วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2557

การปรับตัวไปสู่การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง

การปรับตัวไปสู่การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง
( Adaptation to Network Centric Operations )
โดย พันเอก ฤทธี  อินทราวุธ
รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร

โลกยุคปัจจุบัน ความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรทุกระดับรวมถึงปัจเจกบุคคล ที่ทำให้เกิดวิวัฒนาการ และความเปลี่ยนแปลงด้านความเจริญก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด องค์กรหรือบุคคลใดที่มีความได้เปรียบหรือมีศักยภาพในการใช้งานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาก  ย่อมมีโอกาสสูงในการพัฒนาด้านประสิทธิภาพ คุณภาพ และความเจริญก้าวหน้าเพื่อการแข่งขัน หรือการยกระดับ
ฐานะของตน เทียบเคียงกับการใช้รถซุปเปอร์คาร์          ( Super Car ) รถอีโค่คาร์ ( Eco Car ) และรถอีแต๋น ( Farm Truck ) ทั้งนี้การได้มาซึ่งความได้เปรียบ-เสียเปรียบดังกล่าว ย่อมเกิดจากการลงทุนที่มีความแตกต่างกันบนพื้นฐานของสถานะและความต้องการ โดยจะต้องพิจารณาถึง สภาพแวดล้อม เป้าประสงค์ และขอบเขตที่กำหนดไว้ เช่น สภาพเส้นทางเป็นทุ่งนา ต้องการบรรทุกข้าว จำนวน ๒๐ – ๓๐ กระสอบ รถอีแต๋นก็คงจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด กรณีที่ไปธุระเร่งด่วนที่พัทยา บนเส้นทางมอเตอร์เวย์  เพื่อให้ทันเวลา รถซุปเปอร์คาร์ คงจะตอบสนองความต้องการได้ดีกว่ารถประเภทอื่น และในกรณีใช้รถไปทำงานอยู่ในย่านจราจรคับคั่ง ต้องการประหยัดเชื้อเพลิง รถอีโค่คาร์ จึงเป็นรถที่มีความเหมาะสมกว่าในด้านการประหยัดตามสภาพการจราจร
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการเลือกใช้เทคโนโลยีต่างๆ ทั้งแบบพื้นบ้าน แบบประหยัด และแบบทันสมัยไฮเทค ในบางโอกาสอาจจะต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ประกอบในการพิจารณา เช่นเดียวกับ การเลือกใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างชาญฉลาดขององค์กรและส่วนบุคคล เพื่อให้เกิดความได้เปรียบในเชิงคุณภาพ ก็จะต้องตระหนักถึงความคุ้มค่าในด้านผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานเปรียบเทียบกับการลงทุน ( Cost Benefit ) หลายท่านคงเคยพบเห็นเด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล และชั้นประถมศึกษา รวมถึงนักเรียน นักศึกษา ที่ยังต้องแบบมือขอเงินผู้ปกครองใช้ มีโทรศัพท์มือถือ Smart Phones , Tables , iPad , etc. รุ่นใหม่ๆ ซึ่งมีราคาแพงใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการใช้งานอย่างคุ้มค่าเท่าที่ควร เช่นเดียวกับหลายๆ องค์กร หน่วยงาน โดยเฉพาะภาครัฐที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้วยงบประมาณเป็นจำนวนสูง รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณในการว่าจ้างการปรนนิบัติบำรุงรักษาระบบ ( Maintenance ; MA ) เป็นรายปี โดยได้รับประโยชน์จากการใช้งานยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุนเท่าที่ควร ทั้งนี้เนื่องมาจากปัญหาด้านการบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ และผู้ใช้งานยังขาดความรู้ความเข้าใจในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อสร้างความได้เปรียบ สร้างประโยชน์ สร้างโอกาสในการพัฒนาด้านประสิทธิภาพ คุณภาพ และความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างคุ้มค่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่ ผู้บริหารองค์กร จะต้องให้ความสำคัญกับ กำลังคน ( Man Power ) เป็นอันดับแรก โดยเฉพาะ การใช้คนให้ตรงกับงาน ( Put the right man to the right job ) ก่อนที่จะกำหนดแนวนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มิฉะนั้นก็จะเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า และตกเป็นเครื่องมือเชิงธุรกิจให้กับคนบางกลุ่ม
ในยุคของการแข่งขัน การนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาสร้างความได้เปรียบ สร้างประโยชน์ สร้างโอกาสในการพัฒนาด้านคุณภาพ และประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานขององค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างคุ้มค่าถือเป็นความจำเป็น เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในสถานการณ์ถูกทิ้งท้าย หรือการก้าวไม่ทันผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน แนวโน้มความเจริญก้าวหน้าด้านการพัฒนาระบบการสื่อสารไปสู่ระบบ 3G-4G เพื่อพัฒนาไปสู่การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง ( Network Centric Operations ) กำลังมาแรง ซึ่งปรากฏการณ์ด้านวิวัฒนาการของการใช้งานระบบสารสนเทศ โดยในอดีตนิยมใช้ระบบ Mainframe เป็นศูนย์ข้อมูลกลาง ( Data Center ) และมีเครื่องคอมพิวเตอร์ Dump Terminals ทำให้หน้าที่เป็นเครื่องลูกข่ายเพื่อใช้งานโปรแกรมประยุกต์จากเครื่องแม่ข่ายโดยตรง ต่อมาพัฒนาเป็นระบบเครือข่ายภายใน ( Local Area Network ; LAN ) และระบบเครือข่ายภายนอก ( Wide Area Network ; WAN ) โดยพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ ( Application Software ) ทำงานในลักษณะการบริการแบบลูกข่าย ( Clients Server ) และปัจจุบันได้พัฒนาโปรแกรมประยุกต์ไปสู่การใช้งานบนระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ( Internet ) ในลักษณะการทำงานแบบการบริการผ่านเว็บ ( Web Services ) กล่าวคือ การใช้งานโปรแกรมประยุกต์บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ( Web Applications ) โดยตรง หรือการใช้งานโปรแกรม Web Browser ซึ่งเป็น ซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเข้าถึงข้อมูลและติดต่อสื่อสารกับระบบสารสนเทศที่อยู่ในรูปแบบของ Webpage หรือ Web Base ซึ่งอยู่บนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า World Wide Web ( www )
การใช้งานบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตดังกล่าว ได้รับความนิยมสูงสุดมาจนถึงทุกวันนี้ โดยมีเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยต่างๆ มาผสมผสานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผลแบบก้อนเมฆ ( Cloud Computing ) ซึ่งเป็นการประยุกต์เทคโนโลยีการบูรณาการด้านการบริหารจัดการประสิทธิภาพการทำงานของระบบเครื่องแม่ข่าย  ( Server Farm ) ที่มีเครื่องแม่ข่าย ( Server ) อยู่เป็นจำนวนหลากหลาย นำมาทำการประมวลผลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยการบริหารจัดการด้านขีดความสามารถ ประสิทธิภาพ และการทำงานมาก-น้อยของเครื่องแม่ข่ายแต่ละเครื่อง ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำงาน
องค์กรสมัยใหม่ที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายในด้านการลงทุนติดตั้งระบบสารสนเทศขององค์กร ซึ่งมักจะเกิดปัญหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ชำรุด ล้าสมัย และขาดประสิทธิภาพ ไม่สามารถรองรับการทำงานของซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ๆ และความต้องการด้านการพัฒนาระบบงานที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ รวมถึงปัญหาการดูแลรักษาระบบด้วยตนเอง จึงมักนิยมใช้การบริการระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผลแบบก้อนเมฆ ส่วนใหญ่มักจะเป็นองค์กรด้านธุรกิจ ซึ่งมักจะเอาเวลาส่วนใหญ่ไปให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การแข่งขันเชิงธุรกิจและผลกำไรเป็นหลักมากกว่าจะมาดูแลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
ปัจจุบันหน่วยงานหรือองค์กรขนาดใหญ่ที่สมัยใหม่บางองค์กร ซึ่งได้ก้าวผ่านกระบวนการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาตามลำดับ เริ่มมองเห็นความสำคัญและความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเฉพาะแนวโน้มความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีเครือข่ายใน ยุคการสื่อสารระบบ 3G-4G เพื่อพัฒนาไปสู่ กลยุทธ์หรือการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ และหน่วยงานทางทหาร ซึ่งต้องใช้ข้อมูลสารสนเทศที่มีความถูกต้อง ทันสมัย รวดเร็ว ปลอดภัย มาแสดงสถานการณ์จริงในปัจจุบันให้กับผู้บริหารระดับต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่คนละพื้นที่ได้เห็นภาพเดียวกันในมิติต่างๆ ตามความต้องการ เพื่อประกอบการวิเคราะห์ พินิจพิจารณา และการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และทันเวลา ซึ่งแนวคิดด้านกลยุทธ์ หรือ การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง จะเริ่มจากการเปลี่ยนกระบวนทัศนจาก การสั่งการแบบรวมศูนย ( Unified Command ) ไปสู่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง ( Network Centric ) และการเปลี่ยนกระบวนทัศน์จาก การมีอิสระในตัวเอง ( Freedom )ไปสู่การเป็นสวนหนึ่งที่ตองปรับตัวอยางตอเนื่องในระบบที่เปนพลวัติ ( Dynamic Adaptation ) ซึ่งระบบการบริหารและการสั่งการในอดีต ผู้บริหารองค์กรส่วนใหญ่นิยมรวมศูนย์อำนาจในการสั่งการไว้แต่เพียงผู้เดียวในการตัดสินใจ โดยอาจจะมีกระบวนการแสวงหาข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อตกลงใจ จากหน่วยงานระดับรอง ฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายเลขานุการ ช่วยในการรวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อให้ผู้บริหารตกลงใจสั่งการ เช่นเดียวกับการรวบรวมและนำเสนอข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ ก็จะต้องผ่านบรรณาธิการข่าวในการตัดสินใจว่าจะปล่อยข่าวอะไรไปเผยแพร่สู่สาธารณะ ซึ่งกระบวนการดังกล่าว จะต้องใช้เวลาในกระบวนการขั้นตอนการดำเนินการ ทำให้เกิดความล่าช้าไม่ทันกาล และไม่สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้ ถึงแม้ว่ากระบวนการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดความรอบคอบในการตัดสินใจ และมีความเป็นเอกภาพในการตัดสินใจก็ตาม
ดังนั้น หลายองค์กรสมัยใหม่ที่ต้องการความรวดเร็วในด้านข้อมูลข่าวสารและกระบวนการตัดสินใจที่ฉับไว เพื่อชิงความได้เปรียบในด้านการแข่งขันทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงการตลาด จึงหันมาให้ความสำคัญกับ การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง โดยระบบงานและข้อมูลข่าวสารต่างๆ ขององค์กรที่มีความถูกต้องและทันสมัยจะถูกรวบรวมจัดเก็บไว้ในคลังข้อมูลที่เชื่อมโยงกับระบบเครือข่ายต่างๆ ทั้งระบบทางสายและระบบไร้สาย ผู้ที่มีสิทธิ์เข้าถึงระบบงานและข้อมูลข่าวสารจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลาที่ต้องการ ซึ่งตัวอย่างของระบบงานและข้อมูลข่าวสาร ตามแนวคิดของ การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง ได้แก่ ระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขององค์กรต่างๆ , ระบบสื่อสารมวลชนขององค์กรสื่อประเภทต่างๆ และโดยเฉพาะระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่าง ซึ่งนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องมือหลักในด้านความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคม เพื่อเป็นช่องทางในการดำเนินการปลุกเร้าอย่างได้ผล เนื่องจากมีการกระจายข้อมูลข่าวสารทั้งข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เพื่อการประชาสัมพันธ์ การโฆษณาชวนเชื่อ การยุยงปลุกปั่น ฯลฯ ไปในวงกว้าง สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยความรวดเร็วชั่วพริบตา และมีการแชร์ข้อมูลต่อๆ กันไป รวมถึงการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ทั้งทางบวกและทางลบ และมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ และมีผลต่อการตัดสินใจของคนเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อด้านจิตใจประการหนึ่งในยุคปัจจุบันนี้
กระบวนการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศนจาก การสั่งการแบบรวมศูนย ไปสู่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง และจากการมีอิสระในตัวเอง ไปสู่การเป็นสวนหนึ่งที่ตองปรับตัวอยางตอเนื่องในระบบที่เปนพลวัติ โดยผู้ที่มีสิทธิ์เข้าถึงระบบงานและข้อมูลจะสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างเสรี สามารถจะทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีใครมาคอยลงนามอนุมัติเช่นในอดีต หรือข้อมูลข่าวสารจากเจ้าหน้าที่นักข่าวภาคสนาม และภาคอาสาสมัครฝ่ายพลเรือน ก็สามารถส่งรายงานข้อมูลข่าวสาร เหตุการณ์สดๆ ณ ปัจจุบัน ผ่านช่องทางทั้งระบบโทรศัพท์มือถือ และเครือข่ายสังคมออนไลน์ ออกเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนการพิจารณาของบรรณาธิการข่าว ซึ่งจะทำให้เกิดความล่าช้าไม่ทันสื่ออื่นๆ นอกจากนี้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เผยแพร่ออกไปแล้ว ประชาชนก็สามารถสืบค้นย้อนหลัง และเข้าไปดูภายหลังได้ตลอดเวลา
ในด้านวงการทหาร ข้อมูลข่าวสารและระบบงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการทางทหารส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลประเภทชั้นความลับ และมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ หากข้อมูลเกิดการรั่วไหล หรือถูกโจรกรรม รวมถึงระบบการบังคับบัญชาของทหารจะมีสายการบังคับบัญชาตามลำดับ จาก กองทัพบก สู่ หน่วยขึ้นตรง / ระดับกองทัพภาค สู่ระดับกองพล สู่ระดับกรม กองพัน กองร้อย ตามลำดับ โดยมีผู้บังคับหน่วย เป็นผู้บังคับบัญชาและมีหน้าที่ความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติการของหน่วยตามลำดับ การปรับตัวและกระบวนการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง จึงควรจะมีความเป็นระเบียบแบบแผน มีขั้นตอน มีความแตกต่าง และมีความซับซ้อนมากกว่าองค์กรภาคธุรกิจหรือเอกชน และที่สำคัญจะต้องมีมาตรการด้านการรักษาความปลอดภัย
ดังนั้น ผู้บังคับบัญชา ฝ่ายอำนวยการ และหน่วยปฏิบัติการในระดับล่าง จึงควรจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักถึงการใช้งานเครือข่ายอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่ด้านการรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะการรายงานสถานการณ์และการสั่งการทางทหารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ Line , Facebook , Twitter , Google+ , etc. เป็นต้น ปัจจุบันผู้บังคับบัญชา และฝ่ายอำนวยการประจำสำนักงานผู้บังคับบัญชาหลายท่าน ที่มีความต้องการความรวดเร็วของข้อมูลข่าวสาร และการตอบสนองของหน่วยปฏิบัติการในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์อย่างทันทีทันใด นิยมใช้เครือข่ายในลักษณะดังกล่าว เพื่อการติดต่อสื่อสารและการรับ-ส่งข้อมูลที่มีความเร่งด่วน ในการตอบสนองความต้องการของตนและผู้บังคับบัญชาโดยขาดมาตรการการรักษาความปลอดภัย จึงเป็นการปรับตัวในการใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลางที่มีความเสี่ยงด้านสารสนเทศสูง เนื่องจากการใช้งานบนเครือข่ายสังคมออนไลน์มีความปลอดภัยต่ำมาก ข้อมูลข่าวสารจะถูกเก็บไว้ในเครื่องแม่ข่าย ( Server ) ของผู้ให้การบริการภาคเอกชน และผู้ใช้งานที่ขาดความระมัดระวังสามารถแชร์ข้อมูลข่าวสารไปยังบุคคลอื่นนอกกลุ่ม ( Group ) ได้โดยง่าย สะดวก และรวดเร็ว โดยไม่มีระบบควบคุมและป้องกันการกระจายข้อมูล เป็นต้น
แนวทางในการปรับตัวเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง จะต้องแยกการปฏิบัติการออกเป็น ๒ แนวทาง คือ การปฏิบัติการด้านการทหาร และการปฏิบัติการด้านกิจการพลเรือน
การปฏิบัติการด้านการทหาร หน่วยทหารและกำลังพลที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีความรู้ความเข้าใจ มีความระมัดระวัง และความตระหนักในการใช้งานเครือข่ายเพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้อง ทันสมัย และมีความปลอดภัย โดยระบบเครือข่ายที่ใช้งานดังกล่าว จะต้องมีระบบการรักษาความปลอดภัยเครือข่าย เช่น ระบบเครือข่ายภายใน ( Intranet ) หรือ ระบบเครือข่ายเสมือนส่วนตัว ( Virtual Private Network ; VPN ) ซึ่งมีความปลอดภัยสูงกว่าการใช้งานบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตโดยตรง ส่วนระบบงานและระบบฐานข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการทางทหารที่จะพัฒนาใช้งานอยู่บนเครือข่ายจะต้องมีระบบการรักษาความปลอดภัยเช่นกัน จึงจะทำให้การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลางเกิดประสิทธิภาพและมีความมั่นคงปลอดภัย
การปฏิบัติการด้านกิจการพลเรือน ซึ่งข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดไม่มีชั้นความลับ สามารถแลกเปลี่ยน เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะได้ หน่วยทหารและกำลังพลที่เกี่ยวข้องสามารถนำระบบเครือข่าย แอฟฟริเคชั่นต่างๆ บนโลกออนไลน์ และฐานข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีอยู่ทั่วไปทั้งในหน่วยและนอกหน่วย เชื่อมโยงเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยไม่จำเป็นต้องสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด อะไรที่มีอยู่และนำมาใช้ได้ก็ใช้ อะไรที่แชร์แลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ก็แชร์ เพื่อให้เกิดเป็นเครือข่ายบูรณาการระหว่างหน่วยงานทหาร หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ โดยเริ่มงานจากการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลางแบบง่ายๆ เช่น งานที่เกี่ยวข้องการบริการประชาชน , งานที่เกี่ยวข้องกับมวลชน , งานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ , งานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาทางสังคม , งานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชน และงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น
สรุป การปรับตัวไปสู่การปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง หน่วยทหารและกำลังพล สามารถจะเริ่มปฏิบัติการได้ทันที โดยเริ่มจากการปฏิบัติการด้านกิจการพลเรือน ทั้งนี้จะต้องมีนโยบาย และการกำหนดแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน โดยในชั้นต้นจะต้องมีการบริหารจัดการงานในการปฏิบัติการออกเป็นกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ เช่น เครือข่ายบริการประชาชน , เครือข่ายงานมวลชน , เครือข่ายการพัฒนาประเทศ , เครือข่ายการแก้ไขปัญหาทางสังคม , เครือข่ายการช่วยเหลือประชาชน และเครือข่ายการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น โดยใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ส่วนการปฏิบัติการด้านการทหาร โดยเฉพาะการปฏิบัติการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการป้องกันชายแดนของกองกำลังต่างๆ จะต้องพัฒนาปรับปรุงระบบเครือข่าย , ระบบงาน และระบบฐานข้อมูลต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม และมีความปลอดภัย เพื่อให้หน่วยในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จนถึงระดับปฏิบัติการ และหน่วยที่เกี่ยวข้องทุกระดับสามารถมองเห็นภาพสถานการณ์ในพื้นที่ได้ในเวลาเดียวกัน โดยมุ่งสู่หลักการพัฒนาเพื่อการปรับตัวทั้ง ๔ ด้าน คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ( Data Exchange ) , การตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมกัน ( Shared Situation Awareness ) , การปฏิบัติการที่ประสานสอดคล้องมีความรวดเร็วในการสั่งการและควบคุมบังคับบัญชา   ( Co-operations ) และการปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพ    ( Efficiency Operations )

--------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น