรุงข้อมูล และการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่มีการถ่ายโอนข้อมูลตรงกับระเบียนข้อมูลตามมาตรฐานของพจนานุกรมข้อมูลของกองทัพบกที่ได้กำหนดไว้
๙. การพัฒนาและทดสอบการใช้งานของ Application ต่อฐานข้อมูล ทั้งระบบ MIS , e-Battalion และ PDX ที่จะเข้ามาใช้งานฐานข้อมูลกลางที่เป็นมาตรฐานของกองทัพบก ตามข้อ ๖ โดยเจ้าหน้าที่ผู้พัฒนา Application นั้นๆ รวมถึงการทดสอบมาตรการรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์
๑๐. การกำหนดมาตรฐานการใช้งาน Application ของหน่วยในกองทัพบก ให้มีความเป็นเอกภาพ เพื่อลดความหลากหลาย ความซ้ำซ้อน และความสับสนในการใช้งาน โดยการปรับปรุงและพัฒนาต่อยอด Application ตามข้อ ๙ ไปสู่มาตรฐานการพัฒนาระบบงาน MIS ทบ. เพื่อใช้งานฐานข้อมูลกลางของกองทัพบก ตามข้อ ๖ อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไปในอนาคต
-----------------------------

แหล่งอ้างอิงข้อมูล :         กรมกำลังพลทหารบก

กองการสงครามสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น