วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

แนวทางการพัฒนากองทัพบกไปสู่การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง ( NCO )

แนวทางการพัฒนากองทัพบกไปสู่การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง
( Army Solutions to Network Centric Operations )
โดย พันเอก ฤทธี  อินทราวุธ
รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร

ปัจจุบันถือได้ว่า ข้อมูลสารสนเทศ ( Information ) ซึ่งหมายถึง ข้อมูลดิจิตอล ( Digital Data ) อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการปฏิบัติงานในด้านต่างๆ ขององค์กรภาครัฐและธุรกิจเอกชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการปฏิบัติงาน และสร้างความได้เปรียบในด้านการแข่งขัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคไร้พรมแดน ( Borderless Age ) ทำให้องค์กรต่างๆ มีความตื่นตัวในด้านการพัฒนาองค์กร เพื่อจะก้าวให้ทันกับสภาวะแวดล้อมของโลก ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะความเจริญเติบโตด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ( Information Technology ; IT ) ทำให้เกิดการกระจายของข้อมูลข่าวสาร และนำไปสู่โอกาส รวมถึงความได้เปรียบทางการแข่งขัน ซึ่งถือเป็นความท้าทายขององค์กรสมัยใหม่ ที่จะต้องมีการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้า เพื่อไม่ให้ตนเองตกอยู่ในสภาวะถูกทิ้งท้ายไว้ข้างหลัง
นอกเหนือจากความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว ความเจริญเติบโตในด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ( Telecommunication ) ในยุค 3G และ 4G ประกอบกับเทคโนโลยีด้านเครือข่าย     ( Network Technology ) ยังช่วยขับเคลื่อนให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้งานอย่างรวดเร็ว กว้างขวาง และทั่วถึงทุกมุมโลก ทำให้องค์กรสมัยใหม่หันมาให้ความสนใจกับการพัฒนาองค์กรไปสู่การใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง ( Network Centric ) เพื่อบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยองค์กรย่อยๆ และผู้ใช้งานที่กระจัดกระจายไปทั่วทุกมุมโลก สามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศ และการปฏิบัติงานที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง  ( Network Centric Operations ; NCO )
กองทัพบก เริ่มมีแนวความคิดด้าน การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง ( Network Centric Operations ; NCO  )  โดยได้ประกาศให้ปี ๒๕๕๗ เป็น “ ปีแห่งการเตรียมความพร้อมกองทัพบกไปสู่อนาคต ” และ
กำหนดทิศทางการพัฒนากองทัพบก ให้มีความพร้อมสู่อนาคต ในด้านความทันสมัย ด้วยเทคโนโลยี โดยให้ทุกสายงานพิจารณานำเทคโนโลยีที่เหมาะสม มาใช้ในกระบวนการทำงาน หรือ พัฒนาหน่วยงาน เพื่อให้มีความทันสมัย ทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ สถานที่ มุ่งสู่การเป็นกองทัพที่ทันสมัย มีมาตรฐานในระดับสากล และเป็นที่ยอมรับของมิตรประเทศ นอกจากนี้ กองทัพบกยังได้เตรียมความพร้อมไปสู่ การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง ดังนี้
๑. การจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกองทัพบก ปี ๒๕๕๗ – ๒๕๖๑ เพื่อมุ่งสู่ การพัฒนาระบบปฏิบัติการโดยใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง
๒. การปรับปรุง/เปลี่ยนผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ไปสู่ระบบดิจิตอล     ( Digital ) หรือที่เรียกว่า กองทัพบกยุคดิจิตอล ( Digital Army )
๓.  การพัฒนาระบบโครงข่ายการสื่อสารทางยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี มุ่งไปสู่การสื่อสารข้อมูล ( Data Communication ) เพื่อรองรับการเชื่อมต่อข้อมูลทางยุทธิวิธี ( Tactical Data Link ; TDL ) ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
๔. การพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยด้านสารสนเทศ ( Information Security ) และระบบเครือข่ายภายในของกองทัพบก
๕. การเตรียมการจัดตั้งหน่วย หรือ ปรับความรับผิดชอบงานสายวิทยาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้มีศักยภาพ สามารถปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง
การพัฒนาองค์กรไปสู่ การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสะดวกในการใช้งาน มีความถูกต้องของข้อมูล มีความรวดเร็วทันเวลา มีความปลอดภัย สามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ และสามารถกระจายการใช้งานไปอย่างกว้างขวางไร้ขีดจำกัด จะต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐานหลักที่สำคัญ มีอยู่ ๕ ปัจจัย คือ ข้อมูลสารสนเทศ หรือ ข้อมูลดิจิตอล ( Digital Data ) , การสื่อสารระบบดิจิตอล ( Digital Communication ) , เครือข่าย ( Network ) , ระบบงาน ( Applications) และการรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ( Cyber Security )
ดังนั้น แนวทางการพัฒนากองทัพบกไปสู่ การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง  เพื่อการสร้างเสริมกำลังกองทัพให้มีศักยภาพ และมีความพร้อมในการปฏิบัติการทางทหารและปฏิบัติการทางทหารที่มิใช่สงคราม                ( Military Operations Other Than War ; MOOT War ) ตลอดจนความพร้อมในการรับมือภัยคุกคามในทุกรูปแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสำเร็จของการดำเนินการพัฒนากองทัพบกไปสู่ การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง อยู่ที่การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างมีแบบแผน มีขั้นตอน และมีความต่อเนื่องในการพัฒนา จึงควรพิจารณาดำเนินการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ดังนี้
๑. การพัฒนาไปสู่ กองทัพบกดิจิตอล ( Digital Army ) เป็นการพัฒนา ปรับปรุง/เปลี่ยนผ่าน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ไปสู่ ระบบดิจิตอล  ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนแปลงข้อมูลเอกสารทางราชการต่างๆ ที่มีอยู่ในรูปแบบกระดาษเอกสาร ( Paper ) ไปสู่รูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์  ( e-Document ) หรือ ข้อมูลดิจิตอล ( Digital Data ) ที่เรียกกันว่า ข้อมูลสารสนเทศ ( Information ) โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น ๓ ขั้นตอน คือ
๑. ขั้นการวางแผนและออกแบบการจัดเก็บเอกสารอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นระบบ และเป็นมาตรฐาน ให้สามารถเชื่อมโยง ใช้ร่วมกัน แลกเปลี่ยนกันทางระบบสารสนเทศ
๒. ขั้นการจัดเก็บเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นตามระเบียบงานสารบรรณ มีความถูกต้อง สมบูรณ์ ทันสมัย และสามารถนำมาใช้งานได้อย่างถูกต้อง สะดวก รวดเร็ว
๓. ขั้นการใช้งานและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน โดยการกำหนดระเบียบปฏิบัติ และขั้นตอนการทำงาน ให้มีมาตรฐานแบบเดียวกัน
การพัฒนา ปรับปรุง/เปลี่ยนผ่าน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ไปสู่ ระบบดิจิตอล  รวมถึง การเปลี่ยนแปลงระบบสื่อสารแบบอนาล็อก ( Analog ) ไปสู่ระบบสื่อสารแบบดิจิตอล         ( Digital ) หรือที่เรียกกันว่า สัญญาณดิจิตอล ( Digital Signal ) เพื่อรองรับ ระบบสื่อสารข้อมูล ( Data Communication ) ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักของการพัฒนากองทัพไปสู่ กองทัพบกยุคดิจิตอล ( Army Digital )
๒. การพัฒนาปรับปรุงระบบเครือข่ายเพื่อรองรับระบบสื่อสารข้อมูล ( Data Communication ) เป็นการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบเครือข่ายต่างๆ ( Infrastructure ) ที่มีอยู่ เพื่อให้มีขีดความสามารถสามารถรองรับ การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น ๓ ขั้นตอน ดังนี้
๑. ขั้นการตรวจสอบสภาวะแวดล้อมด้านเครือข่าย ( Network Environmental    Scanning ) เป็นการสำรวจตรวจสอบสภาวะแวดล้อมและสถานภาพของโครงสร้างพื้นฐาน( Infrastructure ) ของระบบเครือข่ายต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก ตลอดจนแผนในอนาคต เพื่อสำรวจ ตรวจสอบ ปริมาณ และสถานภาพโครงข่ายที่มีอยู่ ว่ามีจำนวนปริมาณพอเพียง ครอบคลุม และมีขีดความสามารถเพียงพอที่จะรองรับต่อการใช้งานหรือไม่ รวมถึงความเป็นไปได้ในการบูรณาการเครือข่ายต่างๆ ที่มีอยู่ให้สามารถใช้งานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อ การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง
๒. ขั้นการวิเคราะห์และออกแบบโครงข่าย ( Network Analysis and Design ) เพื่อให้โครงข่าย           ( Network ) มีจำนวน ปริมาณ คุณภาพ พอเพียง ครอบคลุม และมีขีดความสามารถเพียงพอที่จะรองรับต่อการใช้งาน และการเชื่อมโยงไปยังหน่วยต่างๆ และผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และไม่เกิดความซ้ำซ้อน ตลอดจนการเชื่อมโยงกับโครงข่ายภายนอก เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันได้
๓. ขั้นการบูรณาการด้านโครงข่าย ( Network Integration ) เพื่อบูรณาการโครงข่ายที่มีอยู่ทั้งภายในและภายนอก ทั้งของภาครัฐและเอกชน โดยการแสวงหาความร่วมมือเพื่อจัดทำ บันทึกข้อตกลง หรือ บันทึกความเข้าใจ   ( Memorandum of Understanding ; MOU ) ในการใช้งานร่วมกัน หรือ การบริการเช่าใช้จากภาคธุรกิจเอกชน เพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อ การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง          
๓. การพัฒนาระบบงานเพื่อรองรับการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง ( Network Centric Operations ; NCO ) เพื่อสร้างเสริมหน่วยและกำลังกองทัพให้มีศักยภาพ และมีความพร้อมในการปฏิบัติการทางทหารและปฏิบัติการทางทหารที่มิใช่สงคราม ( MOOT War ) ตลอดจนความพร้อมในการรับมือภัยคุกคามในทุกรูปแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการบูรณาการระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารงานยามปกติ ( MIS ) , ระบบควบคุมบังคับบัญชา ( C4I ) และระบบงานอื่นๆ ที่มีใช้อยู่ตามหน่วยต่างๆ เช่น ระบบศูนย์ข่าวอัตโนมัติ กองทัพภาคที่ ๒ , ระบบส่งกำลังบำรุงของกองบัญชาการช่วยรบที่ ๒ , ระบบกองพันอิเล็กทรอนิกส์ ( e-Battalion )  และระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลสายงานกำลังพล ( Personal Data Exchange ; PDX ) เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาต่อยอดเพิ่มเติม ทั้งระบบงานบนคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ ( PC ) และบนอุปกรณ์พกพา ( Mobile Applications ) เพื่อให้สามารถตอบสนองการปฏิบัติการของภารกิจต่างๆ ได้ครบถ้วนและครอบคลุมทุกด้าน ไม่เกิดความหลากหลาย และการทำงานที่ซ้ำซ้อน สามารถลดขั้นตอนในการปฏิบัติให้สั้นลงอย่างมีประสิทธิภาพ และมีเอกภาพในการบริหารจัดการทั้งระบบงานและฐานข้อมูล รวมถึงความง่าย สะดวก และปลอดภัยในการใช้งานด้วยระบบการเข้าถึงการใช้บริการของระบบทั้งหมดได้ด้วยการพิสูจน์ตัวตนเพียงครั้งเดีย ( Single sign on )
๔. การเตรียมความพร้อมรับมือสงครามไซเบอร์ ( Cyber Warfare ) เป็นการพัฒนาขีดของหน่วยงานด้านสารสนเทศของกองทัพบกทุกระดับ โดยเฉพาะการจัดตั้งหน่วยงานด้านไซเบอร์ของกองทัพบก ( Army Cyber Command  ) หรือ ศูนย์ปฏิบัติการด้านไซเบอร์ ( Cyber Security Operations Center ; CSOC ) ให้มีขีดความสามารถด้านการรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ( Cyber Security ) ของกองทัพบก ทั้งระบบสารสนเทศและเครือข่าย ให้มีขีดความสามารถเพียงพอต่อการรับมือต่อภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ( Cyber Threats ) รวมถึงการเตรียมความพร้อมรับมือสงครามไซเบอร์ ( Cyber Warfare ) ในอนาคต มีสร้างความตระหนัก และการพัฒนากำลังพลทุกระดับ ให้ศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง
นอกจากขั้นตอนการพัฒนากองทัพบกไปสู่ การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง ดังที่กล่าวมาแล้ว กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาฯ ดังกล่าว คือ องค์กรขับเคลื่อนนโยบาย ซึ่งปัจจุบันกองทัพบกมีคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกองทัพบก , อนุกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศกองทัพบก ( MIS ) และอนุกรรมการพัฒนาระบบควบคุมบังคับบัญชา ( C4I ) กำกับดูแลด้านนโยบายฯ มี กรมฝ่ายเสนาธิการ กำกับดูแลในฐานะฝ่ายอำนวยการ และมีศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ในฐานะฝ่ายกิจการพิเศษ กำกับดูแล และดำเนินการด้านเทคนิค แต่การดำเนินการที่ผ่านมา ยังมีความสับสนในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการดำเนินการด้านเทคนิค ซึ่งหลายหน่วยมักจะดำเนินการเอง ทำให้ขาดความเป็นมาตรฐาน เกิดความหลากหลาย ซ้ำซ้อน ไม่สามารถใช้งานร่วมกัน และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้  ไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีเอกภาพ และขาดประสิทธิภาพในการใช้งานเท่าที่ควร
ดังนั้น แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนากองทัพบกไปสู่ การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง ด้านองค์กรการบริหาร กำกับการ และการดำเนินการ ควรมีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจน โดยให้หน่วยงานที่มี ภารกิจ หน้าที่ และความรับผิดชอบดำเนินการด้านเทคนิคโดยตรง รับผิดชอบในการดำเนินการวิเคราะห์ ออกแบบ และพัฒนาระบบ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง และการรักษาความปลอดภัยด้านสารสนเทศ ( Cyber Security ) ของกองทัพบก เป็นการเร่งด่วนโดยเฉพาะ เพื่อให้มีความเป็นมาตรฐาน สามารถใช้งานร่วมกันและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้  ไม่เกิดความหลากหลายซ้ำซ้อน สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีเอกภาพ และเกิดประสิทธิภาพในการใช้งาน ทั้งนี้รวมถึงการวางแผน และการดำเนินการพัฒนากำลังพลทุกระดับ ให้มีความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง และการรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ( Cyber Security )
สำหรับการพัฒนาระบบสารสนเทศ ( MIS ) ของกรมฝ่ายเสนาธิการที่รับผิดชอบในแต่ละสายงานฝ่ายอำนวยการ ซึ่งมีกองสารสนเทศของหน่วย รับผิดชอบงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศภายในกรม หากมีขีดความสามารถเพียงพอที่จะทำหน้าที่ทั้งฝ่ายอำนวยการ และผู้ปฏิบัติด้านเทคนิคได้ จะดำเนินการพัฒนาระบบสารสนเทศ ( MIS ) ของสายงานฝ่ายอำนวยการด้วยตนเอง ก็สามารถดำเนินการได้เฉพาะงานสารสนเทศเพื่อการบริหารงานยามปกติ ที่เป็นงานธุรการปกติประจำ ( Routine )  หรือจะทำหน้าที่เป็นเพียงเฉพาะฝ่ายอำนวยการ ส่วนการปฏิบัติงานด้านเทคนิค อาจจะมอบหมายให้หน่วยงานที่มี ภารกิจ หน้าที่ และความรับผิดชอบดำเนินการด้านเทคนิคโดยตรง รับผิดชอบในการดำเนินการก็ได้ ทั้งนี้จะต้องมีความชัดเจนในการแบ่งมอบหน้าที่ และความรับผิดชอบในการดำเนินการ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในทางปฏิบัติ และความรับผิดชอบต่อผลสำเร็จ
การกำหนดนโยบายในการแบ่งมอบหน้าที่ และความรับผิดชอบในการดำเนินการที่มีความชัดเจน และมีความเป็นเอกภาพในการดำเนินการ จะเป็นหลักประกันความสำเร็จที่สำคัญประการแรกในการขับเคลื่อนการพัฒนากองทัพบกไปสู่ การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง

-----------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น