วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

กองทัพบกกับความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ของชาติ

กองทัพบกกับความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ของชาติ
( Army and National Cyber Security )
โดย พันเอก ฤทธี  อินทราวุธ
รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร

วิวัฒนาการและความเจริญก้าวหน้า ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ของโลกยุคปัจจุบัน นับวันจะเจริญเติบโต ขยายตัว และมีการพัฒนาขีดความสามารถ ประสิทธิภาพ และนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมา เพื่อรองรับความต้องการในการใช้งานของมนุษย์ และองค์กรสมัยใหม่ ที่ต้องการเสริมสร้างศักยภาพของตนเองและองค์กร เพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์และจุดยืนของตนให้ทัดเทียม หรือนำหน้ากว่าผู้อื่นๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และเป็นการแสดงถึงความทันสมัย ไม่ล้าหลังใคร
ดังนั้น ทุกองค์กรจึงต่างหันมาให้ความสนใจในการพัฒนาองค์กร โดยใช้เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาองค์กร รวมถึงการนำเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสารมาใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และการทหาร เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้เกิดศักยภาพ และความทันสมัย
ทุกสรรพสิ่งในโลก ยิ่งมีคุณอนันต์ ก็จะยิ่งมีโทษมหันต์ ฉันใด อันความเจริญ ก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ยิ่งมีการพัฒนาเจริญก้าวหน้า และมีคุณประโยชน์อเนกอนันต์มากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งมีโทษภัย
มหันต์ติดตามมามากขึ้นเพียงนั้น คงไม่มีใครปฏิเสธถึงคุณประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ส่วนพิษภัยที่เกิดจากตัวเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเองโดยตรงนั้นแทบจะมองไม่เห็น แต่ผลที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาใช้งานที่ไม่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม หรือการนำมาใช้เพื่อผลทางมิชอบ รวมถึงการนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการทหาร นับเป็นมหันตภัยอันใหญ่หลวง ที่กำลังคุกคามความมั่นคงในด้านต่างๆ บนไซเบอร์ ในวงการสารสนเทศเป็นที่ทราบกันดีว่า ภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ( Cyber Threats ) ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการทหาร ไม่ว่าจะเป็นการเจาะระบบ ( Hack / Crack ) , การฝั่งโปรแกรมลักลอบโจรกรรมข้อมูล เช่น สปายแวร์ ( Spyware ) หรือ ประตูหลัง ( Back Door ) , การโจมตีด้วยโปรแกรมมัลแวร์ ( Malware ) อาทิเช่น ไวรัสคอมพิวเตอร์     ( Computer Virus ) , หนอนคอมพิวเตอร์ ( Computer Worm )  หรือ ม้าโทรจัน ( Trojan Horse ) , การใช้โปรแกรมตั้งเวลาทำงานเพื่อการทำลาย ( Logic Bomb ) , การโจมตีแบบ DoS/DDos  , การใช้โปรแกรมหุ่นยนต์โจมตีเพื่อเป็นฐานโจมตีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์บนเครือข่ายสารสนเทศ ( BOTNET / Robot Network ) , การสร้างข้อมูลขยะ ( Spam ) เป็นต้น
บางประเทศ ที่เป็นประเทศมหาอำนาจทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมหาอำนาจทางด้านการทหาร ได้กำหนด มิติด้านไซเบอร์ ( Cyber Domain ) เป็นโดเมนที่ ๕ นอกเหนือจาก มิติภาคพื้นดิน ( Land Domain ) , มิติภาคพื้นน้ำ ( Sea Domain ) , มิติภาคอากาศ ( Air Domain ) และมิติด้านอวกาศ ( Space Domain ) เพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ และเสริมแสนยานุภาพในการปฏิบัติการทางทหาร รวมถึงการปฏิบัติการทางทหารที่มิใช่สงคราม       ( Military Operations Other Than War ; MOOT War ) ดังนั้นจึงถือได้ว่า วิวัฒนาการและความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในยุคปัจจุบันและในอนาคต ถูกนำมาสร้างเป็น ภัยคุกคามด้านไซเบอร์ มีผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของประเทศในด้านต่างๆ  รวมถึงผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยด้านการใช้งานบนไซเบอร์
ประเทศไทยโดย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ( Cyber Security Operation Center : CSOC ) เมื่อปี ๒๕๕๓ โดยมุ่งเน้นการดำเนินการติดตาม เฝ้าระวัง ตรวจสอบวิเคราะห์เว็บไซต์ และข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่ไม่เหมาะสม หรือผิดกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะเว็บหมิ่นสถาบัน ต่อมาในปี ๒๕๕๖ รัฐบาลปัจจุบันได้ตระหนักถึง ภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีมาตรการทางกฎหมาย และมีหน่วยงานของรัฐกำกับดูแลภัยคุกคามด้านนี้มาแล้วหลายปี แต่แนวโน้มความรุนแรงและการขยายตัวของภัยคุกคามยังมีความต่อเนื่อง แพร่หลายไปกระทบความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงของประเทศในด้านต่างๆ ดังนั้นรัฐบาลจึงได้แต่งตั้ง คณะกรรมการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ( National Cyber Security Committee : NCSC ) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีฯ เป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคง กระบวนการยุติธรรม และด้านเศรษฐกิจ ร่วมเป็นกรรมการโดยมีเจ้ากรมเทคโนโลยีสารสนเทศและกิจการอวกาศกลาโหม เป็นเลขานุการฯ โดยมีหน้าที่หลักในการจัดทำ นโยบายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการปกป้อง ป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากสถานการณ์ด้านภัยคุกคามในไซเบอร์ ที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ครอบคลุมถึงความมั่นคงทางการทหาร ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ตลอดจนติดตามและประเมินผลการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อันจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สอดคล้องกับแนวทางการจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประชาคมอาเซียน
ในส่วนของวงการทหาร นายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติหลักการให้จัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการไซเบอร์กลาโหม ขึ้นโดย กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เตรียมจัดตั้งหน่วยงานด้านไซเบอร์โดยตรง ( Cyber Command )  เพื่อขึ้นมารองรับการปฏิบัติงานความมั่งคงปลอดภัยของประเทศ จากภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ครอบคลุมถึงความมั่นคงทางการทหาร ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยศูนย์ปฏิบัติการไซเบอร์กลาโหม ( Cyber Operations Center ) จะเป็นแกนหลักในด้านการพัฒนาบุคลากรด้านนี้ให้กับกำลังพลสังกัดกระทรวงกลาโหม โดยจะมีห้องปฏิบัติการสำหรับการฝึกปฏิบัติด้านสงครามไซเบอร์ ( Cyber Warfare ) รวมถึงการสร้างภาคี เครือข่าย ประชาคม ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศด้านไซเบอร์ในการรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์
กองทัพบก ได้มีนโยบายและอนุมัติหลักการให้ ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ( ศทท. ) ดำเนินการปรับปรุงภารกิจและโครงสร้างการจัดหน่วย โดยเพิ่มเติมภารกิจด้านการปฏิบัติการสงครามไซเบอร์ และปรับสายการบังคับบัญชาจากเดิม เป็นหน่วยขึ้นตรงกรมการทหารสื่อสาร มาเป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก     ( นขต.ทบ. ) เพื่อเตรียมรองรับการปฏิบัติงานความมั่งคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะความมั่นคงทางการทหาร และการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ รวมถึงการปฏิบัติการที่ประสานสอดคล้องกับกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพต่างๆ ตลอดจนรองรับการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง     ( Network Centric Operations ; NCO ) โดยแนวความคิดเบื้องต้นในการเตรียมการดำเนินการพัฒนาปรับปรุงภารกิจ โครงสร้างการจัดหน่วย และการพัฒนาศักยภาพของกำลังพล ให้มีคุณวุฒิการศึกษา คุณลักษณะ ขีดความสามารถ ประสบการณ์ และความถนัดเฉพาะด้านที่สอดคล้องกับตำแหน่งหน้าที่การงาน ( put the right man to the right job ) เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการปรับเกลี่ย โยกย้าย และการบรรจุกำลังพลด้านปฏิบัติการเป็นหลักมากกว่างานทางธุรการ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า ๗๐ : ๓๐ สำหรับในด้านการปรับปรุงโครงสร้างการจัดหน่วย  โดยแปรสภาพ กองการสงครามสารสนเทศ เป็น กองปฏิบัติการไซเบอร์ ( Cyber Operations Division ) ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการด้านไซเบอร์เชิงรุก ( Cyber Offensive Operations ) ดำเนินการด้านการตรวจสอบสภาพแวดล้อมของภัยคุกคาม การวางแผนควบคุมการปฏิบัติ และการปฏิบัติการไซเบอร์ โดยจะมีการบรรจุและพัฒนากำลังพลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และได้รับการฝึกฝนด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ ปฏิบัติหน้าที่เป็นนักรบไซเบอร์ ( Cyber Warriors ) อยู่ในชุดปฏิบัติการไซเบอร์ ( Cyber Operation Teams ; COT ) และชุดเตรียมพร้อมเผชิญเหตุฉุกเฉินด้านไซเบอร์ ( Cyber Emergency Response Teams ; CERT ) เป็นหน่วยปฏิบัติการ  และเตรียมจัดตั้ง กองรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์          ( Cyber Security Division ) ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการด้านไซเบอร์เชิงรับ ( Cyber Defensive Operations ) ดำเนินการด้านระเบียบการรักษาความปลอดภัยสารสนเทศ การป้องกัน เฝ้าระวัง ตรวจสอบช่องโหว่ โดยใช้เครื่องมือระบบตรวจหาการบุกรุก       ( Intrution Detection System : IDS ) และระบบป้องกันการบุกรุก ( Intrution Protection System : IPS )  รวมถึงการกู้คืนสภาพเมื่อถูกโจมตี        ( Recovery ) ตลอดจนการพัฒนาโปรแกรมและเครื่องมือต่างๆ เพื่อรองรับงานด้านไซเบอร์ นอกจากนี้ยังได้เตรียมการด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ด้านไซเบอร์ โดยแสวงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกกองทัพ ทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนในด้านวิชาการ การวิจัยพัฒนา ( R&D ) การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ( Workshop ) และการฝึกปฏิบัติต่างๆ โดยเฉพาะการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุด้านไซเบอร์           ( Cyber Incident Action Plan Exercise ) การฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินด้านไซเบอร์ ( Cyber Emergency Response Exercise ) การฝึกซ้อมการปฏิบัติการ       ไซเบอร์ ( Cyber Operations Exercise ) และการฝึกจำลองสงครามไซเบอร์ ( Cyber Warfare Simulation Exercise ) เป็นต้น
จากนโยบายและแนวความคิดในการดำเนินการของหน่วยงานด้านไซเบอร์ของกองทัพบก จะเห็นได้ว่า ความพร้อมในด้านการรับมือภัยคุกคามด้านความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ของชาติ ยังอยู่ในขั้นของการเตรียมการ ซึ่งจะพอมองเห็นถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินการไปสู่ขั้นของการปฏิบัติ และผลสัมฤทธิ์ตามเจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้กองทัพบกจะต้องเร่งดำเนินการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยเฉพาะการเร่งดำเนินการด้านการปรับปรุงหรือการปฏิรูปโครงสร้างองค์กร ( Organization Reform )  การบรรจุกำลังพลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ( Specialist ) และการพัฒนากำลังพล ( Human Resource Development ) ให้มีขีดความสามารถในด้านไซเบอร์ เพื่อรองรับการปฏิบัติงานความมั่งคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ของชาติ ( National Cyber Security ) และการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง ( Network Centric Operations ; NCO ) ของกองทัพบกในอนาคตอันใกล้นี้ ตามที่กองทัพบกได้มีนโยบายประกาศให้ปี ๒๕๕๗ เป็น “ ปีแห่งการเตรียมความพร้อมกองทัพบกสู่อนาคต ” ( The Royal Thai Army’s Preparation Year Towards the Future ) ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาควบคู่กันไปทั้งสองด้าน เพื่อลดความเสี่ยง และเป็นหลักประกันความสำเร็จทั้งด้านการปฏิบัติการ และความมั่นคงปลอดภัยจากภัยคุกคามด้านไซเบอร์
-------------------------------------------

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
http://www.thaigov.go.th/th/governmental/item/77821
http://www.mict.go.th/ewt_news.php?nid=5145&filename=index

http://narong251.wordpress.com/assignment-4

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น