วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วิถีชีวิตสมัยใหม่ สู่สไตล์ กองทัพอัจฉริยะ (Smart Life 2 Smart Army)

วิถีชีวิตสมัยใหม่ สู่สไตล์ กองทัพอัจฉริยะ
 ( Smart Life 2 Smart Army )
โดย พันเอก ฤทธี  อินทราวุธ
รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร

ในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารปัจจุบัน เรามักได้ยินคำว่า “ Smart” ถูกนำมาใช้กับเครื่องมืออุปกรณ์ หรือ องค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบัตรอัจฉริยะ ( Smart Card ) , โทรศัพท์อัจฉริยะ ( Smart Phones )  , โทรทัศน์อัจฉริยะ ( Smart TV ) , สำนักงานอัจฉริยะ ( Smart Office ) , จังหวัดอัจฉริยะ ( Smart Province ) , ประเทศไทยอัจฉริยะ
( Smart Thailand ) เป็นต้น ซึ่งความหมายของมัน เรามักจะเอามาใช้เสริมเพิ่มเติมคำอื่นๆ เพื่อให้มันดู เท่ห์ ฉลาด อัจฉริยะ อะไรทำนองนั้น โดยเนื้อหาสาระหรือรูปแบบส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งนี้เนื่องมาจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาการ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพัฒนาของโลกในยุคดิจิตอล ( Digital Age ) ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของโลก สืบต่อมาจากยุคโลหะ ( Metal Age )  และ ยุคหิน ( Stone Age ) ตามลำดับ
สมัยยุคหิน ( Stone Age ) นั้น มนุษย์ก็นำหินมาใช้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหาเลี้ยงชีพและใช้ป้องกันภัยอันตรายจากสัตว์ร้าย ครั้นพอมาถึงสมัยยุคโลหะ ( Metal Age ) มนุษย์ก็นำโลหะต่างๆ เช่น ทองแดง สำริด เหล็ก มาใช้แทนหินในการดำรงชีวิต จนมาถึงปัจจุบันในยุคดิจิตอล ( Digital Age ) มนุษย์ก็นำเอาอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับดิจิตอลต่างๆ มาใช้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นเช้าจนกระทั่งเข้านอน ซึ่งเป็นพื้นฐานปกติวิสัยของคนยุคปัจจุบันในด้านความเป็นอยู่ โดยที่ตนเองไม่ทราบว่า วิถีชีวิตแบบธรรมดาสามัญ ( Common Life ) มันกลายเป็น วิถีชีวิตแบบอัจฉริยะ ( Smart Life ) ไปตั้งแต่เมื่อไหร่ ?
เริ่มตั้งแต่ การปลุกตื่นนอนด้วยนาฬิการะบบ Digital แทนนาฬิการะบบไขลานตีกริ่งเสียงดังจนน่ารำคาญ บางบ้านทำอาหารเช้าก็จะมีเครื่องครัวสมัยใหม่ระบบ Digital เช่น เตาไมโครเวฟ เครื่องชงน้ำ ชา กาแฟ ฯลฯ แทนการหุงต้มด้วยเตาถ่านหรือเตาแก๊ส พอเอาอาหารวัตถุดิบหรือปรุงสำเร็จรูปมาใส่กดปุ่มตั้งเวลาทิ้งไว้ เอาเวลาที่เหลือไปเก็บเสื้อผ้าใช้แล้วใส่ลงไปในเครื่องซักผ้า-อบผ้าแบบตั้งเวลาอัตโนมัติ แล้วก็ไปแปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว ทานอาหารเสร็จเรียบร้อย กด Remote ปิด Air Condition , Smart TV แล้วออกบ้านขับรถ ECO Car ซึ่งควบคุมการทำงานด้วยระบบ Digital ไปส่งลูกที่โรงเรียน ตามเส้นทางการจราจรซึ่งมีป้ายแสดงสภาพการจราจรระบบ Digital ว่าเส้นทางการจราจรคับคั่ง เส้นทางไหนคล่องตัว พอถึงสถานที่ทำงานก็จะสังเกตเห็นป้าย Smart Parking ระบบ Digital แสดงจำนวนที่จอดรถที่ว่างในแต่ละชั้น พอเข้าไปทำงานใน Office สมัยใหม่แบบ Smart Office ก็ใช้ e- Card บันทึกเวลาเข้า-ออกทำงาน ใช้ Computer ทำงาน ส่ง e-mail ใช้ Smart Phone ติดต่องาน เล่น Line สนทนากับเพื่อน เล่น Face Book เพื่อ Update Status ฯลฯ พอเลิกงานขับรถรับลูกจากโรงเรียน แวะซื้อของด้วยบัตรเครดิต   ( Credit Card )  พอกลับถึงบ้าน กด Remote เปิด Air Condition ดู Smart TV เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ หรือ เปิด e-Book จาก Tables มาเล่นสอนหนังสือลูก ทานอาหารเย็น อาบน้ำ เข้านอน วนเวียนซ้ำซากจนกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน จะเห็นได้ว่าชีวิตวันๆ หนึ่งจะอยู่กับอุปกรณ์ Digital ตลอดเวลา จนกลายเป็น วิถีชีวิตแบบอัจฉริยะ ( Smart Life ) ในยุค Digital
คำว่า “ Smart ”  นอกจากพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ได้แปลความหมายไว้อย่างหลากหลาย แต่เรามักจะแปลไปในเชิงความหมายว่า ฉลาด , ปราดเปรื่อง , หลักแหลม , เฉียบแหลม , มีไหวพริบ , เก๋ , โก้ , รูปหล่อ , เท่ห์ ฯลฯ และมีพันโท ภูมิสิษฐ์ ชินบุตรวงศ์ ได้ให้ทัศนะด้านความหมายในสื่อออนไลน์ตามที่มาของตัวอักษร ดังนี้
S มาจากคำว่า Specific แปลว่า เฉพาะเจาะจง คือ ให้รู้กันชัดเจน แจ่ม แจ๋วกันไปเลยว่ามันเป็นอะไร
M มาจากคำว่า Measurable คือ วัดผลได้ ก็หมายความว่า เราสามารถเห็นความก้าวหน้าของสิ่งที่เราจะทำได้ทีละขั้นทีละตอน จนบรรลุเป้าหมายผลสำเร็จ มันมีจุดที่จะวัดผลกันได้ว่ามีความก้าวหน้านั่นเอง
A มาจากคำว่า Attainable หรือ Achievable ก็หมายถึงว่า เจ้าสิ่งนั้นหรือเรื่องนั้นสามารถไปเอามาได้หรือในที่สุดแล้ว จะมาอยู่ในมือเราหรือตัวเราได้ ดังนั้นมันจะต้องสามารถทำได้ด้วย
R มาจากคำว่า Realistic แปลว่า เป็นจริง ดูจะคล้ายๆกับ Attainable แต่ต่างกันตรงที่ว่า สิ่งที่เป็นเป้าหมายนี้มันจะต้องเป็นความจริง
T มาจากคำว่า Time-bound ก็คือ Deadline นั่นเอง เป็นจุดของวันและเวลาที่เรากำหนดจะให้ได้มันมา เพราะถ้าไม่กำหนดวันให้แล้ว เราก็จะไม่มีอะไรบังคับว่าจะต้องเร่งรีบ หรือใส่แรงลงไปมากน้อยแค่ไหน
สรุปความหมายง่ายๆ ตามที่มาของคำว่า Smart ”  คือ การเฉพาะเจาะจงใช้กระบวนการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้ได้ผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ตามระยะเวลาที่กำหนด
จากพฤติกรรมของคนตามกิจวัตรประจำวันในยุคปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า การปรับตัวจากวิถีชีวิตแบบอัจฉริยะ ( Smart Life ) ไปสู่องค์กรอัจฉริยะ ( Smart Organize ) นั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือ ยากเย็นแสนเข็นแต่ประการใด โดยเฉพาะแนวความคิดที่จะพัฒนากองทัพไปสู่ กองทัพอัจฉริยะ ( Smart Army ) เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันแทบจะเป็นเรื่องปกติสามัญ เพียงใช้กระบวนการบริหารจัดการต่างๆ ตามความหมายง่ายๆ จากที่มาของคำว่า “ Smart ”  ซึ่งการที่จะพัฒนากองทัพไปสู่ กองทัพอัจฉริยะ ( Smart Army ) ให้บรรลุเป้าหมายเกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมตามระยะเวลาที่กำหนดนั้น จะต้องเจาะจงใช้กระบวนการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ดังนี้
๑. ขั้นการบูรณาการสารพัดบัตรต่างๆ เช่น บัตรประจำตัวข้าราชการ , บัตรประจำตัวหน่วยงาน , บัตรผ่านเข้า-ออกสถานที่ , บัตรตรวจโรค , บัตรเบิกจ่ายตรงโรงพยาบาล , บัตรสารพัดสมาชิกต่างๆ ของกองทัพ รวมถึงสติกเกอร์ติดรถ จะต้องมีการพัฒนาให้เป็นบัตรอเนกประสงค์ ( Multi – Proposes ID Card ) คือ มีข้อมูลและรูปภาพเพื่อใช้แสดงตน , มีสัญญาณคลื่นความถี่วิทยุ ( Radio Frequency ID ; RF ID ) เพื่อใช้บันทึกในการผ่านเข้า-ออกสถานที่ แบบอัตโนมัติ , มี Micro Ship , Bar Code หรือ มีแถบข้อมูลแม่เหล็ก สำหรับเก็บรหัส ข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อการใช้งานโปรแกรมการทำงานต่างๆ  ,  มีรหัสสี่เหลี่ยม ที่ เรียกว่า QR Code ซึ่งย่อมาจากรหัส Quick Response เพื่อใช้ในการแสดงข้อมูลและการเข้าใช้งานผ่านอุปกรณ์มือถือระบบ Smart Phones หรือ Tables รวมถึงการบูรณาการบัตรประจำตัวข้าราชการกับบัตรเครดิต-เดบิตธนาคาร ( Credit & Debit Card ) เป็นต้น ก็จะทำให้บัตรประจำตัวข้าราชการดังกล่าวเพียงบัตรเดียว สามารถใช้งานต่างๆ ที่สำนักงานในกองทัพได้ตลอดทั้งวัน
๒. ขั้นการพัฒนาความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อรองรับการให้การใช้งานและการบริการของหน่วยงานต่างๆ ของกองทัพ ซึ่งจะต้องกำหนดกระบวนการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนทั้งอุปกรณ์ ( Hardware ) , โปรแกรมระบบงาน ( Application ) และระบบเครือข่าย ( Network ) โดยเริ่มจาก ระบบงานบริการกำลังพล , ระบบงานสวัสดิการ , ระบบงานการเงิน , ระบบการทดสอบร่างกาย , ระบบงานการพิจารณาบำเหน็จ ฯลฯ ก่อนที่จะขยายผลไปยังระบบงานอื่นๆ ให้ครอบคลุมทุกสายงานฝ่ายอำนวยการ ตลอดจนการส่งเสริม สงเคราะห์ และสนับสนุนให้กำลังพลทุกระดับสามารถเข้าถึงการบริการสารสนเทศ รวมถึงการมีอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเท่าที่จำเป็นสำหรับตนเอง เช่น Tables หรือ Smart Phones และค่าใช้จ่ายการบริการเครือข่าย 3G , WiFi ในราคาสวัสดิการ หรือราคาพิเศษ  เพื่อการเข้าถึงการบริการสารสนเทศและการใช้งานต่างๆ ของกองทัพ
๓. ขั้นการใช้งาน โดยการกำหนดมาตรการ ข้อบังคับ ระเบียบปฏิบัติ ทั้งด้านการใช้งาน และการรักษาความปลอดภัย อย่างชัดเจน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกำลังพลทุกนายจะต้องปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด เพื่อให้การพัฒนากองทัพไปสู่ กองทัพอัจฉริยะ ( Smart Army ) บรรลุเป้าหมายเกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมตามระยะเวลาที่กำหนด
๔. ขั้นการติดตามและประเมินผลการใช้งาน โดยการสำรวจความคิดเห็นต่างๆ จากผู้ใช้งานโดยตรง ผ่านระบบสารสนเทศของแต่ละระบบงาน เพื่อติดตามและประเมินผล ทั้งจำนวนและที่ตั้งอุปกรณ์ ( Hardware ) , โปรแกรมระบบงาน ( Application ) , ระบบเครือข่าย      ( Network ) และความพึงพอใจของผู้ใช้งาน เพื่อการพัฒนา ปรับปรุงแก้ไขให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
๕. ขั้นการขยายผลการใช้งาน เป็นการพัฒนาต่อยอดเพื่อให้การพัฒนากองทัพไปสู่ กองทัพอัจฉริยะ ( Smart Army ) อย่างเต็มรูปแบบ จากส่วนกลางกระจายการพัฒนาไปยังระดับภูมิภาค คือ กองทัพภาคหรือค่ายทหารอัจฉริยะ ( Smart Camp )  กองพลอัจฉริยะ ( Smart Division )  และลงไปจนถึงระดับท้องถิ่น คือ กองพันอัจฉริยะ ( Smart Battalion ) 
การพัฒนากองทัพไปสู่ กองทัพอัจฉริยะ ( Smart Army ) จะเริ่มตั้งแต่ การขับรถผ่านเข้า-ออกประตูไม้กั้น ด้วยระบบ RF ID แบบ Easy Pass บนทางด่วน Troll way พอเดินเข้าสำนักงาน ประตูก็จะเปิดแบบอัตโนมัติ พร้อมบันทึกเวลา เข้า-ออก พอถึงเวลาทำงาน ก็ใช้บัตรซึ่งมี Micro Ship หรือ แถบข้อมูลแม่เหล็ก เสียบเข้าอ่านที่เครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้งานโปรแกรมการทำงานต่างๆ  พอพักเที่ยงลงมาทานอาหารกลางวัน ก็ใช้บัตรซึ่งมี Micro Ship เครดิต-เดบิตธนาคาร จ่ายค่าอาหาร ใน Food Cord   หรือจะใช้ซื้อข้าวของ เครื่องใช้ต่างๆ ใน PX  ใช้บัตรกดเบิก ถอน ฝาก โอนเงินจากตู้ ATM พอวันไหนเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ใช้บัตรนี้เข้ารับการบริการทางการแพทย์ที่ห้องตรวจโรคหรือโรงพยาบาล แทนบัตรตรวจโรคหรือบัตรเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาล หากต้องการอยากดูข้อมูลประวัติตนเอง ก็เอาบัตรไปทาบกับเครื่องอ่านข้อมูลจากระบบงานกำลังพล ก็จะเห็นข้อมูลประวัติรับราชการ การศึกษา เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ราชการพิเศษ วันทวีคูณ ฯลฯ เพื่อจะได้วางแผนชีวิตว่าจะอยู่รับราชการต่อ หรือขอเกษียณอายุก่อนกำหนด เพื่อเอายศ เอาเงินตอบแทน อยากจะดูข้อมูลเงินกู้ หนี้สิน หรือเงินออมต่างๆ ของตนทั้งของหน่วยงานและสหกรณ์ออมทรัพย์ ก็เอาบัตรไปแปะที่เครื่องระบบงานสวัสดิการ แบบที่เช็คราคาสินค้าห้างโลตัส ก็จะทราบข้อมูลทันทีว่า หนี้สินเหลือเท่าไร? ใกล้จะหมดงวดรึยัง ? เงินที่เก็บหอมรอมรีบสะสมไว้ ตอนนี้เพิ่มพูนมากน้อยเพียงใด? ถ้าต้องการรู้เงินเดือนล่วงหน้าว่าพอจะเหลือเท่าไหร่? ตอนเงินเดือนออกสิ้นเดือน ก็เอาบัตรไปแปะที่เครื่องระบบงานการเงิน ก็จะทราบข้อมูลสลิปเงินเดือนล่วงหน้าคร่าวๆ พอจะเอาไปวางแผนการเงินในครอบครัวได้บ้างว่าพอจะพาครอบครัวไปทานอาหารมื้อพิเศษ หรือไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจในวันหยุดได้ไหม? หรือไม่พอจ่ายค่าเทอมลูก ก็จะต้องเตรียมการวางแผนหาเงินล่วงหน้า เมื่อมีการทดสอบสมรรถภาพร่างกายประจำปี ก็ให้กำลังพลผู้เข้าทดสอบนำบัตรติดตัววิ่งผ่านเครื่องรับสัญญาณ RF ID ก็จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องเที่ยวตรง รวมถึงการเอาข้อมูลบันทึกเวลา เข้า-ออก การทำงาน มาใช้ในการพิจารณาบำเหน็จ ความดีความชอบตอบแทนการทำงาน การพิจารณาเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น หรือการให้เงินรางวัลโบนัสพิเศษต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
นอกจากนี้ ระบบข้อมูลสารสนเทศของหน่วยงานต่างๆ กำลังพลยังสามารถเข้าถึงได้โดยผ่านอุปกรณ์ Tables หรือ Smart Phones ส่วนบุคคล ที่เชื่อมผ่านระบบ WiFi ซึ่งติดตั้งกระจายตามจุดต่างๆ อย่างทั่วถึง เพื่อให้การบริการด้านสารสนเทศ โดยการใช้ QR Code ที่ติดกับบัตรประจำตัวในการแสดงตน ( Authentic )  สำหรับการเข้าถึงระบบงานต่างๆ และข้อมูลระบบสารสนเทศของหน่วยงาน รวมถึงการรับข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ต่างๆ ผ่านระบบมือถือ เช่นเดียวกับเวลาที่เราไปในสถานที่ต่างๆ มักจะปรากฏข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์โผล่มาในโทรศัพท์มือถือเป็นประจำเมื่อเวลาเปิดสัญญาณ 3G หรือ WiFi ทิ้งไว้
ส่วนระบบ RF ID ที่ติดอยู่ที่บัตร นอกจากจะนำมาใช้งานต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานในด้านการรักษาความปลอดภัย ( Security ) โดยติดตั้งจุดรับสัญญาณ RF ID ในเขตพื้นที่หวงห้าม เมื่อมีกำลังพลเดินผ่านก็จะมีสัญญาณแจ้งเตือน เช่นเดียวกับห้างร้านในศูนย์การค้า หรือการเชื่อมกับระบบกล้อง CCTV เพื่อให้บันทึกข้อมูลเหตุการณ์เฉพาะที่มีการเคลื่อนไหว เพื่อประหยัดเนื้อที่ Hard Disk นอกจากนี้ยังสามารถนำสัญญาณ RF ID มาประยุกต์เชื่อมกับระบบไฟฟ้าในห้องน้ำ หรือห้องทำงานต่างๆ ในการควบคุมการเปิด-ปิดหลอดไฟฟ้า จะช่วยในการประหยัดพลังงาน ( Safe Energy ) ของหน่วยงานอีกทางหนึ่ง
ตัวอย่างการใช้งานและข้อมูลสารสนเทศที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นเพียงงานด้านการบริการกำลังพลเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งข้อมูลบางส่วนของกำลังพลที่ถูกบันทึกไว้ในระบบสารสนเทศ จากการผ่านเข้ามา – ออกไป หรือการใช้งานต่างๆ สามารถนำมาบริหารจัดการข้อมูลและการกำหนดสิทธิ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาระดับต่างๆ สามารถเข้าดูหรือตรวจสอบเป็นรายบุคคลว่า ใคร? อยู่ที่ไหน? เมื่อไหร่? และกำลังทำอะไร? , การตรวจสอบสถานภาพกำลังพลประจำวันเป็นรายหน่วย , การตรวจสอบผลการทดสอบสมรรถภาพร่างกายของกำลังพล , การตรวจสอบสถานภาพหนี้สินกำลังพลของหน่วย , การตรวจสอบประวัติรับราชการ , การตรวจสอบคุณวุฒิหรือความเชี่ยวชาญพิเศษ ฯลฯ ผ่านอุปกรณ์มือถือ เช่น Tables หรือ Smart Phones จากที่ใดก็ได้

ดังนั้น แนวความคิดที่จะพัฒนากองทัพไปสู่ กองทัพอัจฉริยะ ( Smart Army ) จึงไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝันแต่ประการใด หากคิดจะเริ่มพัฒนา ก็ควรจะเร่งพัฒนาตั้งแต่ตอนนี้ โดยกำหนดเป้าหมาย ดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แบบค่อยเป็นค่อยไป สิ่งใดที่มีอยู่แล้วในกองทัพพอจะทำได้ ก็กำหนดความเร่งด่วนในการดำเนินการเป็นลำดับแรก สิ่งใดที่มีอยู่ แต่ต้องใช้การพัฒนาปรับปรุงต่อยอดเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้ ก็เร่งดำเนินการ สิ่งใดที่ยังไม่มีหรือยังไม่ได้เริ่มทำ ก็กำหนดแผนงานดำเนินการต่อไป เพียงเท่านี้ก็จะสามารถจะพัฒนากองทัพไปสู่ กองทัพอัจฉริยะ ( Smart Army ) ได้โดยไม่ยาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น