วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

กองทัพบกเปิดแคมเปญด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ ( RTA Cyber Security kick off )

กองทัพบกเปิดแคมเปญลุยด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
( RTA Cyber Security kick off )
โดย พันเอก ฤทธี  อินทราวุธ
รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร

ปัจจุบัน ภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ( Cyber Threats ) นับว่ามีความสำคัญและส่งผลกระทบในด้านความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงขององค์กร รวมถึงความมั่นคงของมนุษย์ และถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการทหาร ไม่ว่าจะเป็นการเจาะระบบ ( Hack / Crack )  การฝั่งโปรแกรมลักลอบโจรกรรมข้อมูล เช่น สปายแวร์ ( Spyware ) หรือ ประตูหลัง ( Back door )  การโจมตีด้วยโปรแกรมไม่พึงประสงค์ ( Malware ) อาทิเช่น ไวรัสคอมพิวเตอร์     ( Computer Virus ) , หนอนคอมพิวเตอร์ ( Computer Worm )  หรือ ม้าโทรจัน ( Trojan Horse )  การใช้โปรแกรมตั้งเวลาทำงานเพื่อการทำลายระบบคอมพิวเตอร์ ( Logic Bomb )  การโจมตีแบบ DoS/DDos  , การใช้โปรแกรมหุ่นยนต์โจมตี ( BOTNET / Robot Network ) เพื่อใช้เป็นฐานโจมตีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์บนเครือข่ายสารสนเทศ และการสร้างข้อมูลขยะ ( Malware ) เป็นต้น
กองทัพบก ได้เล็งเห็นความสำคัญต่อภัยคุกคามดังกล่าว จึงมีนโยบาย และอนุมัติหลักการ ให้ดำเนินการปรับปรุง โครงสร้าง ภารกิจ และการจัดหน่วย ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ( ศทท. )  โดยเพิ่มเติมภารกิจด้านการปฏิบัติการ
สงครามไซเบอร์ และปรับสายการบังคับบัญชามาเป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก เพื่อเตรียมรองรับการปฏิบัติงานความมั่งคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะความมั่นคงทางการทหาร และการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ รวมถึงการปฏิบัติการที่ประสานสอดคล้องกับ กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพต่างๆ โดยได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติการด้านไซเบอร์ของกองทัพบก ออกเป็น 3 ขั้น คือ
ขั้นที่ 1. การจัดการทรัพยากรเพื่อการปฏิบัติการด้านไซเบอร์ ( พ.ศ. 2557-2558 )  โดยบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ โดยเฉพาะกำลังพล ให้สามารถดำเนินการด้านไซเบอร์ตั้งแต่ปัจจุบัน เช่น การจัดตั้งคณะทำงานปฏิบัติการด้านไซเบอร์ การจัดตั้งหน่วยไซเบอร์ของกองทัพบก และการมอบหมายหน้าที่ในการปฏิบัติการไซเบอร์ให้แก่หน่วยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือหน่วยทหารสื่อสาร ( กรณีที่ไม่มีหน่วยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอยู่ในอัตรา ) รับผิดชอบการปฏิบัติการด้านไซเบอร์ในระดับหน่วย การกำหนดสายงานการปฏิบัติด้านไซเบอร์ของกองทัพบก และการดำเนินการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงด้านเครือข่ายของ กองทัพบก
ขั้นที่ 2. การเสริมสร้างขีดความสามารถในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มาตรการเชิงรับ ( พ.ศ. 2559-2561 )  โดยการพัฒนาปรับปรุงระบบเครือข่ายให้มีความปลอดภัย  การตรวจสอบทางเทคนิคและประเมินความเสี่ยงระบบเครือข่าย การกำหนดมาตรฐานการเชื่อมต่อเครือข่ายและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรให้ก้าวทันต่อเทคโนโลยีด้านการรักษาความปลอดภัยเครือข่าย เพื่อให้หน่วยงานในกองทัพบกมีขีดความสามารถด้านรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ( Cyber Security ) ได้สอดคล้องกับภัยคุกคามดังกล่าว
ขั้นที่ 3 . การเสริมสร้างขีดความสามารถการปฏิบัติการไซเบอร์ มาตรการเชิงรุก ( พ.ศ. 2562-2564 )  โดยการพัฒนาขีดความสามารถเชิงรุก เพื่อให้มีความพร้อมในการปฏิบัติการกรณีจำเป็น โดยการตรวจสอบขีดความสามารถเชิงรุกของกำลังพล ควบคู่กับการตรวจสอบทางเทคนิคและประเมินความเสี่ยงระบบเครือข่าย การจัดตั้งเครือข่ายพันธมิตรด้านไซเบอร์กับองค์กร/บุคลากรภายนอกกองทัพบก การจัดกิจกรรมต่างๆร่วมกัน รวมถึงการบูรณาการขีดความสามารถของกองทัพบกและเครือข่ายพันธมิตร เพื่อให้กองทัพบกมีความพร้อมและสามารถปฏิบัติการไซเบอร์ ( Cyber Operations ) ได้ในสถานการณ์อันจำเป็น
จากการประชุมแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ ไทย-สหรัฐ ( Cyber Security – Subject Master Expert Exchange ( SMEE ) ที่ผ่านมา กองทัพบกได้มีการกำหนดแผนที่เชิงความคิด ( Mind Map ) , แผนที่การทำงาน ( Road Map ) และกรอบความคิดในการทำงาน ( Frame Work ) ในการดำเนินการด้านไซเบอร์ของกองทัพบก ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ ด้านนโยบาย , ด้านความรู้ , ด้านโครงสร้างองค์กร และด้านการปฏิบัติงาน โดยแต่ละด้านได้มีการดำเนินการ ดังนี้
ด้านนโยบาย ปัจจุบันได้เตรียมการจัดทำร่างแผนแม่บทฯ ( อยู่ในระหว่างการดำเนินโครงการวิจัยฯ ) , การออกระเบียบการรักษาความปลอดภัยสารสนเทศ , การดำเนินการจัดชุดนิเทศเคลื่อนที่ไปประชุมชี้แจงหน่วยและกำลังพล
ในพื้นที่ 4 กองทัพภาค เพื่อชี้แจงระเบียบปฏิบัติด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ การสร้างความตระหนัก และการปลูกฝังจิตสำนึก , การตรวจเยี่ยม แนะนำ และการติดตาม ประเมินการตรวจสอบการปฏิบัติฯ เตรียมการจัดตั้งคณะกรรมการฯ และคณะทำงานฯ เพื่อติดตาม กำกับ ดูแลและดำเนินการตามนโยบายฯ 
ด้านความรู้  ดำเนินการจัดการประชุมแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ ไทย-สหรัฐ  ( Cyber Security – Subject Master Expert Exchange ( SMEE )  เพื่อติดตามสภาพแวดล้อมของภัยคุกคาม ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี
การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ การจัดการองค์ความรู้ด้านไซเบอร์ การจัดกำลังพล 2 นายไปศึกษาดูงานและสัมมนา Cyber Security ที่ประเทศสิงคโปร์โดยทุนส่วนตัว     การเตรียมการฝึกอบรมฯ ทั้งหลักสูตรภายใน-ภายนอก และเตรียมการจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ  เพื่อเพิ่มพูนความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ด้านโครงสร้างองค์กร ดำเนินการปรับปรุง โครงสร้าง ภารกิจ และการจัดองค์กร เพื่อให้หน่วยมีขีดความสามารถพร้อมรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ การมอบหมายหน้าที่ในการปฏิบัติการไซเบอร์ ให้แก่ หน่วยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและหน่วยทหารสื่อสาร การพัฒนาขีดความสามารถหน่วยงาน การบรรจุกำลังพล เพื่อให้มีขีดความสามารถปฏิบัติงานในเบื้องต้น
ด้านการปฏิบัติการ ดำเนินการจัดตั้งภาคีเครือข่ายประชาคมไซเบอร์  การดำเนินการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงด้านเครือข่ายภายในของกองทัพบก โดยการตรวจสอบช่องโหว่ระบบเครือข่าย ไวรัส และมัลแวร์ ในขั้นต้น การดำเนินโครงการระบบตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ การพัฒนาปรับปรุงโปรแกรมและระบบงานต่างๆ ให้มีมาตรฐานด้านการรักษาความปลอดภัย  การดำเนินการปรับปรุงระบบเครือข่ายให้มีความปลอดภัย การเตรียมการติดตั้งเครื่องมือด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์  เช่น ระบบ Intrusion Detection System ( IDS ) , ระบบ Intrusion Protection System ( IPS )  การปรับปรุงห้องปฏิบัติการไซเบอร์ ( War Room )   เพื่อใช้ในการฝึกปฏิบัติการ ( Workshop ) และพัฒนาไปสู่ศูนย์ปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์( Cyber Security Operations Centre ; CSOC ) โดยดำเนินการแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและธุรกิจเอกชน
การดำเนินการต่างๆ ที่ผ่านมาเริ่มปรากฏเป็นรูปธรรม ( ข้อความที่ขีดเส้นใต้ )  ซึ่งกองทัพบกโดย ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร (ศทท.) ได้ดำเนินการไปแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ทั้ง 4 ด้าน ตามกรอบแผนที่เชิงความคิด ( Mind Map )  แผนที่การทำงาน ( Road Map ) และกรอบความคิดในการทำงาน ( Frame Work ) ในการดำเนินการด้านไซเบอร์ของกองทัพบก ที่เป็นผลลัพธ์มาจากการประชุมแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ ไทย- สหรัฐ ( Cyber Security – Subject Master Expert Exchange ; SMEE ) ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบแนวทางการปฏิบัติการด้านไซเบอร์ของกองทัพบก ทั้ง 3 ขั้น นับเป็นการเริ่มเดินหน้า ( Kick off )  อย่างเอาจริงเอาจังด้านไซเบอร์ และเป็นความคืบหน้าด้านการเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อภัยคุกคามด้านไซเบอร์ของกองทัพบกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจต่อกองทัพบกในการดำเนินการด้านไซเบอร์ ทั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในระยะแรกเท่านั้น ซึ่งปัจจัยความสำเร็จในระยะต่อๆไป นอกเหนือการจัดตั้งหน่วยงานด้านไซเบอร์ การสร้างความตระหนัก และการปลูกฝังจิตสำนึกให้กำลังพลทุกระดับชั้นแล้ว ควรจะต้องมีแนวทางการดำเนินการพัฒนาในด้านต่างๆ ตามข้อเสนอแนะ ( โดยเฉพาะข้อความอักษรตัวหนา )  ดังนี้
การบรรจุอัตรากำลังพล ควรพิจารณาเปิดอัตราบุคคลพลเรือน และบรรจุกำลังพลที่มีคุณวุฒิการศึกษา คุณลักษณะ ขีดความสามารถ ความรู้ ประสบการณ์ และความถนัดเฉพาะทาง ที่สอดคล้องกับตำแหน่งหน้าที่การงาน ( put the right man to the right job ) เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การกำหนดหมายเลขความชำนาญทางการทหาร ( ชกท. ) เพื่อกำหนดคุณสมบัติความชำนาญการเป็นการเฉพาะ การพิจารณาคัดเลือกบุคลากรที่มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ความชำนาญการ และมีจิตสำนึกในด้านมาตรการรักษาความปลอดภัยมาปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและป้องกันความลับรั่วไหลของทางราชการ การเปิดโควตาพิเศษเพื่อคัดเลือกนายทหารชั้นประทวน ที่มีความรู้ ความสามารถ ด้านไซเบอร์เพื่อเลื่อนฐานะเป็นนายทหารปฏิบัติการ การกำหนดแนวทางรับราชการที่ชัดเจน มีโอกาสเจริญเติบโตก้าวหน้า และมีความมั่นคงในหน้าที่การงาน เพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจและมีความเชื่อมั่นในระบบคุณธรรมควบคู่ไปกับความรู้ความสามารถ เพื่อป้องกันภาวะบุคลากรสมองไหล หรือการโยกย้ายหมุนเวียนเพื่อมาเอาตำแหน่ง การปรับเกลี่ยอัตรา การโยกย้าย และบรรจุกำลังพล เพื่อให้สามารถตอบสนองภารกิจด้านการปฏิบัติการเป็นหลัก มากกว่างานทางธุรการ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า ๗๐ : ๓๐ รวมถึงการเปิดและบรรจุอัตรากำลังพลในโครงสร้างของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ( ศปก.ทบ.)  เพื่อปฏิบัติงานตั้งแต่ในยามปกติ
การพัฒนาศักยภาพของกำลังพล ควรพิจารณาส่งเสริม และสนับสนุนงบประมาณในด้านการฝึก ศึกษา และการพัฒนาเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์แก่กำลังพล โดยการจัดสรรทุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ( ปริญญาตรี-ปริญญาเอก ) ทั้งในและต่างประเทศ สาขาวิชาด้านการรักษาความปลอดภัยและการปฏิบัติการไซเบอร์ การจัดส่งกำลังพลเข้ารับการฝึกอบรมความรู้พิเศษเฉพาะทางและการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ( Workshop ) ในสถาบัน องค์กร หรือหน่วยงานภายนอก  การเดินทางไปศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ การเข้าร่วมประชุมสัมมนาความรู้และประสบการณ์ การเปิดหลักสูตรฝึกอบรมความรู้ด้านการรักษาความปลอดภัยและการปฏิบัติการไซเบอร์ให้กับเจ้าหน้าที่และกำลังพลทั่วไป การกำหนดระดับมาตรฐานความรู้ความชำนาญด้านไซเบอร์ การจัดทดสอบมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ในระดับหน่วยและบุคคล การจัดการองค์ความรู้ด้านการรักษาความปลอดภัยและการปฏิบัติการไซเบอร์ การจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้ เทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัย และการปฏิบัติการไซเบอร์ รวมถึงการเสริมสร้างความรู้และความตระหนักให้กับกำลังพลทั่วไป
การพัฒนาด้านมาตรการเชิงรับ ควรเร่งดำเนินการตรวจสอบสภาพแวดล้อมของภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะภัยจากการบุกรุก หรือเจาะระบบจาก Hacker / Cracker  การฝังโปรแกรมลักลอบโจรกรรมข้อมูล เช่น Spyware หรือ Back door การโจมตีหรือรบกวนด้วย Malware เช่น Computer Virus , Worm , Trojan Horse  การใช้โปรแกรมตั้งเวลาทำงานเพื่อการทำลายระบบคอมพิวเตอร์ ประเภท Logic Bomb การโจมตีแบบ DoS/DDos  การใช้โปรแกรมหุ่นยนต์โจมตี ประเภท BOTNET / Robot Network เพื่อใช้เป็นฐานโจมตีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์บนเครือข่ายสารสนเทศ และการสร้างข้อมูลขยะ ( Spam )  การดำเนินการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงระบบเครือข่ายของกองทัพบก การวางแผน ควบคุม และกำกับดูแลด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ โดยการจัดทำแผนเผชิญเหตุ ( Incident Action Plan )  การจัดชุดเตรียมพร้อมเผชิญเหตุฉุกเฉินด้านไซเบอร์ ( Cyber Emergency Response Teams ; CERT )  การป้องกัน เฝ้าระวัง ตรวจสอบช่องโหว่ โดยใช้เครื่องมือระบบตรวจหาการบุกรุก ( IDS ) และระบบป้องกันการบุกรุก (  IPS )  รวมถึงการกู้คืนสภาพเมื่อถูกโจมตี ( Recovery ) ตลอดจนการพัฒนาโปรแกรมและเครื่องมือต่างๆ รองรับงานด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อพัฒนาองค์กรไปสู่รูปแบบของศูนย์ปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์( Cyber Security Operations Centre ; CSOC )
การพัฒนาด้านมาตรการเชิงรุก ควรพิจารณาบรรจุกำลังพลที่มีขีดความสามารถเชิงรุกและพัฒนาความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญการ โดยการฝึกฝนการปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นนักรบไซเบอร์ ( Cyber Warriors ) อยู่ในชุดปฏิบัติการไซเบอร์ ( Cyber Operations Team ; COT ) และเตรียมการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการไซเบอร์ ( Cyber Operations Unit )  เพื่อให้มีขีดความสามารถ และความพร้อมในการปฏิบัติการต่อเป้าหมายกรณีจำเป็น
การพัฒนาด้านการใช้ประโยชน์จากไซเบอร์เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการข่าวสาร ควรพิจารณาบรรจุกำลังพลที่มีขีดความสามารถ และพัฒนาความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญการ โดยการฝึกฝนการปฏิบัติการข่าวสารในโลกไซเบอร์ เพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง ค้นหา ติดตาม ตรวจสอบ ความเคลื่อนไหวข้อมูลข่าวสารที่เป็นภัยต่อความมั่นคงโดยเฉพาะการโจมตีให้ร้ายต่อกองทัพและสถาบัน ดำเนินการจัดหาเครื่องมือค้นหา ติดตาม ตรวจสอบ วิเคราะห์ และพิสูจน์ทราบความเคลื่อนไหวข้อมูลข่าวสาร จากกลุ่มบุคคล และเครือข่ายต่างๆ ในโลกไซเบอร์ เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินการทางกฎหมาย หรือกำหนดมาตรการในการปฏิบัติการข่าวสารในด้านอื่นๆ เพื่อตอบโต้ข่าวสาร บิดเบือนข้อมูล สร้างความสับสน ลดกระแส และลดความน่าเชื่อถือของข่าวสาร ตลอดจนการกำหนดเป็นเป้าหมายในการปฏิบัติการเชิงรุกเมื่อจำเป็นต่อไป
นอกจากนี้ ควรพิจารณาดำเนินการด้านการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม องค์ความรู้ และประสบการณ์ต่างๆ ด้านไซเบอร์ โดยแสวงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกกองทัพ ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรเอกชนในด้านวิชาการ การวิจัยพัฒนา ( R&D ) การพัฒนาต่อยอด ( C&D )  การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ( Workshop ) และการฝึกปฏิบัติการต่างๆ โดยเฉพาะการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุด้านไซเบอร์ ( Cyber Incident Action Plan Exercise ) การฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินด้านไซเบอร์ ( Cyber Emergency Response Exercise ) การฝึกซ้อมการปฏิบัติการไซเบอร์ ( Cyber Operations Exercise ) และการฝึกปฏิบัติการจำลองสงครามไซเบอร์ ( Cyber Warfare Simulation Exercise ) เป็นต้น
-----------------------------------

แหล่งอ้างอิงข้อมูล
1. ไทยรัฐออนไลน์, 13 พฤศจิกายน 2556 ,  อัฟเดทกองทัพไทยรับสงครามไซเบอร์ , แหล่งที่มา : http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/382273 , 2 กรกฎาคม 2557.
2. ฤทธี อินทราวุธ พ.อ., 13 พฤศจิกายน 2556 , สงครามไซเบอร์สิ่งท้าทายความร่วมมือในอนาคตของอาเซียน ,  แหล่งที่มา : http://rittee1834.blogspot.com/2013/11/blog-post_12.html , 2 กรกฎาคม 2557.
3. ฤทธี อินทราวุธ พ.อ., 4 พฤศจิกายน2556 ,  กองทัพบกกับความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ของชาติแหล่งที่มา : http://rittee1834.blogspot.com/2013/11/blog-post.html , 2 กรกฎาคม 2557.

4. ฤทธี อินทราวุธ พ.อ., 3 มีนาคม 2557 , การประชุมแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ ไทย- สหรัฐ ( Cyber Security – Subject Master Expert Exchange ( SMEE ) , แหล่งที่มา : http://rittee1834.blogspot.com/2014/03/cyber-security-smee.html  , 2 กรกฎาคม 2557.

วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

โปรแกรม Smart Thai Army เครื่องมือ เสนาสนเทศ และประชาสนเทศ บนมือถือ

โปรแกรม Smart Thai Army เครื่องมือ เสนาสนเทศ และประชาสนเทศ บนมือถือ
( Smart Thai Army – Mobile Application )
โดย พันเอก ฤทธี  อินทราวุธ
รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร

ตามที่ ผู้บัญชาการทหารบกได้กรุณาสั่งการและมอบหมายให้หน่วยต่างๆ ในกองทัพบก ดำเนินการสื่อสารข้อมูลข่าวสาร ทัศนคติ ความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนการปลุกฝังอุดมการณ์ทางทหารไปยังกำลังพลทุกระดับชั้น เพื่อให้เกิดทัศนคติและความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน กองทัพบกจึงได้มีการดำเนินการด้านเสนาสนเทศ และด้านประชาสนเทศ เพื่อเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารกับประชาชนโดยทั่วไปให้เกิดทัศนคติในทางที่ดีต่อกองทัพ  โดยสั่งการให้ทุกหน่วยให้ความสำคัญ และปฏิบัติอย่างจริงจัง
หน่วยต่างๆ ในกองทัพบก ได้ดำเนินการด้านเสนาสนเทศ และด้านประชาสนเทศ มาตั้งแต่ ปี ๕๔ ด้วยช่องทางผ่านสื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่ อาทิเช่น สื่อวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ รวมถึงการดำเนินการพบปะ ชี้แจง พูดคุยแบบ Face to Face ซึ่งช่องทางต่างๆ ดังกล่าวยังไม่สามารถกระจายข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ทันเวลา และครอบคลุมทั่วถึง ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ( ศทท. ) จึงมีแนวความคิดที่จะพัฒนาโปรแกรมด้านเสนาสนเทศ และด้านประชาสนเทศ บนอุปกรณ์มือถือ เพื่อให้กำลังพลและประชาชนโดยทั่วไป สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวก รวดเร็วทันเวลา และครอบคลุมอย่างทั่วถึงทุกมุมโลก เนื่องจากปัจจุบันอุปกรณ์มือถือ และอุปกรณ์สื่อสารแบบพกพา อาทิเช่น Smartphone , Tablet เป็นต้น นับเป็นอุปกรณ์ประจำกายที่ทุกคนแทบจะขาดเสียมิได้ในยุคสังคมข้อมูลข่าวสาร และถูกนำติดตัวไปทุกที่ทุกเวลา ดังนั้นการพัฒนาโปรแกรมบนอุปกรณ์มือถือจึงมีความจำเป็น และจะสามารถตอบโจทย์ปัญหาของกองทัพบก ด้านเสนาสนเทศ และประชาสนเทศ ได้ทันยุคทันสมัย โดยในชั้นต้น ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ( ศทท. )  จะพัฒนาโปรแกรม Smart Thai Army บนระบบปฏิบัติการ Android ซึ่งกำลังพลและประชาชนทั่วไปจะสามารถ Download มาติดตั้งใช้งานได้จาก Google Play ซึ่งโปรแกรม Smart Thai Army จะประกอบด้วย หมวดข่าวสารกองทัพบก , หมวดประชาสัมพันธ์กิจกรรมของหน่วยในกองทัพบก , หมวดสิทธิกำลังพลของทหาร , หมวดองค์ความรู้ของกองทัพบก , หมวดเสนาสนเทศ , หมวดแหล่งท่องเที่ยวในกองทัพบก เป็นต้น และจะขยายหมวดข่าวสารประเภทอื่นๆ ตามความต้องการต่อไป
จากนิทรรศการ และการนำเสนอผลงานโปรแกรม Smart Thai Army ในงานวันสถาปนาศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ( ศทท. ) ครบรอบปีที่ ๑๓ เมื่อ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ณ บริเวณหน้า ห้อง ๒๒๑ กองบัญชาการกองทัพบก ให้ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บังคับบัญชาระดับสูง และแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานได้เยี่ยมชมการสาธิตการใช้งานโปรแกรม
Smart Thai Army ซึ่งผู้บัญชาการทหารบกได้กรุณาสั่งการให้ ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ( ศทท. ) เร่งดำเนินการพัฒนา และนำมาเผยแพร่ให้กำลังพลใช้งานจริงโดยเร็วที่สุด โดย ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ( ศทท. )  ได้ดำเนินการพัฒนาโปรแกรม Smart Thai Army เสร็จเรียบร้อยแล้ว และนำไปลงไว้ใน Google Play      
การพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อการใช้งานในอุปกรณ์มือถือ ( Mobile Applications ) บนระบบปฏิบัติการ Android ของ ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ( ศทท. ) นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบงานสารสนเทศ ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายกำลังพล และประชาชนโดยทั่วไปได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมทั่วประเทศ ทุกที่ ทุกเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพในงานด้านเสนาสนเทศ และประชาสนเทศ ตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารบก และการใช้งานจะมีความสะดวกสบาย ไม่ยุ่งยากเช่นเดียวกับการใช้งานแอพพลิเคชั่นบนมือถือทั่วไป สามารถติดตามข่าวสารของกองทัพบก และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ทุกที่ที่มีสัญญาณ Wifi หรือ เครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ 3G – 4G
ผู้ที่ประสงค์จะเข้าใช้งานสามารถใช้โทรศัพท์มือถือแบบ Smartphone และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แบบพกพาที่มี Wifi หรือ ระบบ 3G – 4G  แบบ Tablet หรือ Mobile Note ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android ไป Download โปรแกรม Smart Thai Army มาติดตั้งใช้งานได้จาก Google Play โดยดำเนินการตามขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
๑.       ใช้อุปกรณ์มือถือเปิดโปรแกรม Google Play เลือก Play สโตร์
๒.     คลิ๊กที่แว่นขยาย พิมพ์ค้นหาคำว่า Smart Thai Army จะปรากฏไอคอน สัญลักษณ์กองทัพบก
๓.     ดำเนินการ Download โปรแกรม Smart Thai Army มาติดตั้งใช้งานบนอุปกรณ์
๔.     เมื่อติดตั้งเสร็จเรียบร้อยจะปรากฏไอคอน สัญลักษณ์กองทัพบก บนอุปกรณ์มือถือ
๕.     คลิ๊กเข้าใช้งานโปรแกรม Smart Thai Army โดยสามารถเลือกข้อมูลดูทั้งหมด หรือเลือกประเภทหมวดที่ต้องการ จากรายการเมนู จะปรากฏไอคอนข่าวสารต่างๆ ตามประเภทหมวดที่เลือก
๖.      คลิ๊กเข้าไปดูข้อมูลข่าวสาร
สำหรับหน่วยต่างๆ ในกองทัพบก ระดับกองพล หรือเทียบเท่า ที่มีความประสงค์จะนำข้อมูลข่าวสาร หรือ ภาพกิจกรรมของหน่วยมาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โดยตรง บนโปรแกรม Smart Thai Army เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ทันเวลา สามารถดำเนินการได้โดยติดต่อประสานงานกับ ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ( ศทท. ) ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการเปิดสิทธิ์เข้าใช้งานระบบ Back End เพื่อให้หน่วยสามารถนำข้อมูลข่าวสาร หรือ ภาพกิจกรรมของหน่วยมาบันทึกลงในระบบ Smart Thai Army ด้วยเจ้าหน้าที่ของหน่วยเอง ณ ที่ตั้งหน่วย เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โดยตรงบนโปรแกรม Smart Thai Army แบบทันทีทันใดตามความต้องการของหน่วย สำหรับการติดต่อสอบถามรายละเอียดทางด้านเทคนิค และปัญหาการติดตั้ง ตลอดจนการใช้งานสามารถสอบถาม จ.ส.อ. ฐานันดร  สำราญสุข เจ้าหน้าที่พัฒนาทางด้านเทคนิคฯ โทรศัพท์หมายเลข  98100 , 02-297-8100 และ มือถือ 081- 1493094

ในอนาคตอันใกล้นี้ ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ( ศทท. ) กำลังพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อการใช้งานในอุปกรณ์มือถือ ( Mobile Applications ) บนระบบปฏิบัติการ iOS เพื่อรองรับอุปกรณ์มือถือในตระกูล Apple เช่น iPhone , iPad เป็นต้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงการใช้งานของกำลังพลของกองทัพบก และประชาชนโดยทั่วไป ที่ใช้อุปกรณ์มือถือ บนระบบปฏิบัติการ iOS โดยอาศัยกรอบการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารเช่นเดียวกันกับระบบปฏิบัติการ Android และศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ( ศทท. ) มีแนวความคิดที่จะพัฒนาระบบฯ เพื่อใช้งานปฏิบัติการในทางทหารโดยตรง ซึ่งจะมีการเพิ่มเติมในส่วนระบบการรักษาความปลอดภัย ( Security System ) ในการใช้งาน เช่น ระบบรับรองตัวบุคคล ( Authentic ) ระบบการเข้ารหัส ( Encode – Decode ) และระบบเครือข่ายเสมือนเฉพาะส่วนตัว ( Virtual Private Network ; VPN ) เป็นต้น