วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

สงครามสื่อโซเชียล
 ( Social Media Warfare )
โดย พลตรี ฤทธี  อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก

สงครามในยุคปัจจุบัน นอกเหนือจากสงครามตามแบบ  (Conventional Warfare)  และสงครามนอกแบบ  (Unconventional Warfare) ที่พัฒนามาเป็นสงครามในยุคที่ 1 จนถึงสงครามในยุคที่ 4 ที่เรียกว่า สงครามอสมมาตร (Asymmetric Warfare)  ที่มีการใช้กองกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทหารเข้าทำการรบ
กันแล้ว การใช้เทคโนโลยีและปัจจัยอื่นๆ ที่มิใช่ทางทหารก็สามารถนำมาใช้ในการทำสงครามได้อย่างหลากหลายรูปแบบตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ที่เรียกว่า สงครามยุคเทคโนโลยี
(Technology Warfare)  โดยไม่จำเป็นต้องประกาศสงครามกับใครอย่างเปิดเผยตามแบบสากลเช่นในอดีต  บางกรณีการทำสงครามในยุคปัจจุบันก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมุ่งเป้าหมายทำลายล้าง หรือสร้างความเสียหายต่อฝ่ายตรงข้ามโดยตรง แต่ใช้ผลกระทบและการสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายตนเองให้เหนือกว่าฝ่ายตรงข้าม ก็ถือว่าชนะแล้ว แบบภาษาวงการกีฬาเรียกว่า “ ชนะใจคนดู ”

ในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารปัจจุบัน จึงมีการนำเทคโนโลยีด้านสื่อต่างๆ มาใช้ในการทำสงครามกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งนับเป็นปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญที่จะนำไปสู่ชัยชนะเหนือกว่าฝ่ายตรงข้าม และสื่อโซเชียล ( Social Media ) ก็ถือเป็นหนึ่งในสื่อที่มีความสำคัญ เพราะสามารถเข้าถึงเป้าหมายฝ่ายเดียวกัน ฝ่ายเป็นกลาง และฝ่ายตรงข้าม ได้อย่างคล่องตัว สะดวกง่ายดาย รวดเร็วทันใจ และเผยแพร่ขยายได้ในวงกว้างแบบไร้ขีดจำกัดไร้พรมแดน ทั้งข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ข้อมูลบิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสี โจมตีให้ร้าย เรียกร้องความสงสารเห็นใจ และการสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายตนเอง เป็นต้น
สงครามสื่อโซเชียล ( Social Media Warfare ) จะมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 3 ส่วน คือ สถานการณ์ ( Situations ) , กลุ่มเป้าหมาย ( Target Groups ) และเนื้อหา ( Contents ) โดยมีกลยุทธ์ในการทำสงครามสื่อโซเชียล ดังนี้
ด้านสถานการณ์ ( Situations ) ทั้ง 2 ฝ่าย จะพยายามควบคุมสถานการณ์ให้ฝ่ายตนเองมีความชอบธรรมมากที่สุด โดยอ้างหลักกฎหมาย หลักการ หลักปฏิบัติ หลักความชอบธรรม และข้อมูลต่างๆ เพื่อสร้างความชอบธรรม ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เสียความชอบธรรม ก็มักจะใช้วิธีการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงให้ฝ่ายตนเองเกิดความเสียหาย บาดเจ็บ ล้มตาย การกระทำที่รุนแรงของฝ่ายตนเมื่อถูกจับได้ก็มักจะกล่าวอ้างว่าเป็นมือที่ 3 หรือเป็นการกระทำของฝ่ายตรงข้ามเพื่อทำให้ฝ่ายตนเสียหาย และเอาภาพสถานการณ์ต่างๆ ไปเผยแพร่เพื่อเรียกร้องความสงสาร เห็นใจ และเรียกร้องความเป็นธรรมจากจากสังคมว่าถูกอีกฝ่ายใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกฝ่ายหนึ่งก็พยายามควบคุมสถานการณ์ให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย ตามขั้นตอนการปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก และไม่ไปล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้านกลุ่มเป้าหมาย ( Target Groups ) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ก็มักจะใช้เนื้อหา ( Contents ) ในการทำสงครามสื่อโซเชียลต่อกลุ่มเป้าหมายต่างๆ  ดังนี้
1. กลุ่มเป้าหมายฝ่ายเดียวกัน ฝ่ายที่ถูกกระทำมักจะใช้การปลุกระดม ปลุกปั่น ยั่วยุ โจมตีให้ร้ายฝ่ายตรงข้าม เพื่อสร้างโกรธแค้นให้กับฝ่ายตนเองว่าเป็นฝ่ายถูกกระทำที่เกินกว่าเหตุหรือไร้มนุษยธรรม และใช้การโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับฝ่ายตนเองให้เกิดขวัญกำลังใจที่ดี มีความฮึกเหิม คึกคะนอง และเกิดความเชื่อมั่นในความสำเร็จของฝ่ายตน
2. กลุ่มเป้าหมายฝ่ายเป็นกลาง ฝ่ายที่ถูกกระทำมักจะใช้การบิดเบือนข้อมูลต่างๆ เพื่อโจมตีให้ร้ายฝ่ายตรงข้าม การกระทำที่รุนแรงของฝ่ายตนเมื่อถูกจับได้ก็มักจะกล่าวอ้างว่าเป็นมือที่ 3 หรือเป็นการกระทำของฝ่ายตรงข้ามเพื่อทำให้ฝ่ายตนเสียหาย ผสมกับการเรียกร้องความสงสาร เห็นอกเห็นใจ และเรียกร้องความเป็นธรรมจากจากสังคมว่าถูกอีกฝ่ายใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ ไร้มนุษยธรรม หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อดึงฝ่ายเป็นกลางเข้ามาเป็นพวก ส่วนฝ่ายที่ถูกบิดเบือนข้อมูลก็จะตอบโต้ด้วยการประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อเท็จจริง รวมถึงการตีแผ่ข้อมูลที่ถูกบิดเบือน เพื่อดิสเครดิตข้อมูลข่าวสารของฝ่ายตรงข้าม
3. กลุ่มเป้าหมายฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายที่ถูกกระทำมักจะใช้การท้าทาย ยั่วยุ โจมตีให้ร้าย เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดอารมณ์ที่จะนำไปสู่สถานการณ์ความรุนแรง และตกเป็นจำเลยของสังคมในการใช้ความรุนแรง รวมถึงการบิดเบือนข้อมูลโจมตีให้ร้ายผู้มีอำนาจ และผู้บังคับบัญชา รวมถึงการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ ของผู้ใต้บังคับบัญชาฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้เกิดการเสียขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานและความไม่พอใจต่างๆ ส่วนฝ่ายผู้กระทำมักจะใช้การประชาสัมพันธ์ชี้แจงหลักการ เหตุผล ข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และการเชิญชวน ชักจูง โน้มน้าว ให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดความเข้าใจ เห็นใจ ลดกระแสการต่อต้านที่จะนำไปสู่ความรุนแรง รวมถึงการให้ความร่วมมือต่างๆ เป็นต้น

-----------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น