วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2556

โดเมน ที่ ๕ / โลกไซเบอร์ กับ ความมั่นคงของมนุษย์

โดเมน ที่ ๕ / โลกไซเบอร์ กับ ความมั่นคงของมนุษย์
( The 5th Domain / Cyberspace and Human Security )
โดย พันเอก ฤทธี  อินทราวุธ
รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร
ในอดีตยุคโบราณกาลนับย้อนไปหลายพันปี มนุษย์เชื่อกันว่าโลกแบน เพราะสามารถมองเห็นและสัมผัสได้ด้วยสายตาและสัมผัสได้ด้วยการเดินทาง เพียง ๒ มิติ คือ พื้นดิน และพื้นน้ำ  ต่อมาได้มีนักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์ในอดีต ได้ทำการตั้งสมมุติฐาน ทฤษฎี ทำการพิสูจน์ และค้นพบว่าโลกกลม สามารถเดินทางได้รอบโลกและกลับมาบรรจบ ณ จุดเริ่มต้น และได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐานเพื่อเป็นพาหนะสำหรับการเดินทางในระยะต่อมา เพียง ๓ มิติ คือ พื้นดิน พื้นน้ำ และอากาศ ต่อมาวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีอากาศยานเจริญก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ ได้มีการพัฒนาอากาศยานให้มีขีดความสามารถสูงขึ้นจนสามารถเดินทางสู่ห้วงอวกาศและออกนอกโลกได้ ที่เรียกกันว่า ยานอวกาศ  จึงเกิดเป็น ๔ มิติ คือ พื้นดิน พื้นน้ำ อากาศ และอวกาศ
ต่อมาในยุคสารสนเทศ ( Information Age ) การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ และกำลังปรับเปลี่ยนโฉมหน้าและวิวัฒนาการของโลกจากเดิม ๔ มิติ เพิ่มเป็น ๕ มิติ คือ โดเมนที่ ๕  ( The Fifth Domain ) หรือที่เรียกกันว่า มิติไซเบอร์ / ไซเบอร์โดเมน
 ( Cyber Domain ) หรือ โลกไซเบอร์     ( Cyberspace ) เพราะสามารถสัมผัสด้วยตา เคลื่อนที่ด้วยข้อมูล และข่าวสารจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้อย่างรวดเร็วเกือบเป็นเวลาเดียวกัน ( Near Real Time )  ทุกสถานที่ทุกเวลา       ( Any Where Any Time ) ไร้ขอบเขตจำกัด ( Borderless )  และมีความเสมือนจริง ( Virtualization ) ประหนึ่งสามารถล่องหนไปปรากฏในที่ต่างๆ ในโลกไซเบอร์ชั่วพริบตา โดยมีหลายคนได้กล่าวถึง โดเมนที่ ๕  หรือ โลกไซเบอร์ ในมุมมองของการทหาร หรือ สงครามอนาคต และรัฐบาลบางประเทศมองว่า โลกไซเบอร์ คือโดเมนที่ ๕ แห่งการทำสงครามทางด้านการทหาร ถือว่าเป็นโดเมนหนึ่งที่มีความสำคัญในการสู้รบเอาชนะฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง สงครามไซเบอร์ ( Cyber Warfare ) ถึงขนาดให้การสนับสนุนให้มีการผลิตนักรบไซเบอร์ ( Cyber Warriors ) ขึ้นมาประจำการในกองกำลังทหาร เพื่อเสริมสร้างกำลังอำนาจทางทหาร ซึ่งเป็นกำลังอำนาจแห่งชาติ ( National Power ) ที่สำคัญด้านหนึ่ง และเพิ่มศักย์สงครามเพื่อความได้เปรียบทางการทหารให้สูงขึ้น ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามด้านสงครามไซเบอร์
นอกจากนี้ ในด้านการปฏิบัติการข่าวสาร ( Information Operations : IO ) ทางการทหาร ทั้งยามปกติ และยามสงคราม รวมไปถึงความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคม มักนิยมใช้โดเมนที่ ๕ หรือ โลกไซเบอร์ เพื่อเป็นช่องทางในการดำเนินการ เนื่องจากมีการกระจายข้อมูลข่าวสารทั้งข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เพื่อการประชาสัมพันธ์ การโฆษณาชวนเชื่อ การยุยงปลุกปั่น ฯลฯ ไปในวงกว้าง สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยความรวดเร็วชั่วพริบตา และมีการแชร์ข้อมูลต่อๆ กันไป รวมถึงการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ทั้งทางบวกและทางลบ และมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ และมีผลต่อการตัดสินใจของคนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นโดเมนที่ ๕ หรือ โลกไซเบอร์ จึงนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลต่อด้านจิตใจ
ความเป็นจริงในโลกปัจจุบัน โดเมนที่ ๕ หรือ โลกไซเบอร์ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคนธรรมดาสามัญในยุคสมัยใหม่นี้แล้วตลอด ๒๔ ชั่วโมง ตั่งแต่เกิด ข้อมูลสูติบัตรของเด็กแรกเกิดจะถูกบันทึกในระบบดิจิตอล แน่นอนเรื่องนี้เป็นน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะในอดีตที่ผ่านมาก่อนยุคดิจิตอล เรามักจะตั้งข้อสังเกตกับเพื่อนร่วมรุ่นว่า “ ทำไมถึงอายุน้อยจัง หรือว่าเริ่มเข้าเรียนตั้งแต่ยังแบเบาะ ? ” ปัจจุบันข้อมูลตัวเราเริ่มเข้าไปอยู่ในโลกไซเบอร์แล้วตั้งแต่แรกเกิด พอไปแจ้งทะเบียนราษฎร์ก็จะเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ต่อมาพออายุ ๗ ปี ก็จะต้องทำบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเด็ก ข้อมูลถูกบันทึกเก็บเพิ่มเติมไว้ในโลกไซเบอร์ และบัตรอิเล็กทรอนิกส์ โดยสามารถนำบัตรประชาชนใบนี้ใบเดียวไปทำหนังสือเดินทางระหว่างประเทศ ( Passport ) ซึ่งก็เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์อีก พอเอาเงินไปฝากธนาคาร ก็ได้บัตร ATM หรือ บัตร VISA นอกจากนี้อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือแบบ Smart Phones รุ่นใหม่ๆ จะมี Application และการบริการสามารถใช้โทรศัพท์มือถือแทนการชำระด้วยเงินสดได้อีกด้วย ถึงตอนนี้เวลาจะซื้อจะทำอะไรก็เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ในโลกไซเบอร์ไปหมด ไม่ต้องถือแบงค์ธนบัตรให้เสี่ยงต่อการสูญหาย หรือถูกฉกชิง วิ่งราว จี้ ปล้น ฯลฯ
นอกจากนี้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่มีความจำเป็นต่อความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ และการทำงานต่างๆ ทั้งในวิชาชีพ และงานส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นบัตรต่างๆ เพื่อใช้ในการรับการบริการอื่นๆ เช่น บัตรนักเรียน บัตรข้าราชการ บัตรสถานพยาบาล เป็นต้นล้วนอยู่ในรูปบัตรอิเล็กทรอนิกส์  อุปกรณ์เครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร ทั้งโทรศัพท์มือถือแบบอัจฉริยะ ( Smart Phones ) และแอฟฟริเคชั่นต่างๆ ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ( Social Network ) เช่น Line , Facebook , Twitter , Linkedin , Google+ , etc. ซึ่งเก็บข้อมูลส่วนตัว การสนทนาติดต่อสื่อสาร  และการงานต่างๆ ของเราไว้ในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หากมีการรั่วไหลของข้อมูล หรือ ข้อมูลถูกเจาะ ถูกแก้ไขดัดแปลง ถูกทำลาย จะทำให้เกิดความเสียหายทั้งในหน้าที่การงาน และความเป็นส่วนตัว เรื่องบางเรื่องที่เป็นเรื่องส่วนตัวและถูกเก็บข้อมูลไว้ในระบบเครือข่าย หากมีใครนำไปโพสต์เผยแพร่ต่อสาธารณะทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งสามารถจะกระจายไปเป็นวงกว้างในโลกไซเบอร์ด้วยเวลาอันรวดเร็วชั่วพริบตา ทั้งข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลได้ ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ลงโทษผู้กระทำผิดก็ตาม แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นยากที่จะแก้ไขเพราะถูกเผยแพร่กระจายไปทั่ว ทำให้เกิดการสูญเสียภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ ความศรัทธาเสื่อมเสียชื่อเสียง เกียรติยศ ศักดิ์ศรี และความเป็นส่วนตัว ซึ่งกรณีดังกล่าว ถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของมนุษย์ ที่สำคัญประการหนึ่ง
ความมั่นคงของมนุษย์ ( Human Security )  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ให้ความหมายไว้ว่า การที่ประชาชนได้รับหลักประกันด้านสิทธิ  ความปลอดภัย  การสนองตอบต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐาน สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ตลอดจนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ดังนั้นจะสังเกตได้ว่า ความสำคัญของมนุษย์ จะประกอบด้วย สิทธิ ความปลอดภัย และการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี หากสิ่งเหล่านี้ถูกละเมิด ถูกคุกคาม หรือถูกทำลายลง ก็จะทำให้ความเป็นมนุษย์ หมดคุณค่าลงไป คนทั่วโลกทุกเพศ ทุกวัย ต่างใช้ประโยชน์จาก โดเมนที่ ๕ หรือ โลกไซเบอร์ แต่บางคนยังกลัวที่จะใช้ประโยชน์จากมัน หรือบางคนไม่ยอมใช้สิทธิ ทั้งนี้เนื่องมาจากขาดความมั่นใจในความปลอดภัยด้านไซเบอร์ บางคนที่นำมาใช้ประโยชน์ก็อาจจะเกิดปัญหาการสูญเสียความเป็นส่วนตัว หรือเกิดความเสียหายด้านข้อมูล บางคนถูกพิษภัยจากโลกไซเบอร์โดยเฉพาะเครือข่ายสังคมออนไลน์เล่นงานโจมตีจนสูญเสียชื่อเสียง เกียรติยศ และศักดิ์ศรี จะเห็นได้ว่า โดเมนที่ ๕ หรือ โลกไซเบอร์ นอกจากจะเป็นปัจจัยส่งผลกระทบทางด้านการทหารแล้ว ยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
การใช้ประโยชน์จาก โดเมนที่ ๕ หรือ โลกไซเบอร์ เพื่อการพัฒนาศักยภาพของตนถือเป็นโอกาสและความเท่าเทียมของมนุษย์ เพราะทุกคนทั่วโลกมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะใช้ประโยชน์จากมัน ผู้ที่ใช้ประโยชน์จาก โดเมนที่ ๕ หรือ โลกไซเบอร์ มากย่อมได้รับโอกาสมากกว่าผู้ที่ใช้น้อยหรือไม่ใช้เลย แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบกับปัญหาจากภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ดังนั้นจึงควรจะต้องมีความตระหนักในการใช้งาน ไม่มักง่าย สะเพร่า ประมาท เลินเล่อ และมีการปฏิบัติด้านการรักษาความปลอดภัยในการใช้งานโดยเฉพาะเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเคร่งครัด ดังนี้
๑. ไม่ควรระบุข้อมูลส่วนตัวในการลงทะเบียนสมาชิก ( Registration )  เกินความจำเป็น และเผยแพร่สู่สาธารณะ เช่น ชื่อ-สกุลจริง วันเกิด สถานที่เกิด สถานที่บ้าน สถานที่ทำงาน หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล์ ฯลฯ เพราะอาจจะถูกใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงของผู้ประสงค์ร้ายได้ รวมถึงการคาดเดารหัสผ่าน (Password)
๒. ไม่ควรใส่ข้อมูลแผนการต่างๆ อย่างละเอียด เผยแพร่บนสื่อสาธารณะ โดยเฉพาะการเดินทางออกนอกบ้าน ไปไหน เมื่อไหร่ กลับเวลาใด เป็นต้น เพราะอาจจะถูกนำมาใช้ในทางอาชญากรรม และโจรกรรมต่างๆ ที่บ้าน
๓. ไม่ควรใส่ข้อมูลแผนที่เกี่ยวกับบ้านพักที่อยู่อาศัย เผยแพร่บนสื่อสาธารณะ เพราะจะเป็นข้อมูลให้กับเหล่ามิจฉาชีพ
๔. ไม่ควรนำข้อมูลเรื่องที่ทำงาน หรือภายในองค์กรที่สำคัญ ที่เป็นเรื่องภายใน เรื่องลับเฉพาะ หรือเรื่องปัญหาต่างๆ เผยแพร่บนสื่อสาธารณะ เพราะอาจจะถูกนำไปใช้ในทางมิชอบ หรือส่งผลกระทบต่อองค์กร
๕. ไม่ควรระบุชื่อบุคคลในรูปภาพ ( ติด Tag ) เผยแพร่บนสื่อสาธารณะโดยไม่จำเป็น เพราะอาจจะถูกนำไปใช้ในทางมิชอบ
๖. ไม่ควรปล่อยให้เด็กใช้งานโดยอิสระ ขาดการตรวจสอบ ควบคุม กำกับดูแลของผู้ใหญ่ เพราะเด็กอาจจะนำข้อมูลที่ไม่เหมาะสมไปเผยแพร่ด้วยความคึกคะนอง ไม่ตั้งใจ ไม่ทันคิด หรืออาจจะถูกล่อลวงไปในทางมิชอบ
๗. พึงหลีกเลี่ยงข้อมูลพฤติกรรมต่างๆ ที่ส่งผลกระทบทางสังคม เช่น ภาพการดื่มสุรา สูบบุหรี่ การกระทำที่ก้าวร้าวรุนแรง การทารุณกรรม ฯลฯ เพราะอาจจะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในทางมิชอบ หรือนำไปสู่การเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ดี
๘. พึงใช้การบริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยเลือกใช้งานเฉพาะกลุ่มและสมาชิกที่มีความรู้จักมักคุ้น มีความเชื่อถือไว้ใจได้ มีความปลอดภัย และมีพฤติกรรมที่เหมาะสม เพราะจะเป็นการป้องกันข้อมูลข่าวสารของกลุ่มและสมาชิกในกลุ่ม ไม่ให้ถูกเผยแพร่ไปที่อื่น
๙. พึงหลีกเลี่ยงการนำกิจกรรมประจำวัน หรือพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น สถานที่เที่ยว สถานที่ออกกำลังกาย สถานที่ช็อปปิ้ง ฯลฯ มาเผยแพร่บนสื่อสาธารณะ เพราะอาจจะถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนในทางที่มิชอบ
๑๐. ควรตั้งค่าความเป็นส่วนตัว และจำกัดการเข้าถึงข้อมูลเท่าที่จำเป็น จะช่วยป้องกันการสูญเสียความเป็นส่วนตัว และการนำข้อมูลส่วนตัวไปเผยแพร่ในทางมิชอบ
สำหรับข้อพึงระมัดระวังในการใช้งานคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะเครือข่ายคอมพิวเตอร์จาก โดเมนที่ ๕ หรือ โลกไซเบอร์ ให้มีความปลอดภัยในการใช้งาน มีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้
๑. การกำหนดรหัสผู้ใช้งาน ( Username )  และรหัสผ่าน ( Password ) ควรปฏิบัติตามกฎการรักษาความปลอดภัยด้านสารสนเทศ คือ ควรกำหนดรหัสผ่านให้มีทั้งอักษรตัวเล็กผสมตัวใหญ่ ตัวเลข สัญลักษณ์พิเศษตามจำนวนที่ระบบกำหนด และไม่ควรสื่อข้อความถึงความหมายใดๆ เช่น P1@s8S&w0r$d เป็นต้น
๒. ควรเปลี่ยนแปลงรหัสผ่านด้วยตนเองในภายหลังที่ระบบกำหนดมาให้ หรือพยายามเปลี่ยนตามห้วงระยะเวลา และควรหลีกเลี่ยงการกำหนดรหัสที่เป็นชื่อ วันเกิด หรือรหัสอื่นๆ ที่นักเจาะระบบ           ( Hacker / Cracker ) สามารถเดาสุ่มได้ 
๓. ไม่ควรเปิดเผยรหัสผ่านให้ผู้อื่นทราบ โดยเฉพาะการให้ผู้อื่นนำรหัสผ่านของตนมาเข้าใช้งานแทนตน เพราะอาจมีการนำไปใช้งานในทางที่มิชอบ
๔. ไม่ควรจดบันทึกรหัสผ่านลงในบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัตรเครดิต , กระดาษโน๊ตใส่กระเป๋าสตางค์ , กระดาษโน้ตที่โต๊ะทำงาน , Memo ในโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ เพราะมีโอกาสสูญหายและรั่วไหลไปยังบุคคลอื่น
๕. ระบบงานที่มีความสำคัญยิ่ง ควรใช้อุปกรณ์ทางชีวภาพ ( Biometric Device ) เช่น การสแกนลายนิ้วมือ ( Finger Scan ) การสแกนฝ่ามือ ( Palm Scan ) หรือ การสแกนม่านตา ( Eye Scan ) เป็นต้น ใช้เป็นอุปกรณ์ที่ตรวจสอบลักษณะส่วนบุคคลทางชีวภาพ เพื่อเป็นการยืนยันตัวบุคคล ( Authentic ) ประกอบกับการใช้รหัสผ่านเพื่ออนุญาตเข้าใช้โปรแกรม ระบบงาน หรือ การเข้าใช้ห้องระบบคอมพิวเตอร์ 
๖. การใช้งานระบบเรียกกลับ ( Callback System ) เป็นระบบที่ผู้ใช้ระบุชื่อและรหัสผ่านเพื่อขอเข้าใช้ระบบปลายทาง หากข้อมูลถูกต้อง คอมพิวเตอร์ก็จะเรียกกลับให้เข้าใช้งานเอง อย่างไรก็ตามการใช้งานลักษณะนี้จะมีประสิทธิภาพในด้านการรักษาความปลอดภัยมากขึ้น ถ้าผู้ขอใช้ระบบใช้เครื่องคอมพิวเตอร์จากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่กำหนดหมายเลข Mac Address , IP Address ตำแหน่งสถานที่เดิม เช่นที่บ้าน หรือที่ทำงาน ซึ่งถูกล็อกด้วยหมายเลขโทรศัพท์เดิม ในขณะที่การใช้คอมพิวเตอร์แบบพกพา เช่น Tables และ Smart Phones ซึ่งต้องใช้งานผ่านระบบ 3G / 4G หรือ WiFi  อาจจะเกิดความเสี่ยงมากกว่า จึงควรจะต้องมีระบบยืนยันตัวบุคคล ( Authentic ) อื่นๆ เพิ่มเติม เพราะไม่สามารถระบุเจ้าของอุปกรณ์ที่แท้จริงได้ชัดเจน
๗. การใช้งานเครือข่ายอินเตอร์เน็ตสาธารณะแบบไร้สาย ( Public WiFi ) หรือเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สายแบบฟรี ( Free WiFi ) ซึ่งมีจุดบริการเชื่อมต่อ ( Service Set Identifier ; SSID ) อย่างแพร่หลายในสถานที่สาธารณะ เขตชุมชน และย่านการค้าต่างๆ หากเข้าใช้งานอย่างไม่ระมัดระวังอาจจะมีโอกาสตกเป็นเหยื่อได้ นักเจาะระบบ สามารถติดตั้ง Access Point และใช้ชื่อ SSID ปลอมเป็นชื่อเดียวกันและมีความแรงของสัญญาณสูงกว่าของจริง เพื่อหลอกให้ผู้ใช้งานหลงผิดเข้ามาใช้ระบบโดยไม่รู้ตัว ที่เรียกกันว่า Evil Twin AP ซึ่งรหัสผ่าน หรือข้อมูลต่างๆ จากอุปกรณ์พกพาอาจถูกดูดหรือคัดลอกไปใช้ในทางที่มิชอบได้ ดังนั้นการใช้งานดังกล่าวจะต้องมีความระมัดระวัง รอบคอบ และมั่นใจในการใช้งานว่าได้ใช้งานในระบบ SSID ของจริง
๘. การให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตแบบไร้สาย ( WiFi ) ขององค์กร ควรจะต้องมีระบบยืนยันตัวบุคคล ( Authentic ) และระบบจัดเก็บข้อมูลการเข้าใช้งาน ( Log File ) เพื่อการตรวจสอบการใช้งาน ควรกำหนดให้ใช้งานผ่านระบบการรักษาความปลอดภัย เพื่อควบคุมการใช้งานและป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกองค์กร หรือผู้ที่ไม่มีสิทธิเข้ามาใช้งาน ไม่ควรติดตั้งระบบ Free WiFi เพราะจะเป็นช่องทางให้นักเจาะระบบ หรือผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาใช้งานในทางมิชอบ และสามารถเจาะระบบเข้าถึงข้อมูลในองค์กรได้ ก่อให้เกิดความเสียหายตามมา สำหรับผู้ใช้งานควรปฏิบัติตามกฎการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด และไม่ควรนำรหัสผ่านหรือสิทธิการใช้งานไปให้บุคคลอื่นเข้าใช้งานแทนตน เพราะเมื่อเกิดความผิดพลาด ความเสียหายหรือเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เจ้าของสิทธิในการใช้งานจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์
สรุปว่า โดเมนที่ ๕ หรือ โลกไซเบอร์ ถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบทางด้านการทหารทั้งด้านทางบวกและทางลบ  และยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในด้านบวกและด้านลบเช่นกัน ดังนั้น การใช้ประโยชน์จาก โดเมนที่ ๕ หรือ โลกไซเบอร์ จะต้องคำนึงถึง มาตรการด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์เป็นสำคัญ เพราะด้านคุณประโยชน์ของ โดเมนที่ ๕ หรือ โลกไซเบอร์ มีมากมายเหลือคณานับ แต่การใช้งานจะต้องมีความตระหนักถึงภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้งานอย่างระมัดระวัง มีความรอบคอบ ไม่มักง่าย สะเพร่า ประมาท เลินเล่อ เพียงเท่านี้ท่านก็สามารถใช้ประโยชน์จาก โดเมนที่ ๕ หรือ โลกไซเบอร์ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ด้านไซเบอร์ ให้ได้รับหลักประกันด้านสิทธิในการใช้งานเช่นเดียวกับคนทั้งโลก  ความปลอดภัยในการใช้งานเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายหรือสูญเสียความเป็นส่วนตัว  การสนองตอบต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐานในการใช้งานต่างๆ  สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความทันสมัย ก้าวทันโลก ทันเทคโนโลยี และทันคน ตลอดจนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในการที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาพัฒนาศักยภาพของตนเองให้มีศักยภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น
----------------------------------------------------
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
http://www.acisonline.net/article/?p=33
http://www.ryt9.com/s/cabt/27187
http://statidea.blogspot.com/2010/12/10-social-network-services-facebook.html
http://pirun.kps.ku.ac.th/~b5127029/link7.html

http://steptip.blogspot.com/2013/08/free-wifi.html