วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560

สื่อสารมวลชน กับ เทคโนโลยีสารสนเทศ ( Mass communication vs. Information Technology )

สื่อสารมวลชน กับ เทคโนโลยีสารสนเทศ
( Mass communication vs. Information Technology )
โดย พลตรี ฤทธี อินทราวุธ
ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก

ตามที่ ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ 11 ด้าน 120 คน จากทั้งหมด 165 คน เพื่อจัดทําแผนการปฏิรูปประเทศและดําเนินการให้เป็นไปตามที่กําหนด
ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 16 บัญญัติให้ดําเนินการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ตามที่กําหนดในมาตรา 258 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งได้มีการตราพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2560 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 8 มาตรา 10 มาตรา 14 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560  ที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ตามที่กําหนด [ 1 ]
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านอื่นๆ  ส่วนใหญ่จะเข้าใจและเห็นภาพความชัดเจน ยกเว้น “ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ” ว่ามันเป็นการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ การปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชนและการปฏิรูปด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กันแน่ ซึ่งความหมายของคำว่า “ สื่อสารมวลชน ( Mass communication ) เป็นคำที่ใช้อธิบายถึง สาขาวิชาที่เกี่ยวกับการถ่ายทอดข้อมูลผ่านสื่อมวลชนให้คนส่วนใหญ่ มักมีความหมายเกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ที่ใช้ในการเผยแพร่ข่าวหรือโฆษณา[ 2 ]
ถ้าเป็นกรณีแรก กล่าวคือ การปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ก็อาจจะไม่ครอบคลุมงานด้านสื่อสารมวลชนในยุคปัจจุบัน ซึ่ง คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน[ 3 ]ได้กำหนดประเด็นสำคัญเร่งด่วนในการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน ๓ ด้าน ตามลำดับความสำคัญดังนี้ คือ ด้านสื่อสารออนไลน์ , ด้านสื่อวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และด้านโทรคมนาคม และด้านสื่อสิ่งพิมพ์
ถ้าเป็นกรณีหลัง คือ การปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชนและการปฏิรูปด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ก็ควรจะแยกคณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้านออกจากกัน คือ คณะกรรมการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน และคณะกรรมการปฏิรูปด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพราะมันคนละสาขาวิชาการ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ[ 4 ] ( Information Technology ) คือ การประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์โทรคมนาคม เพื่อจัดเก็บ ค้นหา ส่งผ่าน และจัดดำเนินการข้อมูล  ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับธุรกิจหนึ่งหรือองค์การอื่น ๆ  โดยปกติก็ใช้แทนความหมายของเครื่องคอมพิวเตอร์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และยังรวมไปถึงเทคโนโลยีการกระจายสารสนเทศอย่างอื่นด้วย เช่นโทรทัศน์และโทรศัพท์ อุตสาหกรรมหลายอย่างเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ตัวอย่างเช่น ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ อินเทอร์เน็ต อุปกรณ์โทรคมนาคม การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และบริการทางคอมพิวเตอร์
วิทยาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ[ 5 ]  ยังมีการแบ่งสาขาวิชาการแยกย่อยออกเป็นด้านต่างๆ จำนวนมากมาย ตัวอย่างคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของมหาวิทยาลัยมหิดล เช่น สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ( Computer Science ), สาขาระบบฐานข้อมูลและระบบเชิงปัญญา ( Database and Intelligent Systems ), สาขาระบบสื่อผสม ( Multimedia Systems ), สาขาระบบธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ( E-Business Systems ), สาขาวิศวกรรมซอฟแวร์ ( Software Engineering ), สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ ( Information Technology ), สาขาระบบเครือข่ายสื่อสาร ( Computer Network ), สาขาการจัดการระบบสารสนเทศ ( Management Information System ) เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งควรจะต้องมีการปฏิรูปเช่นเดียวกับด้านอื่นๆ เพราะการปฏิรูปด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมีความจำเป็นและเป็นพื้นฐานของการพัฒนาคนซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ ( Human Resource ) ที่มีความสำคัญยิ่งของประเทศ รวมถึงการปฏิรูปด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสนับสนุนการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 [ 6 ]  
เมื่อกล่าวถึงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ก็คงจะหนีไม่พ้นที่จะต้องกล่าวถึง ภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ( Cyber Threats ) หรือการก่อการร้ายทางไซเบอร์ ( Cyber Terrorism )  และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ( Cyber Security ) ซึ่งเป็นขอคู่กัน ตามที่นาย Richard A. Clarke ได้บรรยายเรื่อง Cyber Security ในงานสัมมนาวิชาการ วันสื่อสารแห่งชาติ ประจำปี 2560 ที่ผ่านมา[ 7 ]  ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ยังไม่มีแนวทางการปฏิรูปและการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในระดับประเทศ มีแต่เพียงต่างคน ต่างคิด ต่างทำ ทั้งๆ ที่เรามีบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์การทำงานในด้านนี้ แต่ไม่มีโอกาสทำ
ดังนั้น การปฏิรูปประเทศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จึงมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ อย่าปล่อยให้ประเทศเพื่อนบ้านหรือในภูมิภาคอาเซียนปฏิรูปและพัฒนาประเทศแซงหน้าไปไกลแล้ว เราค่อยไล่ตามแบบที่ผ่านมาในอดีต หรือปล่อยให้มีการถูกโจมตีทางไซเบอร์จนเกิดความเสียหาย แล้วค่อยมาคิดหาทางป้องกันแบบสุภาษิตโบราณว่า “ วัวหาย ล้อมคอก ”
-----------------------------------------
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
[ 2 ] https://th.wikipedia.org/wiki/สื่อสารมวลชน
[ 4 ] https://th.wikipedia.org/wiki/เทคโนโลยีสารสนเทศ

[ 7 ] https://www.thairath.co.th/content/1031479

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น